ชีวิตนี้มีปัญหา๑
เรามาขยายความตั้งแต่เริ่มต้นที่ว่า "การไม่คบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรม ให้บริบูรณ์" และต่อๆ ไปจนถึง..."นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังอวิชชา ให้บริบูรณ์" แล้วจะเห็นได้ชัดขึ้นว่า อิทัปปัจจยตา หรือ ปัจจยาการต่างๆของข้อธรรมทั้งหลาย ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วตราไว้ให้มนุษย์ นำมาใช้ศึกษาปฏิบัตินั้น เป็น "ความจริงอันสุดประเสริฐ" (อาริยสัจ) ที่สุดยอดแห่งสัจจะแท้ๆ สัตบุรุษ เรียกแบบสันสกฤต ถ้าเรียกแบบบาลีก็คือ สัปบุรุษ หมายถึง คนที่ประกอบด้วย "สัปปุริสธรรม ๗" หรือ "สัปปุริสธรรม ๘ -สัปปุริสธรรม ๑๐" เป็นต้น ซึ่งสัปปุริสธรรม ทั้งหลายนั้น คือ คุณสมบัติ ที่เป็นคุณธรรมอันวิเศษลึกล้ำของศาสนาพุทธ ก็ขออนุญาตสาธยายขยายความเรื่องนี้ สู่กันฟัง แทรกไว้ตรงนี้เสียเล็กน้อย จะได้รู้เพิ่มเติมขึ้นว่า พุทธธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น สุดวิเศษยิ่ง อย่างไร อธิบายแค่ "สัปปุริสธรรม ๗"
หมวดเดียวก็แล้วกัน "สัปปุริสธรรม ๗"
ได้แก่ ธัมมัญญุตา อัตถัญญุตา อัตตัญญุตา มัตตัญญุตา กาลัญญุตา ปริสัญญุตา
ปุคคลัญญุตาหรือปุคคลปโรปรัญญุตา สัตบุรุษ จึงหมายความถึงคนผู้มี"ไตรสิกขา" หรือมี"โพธิปักขิยธรรม ๓๗" อย่างสัมมาทิฏฐิจริง และ ปฏิบัติบรรลุมรรคผลด้วย หรือผู้เข้าถึง "จรณะ ๑๕ วิชชา ๘" อันเป็น "วิชชาจรณสัมปันโน" ของพุทธ นั่นเอง และ ต้องมีคุณสมบัติของ "สัปปุริสธรรม ๗" อย่างเพียงพอ จึงจะเป็น "ธรรมกถึก" (นักเทศน์, ผู้สั่งสอนธรรม) ผู้เผยแพร่สัทธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สืบทอดยืนยาวต่อไป ถึงกับได้รับ สมญาว่า "ผู้รื้อขนสัตว์" "สัปปุริสธรรม ๗" แปลฟังกันง่ายๆ ดังนี้ ธัมมัญญุตา ก็คือ ความรู้ยิ่งในธรรมะทั้งหลาย รอบรู้ในสัจธรรมทั้งปวง ทั้งโลกียธรรมทั้งโลกุตรธรรม อัตถัญญุตา ก็คือ ความรู้ยิ่งในผลในประโยชน์เนื้อแท้ หรือรู้จุดมุ่งหมายที่สำคัญของสิ่งนั้นๆ อัตตัญญุตา ก็คือ ความรู้ยิ่งในตัวตนของเราว่า เราคือใคร มีภูมิธรรม มีสมรรถนะ มีฐานะทางสังคม อย่างไร แค่ไหน คือ จะต้อง"รู้เรา" มัตตัญญุตา ก็คือ ความรู้จักการกะประมาณ พิจารณาเลือกเฟ้นให้เหมาะสม ตามเหตุปัจจัยแวดล้อม กาลัญญุตา ก็คือ ความรู้ยิ่งในเวลา กาละ ยุค สมัย โอกาส ที่ควรหรือไม่ควรอย่างไร แค่ไหน หรือ แม้แต่ลักษณะ ของกระแสสังคมแต่ละกาละ ปริสัญญุตา ก็คือ ความรู้ยิ่งในฐานะสังคม สภาวะค่านิยม สภาวะรสนิยม ของแต่ละกลุ่มหมู่ เป็นต้น ปุคคลัญญุตา ก็คือ ความรู้ยิ่งในความเป็นบุคคลอื่น รู้ฐานะนอก-ใน แม้จริตนิสัยใจคอ หรือ "รู้เขา" นั่นเอง เพราะสัตบุรุษมีคุณธรรมคุณสมบัติดังกล่าวนั้น จึงเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ สามารถช่วยเหลือ เกื้อกูลสังคม กอบกู้สังคมให้พ้นทุกข์ได้จริง สัตบุรุษ หรือ โพธิสัตว์ คือ "ผู้รื้อขนสัตว์" ในนิกายมหายาน หรือนิกายอาจาริยวาท ต่างรู้จักกันดี แพร่หลายมาก และยกย่องนับถือกันยิ่งกว่าคำว่า อรหันต์ เพราะผู้มีภูมิธรรมที่เรียกว่า สัตบุรุษ นั้น
จะต้องเป็นผู้บรรลุธรรมด้วยและสามารถบอกสอนผู้อื่นให้ ผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรมแต่สั่งสอนธรรมะได้
แม้จะสอนได้เก่งกาจปานใด ก็ไม่แน่ว่า จะถูกต้องจริงแท้ การสอนธรรมแสดงธรรมสำคัญฉะนี้เอง พระพุทธ เจ้าจึงได้ทรงบัญญัติห้ามการแสดงธรรรม ที่อวดธรรม ขั้นสูงขั้นอุตตริมนุสสธรรม ถ้าใครยังไม่บรรลุธรรมนั้นหรือยังไม่มีในตนจริง หากละเมิด บัญญัติ ก็ปรับโทษ ซึ่งมีทั้งโทษเบาทั้งโทษหนัก ถึงขั้นปาราชิกทีเดียว กระนั้นก็ดี ย่อมมีคนผู้ยังไม่บรรลุธรรม ที่กล่าวธรรมสอนธรรมอธิบายขยายธรรมอยู่นั่นเอง ความผิด เพี้ยนไปจาก"ความจริง"หรือความไม่ถูกถ้วนจึงเกิดขึ้น และผิดยิ่งๆขึ้นมาเรื่อยๆ ผู้อวิชชาก็ยึดก็ถือ มากขึ้นๆ เมื่อเสื่อมมากเข้าก็ไม่รู้จริงแม้กระทั่ง"ธรรมะ"ที่เป็นโลกียะ แตกต่างจาก"ธรรมะ"ที่เป็นโลกุตระ อย่างไร ดังนั้น"อัตถะ"ที่เป็นโลกียะ แตกต่างจาก"อัตถะ"ที่เป็นโลกุตระ ก็ไม่รู้จัก จึงยิ่งไม่รู้จริง ก็เพราะอวิชชาแท้ๆจึงก่อเกิดการแตกแยกเป็นพวกเป็นกลุ่มกันขึ้น โดยแบ่งว่า ผู้บรรลุธรรม ทว่าได้ เฉพาะตน บอกสอนผู้อื่นให้บรรลุตามไม่ได้ ถึงจะได้ก็น้อยนั้น เมื่อช่วยผู้อื่นไม่ได้หรือได้น้อย ก็ถูกตู่ว่า ไม่เป็นยานหรือไม่เป็นพ่วงแพที่ขนสัตว์ข้ามโอฆสงสารได้ดี นับเป็นยานชั้นต่ำ ยานนั้นก็เป็นแค่"หินยาน" ส่วนผู้ที่สามารถสอนผู้อื่นให้บรรลุตามได้เก่ง ยิ่งได้มากเท่าใดๆก็เป็นพ่วงแพใหญ่ ที่ขนสัตว์ ข้ามโอฆสงสาร ได้มากมายยิ่งเท่านั้นๆ ยานอย่างนี้จึงเป็น"มหายาน" ชาวมหายานถือว่า การสอนผู้อื่น หรือการช่วยเหลือผู้อื่น เป็นการสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่น ย่อมแสดง ถึงความเสียสละ ความไม่เห็นแก่ตัว เป็นการละตัวตน มหายานจึงโน้มเอนไปข้างยึดถือการ "สอนคนอื่น - ช่วยผู้อื่น" เป็นจุดเด่นเป็นกิจนำ หนักเข้าก็เลยเถิด กระทั่งกลายเป็นสุดโต่งไปข้าง "ทำแต่ประโยชน์ผู้อื่น-ละเลยประโยชน์ตน" สุดท้ายก็เลือน "ประโยชน์ตน" ไม่มีการบรรลุธรรม สำหรับตน ได้แต่มุ่งประโยชน์ผู้อื่น มุ่งแต่"ภพภายนอก" จึงกลายเป็นพวก"โลกาธิปไตย" หลงไปกับ ความเป็นโลกกว้าง ภายนอกเป็นใหญ่ ที่เป็นความซับซ้อนลึกซึ้งอยู่ในจิต ก็คือ ผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรม กิเลสย่อมยังไม่หมด ดังนั้น เมื่อสอนผู้อื่น แม้จะพยายาม พูดถึงความจริงให้ถูกความจริง ในสิ่งที่ตนยังไม่ได้จริง ไม่มีจริง มันก็ต้องผิดพลาด ไปได้แน่ๆ เพราะยังเป็นผู้รู้จักรู้แจ้งรู้จริง "ความจริงในความจริง" ไม่แท้ไม่สัมบูรณ์ ซ้ำมิหนำกิเลส ของผู้สอน ก็ยังไม่หมด จึงยังมี"มานะ" อันเป็นอรูปอัตตาแห่งความรักหน้ารักตาของตนอยู่ ฉะนั้น กิเลส"ตัวรักศักดิ์ศรี"นี่เอง ที่เป็นตัวทำให้คนผู้รักศักดิ์ศรี พูดอธิบายออกนอกความจริงไปได้ ในคราคับขัน เพื่อ"สงวนหน้า"ของตนเองไว้ หากคราใดถึงขั้นจำเป็นต้องตอบต้องอธิบาย ในบางเรื่อง ที่ตนเองไม่รู้ ก็ต้องทำเป็นว่ารู้ เป็นต้น บ้างเลี่ยงไปโดยใช้ปฏิภาณอย่างหนัก บ้างก็เดา ไปตามเรื่อง บ้างถึงขั้นโกหก เพื่อรักษาศักดิ์ศรี ความจริงหรือสัจธรรมจึงคลาดเคลื่อนไปได้ ด้วยประการฉะนี้เสมอ เพราะผู้สอนยังมีกิเลสอยู่จริง มหายาน จึงกลายเป็นนิกายที่มีสิ่งแปลกของปลอมปรุงแต่งปฏิรูปไปหลากหลาย มีสารพัด ไม่ว่าด้านรูป ด้านนาม ทั้งวิสัยโลกก็เลอะเทอะกันถึงขนาดพระมีเมียได้ ทั้งวิสัยธรรมก็เป็นเทวนิยม จมลงไปในรูปภพอรูปภพและสยบกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดลบันดาล ติดยึดอยู่กับอาตมัน กันไม่ผิดไปจาก ชาวเทวนิยมทั้งหลาย ยิ่งนานก็ยิ่งประยุกต์กันจนแตกนิกายออกไปมากมาย นี่คือ ความเป็นมิจฉาทิฏฐิ ของ "มหายาน" หรือ "อาจาริยวาท" อาตมาจะไม่วิจารณ์วิจัยไปมากกว่านี้แล้วสำหรับเรื่องของมหายาน เพราะยังเป็นเรื่องไกลตัว ไว้ในโอกาส ที่จำเป็นจะต้องพูดถึงก็ค่อยว่ากันในตอนนั้น(มีต่อฉบับ๑๗๑ ) - เราคิดอะไรฉบับที่ ๑๗๐ กันยายน ๒๕๔๗ -
|