แค่หนูตายตัวเดียว (จุลลกเศรษฐีชาดก)

จนเงินอย่าให้จนงาน
จนงานอย่าให้จนใจ
จนอะไรก็จนไป
อย่าให้อับจนปัญญา

ในอดีตกาล ทารกคนหนึ่งได้กำเนิดในตระกูลเศรษฐีของกรุงพาราณสี ครั้นทารกน้อยได้เจริญวัย มากขึ้นแล้ว ก็ได้รับสืบทอดตำแหน่งเศรษฐี มีชื่อว่า จุลลกเศรษฐี

จุลลกเศรษฐีนั้นเป็นบัณฑิตผู้ฉลาด รอบรู้เฉียบแหลมในนิมิต (เครื่องหมายลางบอกเหตุ) ทั้งปวง

วันหนึ่ง...จุลลกเศรษฐีเดินทางไปเข้าเฝ้าพระราชา ในระหว่างทางนั้นเอง แลเห็นซากศพหนูตาย ตัวหนึ่ง ทิ้งอยู่ข้างถนน ได้มองเห็นเป็นนิมิตดียิ่งนัก จนถึงกับอุทานออกไปว่า

"หากผู้ใดมีดวงตา คือปัญญาแล้วไซร้ก็จะสามารถเอาซากหนูตัวนี้ไปทำทุนเลี้ยงดูภรรยา และ ประกอบการงาน ได้ใหญ่โตทีเดียว"

ช่วงจังหวะนั้นเอง มีชายผู้ยากไร้คนหนึ่ง ชื่อ จูฬันเตวาสิก บังเอิญได้ยินถ้อยคำของเศรษฐีนั้น ทำให้เขาคิดว่า

"ท่านจุลลกเศรษฐีเป็นบัณฑิตผู้ฉลาด หากไม่รู้จริงก็จะไม่พูด เมื่อพูดย่อมแสดงว่า ต้องเป็นเช่นนั้น จริงๆ"

ชายยากไร้จึงตรงเข้าไปเก็บซากหนูตายนั้นไว้ แล้วเอาไปขายในตลาดแห่งหนึ่ง กระทั่งมีผู้รับซื้อ ไปเป็นอาหารแมว เขาจึงได้ทรัพย์มาเพียง ๑ กากณึก (เงินที่มีค่าต่ำที่สุด) เท่านั้น จูฬันเตวาสิก จึงนำเงินไปซื้อน้ำอ้อย ได้ส่วนหนึ่งถือกลับบ้าน

แต่พอถึงหน้าบ้าน เขาพบเห็นชาวบ้านพวกเก็บดอกไม้มาจากป่า ด้วยความมีน้ำใจ จึงให้พวกนั้น ดื่มน้ำอ้อย กันคนละหน่อยหนึ่ง แล้วไปเอาน้ำในบ้านมาให้ดื่มกันอีกคนละกระบวย พวกคนเก็บ ดอกไม้ จึงให้ดอกไม้คนละกำมือแก่เขา เป็นสินน้ำใจตอบแทน

จูฬันเตวาสิก เอาดอกไม้ทั้งหมดนั้น ไปขายได้ทรัพย์มาอีกจำนวนหนึ่ง แม้ในวันรุ่งขึ้น... เขาก็นำค่าดอกไม้นั้นซื้อน้ำอ้อยอีก แต่คราวนี้ตรงไปยังสวนดอกไม้เลยทีเดียว ให้พวกคนปลูกดอกไม้ ได้ดื่มน้ำอ้อย พวกคนปลูกดอกไม้จึงตอบแทนน้ำใจเขา ด้วยการให้ดอกไม้ ที่เก็บแล้ว คนละครึ่งกอ ในวันเดียวกันนั้น เขาจึงนำดอกไม้ไปขายหมดสิ้น ได้เงินมา ๘ กหาปณะ (๓๒ บาท)

ต่อมาในวันที่เกิดฝนเจือลมแรงพัดกระหน่ำ ทำให้ไม้แห้งกิ่งไม้และใบไม้เป็นอันมาก ในพระราช อุทยานของพระเจ้าพรหมทัต ถูกลมพัดตกลงมาเกลื่อนทั่ว ทำให้คนเฝ้าอุทยาน ไม่มีเรี่ยวแรง ที่จะนำไปทิ้งได้หมด เมื่อจูฬันเตวาสิกได้รับรู้ข่าวนี้ จึงไปยังพระราชอุทยานนั้น แล้วรับอาสากับ คนเฝ้าอุทยานว่า

"ถ้าท่านยินดียกกิ่งไม้และใบไม้เหล่านี้ ให้แก่กระผมแล้วละก้อ กระผมจะจัดการนำของทั้งหมดนี้ ออกไปจากอุทยาน ให้เป็นที่สะอาดเรียบร้อยเลยทีเดียว"

คนเฝ้าอุทยานยิ่งชอบใจ รับคำว่า

"เอาไปได้เลย พ่อหนุ่ม"

จูฬันเตวาสิกจึงรีบไปที่สนามเด็กเล่น ของพวกเด็กๆ จำนวนมาก แล้วซื้อน้ำอ้อยแจกให้พวกเด็กๆ ได้ดื่มกินกัน จากนั้นก็ขอแรงพวกเด็กๆ ให้ช่วยขนกิ่งไม้ใบไม้ทั้งหมด ในเวลาเพียงครู่เดียวเท่านั้น ก็ย้ายเอาออกไปกองรวมกัน ที่นอกประตูอุทยานจนเสร็จเรียบร้อย

ประจวบเหมาะในเวลานั้นเอง ช่างหม้อหลวงเที่ยวหาฟืนเพื่อเผาภาชนะดินของหลวง พอเห็น กิ่งไม้มากมายข้างประตูอุทยาน จึงขอซื้อเอาจากจูฬันเตวาสิก ด้วยทรัพย์ถึง ๑๖ กหาปณะ (๖๔ บาท) แล้วแถมภาชนะให้อีก ๕ อย่าง เช่น ตุ่ม เป็นต้น

ในการขายกิ่งไม้คราวนั้น จูฬันเตวาสิก จึงมีทรัพย์สะสมมากขึ้น ประมาณถึง ๒๔ กหาปณะ (๙๖ บาท) กับมีภาชนะใส่น้ำอีกหลายใบ ด้วยนิสัยขยันขันแข็งเขาจึงเกิดความคิดว่า

"เราน่าจะตั้งตุ่มน้ำดื่มเอาไว้ ในที่ใกล้ประตูพระนคร คอยบริการแก่คนเดินทาง และพวกขนฟืน หาบหญ้า ให้ได้ดื่มกินกันดับความกระหายน้ำ"

เมื่อลงมื่อกระทำดังความคิดแล้ว พวกผู้คนทั้งหลายที่ได้รับน้ำใจจากจูฬันเตวาสิกเช่นนั้น ต่างก็ออกปาก กล่าวกันว่า

"สหาย...ท่านได้มีอุปการะแก่พวกเรามาก แล้วพวกเราจะช่วยกระทำอะไรให้แก่ท่านได้บ้างเล่า"

จูฬันเตวาสิกแย้มยิ้มแล้วกล่าว

"หากเมื่อมีกิจเกิดขึ้นแก่เราแล้ว พวกท่านทั้งหลายค่อยช่วยกันกระทำเถิด"

แล้วเขาก็เที่ยวไปข้างโน้นข้างนี้ ขยันกระทำความสนิทสนมไปทั่ว ผูกมิตรไว้กับผู้คน ทั้งที่ทำงาน ทางบก และทั้งที่ทำงานทางน้ำ

จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง...คนทำงานทางบกผู้หนึ่งได้บอกแก่จูฬันเตวาสิกว่า

"พรุ่งนี้ จะมีพ่อค้าม้านำเอาม้า ๕๐๐ ตัวมายังนครนี้"

จากข่าวนี้เอง เขาจึงรีบไปบอกกับพวกคนหาบหญ้าทั้งหลายว่า

"วันนี้ พวกท่านจงให้หญ้าแก่เราคนละกำมือหนึ่ง และเมื่อเรายังไม่ได้ขายหญ้า ท่านทั้งหลาย ก็อย่าเพิ่ง ขายหญ้าของตนไปก่อน"

คนหาบหญ้าทั้งหมดถึง ๕๐๐ คนต่างก็รับคำ ตกลงพากันนำหญ้าคนละกำมือ มาไว้ที่ประตูบ้าน ของจูฬันเตวาสิก

รุ่งขึ้น เมื่อพ่อค้าม้าพาม้ามาถึงพระนครแล้ว แต่ไม่สามารถหาซื้อหญ้าสำหรับม้า ในที่ใดของ พระนครได้เลย จึงต้องขอซื้อหญ้าด้วยทรัพย์ถึง ๑,๐๐๐ กับจูฬันเตวาสิก พ่อค้าม้านั้น ถึงได้หญ้า ไปเลี้ยงม้าของตน

ต่อจากนั้นอีก ๒-๓ วัน สหายผู้ทำงานทางน้ำคนหนึ่ง ได้มาแจ้งข่าวกับจูฬันเตวาสิกก่อนใครๆ ว่า

"วันนี้แหละสหาย จะมีเรือสินค้าลำใหญ่มาจอดที่ท่าน้ำนี้เอง"

ได้ฟังอย่างนั้น จูฬันเตวาสิก ก็คิดว่า

"เราน่าจะเอาเงินสัก ๘ กหาปณะไปเช่ารถ แล้วตระเตรียมพรรคพวกเพื่อนฝูงให้เพียบพร้อมไว้"

แล้วก็ลงมือกระทำตามความคิดนั้น นำรถและผู้คนตรงไปยังท่าเรือ ด้วยมาดของพ่อค้าใหญ่ พอถึงแล้ว ก็เอาแหวนมีราคาวงหนึ่ง ไปมัดจำสินค้าบนเรือกับนายเรือไว้ จากนั้นก็มานั่งพัก อยู่ในที่ ไม่ไกลจากเรือนัก โดยสั่งกับคนทั้งหลายไว้ว่า

"หากมีพ่อค้าคนอื่นๆ มาหาเรา พวกท่านจงบอกประวิงเวลาไว้ ให้รอคอยเราอยู่ถึงสามครั้งเถิด"

วันนั้น เมื่อบรรดาพ่อค้าในเมืองพาราณสีประมาณ ๑๐๐ คน ได้ข่าวว่าเรือสินค้ามาจอดที่ท่าแล้ว จึงพากัน มาที่ท่าโดยเร่งรีบ เพื่อหมายจะมาซื้อสินค้า แต่พอมาถึงแล้ว นายเรือกลับบอกว่า

"พวกท่านมาช้าไปเสียแล้ว คงจะไม่ได้สินค้าไปเป็นแน่ เพราะพ่อค้าใหญ่จูฬันเตวาสิกนั้น ได้มามัดจำ สินค้าทั้งหมดไว้แล้ว แต่อย่างไรเสียท่านก็ลองถามไถ่พ่อค้าใหญ่ ที่พักอยู่ตรงโน้น ดูเองเถิด"

เหล่าพ่อค้าจึงพากันไปหาจูฬันเตวาสิก แต่ก็โดนประวิงเวลาไว้ถึงสามครั้ง ต้องรอคอยกันอยู่ สักครู่ใหญ่ กว่าจะได้พบกับจูฬันเตวาสิกได้

แล้วทั้งหมดก็เจรจาตกลงทางการค้ากัน โดยพ่อค้าทั้ง ๑๐๐ คนนั้น จะมอบทรัพย์คนละ ๑,๐๐๐ ให้แก่ จูฬันเตวาสิก เป็นการจับจองสินค้าบนเรือ แล้วก็จะให้ทรัพย์อีกคนละ ๑,๐๐๐ เพื่อซื้อสินค้า เป็นของตน

ในการค้าขายคราวนั้น จูฬันเตวาสิกจึงได้ทรัพย์มากมายถึงสองแสนกหาปณะ (๘๐๐,๐๐๐ บาท) นำกลับไปที่บ้านแล้ว ก็เกิดสำนึกขึ้นว่า

"เราควรเป็นคนกตัญญู รู้จักตอบแทนบุญคุณของผู้มีคุณต่อเรา"

จึงได้เอาทรัพย์ครึ่งหนึ่งของตนที่มี นำไปมอบให้แก่จุลลกเศรษฐีที่บ้าน ทำเอาจุลลกเศรษฐีงุนงง สงสัยนัก ต้องสอบถามว่า

"นี่พ่อหนุ่ม เธอทำอะไรมาจึงได้ทรัพย์นี้ แล้วเอามาให้เราทำไมกันเล่า"

จูฬันเตวาสิกตอบว่า

"กระผมตั้งใจทำอย่างที่ท่านบอกไว้ ได้ทรัพย์มามากมายภายใน ๔ เดือนเท่านั้นเอง จึงอยากนำ ทรัพย์ หนึ่งแสนกหาปณะ ครึ่งหนึ่งที่กระผมมีอยู่ มาตอบแทนบุญคุณของท่าน"

แล้วบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องซากหนูตายจนถึงสินค้าที่ท่าเรือให้ทราบ ฟังแล้ว จุลลกเศรษฐี ก็ชื่นชมในใจว่า

"เด็กหนุ่มคนนี้ทั้งขยันอุตสาหะ ทั้งเฉลียวฉลาดหลักแหลม ทั้งเป็นคนดีมีน้ำใจงาม มีมิตรมาก เราน่าจะได้เขาไว้ เป็นลูกเขย"

ดังนั้นจึงรับทรัพย์นั้นไว้ให้แก่บุตรสาวของตน แล้วให้บุตรสาวแต่งงานเป็นคู่ครองกับจูฬันเตวาสิก

จนกระทั่งเมื่อจุลลกเศรษฐีล่วงลับไปแล้ว จูฬันเตวาสิกจึงได้ครอบครองสมบัติทั้งหมด ได้ชื่อว่า เป็นเศรษฐีใหญ่ อยู่ในพระนครพาราณสีนั้น

"ซึ่งจูฬันเตวาสิกในกาลนั้น ได้เป็นพระจุลปันถกในปัจจุบันนี้ ส่วนจุลลกเศรษฐีในกาลนั้น ได้เป็นเรา ตถาคตนี่เอง"

ครั้นพระพุทธองค์ตรัสชาดกนี้จบแล้ว ก็ทรงกล่าวคาถาธรรมไว้ว่า

"คนผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด ย่อมตั้งตนได้ด้วยต้นทุนแม้น้อย ดุจคนก่อไฟกองน้อย ให้เป็นไฟ กองใหญ่ได้ ฉะนั้น"

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๔ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๕ หน้า ๑๘๓).

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗ -