ตอน สามัคคี

พี่แมะและน้อยนอนหลับสนิทตลอดคืน เสียงลม เสียงใบไม้ หรือแม้แต่เสียงนกฮูก ที่เคยทำให้น้อยเสียวสันหลัง ก็ไม่เข้ามารบกวนให้ตกใจตื่นเลย ทั้งสองคนลืมตาขึ้น พร้อมกัน เมื่อเสียงกลองตูมแรกจากมัสยิดในอำเภอ ซึ่งตั้งอยู่คนละฟากคลองกับบ้าน ดังขึ้น เพื่อปลุกให้มุสลิมนมัสการพระผู้เป็นเจ้า

น้อยกะพริบตาถี่ ชั่วแว้บหนึ่งเธอนึกแปลกใจที่ไม่ได้ยินเสียงเคลื่อนไหวใดๆ จากห้อง ของพ่อแม่ กลับได้ยินมาจากห้องโถงซึ่งตามปรกติไม่มีใครนอนตรงนั้น เสียงนั้นกระซิบ เบาๆ เป็นภาษามลายูว่า

"มามุ บางุงอมาฆีสมาแยบูเละเด๊าะห์ บางะซีกิ๊ลา (มามุ ลุกขึ้นมานมาส ได้แล้ว เร็วหน่อยเถอะ) "

เอ๊ะ!ใครเรียกมามุน่ะ? ทำไมมาเรียกอยู่ ที่นี่? น้อยงงไปนิดหนึ่ง นิดเดียวเท่านั้น แล้วก็นึกอะไรๆ ออกได้หมด

อ๋อ! ใช่แล้ว พ่อกับแม่ไปสงขลา มะตาเหเอาสแลแมมานอนเฝ้าบ้าน ใช่ ใช่ มามุ มานอนที่บ้านด้วย แล้วก็ยังนอนให้เขาปลุกแบบที่โต๊ะซารีบ่นบ่อยๆ อีกแล้ว เพื่อนเรา!

สักครู่ต่อมาเสียงสวดนมัสการพระ อัลเลาะห์ของชายสามคน ผู้ใหญ่หนึ่ง เด็กสอง ก็ดังประสานกันมาจากด้านหน้าบ้าน น้อยค่อยๆ เปิดมุ้ง แล้วคลานออกมา จากห้องนอน อย่างเงียบกริบ เธอยื่นศีรษะออกไปนิดเดียว ก็มองเห็นภาพที่เคยเห็นมา จนชิน แต่เคยเห็นที่ สุเหร่าเท่านั้น คราวนี้เป็นภาพพิเศษจริงๆเพราะเป็นภาพ ในบ้านของเธอเอง

มะตาเห สแลแม และมามุกำลังยืน นมัสการพระอัลเลาะห์อยู่ที่นั่นอย่างสงบ และสำรวม ในบ้านของชาวพุทธ ช่างเป็นภาพที่สุดวิเศษอะไรอย่างนั้น!

น้อยเกือบจะอุทานออกมา แต่นึกขึ้นได้ถึงคำสั่งของแม่เสียก่อนว่าไม่ให้รบกวนแขก ที่กำลังนมัสการ พระผู้เป็นเจ้าของเขา อย่างเด็ดขาด จึงรีบเอามือปิดปาก คลานกลับ เข้าห้อง อย่างเงียบๆ เหมือนขาออก พี่แมะยังนอนเล่นอยู่ที่นั่น กำลังห่มผ้าผวย ให้น้องเยาะห์ ที่ขดตัวงอ เพราะอากาศตอนเช้าที่หนาวเย็น ของอำเภอแว้งนี้

"เค้ากำลังสมาแยกันอยู่" น้อยกระซิบบอกพี่แมะอย่างเบาที่สุด "เรายังออกไปไม่ได้"

"งั้นก็นอนต่อสิ" พี่แมะว่า น้ำเสียงยินดีนิดๆ

"เราก็สวดมั่งซิ" น้อยพูด ไม่เห็นด้วยกับ พี่สาว

"ก็เราไม่เคยสวดมนตร์ตอนเช้านี่นา นอน ลงเหอะ กำลังสบาย พูดดังเดี๋ยวเยาะห์ ก็ตื่นหรอก" พี่แมะพูด ทำหน้าตาจริงจังเหมือนจะดุน้อย

"ลองออกไปโผล่ดูซี เขาสมาแยได้ เราก็สวดได้ ไม่รู้หละ น้อยจะสวด" น้อยยืนยัน

"นั่นเขาสมาแย ตัวเองจะสมาแยด้วย เหรอ? " พี่แมะยังคัดค้านแต่น้ำเสียงอ่อนลง

"เมื่อคืนเขาก็สมาแยอย่างนี้แหละ แต่เราไม่เห็นเพราะเราเข้ามาสวดมนตร์ ตอนนี้ ก็เหมือนกันแหละน่า พี่แมะไม่สวดก็อย่าสวด น้อยก็จะสวดนโมตัสสะ"

ว่าแล้วน้อยก็ลงนั่งพับเพียบเรียบร้อย ประนมมือเตรียมสวด พี่แมะยอมลุกขึ้นบ้าง ทั้งสองพี่น้อง สวดมนตร์อย่างเบาๆ ขณะที่มุสลิม อีกสามคน ยังคงนมาส อยู่อย่างสงบ ครู่ใหญ่มะตาเห จึงร้องเรียกก่อนถามว่า

"แมะ ปาฆีนิงเนาะมาแกอะปอ นาซิกราบู เนาะ? (เช้านี้จะกินอะไร ข้าวยำเอาไหม? ) "

"กีตอบูวะสดีฆีบูเละห์ก๋อ? (วกเราทำเองได้ไหมคะ? ) " พี่แมะร้องถามข้ามห้องบ้าง

"บูวะเตาะปาเยาะห์อะปอ มาฆีตูลงลา สิบินตาปงบูเละห์มาแกเดาะห์ (ไม่ยากอะไร หรอก มาช่วยกันซี เดี๋ยวเดียวก็ได้กินแล้ว) " มะตาเหตอบ

จากนั้นทุกคนก็กรูเกรียวตามมะตาเหเข้าไปในครัวเพื่อรับงานกันคนละอย่าง ยอดผัก สำหรับข้าวยำ มีอยู่ทุกชนิดในสวนและตามรั้วรอบบ้าน ใบมะกรูด ยอดขมิ้น จันทน์หอม กระพังโหม ถั่วฝักยาว ของอย่างนั้นเก็บง่าย จึงเป็นหน้าที่ของน้อยกับพี่แมะ เด็กผู้ชาย ต้องช่วย ที่ยากกว่านั้นนิดหนึ่ง คือไปตัดตะไคร้จากกอ ที่พ่อปลูก เรียงรายไว้ริมรั้ว มันขึ้นทึบจนใบคายๆ ปรกลงมาถึงดิน จากนั้นก็ไปเก็บมะนาวมาด้วย สองสามลูก กับใบยอ ที่มุมรั้วทางออกไปบ้านน้ากิม

ทุกคนอิดเอื้อนเมื่อมะตาเหถามว่าใครจะอาสาไต่ลงไปตัดดอกกาหลา บ้าง ดอกกาหลานี้ มีสีชมพูอ่อน มองดูเหมือนขี้ผึ้ง มันสวยเหลือเกิน แต่กอมันไปขึ้น อยู่ริมสระศักดิ์สิทธิ์หลังบ้าน ปนกับกอตะคร้า ที่ดอกสีขาวบริสุทธิ์ เมื่อไม่มีใครอาสา หน้าที่จึงตกเป็นของผู้ใหญ่ อย่างมะตาเหเอง เพราะทุกคนเชื่อว่า เขาคงพอรู้วิธี ดีกว่าเด็ก อีกอย่างหนึ่ง ที่มะตาเหยืนยันจะทำเอง ถึงแม้สแลแม กับมามุบอกว่า พวกเขาก็ทำได้ก็คือ ปอกและขูดมะพร้าว สำหรับให้พี่แมะคั่ว ด้วยไฟอ่อนที่สุด น้อยอยากบอกว่า ตนเองก็เคยต่อย และขูดมะพร้าวมาแล้วเหมือนกัน แต่เธอทำได้ไม่ดี เพราะข้อมือยังอ่อนนัก จึงเงียบเสีย

ในครัวยังมีสะตอและลูกเนียงอ่อนเหลืออยู่ แตงกวาลูกเล็กก็เหลืออยู่อีกหลายลูก เอาลงมารวมไว้ ในถาดเคลือบใบสีชมพูของแม่ด้วย ได้ผักสดมากพอทีเดียวแหละ ไม่ต้องซื้อเขา ให้เปลืองเงิน

ทีนี้ก็ถึงคราวลงมือทำกันได้แล้ว พี่แมะรับเป็นคนหุงนาซิกราบูเองเพราะเขาหุงข้าวเก่ง ไม่สุกบ้างดิบบ้าง เหมือนน้อย แต่เกี่ยงให้ มะตาเห ช่วยตำใบยอ คั้นเอาน้ำมาใส่ให้ ในหม้อข้าวที่พี่แมะกะน้ำเอง เพราะหุงข้าวแบบนี้ จะต้องหุงแบบไม่เช็ดน้ำ เพราะฉะนั้น ถ้ากะน้ำได้ไม่พอดี ข้าวก็อาจจะแข็ง หรือแฉะไป ไม่อร่อย จะต้องหุง ให้ข้าวเป็นตัว แต่นุ่ม ฟู และไม่แฉะ จึงจะนับว่าหุงข้าว สำหรับข้าวยำเป็น นาซิกราบูนี้มีสีคราม ก็เพราะ น้ำคั้นใบยอนี่เองแหละ แต่ถ้าไม่มีใบยอ ก็ใช้ใบย่านาง ได้เหมือนกัน ใบคนฑี ที่เขาเอามาทำขนมก็คงได้ แต่สีจะดำ ไม่สวยเหมือนใบยอ

มะตาเหขูดมะพร้าวเสร็จพอดีกับหม้อข้าวสีครามแห้ง พี่แมะราไฟโดยการรื้อเอาดุ้นฟืน ที่มีไฟติดอยู่ มายังก้อนเส้าอีกเตาหนึ่ง บนแม่ไฟให้เหลือแต่ถ่านไว้บ้าง เพื่อดงข้าว จากนั้นก็เริ่มการคั่วมะพร้าวในกระทะ เรื่องนี้เด็กๆตกลงที่จะผลัดกันคั่ว เพราะเป็นงาน ที่กินเวลานานมาก ต้องคั่วอย่างใจเย็น มะพร้าวคั่วจึงจะหอม และกรอบ ใช้ไฟแรง เกินไปนิดเดียวก็ไม่ได้ มะพร้าวจะดำไม่น่ารับประทาน ทั้งยังไม่กรอบ และไม่หอมด้วย ใครทำอย่างนั้นถือว่า คั่วมะพร้าวไม่เป็น ซึ่งจะต้องไม่ใช่เด็กๆ ที่กำลังช่วยกันทำอยู่ ในวันนี้อย่างแน่นอน เพราะทุกคนอยากรับประทาน ข้าวยำทำเอง ที่อร่อยอย่างไม่มีที่ติ

ที่คนไทยเรียกนาซิกราบูหรือข้าวสีครามนี้ว่า ข้าวยำ นั้น แม่เคยพูดว่าถูกเหมือนกัน เพราะหมายถึง การเอาผักหลายๆ อย่างมาคลุกกับข้าว และน้ำปรุง วันนี้เด็กๆ ทุกคน นอกจากน้องเยาะห์ ที่ยังเล็กเกินไป ต่างช่วยกันหั่นหมวด (เหมือด) คือผักหลากหลาย ชนิดในถาด ให้ละเอียดเป็นเส้นเล็กที่สุด เท่าที่จะทำได้ เรื่องนี้พี่แมะและน้อย ทำได้ ดีกว่าคนอื่น เพราะแม่ให้ฝึกทำกันอยู่เสมอ น้อยซ้อนใบผักม้วน เสียจนแน่นปั๋ง แล้วจึงใช้ มีดบางหั่นฝอย เธอทำได้ดี จนมามุยอมแพ้ พูดว่า

"ฉันยอมแพ้เธอนะเรื่องหั่นผัก ของฉันมันชิ้นใหญ่ๆ ยังไงไม่รู้ ของสแลแมก็ใหญ่ สงสัย เด็กผู้ชาย ต้องหั่นอย่างอื่น"

"เราเก่งกันคนละอย่าง ทั้งที่เราถือมีดทำเหมือนกัน จำได้ไหมล่ะว่าฉันแกะวายังกูลิต (ตะลุง) ใบเตย เธอยังว่า พระเอกตาเหล่เลย ฉันว่าเธอกับสแลแม ลองหั่นตะไคร้ดู น่าจะดี เพราะมันแข็งหน่อย ใบผักมันอ่อนไปมั้ง" น้อยว่าเอาใจเพื่อน

สแลแมมองดูตะไคร้แล้วก็หัวเราะอย่าง รู้ทันเมื่อมามุพูดว่า

"ฉันว่าก็คงออกมาหยาบเหมือนกันแหละ เธอหั่นเองก็แล้วกัน ฉันสองคนจะหั่นลูกเนียง ลูกตอ แตงกวา แล้วก็หัวหอมเอง จะผ่ามะนาวเป็นชิ้นเล็กๆ ให้ด้วย"

ไม่นานนักทุกอย่างก็เสร็จเรียบร้อยและสวยงามอะไรอย่างนั้น ผักต่างๆ วางมาเป็น หย่อมๆ อย่างเรียบร้อย สวยงามในถาดใบใหญ่ ตรงกลางมีถ้วยใส่มะพร้าวคั่ว น้ำบูดู ชิ้นมะนาว และพริกแห้งป่นมาด้วย มะตาเห ต้องเกร็งกล้ามเนื้อ ยกถาดออกมา หน้าบ้าน ซึ่งตกลงกัน จะเอาเป็นที่กินเลี้ยง มามุยกหม้อข้าวใบยอสีคราม ควันฉุย เดินหน้าเริ่ดตามหลังมา สแลแมถือขันน้ำฝนเย็นเฉียบ ที่ตักจากโอ่งดิน บนนอกชานกลาง มาสองขัน พี่แมะเป็นฝ่ายสถานที่ คือปูสาดเตย ลงบนพื้น ส่วนน้อย ถือจานชามแลช้อน ดูทุกคนได้มีส่วนร่วมกันทำ อาหารพื้นบ้านมื้อนั้น แม้แต่น้องเยาะห์ ตัวน้อยที่เดินตุ้งติ้งตามมา ก็ได้รับส่วนแบ่งหน้าที่ ให้ถือกระบวยอันจิ๋ว สำหรับตักน้ำบูดู มาด้วยอันหนึ่ง ต่างคนต่างคลุกนาซิกราบูของตนเอง ตามใจชอบ ใครจะรับประทาน เท่าไรก็ได้ ไม่มีใครว่า มีข้าวสีคราม และผักมากมายเกินพอ น้อยชอบรสเปรี้ยว จึงบีบมะนาวลงไปถึงสองชิ้น แต่กระเพาะเธอไม่แข็งแรง เพราะเคยเป็นบิดมูกเลือด พ่อจึงห้ามไม่ให้รับประทาน อาหารที่เผ็ด พริกแห้งป่น แค่ติดปลายช้อน ก็พอแล้ว ไม่ใส่เลยก็เหมือนไม่ครบเครื่อง คนไทยมุสลิมที่แว้ง ไม่ต้องเคี่ยวน้ำเคยคลุกข้าวยำ แบบของคนไทยพุทธ ซึ่งเสียเวลามาก พวกเขาคลุก ด้วยน้ำบูดู แล้วก็บีบมะนาว ลงไปเท่านั้น รสของนาซิกราบูวันนี้ จึงต่างจากของแม่ คือไม่มีรสหวานปะแล่มปน อร่อยเหมือนกัน แต่เป็นคนละแบบ

"กีตอบูวะสดีฆีสดะปาดอบีลีแดมอ เดะห์ (ยกว่าซื้ออีกนะ) " พี่แมะว่า

"ตูลาซาเบะปั๊วะกีตอปากะบูวะอะปอปอปง ฆึนอปากะตูลง บุเละซูเดาะห์บางะซิกิ แจลา พัวะแดมอบูเดาะๆตู (ป็นเพราะเราช่วยกันทำ อะไรก็ตาม เราที่ช่วยกันทำ จะสำเร็จได้โดยเร็ว จำไว้นะพวกเธอเด็กๆ น่ะ) " มะตาเหสอน

นั่นคือตัวอย่างของความสามัคคี น้อยจะไม่มีวันลืมคำของมุสลิมผู้เฒ่า ตลอดไป

วันนั้นแวะส่งน้องเยาะห์ที่บ้านแล้วก็ไปโรงเรียนกัน ตกบ่ายทุกคนกระวีกระวาด กลับจากโรงเรียน เพราะมะตาเหบอกไว้ว่า ถ้ากลับมาทำงานบ้านเสร็จเร็ว ก็จะพาไป ดูเขาซ้อมฟุตบอล ที่สนามหน้าอำเภอ ทีมฟุตบอลของอำเภอแว้ง ที่มีครูซาลาม เป็นเซ็นเตอร์ เบอร์เจ็ด เล่นชนะมาหลายอำเภอแล้ว จนชื่อเสียง ทีมฟุตบอล ของอำเภอแว้งโด่งดัง ตอนนี้ก็กำลังซ้อมหนัก เพื่อไปแข่งกับทีมฟุตบอล ปาเซมัส ของประเทศ สหพันธรัฐมลายู

ตอนเช้าได้ช่วยกันทำข้าวยำรับประทานกันอย่างสนุกสนานแล้ว ซ้ำตอนเย็น ก็จะมี รายการ สนุกอีก อย่างนี้ใครจะคาดคิดไปถึงว่า เรื่องน่าตื่นเต้น ตกใจที่สุดเรื่องหนึ่ง ในชีวิตของน้อย กำลังจะเกิดขึ้น ในเย็นวันนั้นเองเหมือนกัน น่าตื่นเต้นไม่น้อยกว่า การแข่งขันฟุตบอลทีเดียวแหละ ใครเคยเจอเรื่อง อย่างนี้บ้างเล่า?

น้อยช่วยพี่แมะหุงข้าวและทำกับข้าว ง่ายๆ ในครัวเสร็จก็ช่วยกันกวาดบ้าน ปิดประตู หน้าต่าง หมดทุกบาน เหลือไว้แต่ประตูหน้าบ้าน ที่เป็นหน้าถังประตูเดียว ขณะเดียวกัน สแลแมกับมามุ ก็ช่วยกันรดน้ำผัก ในสวนครัวหลังบ้าน เสียงไก่ขึ้นจับคอนดังก๊อกๆ อยู่ในเล้าใต้ถุนครัว มันรู้จักที่นอนของมันเสมอ และจะไม่มายุ่งกับส่วนพื้นดิน เพราะตรงนั้น เป็นที่นอนของฝูงเป็ด ที่น้อยจะต้องเป็นคนเอารำผสมสาคู ขูดใส่อ่าง เข้าไปให้มัน เสร็จเรื่องนั้น ก็เป็นอันเสร็จ ภาระประจำวัน กำลังคิดอยู่ว่า ทำไมไม่ได้ยิน เสียงก๊าบๆ แก๊บๆ ของเป็ดเดินเข้าเล้าเช่นเคย มามุกับสแลแม ก็ร้องบอกขึ้นมาว่า

"อิเตะเตาะกึเละมารีลาฆี ฆึนอฆีชารีดิยอลา (ป็ดยังไม่กลับมาเลย เราต้องไปตามหา พวกมัน) "

เรื่องตามเป็ดหลงรังนี้ พี่แมะเชี่ยวชาญ ยิ่งกว่าใครทั้งหมด น้อยถือไม้เดินตามหลัง พี่แมะ ไปเที่ยวตามหามันด้วยก็จริง แต่เพราะจะได้ไปเดินเล่น ยามเย็น เสียมากกว่า แต่วันนี้เธอจะทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะถ้าตามไม่พบฝูงเป็ด ก็อดไปดูเขาซ้อมฟุตบอล จึงตกลงแบ่งหน้าที่กันว่า เด็กผู้ชายไปตามหา ทางหมู่บ้าน จะมาแก๊ะ ส่วนพี่แมะ กับน้อย จะไปทางป่าสาคู ที่โอบด้านหน้าของบ้านทั้งหมด

ทั้งสี่คนเดินตามหาเป็ดกันจนทั่ว ปากก็ร้อง โฆะ โฆะ (คอก คอก) ไปด้วยตามที่ พี่แมะสั่ง แต่ก็ไม่มีเสียงพวกเป็ด ตอบรับเช่นเคย มันไปหลงรัง กันอยู่ที่ไหนหนอ? มามุกับสแลแม กลับมารายงานมะตาเห และนั่งคอยสองพี่น้อง อยู่ที่นอกชาน หน้าบ้าน เพื่อจะได้ช่วยกันต้อนเป็ด เข้าคอกเร็วขึ้น

สักครู่ใหญ่ ทั้งสามคนก็ได้ยินเสียงน้อยตะโกนอย่างตกใจสุดขีด พร้อมกับเจ้าตัว วิ่งหน้าไม่มีสีเลือด ตัดทุ่งนามาตามริมลำคู ที่หักเลี้ยวตรงหน้าบ้าน ไหลไปเข้าป่าสาคู ที่ทึบจนมืดมิด

"ตูลงลา! ตูลงลา! บางะ! บอยอ! บอยอ! (ช่วยด้วย! ช่วยด้วย! เร้ว! จระเข้! จระเข้!) "

ทุกคนกระโดดลงจากนอกชานวิ่งตรงมาหาน้อย เสียงมะตาเหร้องถามซ้ำๆว่า "ดิมานอ แมะ บอยอ ๆๆๆ? (ไหน หนู จระเข้อยู่ที่ ไหน ๆๆ? ) " น้อยหยุด หันหลังกลับ วิ่งนำหน้า ไปทางป่าสาคูอีก ปากได้แต่ร้องว่า "บางะ! บางะ! กะนิแมะโดะซีตูลาฆี ! บอยอบือซา! (เร็ว! เร็ว! พี่แมะยังอยู่ตรงนั้น! จระเข้ตัวเบ้อเริ่ม!) "

เมื่อวิ่งไปถึงชายป่าสาคู ภาพที่มองเห็นทำให้ทุกคนแทบก้าวขาไม่ออก เป็ดทั้งฝูงยืนนิ่ง เหมือนถูกมนตร์สะกด มันพากันเงียบ ได้แต่ผงกหัวขึ้นลง เหมือนกลัวอะไรสักอย่าง พี่แมะผู้กล้าหาญยืนถือ ทางสาคูแห้งอยู่ใกล้ ฝูงเป็ด ทั้งคนทั้งเป็ด หันไปทางเดียวกัน ไม่หันมามองดูพรรคพวก ที่วิ่งมาช่วยเลยแม้แต่น้อย ทำให้ทุกคน ต้องหันไปมอง ตามสายตาพี่แมะ และฝูงเป็ดด้วย

ในบ่อโคลนเละๆ กลางป่าสาคูนั้นเอง สัตว์เลื้อยคลานกินเนื้อขนาดใหญ่ที่สุด ที่น้อย เคยเห็นแต่ในรูป มาจนถึงวินาทีนั้น หมอบนิ่งอยู่ในโคลน เกือบทั้งตัว มันไม่กระดุก กระดิก เอาเสียเลย รูปร่างของมันช่างเหมือน กับแลน (ตะกวด) ที่มักขึ้นมาจากสระ ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขโมยไข่และลูกไก่ กินเป็นประจำ อย่างไร อย่างนั้น

ทำไมพี่แมะจึงไม่ยอมวิ่งหนีไปกับน้อยน่ะหรือ? ก็เพราะในปากจระเข้ตัวนั้น มีแม่เป็ด ตัวหนึ่งติดอยู่นั่นเอง มันยังไม่ตาย จะเป็นด้วยเหตุใด ไม่อาจอธิบายได้ จระเข้ตัวนั้น งับติดแต่หางของมันไว้เท่านั้น ตอนที่สองพี่น้อง มาถึง แม่เป็ดดิ้นกระแด่ว เร็วเท่า ความคิด น้อยวิ่งมาขอความช่วยเหลือ ส่วนพี่แมะคว้าได้ทางสาคูแห้ง ยกขึ้น จะฟาด จระเข้ จระเข้เองก็คงจะแปลกใจ ที่พี่แมะไม่กลัวมันๆ จึงหยุดนิ่ง ไม่กระดุก กระดิก เช่นกัน

วินาทีที่เห็นแม่เป็ดดิ้นนั้นเอง มะตาเหตะโกนไล่จระเข้อย่างสุดเสียง พลางคว้า ทางสาคูแห้ง ที่หล่นเกลื่อนอยู่ ขึ้นมาแบบพี่แมะบ้าง น้อย มามุ และสแลแม ทำตาม ทันที โดยไม่ต้องบอก เด็กทั้งสี่คนรวมเป็นห้า กับมะตาเห ต่างช่วยกันตะโกน จนลั่นป่า สาคูนั้น พร้อมกับ กวัดแกว่งทางสาคูไปด้วย ทั้งที่กลัวกันจน ใจเต้นระทึก

ในที่สุด จระเข้ตัวนั้นก็ยอมแพ้ มันปล่อยแม่เป็ดจากปาก แล้วคลานตะกุบตะกับ เข้าไปใน ป่าสาคูลึก น้อยหันหน้าหนี เมื่อมะตาเห เดินเข้าไปฉวยตัวแม่เป็ดขึ้น เธอคิดว่า ร่างมันคงเต็มไปด้วยเลือด และมันต้อง ตายแน่ๆ ทีเดียว จะรอดได้อย่างไร จนกระทั่ง มะตาเหพูดขึ้นว่า

"ดิยอเตาะมาตี แมะ (มันไม่ตายหรอก หนู) "

น้อยหันมาพร้อมกับมามุตะโกนสุดเสียงว่า "ตึลอดิยอตุเบ๊ะมาฆีสบูเต ตู! ตู! ฆึเละห์ ! ฆึเละห์! (ไข่มันออกมา ลูกนึง นั่น! นั่น! ดูซี! ดู!) "

เรื่องร้ายกลายเป็นดีไปแล้ว หลังจากช่วยกันต้อนเป็ดเข้าเล้าเสร็จ มะตะเห ก็เดินตาม เด็กๆ ไปสนามฟุตบอล อย่างร่าเริง พบใครระหว่างทาง ก็พากันเล่าเขาเรื่องจระเข้ ในป่าสาคู เรื่องพี่แมะไม่หนีจรเข้ เรื่องที่ทุกคน ช่วยกันไล่จระเข้ ได้สำเร็จ และเรื่อง แม่เป็ด ตัวนั้นปล่อยไข่ ที่มันคงจะวางตอนพรุ่งนี้เช้าออกมาก่อนกำหนด ด้วยความตกใจ ไม่นานนัก ข่าวก็กระจายออกไปทั่วอำเภอ กว่าจะเดินไปถึงสนาม หน้าอำเภอ ก็ต้องหยุด ให้ชาวแว้งซักถาม และทำท่าประหลาดใจ ในเรื่องราว อีกตั้งหลายหน

น้อยพยายามทำใจที่ตื่นเต้นให้สงบลงเพื่อดูนักกีฬาของอำเภอเขาไล่เตะลูกฟุตบอลกัน เธอเห็นนักกีฬาคนหนึ่ง วิ่งพาลูกฟุตบอลไปคนเดียวลิ่วๆ แต่แล้วก็ถูกนักกีฬา อีกฝ่ายหนึ่ง วิ่งมาสกัดและแย่งลูกฟุตบอลไปได้

"ปั๊ดโท่ ก็ทำไมไม่รู้จักส่งลูกให้คนอื่นต่อเล่า เลยอดชู้ดเลย ว้า!" เสียงมามุบ่นอย่าง หัวเสีย

"นั่นซีอยากเล่นคนเดียวก็เลยไม่ได้โก (ประตู) " สแลแมเห็นด้วย แล้วพูดต่อว่า "ดูโน่น ข้างโน้น เขาส่งลูกดีจัง ส่งต่อให้คนนั้นๆส่งต่ออีก น่านเห็นไหม ชู้ดได้แล้ว เข้าไปแล้ว"

ขณะเดินกลับบ้าน เด็กๆ ยังคงพูดเรื่องนักกีฬาที่อยากเป็นพระเอกคนเดียว มะตาเห หัวเราะหึๆ พูดว่า

"ก็เหมือนกับตอนเราทำนาซิกราบูเมื่อเช้านี้ไงเล่า หนู พวกเราช่วยกันทำ แป๊บเดียว เราก็ทำได้ เสร็จเรียบร้อย ถ้าทำอยู่คนเดียว หนูคิดว่าจะเป็นยังไงล่ะ? "

"ก็ต้องเหนื่อยมากน่ะซีครับ" มามุตอบ

"ถึงเย็นก็อาจจะยังไม่ได้กินนาซิกราบู" พี่แมะว่าบ้าง

"กอเต๊าะซึดะซีกิอะโบ๊ะ (หรือไม่ก็ไม่อร่อยเลย) " สแลแมคล้อยตามเพิ่มเติม

"นั่นแหละ เขาเรียกว่าความสามัคคี ถ้ามีความสามัคคีก็มีฮารับปัน (ความหวัง)" มะตาเห สรุปก่อนที่จะถามน้อย ซึ่งนิ่งเงียบผิดปกติว่า "น้อยว่ายังไงล่ะ? เงียบเชียว"

"หนูว่าเขาเซปะบอลลา (ตะฟุตบอล) ก็เหมือนตอนเราสู้กับจระเข้ ถ้าพี่แมะสู้คนเดียว ก็คงสู้จระเข้ไม่ได้ จระเข้มันต้องไม่กลัว พี่แมะ เสียงพี่แมะคนเดียวก็ต้องไม่ดัง จนมันตกใจหนีไป แล้วแม่เป็ดก็ต้องถูกจระเข้กิน แน่ ๆ เลย" น้อยพูด

มะตาเหเห็นด้วยทันที พูดว่า "ซูโงะห์ แมะ ซูโงะห์ ปานาปีเกเว้ กึจิ๊ฆีตูตู๊ (จริง หนู จริง ช่างคิดแฮะ ตัวเล็กแค่นี้เอง) "

"ตาปีอะมอตาโกะ เตาะบรานิงซูโปกะนิ (แต่หนูมันขี้ขลาด ไม่กล้าหาญ เหมือนพี่แมะ เขา) หนูวิ่งหนี" น้อยสารภาพสิ่งที่อยู่ในใจออกมา แล้วก็รู้สึกดีขึ้น เมื่อทุกคนบอกว่า เธอไม่ได้ขี้ขลาดหรอก และยิ่งดีใจ เมื่อมามุพูดว่า

"ถ้าน้อยไม่วิ่งกลับมาบอก ใครจะไปช่วยพี่แมะกับแม่เป็ดได้ทันล่ะ? ว่าไหมๆ? "

และทุกคนรวมทั้งพี่แมะด้วยรับพร้อมกันว่า "ยอลา ซูโงะห์ลา (ใช่ จริงด้วย) "


หมายเหตุ: เขียนเสร็จเวลา ๒๑.๑๐ น. ที่บ้านซอยไสวสุวรรณ บางซื่อ ต้องปลุกปล้ำ กับโน้ตบุคทันสมัยอยู่นาน กว่าจะชินตามประสา คนสมัยเก่า ขอขอบใจต่อ (พิสิษฐ์ ห่อทอง) นักเรียนม.๖ โรงเรียนศิลาจารพิพัฒน์ ที่ช่วยแนะให้เข้าใจเร็วขึ้น

คำนี้เดิมเคยได้ยินแต่คนไทยมุสลิมใช้ว่า สมาแย ซึ่งมาจากภาษาอาหรับว่า ซำบ๊ะหยัง แต่ในปัจจุบันใช้ว่า ละหมาด แทนกันทั้งนั้น ถามหลายคนว่ามาจากคำไหน ภาษาอะไร ได้คำตอบว่ามาจากภาษาไทย คือ นมัสการ ซึ่งถ้าเช่นนั้นก็แสดงว่า เป็นคำยืม มานานแล้ว เพราะปรากฏใช้อยู่ในพระราชนิพนธ์ นิทราชาคริต ใน ร.๕

คำนี้ไทยมุสลิมออกเสียงว่า ซูรา ถ้ามีขนาดใหญ่ก็เรียกว่า มัสยิด ถ้าเป็นที่สวด ตามหมู่บ้าน ขนาดเล็กๆ ก็ว่า บาลาเซาะห์ ปัจจุบันที่อำเภอแว้ง มีมัสยิดสวยงาม ทีเดียว และเป็นตัวอย่าง พัฒนาการของภาษาได้ดี เพราะเขาใช้วิธีสนธิคำขึ้นมาใหม่ว่า มัสยิตาราม

ดูเชิงอรรถที่ ๒ เสียง -ัง -ัน -อน ในภาษามลายูกลาง เมื่อออกเสียงตามภาษา มลายูพื้นเมือง แถบรัฐกลันตัน และภาคใต้ของไทย จะกลายเสียมาเป็นเสียง -แ หมด ชื่อโซโลมอน ในพระคัมภีร์ จึงกลายมาเป็นชื่อ สแลแม แม้แต่ชื่อ มะตาเห ก็น่าจะเป็นชื่อ เดียวกับชื่อ มัดธาย

ดอกไม้พื้นเมืองทางภาคใต้สุดของประเทศไทยนั้นเรียกว่า กาหลา อย่างแน่นอน ถ้าออกเสียง เป็นแบบมลายูก็ว่า กาลา เช่นที่เป็นชื่อทิวเขากั้นอาณาเขต ระหว่าง ประเทศไทย และมาเลเซีย ก็ชื่อ สันกาลาคีรี ความจริงคนไทยน่าจะรู้จักมานาน มากแล้ว เพราะในเรื่อง ลิลิตพระลอ ก็ปรากฏ โคลงบาทที่ว่า "กาลอดกาลากา ร่อนร้อง" ปรากฏอยู่ แต่คนไทยในปัจจุบัน มาเปลี่ยนให้เพี้ยนไปเป็น ดอกดาหลา เสีย อาจจะเป็น การลากเข้าสู่คำที่ชินมาก่อนแล้ว ก็เป็นได้ คือ ดารา หรือดารา ก็ได้

ในประโยคเดียวที่เป็นภาษามลายูนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของศัพท์ยืม ในภาษาพื้นเมือง มลายู ที่ยืมจากภาษาไทย แจ ยืมจาก จำ และ พัวะ ยืมจาก พวก

ฮารับปัน แปลว่า ความหวัง และ บารู แปลว่า ความหวัง จึงเป็นชื่อภาษามลายู ของพรรค ความหวังใหม่ พรรคการเมืองพรรคหนึ่งของไทย

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๙ สิงหาคม ๒๕๔๗ -