คนเก่งที่ดี แต่ใฝ่รวย คือคนไม่ช่วยสังคม
คนเก่งที่ดี แต่ใฝ่จน คือคนที่ช่วยสังคม


ถ้าวัดความยากจนด้วยการใช้เงินเป็นเกณฑ์แล้ว มหาตมะ คานธี นับได้ว่าเป็น ๑ ในบรรด าคนยากจนทั้งหลายในโลกนี้ คานธีได้แจ้งทรัพย์สินแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเอาไว้ว่า

"ทรัพย์สินที่ข้าพเจ้ามีอยู่ในโลกนี้ มีกงล้อปั่นด้าย ๖ เครื่อง จานรับประทานอาหาร ตั้งแต่ อยู่ในคุก ๑ ใบ กระป๋องใส่นมแพะ ๑ ใบ ผ้านุ่งโธตี และผ้าเช็ดตัวทอด้วยมือ ๖ ชิ้น นอกนั้น ก็มีแต่ชื่อเสียง ซึ่งก็ไม่มีราคา ค่างวด หรือความหมายอะไร"

จากหนังสือโลกทั้งผองพี่น้องกัน คานธียังได้พูดถึงความใฝ่จนของเขาว่า มีผลต่อจิตใจ และช่วยสังคมได้อย่างไร ดังนี้

เมื่อข้าพเจ้าพบว่าตนเองได้ถูกดึงเข้ามาอยู่ในแวดวงของการเมืองเสียแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้ถาม ตัวเองว่า การที่จะรักษาตนให้พ้นจากความไม่มีศีลธรรม อสัจจะ และจากสิ่งที่เรียกกันว่า ผลประโยชน์ ทางการเมืองนั้น จำเป็นจะต้องทำอย่างไร คำตอบที่ผุดขึ้นในสมองของข้าพเจ้าก็คือ "หากจะรับใช้ เพื่อนร่วมชาติด้วยกัน ซึ่งเราเห็นเขาได้รับความทุกข์ยากอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแล้วไซร้ ก็จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องละทิ้งทรัพย์สินทุกชิ้นโดยสิ้นเชิง"

ข้าพเจ้าไม่สามารถจะคุยด้วยความสัจได้ว่า ข้าพเจ้าปฏิบัติตนตามความคิดเช่นนี้ได้ในทันที ตรงกันข้าม ข้าพเจ้าจำต้องสารภาพว่า แรกๆ นั้นทำได้ยากและช้ามาก และไม่ใช่แต่ยากและช้าเท่านั้น หากยังเต็มไปด้วย ความปวดร้าวใจเป็นอย่างยิ่งอีกด้วย แต่เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไป ข้าพเจ้าก็พบว่า ข้าพเจ้าจำต้องทิ้งสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งข้าพเจ้าเคยยึดถือว่าเป็นของตน และต่อมา ข้าพเจ้าก็พบว่า การละทิ้งสิ่งเหล่านี้ ก่อให้เกิดความสุขอย่างแท้จริง ต่อจากนั้น ข้าพเจ้าก็สามารถ สละทุกสิ่งทุกอย่าง ได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังพรรณนาถึงประสบการณ์ของตนเองอยู่นี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ภาระอันหนักอึ้ง ได้หลุดลอยไปแล้วจากบ่าทั้งสองของข้าพเจ้า เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าเดินได้อย่างเสรี และสามารถรับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันด้วยความสุขและความเพลิดเพลินเป็นอย่างยิ่ง การ "มี" ไม่ว่าสิ่งใดเป็นเรื่องของความวุ่นวาย และเป็นทุกข์โดยแท้

ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า เราต่างก็เป็นขโมยไม่มากก็น้อยด้วยกันทุกคน ถ้าข้าพเจ้าเอาสิ่งใด สิ่งหนึ่ง มาเก็บไว้กับข้าพเจ้า โดยที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้สิ่งนั้นในทันที ก็เท่ากับข้าพเจ้าได้ขโมย สิ่งนั้น มาจากผู้อื่น ข้าพเจ้ากล้าที่จะพูดว่าธรรมชาติสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง มาให้เพียงพอ แก่ความจำเป็นของเรา ที่มีอยู่วันต่อวัน หากเราแต่ละคนใช้สิ่งเหล่านี้ เฉพาะเท่าที่จำเป็น และไม่มากไปกว่านั้นแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่า ความขาดแคลนจะไม่เกิดขึ้น และในโลกนี้จะไม่มี คนอดอาหารตาย แต่ตราบใด ที่เรายังมีความไม่เสมอภาคกัน ดั่งที่เป็นอยู่ ตราบนั้นเราต้องได้ชื่อว่าเป็นขโมย

ในโลกของทุนนิยม ที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขัน ตั้งหน้าตั้งตา สะสม กักตุน กอบโกย ดุจดังขโมย ตามทัศนะของคานธี นับว่าโชคดีที่คนไทยมี ธ.ก.ส. ซึ่งน่าจะเป็นธนาคารที่มีพนักงาน ที่มีอุดมการณ์ ช่วยเหลือ เสียสละ ให้แก่สังคมอยู่จำนวนมากกว่าธนาคารใดๆ และน่าจะเป็นธนาคารเดียวในโลก ที่ให้พนักงาน ออกไปร่วมสุขร่วมทุกข์ เคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านตั้งตัวได้ จนมีผลงาน ที่สามารถช่วยชีวิตลูกค้า ซึ่งเป็นชาวไร่ ชาวนา ให้มีกิจการที่เข้มแข็ง มีเครดิตที่ดี จนสามารถกู้หนี้ ในวงเงินได้มากกว่าเดิมขึ้นไปอีก

แต่ธุรกิจของเกษตรกรนั้น มีปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ด้านด้วยกัน นับตั้งแต่น้ำท่วม ฝนแล้ง เพลี้ย แมลงรบกวน ราคาพืชผลตกต่ำ ฯลฯ ซึ่งกรณีหนี้ท่วมของอำเภอภูเรือ น่าจะเป็นกรณีศึกษา ของการส่งเสริม ให้เกษตรกร มุ่งใฝ่รวย ได้เป็นอย่างดี จากข่าวมติชนเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๗ มีเนื้อหาดังนี้

"กระชายดำทำพิษราคาวูบ"
คน "ภูเรือ" ช้ำหนี้ท่วม ๑๔๐ ล้าน

นายมนตรี จุตตะโน ผู้ใหญ่บ้านท่าศาลา หมู่ ๕ ต.สานตม อ.ภูเรือ เปิดเผยว่า เมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมา ตนและเพื่อนบ้านเห็นว่ากระชายดำมีราคาดี และทางการส่งเสริมการเพาะปลูก โดยทางจังหวัด ระบุว่า จังหวัดจะหาตลาดมารองรับ ราคาไม่มีตก ตนจึงกู้เงินกองทุนหมู่บ้านมาครอบครัวละ ๓๕,๐๐๐ บาท และกู้เงิน จากธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาอีกจำนวน ๘,๐๐๐ บาท ลงทุนปลูก ๒ ไร่ แต่ตอนนี้กระชายดำแทบจะไม่มีราคา เกษตรกรไม่กล้าขุดขึ้นมาขาย เพราะไม่คุ้ม กับค่าแรง ขณะนี้ไม่มีเงินชำระหนี้กองทุนหมู่บ้าน จึงอยากให้ทางราชการช่วยเหลือ ขอพักหนี้ ในส่วนที่เป็นดอกเบี้ย ๕ ปี สำหรับเงินต้นจะยอมส่งตามปกติ "ความผิดพลาดของผู้ใหญ่ ในจังหวัด ที่มาส่งเสริมให้ปลูก แล้วก็ทอดทิ้งกันไป ปล่อยให้ชาวบ้านเป็นหนี้ ดังนั้น ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทางราชการ ต้องรับผิดชอบ และช่วยเหลือพวกเราด้วย" นายมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานสถิติจังหวัดเลย และสำนักงานเกษตรจังหวัดเลย ระบุว่า อำเภอภูเรือ มีเกษตรกรปลูกกระชายดำประมาณ ๔,๐๐๐ ครอบครัว โดยกู้เงินจาก ธ.ก.ส. และกองทุนหมู่บ้าน เฉลี่ยครอบครัวละ ๔๕,๐๐๐ บาท คาดว่าขณะนี้ชาวอำเภอภูเรือ เป็นหนี้เฉพาะกองทุน หมู่บ้านละล้าน รวมกันแล้วกว่า ๑๔๐ ล้านบาท

มีข้อที่น่าคิดว่า ถ้าต่อให้ธุรกิจกระชายดำประสบผลสำเร็จแล้วชาวบ้านจะได้อะไร? สิ่งแรก ที่ได้ก็คือ การเป็นลูกหนี้ที่ดี ของธนาคาร ซึ่งจะสามารถกู้เงินได้มากกว่าเดิม ในบ้านแต่ละหลังก็จะได้มีเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ พัดลม ตู้เย็น เครื่องเล่นวีซีดี หม้อหุงข้าว จนทันหน้าทันตากับคนในเมือง และที่ขาดไม่ได้ก็คือ โทรศัพท์มือถือ และมอเตอร์ไซค์ ให้ลูกหลานได้ใช้กัน

นั่นก็คือ รายจ่ายที่ทวีเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ในขณะที่รายได้ไม่แน่นอน ฐานะเศรษฐกิจ ของชาวบ้าน จึงเป็นเสมือนเลือดที่ไหลไม่หยุด จากบ่อดูดต่างๆ ในธุรกิจทุนนิยม ที่พร้อมจะกระจาย ความยากจน และกระจุก ความร่ำรวย จนเกิดภาพลวงตาว่า เศรษฐกิจของชาติกำลังเติบโต

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ชาวไร่ชาวนาพากันร่ำรวยหนี้สิน หรือร่ำรวยอะไรกันแน่? และเขาจะหลุดพ้น จากการเป็นลูกหนี้ ที่ดีของธนาคารที่อยู่ได้ เพราะการให้ชาวบ้านกู้หนี้ได้อย่างไร?

นี่ขนาดองค์กรของรัฐที่ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อชาวบ้าน แต่ต้องดำเนินการแสวงหากำไร ภายใต้กรอบ และเงื่อนไข ของระบบทุนนิยม ยังมีผลทำให้ชาวบ้านที่ได้รับการพัฒนาจนเป็นลูกค้าที่มีเครดิตดี ต่างอ่วมหนี้ ไปตามๆ กัน ไม่ต้องพูดถึงธุรกิจเอกชน ต่อให้เก่งและดีสักปานใด ถ้าใฝ่รวย เป็นหลักแล้วๆ จะไปเหลืออะไรให้แก่ชาวบ้านตาดำๆ ?

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๐ กันยายน ๒๕๔๗ -