อนุรักษ์ พูลหนู หนุ่มหน้าทึ่ง

มองลึกเข้าไปในสังคม เด็กน้อยถูกทอดทิ้ง ว้าเหว่ จนกระด้าง สตรีถูกทำร้ายร่างกาย หัวใจปวดร้าว หนุ่มสาววัยรุ่นเป็นทาสยาเสพติด ชีวิตดุจขยะ ฯลฯ หนุ่มหนึ่งมองเห็น และไม่เพียงแต่เป็นผู้ดู หากหาญช่วยด้วยสองมือธรรมดา เพื่อให้คนเหล่านั้นพึ่งตนเองได้ และเป็นที่พึ่งของผู้อื่นต่อไป

หัวใจเมื่อวัยเด็ก
พ่อผมเป็นครู แม่ค้าขาย มีพี่น้อง ๘ คน ผมเป็นคนที่ ๓ เด็กๆ เรียนหนังสือ ก็ทำงานไปด้วย เช่น ตัดผักบุ้งขาย เลี้ยงนกกระทา เอาไข่นกไปส่งโรงเรียน ส่วนที่เป็นมาตลอดคือ รู้สึกเป็นห่วง สงสาร และเมตตาคนที่ทุกข์ยากลำบาก แม้แต่สัตว์ก็เหมือนกัน แม่บอกว่า ตอนเด็กๆ ผมเห็นหมาถูกรถชน ผมเข้าไปอุ้มมา เอาผ้าห่อมันแล้วดูแล ใจที่อยากช่วยเหลือฝังอยู่ข้างในแล้ว แม้แต่คนก็ตาม อย่างเช่น เด็กที่พ่อแม่เสียชีวิต ก็สงสารเขา ไม่รู้จะทำยังไง ก็ไปซื้อขนมแล้วเอามาให้เขา รู้สึกว่า ไม่รู้จะช่วยเขายังไงดี ตอนนั้น อายุประมาณ ๕-๖ ปี

ตอนอยู่ ป.๕ จนกระทั่งจบ ม.ศ.๓ ผมได้เงินไปโรงเรียนวันละ ๒ บาท ผมจะแบ่งให้ ลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่ง วันละบาททุกวัน เพราะเขาอยู่ในฐานะที่ลำบาก ผมยอมอดไม่ได้กินข้าวเที่ยง เป็นการทำที่ ไม่ได้หวังอะไร แต่เห็นเขาลำบาก เรามีส่วนที่จะช่วยเขาได้ ก็อยากจะแบ่งปันตามกำลังที่มีเท่านั้นเอง

ช่วงหนึ่งของชีวิตวัยรุ่น
โตขึ้นมาเรียนที่กรุงเทพฯ ความคิดก็เริ่มเปลี่ยนเพราะว่าสภาพแวดล้อม จากอิทธิพล ทางความคิดของเพื่อน อยากเป็นไปตามที่เพื่อนต้องการ แต่โดยจิตสำนึกไม่ได้ต้องการที่จะทำแบบนั้น คืออยากจะได้รับการยอมรับจากเพื่อน เมื่อคบเพื่อนที่ไม่ดี ก็เลยทำให้ชีวิตช่วงหนึ่ง ได้เข้าไปเรียนรู้ อบายมุขต่างๆ บุหรี่ เหล้า กัญชา เที่ยวกลางคืน เหล้ากินทุกวัน แต่ไม่ติด พอต้องการที่จะเลิกก็เลิกได้

กลายเป็นพ่อของเด็กเร่ร่อน
ปี ๒๕๒๖ เรียนคณะรัฐศาสตร์ รามคำแหง จากงานรามบูชาอาสาฬหะที่จัดโดยกลุ่ม นักศึกษาผู้ปฏิบัติธรรม ได้พบกับกลุ่มเพื่อนดี ช่วงนี้เองที่ความคิดดีแบบเดิมๆ ก็กลับคืนมา

ที่รามฯผมเห็นเด็กเร่ร่อนที่ถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครดูแล อายุ ๘-๙ ขวบเที่ยวเดินเก็บเศษอาหารกิน รู้สึกสะเทือนใจ อยากช่วยตามกำลังที่เรามีอยู่ เข้าไปคุย แล้วเป็นจุดเริ่มต้นทำงานกับเด็กเร่ร่อน โดยใช้เงิน ที่แม่ส่งมาให้ช่วยเหลือเขา เด็กไม่ได้เร่ร่อนไปไหน พอเราเข้าคุย เขาเริ่มมีความอบอุ่น เขาอยู่กับ นักศึกษา ในซุ้มกิจกรรม กลางคืนก็นอนในรามฯด้วยกันหลายๆ คน เรียนไปด้วย ทำกิจกรรมกับ กลุ่มนักศึกษาผู้ปฏิบัติธรรมไปด้วย ตอนนั้นมีเด็ก ๓ คน

ดูแลโดยสอนหนังสือให้ ช่วยเหลือเรื่องอาหารการกิน ที่แผง ๒๒ มีนักศึกษาขายอาหาร มังสวิรัติ ก็ให้เด็ก ไปช่วยล้างจาน แล้วกินอาหารที่นี่ เราซื้ออาหารให้เขากินบ้าง ปัญหาของเขาคือ เมื่อหนีออกจากบ้าน เด็กไม่อยากกลับบ้าน แล้วเขาจะเปลี่ยนชื่อ ไม่บอกความจริงว่าบ้านอยู่ที่ไหน จะเก็บไว้เป็นความลับ กลัวว่าจะถูกส่งกลับไปที่เดิม

ตอนนั้นก็มีองค์กรที่ช่วยเหลือด้านนี้อยู่ แต่ผมคิดว่าผมสามารถจะช่วยเขาได้ จึงไม่ได้ไปขอ ความช่วยเหลือ จากที่อื่น และเด็กก็ยินดีจะอยู่กับเรา เขาเลยเรียกผมเป็นพ่อตั้งแต่นั้นมา เริ่มทำตั้งแต่ ปี ๒๕๒๗ จนกระทั่ง ผมเรียนจบ

จบแล้วผมไปเป็นครูสอนเด็กชาวเขา เผ่าม้งและเผ่าเย้าที่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย และไม่อยากเห็น ชีวิตของเด็กเร่ร่อน ๒ คนนี้อยู่ในเมือง เกรงว่าชีวิตของเขาต้องจบลงในเรื่องอาชญากรรมแน่นอน ผมเลย พาไปฝากกับเพื่อน ในจังหวะเดียวกันผมก็ไปทำงานกับ น.พ.เสม พริ้งพวงแก้ว มูลนิธิเพื่อการ พัฒนาเด็ก เกี่ยวกับเด็กที่ขาดสารอาหาร ที่ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ

เริ่มสัมพันธ์กับมิชชันนารี
เพื่อนส่งข่าวไปว่าเด็กหนีเข้าไปกรุงเทพฯ ผมก็ลงมาตาม เขาไปอยู่กับมิชชันนารีคนหนึ่ง เป็นชาวสวิส และมีโอกาส ได้คุยกัน เขาเห็นแนวความคิดของผม ก็คิดที่จะเชื่อมโยงกันและช่วยเหลือกัน เลยตั้งเป็น องค์กรขึ้นมาชื่อว่าบ้านนกขมิ้น โดยซื้อบ้านไม้เก่าๆ หลังหนึ่ง อยู่ที่บึงกุ่ม ปัจจุบันจดทะเบียน เป็นมูลนิธิแล้ว ที่นี่ทำ เกี่ยวกับเด็กเร่ร่อนอย่างเดียว

กิจวัตรก็เหมือนกับครอบครัวทั่วๆ ไป ตื่นเช้าขึ้นมาก็ช่วยกันเตรียมอาหาร คนที่เข้าเกณฑ์ เรียนหนังสือ ก็ส่งไปโรงเรียน ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ผมก็สอนเอง

อยู่ที่บึงกุ่ม ๒ ปี ต่อมาย้ายไปบุกเบิกที่สุโขทัย ๖ ปี ทำโครงการบ้านนกขมิ้นเหมือนกัน โดยอพยพ เด็กเร่ร่อนจากกรุงเทพฯทั้งหมด ๑๒ คนขึ้นไป เพื่อแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ยั่วยวน ให้เด็กพราก ออกจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีในกรุงเทพฯ โดยอาศัยการเกษตรเป็นสื่อ ก็ทำสวนมะม่วง ปลูกผัก เลี้ยงปลา บนที่ดินประมาณ ๖๐ ไร่ มีทุนช่วยเหลือมาจากต่างประเทศ และในประเทศ เชื่อมกัน โดยจากปากต่อปาก จากคนที่มาเยี่ยมเยียน คนที่มีจิตศรัทธาในพระเจ้า เขาก็อยากมีส่วนช่วยเหลือ

สร้างชุมชนเด็กด้อยโอกาส
ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ ผมก็ย้ายมาอยู่ที่พัทลุง เพราะต้องการกลับมายังบ้านเกิด และอยากสร้าง ชุมชนของเด็กด้อยโอกาส โดยมีแนวความคิดจากสันติอโศก เพื่อให้คนมีโอกาสเข้ามาอยู่ บนเนื้อที่ ประมาณ ๒๐ ไร่ ผมไปซื้อบ้านเก่า ไม้เก่า มาจากวัดบ้าง จากชาวบ้านที่เขาไม่ต้องการแล้วบ้าง ขายให้ถูกๆ ตอนนี้อยู่มาได้ย่างปีที่ ๘ แล้ว

เมื่อมาอยู่ที่พัทลุงผมเริ่มรับคนใหม่เข้ามา ผมมีแนวความคิดนี้จนกระทั่งจดทะเบียน เป็นมูลนิธิใหม่ ซึ่งผมรับผิดชอบเองทั้งหมด ทั้งค่าใช้จ่าย การหาทุน เราก็เพิ่ม case ขึ้นมา เช่น เด็กเร่ร่อน เด็กหญิง ที่ถูกล่วงละเมิด หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ เด็กอ่อน หญิงหม้ายชรา หรือหญิงที่ถูกกระทำ ที่มีอันตราย ทั้งต่อสภาพจิตใจและร่างกาย

ที่พัทลุงก็เริ่มทำจาก ๒ คน บางคนที่เข้ามาติดยาเสพติด พอได้รับการบำบัดรักษา เขาก็อยากมีส่วน ช่วยงาน หรือบางคนเป็นหญิงที่ได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจอย่างมาก ยากที่จะเยียวยาได้ เมื่อได้รับ การรักษาให้หาย ก็อยู่ช่วยงาน ตอนนี้ก็มีทีมงานขึ้นมา

ที่ดูแลอยู่ตอนนี้ มีเด็กอ่อน ๔ คน ซึ่งเกิดจากแม่ที่ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์หรือ แม่คลอดแล้วทิ้ง เด็กเอาไว้ หญิงหม้ายชราที่ขาดคนดูแล เด็กผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิด เด็กเร่ร่อน ที่ทางเจ้าหน้าที่ ของรัฐส่งมาให้

บ้านฟื้นใจ บ้านพักสำหรับคนที่มีความทุกข์ใจ ต้องการเยียวยารักษาภายใน "ไม้อ้อช้ำแล้ว ก็จะไม่หัก ไส้ตะเกียงริบหรี่ก็จะไม่ดับ"

บ้านพักใจ บ้านสำหรับเด็กผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิด หรือเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด หรือเสี่ยงต่อ การนำไปสู่การค้าประเวณี บ้านพักใจเป็นสถานที่อุปการะเลี้ยงดู สนับสนุนทุนการศึกษา และฝึกอาชีพให้แก่เด็กหญิงเหล่านั้น

บ้านอุ่นใจ บ้านพักสำหรับหญิงหม้ายชราและเด็กกำพร้า บ้านอุ่นใจแต่ละหลัง มีหญิงหม้ายชรา ๑ หรือ ๒ คน และมีเด็กกำพร้า ๓ ถึง ๔ คน โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลหนึ่งคน "นำความรักคืนแก่หญิงหม้ายชรา นำความอบอุ่นใจ ให้แก่เด็กกำพร้า"

กองทุนเอื้อใจ เป็นกองทุนสนับสนุนการศึกษาให้แก่เด็กที่เรียนดี แต่ขัดสนทุนทรัพย์

ประสานกับองค์กรของรัฐ
ผมทำมูลนิธิชุมชนพันธสัญญา ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ รับแจ้งความ ก็จะดำเนินคดี กรณีเด็กที่อายุไม่เกิน ๑๔ ปี แทนที่จะส่งไปที่ศาล หรือสถานพินิจ ก็จะจัดส่ง มาให้เราเป็นผู้ดูแล

หรือกรณีที่ศาลรับคดีอย่างนี้ แต่ยังไม่มีศาลคดีเด็ก และเยาวชน และไม่ปรารถนา ที่จะตัดสินคดี แล้วส่งเด็ก ไปยังสถานพินิจ ผู้พิพากษาหรือหัวหน้าศาล ก็จะติดต่อผมไป ทำงานร่วมกัน ทางเราจะช่วยได้ไหม ฟื้นนิสัยได้ไหม อบรมได้ไหม เพื่อให้เขากลับ เข้าไปอยู่ในสังคมได้

มีกรณีหนึ่งเป็นเด็กผู้หญิงอายุ ๑๓ ปี ไปขโมยมอเตอร์ไซค์โดยไม่ได้ตั้งใจ ถูกแจ้งข้อหา ลักทรัพย์ เมื่อถูกฝากขัง ไม่มีใครไปประกัน ทางผู้พิพากษาก็ติดต่อให้ไปช่วย เมื่อมีโอกาส คุยกับเด็ก ก็สามารถ ช่วยได้ ประกันตัวออกมา หลังจากนั้นให้ไปเรียนสายอาชีพ เช่น ไปเรียนเสริมสวย

ปัญหาและอุปสรรค
ทำงานกับคนที่มีปัญหา หลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหามีเยอะ ไม่มีอะไรเกินไปกับคำว่า ความรัก เพราะถ้าเรา ทำด้วยใจบริสุทธิ์ ด้วยความรัก มันเป็นฤทธิ์อำนาจอยู่ที่นั้นแล้ว ความรักนี่ต้องอดทน ต้องกระทำคุณให้ เราไม่อวดตัว ไม่หยิ่งผยอง ไม่เห็นแก่ตัวฝ่ายเดียว แต่ก็เชื่อว่าเขาจะเริ่มต้นใหม่ได้ เราเชื่อว่า มนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ เพราะไม่มีใครที่ต้องการจะทำบาป ต้องการจะทำผิด แต่ที่เขาทำไป อาจจะเป็นเพราะ ไม่มีคนสอน หรือเขาไม่สามารถจะชำระตัวเองได้ ถ้าไม่มีใครให้โอกาส เขาจะเริ่มต้นใหม่ ได้ยังไง

๑๕ ปีที่ทำมา ก็เห็นผลว่าเมื่อเขาได้กลับเข้าสู่สังคม ก็ประสบความสำเร็จในสังคม เด็กเร่ร่อนบางคน เมื่อเรียนจบแล้วก็เข้าไป ทำงานในบริษัท บางคนเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ

เราไม่มีเงื่อนไขกับทุกๆคน เพราะความรักไม่มีเงื่อนไข แต่เมื่อกลับเข้าสู่สังคม เขาก็กลับมา ตอบแทน

แรงบันดาลใจ
ตั้งแต่จบจากมหาวิทยาลัย ผมเห็นตัวอย่างชีวิตของพระเยซูว่า พระองค์ดำเนินชีวิต อยู่ในความรัก จนกระทั่ง ยอมสละชีวิตของตนเองเพื่อให้เป็นค่าไถ่ เหมือนกับเครื่องบูชาไป และขณะที่กำลังถูกทำร้าย ทั้งที่ท่านกระทำความดีอยู่ ถูกทรมานจนเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส สิ่งที่หลุดออกจากปาก ของพระองค์ก็คือ ขอพระบิดา โปรดอภัยให้กับพวกเขาเหล่านั้นด้วย เพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่รู้ว่าได้กระทำอะไรลงไป ทำให้เข้าใจว่า ความหมายของพระเจ้าก็แปลว่าความรัก เป็นความรักที่บริสุทธิ์ ที่มนุษย์มีต่อ มวลมนุษยชาติ เพื่อที่จะเห็นชีวิตของคนดีขึ้น ตรงนี้เป็นแรงบันดาลใจ

มีความรักก็มีความเชื่ออยู่ในนั้น ผมมีความเชื่อว่า เมื่อดำเนินชีวิตอยู่ด้วยใจที่บริสุทธิ์ แล้วก็ทำงาน ที่บริสุทธิ์ใจในการช่วยเหลือคน ผมถือหลักว่าไม่ไปขอเงินจากใคร ยกเว้นอธิษฐาน จากพระเจ้า ตรงนี้เป็นการใช้ความเชื่อซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ ตั้งแต่ทำมาเงินจะเข้ามาทันเวลา มนุษย์มีความกระวน- กระวายใจ เป็นธรรมดา แต่ก็ละความกระวนกระวายใจนั้นไว้กับพระเจ้า พระองค์จะเป็น ผู้จัดเตรียม แล้วก็เชื่อ ในสิ่งที่พระเจ้าสัญญาเอาไว้ ว่าผู้ที่อยู่ในพระองค์ พระองค์จะไม่ให้เขาอด พระองค์จะเป็น ผู้เลี้ยงดู แต่ว่า หน้าที่ของเราคือต้องทำความดี แต่ถ้าเรา ไม่ทำก็ไม่มีใครให้เรามา

เป้าหมายของโครงการ
เมื่ออยู่ในสังคม ชีวิตหรืองานที่เราทำต้องเป็นประโยชน์ต่อชุมชนที่เราอยู่ ต่อสังคม ประเทศของเรา เป้าหมายก็คือต้องการจะช่วยเหลือเด็กและให้ทุนการศึกษา ดูแลเด็กที่ครอบครัวมีปัญหา เด็กกำพร้า ผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิด เด็กอ่อนที่ถูกทอดทิ้ง หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ โดยไม่ให้เขาเข้าไป ทำความบาปในการไปทำแท้ง ให้โอกาสแก่เขาและให้เด็กที่คลอดออกมา

จริงๆ แล้วเป็นแรงบันดาลใจมาจากเพื่อนรุ่นน้องกลุ่มรามฯ คนหนึ่ง ซึ่งผมมีโอกาสแนะนำ ให้แนวความคิดแล้วก็ช่วยเหลือ จนกระทั่งเขาสามารถเข้าไปเรียนในระบบการศึกษา นอกโรงเรียน หลังจากนั้น นำเขามาเรียนที่รามคำแหง ช่วยเหลือจนกระทั่งเขาจบการศึกษาแล้วสอบเป็นผู้พิพากษา เด็กคนนี้ เกิดมาจากหญิงใบ้ ที่มีปัญหาตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครดูแล เพราะถือว่า เป็นเด็กเสนียดจัญไร จึงถูกเลี้ยงดูอย่างทอดทิ้ง รู้จักใส่เสื้อผ้าตอนอายุ ๑๐ ขวบ เมื่อเขาเรียนจบแล้ว เราก็มีแนวความคิด ที่จะช่วยเหลือคนอื่นต่อ โดยเฉพาะในส่วนของเด็ก ที่ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์

อุดมคติของชีวิต
ที่ผมมาทำงานตรงนี้ ถามว่าเราเกิดมาแล้ว ความสุขของเราคืออะไร ความสุขของบางคน ก็คือคิดแต่จะได้ แต่สำหรับความสุขของผมก็คือให้ เมื่อมีจิตใจเช่นนี้รู้สึกมีความสุข เมื่อมีโอกาสให้แก่คนอื่น ตามที่เราสามารถ จะให้ได้ ไม่ว่าจะให้ความรัก ให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือ แล้วก็ในที่สุดก็คือ ให้ในสิ่งที่ดีที่สุด ที่เรามีอยู่ ก็เป็นความสุข ต้องการแค่นั้นไม่ต้องการอะไรมากกว่านั้น

ผมจะทำโครงการนี้ไปตลอดชีวิต แม้ผมไม่มีชีวิตอยู่แล้ว งานจะไม่จบ เป้าหมายก็คือ จะขยายงาน ออกไปทั่วประเทศ แล้วคนที่มีแนวความคิดนี้ก็เข้ามาหลายคนแล้ว ก็มีการทำงาน ก็มีการสืบต่อแน่นอน

ปัจจุบัน
ขณะนี้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิชุมชนพันธ-สัญญา มีสำนักงานอยู่ที่หมู่บ้านเกศรา ซอย ๑๖ ข้างสวนสยาม เรียกว่าบ้านพันธสัญญา เป็นบ้านพักฉุกเฉิน ถ้ามีกรณีดั่งว่าที่นี่จะเป็น ที่รับไว้ชั่วคราว ก่อนที่จะส่ง ต่อไปที่พัทลุง ที่พัทลุงจะอยู่เป็นชุมชน มีบ้านประมาณ ๒๐ หลัง บนเนื้อที่ ๒๐ กว่าไร่ มีทีมงาน มีคนที่เข้ามาอยู่ ตอนนี้ ๔๐ คน รวมทั้งคนที่เข้ามาช่วยงานเป็นอาสาสมัครบ้าง เป็นผู้ที่ได้รับการรักษา เป็นผู้ที่ได้รับ การบำบัดแล้ว

โครงการที่ทำคือ ให้โอกาสแก่คน เราเชื่อในการเริ่มต้นใหม่ ถึงแม้ชีวิตของเขาจะดูเหมือนไร้ค่า แต่ถ้านำเขาเข้ามา ในจุดที่เหมาะสม แล้วก็สอนสิ่งที่ดีให้ ชีวิตของเขาก็จะมีค่าได้ เป็นประโยชน์ ต่อคนอื่นได้

ปัจจุบันมีที่กรุงเทพฯ กับที่พัทลุงเท่านั้น กรุงเทพฯจส่งต่อไปยังชุมชนพันธสัญญา ส่วนบ้านนกขมิ้น ตอนนี้ก็แยกตัว มาต่างหาก รับเฉพาะเด็กเร่ร่อนในกรุงเทพฯ กรณีอื่นๆ ก็ประสานไปยังพัทลุง มีขั้นตอน ดำเนินงาน คือ ติดต่อสำนักงานก่อน เพื่อดูว่ามีที่ว่างจะรับได้ไหม ตรงประเด็นไหม ถ้าไม่ตรง เราก็แนะนำ ไปที่องค์กรอื่น เราทำงานตรงกับกรณีของเขา เมื่อเขาติดต่อเข้าไป ตอนนี้ก็รับเข้าไปอยู่แล้ว

กรณีที่หนัก
มีคนหนึ่งติดเฮโรอีน ๑๗ ปี ชีวิตกลายเป็นขยะ ไม่มีค่าแล้ว แต่เมื่อมีโอกาสไปอยู่กับเรา ก็มีโอกาสได้คุย ได้สอน ที่สำคัญคือได้ สำแดงความรัก ชีวิตเขาเมื่อก่อนจาก ๕ % ตอนนี้ขึ้นมาประมาณ ๘๕ % นี่คิดว่า หนักที่สุด และแน่นอนพฤติกรรม ความคิด การกระทำ การแสดงของเขา ไม่ได้เป็นคนที่น่ารัก แต่ปัญหาของเรา คือว่า เมื่อเรามาทำงานแบบนี้ เราจะสามารถรักคนที่ไม่น่ารักได้ไหม เพราะความรัก จะช่วยเหลือ และเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาได้ โดยทั่วไปคนจะรักคนที่น่ารัก ถ้าเจอคนที่ไม่น่ารัก ก็ไม่อยาก จะคบด้วย หรือมิฉะนั้นก็อาจจะตอบโต้ หรือปฏิเสธไป

ที่เข้ามาอยู่ส่วนมากมาจากกรุงเทพฯ คนภาคกลางที่มีปัญหามากที่สุด ส่วนกรณีเด็กผู้หญิง ที่ครอบครัวมีปัญหา จะมาจากภาคเหนือ

เงื่อนไขการอยู่บ้าน
เงื่อนไข ๓ ประการ
๑. คุณต้องการให้เราช่วยเหลือไหม หากต้องการก็มอบสิทธิอำนาจ ให้เราปกครองดูแล
๒. ต้องสอนได้
๓. คุณเรียนรู้ที่จะเชื่อฟังได้ไหม

ถ้ามอบสิทธิอำนาจให้เราสอนได้ และยินดีเชื่อฟัง เราจึงจะรับ แต่ถ้าไม่ต้องการ ก็บอกเราช่วยไม่ได้ แล้วไม่มีใครช่วยเขาได้ด้วย

คนที่เข้ามาอยู่ต้องร่วมมือ มีบางคนที่มาอยู่แล้วก็ไม่สามารถที่จะฝืนกับนิสัยเดิมของเขาได้ หรือวิถีชีวิตเดิม หรือตัวเก่าของเขาได้ เราก็บอก ถ้าคุณอยู่ไม่ได้คุณก็อิสระเสรีภาพที่จะเลือกเดิน แต่ถ้าอยู่กับเรา ต้องอยู่แบบนี้ แต่ถ้าต้องการที่จะมีชีวิตแบบเดิม ก็ต้องออกไปข้างนอก ก็มีเหมือนกันแต่ไม่มาก แต่ส่วนมาก จะอยู่กับเรา เหมือนที่คนป่วยต้องการหมอ เพราะฉะนั้น เมื่อเขามาถึงโรงพยาบาลแล้ว เขาก็ไม่อยาก ที่จะออกไป ถ้าไม่หาย

ในชุมชนเน้นเรื่องการศึกษาด้วย เมื่อเด็กที่มีโอกาสทางการศึกษา เราก็ส่งไปโรงเรียน ตามอายุ ตามความถนัด แต่ถ้าไม่สามารถเรียนในระบบได้ ก็ต้องส่งไปเรียนนอกระบบ เช่น เรียนสายอาชีพ เรียนเสริมสวย

วิถีชีวิตในชุมชน
๘ ปีที่อยู่ในชุมชน เราช่วยกันทำนา ๘ ไร่ ปลูกผักในพื้นที่ ๒๐ ไร่ เอามาเลี้ยงในโครงการ ใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์ มีรถไถ มีโรงสีข้าวมือ มีหัตถกรรมผ้าบาติค และกิจกรรมต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับท้องถิ่นที่มี ผ้าบาติค ก็ส่งขายไปตามที่ต่างๆ และมีคนเข้ามาซื้อ

ก็มีคนมาเยี่ยมเยียนตลอด ข้าราชการหน่วยงานของรัฐ พ่อค้าประชาชนและชาวต่างประเทศ เรามีเครือข่าย ไว้กับทุกๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในและต่างประเทศ

บูรณาการ
จากประสบการณ์เมื่อทำงานในสภาพเชิงเดี่ยวจะไม่ค่อยสมบูรณ์ แต่ถ้าหลายๆ โครงการ มารวมอยู่ ในที่เดียวกัน ๑. สามารถจะตอบสนองปัญหาในสังคมได้หลายเรื่อง ๒.กรณีเด็กกำพร้า ขาดพ่อแม่ ขาดความรัก ความอบอุ่น เมื่อเข้ามาอยู่ เราไม่สามารถให้ความรักทั่วถึง แต่ถ้ามีกรณีหญิงหม้ายชรา ที่ขาดคนดูแลเหมือนกัน เขาก็เหงา เด็กก็ว้าเหว่ เมื่อมาอยู่ร่วมกัน ก็กลายเป็นยาย เป็นหลาน เกิดความอบอุ่น

ถ้ามีเด็กอ่อนเข้ามา หรือถ้ามีแม่เข้ามา มันก็จะกลายสภาพเป็นบ้านที่แท้จริง คือมีทั้งคนแก่ มีทั้งเด็กอ่อน ที่อยู่ร่วมกัน แล้วมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการดูแลกัน ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นครอบครัว เกิดความรัก ความอบอุ่น ความผูกพันขึ้นมา อยู่แบบบูรณาการ มันจะลงตัว อีกจุดหนึ่งคือ ต้องสอนคน ให้ช่วยเหลือคนอื่น เราหล่อหลอมเขาตรงนี้

ประการที่หนึ่ง ในชีวิตของเราเราต้อง สำแดงถึงความรัก ที่เรียกว่าความรักของ พระเจ้า ต้องสำแดง บางทีไม่ต้องพูด

ประการที่สอง เราต้องมีการพูด มีการสอน มีการอบรม เช่นในตอนกลางคืน เกือบทุกคืน เราจะมีการประชุม แล้วก็จะคุย จะพูด ซึ่งจะทำควบคู่กันไป

ประการที่สาม คนที่เข้ามาอยู่เขาก็จะได้เห็นภาพจริงๆ เช่นเมื่อเราสอน ในการสำแดง ความรักต่อคน ในการช่วยเหลือคน เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยเราต้องทำกัน แต่ถ้าเราเพียงแค่พูด เราไม่ได้กระทำ ถามว่า เขาจะเห็นได้ ณ ที่ไหน ดังนั้น เมื่อมีคนใหม่เข้ามา เขาจะได้เห็นสิ่งที่เราพูด นี่คือสิ่งที่เราทำ

ในขณะเดียวกัน ประการที่สี่ เราก็สอนให้เขาทำ มันจะกลายเป็นภาพที่บูรณาการ

กฎระเบียบในครอบครัว
ในครอบครัวพี่น้องกันเองก็มีการขัดแย้งกันบ้างเป็นธรรมดา แต่ไม่ถึงกับชกต่อยกัน เพราะเรามี กฎระเบียบกันว่า ที่นี่ไม่มีความรุนแรง ถ้ามีปัญหาก็ต้องไปคุยกันสองต่อสอง ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ให้ผู้ใหญ่เข้าไปช่วยคุย ถ้าตกลงกันไม่ได้อีก ก็ต้องตัดสินกัน ก็มีวิธีการ มีมาตรการในการดูแล จะเกิดขึ้น กรณีเด็กที่เพิ่งเข้ามาอยู่ใหม่ เพราะยังปรับตัวไม่ได้ แต่เด็กที่อยู่นานแล้ว ก็ไม่ค่อยมีปัญหา

เด็กไม่จำเป็นต้องเชื่อเหมือนกับเราก็ได้ เพราะเรื่องความเชื่อเป็นเรื่องเสรีภาพ แต่เราพยายาม จะหนุนใจ ให้เขามาฟัง เพราะไม่ใช่เพียงแค่สอนเรื่องพระคัมภีร์ แต่เราสอนเรื่องการดำเนินชีวิต การจะใช้ความคิด ในการที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้ยังไง เช่น มีความคิดลบ ทำยังไงเราจะมีความคิดบวก ถ้าความคิด ของเราเป็นอย่างไร ชีวิตของเราก็เป็นอย่างนั้น

ความคิดจะปั้นชีวิตขึ้นมา ชีวิตก็จะเป็นไปตามความคิด จึงต้องมารับการสอน รับแนวความคิด ในการดำเนินชีวิต ดังนั้นตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ตอนเย็น จะให้แนวความคิด ส่วนมากก็เป็นผม ก็มีผู้ช่วยด้วย อบรม ค่อนข้างจะเข้มงวดแต่ก็ไม่นาน วันเสาร์หยุด วันอาทิตย์ก็เข้าโบสถ์ บ้านก็คือโบสถ์ ไม่ต้องไปไกล อยู่ที่นั่นเลย

กับครอบครัว
พระเจ้าเน้นครอบครัวเป็นสถาบันหลัก ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับสอง รองจากพระเจ้า ฉะนั้น ในความสัมพันธ์ ระหว่างสามีภรรยา ความสัมพันธ์ระหว่างลูก ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดี มีชีวิตครอบครัว ที่บริสุทธิ์ ต้องรับผิดชอบ

ผมไม่มีตำแหน่ง ไม่ได้รับการแต่งตั้งจากที่ไหน แต่เป็นผู้รับใช้พระเจ้า ผมเชื่อในพระเจ้า แล้วดำเนินชีวิต กับพระเจ้า มีกลุ่มคนที่รู้จักผมเป็นการส่วนตัว รู้ว่าผมมีพรสวรรค์ อะไรบ้าง เขาเชิญผมไปเทศนา ที่อังกฤษ สวิสฯ อาจจะรวมกลุ่มอยู่ในโบสถ์ของเขา หรือจะรวมกลุ่มอยู่เป็นค่าย โดยผมไปสอน

ลูกของผมก็จะอยู่ร่วมกันกับเด็กพวกนี้ทั้งหมดเลย ด้วยความเป็นเด็ก บางทีลูก ก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมเขาต้อง มาแบ่งปันพ่อ แม่ กับเด็กอื่น เราก็อธิบายว่า สิ่งที่เราทำนี้ เป็นงานที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ของเด็กเหล่านี้ ถ้าเราไม่ช่วย ใครจะช่วยเขา แล้วเขาเองก็ได้เรียนรู้ตั้งแต่เด็กแล้วว่า ชีวิตของเรา ต้องมีชีวิต เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ช่วยเหลือคนอื่นต่อไปเหมือนกัน ตอนนี้เขาเริ่มเข้าใจ ก็เล่นด้วยกัน กับเด็กเหล่านี้ ลูกสาวก็มีส่วนช่วยดูแลเด็กอ่อน

ภาพแห่งความประทับใจ
แนวความคิดนี้ได้รับมาจากสันติอโศก ขณะที่ดูหนังเรื่อง เซนต์ฟรานซิสโก แห่งอัสซีซี ก็เป็น แนวความคิด ที่คล้ายๆ กัน หนังเรื่องนี้มีอิทธิพลต่อแนวความคิดของผมด้วย เป็นภาพแห่งความประทับใจ และก็ให้ ความรู้สึกที่ดีที่ ไม่ใช่อยู่เพียงแค่ในศาสนา อย่างเดียว หรือไม่ใช่อยู่เพียงเพื่อตนเองอย่างเดียว แต่ทำยังไง ที่ฝ่ายจิตวิญญาณ ของเรา จะบริสุทธิ์ประการที่ ๑ ประการที่ ๒ ทำยังไงที่เราเอง จะไม่ใช่เป็นคนเพียงแค่ จะไปกล่าวโทษคนอื่น หรือไปชี้ผิดคนอื่น แต่ทำยังไงที่เราสามารถจะช่วยเหลือ แล้วก็หนุนใจคนอื่น ให้เขามีชีวิตที่ดำเนินอยู่ได้ โดยมีความสุข

ฝากสังคม
สังคมโลกโดยทั่วไป เป็นสังคมที่มีปัญหา เป็นสังคมที่เป็นโรค ทำอย่างไรคนในสังคม ที่ช่วยเหลือ ตนเองได้ มีเพียงพอ ประสบความสำเร็จแล้ว จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ต่อคนอื่น เพราะชีวิตของเรา ไม่ได้อยู่คนเดียว ความสุข ไม่ได้อยู่แค่ตรงนั้น แต่ความสุขอยู่ที่ว่าชีวิตของเราจะเป็นประโยชน์ต่อชีวิต ของคนอื่นได้อย่างไร ซึ่งเป็นหลัก ของธรรมชาติ ผู้ที่ให้ย่อมมีความสุขมากกว่าผู้ที่รับ ผู้ที่ยิ่งให้ไป ก็จะยิ่งได้มา อาจจะมา ในรูปต่างๆ ซึ่งเราขาดอยู่ก็ได้

เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของศาสนา แต่เป็นเรื่องการดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้ยังไงเท่านั้นเอง เป็นเรื่องของ พระเยซูคริสต์ แต่คนเข้าใจเป็นเรื่อศาสนา แต่จริงๆ ไม่ใช่เรื่องศาสนา แต่เป็นเรื่องของ ชีวิตของเรา ทำยังไง ให้พระเจ้าเข้ามาอยู่ในเรา แล้วเราเองเป็นเหมือนพระเจ้า หรือเป็นเหมือนพระเยซู โดยแท้จริงพระเจ้า หรือพระเยซู ปรารถนาให้คนทุกๆ คนเป็นเหมือนพระองค์

คนที่ทำงานกับพระเจ้า ถ้าไม่ได้บังเกิดใหม่ก็ไปอยู่กับพระเจ้าไม่ได้ จุดของการเข้า สวรรค์ หรือไม่เข้าสวรรค์ จุดของการ เข้าไปในแผ่นดินของพระเจ้า หรือไม่ได้เข้าไป ในแผ่นดินของพระเจ้า อยู่ในจุดของ การบังเกิดใหม่ การบังเกิดใหม่แปลว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า เข้ามาปฏิสนธิ อยู่ในจิตวิญญาณ ของเราหรือเปล่า ถ้าเข้ามา เราก็จะมีสภาวะของพระเจ้า แล้วสภาวะนี้ ก็จะเติบโตขึ้น จะใหญ่ขึ้น จนกลายเป็นเหมือนกับพระเยซูคริสต์

ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นเมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว เมื่อเรารู้ว่าเราเป็นคนบาป มีกิเลส แล้วเราเอง จัดการกับสิ่งนี้ ไม่ได้แล้ว มันไม่หลุด มันไม่ออกไปสักที เมื่อรู้ว่ามีพระเยซูเป็นผู้ที่เข้ามา ในโลกนี้ ในฐานะ ผู้ไถ่บาป ไม่ใช่เข้ามา ในฐานะศาสนา เมื่อความจริง ๒ อย่างนี้ เกิดขึ้น เราเองเรารู้ว่าเราเป็นคนบาป แล้วเรารู้ว่า พระเยซูคริสต์ เป็นผู้ไถ่บาป

ต้องขอบคุณสันติอโศก เพราะพื้นฐานเบื้องต้นในการฝึกฝนชีวิต ผมมีโอกาสฝึกฝน ที่สันติอโศก และที่นี่ ให้ความรู้ ให้แนวคิดหลายอย่าง และมีโอกาสเรียนรู้ ในเรื่องของ ฝ่ายจิตวิญญาณ และได้มีโอกาสดูหนัง ของคริสเตียน จากที่นี่เยอะมาก


ประวัติ
อนุรักษ์ พูลหนู
เป็นคนจังหวัดพัทลุง อายุ ๔๒ ปี ศาสนา คริสต์ ภรรยา นางนุจรินทร์ พูลหนู บุตร ด.ญ.มิ่งฟ้า (แตงกวา) อายุ ๑๓ ปี ด.ช.ขวัญฟ้า (น้องขวัญ) อายุ ๙ ปี
การศึกษา
ประถมศึกษา ร.ร.บ้านควนขนุน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง มัธยมศึกษา ร.ร.ควนขนุน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ปวช.พาณิชยการดุสิต กทม. คณะรัฐศาสตร์ สาขาการทูต เกียรตินิยมอันดับสอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี พ.ศ.๒๕๒๙
การทำงาน
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มูลนิธิบ้านนกขมิ้น ผู้อำนวยการชุมชนพันธสัญญา ตู้ ป.ณ. ๘ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ๙๓๑๑๐
โทร. ๐-๗๔๖๘-๒๓๒๕, ๐-๑๗๙๘-๕๕๒๘
E-mail: [email protected] www.phantasanja.org

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๙ สิงหาคม ๒๕๔๗ -