ใครคือชาวพุทธไทยร่วมสมัย
(ตอน ๕) - ส.ศิวรักษ์ - ที่นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผิดพลาดก็คือ ท่านเชื่อว่าคนธรรมดาสามัญเช่นท่าน ที่รู้พุทธศาสนา อย่างงูๆ ปลาๆ จากการอ่านหนังสือบ้าง และได้รับคุณธรรมจากแม่บ้าง ยายบ้าง ก็น่าจะเพียงพอ ที่จะให้ เป็นคนดี ที่เสียสละเพื่อมหาชน ท่านจึงอุดหนุนคนรุ่นหลัง ไปจากท่าน ให้ได้เรียนสูงๆ ขึ้นไปใน ต่างประเทศ เช่น ตัวท่าน และอาจารย์ของท่านคือ นายปรีดี พนมยงค์ แต่ผลก็คือ คนรุ่นศิษย์ ท่านนั้น เป็นผลผลิต มาจาก ระบบบ้านที่ตายไปแล้วก็ว่าได้ คนพวกนี้ ได้รับคุณค่าจากโรงเรียน ซึ่งสอนพุทธศาสนาอย่างน่าเบื่อ หรือ สอนธรรมะ ให้กลายเป็น อธรรมไป สมตามถ้อยคำของท่าน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตเถระ ที่ว่า ธรรมะนั้น ถ้าให้อธรรมสอน หรือให้คนที่เข้าไม่ถึงธรรมไปสอน ก็กลายเป็นสัทธรรมปฏิรูปไปหมดนั้นแล ที่ร้ายยิ่งกว่านี้ก็คือคนรุ่นนี้ได้รับคุณค่าอย่างฝรั่งมาจากโรงเรียนยิ่งกว่าได้รับคุณธรรมทางพุทธ จากโรงเรียน ทั้งสื่อมวลชน ก็มีพลังทางการสร้างค่านิยมอย่างปลอมๆ ให้คนรุ่นใหม่ ยิ่งกว่าอะไรอื่น เป็นเหตุให้ คนรุ่นใหม่ เห็นแก่ตัว ให้ใช้เล่ห์เพทุบาย ให้พูดจาอย่าง อาสัตย์อาธรรม์ ให้เป็นคน หน้าไหว้ หลังหลอก ให้เนรคุณคน ให้กล้าๆ กลัวๆ ให้ขาดความกล้าหาญ ทางจริยธรรม ให้เชื่อว่า คนที่แข็งแรงเท่านั้น ที่จะชนะ ให้เชื่อว่า การแก่งแย่งแข่งดีกันนั้นคนชนะ คือได้รับความสำเร็จ ความแพ้คือความล้มเหลว ผู้นำทางศาสนาของคนรุ่นใหม่ คือ หลวงวิจิตรวาทการ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยที่จน บัดนี้แล้ว ก็ยังมีคนเคารพนับถือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อยู่นั่นเอง หลวงวิจิตรวาทการเป็นผลผลิตจากมหาธาตุวิทยาลัย ที่สอนพระตามแบบสมเด็จพระมหา สมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ให้มุ่งเพียงด้านคันถธุระ เน้นที่หัวสมอง และการเจริญขึ้น ของลาภยศ สุขสรรเสริญ ถ้าเป็นพระอยู่ก็ให้ได้เป็นพระสังฆาธิการในระดับต่างๆ โดยที่ถ้าพระ องค์นั้น มีคุณธรรม ดั้งเดิม ทางด้านความถ่อมตน ทางด้านความเรียบง่าย อย่างไม่ติดยึด ในโลกนี้ พระพวกนี้ก็มีคุณประโยชน์ แต่ท่านนั้นๆ ก็ไม่อาจเข้าใจโครงสร้างอย่างใหม่ ทางสังคมได้ และ ไม่เข้าใจชนชั้นกลาง หรือโครงสร้าง ทางสังคม อันอยุติธรรมและรุนแรง ยิ่งจะให้เข้าใจไปว่า บรรษัทข้ามชาติ มีอิทธิพลเหนือรัฐชาติด้วยแล้ว ยิ่งเป็นไปได้ยากยิ่ง แต่ถ้าพระสังฆาธิการนั้นๆ ขาดจิตสิกขาและย่อหย่อนทางศีลสิกขา ก็เป็นอลัชชีได้ ไม่ยาก ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งในทาง สมณศักดิ์อย่างสูงส่งเพียงใดก็ตาม ยิ่งไม่มีเวลาให้สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ด้วยแล้ว พระผู้ใหญ่ เหล่านี้ย่อมขาดกัลยาณมิตร ที่คอยตักเตือนท่านจากภายนอก ทั้งทาง ภายในก็ขาดโยนิโสมนสิการ จะให้ท่านเป็นสมณะที่ดีได้อย่างไร ส่วนพวกที่สึกหาลาเพศไป ก็มักคิดว่าตนเป็นคนด้อย ต้องแข่งขันให้เป็นคนเด่น โดยไม่เข้าใจ ในเรื่อง คุณความดี ที่ลึกซึ้ง ก็เลยกลายเป็นพวกกึ่งดิบกึ่งดี เป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอก ไปตาม ครรลอง หลวงวิจิตรวาทการ เสียแหละเป็นส่วนใหญ่ เปรียญลาพรตที่มีสันโดษเป็นเจ้าเรือน และมีความรู้ควบคู่ไปกับคุณธรรม ก็มักไม่เด่นดัง ให้เป็น ที่รู้จักของ มหาชน ยกเว้นบางท่านเท่านั้น เช่น นายสุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นต้น หาไม่คฤหัสถ์ชน รุ่นใหม่ที่มีอิทธิพล ในทางศาสนา น่าจะว่าเป็นผลผลิตนอกวัดเสียแหละ มากกว่าอะไรอื่น ดังมี นายเสถียร โพธินันทะ เป็นตัวอย่าง อันประเสริฐ แม้เขาจะได้อิทธิพล จากวัดบ้าง และจากพระบ้าง ก็ตาม แต่ดูเขาจะได้จาก ฆราวาส เช่น นายแพทย์ตันม่อเซี้ยง และนายเลียง เสถียรสุต รวมทั้ง จากการอ่านพระคัมภีร์ ภาษาจีน มากกว่าอะไรอื่น พระภิกษุในรูปแบบเดิมที่พยายามหาทางเผยแผ่ธรรมให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ นอกแวดวงคนที่ ไปฟังธรรมที่วัด (ซึ่งลดน้อย ถอยปริมาณลงไปทุกที และคนหนุ่มสาวก็แทบไม่มีเลย) ก็มีมาแต่ สมัยพระพิมลธรรม (ช้อย) นั้นแล้ว ครั้นพระพิมลธรรม (อาจ) ดำเนินการให้กว้างขวาง และลึกซึ้ง ยิ่งไปกว่า โดยโยงวิปัสสนาธุระ แบบพม่า เข้าด้วย น่าจะได้ผลเป็นพิเศษ แต่ท่านเร็วไปและ พลาดไป ในบางข้อ เปิดโอกาสให้ฝ่าย ตรงกันข้าม ทำลายท่านลงได้ แต่นั้นมา วงการพระศาสนา ก็ขาดกำลังทางด้านการเผยแผ่พระศาสนา แม้จนทางด้านการศึกษา ซึ่งโยงปริยัติมาสู่ปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงปฏิเวธด้วยแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้เอาเลย พระเถระที่ทำได้อย่างนอกรูปแบบก็มีท่านอาจารย์พุทธทาส ที่ไชยา แต่เกรงว่าคุณค่าอันวิเศษ ของท่าน ก็ดูจะปลาสนาการไป พร้อมการละสังขารของท่าน ที่เหลืออยู่ก็มี แต่คำพูด และข้อเขียน ของท่านเท่านั้น ละกระมัง สำหรับท่านพระอาจารย์ชา สุภัทโทนั้น เน้นที่สร้างคณะสงฆ์ให้ดำรงพระพุทธธรรมไว้ ในสาย พระป่า ซึ่งก็ดู จะได้ผลกับพระฝรั่งมากกว่าพระไทย โดยที่สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งท่าน พระอาจารย์ชา เป็นสานุศิษย์ อยู่ด้วยนั้น เดิมนึกว่าทางสายธรรมยุตจะเข้มแข็งดีงาม แต่ภายหลังได้สังเกตเห็นปฏิปทา ของท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโนแล้วก็หมดหวัง ดังที่ท่านปัญญานันทะ น่าจะเป็นความหวัง ทางด้านสืบทอดเจตนารมณ์ จากท่านอาจารย์ พุทธทาส ในฐานะธรรมเสนาบดี แต่ในช่วงท้าย แห่งชีวิตท่าน ก็ดูท่านจะเลอะเทอะเลอะเลือน ไม่แพ้พระอาจารย์มหาบัวด้วยเช่นกัน สำหรับท่านพระธรรมปิฎก (ปยุตฺโต) ซึ่งเป็นธรรมประทีปที่สำคัญร่วมสมัย ก็ถูกอลัชชี โหมกันทำร้าย ในทิศทาง ต่างๆ มากเหลือเกิน โดยที่อลัชชีพวกนี้มีอิทธิพล ทั้งในสังฆมณฑล และในระดับ ทุนนิยม อย่างไม่น้อยเสียด้วย โดยที่สถาบันหลักของบ้านเมือง ไม่ว่าจะฝ่าย พุทธจักร หรืออาณาจักร ก็ไม่ได้อุดหนุน จุนเจือพระดี อย่างพระธรรมปิฎกเอาเลยก็ว่าได้ แม้การงานของฝ่ายสันติอโศก จะถูกคณะสงฆ์ส่วนใหญ่รังเกียจ และสำนักนี้ก็มีจุดอ่อน อยู่ด้วย เหมือนกัน แต่ถ้าปรับตัว ให้เหมาะสม อย่างใช้อุบายโกศล ควบคู่ไปกับความอ่อนน้อม ถ่อมตน บางทีนี่จะเป็นจุดหนึ่ง ซึ่งจะสื่อถึง คนรุ่นใหม่ได้มิใช่น้อย แต่คงต้องลดความตึงลง ให้มีความ ยืดหยุ่นมากขึ้นด้วยบ้างกระมัง โดยที่สำนักนี้ น่าจะเป็นฝ่ายตรงกันข้ามได้ เป็นอย่างดี กับสำนัก สัทธรรมปฏิรูปอย่างของคณะ พระธรรมกาย [อ่านต่อฉบับหน้า]
ความบันดาลใจจาก "จดหมายจากสมณะโพธิรักษ์ถึง
ฯพณฯ นายกฯ"
|