คนจนที่ดี ขยัน แต่ไม่โลภ มีคุณค่าต่อสังคมกว่าคนรวยที่ดี ขยันแต่โลภ

ชาติรวยแต่คนไร้สุข?

รายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ ๑/๒๕๔๗ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเครื่องยืนยันว่า แม้ประเทศจะก้าวหน้า ทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนมีความสุขมากขึ้น ตรงกันข้ามกลับต้องเผชิญกับ ปัญหาต่างๆ มากขึ้น เช่น การประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สิน อากาศเป็นพิษ และถูกคุกคามด้วยโรคทางเดินหายใจ วัณโรค โรคท้องร่วงอย่างแรง มากขึ้น

ตัวเลขของทางการระบุว่า ในเวลา ๒-๓ ปี ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศไทย เจริญเติบโต อย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี เติบโตในระดับสูง ปีนี้คาดว่า จะโตราว ๖-๗ % เป็นตัวเลขที่สูงในอันดับต้นๆ ของเอเชียและโลก แต่รายงานภาวะสังคม ของ สศช. ระบุว่าไทยมีปัญหาความรุนแรง ในสังคมและการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ การสาธารณสุขและการศึกษา ด้อยคุณภาพ

ทั้งๆ ที่รัฐบาลไทยได้ทุ่มงบประมาณ เพื่อการสาธารณสุขและการศึกษา ในสัดส่วนที่สูงกว่า เพื่อนบ้านในเอเชียหลายประเทศ กล่าวคือทุ่มเพื่อสาธารณสุขกว่า ๔ % ของ จีดีพี สูงกว่า สิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ และทุ่มเพื่อการศึกษา ๔.๒ % มากกว่าญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จีน และฟิลิปปินส์ แต่ส่วนใหญ่เป็นงบเงินเดือน และการก่อสร้าง และมองข้าม งบเพื่อพัฒนา การศึกษา พัฒนาคุณภาพครู และการวิจัย

จึงไม่น่าแปลกใจ แม้ความสามารถในการแข่งขันของไทยกับสังคมโลกจะดีขึ้น แต่ก็ยังอยู่ ในอันดับที่ต่ำกว่าเอเชียหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย นิวซีแลนด์ จีน และญี่ปุ่น เพราะไทยมีปัญหาด้านคุณภาพของคน และโครงสร้างพื้นฐาน ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งๆ ที่แผนพัฒนาการเศรษฐกิจ ๒ ฉบับสุดท้าย มุ่งพัฒนาคนเป็นด้านหลัก

ทั้งๆ ที่มีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ แต่คนไทย ส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ว่ากระทรวงนี้ได้ทำอะไรไปบ้าง ในการพัฒนาสังคมและมนุษย์ รู้แต่ว่า รัฐบาลมักชอบอวดอ้างตัวเลขสวยๆ การเติบโตของจีดีพี การขยายตัวของการ ส่งออก การส่งเสริมการบริโภคเพื่อชาติ เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ การซื้อทีม ฟุตบอล ดังระดับโลก และการก้าวกระโดดแบบกบ

สังคมไทยจึงกลายเป็นสังคมบริโภคนิยมเต็มตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่รายงานของ สศช. ระบุว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ มีคนถูกเอารัดเอาเปรียบจากการซื้อสินค้า และบริการ อันเป็นอิทธิพลจากการโฆษณาทางสื่อ เพิ่มขึ้นถึง ๑๔๐ % ยิ่งกว่านั้น สังคมไทยยังกลายเป็น สังคมแห่งอบายมุขเฟื่องฟู มีครบเครื่องทั้งม้า มวย หวยเถื่อน หวยบนดิน สุราพาชีกีฬาบัตร

ในอดีต มักวัดความเจริญของประเทศ ด้วยตัวเลขจีดีพี ถ้าโตมากและโตเร็ว ก็แปลว่า ประเทศร่ำรวยขึ้น แต่ในระยะหลังผู้เชี่ยวชาญ ชี้ว่าจีดีพีอย่างเดียวยังไม่พอ แต่ต้องวัดด้วย คุณภาพชีวิตของคนด้วย นอกจากรายได้แล้ว ยังวัดด้วยการศึกษา สุขภาพ คุณภาพของ สิ่งแวดล้อม เช่น ป่า อากาศ และน้ำ ฯลฯ แต่รัฐบาลไทยยังหลงเพลิน ตาดูดาว คือ จีดีพี จน เท้าไม่ติดดิน เพราะมองข้ามคุณภาพชีวิต (ไทยรัฐ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๗)


ในขณะที่นโยบาย เหนือเมฆของรัฐบาลที่จะหว่านเงินไปตามหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ กำลังถูกวิพากษ์ วิจารณ์ว่า จะเป็นการแก้ ปัญหาหรือเพิ่มปัญหา ก็มีข่าวพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงิน ๗๒ ล้านบาท เพื่อให้เอาไปใช้เผยแพร่ธรรมะ ให้มีคุณธรรม กันมากขึ้น

น่าสะดุดใจว่า รัฐบาลกำลังใช้เศรษฐกิจใช้เงินแก้ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่าง แต่พระประมุข ของชาติ ทรงเน้นเรื่องศาสนาเรื่อง คุณธรรมเป็นสำคัญ และถ้าดูตามบทนำของ น.ส.พ. ไทยรัฐ ที่ฟันธงไว้อย่างชัดเจนว่า ชาติรวยแต่คนไร้สุข? ก็น่าจะได้คำตอบว่า การเติบโตของ เศรษฐกิจในทิศทางทุนนิยมนั้น เพิ่มปัญหาอีกมายมาย มีข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อว่า มหาอำนาจ อย่างจีน ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลก แต่กลับมีตัวเลข ออกมาว่า ชาวจีนประสบปัญหาคนยากจนมีอัตราสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ ๒๕ ปี (จาก ย่อโลกมังกร ผู้จัดการรายวัน ๒๑ ก.ค.๔๗)

และมีปัญหาการว่างงานซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในเขตเมือง มีอัตราสูงถึง ๔.๓ % สูงสุดในรอบ ๒๓ ปี (มติชน ๒๑ มิ.ย.๔๗)

ซึ่งคงไม่ต่างอะไรกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่พุ่งทะยานเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย และโลก แต่ปัญหาทางสังคมเพิ่มขึ้นอีกมากมาย ความร่ำรวยเพิ่มขึ้นเฉพาะคนบางกลุ่ม เป็นกระจุก แต่ความยากจนกลับกระจายไปทั่วแผ่นดิน ชาวบ้านมีหนี้สินต่อครัวเรือนสูงขึ้น

ถึงเวลาหรือยัง ที่เราน่าจะได้ทบทวนกันว่า การชูธงเศรษฐกิจนำหน้า กับการชูธงคุณธรรม แก้ปัญหาของชาตินั้น เราควรจะได้ส่งเสริมเร่งเร้ากันไปทางไหน?

การมุ่งหาเงินให้ได้มากๆ กำลังทำลายสังคม สิ่งแวดล้อม ครอบครัว และตัวเองหรือเปล่า? เกษตรกรที่ยากจนคนหนึ่งเปิดเผยว่า ขณะนี้หายนะกำลังเคลื่อนตัวสู่กำแพงเพชร เพราะนายทุน ต่างพากันไปกว้านซื้อที่ดิน เพื่อทำสวนส้มขนาดใหญ่ใช้ภูเขากันเป็นลูกๆ การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ต้องใช้สารเคมีและสารพิษกันขนาดหนัก สุดท้ายดินก็เสีย น้ำก็เสีย อากาศก็เสีย แม้แต่คนก็เสีย (ชีวิต) นี่ขนาดนายทุนที่ดีขยันแต่โลภ (ยังไม่ถึงขนาดโกง) ก็ยังเสียหายขนาดนี้

ส่วนตัวเขาเองแม้จะเป็นเกษตรกรที่ยากจน ทำสวนผลไม้หลายๆ อย่างผสมผสานกับไม้ป่า นานาชนิด แม้จะมีรายได้จากการนำผลผลิตไปขายที่ตลาดนัด เพียงแค่อาทิตย์ละ ๘๐๐ บาท เขาก็อยู่ได้อย่างสบาย เพราะแทบไม่ต้องลงทุนอะไร จึงสามารถขายได้ในระบบ ของดี-ราคาถูก

เมื่อชีวิตเขาไม่โลภ เขาก็ไม่ต้องเร่งใช้ สารพิษ สารเคมีให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ในขณะที่ เขากำลังสร้างอาหารให้แก่โลก ด้วยพืชผักผลไม้นานาชนิด ที่หมุนเวียนกันออกมา ตามฤดูกาล บรรดาพวกไม้ป่านานาพันธุ์ที่เขาปลูกผสมผสานในสวนผลไม้ก็ โตเอาๆ โดยเพิ่มพูนมูลค่า อยู่ตลอดเวลา และเพิ่มความร่มเย็นให้แก่โลกอยู่ทุกเมื่อ เชื่อวัน

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๙ สิงหาคม ๒๕๔๗ -