ถนนชีวิตมีทางแยก
จะเลือกเป็นมนุษย์เงินเดือน
เจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ
ก็คงไม่เกินฝีมือ
แต่...เต็มใจเลือก
ชีวิตเงินเดือนศูนย์บาท
เรียบง่ายในเส้นทางบุญนิยม
*** เล่าเรื่องตอนเป็นเด็กให้ฟังหน่อยสิคะ
เกิดที่ตำบลลำพญา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๗ เมษายน
๒๕๐๓ เดิมชื่อวนิดา (แซ่เอี๊ยว)
อมรวิริยะพานิช เปลี่ยนชื่อนามสกุล ก่อนลาออกจากงาน มาอยู่วัด แต่ยังไม่ได้ใช้
พอมาอยู่วัด ถึงได้ใช้ชื่อนามสกุลใหม่ เพราะอยากใช้ชื่อไทยๆ ฟังแล้วรู้ความหมายได้ทันที
แม่เล่าให้ฟังว่าตอนเล็กๆ เลี้ยงง่ายมาก จับให้นั่งตรงไหน ก็นั่งตรงนั้น
ไม่ซนเลย บ้านที่นครปฐม อยู่ริมน้ำท่าจีน มีพระพายเรือมาบิณฑบาต ให้เราได้ใส่บาตรทุกวัน
และมีพ่อค้าแม่ค้า พายเรือมาขาย ก๋วยเตี๋ยว กวยจั๊บ กาแฟ ขนมนมเนย พวกเด็กๆ
รอซื้ออยู่ที่ท่าน้ำ ชอบบรรยากาศแบบนั้นมาก
อีกอย่างที่ชอบคือเล่นน้ำ จะเล่นน้ำนานมาก แม่เรียกก็ไม่ขึ้น เตี่ยเรียกก็ไม่ขึ้น
จนเตี่ย ถือไม้เรียว มารอที่ท่าน้ำ พอเตี่ยเผลอ เราก็รีบขึ้นจากน้ำ วิ่งหนีไปก่อนจะโดนหวด
ตอนหลังเลยไม่เล่นที่บ้านแล้ว ไปเล่นที่บ้านอาม่า (ยาย)
เล่นนานเท่าไรก็ได้ รู้สึกว่า ตัวเองเป็นหลานรัก จะไปอยู่กับอาม่าบ่อยมาก
ตอนโรงเรียนพักกลางวัน บางที ก็มาที่บ้านอาม่า จำได้ว่า อาม่านุ่งผ้าถุง
ลายไทยลายเล็กๆ เราชอบมาก ชอบมาจนถึง ทุกวันนี้ สมัยนั้น ยังไม่มีเตารีดถ่าน
พอซักผ้า ตากผ้าแห้งแล้ว เราก็มีหน้าที่ พับผ้าให้เรียบ เอามาวางเรียงกันไว้
ใช้เครื่องอัดอัดให้แน่นเหมือนเครื่องอัดหนังสือ ที่ใช้ตามห้องสมุด ในปัจจุบันนี้
เพราะฉะนั้น ถ้าพับผ้าไม่เรียบร้อย แทนที่ผ้าจะเรียบ ก็ยิ่งจะมีรอยยับย่น
ที่จำได้อีกอย่างก็คือตอนนอนทุกคืน แม่จะถามเป็นภาษาจีนว่ามาจากไหน จังหวัดอะไร
เราเกิดเมืองไทยนะ แต่แม่ให้ท่อง บ้านเกิดของเตี่ย ที่ประเทศจีน แม่ก็มาจากประเทศจีน
สมัยก่อนเตี่ยจะส่งเงินกลับไปให้ญาติ ที่เมืองจีนเสมอๆ จนญาติ เสียชีวิตไปหมด
จึงได้เลิกส่ง เตี่ยเป็นคนกตัญญู ซื่อสัตย์ ใจกว้าง รักเพื่อน และรักลูก
เสียอย่างเดียวคือ เล่นการพนัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ที่ขัดขวางชีวิตครอบครัวเรา
โชคดีที่แม่เป็นคนเข้มแข็ง และเอาใจใส่ดูแล ให้ลูกได้เรียนหนังสือ
*** เคยได้ยินมาว่าคนจีนไม่ค่อยส่งเสริมให้ลูกสาวเรียนหนังสือ
เตี่ยกับแม่ส่งเสริมให้ลูกเรียนดีมาก โดยเฉพาะแม่เป็นคนสำคัญ ที่ส่งเสียให้เรากับน้องอีก
๒ คน ได้เรียน จบปริญญาตรี พี่ๆ เสียสละ ไม่ได้เรียน เพราะต้องทำงานช่วยครอบครัว
ตามความรู้สึกของเรา ทั้งเตี่ยทั้งแม่ ไม่บังคับลูก และเปิดโอกาส ให้ได้เรียนรู้
ที่จำได้ ๒ เรื่อง คือ วันหนึ่งเตี่ยต้มถั่วเขียวให้กิน ต้มในน้ำธรรมดาใส่น้ำตาล
ถามเตี่ยว่า จะต้มใส่กะทิ เหมือนถั่วดำได้ไหม เตี่ยบอกว่า ไม่เคยเห็นนะ แต่ลองดูก็ได้
อีกเรื่องหนึ่ง ตอนที่มาอยู่วัดแล้ว ประมาณสิบปีก่อน ก็มีการรณรงค์ ให้ทำกสิกรรม
เหมือนช่วงนี้แหละ เรากับเพื่อนผู้หญิงอีก ๒-๓ คน พยายามหาที่ทาง จะไปทำกสิกรรมกัน
ในที่สุดก็ตกลง ไปขอทำที่บ้านเตี่ย เตี่ยถามว่า จะทำไหวหรือ แต่ยังอนุญาตให้ทำ
สุดท้ายเราเอง ไม่ได้ไปทำ ตอนที่ลาออกจากงานไปอยู่วัด เตี่ยก็ไม่ได้ ขัดขวางอะไร
เพียงแต่บอกว่า คนจีนถ้าไปอยู่วัดแล้ว จะไม่กลับมาอยู่บ้านอีก
ที่จริงไม่ค่อยได้อยู่กับเตี่ย แต่พอได้ทบทวนแล้ว ก็มีความจำดีๆ เกี่ยวกับเตี่ยหลายเรื่อง
เหมือนกัน ตอนเตี่ยป่วยหนัก อยู่โรงพยาบาล ที่อุดรธานี เรามาอยู่วัดแล้ว
เลยไปดูแล เตี่ยได้ เป็นคนเฝ้าประจำ คู่กับน้องสาวอีกคน ที่เรียนราม ถ้ายังทำงาน
กินเงินเดือนอยู่ ก็คงลาไม่ได้นานอย่างนั้น ก่อนที่จะไปเข้าโรงพยาบาล และเสียชีวิตที่อุดรธานี
มีอยู่ ช่วงหนึ่ง ที่เตี่ยได้มา อยู่ข้างวัด กินยาหม้อรักษาตัว ปัจจุบันแม่ก็อยู่ข้างวัดกับเรา
ในอาคารตะวันงาย ๒ น้องสาวสองคน ช่วยกันซื้อห้อง ให้แม่อยู่ พี่ๆ น้องๆ ช่วยกัน
รับผิดชอบ ค่าใช้จ่าย เราเองเอางานวัดมาทำที่ห้องนี้ อยู่เป็นเพื่อนแม่
*** ใครเป็นคนสอนให้ประหยัด
คงจะเป็นสถานการณ์ของครอบครัวกระมังทำให้เราต้องประหยัด หรือไม่ก็เป็นนิสัย
ของเรา ที่ไม่สนใจ กิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้เงิน นอกจากซื้อหนังสือกับเรียนหนังสือ
เข้าเรียนประถม ๑ ที่โรงเรียนวัดลำพญา ปีต่อมา ตามพี่ชายพี่สาว มาเรียนหนังสือ
ที่กรุงเทพฯ ๒ คนกับพี่สาว เรียนที่โรงเรียนสตรีเซนต์จอห์น ลาดพร้าว ส่วนพี่ชายเรียนที่
โรงเรียนศึกษาวัฒนา สามย่าน ตอนแรกก็อยู่ที่บ้านเพื่อนพ่อ ที่เคยช่วยเหลือกันมา
ตั้งแต่สมัยหนุ่ม ต่อมาก็ย้ายออกไปเช่าบ้าน อยู่ที่ท่าพระ ฝั่งธน นั่งรถเมล์
จากฝั่งธน มาเรียนที่ลาดพร้าว จำได้ว่าบางช่วง เงินจะหมดก่อนที่แม่จะส่งเงินมาให้
ต้องกินข้าว กับปลาทู สมัยก่อน ถ้าจน ต้องกินปลาทู คนจนสมัยนี้ ปลาทูก็ยังแพงเกินไป
เรียนอยู่กรุงเทพฯตั้งแต่ประถม ๒ ถึงประถม ๕ ครอบครัวยากจนลง เพราะฤทธิ์การพนัน
เตี่ยกับแม่ พาลูกย้าย ไปอยู่ที่อุดรธานี เพื่อนเตี่ยคนเดิม ให้เตี่ยใช้ที่ดินของเขา
ทำไร่อ้อย อยู่บ้านนอก พี่ชายอยู่กับเตี่ย แม่กับลูกสาวสี่คน อยู่ในเมือง
ขายอาหารส่งลูกเรียน ตอนหลังย้ายไปอยู่ต่างอำเภอ คนละอำเภอกับที่เตี่ยอยู่
ไปขายอาหาร ในโรงงานน้ำตาล ของเพื่อนเตี่ย
ช่วงที่เรียนประถม ๖ จนถึง ม.ศ.๕ ต้องช่วยงานที่บ้าน ก่อนไปโรงเรียน ช่วยจัดร้าน
และเตรียม อาหารขาย กลับจากโรงเรียน ก็ช่วยเก็บล้าง เสาร์-อาทิตย์ก็ทำทุกอย่าง
เราทำอาหารไม่เป็น ก็ต้องซักผ้า รีดผ้า ทำความสะอาดบ้าน ล้างจาน น้องสาว
ช่วยทำด้วย จำได้ว่า ไม่ค่อยได้ทำอาหารกิน ตามที่อยากจะกินหรอก ต้องกินอาหารที่ขายเหลือ
ในแต่ละวัน กับข้าวอะไร เหลือก็กิน ถ้าเหลือก๋วยเตี๋ยว ก็กินก๋วยเตี๋ยว
*** เด็กต่างจังหวัดโชคดีที่ได้ทำงานบ้านช่วยครอบครัว
น่าสงสารเด็กกรุงเทพฯ ที่ทำงานอะไรไม่เป็น เอาแต่เรียนอย่างเดียว
บางครั้งเราก็ไม่อยากทำงานบ้านเหมือนกัน มีอยู่ครั้งหนึ่ง แม่เรียกให้ล้างจาน
ทั้งๆ ที่มีคนช่วยงาน อยู่แล้ว เราเกี่ยง ให้เรียกคนอื่นมาทำ แม่ก็จะให้เราไปทำ
บอกว่า จะได้ทำเป็น โถ! ใครจะทำไม่เป็น ทำเป็นอยู่แล้ว
ตอนนั้นไม่เข้าใจ มาเข้าใจ เมื่อโตแล้ว และเห็นเด็ก หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ก็ตาม
ไม่รู้ว่าควรจะต้องหยิบจับทำอะไรได้บ้าง ต้องให้บอก ทุกอย่าง "ทำงานเป็น"
ของแม่ ไม่ได้หมายความแค่ ทำงานได้สำเร็จ แต่หมายถึง มีใจรู้จัก ที่จะทำงาน
เวลาของชีวิต หมดไปกับการทำงาน แล้วก็เรียนเท่านั้นแหละ ไม่มีเวลาเหลือ ให้ฟุ้งซ่าน
ไม่เคยสนใจเรื่องสวยๆ งามๆ เสื้อผ้าก็รับมรดก ตกทอดกันมาจากพี่ แต่ในหมู่
พี่น้อง เราเป็นคนเดียว ที่นุ่งผ้าถุงอยู่บ้าน จนเพื่อนแม่มาที่บ้านเห็นเรา
นึกว่าเป็นเด็ก ช่วยงาน หรือคนใช้ ส่วนเรื่องเที่ยว รู้สึกมีอย่างเดียว คือดูหนัง
มีอยู่ครั้งหนึ่งอาจารย์ ที่โรงเรียน พาไปทัศนศึกษาที่เชียงใหม่ ได้เที่ยวครั้งเดียว
ในชีวิตการเรียน ๑๒ ปี ไม่รู้หรอกว่า ตัวเองเป็นคนประหยัด จนกระทั่ง ทุกวันนี้แหละ
เห็นเด็กสมัยนี้แล้ว คนสมัยก่อน เขาเรียก "มือห่างตีนห่าง"
*** มีคนชมไหมว่าอ่อนน้อมถ่อมตน
หลายคนทักว่าอ่อนน้อม เพราะเราชอบไหว้ ตั้งแต่เด็กแล้ว ชอบไหว้อาจารย์ เพื่อนๆ
ถ้าหนีทัน เขาจะหลบอาจารย์ แต่เรา ถ้าเห็นอาจารย์ จะเข้าไปไหว้ ไม่ว่าจะอยู่ในโรงเรียน
หรือนอกโรงเรียน ช่วงที่ทำงานที่อุดรธานี ทุกครั้งที่มา สันติอโศก ก็จะไปกราบ
สมณะ สิกขมาตุ ตามกุฏิหรือตามที่ทำงานจุดต่างๆ สมณะสิกขมาตุ ท่านทำเป็นตัวอย่างด้วย
ท่านที่มาจาก ต่างจังหวัด กลับมาที่วัดจะกราบภันเต (ผู้บวชก่อน)
หรือถ้าภันเตมา อาวุโส (ผู้บวชทีหลัง)
ทั้งหลาย ก็จะพากันมากราบภันเต พูดถึงการไหว้นี่ ต้องชมสื่อมวลชน ผู้จัดรายการโทรทัศน์ทุกรายการ
ไหว้สวยกันทั้งนั้น คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยา ท่านนายกรัฐมนตรี ยิ่งไหว้สวยมาก
น้อมตนแสดงความตั้งใจไหว้ น่าชื่นชม
*** ตอนเด็กคิดอยากเป็นอะไร
ไม่ว่าจะตอนเด็กหรือตอนแก่ ก็อยากเป็นอยู่อย่างเดียวคือครู
*** ทำไมถึงอยากเป็นครู
ตอนเป็นเด็กก็ไม่รู้หรอกว่าทำไมอยากเป็นครู แต่จำได้ว่าตอนเรียนประถม ๖ หรือ
ประถม ๗ นี่แหละ เพื่อนคนหนึ่ง เขาอยากเป็นหมอ แล้วคุยกันยังไงไม่รู้ เกิดวิวาทะกันขึ้นว่า
ครูกับหมออะไรสำคัญกว่ากัน ทำนองนั้น เพื่อนบอกว่า ถ้าไม่มีหมอ เราก็ไม่ได้เกิด
เราบอกว่า ถ้าไม่มีครูก็ไม่มีหมอ แต่ไม่มีหมอ เราเกิดได้อยู่แล้ว ชาวบ้านเขาก็คลอดเอง
กันเยอะแยะ
พอโตขึ้นมาหน่อย ตอนเรียนมัธยมเริ่มสนใจคนรอบข้าง เห็นคนยากคนจนมากมาย
ใช้ชีวิตไม่เป็น ทั้งกรรมกร ทั้งชาวนา ได้เงินมา ก็ซื้อเสื้อผ้า ดูหนัง เล่นหวย
เล่นไพ่ กินเหล้า สูบบุหรี่ ไม่รู้จะช่วยได้ยังไง ได้แต่คิดว่า ถ้าเขาได้เรียนหนังสือ
ชีวิตจะดีขึ้น ครูจะสอน ให้เขารู้จักคิด รู้จักเลือกสิ่งดี ๆ ให้ชีวิตตนเอง
แต่ก่อนนี้ไม่เคยคิดเลยว่าครู ก็มีปัญหาและเป็นปัญหาเองด้วย คิดว่าครูทุกคนดีหมด
ใครบอกว่า เป็นครู เรานับถือทันทีเลย
*** จบมัธยมแล้วเรียนต่อที่ไหน
เด็กต่างจังหวัดสมัยนั้นด้อยโอกาสที่ได้รับรู้ข้อมูลด้านการศึกษา ตอนเรียนจบ
ม.ศ.๓ คะแนนทุกวิชา ไล่เลี่ยกัน ประมาณ ๘๐% ใคร ๆ
ก็จะให้เรียนต่อมัธยมปลายสายวิทย์ เราก็ยังไม่รู้หรอกว่า ชอบเรียนอะไร แต่พอดีครูที่สอน
คณิตศาสตร์ตอน ม.ศ.๓ ไม่ตรวจ การบ้าน เฉลยการบ้าน บนกระดานดำทุกครั้งเลย
เราก็เลยไม่ค่อยชอบใจ ถึงได้ตัดสินใจ เลือกเรียนภาษา ไม่ได้เรียน คณิตศาสตร์อีกเลย
ตั้งแต่นั้นมา ตอนเรียนมัธยมปลาย มีอาจารย์ที่สอนภาษาฝรั่งเศส เป็นครูที่ดีมาก
ชื่ออาจารย์ รัศมี วัฒนวิไกร จบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์มาโรงเรียนแต่เช้า
เข้าห้องสอนตรงเวลา มารอด้วยซ้ำ ไม่เคยทิ้งห้องเรียน สอนจนถึง วินาทีสุดท้าย
และส่วนใหญ่จะสอนเลยเวลา ตรวจการบ้านนักเรียนไม่เคยค้าง อาจารย์ที่สอนวิชาอื่น
ก็ตั้งใจอบรม สั่งสอนดีเหมือนกัน แต่อาจจะทุ่มเทได้ไม่เท่า อาจารย์รัศมี
อาจเป็นเพราะอาจารย์เป็นโสด
ถ้าจะเล่าเรื่องครู คงเล่าไม่จบ เพราะในหัวใจมีแต่ครู แต่ไม่ได้เรียนครู
สาเหตุหลักก็คือ ค่านิยมสังคม เด็กเรียนดี สายภาษา มักจะเลือกเรียน อักษรศาสตร์
จุฬาฯ คิดถึงแม่ด้วย อยากให้แม่ภูมิใจ ที่จริงแม่อยากให้เรียนวิทยาศาสตร์
อยากให้ลูก เป็นหมอ อยากให้ออก จากสตรีราชินูทิศ ซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด
มาสอบเข้าโรงเรียน เตรียมอุดมศึกษา ที่กรุงเทพฯ หรือไม่ก็โรงเรียน อุดรพิทยานุกูล
โรงเรียนชายประจำจังหวัด เราไม่ได้ทำ ตามใจแม่สักอย่าง เพราะอาจารย์เราดีอยู่แล้ว
ไม่จำเป็น ต้องย้ายโรงเรียน การเลือก อักษรศาสตร์เป็นการพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า
อาจารย์เราสอนดีจริง แล้วถ้าตั้งใจเรียน เรียนที่ไหน ก็ได้ความรู้เหมือนกัน
อีกอย่างหนึ่ง ตอนนั้นคณะครุศาสตร์ ต้องสอบสถิติ เราไม่ได้เรียนมาเลย ไม่กล้าเลือก
ครุศาสตร์
*** ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไรบ้าง
ดีมาก มีความสุข ได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก ตัวเองเป็นคนชอบเรียน เรียนไม่เก่งหรอก
แต่เป็นคน สม่ำเสมอ ไม่มาโหม อ่านหนังสือ ตอนก่อนสอบ และไม่เคยเห็นด้วยกับโรงเรียน
ที่ปิดให้นักเรียน อ่านหนังสือเตรียมสอบ เด็กควร จะตั้งใจเรียน ตลอดเทอม
การปิด ให้นักเรียนอ่านหนังสือก่อนสอบ ทำให้เด็กที่ไม่ตั้งใจเรียน หวังมาอ่านหนังสือตอนนั้น
ชีวิตจริงของคนเรา ถ้าปล่อยให้เวลา ผ่านไปแล้ว ไม่อาจแก้ไขได้อีก ในวัยเรียน
ถ้าไม่ตั้งใจเรียน ไม่ตั้งใจฝึกฝนให้เต็มที่ อายุมากขึ้น จะกลับมาเรียน ก็ยากแล้ว
ต้องใช้ ความพยายามมากขึ้น เหมือนสุภาษิตเขาว่า ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก
ตอนเรียนอักษรศาสตร์ เลือกเรียนวิชาเอกบรรณารักษศาสตร์ เพราะว่าได้กลับไป
เยี่ยมอาจารย์ที่ โรงเรียนเก่า ไปเยี่ยม อาจารย์ บรรณารักษ์ด้วย เพราะเราเคยเป็น
นักเรียนช่วยงานห้องสมุด อาจารย์บรรณารักษ์คนเก่า ย้ายไปแล้ว อาจารย์คนใหม่
ชื่อวรนุช เล่าให้ฟังว่า อาจารย์ทำอะไรบ้าง เพื่อให้อาจารย์และนักเรียนในโรงเรียน
อ่านหนังสือ กันมากๆ เราฟังแล้ว ชอบใจ อยากเป็นครูบรรณารักษ์บ้าง เมื่ออยากเป็นครู
ก็ต้องแสวงหาความรู้ด้านวิชาครู ไปฟังบรรยาย เข้าประชุม สัมมนา ของสำนักงาน
คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติบ้าง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรบ้าง
แถมเลือกเรียน วิชาของคณะครุศาสตร์ด้วย เพื่อเตรียมตัวเป็นครู เตรียมตัวเอง
ถึงขนาดว่า ถ้าไปเป็นครูบ้านนอก ต้องอยู่ในการปกครอง ของหน่วยงานไหน ขวนขวายไปเรียน
วิชาการปกครองท้องถิ่น และเข้ารับการอบรม การปกครอง ระบอบประชาธิปไตย ที่คณะรัฐศาสตร์
กิจกรรมอื่นๆ ก็มีฝ่ายวิชาการของคณะชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน ของสโมสร นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ช่วงนั้น มีการประสานงาน กับชมรม นักศึกษาอีสาน ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งศิลปากร
ธรรมศาสตร์ ประสานมิตร เกษตร ไปแนะแนวนักเรียน ในภาคอีสานทุกจังหวัด กิจกรรมเฉพาะกิจ
อีกอย่างหนึ่ง คือ การคัดค้าน การสร้างจุฬาคอมเพล็กซ์ ที่เป็นมาบุญครองปัจจุบันนี้
นิสิตคิดว่า น่าจะใช้ ประโยชน์ ด้านการศึกษามากกว่า
*** ทำกิจกรรมหลายอย่างนี่ มีผลกระทบต่อการเรียนบ้างไหม
ก่อนจะตอบ ขอเล่าถึงสิ่งที่คณบดีปลูกฝังตั้งแต่แรกเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์
ตอนนั้น ศาสตราจารย์ คุณหญิงเกื้อกูล เสถียรไทย เป็นคณบดี ในวันปฐมนิเทศท่านบอกว่า
นิสิตอักษรศาสตร์ เขาไม่มาดูผลการสอบ ว่าสอบได้หรือเปล่า แต่เขามาดูว่า ได้เกียรตินิยม
อันดับเท่าไร แล้วตลอดสามปีครึ่ง ก็ได้รับทราบความเก่งกล้าสามารถ ทางวิชาการ
ของรุ่นพี่ๆ อยู่เสมอ แต่ในเมื่อเราใช้เวลาไปทำอย่างอื่นมากมาย เราก็มีเวลาศึกษา
ค้นคว้า น้อยลง เดี๋ยวนี้เวลาที่เด็ก ทำอะไร ไม่ได้อย่างใจเรา ก็ต้องบอกตัวเองว่า
เราเองก็ทำไม่ได้ อย่างที่อาจารย์คาดหวังเหมือนกัน
สิ่งที่เรียนรู้เป็นสิ่งที่ไม่มีในตำรา ไม่มีในห้องเรียน เราได้เรียนรู้สังคมนอกมหาวิทยาลัย
เรียนรู้ชีวิต การทำงาน เรากับเพื่อนๆ น้องๆ ผู้หญิงทั้งหมด แต่จำไม่ได้ว่ากี่คน
ไม่มาก คนหรอก เดินทางไปสำรวจเส้นทางก่อน เพื่อวางแผนการทำงาน โครงการแนะแนว
นักเรียน แม้ว่าทุกแห่ง ต้อนรับเราดีมาก บางทีก็มีอุปสรรคเกี่ยวกับถนนหนทาง
ที่ลำบาก ลำบน บางครั้ง มีปัญหาเฉพาะหน้า กว่าจะเดินทางถึงที่หมายก็ค่ำมืด
เรื่องนี้ไม่ได้นึกถึง นานแล้ว พอย้อนระลึกถึงอีก ก็ยังให้ความรู้สึกดีๆ
สิ่งเหล่านี้ หล่อหลอมให้เราเป็นคน ทำงาน มีขั้นมีตอน มีการประชุมกันเป็นระยะๆ
หมุนเวียนกันไปประชุม ตามมหาวิทยาลัย ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ จำไม่ได้เลยนะ ว่ามีการไม่ทำตามมติที่ประชุม
จนทำให้เกิดปัญหา การประสานงาน พอมาทำงาน กลับต้องเจอคนไม่ทำตามมติที่ประชุม
ให้ต้องตามแก้ ปัญหา อยู่เรื่อย จนท้อใจเอาการ แต่ช่างเถอะ ถือเสียว่า ปัญหาเป็นเครื่องมือ
ในการพัฒนา ปัญญาก็แล้วกัน
*** ก่อนจะมาอยู่วัด ทำงานที่ไหนมาบ้าง
เรียนจบเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๒๔ ไปเป็นครูโรงเรียนราษฎร์ที่อุดรธานี ๑ เทอม
สอบบรรจุ เป็นอาจารย์ ภาควิชา บรรณารักษศาสตร์ วิทยาลัยครูอุดรธานี ปีนั้นอาจารย์ในภาควิชา
ไปเรียนต่อปริญญาโทหมด ก็เลยต้องเป็น หัวหน้าภาควิชา และ หัวหน้าห้องสมุดด้วย
ทำอยู่ ๒ ปี ลาออกมาเป็นบรรณารักษ์ ที่หอสมุดและศูนย์สนเทศ มหาวิทยาลัย ธุรกิจบัณฑิตย์
เพราะอยาก มาช่วยงานวัด ที่สันติอโศก ช่วยไปช่วยมา เห็นว่างานวัด เยอะเหลือเกิน
คนช่วยงานก็น้อย ในขณะที่ในโลก ยังมีคนว่างงาน อีกมากมาย เราลาออกสักคน มีคนอีกมากมายพร้อมจะทำแทน
สุดท้าย ออกจากงาน มาช่วยงานวัด เต็มตัว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙ ได้รับเงินเดือนเต็มอัตรา
คือศูนย์บาท เท่ากับทุกคนทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะทำงาน มานานเท่าไรก็ตาม
*** ไม่ใช่มาอยู่วัดเพราะอกหัก หลักลอย คอยงาน สังขารโทรมนะ
หลักลอย คอยงานน่ะ ไม่ใช่อยู่แล้ว งานที่ทำอยู่ก็มีโอกาสก้าวหน้า ทั้งในด้านการศึกษา
และงานอาชีพ ยิ่งเป็นคน ชอบเรียนด้วย คงจบปริญญาเอกไปนานแล้ว ส่วนที่ว่าสังขาร
โทรม ตอนนี้อาจจะใช่ แต่ตอนที่มาอยู่วัดใหม่ๆ อายุ ๒๖ ปี ใครๆ ก็อนุโมทนาด้วย
ที่ได้มาอยู่วัด ตั้งแต่อายุยังน้อย สำหรับเรื่องอกหัก ก็ยังไม่รู้จัก เพราะยังไม่เคย
รักใคร แบบคู่รักเลย แล้วก็คงไม่มีใคร รักเราแบบคู่รักด้วย ถ้าเกิดมีใครมารักเรา
แล้วปฏิบัติ ต่อเรา เหมือนคนที่เขารักกัน เราก็คงรับไม่ได้หรอก เคยเห็นคู่รัก
บนรถเมล์ พอมีที่นั่งว่าง เขาก็จะต้องพยายามให้คู่ของเขาได้นั่ง รู้สึกใจแคบจัง
เราเป็นคน รักความยุติธรรม ไม่ชอบทั้งคนมีและคนให้ อภิสิทธิ์ แต่อย่าพูดมากเลยเรื่องนี้
เคยมีญาติธรรมรุ่นพี่เตือนว่า อย่าประมาท
*** รู้จักชาวอโศกเมื่อไร
ตอนเรียนเทอมปลายปี ๓ ประมาณต้นปี พ.ศ.๒๕๒๔ เพื่อนชื่อนิภาภรณ์ ถิรเศรษฐ์
ปัจจุบันคงจะจบ ปริญญาเอก ภาษาฝรั่งเศสแล้ว เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร
เขาเห็นเราสนใจปัญหาสังคม ก็เลยแนะนำ ให้ลองมาสันติอโศก ที่จริง เขาชวนก่อนหน้านี้
นานอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ได้มา มีเรื่องสนใจไปเรียนรู้หลายอย่าง พอเรียนจะจบ
คิดว่า จบแล้ว จะไปสอนหนังสือ ในต่างจังหวัด เลยหาโอกาสมาสันติอโศก เผื่อมีอะไรดี
เอาไป สอนเด็ก ไม่ได้คิดถึงตัวเองเลย จำไม่ได้หรอกว่า มาวันแรกวันไหน พบใครบ้าง
แต่ว่า ครั้งหนึ่ง ได้พบพระรูปหนึ่ง ท่านถามว่า จะไปเป็นครูสอนคนอื่นน่ะ
ตัวเองดีหรือยัง อีกครั้งหนึ่ง พ่อท่านเทศน์อยู่ มีคนเขียนจดหมายน้อยไปบอกว่า
รองเท้าหาย ท่านว่า ใครให้ใส่มา สองจุดนี้ ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง
ต้องเริ่มที่ตนเองก่อน ช่วงที่ยังเรียนอยู่ ก็มาวัดเกือบทุกอาทิตย์
*** ปฏิบัติธรรมแล้ว ชีวิตเปลี่ยนแปลงไหม
เปลี่ยนอาหารก่อนเลย กินมังสวิรัติเป็นเรื่องง่าย ถึงแม้เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน
อาหารมังสวิรัติ ไม่ได้เป็นที่รู้จัก เหมือนทุกวันนี้ เราเองก็ทำกับข้าว
ไม่ค่อยจะเป็น ต้องต้มผักกินทุกวัน ตอนที่เรียนหนังสือ อยู่หอพัก เพื่อนข้างห้อง
เห็นเราต้มผัก กินทุกวัน สงสาร ต้องมาทำ กับข้าวให้ แล้วก็กินด้วยกัน พอไปทำงานก็กินมาตลอด
เรื่องมังสวิรัติน่ะง่าย แต่เรื่องลดมื้ออาหารนี่ยาก ล้มลุกคลุกคลาน จนทุกวันนี้
ยังกิน มื้อเดียวไม่ได้เลย
เรื่องอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงได้ ก็มีลดความโกรธลง มีมนุษยสัมพันธ์ดีขึ้น
พูดจาปฏิสันถาร มากขึ้น ยิ้มแย้มแจ่มใส ในเรื่องความคิด มาอยู่วัดเกือบ ๒๐
ปีนี่ ความคิดเปลี่ยนไป หลายอย่าง ปล่อยวางมากขึ้น ส่วนเรื่องมักน้อย สันโดษ
ขยัน คิดว่า มีมาแต่เดิมแล้ว
*** มาอยู่วัดทำงานอะไรบ้าง
ตอนแรกทำงานห้องสมุดของสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม ทำอยู่ ๒-๓ ปี พี่ธนิดา พึ่งทอง
บรรณาธิการ นิตยสาร ดอกหญ้า ของสมาคม ผู้ปฏิบัติธรรมลาออก ก็เลยต้องออกจาก
ห้องสมุด เข้าไปทำงานนี้ ช่วยกันกับพี่น้อมคำ ปิยะวงศ์รุ่งเรือง แถมหน้าที่
ตรวจปรู๊ฟ งานหนังสืออื่นๆ ด้วย ต่อมามูลนิธิธรรมสันติ ตั้งโรงเรียนสัมมาสิกขา
สันติอโศกขึ้น ก็ได้ไปช่วยสอน ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสังคม พักหนึ่ง จนกระทั่งไปเรียนต่อ
ปริญญาเอก ถึงได้ลาออกจากโรงเรียน งานห้องสมุด มาทำอีกที ที่ราชธานีอโศก
อุบลราชธานี ทำอยู่ ๒ ปี ช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์เท่านั้น งานหนังสือเป็นงานเดียว
ที่ทำต่อเนื่อง มาตลอด จนถึงปัจจุบัน ส่วนงานครัว หั่นผัก ล้างผัก ล้างจาน
งานทำ ความสะอาด งานรับโทรศัพท์ แล้วก็ขาย อาหารมังสวิรัติ หรืองานบริการช่วยเหลือ
ทั่วไปในวัด ที่เคยหมุนเวียนไปช่วยทำ ตั้งแต่แรกมาอยู่วัด ไม่ได้ทำอีกเลย
ตั้งแต่ออกไป อยู่ข้างวัด นานทีปีหน ถึงจะโผล่ไปช่วย คงจะได้กลับไปทำอีก
ถ้างานด้านหนังสือลดลง
*** ทำไมถึงออกไปอยู่ข้างวัด
ออกไปเรียนปริญญาโท ช่วงนั้นเกิดคดี กรณีสันติอโศก ปี ๒๕๓๒ เราทำงานพิสูจน์อักษร
ทีนี้บทความ ธรรมะส่วนใหญ่ ก็จะอ้างบาลี เราก็ไม่รู้ว่า ผู้เขียนเขียนมาถูกหรือผิด
ก็เลย อยากไปเรียนภาษาบาลี ขออนุญาตพ่อท่าน ท่านไม่อนุญาต เดิมคนที่มาอยู่วัด
จะไปเรียน หนังสือไม่ได้ ท่านไม่อยากให้เหมือนวัดอื่น ที่คนมาอาศัยกินอยู่ที่วัด
แถมเอาเงินวัด ไปเรียนหนังสือ แสวงหาลาภยศให้ตนเอง
ช่วงที่ท่านยังไม่อนุญาตเท่ากับให้เวลาเราเตรียมตัวสอบ มีญาติธรรมที่จบเปรียญ
มาสอนภาษาบาลีเบื้องต้น ให้ที่วัด เราเอง ก็อ่านตำรา บาลีไวยากรณ์ และทำ
แบบฝึกหัดเอง ทำแบบฝึกหัดกับจดศัพท์เป็นเล่มๆ เลย
ขอท่านตั้งหลายครั้งกว่าท่านจะอนุญาต แล้วก็ได้ไปเรียนปริญญาโท สาขาภาษาบาลี-สันสกฤต
ที่คณะ อักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อปี ๒๕๓๔ แต่ก็ต้องลาออกจากการเป็นคนวัด สมัยนั้น
ยังไม่มีธรรมเนียมให้คนวัด ออกไปเรียนหนังสือนอกวัด ประจวบเหมาะ กับแม่มา
อยู่ด้วย แรกๆ เช่าห้องอยู่ข้างวัด พอมีอาคารตะวันงาย ๒ ถึงได้ย้ายเข้าไปอยู่ที่นั่น
*** ตอนนั้นเป็นอุบาสิกาหรือยัง
เป็นแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๒ แต่อุบาสิกาของชาวอโศก ก็มีฐานะและข้อปฏิบัติ
เหมือน ฆราวาส ที่เป็นคนวัด เพียงแต่มีรูปแบบ คือโกนผม ใส่เสื้อขาว นุ่งผ้าถุงดำ
มีผ้าสไบสีขาว ที่เปลี่ยนมามาเป็นอุบาสิกา เพราะรู้สึกว่า มีผมแล้วมันเป็นภาระ
ต้องคอยตัด คอยสระ คอยหวี การโกนผมนี่ก็รู้สึกเป็นภาระเหมือนกันนะ แต่ก็ยังน้อยกว่า
ตอนที่มีผม
*** ไม่ได้ทำงานมีเงินเดือนแล้ว เอาทุนที่ไหนเรียนหนังสือ
บริษัท ฟ้าอภัย ให้ทุนทั้งค่าใช้จ่ายในการเรียนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น
ค่ารถ ค่าอาหาร ค่ากิจกรรมต่างๆ แล้วก็มีญาติธรรม ช่วยเหลือ ทั้งช่วยทำงานแทน
ดูแลเรื่องอาหารการกิน
*** ได้ยินว่ามีปริญญาบัตร ๖ ใบ อะไรบ้าง
ปริญญาตรีอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ปริญญาโทภาษาบาลี-สันสกฤต จุฬาฯ และภาษาสันสกฤต มหาวิทยาลัยศิลปากร ปริญญาเอก
สาขาการศึกษานอกระบบโรงเรียน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วน ปริญญาโท ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
เรียนพัฒนาสังคม อยู่ในขั้นตอน แก้ไข ภาคนิพนธ์
*** นึกอย่างไรถึงไปเรียนปริญญาเอก
จริงๆ แล้วก็ไม่มีเหตุผลอะไรหรอก นอกจากว่าชอบเรียนหนังสือ แต่ที่พ่อท่านอนุญาต
ให้ไปเรียน โดยใช้ทุนของ ผู้ที่สนับสนุน ด้านการศึกษา อาจเป็นเพราะพวกเรา
มีสัมมาสิกขาลัย วังชีวิต เป็นการศึกษานอกระบบ ขั้นอุดรศึกษา ที่จัดโดยชุมชน
แล้วเราก็ดู เอาจริงเอาจัง ในงานของสัมมาสิกขาลัยวังชีวิตอยู่ แต่พอเรียนจบแล้ว
ไม่ได้ทำงานวังชีวิตเลย พอใจที่จะทำงาน หนังสือมากกว่า
*** ความรู้ที่เรียนมาได้ใช้ประโยชน์ไหม
ได้ใช้ ตั้งแต่ปริญญาตรีแล้วที่เราจะคิดก่อนตัดสินใจเรียน จะเรียนไปทำอะไร
ถ้าเรียน มาแล้ว ไม่ได้ใช้ ความรู้ที่เรียนมา ก็ไม่อยู่ด้วยนะ เพราะถ้าไม่ต้องใช้ความรู้ที่เรามีอยู่
ก็ไม่เห็นต้องให้เราทำ ใครๆ ก็ทำได้ แต่พอมาเรียนปริญญาเอก การศึกษา นอกระบบ
โรงเรียนนี่ดีนะ ความคิดเปลี่ยนไปเยอะ ครูการศึกษานอกระบบ จะไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง
จะคำนึงถึง ผู้เรียน เป็นสำคัญ ต้องเข้าใจธรรมชาติของคน และปรับตนเอง ให้เข้ากับ
ผู้เรียน แต่ไม่ใช่ตามใจผู้เรียน ปรับเพื่อที่จะโน้มน้าวผู้เรียน ให้พัฒนา
ไปสู่เป้าหมายได้ ต้องทำตัวเอง ให้ผู้เรียนเชื่อถือศรัทธา เพราะผู้เรียนนอกระบบ
บางทีก็เป็นผู้ใหญ่ มีประสบการณ์ชีวิต มากมาย บางทีก็เป็นเด็กด้อยโอกาส คนมีปัญหาต่าง
ๆ นานา หรือไม่ได้มีปัญหาหรอก แต่ต้องการ พัฒนาตนเอง สรุปว่า ผู้เรียนมีความหลากหลาย
ไม่ใช่เด็กวัยเดียวกัน เหมือนในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย ครูจะบังคับ ให้เชื่อฟังครู
เหมือนในระบบไม่ได้ วิธีการเรียนรู้ที่ครูนอกระบบใช้คือ ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง
(self-directed learning) ครูในระบบ เดี๋ยวนี้ก็พยายาม นำหลักการศึกษานอกระบบไปใช้
แต่น่าเสียดาย ที่ครูไม่ใฝ่ใจศึกษาให้รู้จริง ก็เลยเอาไปใช้ ผิดๆถูกๆ ถึงได้ไม่ประสบ
ความสำเร็จ ในการปฏิรูปการศึกษา
*** คิดอย่างไรกับการศึกษาไทย
เดี๋ยวนี้ไม่คิดอะไรแล้ว ปัญหามันฝังรากลึกเกินจะเยียวยา มันเกี่ยวข้องโดยตรงกับ
วัฒนธรรม ของชาติ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ และยากมาก แม้แค่คิด อย่าพูดถึงว่าจะลงมือทำเลย
ตอนที่อายุยังน้อย เคยสงสัยมากเลยว่า นิสิตนักศึกษา ที่มีอุดมการณ์ พอเรียนจบ
มาทำงาน ทำไมเงียบหายไปหมด ไม่มีบทบาท ในการเปลี่ยนแปลงสังคมเท่าไรเลย เดี๋ยวนี้
เข้าใจแล้ว ตัวเราเอง ยังยอมแพ้เลย
การเปลี่ยนแปลงคนอื่น คิดง่ายแต่ทำยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราไม่เปลี่ยนก่อน
ทุกวันนี้ ถึงได้ไม่คิด เปลี่ยนแปลงใคร หรืออะไรเลย ทำหน้าที่ให้ข้อมูล เหมือนบรรณารักษ์
เท่านั้น ใครฉลาดรู้จักนำข้อมูล ไปปฏิบัติได้ เขาก็ได้รับประโยชน์เอง
*** สังคมชาวอโศกเป็นอย่างไรบ้าง
โดยภาพรวมก็เหมือนสังคมไทยทั่วไปเพราะเราทุกคนเป็นคนไทยที่มีวัฒนธรรมประจำชาติ
ฝังแน่น อยู่ในกมลสันดาน แต่จุดต่าง ที่สำคัญ คือเป้าหมายในการใช้ชีวิต และการทำงาน
ในชุมชนชาวอโศก ไม่ได้เป็นไปเพื่อตนเอง เรามีชีวิตอยู่ เพื่อพัฒนาตนเอง ในด้านศีลธรรม
และเราทำงานเพื่อสร้างคุณค่าประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม สังคมเรา คงจะเหมือน
สมัยโบราณ ที่อยู่ร่วมกัน แบบญาติพี่น้อง มีอะไรก็แบ่งปันกัน ช่วยเหลือกัน
จริงใจต่อกัน ทุกวันนี้ เวลามีปัญหา หรือต้องการ ความช่วยเหลือ เราก็บอกคนโน้นคนนี้
ในชุมชนของเรา นี่แหละ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องส่วนรวมแล้วนะ เงินเป็นหมื่น เป็นแสน
เป็นล้าน พวกเรา ก็ให้กันได้ คิดถึงทีไรก็ซาบซึ้งใจนะ มีสังคมที่ไหนจะช่วยกันได้
อย่างชุมชนของเรา ปัญหาที่มีอยู่ ไม่น้อย ในหมู่กลุ่มเรา เป็นเรื่องธรรมดา
ที่เกิดขึ้น เพื่อให้เราได้ขัดเกลาตนเอง และขัดเกลา ซึ่งกันและกัน แล้วยังทำให้เกิด
ปัญญาด้วย ได้ช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางที่จะแก้ปัญหา
*** มีเป้าหมายชีวิตอย่างไร
อยากเป็นครูก็ได้เป็นแล้ว อยากเรียนจบปริญญาเอก ก็เรียนจบแล้ว ไม่มีเป้าหมาย
สูงกว่านี้ ที่ได้มาทำงานวัด โดยไม่มีรายได้นี่ นับว่าเหนือความคาดหวังของชีวิตแล้ว
อยากมีความสามารถ มากกว่านี้เหมือนกัน เพราะทุกวันนี้ มีงานต้องทำ อีกหลายอย่าง
ถ้ามีความสามารถมากกว่านี้ จะทำงานได้มากขึ้นด้วย ตอนนี้ได้แต่เสียดายว่า
ในวัยเรียน ไม่ได้ทุ่มเท เต็มกำลัง
ที่อยากทำหนังสือเผยแพร่ธรรมะมากๆ ก็เพื่อให้ทุกๆ คนมีความรู้เพียงพอที่จะเลือก
การดำเนินชีวิต ที่ถูกต้อง เป็นกุศล ไม่เป็นทาส กระแสสังคม กลุ่ม หรือบุคคลใด
*** ปัจจุบันทำอะไรบ้าง
มีชื่อเป็นบรรณาธิการนิตยสาร "ดอกหญ้า"
ของสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม แต่พี่น้อมคำ ปิยะ-วงศ์รุ่งเรือง ช่วยทำ เป็นส่วนใหญ่
ตัวเอง ไปช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารอโศก"
คัดเลือกบทความ
ส่วนหนังสือเล่มที่ทำอยู่มีหลายชุด คือ ชุดองค์กรบุญนิยม ๗ เล่ม เป็นการรวบรวมข้อมูล
การทำงาน ทุกด้าน ในระบบบุญนิยม โครงการหิ่งห้อยเดือนละ ๑ เล่ม โครงการหนังสือ
ครบรอบ ๓๖ ปีอุปสมบทพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ๓๖ เล่ม สองโครงการนี้ เป็นงาน
ที่เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา ของพ่อท่าน รวมบทความ ๑๕ นาทีกับพ่อท่าน ในสารอโศก
คงจะได้รวมพิมพ์ ได้สัก ๑๒ เล่ม แล้วก็มีหนังสือ ฝากให้ตรวจแก้อีก ๕ เล่ม
ยังมีหนังสืออีก ๒ ชุดที่อยากทำ แต่ยังไม่ได้เริ่มต้นเลย คือชุดแนวทางสร้างอาริยะ
จะรวม คำสอน แต่ละด้าน ของพ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ เช่น การศึกษาบุญนิยม พาณิชย์บุญนิยม
สุขภาพบุญนิยม ฯลฯ ชุดนี้จะเป็นภาคทฤษฎี ส่วนชุด องค์กรบุญนิยม เป็นภาคปฏิบัติ
อีกชุดหนึ่ง คือชุดบุคคลบุญนิยม จะรวมเรื่องราวชีวิตของผู้ปฏิบัติธรรมชาวอโศก
ที่ทำงาน บุญนิยม ด้านต่างๆ เป็นผู้ขับเคลื่อน ระบบบุญนิยมให้เป็นจริงได้
ถ้ารวบรวมข้อมูลทั้งหมด เป็นหนังสือ ได้ครบทุกชุด ก็จะเป็นความรู้ ของคนรุ่นเรา
ให้คนรุ่นต่อไปได้ศึกษา ไม่ต้อง มาเริ่มต้น ลองผิดลองถูกใหม่ นี่เป็นความสามารถพิเศษ
ของมนุษย์ ที่สัตวโลก ชนิดอื่น ทำไม่ได้
งานใหญ่อีกสองงานหนึ่งคือการวิจัยเรื่อง "การสร้างเสริมสุขภาวะจิตวิญญาณ:
ศึกษา กรณี ชุมชนชาวอโศก" เป็นงานวิจัย ที่ได้รับทุน
สนับสนุน จากสำนักงาน กองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อีกงานหนึ่งรับปากกับผู้อ่านดอกหญ้าไว้ว่า จะจัดสัมมนา สมาชิกดอกหญ้า ไม่ทราบว่า
จะจัดได้เมื่อไร แต่อยากให้ งานทุกอย่าง เสร็จเรียบร้อยภายในปี ๒๕๔๙
ต้องขอบคุณญาติพี่น้องและเพื่อนๆ ทุกคนที่ให้ข้อมูล เก็บข้อมูล พิมพ์ต้นฉบับ
และ ช่วยงานอื่นๆ อีกหลายอย่าง รวมทั้ง ช่วยสนับสนุน ค่าใช้จ่ายในการทำงาน
หลายท่าน ช่วยส่งกระดาษหน้าเดียวมาให้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ในระบบบุญนิยม
เท่านั้น ถ้าจ้างคนทำ ไม่รู้ต้องใช้เงินสักเท่าไร