ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ - สมณะโพธิรักษ์ - (ต่อจากฉบับที่ ๑๗๐)อาตมาจะไม่วิจารณ์วิจัยไปมากกว่านี้แล้วสำหรับเรื่องของมหายาน เพราะยังเป็นเรื่องไกลตัว ไว้ในโอกาส ที่จำเป็นจะต้องพูดถึงก็ค่อยว่ากันในตอนนั้น ส่วน"หินยาน"หรือ"เถรวาท"นั้น ยึดหลักคำสอนที่ว่า "อย่าพร่าประโยชน์ตน เพราะเห็นแก่ ประโยชน์ ผู้อื่น แม้มาก" แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจพุทธพจน์นี้ อย่างสัมมาทิฏฐิ หนักเข้าก็เอียงเอนไปข้าง "มุ่งแต่ประโยชน์ตน - ละเลยประโยชน์ผู้อื่น" เป็นจุดเด่นเป็นกิจนำ ยิ่งนานวันก็ยิ่งเลยเถิด จนกลายเป็น สุดโต่งไปข้าง "ทำแต่ประโยชน์ตน-ละเลยประโยชน์ผู้อื่น" ที่เสียหายสำคัญก็คือ ประโยชน์ที่ได้ก็ ไม่เป็น"ปรมัตถ์" (เนื้อหามรรคผลขั้นโลกุตระ) จึงได้ ประโยชน์ อย่างเก่ง อย่างสูงก็แค่ในวงจรของ "โลกีย์" เท่านั้น แม้ชาวหินยาน หรือชาวเถรวาททุกวันนี้ จะเชื่อกันว่า "ตนได้มรรคผล" ก็ตาม ก็เป็น "มิจฉามรรค-มิจฉาผล" หรือได้แค่"โลกียผล"กันเกือบทั้งนั้น ออกนอก "โลกุตรผล" ไปจนเกือบจะไม่เหลือแล้ว เพราะ "ทิฏฐิ" เพี้ยนออกไปเรื่อย จากความเห็น ที่โต่งไปข้าง "ประโยชน์ตน" นั่นเอง เหตุที่เป็นดังนี้ก็เพราะ..การละเลยประโยชน์ผู้อื่น จิตจึงโน้มไปข้างไม่สอนผู้อื่น ไม่ช่วยผู้อื่น เอาแต่ตัวเอง "คำสอน"ที่จะถ่ายทอดแก่ผู้อื่นก็น้อยลง การบอกแจ้งยืนยัน "ความจริง"ก็น้อยลงๆๆ ยิ่งนานจึงยิ่งเพี้ยน ยิ่งไม่รู้ความจริงกัน... หนักหนาสาหัสจนถึงขั้นสุดโต่งไปเป็นว่า ถึงใครจะบรรลุแล้ว ก็อย่าบอกผู้อื่น อย่าแสดง อย่าอวดอุตตริมนุสสธรรมใดๆ ใครอยากรู้ก็ให้ดูให้สังเกตเอาเอง ถ้าผู้ใดขืนบอกขืนอวด ว่าตนบรรลุ ก็เท่ากับผู้นั้นแหละ คือผู้ไม่บรรลุ ว่ากันถึงขั้นนี้ทีเดียว ทั้งๆที่ตามธรรมตามวินัย ก็อนุญาต ให้บอกได้สอนได้แสดงได้อวดได้ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตั้งหลัก ตั้งเกณฑ์ให้แสดง ให้อวดได้ มิใช่ฟันธง เลยว่า ขืนใครอวด ก็ระบุเปรี้ยงเลยว่า คนผู้นั้นก็คือ คนไม่บรรลุแน่ๆ โดยให้เหตุผลเสียด้วยนะว่า ผู้บรรลุธรรมจะ "ไม่อยากอวดอยากแสดง" เด็ดขาด เพราะท่านหมดกิเลสที่จะอยากอวดแล้ว ดังนั้น ถ้าใครอวด ใครแสดง ก็เหมาเลยว่า คือ ผู้ยังมี "ความอยาก" เพราะฉะนั้น ผู้แสดงก็คือ ผู้ยังมีกิเลส นี่คือ การสอนการอธิบายของท่านผู้รู้อาจารย์สมัยนี้ ได้พูดตีกรอบแข็งแรง กันคนไม่ให้แสดง ไม่ให้ยืนยัน คุณธรรมขั้นสูง ขั้นคุณวิเศษในตน ถึงขนาดนี้ทีเดียว พูดอย่างนี้ ไม่ว่าพระพุทธเจ้าหรือพระมหาสาวกทั้งหลาย ก็เลยถูกตู่ว่าเป็นผู้มีกิเลส มี "ความอยาก" เหมารวมไปหมด ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าก็อวดก็แสดง พระสาวก มหาสาวกสัตบุรุษทั้งหลาย ก็อวดก็แสดง มีตัวอย่าง หลักฐาน ยืนยันในพระไตรปิฎกมากมาย ก็เพราะท่านอวด ท่านแสดง "ความจริงแห่งคุณวิเศษของพุทธ" อันเป็นอุตตริมนุสสธรรม ให้รู้กันจะจะ รู้กันแจ้งๆ บอกตนบอกตัวกัน เป็นปกติว่า ฉันบรรลุโสดาบัน ท่านผู้นี้บรรลุอรหันต์ หรืออวดธรรมะที่เป็นอาริยะ ที่ท่านมีท่านบรรลุว่า เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ อะไรต่างๆ ดังนี้ เป็นต้น จึงสืบทอด ศาสนาให้ยืนยาวมา จนถึงทุกวันนี้ แต่เพราะสอนผิดดังที่ว่ามานั้น จึงเข้าใจผิดกันมาเรื่อย คนก็ไม่สามารถรู้ ว่า ใครบรรลุ ใครไม่บรรลุ หรือธรรมะที่แท้ของพุทธ เป็นอย่างไร ก็เลยได้แต่ เดาเอาเอง ว่า ท่านผู้ใดหนอคือผู้บรรลุ อาริยธรรม จะเป็น อย่างไร ก็ได้แต่คาดคะเนเอา ก็ผู้ไม่รู้นั่นแหละเดากันไปเรื่อย ทำความเข้าใจเอาเอง สะเปะสะปะ เพราะถูกห้ามเสียแล้ว ไม่ว่าใครก็ไม่ให้อวดไม่ให้แสดง ว่า ตนคือผู้บรรลุธรรมใด อย่างไร ห้ามเด็ดขาด กันแล้วนี่ การต้องเดาเอา..ตลอดมา เพราะไม่รู้ว่าผู้เทศน์ผู้บรรยายคนไหนคือผู้บรรลุจริง คือพระ อาริยะแท้ คนไหนไม่แท้ คำสอนเช่นนี้ จึงทำให้คน ต้องเดาผิด เดาถูก กันเรื่อยมา ผู้ฉลาดที่ไม่บรรลุนั่นแหละ ที่สามารถสอนให้คนเชื่อตามได้มาก และผู้ฉลาดที่มีกิเลสนี้แหละคือ ผู้ที่ทำให้คำสอนของ พระพุทธเจ้า ผิดเพี้ยนไป ได้เก่ง ได้มากกว่าผู้กิเลสน้อยและไม่ฉลาด "คนผู้บรรลุจริง" ที่ไม่มีความฉลาดแบบโลกีย์มีไม่น้อยเลย และปัญญาที่บรรลุโลกุตรธรรม ก็ไม่ใช่ปัญญา แบบเดียวกันกับความฉลาด แบบโลกีย์ด้วย ดังนั้น ผู้ไม่บรรลุแต่ฉลาด ที่สามารถสอนได้เก่ง หรือพูด ให้น่าเชื่อถือได้มากกว่าผู้ที่บรรลุธรรม ก็มีอยู่เป็นธรรมดา คนที่เทศน์หรือสอนได้ไพเราะ น่าฟัง ประเล้า ประโลมใจ สอนแต่เรื่องที่"ไม่ทวนกระแสใจ-ไม่ขัดใจเกลาใจ" จะได้รับความนิยม ถึงขั้นได้รับความเชื่อถือ ยิ่งกว่าผู้ไม่ฉลาด ที่บรรลุธรรมและสอนเรื่องที่ "ทวนกระแสใจ" (ปฏิโสต) ที่ "ขัดใจเกลาใจ" (สัลเลข) เสียด้วยซ้ำ ความไม่สัมมาทิฏฐิ หรือความผิดเพี้ยนจากพุทธธรรมที่ถูกแท้ เกิดขึ้นได้ด้วยประการฉะนี้ มากกว่ามาก เพราะเหตุแค่ไม่มีการยืนยัน จากผู้บรรลุจริง ก็ทำให้คำสอน ผิดเพี้ยนได้เช่นนี้แล การไม่ได้ฟังธรรมของผู้บรรลุจริง และยืนยันจากผู้บรรลุจริง จึงก่อความเสียหายเรื่อยมา พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้มากมายว่า ให้คบสัตบุรุษ แล้วฟังธรรมจากท่าน ธรรมที่สัตบุรุษ แสดง ย่อมเป็น สัทธรรม ผู้บรรลุจริงท่านเป็นสัตบุรุษจริง มีสัปปุริสธรรม ๗ ท่านจะมีการกะการประมาณ มีมัตตัญญุตา ได้เองแหละว่า โอกาสไหนเวลาใดควรแสดงควรอวดเพราะท่านมีกาลัญญุตา ท่านย่อมรู้ว่า จะแสดง แค่ไหน อวดแค่ใดจะพอดีสำหรับกลุ่มหมู่คณะนั้นคณะนี้ เพราะท่านมีปริสัญญุตา หรือกับบุคคลใด จะแสดงได้อวดได้ หรือไม่ แค่ไหน ท่านก็มีปุคคลปโรปรัญญุตา ท่านจะรู้เองจริงๆว่า การบอก การแสดง นั้น ควรอวดควรแสดง หรือไม่ควรอย่างไร แค่ไหน และท่านก็ไม่ได้ อยากอวด อยากแสดง เพราะกิเลส แน่นอน แต่ท่านมี ฉันทะที่อยากจะทำสิ่งดีประดามี ให้แก่โลกนั่นต่างหาก ความหลงสุดโต่งไปข้าง "เห็นแต่แก่ประโยชน์ตน ไม่ทำประโยชน์ผู้อื่น" ก่อให้เกิดความผิดเพี้ยน มาตาม ความยาวนานของกาละ เหตุใหญ่เพราะ คำแนะนำ สั่งสอนตามๆกันมาของอาจารย์ ที่ไม่บรรลุธรรม นั่นเอง เป็นอันมาก เพราะถึงอย่างไร ก็ยังมีผู้ "ไม่บรรลุธรรม" นั่นแหละตัวสำคัญที่สอน และอยากสอน แน่ๆ ซึ่งแน่ยิ่งกว่าแน่อีกด้วยว่ายัง "มิจฉาทิฏฐิ" อยู่ กล่าวคือ ทิฏฐิที่ "ไม่สัมมา" มันย่อมพาหลงผิดไปเรื่อย กระทั่งกลายเป็นเข้าใจในความเป็น "ประโยชน์ตน" ก็ผิดเพี้ยนไปจาก โลกุตรสัจจะ หนักเข้า "ภูมิธรรม" ก็วนตื้นคืนกลับมาสู่ "ภูมิโลกีย์" อันเป็นวิสัยโลก สามัญอย่างเดิม จึงปฏิบัติให้เกิด "ประโยชน์ตน" ที่เป็นปรมัตถธรรมขั้นโลกุตระ ไม่เป็น ไม่ถูกต้อง ตามสัจจะของพุทธ เป็นต้นว่า เข้าใจ "ความสงบ"ที่เป็นปรมัตถธรรมผิดไป โดยไปเห็นบรรยากาศสิ่งแวดล้อม ที่เงียบ ที่ไม่มีอะไร รบกวนโน่นว่า เป็น "ความสงบ" อันพึงได้ ซึ่งความสงบ ที่เป็นมรรคผล อันมนุษย์พึงได้นั้น มันมิใช่"สถานที่เงียบเสียง" มิใช่ "ป่าเขาถ้ำ" ที่เงียบสงบ ไม่มีผู้คนจุ้นจ้าน ตามที่มันเป็นอย่างนั้น อยู่แค่นั้น ต้องทำความเข้าใจดีๆว่า สภาพ"มรรคผล"มิใช่วัตถุ มิใช่สถานที่ มิใช่สิ่งภายนอก แต่มันหมายถึง ภายใน "จิตวิเวก-อุปธิวิเวก" นั่นต่างหากคือ "ความสงบ" ที่เป็นมรรคผล มิใช่"กายวิเวก" เด็ดขาด ต่อให้ "สถานที่ เงียบเสียงสนิท-ป่าสงัด-กายนิ่งแข็ง ไร้ความรู้สึก" ปานใดก็เป็นภาวะ "ความสงบของกายวิเวก" เท่านั้น มันก็เป็นของมันตามประสาวัตถุหรือรูปธรรมที่อยู่ในขณะสงบ ซึ่งมิใช่มรรคผล อันเกิดในจิต ที่เป็น นามธรรมเลย เพราะนั่นไม่ใช่ "ความสงบของจิตของกิเลส" แน่ๆ แม้แต่"ความสงบสงัด" ตามที่พูดถึงนี้ ออกปานนี้ พระพุทธเจ้าก็ยังให้ปล่อยวาง อย่าไปหลงติดยึด ให้ได้เสียด้วยซ้ำ เรื่องของคนออกไปปฏิบัติในป่านี้ มีคำตรัสของพระพุทธเจ้าชัดเจนว่า "ป่าและราวป่าอันสงัด อยู่ ลำบาก ทำความวิเวกได้ยาก ยากที่จะอภิรมย์ ในการอยู่ผู้เดียว..." (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๙๙) ทำความเข้าใจ ในคำตรัสของ พระพุทธเจ้านั่นดูดีๆเถิด ความหลงผิดกันในเรื่องป่า หรือ อยู่ผู้เดียวนี้ มีนัยลึกซึ้ง ที่จะต้อง พูดกันอีกมาก เพราะยังมิจฉาทิฏฐิกันอยู่ไม่น้อย ในเรื่องนี้ ตอนนี้ขอผ่านไปก่อน ทำความเข้าใจให้ชัดๆว่า "วิเวก ๓"นี้ ก็คือ "ความสงบ ๓ ชนิด" ซึ่งเป็นการแยกแบ่งให้รู้ว่า "วิเวก"มี ๓ ลักษณะ (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๙ ข้อ ๓๓ และ ๒๒๙) "กายวิเวก" ก็ได้แก่ ความสงบขององค์ประกอบ ที่เป็นส่วนภายนอกหรือเป็นส่วนของรูปธรรม บางคนอาจจะต้องใช้สอยในการปฏิบัติบ้าง บางคน ก็อาจจะไม่ต้องใช้ สำหรับ "จิตวิเวกกับอุปธิวิเวก" นั้นเป็น "ความสงบภายใน" เป็นเรื่องของปรมัตถ์แท้ ส่วนนี้ต่างหากที่จะเป็น "ความสงบ" หรือ "วิเวก" อันเป็นมรรคผล หาได้หมายถึง สิ่งที่เป็นลักษณะ อันเป็นความสงบภายนอก นั้นไม่ (อ่านต่อฉบับ ๑๗๒) เพราะฉะนั้น "กายวิเวก"จึงมิใช่"วิเวก"หรือมิใช่"ความสงบ"ที่จะต้องไปหลงยึดติดมุ่งมั่นเอา ให้ได้ ให้ถึง -เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๑ เดือน ตุลาคม ๒๕๔๗ - |