ชีวิตไร้สารพิษ อาหารที่จำเป็นต่อชีวิตควรบริโภค ร่างกายมีความสามารถที่จะรับอาหารเข้าไปแล้วผ่านกระบวนการย่อย ดูดซึม นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกายได้อย่าง มีขีดจำกัด ฉะนั้น การที่จะรับประทานอาหารแต่ละมื้อในแต่ละวันนั้น ควรพิจารณาเลือกอาหารที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อร่างกายให้มากที่สุด ส่วนของพลังงาน ได้แก่อาหารจำพวกแป้งจากแหล่งต่างๆ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ข้าว แล้วก็ยังมีแป้งที่ได้จากเมล็ดพืช ธัญพืชต่างๆ แป้งจากพืชใต้ดิน หัวเผือก มัน ข่า ขมิ้น ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่ามีหลายชนิด หลายพันธุ์ หลายสีเช่นกัน ที่สำคัญเราควรจะต้องปลูกให้หลากหลาย ข้าว ควรจะต้องสีใหม่ๆ ไม่เกิน ๗ วัน เพราะถ้าสีเก็บไว้นานชีวิตของข้าวก็จะหมดไป หากสีได้วันต่อวันก็จะยิ่งดีต่อร่างกาย สำคัญที่ต้องสีแบบไม่ขัดขาว (ข้าวกล้อง) เพราะชีวิตของข้าวอยู่ที่จมูกข้าว ควรใช้เครื่องสีข้าวแบบโบราณ ตำด้วยมือหรือครกกระเดื่อง เครื่องสีมือทำจากดินจากไม้ (การเก็บข้าวกล้องสำหรับคนเมืองควรจะเก็บไว้ในตู้เย็น) ข้าวมีหลากสี - ในฤดูฝน เพิ่มปริมาณข้าวสีเหลืองและข้าวสีแดง - ในฤดูหนาวเพิ่มปริมาณข้าวสีน้ำตาล ข้าวสีดำ (ข้าวก่ำ) ควรแช่น้ำค้างคืนเมล็ดพืชทุกชนิด ก่อน นำมาประกอบอาหาร เพราะเมื่อเมล็ดพืช สะสมอาหารจนแก่จัดมักจะพัก (หลับ) เราจึงควรกระตุ้นให้พลังชีวิตทำงานก่อนด้วยการแช่น้ำค้างคืน - ข้าวต่างๆ ผสมกันแช่น้ำไว้ ๑ คืน แล้วนำไปหุงหรือนึ่ง (ข้าวเหนียว) - ข้าวต่างๆ ผสมกันแช่น้ำ ๑ ชั่วโมง เทน้ำทิ้งปล่อยไว้ไว้ ๑ ชั่วโมง ทำแบบนี้ ๓ ครั้ง แล้วปล่อยไว้ทิ้งไว้ ๑ คืน โดยไม่ต้องแช่น้ำ เช้าอีกวัน ข้าวจะเริ่มงอกค่อยนำไปหุงหรือนึ่ง (น้ำแช่ข้าวให้แบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนใหญ่เก็บไว้หมักทำจุลินทรีย์ ส่วนน้อยผสมน้ำใส่ข้าวที่จะแช่ในวันต่อไป) ข้าวที่แช่น้ำค้างคืน หุงโดยไม่ต้องใช้น้ำมาก (ใช้น้ำ ๑ ข้อนิ้วเหนือข้าว) ใช้เวลาหุงไม่เกิน ๒๐ นาที - ใช้หม้อดินหุงจะดีที่สุด หรือใช้หม้อสเตนเลส หม้อเคลือบ - ใชฟืน ถ่าน หุงดีที่สุด รองลงมาใช้แก๊ส ใช้ไฟฟ้าแย่ที่สุด เวลาแช่ข้าวในน้ำค้างคืน อะไรที่ลอยขึ้นมาก็ตักออก เมื่อตั้งไฟ ปิดฝาหม้อ ปล่อยให้เดือดไฟแรงประมาณ ๕ - ๑๐ นาที จะมีฟองลอยขึ้นมา ตักออกแล้วลดไฟอ่อน ปิดฝาตั้งไฟต่อไปอีก ๑๐ - ๑๕ นาทีข้าวก็จะสุก ส่วนที่ให้การหล่อลื่น ได้แก่ไขมันจากธัญพืช เมล็ดพืช (ข้าว ถั่ว งา ฯลฯ ) จากผลไม้ (มะพร้าว) ซึ่งควรจะเป็นไขมันทีมีองค์ประกอบดังนี้ ไม่ผ่านการแปรรูป คือ รับประทานแบบสดๆ ใหม่ ๆ เช่น กะทิสด มะพร้าวอ่อนจากต้น เนื้อมะพร้าวจะช่วยบำรุงกล้ามเนื้อ น้ำมะพร้าวช่วยบำรุงเส้นเอ็น (น้ำมะพร้าวควรดื่มในช่วงเวลา ๑๐ โมงเช้าถึง ๔ โมงเย็น ถ้าเลยเวลานี้ควรต้มให้อุ่นๆ ) หากมีการแปรรูปควรจะเป็นวีธีธรรมชาติง่ายๆ ไม่ผ่านความร้อน -น้ำมันมะพร้าว -นำน้ำกะทิสด (คั้นเองหรือซื้อจากตลาด)ใส่ภาชนะ (เป็นภาชนะใสจะดีกว่า เพราะจะได้มองเห็น) ตั้งไว้กลางแดด หรือในร่มแล้วแต่สะดวก (แต่ตั้งกลางแดด น้ำมันจะหอมกว่า) เปิดให้น้ำระเหยได้ ประมาณ ๒ วัน น้ำมันกับน้ำจะแยกกัน โดย น้ำมันจะอยู่ชั้นบนสุด กรองน้ำมันเก็บใส่ขวด ใช้ประกอบอาหาร หรือใช้หยอดตา หู ทา ถู นวดเนื้อตัวหน้า ผม ทาแก้ฟกช้ำ แมลงสัตว์กัดต่อย - ใช้ผัดอาหาร ควรผัดอาหารด้วยน้ำให้สุกก่อน เมื่อปรุงรสเรียบร้อยแล้ว ยกขึ้นจากเตา ราดด้วยน้ำมันสัก ๒ - ๓ ช้อน หรือจะผัดด้วยกะทิสดเลยก็ได้ น้ำมันมะพร้าว (virgin) ที่คั้นด้วยมือ ร่างกายสามารถขับออกได้ง่าย ไม่มีไขมันตกค้าง และที่สำคัญ คือ มีอายุการใข้งานได้นาน เนื่องจากมะพร้าวเป็นพืชอายุยืน (บางต้นอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี) - น้ำมันงา - ล้างงาแช่น้ำแล้วผึ่งแดดจัดให้แห้งร้อน ตำให้ละเอียด ใช้ผ้าขาวบางคั้นด้วยมือเอาน้ำมันออก (เอากากงาผึ่งแดดแล้วคั้นเอาน้ำมันได้อีกที) ประโยชน์ของไขมัน นอกจากจะช่วยหล่อ-ลื่นส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้ว ยังช่วยในการดูดซึมอาหารเข้าสู่ร่างกายหลังจากการย่อยแล้ว หากขาดไขมันอาหารจะดูดซึมได้น้อย จะทำให้ปวดตามกล้ามเนื้อตามข้อ เพราะไขมันช่วยคลายกล้ามเนื้อ ทำให้ไม่ปวดเมื่อย น้ำมันในท้องตลาดทุกวันนี้ ผ่านกรรมวิธีสกัดด้วยเครื่องอัด (บีบ) แรงสูง (เครื่องไฮดรอลิก) น้ำมันจะมีความหนืดสูงมาก เมื่อใช้ทอดหรือผัดยิ่งจะมีความเหนียวหนืดสูงขึ้นอีก เมื่อบริโภคเข้าไป ร่างกายไม่สามารถจะขับออกมาได้หมด เพราะร่างกายไม่มีแรงอัดเท่ากับเครื่องอัดแรงสูงดังกล่าว ย่อมจะก่อให้เกิดไขมันส่วนเกิน ไขมัน ตกค้าง ไขมันอุดตัน ส่งผลเสียแก่ร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น ปัจจัยที่จะก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ก็จะตามมา ส่วนที่ให้ "ชีวิต" ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุด ได้แก่ โปรตีน (โปรแปลว่า มาก่อน ตีนแปลว่า ความสำคัญ สิ่งสำคัญ) คือ สิ่งสำคัญที่มาก่อน ไวตามิน , วิตามิน (วิตา,ไวตา แปลว่า มีชีวิต, ให้ชีวิต, เป็นชีวิต, แห่งชีวิต มิน แปลว่า ธาตุ, สาร) คือ ธาตุหรือสารที่มีชีวิต, ให้ชีวิต,เป็นชีวิต จะสังเกตเห็นได้จากลักษณะ ดังนี้ ยังมีชีวิต ปลูกให้เจริญเติบโตเป็นต้นต่อไปได้ ได้แก่ พวกเมล็ดพืช ธัญพืชทุกชนิด พืชจำพวกหัว เหง้า แง่ง หน่อ ถั่วต่าง ๆ - มีหลายพันธุ์ หลากสี ถั่วขาว เขียว เหลือง แดง ดำ ถั่วแปบ ถั่วพู ถั่วพร้า ถั่วขอ ถั่วมะแฮะ ถั่วแดงเมล็ดเล็ก ถั่วลิสง ถั่วแขก ถั่วลันเตา ถั่วปากอ้า เมล็ดหางนกยูง ฯลฯ ในฤดูร้อน ต้นฤดูฝน เมล็ดพืชควรทำให้ งอกก่อนรับประทาน -พวกเมล็ดเปลือกหนา เพาะในดินให้งอก (แช่น้ำก่อน) -พวกเมล็ดเปลือกบาง แช่น้ำค้างคืน เทน้ำออกแล้วใส่ในภาชนะที่มีฝาปิดและก้นมีรูระบายน้ำ รดน้ำ ๓ เวลา (เช้า กลางวัน เย็น) ในเวลา ๒ - ๓ วัน ถั่วก็จะงอกใช้ได้ (ให้มีใบเขียวๆ ด้วยก็จะดี) ถั่วต่างๆ ไม่ว่าจะรับประทานแบบไหนควรจะมีสมุนไพรขับลมผสมด้วย เช่น ขิง ข่า พริก ตะไคร้ กระชาย พริกไทย ดีปลี หัวหอม หัวกระเทียม งา มีหลายพันธุ์ : งาขาวปี งาขาวคอ มีหลายสี : ขาว แดง (น้ำตาล) ดำ ในฤดูร้อน ไม่ควรรับประทานงาคั่ว เพราะปกติเมล็ดพืชจะมีน้ำมันในเมล็ดพอที่จะรักษาสภาพความมีชีวิตไว้เท่านั้น เมื่อนำไปคั่วน้ำมันในเมล็ดจะแห้ง (ทำให้เนื้องาเหนียว) เมื่อรับประทานเข้าไป งานั้นจะดูดเอาน้ำจากปาก คอ ทางเดินอาหารเพื่อปรับสมดุล ทำให้ขาดน้ำในร่างกาย และจะเกิดอาการร้อนใน นอกจากนี้ งาที่เหนียวเพราะการคั่วจะย่อย ดูดซึมได้ยาก จึงควร รับประทาน - ในฤดูร้อน งาแช่น้ำ งางอก เมื่อรับประทานงาควรจะบด โขลก หรือเคี้ยวต่างหากให้ละเอียด เมล็ดพืชต่างๆ ที่มี น้ำมัน เมื่อเอามาบดแตกตัวโดนอากาศจะเก็บได้ไม่นาน (ควรจะทำวันต่อวัน) มิฉะนั้นต้องเก็บใส่ขวดปิดให้สนิทในสุญญากาศและเก็บไว้ในที่เย็นไม่เกิน ๗ วัน เนื่องด้วยบ้านเรามีความชื้นสูง จะเกิดสารอัฟล่าท็อกซินได้ง่าย เราจะรู้ได้ยาก เพราะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่จะทำให้อืด ย่อยไม่ได้ เป็นผลร้ายต่อตับ วิธีล้างงาเมื่อแช่น้ำค้างคืน ตอนเช้า ใช้กระชอนตักงาออกจากน้ำแรก แล้วใส่น้ำใหม่ กวนๆ น้ำแล้วตักงาออก ทำอย่างนี้ ๓ ครั้ง กรวด ดิน ทราย สิ่งเจือปนจะนอนก้นภาชนะ เก็บกินได้นาน ถ้าเป็นพวกใบ ดอก ผล ควรเป็นชนิดที่ปลูกแล้วอยู่ได้นานหลายปี เพราะมีรากลึก สามารถดูดน้ำ และแร่ธาตุจากดินได้หลากหลายชนิด พืช ผัก ผลไม้ ที่เป็นพืชพื้นบ้านของไทย จะเหมาะสมกับคนไทยมากที่สุด อาทิ ชะพลู บัวบก พริก (แดง เขียว เหลือง) มะเขือต่างๆ ขิง ข่า ขมิ้น กระชาย ตะไคร้ ใบพาย ผักแพว สะระแหน่ โหระพา กระเพรา แมงลัก ผักแป้น เสม็ด ติ้วหรือแต้ว กระโดน กระโดนน้ำ หน่อไม้ ขี้เหล็ก สะเดา กระเจี๊ยบเขียว - แดง อีซึก มะกล่ำ กระถินบ้าน บอน คูน ถั่วมะแฮะ ถั่วแปบ ถั่วพู ผักปลังขาว - แดง ผักบุ้งขาว - แดง มะรุม หญ้านาง ส้มป่อย ชะมวง ตำลึง กล้วย อ้อย มะละกอ น้อยหน่า ทับทิม ฝรั่ง (ขี้นก) มะขาม พุทรา มะม่วง มะไฟ มะปราง มะเฟือง ขนุน มะระขี้นก ฯลฯ ฉะนั้น อาหาร ที่สำคัญและจำเป็นจะต้องบริโภค เพื่อรักษาความสมดุลของร่างกาย จึงจะต้องมีสัดส่วนของธาตุอาหารที่เราจะต้องรู้จัก และจัดการให้เหมาะสมของ แต่ละคน เพราะร่างกายขอเราประกอบด้วยธาตุดิน ที่มีธาตุน้ำซึมซาบประสาน ยึดไว้ให้ติดกัน มีธาตุลมพยุงไว้ให้ตั้งอยู่ได้ และมีธาตุไฟทำให้อบอุ่น. -เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๙ สิงหาคม ๒๕๔๗ - |