ใครคือชาวพุทธไทยร่วมสมัย (ตอน๖) ส.ศิวรักษ์ มุทิตาสักการะในโอกาสที่พระราชมงคลวุฒาจารย์ มีชนมายุครบ ๗ รอบนักษัตร ๑๐ มกราคม ๒๕๔๕ ตอนนี้ได้ฤกษ์แล้ว ที่จะเอ่ยถึงชาวพุทธร่วมสมัย ซึ่งแบ่งย่อย ได้เป็น ๒ หัวข้อ คือ (๑) ผู้ที่ถือตนว่าเป็นพุทธศาสนิก เพราะบิดามารดาหรือสังคมรอบๆ ตนกำหนด ซึ่งมักเป็นชาวพุทธโดยพิธีกรรมตามรูปแบบ นอกไปจากนี้แล้ว เขาก็รับรู้พุทธศาสนามาจากสถาบันการศึกษา และ/หรือ สื่อมวลชน คนพวกนี้ แม้จะเคยรับไตรสรณาคมน์ ก็ไม่ได้เปิดหัวใจรับเอาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์มาเป็นสรณะ โดยที่สรณะแปลว่าอะไร ก็ไม่เข้าใจ ยิ่งการรับศีลด้วยแล้ว ก็เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าพอจะเข้าใจอะไรได้บ้าง ก็รับเพียง ๔ ข้อ เพราะหมดพิธีแล้ว จะได้ไปกินเหล้ากินเบียร์กันต่อไป บางคนอาจใส่บาตรเนื่องในวันเกิด หรือเลี้ยงพระเนื่องในพิธีมงคลสมรส และที่หลีก ไม่ได้ก็คือต้องมีพระมาสวดศพในตอนที่มีใครตาย โดยที่พุทธศาสนาไม่ใช่คุณค่าสูงสุดในการตัดสินใจ เช่นว่า - ควรพูดจริงหรือพูดเท็จ - ควรเอาเปรียบเพื่อนต่างเพศหรือไม่ - อาชีพการงานที่เป็นสัมมาอาชีพควรเป็นเช่นไร - ทำอย่างไรจึงจะมีสติอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม อยู่เสมอๆ เพื่อว่าจะได้เอาชนะความโลภ ความโกรธ หรือความหลง ได้ในชั่วขณะหนึ่งๆ แล้วฝึกปรือที่จะเอาชนะกิเลสเหล่านี้ได้ตลอดไป บางคนนั้นถึงกับยินดีบวชเณรในภาค ฤดูร้อน ซึ่งมักมีทีละมากๆ และมักไปเต้นแร้งเต้นกากันที่วัดอย่างอึกทึกครึกโครม แม้ตอนทำพิธีบวชจะดูน่าเลื่อมใน หากหมดเงินทองไปเท่าไรๆ อย่างได้ผลดีหรือผลเสียเพียงใด ดูจะยังไม่มีการประเมินกันเอาเลย ยิ่งการบวชพระด้วยแล้ว ก็มักบวชเพื่อเอาใจบิดามารดา หรือย่ายาย หาไม่ก็บวชอุทิศเป็นพระราชกุศลตามสมัยนิยม หากบวชเพียง ๑๐ วัน หรือ� ๗ วัน ยังไม่ทันจะเข้าถึงเนื้อหาสาระของบรรพชา หรืออุปสมบท ก็ สึกหาลาเพศไปแล้ว คำถามก็คือได้อะไรติดตัวไปบ้าง หากเสียค่าใช้จ่ายรายหนึ่งๆ มิใช่น้อย ที่ร้ายยิ่งกว่านั้น ก็คือ วัดที่ไปบวชนั้น มีกี่วัดที่ยังมุ่งที่เนื้อหาสาระในทางพระธรรมวินัย บางวัดเพียงบวชคืนแรก พระเก่าก็ชวนกินข้าวค่ำเสียแล้ว ครั้นพระใหม่ถามว่า นี่ไม่เป็นอาบัติหรือ พระเก่าก็บอกว่ารุ่งขึ้นปลงอาบัติเสียก็หมดเรื่อง แสดงว่าวิถีชีวิตพระเป็นการเล่นละครอย่างหนึ่ง ซึ่งก็ยังดีกว่าบางวัด ซึ่งไม่มีการปลงอาบัติกันอีกแล้ว บางวัดไม่มีการทำวัตรเช้า-ค่ำเอาเลยด้วยซ้ำ หรือที่ทำๆ กัน ก็ไม่เข้าใจความหมายของคำสวดสังวัธยายนั้นๆ ยิ่งการลงปาติโมกข์ทุกปักษ์ ก็เป็นพิธีกรรมอันน่าเบื่อหน่าย เพราะไม่เข้าใจความหมายกันเอาเลย ปวารณากรรมตอนออกพรรษาซึ่งมีเนื้อหาสาระยิ่งนัก ก็สักแต่ว่าทำๆ กัน แม้จนการทอดกฐิน ทอดผ้าป่า บุญพระเวสส์ ฯลฯ ก็เป็นเรื่องของการหาเงิน ตลอดไปจนการฝังลูกนิมิต ยกช่อฟ้า และสารสร้างวัตถุมงคลต่างๆ ซึ่งดูจะเป็นอัปมงคลยิ่งกว่าอะไรอื่น ที่จะหาชาวพุทธร่วมสมัย ที่เชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ เรื่องชาติก่อนชาติหน้า และภพภูมิต่างๆ ในทางนรก สวรรค์ และนิพพาน ด้วยแล้ว อย่าให้ต้องพูดถึง หากมีผู้ที่เชื่อในเรื่องพวกนี้ คนเหล่านี้ก็มักหลงตามครูบาอาจารย์ของตน จนขอชายสบงครูบาอาจารย์มาทำผ้าประเจียด ขอชานหมากมาทำ พระเครื่อง ทั้งนี้โดยไม่ต้องกล่าวถึงว่า การใส่บาตรนั้น สมัยนี้มีร้านรับจัดทำจำหน่าย มีถุงพลาสติกใส่ของต่างๆ อย่างขัดกับระบบนิเวศ พระที่รับบาตรหลายรูปก็หากินอย่างมิจฉาชีพ คือรับบาตรมาแล้ว ก็ขายคืนแม่ค้าไป ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงพวกพระปลอม ยังการนิมนต์พระมาฉัน มาสวด มาเทศน์ ก็ต้องมีการถวายปัจจัยไทยทาน รวมถึงเงินตรากันมากๆ โดยตรากันไว้บ้างไหมว่า นั่นคือการจ้างพระ ให้มาทำพิธีอย่างพราหมณ์ พระที่รับนิมนต์เพื่ออามิสมากเท่าไร ความเป็น สมณะก็ลดลงไปเท่านั้น พระที่รับนิมนต์มาก ย่อมรวยมาก จนไม่มีเวลาให้คนยากคนจน ยิ่งรับสมณศักดิ์สูงขึ้น ไป ก็คบอยู่แต่กับชนชั้นสูง ทั้งๆ ที่กำพืดเดิมของพระเป็นลูกคนจน ก็เลยกลายเป็นงัวลืมตีน ที่หลงยศ หลงอำนาจ หลงวัตถุ และเงินทอง จนเป็นเหตุให้ขาดจากความเป็นพระได้ง่าย ยิ่งกุฏิริฐาน ห้องหับติดเครื่องปรับอากาศ มีโทรทัศน์ วิดีโอ และเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ แม้ที่นั่งที่นอนอันสูงภายในมี นุ่นและสำลี ก็ไม่เห็นเป็นข้อเสีย พระอยู่กับ มาตุคามสองต่อสอง ก็ไม่เห็นพิษภัย เพื่อน สหธรรมิกด้วยกัน ก็ไม่ว่าอะไรกัน คือต่างช่วยกันปกป้องโทษทัณฑ์ของกันและกัน แล้วพระจะมีเวลามาเจริญจิตสิกขาได้อย่างไร ในเมื่อ สีลสิกขาก็ย่อหย่อน ความเป็นสมี (พระปลอม) เป็นอลัชชี (คือผู้ไม่มียางอาย) จึงเกิดขึ้นได้ง่าย และมาก โดยเฉพาะก็ในหมู่พระสังฆาธิการ ชั้นสูง ซึ่งเอาอย่างฆราวาสมามีรถแข่งกัน ขอเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งแข่งกัน เลยต้องมีการติดสินบน ถ้าไม่ทำตรงๆ ก็นิมนต์ผู้บังคับบัญชาไปเทศน์ ไปเจิม หรือไปสวดมนต์ หากถวายเงินทีละหมื่นหรือกว่านั้น แล้วจะถือว่านั่นเป็นบุญกุศลได้อย่างไร งานศพ งานเมรุ ซึ่งเคยเป็นเรื่องที่ช่วยให้พระได้ปลงอสุภกรรมฐาน ก็กลายเป็นงาน หาเงิน หาเกียรติ อย่างฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย แม้ วัดวาอารามก็หมดความร่มรื่นร่มเย็น ลานวัดซึ่งเคยเต็มไปด้วยต้นไม้ ก็เลยกลายเป็นลานจอดรถ กุฏิต่างๆ ก็เป็นป่าคอนกรีต วัดยิ่งรวยมาก ก็อวดความรวยด้วยอาคารใหม่ๆ ประกอบไปด้วยช่อฟ้าใบระกา ยอดปราสาท ฯลฯ ซึ่งมักบาดตาอย่างหาความงามหรือความพอดีไม่ได้ มีแต่การอวดรวยอย่างมะพร้าวตื่นดก ยาจกตื่นมี จะหาวัดที่อนุรักษ์ศิลปกรรมดั้งเดิม ช่วยให้วัดบรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติ หรือวัดที่มีบทบาทกับคนยากจนรอบๆ วัด โดยให้ความสำคัญกับเด็ก เยาวชน คนพิการ หรือคนด้อยโอกาสต่างๆ ทางสังคม แทบหาไม่ได้เอาเลย ที่ร้ายก็คือ ข่าวทางสื่อสารมวลชน ที่มีแต่เรื่องของสมี อลัชชี หรือพระสังฆาธิการโกงเงินวัด ซื้อที่ใช้ชื่อตัว หากใช้เงินวัด แถมอ้างว่าทำพินัยกรรมยกให้วัดไว้แล้ว แต่ก็ไม่ถูกลงโทษ สมีที่ถูกตัดสินลงโทษแล้ว ก็ยังเป็นพระราชาคณะอยู่ ฯลฯ น่าเศร้าที่สื่อมวลชนไทยไม่ให้ความสำคัญกับการพระศาสนา ไม่มีการเสนอเนื้อหาของพุทธศาสนาอย่างเป็นแก่นสาร ไม่มีการเข้าใจในเรื่องพระดี และพระชั่วตัวโตๆ สื่อก็เจาะลงไปไม่ถึง ที่มีตีพิมพ์อย่างแพร่หลายก็คือเรื่องของพระเกจิอาจารย์ และรับโฆษณาสินค้าทางวัตถุมงคลอย่างน่าละอายใจ สภาพการณ์เช่นนี้ คนร่วมสมัยที่ถือตนว่าเป็นพุทธศาสนิก ควรทำเช่นไร หรือไม่ทำอะไรเลย หรือไปถือลัทธิศาสนาอื่น ซึ่งก็มีมากขึ้นทุกที สุภาพสตรีคนหนึ่งเคยบอกข้าพเจ้าว่า เธอเกิดมาในครอบครัวชาวพุทธทางเหนือ ที่ใส่บาตรกันทุกวัน พ่อแม่สวดมนต์กันทุกเช้าค่ำ วันพระก็ไปวัด ทุกเทศกาลงานบุญที่บ้านไม่เคยขาด แม้เธอมาเติบโตที่กรุงเทพฯ ก็ยังอยากใส่บาตรและอยากนิมนต์พระมาฉันที่บ้าน แต่เมื่อเธอรับรู้ถึงความร่ำรวยของพระ ของการแย่งผลประโยชน์กันของพระ ของการวิ่งเต้นเดินเหินหาสมณศักดิ์โดยมีไยต้องเอ่ยถึงอลัชชีต่างๆ ที่แต่งเป็นนายทหาร แล้วเข้าไปมั่วสุมกับนางโลม ฯลฯ เธอบอกได้แต่ว่า หดเหี่ยวใจ แล้วเธอปรารภว่าลูกเธอจะเป็นพุทธศาสนิกต่อไปได้อย่างไร เธอปรารภต่อไปว่า แล้วเด็กพวกหัวก้าวหน้าในมหาวิทยาลัยต่างๆ จะยังยอมเป็นชาวพุทธอยู่ล่ะหรือ ข้าพเจ้าก็ได้แต่ปลอบเธอไปว่า สมัยเมื่อข้าพเจ้าจัดทำปริทัศน์เสวนาที่วัดบวรนิเวศ แต่ราวก่อน พ.ศ. ๒๕๑๐ มานั้น ก็หวังว่าบรรยากาศของพระอารามกับการแสวงหาของคนหนุ่มสาว คงช่วยให้คนพวกนั้นหันมาหาพระศาสนาได้บ้างกระมัง และก็ได้ผลอยู่บ้าง ดังบางคนถึงกับไปบวชที่วัดทองนพคุณ แต่เจ้าอาวาสในเวลานั้นไม่เข้าใจคนรุ่นใหม่ ไม่ยอมเปลี่ยนจารีตประเพณีเดิมแถมยังทนฝ่ายซ้ายไม่ได้อีกด้วย ยังทางวัดชลประทานก็เช่นกัน เคราะห์ดีที่ทางสวนโมกขพลารามสามารถนำคนรุ่นใหม่ให้เข้าหาพุทธธรรมได้ แม้จะเป็นจำนวนน้อยก็ตาม - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๙ สิงหาคม ๒๕๔๗ -
|