เรื่องสั้น ธารธรรม
ราชาปรัด


เมื่อมีการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ชาวบ้านมีรายได้เป็นกอบเป็นกำอยู่เหมือนกัน เริ่มตั้งแต่ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ขึ้นไป จนถึง ส.ส. ส.ว.เลยทีเดียว

การเลือกตั้งคราวที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งนักการเมืองระดับจังหวัด ส.จ. และนายก อบจ. ชาวบ้านสนุกกันถ้วนทั่วไม่ขี้เกียจไปใช้สิทธิ์ เพราะไปได้แล้วได้เงิน กกต. เป็นแค่หนังหน้าไฟเท่านั้น การซื้อสิทธิ์ขายเสียงยังทำกันเปิดเผย หัวคะแนนหนึ่งคน รับผิดชอบ ๓ ครอบครัว หนึ่งเสียงของผู้มีสิทธิ์มีค่า ๒๐๐ บาท จ่ายควบ ส.จ.และนายก อบจ. เพราะหาเสียงร่วมกัน หากครอบครัวหนึ่งมีผู้ใช้สิทธิ์ ๕ คน ก็รับไปเลย ๑,๐๐๐ บาท ต่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ๑ คน ถ้าเขตนั้นมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ๕ คน และแต่ละคน แข่งกันซื้อแย่งกันจ่าย ชาวบ้านก็รับเพลิน เป็นธุรกิจขายเสียง ที่มีรายได้ไม่เลวเลย งานนี้ผู้ขายมีแต่ได้กับได้ไม่มีเสีย ส่วนผู้ซื้อมีได้กับเสีย สองอย่าง อะไรคือแรงจูงใจ ให้ผู้สมัครแต่ละคนเสน่หาตำแหน่งหน้าที่อันนี้ และแย่งกันสมัคร แย่งกันซื้อนักหนา ชาวบ้านก็ทราบแต่เพียงว่า เพื่อเกียรติ และผลประโยชน์ ลึกกว่านั้นไม่ทราบ

ข้าพเจ้าแวะเวียนมาที่ร้านชายของชำ เจ้าประจำ ครั้งก่อนแวะมาก่อนการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และ ส.จ. ๒ วัน ครั้งนี้แวะมาก่อน มีการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ๒ วันเช่นกัน นับว่ามาในจังหวะ โค้งสุดท้ายพอดี ข้าพเจ้าสั่งน้ำอัดลมมานั่งดื่มแก้กระหายพร้อมๆ กับฟังชาวบ้านสนทนาวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีรสชาติ

เจ้าของร้านชำอายุอานามห้าสิบต้นๆ เจ้าเนื้อทั้งผัวทั้งเมีย โดยเฉพาะฝ่ายผัว ไม่ชอบสวมเสื้อ เดินโชว์พุง ลักษณะบ่งบอกว่าเป็นคนขี้ร้อน สนใจการบ้านการเมือง อยู่ไม่น้อย สังเกตจากการสนทนาปราศรัยกับลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่จะถามเรื่องเลือก อบต. เบอร์ไหนถึงจะดี หรือไม่ก็คุณสมบัติของผู้สมัคร รวมไปถึงนโยบาย และการซื้อ ขายสิทธิ์ ขายเสียงเรื่อยไปเป็นลำดับ กำลังคุยอยู่ก็มีลูกค้าเดินเข้ามา

"มีไม้ขีดไฟไหม"

"มี.."

"ซื้อหีบหนึ่ง"

"ทำไมไม่ใช้ไฟแช็กแบบแก๊สวะ แบบนี้เขาไว้แจกในงานเผาศพกันแล้วโวัย" เสียงหนึ่ง กล่าวขึ้นลอยๆ

"ช่างกู..." แกตอบสั้นๆ

"ไอ้พันมันคนใจเดียว อย่าไปแนะนำมันให้ยากเลยวะ" เจ้าของร้านกล่าว

"ใจเดียวแบบนี้สงสัยทิ้งบัตรโทน..เฮ้ย แกชอบเบอร์ไหนวะ.." เสียงใครอีกคนถามขึ้น

"ชอบทั้งนั้นถ้าให้เงินกู"

"เฮ้ย..หัดเลือกคนที่มีอุดมการณ์บ้างซิวะ บ้านเมืองถึงจะมีความก้าวหน้า" ตาเนยทัดทาน

"แล้วใครล่ะ มีอุดมการณ์ กูเห็นใครเข้าไปแล้วก็มีแต่อุดมกิน" ตาพันเริ่มใช้คารม

"เขาเสียเงินเข้าไปมาก ก็ต้องถอนทุนเป็นธรรมดา" ตาเนยกล่าว

"ก็ช่าง ใครจะว่ายังไงกูไม่สน กูมีคติของกูอย่างนี้โว้ย"

"เฮ้ย..คติของแกว่าอย่างไรวะพัน" ตาเนยถามต่อ

"อ๋อ..คติกูเรอะ เงินไม่มากูไปนาเกี่ยวข้าว ถ้าเงินมากูจะไปกาให้เจ้า"

"หมายความว่าถ้าเงินไม่มากาไม่เป็นน่ะซิ"

"ใช่.." ตาพันยืนยันหน้าตาเฉย

"เฮ้..ตาพันกล่าวได้ถูกใจจริงๆ โว้ย" อีก ๒ คนกล่าวขึ้นแล้วปรบมือ

ข้าพเจ้าได้แต่คิดอยู่ในใจว่า มนุษย์มีความปรารถนาเงินทองกันทั้งนั้น ไม่ว่ายาจก หรือเศรษฐี การที่จะห้ามชาวบ้านรับเงินรับทอง ของแจกของแถมย่อมเป็นไปไม่ได้ ยิ่งห้าม เหมือนยิ่งยุ ยิ่งรณรงค์ก็ยิ่งกระทำ

"ถ้าจะห้ามชาวบ้านไม่ให้รับเงินจากหัวคะแนนก็อย่าให้มีการเลือกตั้งเสียเลย" พันเปรย

"ข้าก็ว่าเหมือนแกแหละวะ" ตาเนยเจ้าของร้านเสริม

"ของเขาเอามาให้ กูไปขอเขาเสียเมื่อไหร่" พันแจง

เป็นความจริง ชาวบ้านไม่ได้ขอ ไม่ได้ตั้งค่าหัวว่าจะต้องให้เสียงละเท่านั้นเท่านี้ แต่ ผู้สมัครกำหนดแล้วจ่ายให้เขาเองต่างหาก

"แกเห็นผู้สมัครตระกูลนั้นไหม มันลงกันทั้งโคตรเลยว่ะ" พันเผยพร้อมกับชี้มือไปที่ ป้ายหาเสียง

"อื่มม์เห็น" เนยตอบ

"ข้าไม่เห็นมันทำดีอะไร แต่พอถึงเวลามันพากันลงสมัคร แล้วหอบเงินมาซื้อ หมดงบ ไปคนละสิบล้าน ยี่สิบล้าน แล้วชาวบ้านก็สงเคราะห์ช่วยเลือกมัน" พันกล่าวปลงๆ

ข้าพเจ้าชักเห็นด้วยกับตาพัน คนมีเงินไม่ต้องทำความดีอะไรให้ชาวบ้านเห็น เพียงแต่ ถึงเวลานำเงินมาซื้อมาจ่าย ชาวบ้านก็กาบัตรให้ ไม่ใช่เรื่องกลัวบาปกลัวบุญ แต่เป็นเรื่อง ซื้อขายกันธรรมดาเท่านั้น

"จริงๆ นะ ข้าไม่กลัวเรื่องบาปเรื่องบุญอะไรนั่นหรอก เมื่อเงินมาก็กาให้ การเมือง เป็นเรื่องธุรกิจไปตั้งนานแล้ว อย่างมโข่ง กันอยู่เลย"

"มันก็จริงอย่างแกว่าอยู่หรอก แต่ถ้าไม่ปรามเอาไว้บ้างมันก็จะเป็นการเปิดตลาด ทำธุรกิจ ซื้อขายเสียงกันอย่างโจ่งแจ้ง บ้านเมืองก็จะเสียหาย เพราะจะมีแต่ นักการเมือง โกงกิน เข้าไปกอบโกยกันเต็มสภา ข้าวของแพงขึ้นแกอย่าคิดว่า ไม่มีผลกระทบนะ ไม้ขีดไฟที่แกถืออยู่นี้ก็เกี่ยวข้องกับการเมืองเช่นกัน แกเคยซื้ออยู่ หีบละห้าสิบตังค์ หีบละบาท แต่ตอนนี้แกต้องซื้อใช้หีบละสองบาทก็เพราะอะไร ก็เพราะนักการเมือง เข้าไปบริหารประเทศเอื้ออำนวยผลประโยชน์ให้แก่นักธุรกิจ พ่อค้านายทุนด้วยกัน ราคาสินค้าขึ้นได้ขึ้นเอา แต่ราคาข้าวในนาแก เขาขึ้นให้บ้าง หรือเปล่า ประกาศให้ขึ้น อยู่หรอกสองวัน หลอกให้แกขนใส่รถบรรทุก พอไปถึงโรงสี ราคามันลงอีกแล้ว แกจะบรรทุก กลับบ้านรึ ไม่มีทาง ผีถึงป่าช้าแล้วถ้าไม่เผาก็ต้องฝัง" เนยชี้แจง อย่างมีเหตุมีผล

"มันก็ช่วยไม่ได้โว้ย การทำธุรกิจก็ต้องหวังกำไร ไม่เช่นนั้นใครเขาจะทำกันวะ" พันตอบ

"ในสภามันมีดีอะไรนักหนาวะ ถึงได้แย่งซื้อเข้าไปกันนัก" อีกคนเอ่ยถาม

"ไม่รู้เว้ย ข้าก็บ้านนอกเหมือนแกนั่นแหละ"

"แล้วแกคิดว่าการออกกฎหมายห้าม ไม่ให้มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงจะมีผลหรือเปล่าวะ" เนยถาม

"ไม่มีทาง ไม่มีทาง ยิ่งห้ามมันก็ยิ่งซื้อ และยิ่งใช้วิธีแยบยลกว่าเก่า กฎหมายจะทำ อะไรมันได้ กูไม่เชื่อ" พันยืนยัน

"แล้วจะให้รัฐบาลทำอย่างไรมันถึงจะดีเหมือนอย่างที่แกคิดวะ ไหนลองเสนอมาดูซิ"

"ข้าเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาเท่านั้น จะให้ใช้ความคิดอย่างนักวิชาการได้อย่างไร กูเสนอไม่เป็นหรอก"

"อ้าว..เห็นแกว่าทำอย่างนั้นก็ไม่ดี ทำอย่างนี้ก็ไม่มีทาง ก็คิดว่าแกจะมีแนววิธีป้องกันดีๆ มาเสนอแนะซิวะ ถึงได้ถาม"

"ไม่มีหรอก แต่กูเชื่อว่าไม่มีทางแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้ เพราะในสภาทั้งสภา ไม่ว่าฝ่ายไหน รัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ต่างก็ซื้อกันเข้าไปแทบจะทั้งนั้น ซื้อแลกแจกแถม ทำกันเป็นประเพณีไปแล้ว จะแก้ไขอย่างไรก็ยากเพื่อนเอ๋ย" พันหยุดคิดครู่หนึ่ง จึงกล่าวต่อ "กูว่านะ ปล่อยเสรีไปเลย ใครมีเงินอยากซื้อก็ซื้อไปสิ ถือเสียว่างานนี้ ชาวบ้านได้ประโยชน์"

"เป็นอย่างแกว่ามันจะไม่ไปกันใหญ่รึ"

"จะเป็นยังไงก็ช่าง พวกเขานั่นแหละที่สร้างกฎกติกาเอาไว้เองแล้วจะโทษใครได้ โทษชาวบ้านเรอะ เฮ้อ..อยากหัวเราะ"

"แต่ข้าไม่เห็นด้วยที่จะปล่อยให้มีการกระทำอย่างแกว่าวุ้ย"

"แกไม่เห็นด้วย แล้วไปรับเงินเขามาทำไมวะคราวที่แล้ว"

งานนี้ข้าพเจ้าคิดว่าจะต้องลงลึกถึงในกระเป๋ากันอย่างแน่แท้ ถึงฝ่ายหนึ่งจะเย็นอยู่ ก็ตาม แต่อีกฝ่ายเริ่มร้อนแล้ว

"กูไม่เคยรับ และเขาก็ไม่เคยจ่ายกับกูด้วย" เนยปฏิเสธ

"ไม่เชื่อ อย่ามาพูดให้เหม็นขี้ฟัน กูไม่เคยเห็นกระเป๋าเงินของใครที่ไม่หงายปากขึ้นฟ้า ที่ไม่เอาก็เพราะเขาไม่ได้จ่ายกับมึง แต่ลูกมึงเมียมึงซิ รับเละ ธ่อ..."

"เรื่องนั้นกูไม่เกี่ยว แต่ตัวกูเองไม่เคยรับ" เนยยืนยัน

"ปัดโธ่ เนยเอ๋ย แกยอมรับไปเถอะ มันจะผิดอะไรกันนักหนาวะ ผู้สมัครคนไหน มันอยากได้ มันรวยจริงให้มันขนเงินมาซื้อ กกต. ก็มีอยู่แล้ว ใครซื้อจะลงโทษอย่างไร ก็เตรียมหาหลักฐานเอาไว้ พอเลือกตั้งเสร็จถ้ามันชนะก็แขวนมันเลยเลือกใหม่ ให้มันลงสมัครใหม่ ขนเงินมาซื้อใหม่ ถ้ามันได้แขวนมันอีก ทำอยู่อย่างนี้แหละ สุดท้าย ให้ใบแดง ไล่ออกจากสนามไปเลย มันรวยเท่าไรแจกหลายครั้งซื้อหลายหน ไม่หมดบ้าง ก็ให้มันรู้ไปสิ"

"แกคิดจะผลาญนักการเมืองเรอะ"

"ไม่ใช่ผลาญโว้ย แต่กูคิดว่าเงินมากมายที่มันขนมาซื้อคงไม่ใช่เงินบริสุทธิ์นักหรอก มันจะไปขุดมาจากไหน ถ้าไม่ไปคดโกง หรือไป คอร์รัปชั่นมา"

"อื่มม์..มีส่วนจริง กูเห็นนักการเมืองระดับไหนก็ตามพอได้เข้าไปเป็นแล้วร่ำรวย มีเงิน มีทองกันทั้งนั้น ใครล่ะจะไม่อยากเป็นอีก"

"เฮ่ย..แกรู้ไหม ระบอบเสรีที่เลวที่สุดก็คือระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งนี่แหละ"

"อ้าว..แล้วระบอบอื่นไม่เลวหรือวะ"

"เลวเหมือนกัน แต่เลวน้อยกว่านี้"

"แล้วแกคิดว่าระบอบไหนเล่าดีที่สุด"

"ดีทั้งนั้นแหละระบอบอื่น โดยเฉพาะ ราชาปรัด" ตาพันกล่าวหน้าตาเฉย

"ฮึ่ย..งงว่ะ ระบอบราชาปรัดอะไรวะ ไม่เคยได้ยิน" เนยเกาหัวแกรกๆ

"ไม่บอก ปล่อยให้งง" พันพูดเรียบๆ

ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่า "ราชาปรัด" ของลุงพันคืออะไร หรือว่าเป็นรัฐในอุดมคติ ของนัก ปรัชญาเมธีในยุคคลาสสิก ได้แก่ โสเครตีส เพลโต และอริสโตเติล นักปรัชญาเหล่านี้ ได้พยายามแสวงหาระบอบการปกครองรัฐที่ดีที่สุด เพลโตเสนอว่า รูปแบบการ ปกครอง ที่ดีที่สุดในอุดมคติ คือการปกครองโดยราชาปราชญ์ ส่วนอริสโตเติล ได้แบ่งรูปแบบ การปกครองเป็น ๒ ลักษณะ คือ ๑.ระบอบการปกครองที่ดีได้แก่ ระบอบกษัตริย์ ระบอบ อภิชนาธิปไตย-และระบอบโพลิตี้

ส่วนที่ ๒ ระบอบการปกครองที่ไม่ดีก็คงได้แก่ ระบอบทรราชย์-ระบอบคณาธิปไตย-ระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ก็ให้ดูที่เป้าหมายการปกครองด้วยว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์ ของคนกลุ่มใดในสังคม

ที่กล่าวมาเป็นความเข้าใจของข้าพเจ้า ไม่ทราบจะตรงกับความหมาย "ราชาปรัด" ของลุงพัน ที่กล่าวไว้เมื่อตะกี้นี้หรือเปล่า และคำว่า "ราชาปรัด" ของแกจะเป็น ราชาปราชญ์ ของข้าพเจ้าหรือไม่ ก็ไม่ทราบ

"ไม่ไหว รัฐบาลนี้ทำอะไรก็ไม่รู้ หาแต่หนี้มาให้ชาวบ้านอยู่ไม่เว้น คิดดูแล้วสู้รัฐบาล ที่ผ่านมาก็ไม่ได้" พันเปรย

"แต่ข้าว่ารัฐบาลนี้เขาทำดีโว้ย ๓๐ บาทรักษาทุกโรค โครงการเงินล้าน ดีๆ ทั้งนั้น เข้าตากรรมการ" มีคนกล่าวแทรกน้ำเสียงกวนๆ

"ใช่ แกว่าดี แต่ข้าว่าไม่ดี โรงพยาบาลข้าก็ไปมาแล้ว ปวดขาแทบตายให้แต่ยา พาราฯ มากิน ไม่เกิน ๑๐ เม็ด แถมนั่งรออีกครึ่งวันกว่าจะถึงคิว หายก็ไม่หาย ต้องไปคลินิก ฉีดยาถึงได้หาย"

"แกไม่หาย แต่คนอื่นหายโว้ย อย่าเอาตัวแกมาเป็นเกณฑ์สิวะ คนจำนวนมาก ย่อมมีหายบ้าง ไม่หายบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ไม่หายก็ไปหาอีกใช่จะแปลกอะไร หายเสียหมดทุกคนก็ไม่มีคนตายสิวะ เอาเถอะสำหรับแกข้าไม่รู้ แต่สำหรับข้าแล้วว่าดี เพราะทุกโครงการ ที่รัฐบาลทำ คนจนได้ประโยชน์ อย่างโครงการเงินล้านซิ ชาวบ้าน ได้ประโยชน์ มีเงินจับจ่ายใช้สอยมิใช่น้อย"

"โธ่..ไอ้ทอง แกมองอะไรแต่เพียงด้านเดียว รัฐบาลส่งเสริมให้คนเป็นหนี้กันทั่วหน้า เงินล้านที่รัฐบาลให้น่ะ เขาให้มาเปล่าๆ เรอะ แกไม่ต้องใช้หนี้เขาเรอะ ชาวบ้านกู้เงิน มาใช้ให้เกิดประโยชน์อะไรบ้าง กูเห็นแต่ชาวบ้านเอาไปกินเหล้า เล่นการพนัน หรือที่ได้ขึ้นมาหน่อยก็พวกโทรศัพท์มือถือ มอเตอร์ไซค์จำเป็นนักรึ ที่คนเลี้ยงควาย อย่างบ้านเราต้องพกมือถือ แล้วอย่างแกก็เหมือนกัน กู้เงินล้านมาไม่ถึงวันเล่นไพ่หมด นี่หรือประโยชน์ที่แกได้ หือไอ้ทอง.."

มาถึงตรงนี้ นายทองชักสีหน้าไม่ค่อยดี เริ่มหยิบโน่นจับนี่ไม่เป็นสุข แต่ก็ยังกัดฟัน กล่าวชมผลงานรัฐบาลอย่างไม่ยอมแพ้

"ใช่ กูเล่นไพ่ ประโยชน์ของกูคือได้เล่น มือถือ หรือมอเตอร์ไซค์ มีประโยชน์ทั้งหมด มอเตอร์ไซค์ได้ขี่ไปมาสะดวก มือถือติดต่อรวดเร็วทันใจ แกไปอยู่หัวไร่ปลายนา แทนที่ จะต้องวิ่งตามหาให้ยุ่งยาก ก็โทรหาโทรตาม เดี๋ยวเดียวก็รู้เรื่องว่าอยู่ตรงไหนทำอะไร ส่วนเรื่องเป็นหนี้ก็ธรรมดา อยากได้เงินที่ไหนมาก็ต้องเป็นหนี้ หาได้มาก็ใช้คืนเขาไป แกไม่อยากเป็นหนี้ก็อย่าไปกู้ไปยืมเขามันก็แล้วกันไป แกจะมาขุดคุ้ยหา ตวักกระบวย อะไรกัน กูเล่นไพ่ก็เรื่องของกู ไปเกี่ยวอะไรด้วยกับมึง" นายทองเสียงดังขึ้น หน้าตา ก็ชักเข้มขึ้น

"ไม่เกี่ยวอะไรด้วยหรอก แต่กูเห็นแล้วสงสาร มีอย่างที่ไหนลูก ๕ คน มือถือ ๕ เครื่อง งานก็ยังไม่มีทำ ต้องขอเงินพ่อแม่มาซื้อบัตรเติมเงิน เป็นนักธุรกิจนักค้าขาย ก็ว่าไป อีกอย่าง อันนี้โทรเล่น คุยจีบกัน ไม่เห็นเกิดประโยชน์ตรงไหน นอกจากทางฉิบหาย คนขายโน่นแหละได้เงิน เจริญ รวยอยู่บนความฟุ่มเฟือยลูกหลานชาวบ้านคนยากจน ถ้ารัฐบาลแน่จริงไม่ต้องผันเงินล้านมาให้ชาวบ้านต้องเป็นหนี้อยู่หรอก แจกฟรีเลย ค่ารักษาพยาบาล ๓๐ บาทไม่ต้องเสีย รักษาฟรีเลย ถ้าเก่งจริงรวยจริงแล้ว ทำให้มัน ถึงใจคนดูซิ ชาวไร่ชาวนา ปลูกข้าวเลี้ยงชาวโลกอย่างเหน็ดเหนื่อย แก่เฒ่ามาช่วยเขาสิ ๖๐ ปีแล้วทำงานหนักไม่ได้ ก็ให้เงินยังชีพเดือนหนึ่งสัก ๓,๐๐๐ ไม่ดีกว่ารึ นี่ให้บำเหน็จ บำนาญ แต่ข้าราชการเกษียณ"

"ข้าราชการน่ะ ทำประโยชน์ให้แผ่นดินนะโว้ย เกษียณแล้วก็ต้องมีบำเหน็จบำนาญ กินเป็นธรรมดา" ตาเนยกล่าวขึ้นบ้าง เมื่อเห็นนายทองนั่งท่าทีไม่พอใจ

"อ้าว ชาวนาไม่ได้ทำเพื่อชาติเพื่อ แผ่นดินหรือไง ทหารไปรบไม่ต้องกินข้าวรึ ตำรวจ ไปจับผู้ร้าย ครูสอนเด็ก นายอำเภอ ผู้ว่าฯ นายกฯ ต้องกินข้าวทั้งนั้น ทำไมถึงว่าชาวนา ไม่ได้ทำเพื่อชาติวะ" ตาพันไม่ละลด

"ชาวนาเขาทำเพื่อปากเพื่อท้อง ไม่ใช่ทำเพื่อแผ่นดิน คนละความหมายกัน" เนยยังค้าน

"ไอ้ห่า ไม่มีปากมีท้อง ไม่เพื่อปาก เพื่อท้องแล้วมันจะไปหาแผ่นดินมาอาศัยทำไมวะ กูไม่เข้าใจโว้ยไอ้เนย"

"ไอ้เรื่องเงินล้านของรัฐบาลนี่ กูเห็นด้วยกับมึง เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไรจริงๆ ที่กู้เงินไปทำตามวัตถุประสงค์จริงนั้นมีไม่กี่เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นก็นำไปใช้จ่าย อย่างที่แกว่าแหละ" เนยเห็นด้วย

"เขาจะนำไปใช้จ่ายอย่างไรก็เรื่องของเขา เมื่อเขามีปัญญากู้ก็ต้องมีปัญญาใช้สิวะ" ทองกล่าวแทรกอย่างไม่พอใจ

"มีปัญญาใช้รึ กูเห็นต้องวิ่งไปกู้เงินดอกเบี้ยไอ้ฮวดทั้งหมู่บ้าน เพื่อมาใช้หนี้เงินล้าน แล้วไอ้ฮวดก็สงเคราะห์ให้กู้เป็นดอกเบี้ยรายวันไปส่ง แล้วทำเรื่องขอกู้คืนออกมา เพื่อไปจ่ายไอ้ฮวด งานนี้เสียดอกเบี้ยสองทางเลย ทั้งกองทุนเงินล้าน ทั้งเถ้าแก่ ส่วนหนี้ยังอยู่ ปีนี้ยังอยู่ ปีนี้ดีหน่อยวัดเปิดโอกาสให้กู้ โดยเสียดอกเบี้ย ให้เป็นรายได้ ของวัดไป นี่นะหรือปัญญา โธ่.."

"ฮื่อ ตรงนี้กูก็เห็นด้วย หนี้เงินล้านกับหนี้ ธ.ก.ส. เป็นหนี้ผูกพันแบบลูกโซ่ ที่ต้องกู้ ต้องใช้กันอยู่อย่างนั้น การกู้ก็มีแต่เพิ่มขึ้นไม่มีลดลง และจะลดลงไม่ได้ เพราะต้องนำ กลับคืนมาใช้หนี้นายเงิน พร้อมดอกเบี้ย หากจะขอกู้เท่าเดิม ก็ไม่ได้ใช้อะไร เพราะกู้ยืมเงิน เขามาส่ง จำเป็นก็ต้องขอกู้เพิ่มอยู่ดี" เนยสนับสนุน

"กูเป็นหนี้ กูเล่นไพ่ มันก็เป็นเรื่องของกู ไม่เห็นต้องเดือดร้อนกบาลใคร" นายทอง บ่นพึมพำ ตาพันหันไปดูนายทองแต่ไม่กล่าวตอบโต้ หันกลับมาพูดกับตาเนยว่า

"ข้าราชการบางคนนั่งกินบำนาญวันละ ๙๐๐ วันละ ๑,๐๐๐ ไม่ต้องทำงานอะไร แต่ชาวบ้าน ต้องหอบสังขารไปรับจ้างถอนกล้า ดำนา วันละไม่เกิน ๑๐๐ บาท ต้องก้มๆ เงยๆ วันละไม่ต่ำกว่า ๘-๙ ชั่วโมง เงินค่าแรงน้อยนิด แถมทำงานตลอดชีวิต ไม่มีเกษียณ รัฐบาล ทำไมไม่มองปัญหานี้บ้าง ทั้งๆ ที่..."

พูดไม่ทันจบก็มีเสียงดังตุ๊บ พร้อมกับเสียงตาพันร้อง โอ๊ย ทุกคนในร้านหันไปดู เหตุการณ์ เห็นตาพันกุมบริเวณใบหูก่อนหงายเก๋งตกจากเก้าอี้สลบเหมือด นายทอง โยนท่อนแป๊บน้ำทิ้ง ขี่มอเตอร์ไซค์หนีไปท่ามกลางความตกตะลึง ชุลมุน ตาพันจะฟื้น มาถกความเห็นได้อีกหรือไม่ ข้าพเจ้าไม่ทราบ

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๙ สิงหาคม ๒๕๔๗ -