ติดเชื้อนายทุน (กกัณฎกชาดก)


กิ้งก่า ได้ทรัพย์ ชูหัว
ลืมตัว หลงเงิน เป็นใหญ่
ติดเชื้อ นายทุน เจาะใจ
นิสัย พึ่งเงิน เพื่อเงิน

ณ ธรรมสภา ภิกษุทั้งหลายประชุมกันอยู่ แล้วได้เอ่ยถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

"ดูก่อนท่านทั้งหลาย พระศาสดาของพวกเรานั้น เป็นผู้มีพระปัญญาใหญ่พระปัญญากว้างขวาง พระปัญญาร่าเริง พระปัญญาลึกซึ้ง พระปัญญาดุจแผ่นดิน พระปัญญาแหลมคม พระปัญญาว่องไว พระปัญญาแทงตลอด สามารถย่ำยีวาทะของคนอื่นได้ พระองค์ทรงกำจัดกิเลสของคนเป็นอันมาก แล้วให้ตั้งอยู่ในมรรคผล"

ขณะนั้นเอง พระศาสดาเสด็จมา เหล่าภิกษุจึงทูลเรื่องที่สนทนากันอยู่ให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสตอบว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ปัจจุบันนี้เท่านั้นที่ตถาคตมีปัญญามาก แม้ในอดีตชาติ ก็เป็นผู้มีปัญญา มากเหมือนกัน"

เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลขอร้องให้เล่า พระศาสดาจึงตรัสเรื่องนั้นให้ฟัง
_ _ _ _ _ _


ในอดีตกาล มีพระราชาพระนามว่าวิเทหะ เสวยราชสมบัติในกรุงมิถิลาแห่งแคว้นวิเทหะ ทรงมีผู้เป็น ยอดแห่งบัณฑิต เป็นที่ปรึกษานามว่า มโหสถ

มีอยู่วันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปพระราชอุทยานกับมโหสถบัณฑิต พร้อมด้วยบริวารติดตาม

ขณะเสด็จชมพระราชอุทยานอยู่นั้น พลันมีกิ้งก่าตัวหนึ่ง พอมันเห็นพระราชาเสด็จมา ก็รีบคลาน ลงจากเสาค่าย ที่เกาะอยู่ แล้วมาก้มหัวหมอบที่พื้นดินข้างทางเสด็จ

พระราชาทอดพระเนตร กิริยาของกิ้งก่าเช่นนั้น จึงตรัสถามมโหสถบัณฑิตว่า
"แน่ะ ! กิ้งก่าตัวนี้ทำอะไรของมันเล่า"
"กิ้งก่าตัวนี้มาหมอบถวายตัวแก่พระองค์ พระเจ้าข้า"
พระเจ้าวิเทหราชทรงพอพระทัยนัก ถึงกับตรัสว่า
"แม้มันจะเป็นสัตว์ดิรัจฉาน แต่การถวายตัวด้วยอาการนอบน้อมอย่างนี้ก็มีผล ฉะนั้นราชบุรุษ (คนของพระราชา) จงให้ทรัพย์สมบัติแก่กิ้งก่าตัวนี้"
แต่มโหสถกราบทูลเตือนว่า
"กิ้งก่ามิใช่ต้องการได้ทรัพย์ ควรพระราชทานเพียงแค่ของกินก็พอ พระเจ้าข้า"
"แล้วมันกินอะไรกัน"
"มันกินเนื้อ พระเจ้าข้า"
"จะต้องกินมากน้อยสักเท่าใด"
"ก็เป็นเนื้อราคาราว ๑ กากณึก (เงินเหรียญมีค่าน้อยสุด เท่ากับค่าของชิ้นเนื้อที่กาพอคาบไปได้) พระเจ้าข้า"
พระราชาจึงตรัสสั่งราชบุรุษว่า
"รางวัลทรัพย์ ๑ กากณึกนั้นไม่ควร เจ้าจงหาเนื้อราคา ๑ กากณึกให้กิ้งก่าตัวนี้ได้กินทุกวัน"
ราชบุรุษรับพระราชโองการ แล้วกระทำตามนั้นอย่างสม่ำเสมอ

กระทั่งวันหนึ่ง เป็นวันอุโบสถ (วันพระ) ซึ่งคนทั้งหลายล้วนงดเว้นการฆ่าสัตว์ ราชบุรุษหาซื้อเนื้อสัตว์ ไม่ได้ จึงนำเอาเงินเหรียญกึ่งมาสก (๒๐ สตางค์) มาเจาะเป็นรู แล้วใช้ด้ายร้อยผูกเป็นเครื่องประดับไว้ ที่คอกิ้งก่า

นับแต่วันนั้น...กิ้งก่าก็หลงทรัพย์ที่ได้มาห้อยคอ มีนิสัยถือตัวชูหัวเย่อหยิ่ง โอ้อวดเหรียญกึ่งมาสกนั้น เสมอๆ

และแล้วอยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชได้เสด็จมาที่พระราชอุทยานอีก ครานี้แม้กิ้งก่าจะเห็นพระราชา เสด็จมา ก็ยังคงเกาะอยู่ที่บนเสาค่าย ทั้งยังเชิดหน้าชูหัว อวดเหรียญกิ่งมาสกนั้น ด้วยความคิด ยกตน ตีเสมอพระราชา

"พระองค์มีพระราชทรัพย์มากก็จริง แต่ตัวเราก็มีทรัพย์มากเหมือนกัน"
แล้วก็ส่ายหัวไปมา อยู่บนยอดเสาค่ายนั้น เมื่อพระราชาได้ทอดพระเนตรกิริยาของมัน จึงตรัสถามขึ้น

"เอ๊! วันนี้ทำไมกิ้งก่าไม่ลงมาหมอบอ่อนน้อมเหมือนครั้งก่อนๆ มโหสถบัณฑิตรู้หรือไม่ ไยมันจึงมีอาการ กระด้างเยี่ยงนี้เล่า"

มโหสถพิจารณาดูกิ้งก่าแล้ว ก็รู้ได้ด้วยปัญญาของตนทันที จึงกราบทูลว่า
"กิ้งก่าตัวนี้มีทรัพย์กึ่งมาสกห้อยคอ ลุ่มหลงในทรัพย์ที่ได้มา ซึ่งมันไม่เคยได้ จึงดูหมิ่นต่อพระองค์ ผู้ครองกรุงมิถิลา พระเจ้าข้า"

พระราชาทรงสดับคำตอบเช่นนั้น จึงเรียกราชบุรุษมาซักถาม ก็ได้รับความจริงตรงดังคำของมโหสถ ทำให้เลื่อมใส ในสติปัญญาของมโหสถยิ่งนัก ด้วยทรงคิดว่า

"มโหสถไม่ได้ถามอะไรกับใครๆ เลย แต่สามารถรู้นิสัยและจิตใจของกิ้งก่าได้อย่างถูกต้อง"

ดังนั้น ทรงพระราชทานส่วย (เงินภาษี) ที่เรียกเก็บค่าผ่านประตูเมืองทั้ง ๔ แก่มโหสถบัณฑิต แต่กริ้ว กิ้งก่าที่นิสัยเปลี่ยนไป รับสั่งจะให้ฆ่าทิ้งเสีย มโหสถจึงได้ทูลทัดทานพระราชาไว้

"ธรรมดาของสัตว์ดิรัจฉานนั้น ย่อมโง่เขลาไร้ปัญญา ติดหลงในทรัพย์ ขอพระองค์โปรดประทาน อภัยโทษ ให้แก่มันเถิดพระเจ้าข้า"
_ _ _ _ _ _ _

พระเจ้าวิเทหราชจึงทรงยกโทษให้แก่กิ้งก่านั้น
ครั้นพระศาสดาทรงนำชาดกนี้มาตรัสเล่าแล้ว ก็ทรงเฉลยว่า
"พระเจ้าวิเทหราชในครั้งนั้น ได้มาเป็นกาฬุทายีภิกษุในบัดนี้ ส่วนมโหสถบัณฑิตก็คือเราตถาคตในบัดนี้"

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๘๙
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๗ หน้า ๑๒๒
อรรถกถาแปลเล่ม ๖๓ หน้า ๓๕๗)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ -