ดีเก่ง ใฝ่จน เสียสละ (เวสสันตรชาดก)

ทำดีเก่งได้จริง
กล้าทิ้งโลภใฝ่จน
เสียสละอดทน
ช่วยคนสังคมเจริญ

ณ แว่นแคว้นสีพี พระนางผุสดีเทวี เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าสญชัย แห่งเชตุดรนคร เมื่อทรงพระครรภ์ พระนางเป็นผู้ยินดีในทานทุกเมื่อ ทรงให้ทานแก่คนยากจน คนป่วยไข้ คนแก่ คนเดินทาง คนสิ้นเนื้อประดาตัว และสมณพราหมณ์ทั้งหลาย

เมื่อพระนางผุสดีทรงพระครรภ์ครบ ๑๐ เดือน พระเจ้าสญชัยทรงทำประทักษิณ (แสดง ความเคารพ โดยเวียนทางขวา) รอบพระนคร พระนางได้เสด็จด้วย แล้วเกิดทรงเจ็บ พระครรภ์ ประสูติพระโอรสขณะอยู่ท่ามกลางถนนของพวกพ่อค้านั่นเอง พระโอรส จึงได้พระนามว่าเวสสันดร

พระกุมารทรงเจริญวัยขึ้นด้วยลาภ และบริวารมากมาย จนกระทั่งย่างเข้า ๔-๕ พระพรรษา พระราชบิดาทรงให้ช่างทำเครื่องประดับล้ำค่าขึ้น พระราชทานแก่พระกุมาร แต่พระกุมารกลับทรงเปลื้องเครื่องประดับเหล่านั้นออก ให้แก่บรรดาแม่นมไปหมดสิ้น แม้พวกแม่นมจะถวายคืน ก็ไม่ทรงยอมรับคืน พระราชบิดาจึงต้องให้ช่าง ทำเครื่องประดับ ใหม่อีก แต่พระกุมารก็ทรงให้เครื่องประดับนั้น แก่พวกแม่นมไปอีก เป็นอยู่เช่นนี้ถึง ๙ ครั้งด้วยกัน

พอพระชนม์ได้ ๘ พรรษา วันหนึ่งขณะทรงประทับอยู่ในปราสาท ทรงเกิดจิตเลื่อมใส เพื่อจะให้ทานอย่างยิ่งว่า
"หากมีใครมาขอดวงใจของเรา เราจะแหวกอกนำดวงใจออกมาให้
หากมีใครมาของดวงตาของเรา เราจะควักดวงตาออกให้
หากมีใครมาขอเนื้อของเรา เราจะเชือดเนื้อมอบให้
หากมีใครมาขอเลือดของเรา เราจะกรีดเลือดหลั่งให้
หากมีใครมาขอร่างกายของเรา เราจะยอมมอบตนให้แก่เขา
ไม่ว่าจะเป็นใครมาขอกับเรา เราก็ยินดีให้ทั้งสิ้น เรายิ่งคิดบริจาคทานนั้น ให้เป็นความจริง ดวงใจของเราก็ยิ่งยินดี ไม่หวั่นไหวเลย มีแต่ความมุ่งมั่นอยู่"

ด้วยความดำรินั้นเอง ป่าหิมพานต์ก็สั่นไหว ภูเขาสิเนรุก็สั่นคลอน แม้พื้นแผ่นดินกว้างใหญ่ ก็สั่นสะเทือนไปทั่ว

ครั้นต่อมาเมื่อพระเวสสันดรมีพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา ทรงเรียนสำเร็จศิลปะทั้งปวงแล้ว พระราชบิดา จึงทรงมอบราชสมบัติให้ และทรงแต่งตั้งมัทรีเทวี พระธิดาของพระเจ้าลุง จากตระกูลมัททราช ให้เป็นอัครมเหสี

อยู่มาจนกระทั่งพระนางมัทรีประสูติพระโอรส ได้พระนามว่า ชาลีกุมาร แล้วต่อมา ได้ประสูติ พระธิดาอีกองค์พระนามว่า กัณหาชินา

นับตั้งแต่พระเวสสันดรทางได้ครองราช-สมบัติ ทรงสละทรัพย์ ๖๐๐,๐๐๐ ทุกวัน เพื่อทำการบริจาคทาน และทรงเสด็จตรวจโรงทาน ทุกกึ่งเดือนในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ โดยทรงขึ้นขี่คอช้างมงคลชื่อ ปัจจัยนาค เข้าไปยังศาลาเพื่อให้ทานเป็นประจำเสมอ

วันหนึ่งที่โรงทานนั้นเอง พราหมณ์ทั้งหลายชาวกาลิงครัฐผู้มีขนรักแร้ดก มีเล็บยาว ฟันเขลอะ ฝุ่นละอองเต็มศีรษะ ได้มาเข้าเฝ้า พระองค์จึงตรัสถามว่า

"พราหมณ์ทั้งหลายเอ๋ย พวกท่านเหยียดแขนข้างขวาออกมาเช่นนี้ เพื่อจะขออะไร จากเราหรือ"

"ข้าแต่สมมุติเทพ เพราะชนบทที่พวกข้าพระบาทอยู่นั้นฝนไม่ตก เกิดทุพภิกขภัย ชาวบ้าน อดอยากมากมาย ขอพระองค์โปรดพระราชทานช้างปัจจัยนาคตัวประเสริฐ เผือกผ่อง งาดุจงอนไถ อันเป็นช้างมงคลอุดม เป็นรัตนะเครื่องทำให้แว่นแคว้นของชาวสีพีเจริญ ตัวนี้ แก่พวกข้าพระบาทด้วยเถิด พระเจ้าข้า"

พระเวสสันดรทรงดำริด้วยพระทัยหนักแน่นว่า

"พราหมณ์ทั้งหลายหากขอสิ่งใดกับเรา เราย่อมให้สิ่งนั้นอย่างไม่หวั่นไหวใดๆ เราจะไม่ ซ่อนเร้น ของที่มีอยู่ ใจของเรายินดีในทาน เพราะเมื่อยาจกมาถึงแล้ว การห้าม การไม่ให้ ไม่สมควรแก่เรา การสร้างกุศลของเราอย่าถูกทำลายเสียเลย เราจะให้ช้าง ตัวประเสริฐนี้ แม้เป็นช้าง คู่บ้านคู่เมือง เป็นช้างราชพาหนะอันสูงสุด เราก็จะให้แก่พวก พราหมณ์ ผู้มาขอกับเรา เราไม่หวั่นไหวอะไรเลย"

แล้วเสด็จลงจากคอช้าง ทรงจับงวงช้างวางลงบนมือของพราหมณ์ ทำการหลั่งน้ำ จากเต้า ทองคำลงบนมือ พระราชทานช้างให้แก่พราหมณ์

เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว ความน่าสะพรึงกลัวขนพอง สยองเกล้า ได้บังเกิดขึ้น เพราะชาวนครสีพีได้ก่อกำเริบ พากันโกรธเคือง โดยทั้งพวก คนมีชื่อเสียงในเมือง พระราชบุตร พ่อค้า ชาวนา พราหมณ์ กองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ ชาวนิคม มาประชุมพร้อมพรั่งตกลงกัน กราบทูลแด่พระเจ้าสญชัยว่า

"ข้าแต่พระองค์ แว่นแคว้นของพระองค์ถูกกำจัดแล้ว เพราะพระเวสสันดร โอรสของ พระองค์ พระราชทานช้างมงคลของชาวเราไป อันเป็นช้างที่พวกเราสักการบูชา มีงา งอนงาม แกล้วกล้าสามารถ รู้จักเขตแห่งยุทธวิธีทุกอย่าง ฝึกดีแล้ว ย่ำยีศัตรูได้ เป็นช้าง เผือกผ่อง เป็นยานชั้นเลิศ เป็นทรัพย์อย่างประเสริฐยิ่งคู่เมือง

ทั้งๆ ที่พระเวสสันดรควรพระราชทานข้าว น้ำ ผ้านุ่งห่ม และที่นั่งที่นอน อันเป็นของสมควร แก่พราหมณ์ จึงจะถูกต้อง แต่ไฉนพระเวสสันครผู้ผดุงสีพีรัฐ กลับทรงพระราชทาน ช้างคู่บ้าน คู่เมืองไปเล่า ขอให้พระองค์ทรงขับไล่พระเวสสันดร ออกจากแว่นแคว้นนี้ ไปสู่เขาวงกตเสียเถิด หากพระองค์ไม่ทรงทำตามถ้อยคำของชาวสีพี เราทั้งหมดจะทำ พระองค์ และพระโอรส ให้ตกอยู่ในเงื้อมมือของพวกเราเสีย"

เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ พระเจ้าสญชัยจึงต้องส่งนักการไปบอกข่าวความไม่พอใจของชาวสีพี ที่ให้ขับไล่พระเวสสันดรออกจากแคว้นไปสู่เขาวงกต ครั้นพระเวสสันดรทรงทราบข่าว ก็มิได้เกิด จิตหวั่นไหวเลย ทั้งไม่หดหู่พระทัยแต่อย่างใด ทรงดำริว่า

"เราให้ดวงใจ ดวงตา เงินทอง แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์ หรือแก้วมณี อันเป็นทรัพย์ ภายนอกของเรา จะเป็นอะไรไปเล่า และเมื่อยาจกมาถึง หากเราได้เห็นแล้ว ก็จะให้ แขนขวา แขนซ้ายไป อย่างไม่หวาดหวั่นเลย เพราะใจเรายินดีในการสละเพื่อทำทาน แม้ชาวสีพีทั้งมวลจะขับไล่ จะฆ่าเราเสีย จะตัดเราเป็นเจ็ดท่อนก็ตามเถิด เราจะไม่งด การให้ทานเลย"

จากนั้นพระเวสสันดรทรงกระทำมหาทานอีก เพื่อแจกข้าวของ ก่อนออกเดินทางไปยัง เขาวงกต ขณะที่ทรงให้ทานอยู่นั้นเอง เสียงดังกึกก้องอึงมี่ก็เกิดขึ้น

"ชาวนครสีพีขับไล่พระเวสสันดรนี้ ก็เพราะการให้ทาน ก็แล้วพระองค์ยังจะมาให้ทาน อีกเล่า"

แต่พระเวสสันดร ก็ยังคงให้ช้าง ม้า รถ โค ทรัพย์ ทาส จนหมดสิ้น แล้วจึงออกจาก พระนครไป โดยทรงอุ้มชาลีกุมารไว้ ส่วนพระนางมัทรีทรงอุ้มกัณหาชินาติดตามไป

ทั้ง ๔ เป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ (ชาติผู้ดี) เกิดในสกุลสูง ได้เสด็จดำเนินไปตามป่าเขา หนทาง อันขรุขระ ด้วยความยากลำบากเสวยทุกข์อย่างยิ่ง รอนแรมมาจนถึง มาตุลนครแห่งเจตรัฐ

มหาชนเห็นทั้ง ๔ เสด็จมาอย่างไร้พระราชพาหนะเช่นนั้น จึงกราบทูลพระราชาของตน ให้ทรงทราบ เหล่าพระราชาและอำมาตย์ที่อยู่ในมาตุลนคร ต่างพากันมาเฝ้า พระเวสสันดร มุ่งหมายเพื่อมอบถวายพระราชสมบัติ ด้วยหวังให้พระเวสสันดร ประทับอยู่ ณ เจตรัฐ แต่พระเวสสันดรไม่ทรงรับ ยังคงจะเดินทางไปยังเขาวงกต ตามคำขับไล่ ของชาวสีพี

แล้วเสด็จไปตามเส้นทาง ที่พระเจ้าเจตราชทูลบอกไว้ จึงไปถึงภูเขาคันธมาทน์ เวปุลลบรรพต ฝั่งแม่น้ำเกตุมดี สานุบรรพต นาลิกบรรพต สระมุจลินท์ เข้าสู่ป่าหิมพานต์ จนกระทั่ง ถึงหลืบเขาวงกต

ณ เขาวงกต พระเวสสันดรและพระนางมัทรี แยกกันพักอยู่อาศรมคนละหลัง ต่างถือเพศ เป็นฤาษี ให้พระกุมารทั้งสองเป็นดาบสกุมาร พระเวสสันดรได้ทรงเตือนพระนางมัทรีว่า

"ตั้งแต่นี้ไป เราเป็นนักบวชแล้ว ธรรมดาสตรีย่อมเป็นมลทินแก่พรหมจรรย์ บัดนี้เธอ อย่ามาหาเรา ในกาลอันไม่สมควรเลย"

พระนางก็ทรงรับคำด้วยดี

"ดีแล้วพระเจ้าข้า แต่หม่อมฉันขอให้พระองค์ทรงดูแลเด็กๆ อยู่ที่อาศรมนี้เถิด ทุกๆ วัน หม่อมฉัน จะเป็นผู้ไปแสวงหาอาหารมาถวายให้เอง"

ตั้งแต่นั้นมา พระนางมัทรีก็เสาะหาผลไม้นานาชนิดจากป่ามาเป็นอาหาร นักบวชทั้ง ๔ อยู่กันที่เขาวงกตนั้นเอง จนกระทั่ง ๗ เดือนล่วงไป...

ช่วงเวลานั้น มีพราหมณ์ชาวกาลิงครัฐคนหนึ่งชื่อ ชูชก มีภรรยาสาวชื่อว่า อมิตตตาปนา ซึ่งนางมักถูกหญิงอื่นๆ รุมด่าค่อนแคะ ในเวลาที่ไปตักน้ำที่ท่าน้ำว่า

"พ่อแม่ของเจ้าคงเป็นศัตรูของเจ้าแน่ๆ ถึงได้ยกเจ้าซึ่งยังเป็นสาวรุ่นดรุณี ให้แก่ พราหมณ์เฒ่าปานนี้ ช่างไม่เกื้อกูลกันเลยหนอ เป็นความชั่วหนอ ลามกมากหนอ ไม่น่าพอใจหนอ ที่พวกญาติของเจ้าแอบปรึกษากัน ยกเจ้าให้พราหมณ์เฒ่า การที่เจ้า ต้องอยู่กิน ในเรือนของผัวแก่นั้น น่าจะตายเสียดีกว่าอยู่"

"นี่ ! แม่คนสวยคนงาม พ่อแม่เจ้าคงหาชายอื่นให้เป็นผัวเจ้าไม่ได้กระมัง รึเจ้าคงบูชายัญ ไว้ไม่ดี คงด่าว่าสมณพราหมณ์ผู้ทรงศีล ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ไว้แน่ๆ ฉะนั้นเจ้าจงกลับ ไปอยู่ที่ตระกูลญาติเถิด ผัวแก่จะทำให้เจ้ารื่นรมย์ได้อย่างไรกัน"

เมื่อกลับถึงเรือน นางจึงต้องระบายความอึดอัดกับพราหมณ์เฒ่า

คราวนั้นชูชกพราหมณ์จึงปลอบว่า

"เธอไม่ต้องทำงานเพื่อฉันหรอก ไม่ต้องตักน้ำให้ฉัน ฉันจะไปตักเอง เธออย่าโกรธเคืองเลย"

"ฉันไม่ได้เกิดในสกุลที่จะใช้สามีให้ตักน้ำ ท่านต้องนำทาสหรือทาสีมาให้ฉัน ตอนนี้มีข่าวว่า พระเวสสันดรฤาษีประทับอยู่เขาวงกต ท่านจะไปขอทาสและทาสีจากพระองค์เถิด พระองค์ จะพระราชทานให้แน่นอน"

เพราะชูชกพราหมณ์หลงเมียสาว กลัวนางอมิตตตาปนาจะไม่ชอบใจ แล้วหนีไปจากเรือน ไปหาชายอื่น จึงรีบรับคำ ตระเตรียมข้าวของ ออกเดินทางไปยังเขาวงกต แม้แก่ชราทุพพลภาพแล้ว ก็ยังอุตส่าห์เดินฝ่าป่าเขาที่เกลื่อนกล่นด้วยสัตว์ร้าย จนกระทั่งถึงเขาวงกต

ได้พบกับพระเวสสันดรที่อาศรม พราหมณ์เฒ่าจึงทูลขอดาบสกุมารทั้งสอง เพื่อให้ไป คอยรับใช้ภรรยาของตน พระเวสสันดรฤาษีทรงเกิดปีติโสมนัสยิ่งนัก ด้วยคิดว่า

"นานมากแล้ว ที่ไม่มียาจกมาหาเรา วันนี้เราจะบำเพ็ญทานบารมีไม่ให้เหลือเลย"

จึงกล่าวกับพราหมณ์ว่า

"เราจะให้ดาบสกุมารทั้งสองแก่ท่าน แต่หากท่านต้องการได้ทาสหญิงชายจำนวนมาก และทรัพย์อีกมหาศาล ก็จงนำดาบสกุมารทั้งสองนี้ไปยังกรุงเชตุดร แล้วพระเจ้าสญชัย จะพระราชทานสิ่งของต่างๆ เหล่านั้นให้ท่าน เป็นการไถ่ตัวพระกุมารทั้งสอง"

ชูชกพราหมณ์ดีใจ รีบมัดกุมารด้วยเถาวัลย์ แล้วฉุดกระชากลากตีดาบสกุมารทั้งสองไป ท่ามกลางเสียงร่ำไห้คร่ำครวญ พระเวสสันดรทรงเกิดสงสารลูกน้อยทั้งสองขึ้นจับใจ แต่ทันใด ก็ได้สติระลึกว่า

"การให้ทานไป แล้วเดือดเนื้อร้อนใจในภายหลังนั้น ไม่สมควรแก่พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้หวังโพธิญาณ จะเป็นพระพุทธเจ้าในภายหน้าเลย"

ทรงตำหนิตนแล้วจึงตั้งจิตไว้ว่า

"นับตั้งแต่เวลาที่เราให้ทานไปแล้วอะไรๆ ก็มิได้เป็นของเราอีกต่อไป"

แล้วทรงอธิษฐานกุศลสมาทานมั่นคง ประทับนั่งอยู่ที่ประตูอาศรม เป็นดุจรูปปั้นทองคำ ตั้งมั่นอยู่บนแผ่นหินฉะนั้น

ครั้นเมื่อพระนางมัทรีกลับมายังอาศรมในเวลาเย็น พร้อมด้วยผลไม้เป็นอาหาร ไม่ทรงเห็น ดาบสกุมารทั้งสอง จึงไปไต่ถามกับพระเวสสันดรฤาษี แต่พระฤาษีนั่งนิ่ง มิได้ตอบ คำใดเลย พระนางมัทรีจึงทรงเดินหาในบริเวณนั้น แต่ก็ไม่พบ ยิ่งเพิ่มความทุกข์เศร้าโศก คิดถึงลูกน้อยยิ่งขึ้น รีบออกค้นหาในป่าตลอดคืนนั้นเอง...

จนรุ่งสว่าง จึงกลับมายังอาศรมด้วยความอ่อนล้าและท้อใจ ถูกความโศกครอบงำ ร่ำไห้ คร่ำครวญล้มสลบลงบนพื้อดิน ณ แทบเท้าของพระเวสสันดรฤาษี

พระฤาษีจึงไปวักน้ำมาพรมให้ เมื่อพระนางฟื้นคืนสติขึ้น จึงตรัสให้รู้ว่า

"ดูก่อนมัทรี ฉันไม่ปรารถนาจะบอกเธอแต่แรกให้เป็นทุกข์ว่า พราหมณ์ยาจกเฒ่า มาสู่ ที่อยู่ของฉัน ฉันได้ให้ลูกทั้งสองแก่พราหมณ์นั้นไป เธออย่าร่ำไห้ อย่ากลัวเลย หากเรา ทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ คงจะได้พบลูกทั้งสองเป็นแน่ เธอจงอนุโมทนาในการให้ลูกเป็นทาน อันสูงสุด ของฉันเถิด เพราะสัปบุรุษ (คนมีสัมมาทิฐิ) เมื่อเห็นยาจกมาถึงแล้ว จะพึงให้บุตร ให้สัตว์เลี้ยง ให้ข้าว และทรัพย์อื่นๆในเรือน เป็นทานไป"

พระนางมัทรีทรงสะกดกลั้นอารมณ์ ปรับใจไปตามธรรมของพระฤาษี แล้วรับคำว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ หม่อมฉันขออนุโมทนาทานอันสูงสุดของพระองค์ พระองค์ ทรงบริจาคทานแล้ว จงยังพระหฤทัยให้เลื่อมใส ขอจงทรงบำเพ็ญทานให้ยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด เพราะในหมู่มนุษย์ทั้งหลายขึ้น มักเป็นคนตระหนี่"

ฝ่ายท้าวสักกะจอมเทพเทวดาผู้เป็นใหญ่ (เทวดาหมายถึงผู้มีใจสูง) ทรงมีดำริขึ้น ด้วยเกรงว่า จะมีบุรุษชั่วมาขอพระนางมัทรีเทวีไปเสียก่อน จึงแปลงเพศเป็นพราหมณ์ มายังอาศรมของพระเวสสันดรฤาษี แล้วกล่าวว่า

"ห้วงน้ำซึ่งเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ไม่มีเวลาเหือดแห้งฉันใด พระองค์ก็เป็นผู้มีน้ำพระทัย เต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาในทานฉันนั้น ข้าพระองค์มาที่นี้ เพื่อทูลของพระนางมัทรี กับพระองค์ ขอทรงโปรดพระราชทานพระนาง ให้แก่ข้าพระองค์ผู้ทูลขอเถิด"

พระเวสสันดรฤาษีทรงเลื่อมใสในการทำทานอยู่แล้ว จึงตอบว่า

"ท่านพราหมณ์ เรายอมให้ เราไม่หวั่นไหวเลย ท่านขอสิ่งใด เราก็จะให้สิ่งนั้น เราไม่ซ่อนเร้น สิ่งที่มีอยู่ ใจของเรายินดีในทาน เราให้พระนางมัทรีผู้มีศีล มีจริยาวัตรอันงามนี้แก่ท่านแล้ว"

พระนางมัทรีมิได้ทรงกริ้วโกรธใดๆ มิได้แสดงอาการขวยเขิน มิได้ทรงร่ำไห้อาลัยเลย ทรงยอมรับโดยดุษณีภาพด้วยอาการอันสงบเย็นยิ่งนัก ในขณะเมื่อพระเวสสันดรฤาษี ยกพระนางให้แก่พราหมณ์

วาระจิตนั้นเอง พระเวสสันดรฤาษีได้พิจารณาไปในธรรมว่า

"เราสละลูกชาลีและลูกกัณหาที่น่ารักน่าเอ็นดู ทั้งสละพระนางมัทรีผู้เคารพยำเกรงในสามี เรามิได้คิดเสียดายเลย ก็เพราะเหตุแห่งโพธิญาณเท่านั้น ลูกทั้งสองจะเป็นที่เกลียดชัง ของเราก็หามิได้ มัทรีเทวีไม่เป็นที่รักของเราก็หามิได้ แต่พระสัพพัญญุตญาณ เป็นที่รัก ของเรายิ่งกว่า"

ในขณะนั้นพราหมณ์ก็ได้กำหนดรู้จิตของพระฤาษี จึงอนุโมทนาว่า

"ข้าศึกทั้งหลาย ทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ พระองค์ทรงชนะได้หมดสิ้นแล้ว เกียรติศัพท์ของพระองค์จะระบือไปถึงไตรทิพย์ เพราะทรงให้สิ่งที่ให้ได้ยาก กระทำสิ่งที่ ทำได้ยาก คนเลวย่อมทำตามไม่ได้ ธรรมะของสัตบุรุษ (คนมีสัมมาทิฐิ) นั้น อสัตบุรุษ (คนมีมิจฉาทิฐิ) จึงนำไปได้ยาก ทางไปของสัตบุรุษจึงไปสวรรค์ ทางไปของอสัตบุรุษ จึงไปนรก

ข้าแต่พระราชฤาษี หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมเทพแปลงเพศมา ขอถวายพระนางมัทรี ให้คอยรับใช้พระองค์ที่นี้ เพราะมีแต่พระองค์เท่านั้น เป็นผู้สมควรแก่พระนาง และมีแต่ พระนางมัทรีเท่านั้น ที่คู่ควรแก่พระองค์"

จากนั้นท้าวสักกะจอมเทพก็เสด็จกลับไป

ฝ่ายชูชกพราหมณ์ เพราะด้วยความโลภอยากได้ทรัพย์และข้าทาสบริวารมากๆ จึงพา ดาบสกุมารทั้งสองไปยังกรุงเชตุดร แล้วก็ได้รับค่าไถ่ตัวกุมารทั้งสอง จากพระเจ้าสญชัย เป็นจำนวนมากมาย มีทาสทาสี ๑๐๐ โค ๑๐๐ ช้าง ๑๐๐ และทองคำอีกพันตำลึง

แล้วพระเจ้าสญชัยและพระนางผุสดี ก็ทรงสดับถึงเรื่องราวความยากลำบากต่างๆ ของพระเวสสันดรฤาษี กับพระนางมัทรีที่อาศัยอยู่ในป่า จากปากคำของพระกุมาร ทั้งสอง จึงทรงสลดพระทัย รับสั่งให้จัดทัพออกเดินทางไปยังเขาวงกต โดยมีพระกุมารทั้งสอง เป็นผู้นำทาง

เมื่อพระเจ้าสญชัยกับพระนางผุสดีเสด็จมาถึงอาศรม ได้พบหน้าพรั่งพร้อมกันอีกครั้ง ก็ทรงกันแสง สะอึกสะอื้น แล้วตรัสถามถึงทุกข์สุขกันอยู่

ขณะนั้นเอง ชาวเมืองสีพีที่ตามเสด็จมาด้วยจำนวนมาก ก็พร้อมใจกันประนมอัญชลี ถวายบังคม พระเวสสันดรฤาษี แล้วคร่ำครวญวิงวอนว่า

"ชาวสีพีพากันขับไล่พระองค์ผู้ไม่มีโทษ มีแต่ศีลและทานอันประเสริฐ ออกนอกพระนคร พวกข้าพระบาท ชื่อว่าได้ทำกรรมอันชั่ว ได้ทำลายความเจริญแก่แคว้นสีพี จึงขอให้ พระองค์ ทรงพระกรุณา โปรดเสด็จกลับไปเสวยราชสมบัติ เป็นพระราชา ผู้เป็นใหญ่ แห่งข้าพระบาททั้งหลายด้วยเทอญ"

พระเวสสันดรฤาษีทรงแย้มยิ้มอภัยให้ จึงเสด็จกลับสู่พระนคร เหล่าอำมาตย์ ข้าราช บริพาร พ่อค้า พราหมณ์ และประชาชนพากันยินดีทั่วหน้า พร้อมใจกันมาประชุมแวดล้อม รับเสด็จคับคั่ง

ครั้นพระเวสสันดรผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญ ผู้มีทานอันประเสริฐ ได้เสด็จกลับคืนสู่พระนคร แล้ว พระองค์ทรงรับสั่งให้ตีกลองประกาศทั่วพระนคร ถึงการปลดปล่อยสัตว์ทั้งหลาย ออกจากเครื่องจองจำให้หมดสิ้น ทรงกระทำมหาทานของพระองค์สืบต่อไป

................

พระพุทธองค์ตรัสชาดกนี้จบแล้ว ทรงกล่าวว่า

"พราหมณ์ชูชกในกาลนั้นคือพระเทวทัต ท้าวสักกะจอมเทพก็คือพระอนุรุทธะ พระเจ้า สญชัย ก็คือพระเจ้าสุทโธทนะ พระนางมัทรีก็คือ พระนางพิมพา ส่วนพระเวสสันดร ก็คือเราตถาคตนี่เอง"

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๘ ข้อ ๑๐๔๕
พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๙
อรรถกถาแปลเล่ม ๖๔ หน้า ๔๘๔
อรรถกถาแปลเล่ม ๗๔ หน้า ๑๕๓)

คนผู้ใดที่มีความเห็นว่า
ความมีทรัพย์สมบัติมาก
หรือความมียศศักดิ์สูง
เป็นเครื่องวัดผลสำเร็จของชีวิต
ก็เท่ากับคนผู้นั้นเห็นว่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนผิด
หรือเป็นคนโง่เง่า
เพราะพระองค์ท่านมีทรัพย์ก็ทิ้งทรัพย์
มีอิสริยยศ ก็ทิ้งยศ
แม้ใครใดจะมีทรัพย์รวยล้นฟ้า
มียศศักดิ์สูง ล้นแผ่นดิน
แต่ไม่มีศีล ไม่มีธรรม ไม่มีศาสนา
จะประเสริฐอะไร
ส่วนผู้มีทรัพย์ ไม่หลงทรัพย์
ไม่หวงทรัพย์
มียศ ไม่หลงยศ ไม่เบ่งอำนาจ
มีแต่ความเผื่อแผ่ ช่วยผู้อื่น
จนไม่เหลือความเห็นแก่ตัว
นั่นต่างหากคือ ความประเสริฐแท้
ชื่อว่าผู้มีศีล มีธรรม มีศาสนา
จะเรียกว่าศาสนาอะไรก็ได้
* สมณะโพธิรักษ์ (๒๖ ม.ค.๒๑)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๐ กันยายน ๒๕๔๗ -