คิดคนละขั้ว - แรงรวม ชาวหินฟ้า -
กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น จะเน้นหายนธรรม หรือวัฒนธรรมกันเอ่ย?

เป็นที่น่าเสียใจจริงๆ ที่เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ท่านผู้นำทั้งหลายจะหยิบยก ขึ้นมาพูด กันบ้าง ก็พอแต่เป็นพิธีเท่านั้นเอง แต่วิถีชีวิตและวิธีคิดจริงๆ ของท่านเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่เป็น "เศรษฐกิจไม่พอเพียง" ทั้งสิ้น นโยบายและโครงการต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาก็ล้วนแต่ฝันหวานไปว่า จะได้มีเงินทอง เข้ามามากมาย เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น


น.ส.พ.มติชน ฉบับวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๗ ได้ลงข่าวเรื่อง "กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น..." เอาไว้ว่า

Bangkok Fashion City เป็น ๑ ใน ๗ นโยบายฝันหวานของรัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร" ซึ่งได้รับการขานรับ และตอบสนอง จากแทบทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร โดยปลัด ณฐนนท ทวีสิน ถึงกับ ออกมาบอกว่าต้องการให้คนกรุงลุกขึ้นมาแต่งตัวกันให้ทันสมัยกันทุกคน ซึ่งฟังแล้วอาจตะขิด ตะขวงใจบ้างพิกล

ถึงกระนั้น โครงการนี้ยังคงดำเนินต่อไป โดยมีการตั้งเป้าว่าโครงการจะสำเร็จเป็นรูปร่างให้กรุงเทพฯ เป็นผู้นำแฟชั่น ในปี ๒๕๔๘ และเป็นศูนย์กลางธุรกินแฟชั่นอาเซียนในปี ๒๕๕๐ จากนั้นค่อยๆ ไต่ระดับ ขึ้นเป็นศูนย์กลางแฟชั่นระดับโลก กระทบไหล่รุ่นพี่อย่างโตเกียว นิวยอร์ก และมิลาน

ในขณะที่คนไทยใฝ่ฝันอยากจะให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางแฟชั่นเหมือนเมืองหลวงใหญ่ๆ ของโลก เราคงต้องมาศึกษาสังคมของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะที่เมืองโตเกียว ซึ่งเป็นศูนย์กลางแฟชั่น ระดับโลก คุณนิติภูมิ นวรัตน์ ได้เขียนลง น.ส.พ.ไทยรัฐ คอลัมน์ เปิดฟ้าส่องโลก เมื่อต้นๆ เดือน มิถุนายนนี้ หลังจากที่ได้ไปตระเวนโตเกียวมา ก็ได้แง่คิดเปรียบเทียบระหว่างญี่ปุ่นและไทย เอาไว้ดังนี้



ตามไปดูโตเกียว เพื่อรู้เขารู้เรา !

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมใช้เวลาทั้งบ่ายกระทั่งถึงมืดไปเดินดูความเปลี่ยนแปลงของสังคมญี่ปุ่น ที่บริเวณชินจูกุ และย่านฮาราจูกุ เป็นแหล่งรวมวัยรุ่นที่ดังมาก นิติภูมิคิดว่าทั้งสองย่านนี้ มีคน แต่งตัวแปลกๆ มากที่สุดในโลก วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่แต่งตัวย้อนยุค ไปนำแบบเสื้อผ้า ในสมัย กลาง ของยุโรปมาใส่ ไว้ผมทรงพังค์ชี้ไปบนอากาศ บางคนใส่กิโมโนแบบประยุกต์ แปลกๆ บางคน ใส่ชุดซามูไร สะพายดาบเดินลากเกี๊ยะกันครืดคราดเต็มถนน วัยรุ่นจำนวนเป็นร้อยที่แต่งหน้า เป็นสีดำสนิท ผู้ชายจำนวนมากที่ไม่ใช่กะเทยนะครับ แต่จะแต่งกายเป็นผู้หญิง สวมกระโปรงยาว รองเท้าส้นสูง ฯลฯ

ผมเคยเรียนในคอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลกเมื่อ ๕ ปีก่อนว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วย "กระแส" ใครสร้างกระแสได้ ก็จะมีการเลียนแบบกันในเวลานั้นอย่างฉับพลันทันที ท่านอาจจะเคยได้ยินชื่อ นักฟุตบอลทีมชาติของญี่ปุ่นที่ชื่อ ฮิเดโตชิ นากาตะ นักบอลขวัญใจชาวญี่ปุ่นคนนี้ เคยใช้ผ้าพันคอ ยาวประมาณ ๒ เมตร แค่เห็นภาพแกกับผ้าพันคอเท่านั้น พวกวัยรุ่นทั้งประเทศ ก็ไปหาซื้อ ผ้าพันคอ มาคล้องกันเป็นการใหญ่ ไปทางไหนมีแต่เจอคนมีผ้าพันคอ เกิดอุบัติเหตุกันมากมาย เพราะผ้าพันคอ ที่คนใช้ไม่เคยชิน

ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่วัยรุ่นต้องใช้สตางค์มากไล่ตามแฟชั่น หลายครั้งที่สตางค์ไม่พอ ก็ต้องหยิบยืม วัยรุ่น คนไหนมีบัตรประชาชนแล้ว สอดใส่เข้าไปในเครื่องหยอดบัตรที่ตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ก็จะได้ เงินกู้ กู้เงินแล้ว ก็ยังไม่พอค่าใช้จ่ายที่เอาไปไล่ตามแฟชั่น ก็ต้องหาสตางค์จากทางอื่น

เดี๋ยวนี้มีผู้นำความคิดประกาศเป็นวลีเด็ดว่า "การขายตัวเป็นสิทธิส่วนบุคคล" ก็เลยทำให้สตรีญี่ปุ่น ทั้งผู้ใหญ่ และวัยรุ่นหันไปประกอบอาชีพขายบริการกันมากขึ้น จากการสำรวจนี่ พบว่าผู้ชายญี่ปุ่น ใช้จ่ายเงินเพื่อกามารมณ์ปีละ ๑.๗ ล้านล้านเยน หรือประมาณปีละ ๖๐๐,๐๐๐ ล้านบาท

ผู้คนเริ่มนิยมไม่ไปเที่ยวตามสถานบริการทางเพศ แต่จะหันไปขอเบอร์โทรศัพท์สาวๆ แล้วก็ยื่น ข้อเสนอ หรือไม่ก็ไปตามร้านตัดผม ซึ่งเดี๋ยวนี้ร้านตัดผมหลายแห่งก็ให้บริการทั้งตัดผม และก็ตัด อารมณ์ทางเพศด้วย

บทสรุป แม้กรุงเทพฯ จะไม่ก้าวหน้าทันสมัยในเรื่องแฟชั่นเท่าเทียมกับญี่ปุ่น แต่ปัญหาวัยรุ่น เช่น การขายตัว มั่วเซ็กส์ ติดยา คลั่งดารา ฆ่าตัวตาย ฯลฯ ก็ดูจะไม่แพ้วัยรุ่นญี่ปุ่นเท่าใดนัก ทั้งนี้ทั้งนั้น น่าจะมาจากผู้ใหญ่หรือเปล่า ที่ดึงเอาหายนธรรมทั้งหลายเข้ามายั่วย้อมมอมเมา ให้ลูกหลาน ของเรา เสียผู้เสียคนไปตามๆ กัน

เด็กไทยรุ่นใหม่ทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่มีชื่อฝรั่ง นิยมกินอาหารตามค่านิยมแบบฝรั่ง แต่งเนื้อแต่งตัว ก็ล้วนแต่ตามก้นฝรั่งดาราที่พากันคลั่งไคล้ โดยเฉพาะพวกนักกีฬาทั้งหลาย ส่วนใหญ่ก็เป็นฝรั่ง ก็น่าเป็นห่วงว่า ลูกหลานของเราในอนาคตข้างหน้า จะเหลือแต่ตัวเป็นไทย แต่จิตใจหาได้มี ความภาคภูมิใจในความเป็นไทยของตนแม้แต่น้อย ถึงวันนั้น คน "ไทย" ก็ไม่ต่างอะไรกับ "ทาส"... ไม่ว่าจะเป็น ทาสทางความคิด ทาสทางเศรษฐกิจ และทาสทางวัฒนธรรม

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗ -