คิดคนละขั้ว - แรงงาน ชาวหินฟ้า -
พระกับการเมือง

ดูเหมือนว่า เวลามีข่าวพระเข้าไปยุ่งกับการเมืองทีไร ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดภาพติดลบ มากกว่าจะเป็นบวก ทำให้การเมืองก็ยิ่งยุ่ง พระก็ยิ่งแย่ จึงแก้ปัญหา โดยพยายามกันพระ ไม่ให้เข้ามายุ่ง สุดท้ายก็อยู่แบบ ทางใครทางมัน เรื่องของพระก็อยู่กันแบบ "ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์" ไปๆ มาๆ ก็อาการหนักด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งในทัศนะ แบบนี้ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยได้เขียนบทความลงใน หนังสือพิมพ์มติชน สุดสัปดาห์ ช่วงเดือน กรกฎาคม ๒๕๔๗ ได้แสดงนัยที่แตกต่าง จากความเข้าใจของคนทั่วๆ ไป ดังนี้

เมื่อคุณทักษิณ ชินวัตร ประกาศว่าพระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ผมรู้สึกแปลกใจมาก เพราะท่าน อายุห่างจากผมพอสมควร คงรอดพ้นจาก ความเข้าใจ คับแคบอย่างนี้ ซึ่งเป็นสมบัติ ของคนรุ่นผมต่างหาก

ทฤษฎีเรื่องพระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้น ค้นไม่เจอในพระวินัยหรอกนะครับ กล่าวคือ ไม่มีบัญญัติ ห้ามข้อนี้เอาไว้ ควรหรือไม่ควร ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ก็ต้องไปขึ้นอยู่กับว่า การเมืองแปลว่าอะไร หรือนี่เป็นประเพณีของคณะสงฆ์ไทย ที่มีมาแต่โบราณกาล

พระราชพงศาวดารอยุธยา ซึ่งเขียนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พูดถึงสมเด็จพระพนรัตน์ เข้าไปขอชีวิตไพร่นาย ที่ติดตาม สมเด็จพระนเรศวร ไปไม่ทัน จนทรงตกอยู่ในวงล้อมข้าศึก และทรงทำยุทธหัตถี จนชนะข้าศึก สมเด็จพระนเรศวร ก็โปรดพระราชทานชีวิตตามที่ขอ อย่างนี้จะเรียกว่า "การเมือง" หรือไม่ ? คิดเฉพาะเรื่อง อำนาจทางการเมือง อย่างเดียว นะครับ เหล่าไพร่นายจำนวนมาก รอดชีวิตมาได้ เพราะสมเด็จพระพนรัตน์ ฉะนั้น จึงกุม ความจงรักภักดีของคนเหล่านั้น ไว้ได้อีกนาน จะเอาความจงรักภักดีนี้ ไปใช้ในทางไหนก็ได้

ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรหรือไม่ อาจแต่งกันขึ้นเอง ในสมัยต้น กรุงรัตนโกสินทร์นี้ก็ได้ ถึงกระนั้น ก็แสดงว่า ตอนต้น กรุงรัตนโกสินทร์ ยังไม่ได้คิดห้ามพระ ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

และอันที่จริงถ้าย้อนกลับไปอ่านหลักฐานฝรั่งในสมัยอยุธยาก็จะพบการยุ่งเกี่ยว กับการเมือง ของพระ เยอะแยะไปหมด นับตั้งแต่ นักการเมือง บวชเป็นพระ เพื่อใช้เป็น ฐานแย่งอำนาจ (หรือชิงราชสมบัติ) ไปจนถึงหนีราชภัยไปบวช หรือพระช่วยปกป้อง เชื้อพระวงศ์ บางองค์ ไม่ให้ถูกประหาร

ในปลายสมัยพระนารายณ์ บาทหลวงฝรั่งเศส คนหนึ่งรายงานว่า ภิกษุที่ลพบุรี ถึงขนาดจัด เดินขบวน ประท้วงโยบายเปิดประเทศให้ทหารฝรั่งเศสกันเลย

เมื่อตอนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระยาบรมมหา ศรีสุริยวงศ์ (ซึ่งได้ใช้กำลังปิดช่องล้อมวงทั้งในพระบรมมหาราชวัง และวังสราญรมย์ อันเป็นที่ประทับ ของพระราชโอรสองค์ใหญ่ ไว้เรียบร้อย ตามธรรมเนียมโบราณแล้ว) ได้เชิญคนสำคัญ ของแผ่นดิน มาประชุมกัน ได้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แล้วยังมีสมเด็จพระราชาคณะด้วย เพื่อจะตัดสินใจเลือกเจ้านาย ขึ้นครองราชสมบัติต่อไป จริงอยู่ในความเป็นจริงแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาฯ มีอำนาจสูงสุด จะเสนอเจ้านายองค์ใด ก็องค์นั้นไม่มีใครกล้าขัด แต่การประชุมเป็นพิธีกรรม ทางการเมือง เพื่อสร้างความชอบธรรม ทั้งแก่พระเจ้าแผ่นดิน องค์ใหม่ และแก่อำนาจของ สมเด็จเจ้าพระยาฯ เอง แต่ในการประชุม ทางการเมืองนั้น กลุ่มคนที่ขาดไม่ได้คือพระ

พระในสังคมไทยได้รับความเคารพนับถือและเชื่อฟังมาก อำนาจทางวัฒนธรรมของพระ จึงมีสูง และอำนาจ อันนี้ก็อาจถูกบุคคล หรือองค์กรสงฆ์ เบนมาใช้ ในทางการเมืองได้ ฉะนั้น พระในฐานะบุคคลก็ตาม สถาบันก็ตาม จึงอาจคุกคามอำนาจทางการเมือง ของผู้ปกครอง ได้อย่างน่ากลัว

ปัญหานี้ทุเลาลงในสมัยรัชกาลที่ ๕ หลังการปฏิรูปสงฆ์ พระเจ้าแผ่นดินในระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงมีพระราชอำนาจ เหนือสถาบันสงฆ์ และพระภิกษุ แต่ละองค์ ได้อย่างค่อนข้าง เด็ดขาด อย่างที่พระเจ้าแผ่นดินไทย ไม่เคยมีมาก่อน

ผมเดาว่าคติพระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการแผ่นดินแผ่นทรายคงจะเริ่มมีมานับตั้งแต่นี้ แต่การแผ่นดิน มีความหมาย แคบกว่าการเมือง เพราะหมายถึง เพียงอย่าทำอะไร ให้กระทบต่อ อำนาจของรัฐบาล

อย่างไรก็ตามจะตัดสินอย่างไรว่าการแผ่นดินอะไรที่ธรรมะไม่ควรเข้าไปเกี่ยว ไม่ใช่เรื่องง่าย นะครับ ถ้าพระเทศน์ ให้จับอาวุธขึ้นสู้กับทหารรัฐบาล อันนี้ผิด ทั้งพระวินัย และอาญา บ้านเมืองแน่ แต่ถ้ารัฐบาลดำเนินนโยบายที่ขัดต่อหลัก พระพุทธศาสนา (เช่น ฆ่าตัดตอน คนที่ถูกกล่าวหาว่า พัวพันกับยาเสพติด) พระท่านก็เทศน์ ชี้โทษของการฆ่า และ การแก้ ปัญหา โดยขาดความเคารพต่อชีวิตอย่างนี้ จะถือว่าเป็นการแผ่นดิน แผ่นทรายหรือไม่ ในเมื่อการทำชีวิต ให้ตกไปนั้น ขัดกับคำสอนของ พระพุทธเจ้าแน่

ผมเข้าใจว่ารัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่กล้าตัดสินออกมาชัดๆ ในเรื่องนี้ ฉะนั้นจึงมี ความพยายาม จะหาเหตุผลทางศาสนาให้แก่การกระทำ ของตนเองเสมอ เพื่อปิดปากพระ หรือโน้มน้าวให้พระไม่ต่อต้าน เช่นในสมัย ร.๖ ก็ต้องระดมพระ และฆราวาสหลายรูป และคนเพื่อออกมาเขียน หรือพูดเพื่อชี้ให้เห็นว่า การเข้าร่วม สงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้น ไม่ขัดกับ หลักของพระศาสนา รวมทั้งทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง ธรรมาธรรมะสงครามด้วย พระก็ต่อต้านน้อย หรือแทบจะไม่ได้ต่อต้านเลย จะเป็นเพราะเชื่อ หรือกลัวก็ตามเถิด แต่ประเด็นก็คือ ถึงใจจะคิดอยากห้าม ไม่ให้พระยุ่งเกี่ยวกับ "การเมือง" ซึ่งเขาหมายความ ในตอนนั้น คืออำนาจรัฐเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้ห้าม ออกมาตรงๆ ความพยายามของ ชนชั้น ปกครอง ในการกีดกันพระออกไปจากการเมืองนั้น สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ จึงเหลือแต่ป้องกัน ไม่ให้ไปขัดขวาง หนทางแห่งอำนาจ ของตัวเท่านั้น เช่น ไปทำอะไรอะไร ที่จะช่วยให้ศัตรู ทางการเมือง ของตนได้เปรียบ หรือบ่อนทำลาย อำนาจของตัว

แต่ถ้าพระจะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในทางส่งเสริมอำนาจของเขา อย่างนั้นก็ยุ่งกับ การเมืองได้ ไม่เฉพาะแต่คุณทักษิณ เท่านั้นที่พอใจเมื่อพระบางรูป พูดสนับสนุนตนเอง ในสมัย สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งไม่อยากให้พระยุ่งการเมือง แผ่นดินแผ่นทราย ก็พอใจหรือส่งเสริม ให้พระเทศน์ท้องเรื่อง "ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น" เหมือนกัน

อันที่จริง ถ้าพระเข้าไปยุ่งกับการแย่งอำนาจ ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายที่ถืออำนาจในมือ หรือฝ่าย ที่ต้องการแย่งอำนาจ จากมือคนอื่น คำถามที่น่าจะถามก็คือยุ่งทำไม ถ้ายุ่งเพื่อตัว จะได้มี ส่วนแบ่ง ของอำนาจบ้าง ก็จริงอย่างที่คุณทักษิณพูด นั่นก็คือ สึกออกมา แย่งอำนาจกัน ตรงไปตรงมาเลยดีกว่า เพราะอำนาจของพระ ควรเป็นอำนาจ ทางศีลธรรม แต่เราไม่อาจ แยกอำนาจ ทางศีลธรรมออกไปจากอำนาจทางการเมือง หรือเศรษฐกิจ หรืออะไรอื่นได้ เช่นเดียวกับ การแย่งอำนาจทางการเมือง ก็มีมิติทางศีลธรรม แฝงอยู่อย่างสำคัญ (ที่การเมืองไทยแย่อย่างนี้ ก็เพราะมิตินี้มันแทบไม่ได้แฝงอยู่เลย) เนื่องจากกติกา ทางกฎหมาย หรือแรงกดดันทางสังคมอย่างเดียว ไม่เพียงพอ เป็นต้น ว่าการไม่ซื้อเสียง ไม่ได้เกิดจาก กกต. ที่เข้มแข็งเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากความเลื่อมใส สิ่งที่ถูกต้อง และเป็นธรรม ซึ่งเป็นความรู้สึกทางศีลธรรม ทั้งของคนซื้อ และคนขาย

ด้วยเหตุดังนั้น พระจึงควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างยิ่ง แต่ยุ่งเกี่ยวเพื่อนำเอาธรรมะ เข้าไปสู่ การเมือง เช่นเดียวกับพระควรยุ่งเกี่ยวกับ การทำธุรกิจ การสื่อสาร; การบริโภค, การพลังงาน, การศึกษา, ศิลปวัฒนธรรม, กามารมณ์, หรือความสัมพันธ์ทางสังคม ทุกชนิด ฯลฯ

เพราะทั้งหมดเหล่านี้ล้วนมีมิติทางศีลธรรมที่เราควรพิจารณาทั้งสิ้น ความเสื่อมโทรมของ สิ่งเหล่านั้น ในเมืองไทยนั้น ส่วนหนึ่ง ก็มาจาก การที่เราตัดมิติ ทางศีลธรรม ออกไปโดย สิ้นเชิง และพระไม่ค่อยยอมเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นเอาเลย

เทศนาของท่านจึงลอยอยู่ในสุญญากาศ ฟัง "เอาบุญ" โดยไม่สามารถเอาไปใช้ เพื่อให้ เกิดบุญ ที่แท้จริงขึ้นได้ ตรงกันข้ามกับคำปราม ของคุณทักษิณ ผมคิดว่า พระควรยุ่งเกี่ยว ให้มาก กับการเมืองและเรื่องอื่นๆ ในเชิงสังคม แต่ต้องมีสติกำกับว่ายุ่งทำไม แล้วจึงจะรู้ว่า ควรยุ่งอย่างไร

....................................

การแสดงความเห็นของอาจารย์นิธิ ในครั้งนี้ออกจะสอดคล้องกับความเห็นของ ประชาชน ส่วนใหญ่ ซึ่งสวนดุสิตโพลล์ ไปสำรวจมา ปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เอาด้วยกับ ความคิด จะออกคำสั่ง ห้ามพระเทศน์การเมือง ของรัฐบาล

ผลสำรวจร้อยละ ๕๔.๕๘ ไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลชัดเจนว่าพระสงฆ์เป็นคนกลุ่มหนึ่ง ในสังคม ที่ควรจะเปิดโอกาส ให้แสดงความคิดเห็น มีถึงร้อยละ ๖๓.๘ ที่เห็นว่า การเทศน์ ในเรื่องการเมือง ของพระสงฆ์ เป็นการเตือนสติ และชี้แนะให้ประชาชน เข้าใจการเมือง มากขึ้น มีเพียงร้อยละ ๓๖.๖๒ ที่เห็นว่า การเมืองไม่ใช่ กิจของสงฆ์

ส่วนประเด็นที่จะให้พระเขียนสิ่งที่จะเทศน์ไปให้หน่วยงานของรัฐ ตรวจก่อนเทศน์นั้น ผลสำรวจ ร้อยละ ๖๖.๑๕ เห็นว่าไม่เหมาะ

บทสรุป ปัญหาของโลกและของสังคมทุกวันนี้ เกิดจากการขาดแคลนคุณธรรม และ ศีลธรรม เป็นสำคัญ จนท่านพุทธทาสได้ฟันธงว่า "ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ" เรื่องของการเมือง การค้า การศึกษา หรือด้านสังคมก็ตาม ที่มีปัญหาวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะกลุ่มคนในด้านนั้นๆ ไร้ศาสนา หรือคุณธรรมนั่นเอง

แม้ในแวดวงศาสนา ก็อาจจะเต็มไปด้วยปัญหา ถ้าในแวดวงนั้นๆ เต็มไปด้วยโลกธรรม มากกว่าคุณธรรม ที่เคยเชื่อถือกันมานานว่า คนที่ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว ย่อมเป็นคนดี เป็นบัณฑิต หรือเรียกกันว่า "ทิด" แต่การบวชทุกวันนี้ อาจไม่เป็นอย่างเช่นที่เคยเชื่อถือ กันมานานก็ได้ เพราะเป้าหมาย การบวชของคน ทุกวันนี้ ไม่ได้มีเป้าหมาย เพื่อมาลดละ กิเลส ทำตนให้พ้นทุกข์ เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ดังเช่นที่เป็นมา การบวชดีหรือไม่ดี จึงขึ้นอยู่กับว่า บวชเข้ามาเพื่ออะไร ไม่ใช่ไปตัดสินกันที่ "การบวช"

ดังนั้น พระควรยุ่งกับการเมือง หรือไม่ควรเข้ามายุ่ง คงต้องพิจารณากันที่ว่า พระเข้ามายุ่ง เพื่ออะไร ? ไม่ใช่ว่า ยุ่งแล้วเสียทุกทีไป ถ้าเข้ามาเพื่อนำเอาธรรมะ เข้าสู่การเมือง หรือ ทำการเมือง ให้มีคุณธรรมดีขึ้น ก็ย่อมเป็นหน้าที่ของพระเท่านั้น ที่จะทำได้ แต่ถ้าพระ เข้ามาเพื่อแก่งแย่ง แสวงหาอำนาจ และผลประโยชน์ ก็สมควร ที่จะสึกออกมาดีกว่า อย่างที่ท่านนายกฯว่า

สุดท้ายขอฝากวาทะของมหาตมะ คานธี รัฐบุรุษของโลกที่ท่านได้กล่าวเอาไว้ว่า

"ถูกแล้วคุณ... ผมเป็นนักการศาสนา แต่คุณจะว่าผมหลงทางเข้ามาในวงการเมืองไม่ได้ นักการศาสนา จะต้องต่อต้านความไม่มีศาสนาในทุกแห่งหน ที่เขาได้พบเห็น แต่ในยุค ปัจจุบัน ความไม่มีศาสนา ได้เข้าไปยึดการเมืองไว้ เป็นป้อมปราการอันสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้น ผมจึงต้องเข้าไปในวงการเมือง เพื่อต่อต้านความไม่มีศาสนา สำหรับผมแล้ว... การเมืองที่ปราศจากหลักธรรมทางศาสนา เป็นเรื่องของความโสมม ที่ควรสละละทิ้งเสีย เป็นอย่างยิ่ง การเมืองเป็นเรื่อง ของประเทศชาติ และเรื่องที่เกี่ยวกับ สวัสดิภาพ... ต้องเป็น เรื่องของผู้มีศีล มีธรรมประจำใจ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องนำเอาศาสนจักร ไปสถาปนาไว้ ในวงการเมืองด้วย"

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๐ กันยายน ๒๕๔๗ -