ดอกฝน น้อยรักฤดูร้อนของอำเภอแว้งมากเพราะเธอสามารถวิ่งเล่นตามท้องนาและป่ายางได้ตลอดวัน แถมยังได้ ลงเล่นน้ำในคลองวันละหลายครั้ง อากาศร้อนก็จริงแต่น้ำในคลองแว้งจะเย็นชุ่มชื่น อยู่อย่างนั้นชั่วนาตาปี มันไหลลงมาจากเทือกเขาสูงเสียดฟ้าที่ปกคลุมด้วยป่าดงดิบ มองจากบ้าน ในตอนหัวรุ่ง๑ ทิวเขานี้ จะเป็นสีน้ำเงินแก่ พอตะวันงาย๒ แดดจ้าหน่อยก็เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินอ่อน ตกบ่าย สีมันก็เปลี่ยนไปอีก เป็นสีเขียวปนน้ำเงิน เหมือนใครเอาสีไประบายเป็นปื้น เป็นหย่อม ไว้อย่างนั้นแหละ พ่ออธิบายว่าที่มันเป็นอย่างนั้น เพราะภูเขาที่ล้อมรอบอำเภอแว้ง ไม่ได้เรียบเสมอ กันหมด เหมือนแผ่นกระดาษ พ่อเคยขึ้นไปแล้วสมัยที่ยังทำงานอยู่บนเหมืองทองโต๊ะโมะ พ่อว่า เทือกเขาสันกาลาคีรี มียอดเล็กยอดน้อย สลับซับซ้อนกัน เป็นหลายร้อยลูก ด้วยซ้ำไป เวลาบ่าย แสงแดดจะถูกบังด้วยยอดเขาบางลูก ทำให้ส่วนที่ถูกบัง เกิดเป็นเงา เหมือนกับเวลาที่น้อยกางร่ม กลางแดด หน้าน้อยใต้ร่ม จะมืดคล้ำลงกว่า เวลาไม่มีร่มกางบังอยู่ ' มันยิ่งทำให้ภูเขาสวยมากขึ้นไปอีกเพราะมีหลายสีดี' น้อยคิดในใจ หน้าร้อน เมื่อข้าวในนาสุก บ้านของน้อยจะดูเหมือนอยู่กลางทะเลสีทองโดยเฉพาะเวลาที่ลม พัดมา ทำให้ต้นข้าวระเนน เหมือนริ้วคลื่น เจ้าของนาและเพื่อนบ้าน จะชวนกันออกมาเก็บข้าว ทีละรวง ด้วยแกะ๓จนหมดเป็นบิ้งๆ๔ บางที น้อย มามุและเพื่อนๆ ก็ลงไปกับเขาด้วย ไปเล่นกันหรอก ไม่ได้ไป ช่วยเขาเก็บข้าว เด็กๆ จะทำปี่ซังเป่ากันบ้าง เล่นว่าวบ้าง วิ่งในท้องนาอย่างนั้น ถึงล้มลุกคลุกคลาน ก็ไม่มีบาดแผล เพราะชาวนาทางปักษ์ใต้ ไม่ได้ใช้เคียวเกี่ยวฟาง มาเก็บไว้ให้ควายกิน ฟางจึงเอนทับ ก่ายกันอยู่บนดินโคลน แห้งเหมือนฟูก ทำให้ล้มไม่เจ็บ อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับน้อยก็คือตอนหน้าร้อนไม่มีน้ำในนาและในป่ายาง ไม่มีน้ำ ก็ไม่มีปลิง ไม่มีทากที่ชอบดูดเลือดคน และสัตว์เป็นอาหาร น้อยไม่ชอบมัน รองๆจากงูเลยทีเดียว ตลอดฤดูร้อน เวลาเดินไปโรงเรียนก็สบาย ไม่เปียกฝนและไม่ต้องกางร่มหรือกระแชง หรือ ถือทางกล้วย กันฝน จะวิ่งแข่งกันไปบ้างก็ยังได้ ไม่เหมือนตอนหน้าฝน ที่กว่าจะเดินถึงโรงเรียน ก็กินเวลานานมาก ต้องคอยเอาหัวแม่เท้า จิกโคลนไว้กันล้ม บางทีถ้าลมแรง เสื้อผ้าก็จะเปียกชื้นไปนาน กว่าจะแห้งแบบ อำๆ๕ แล้วอย่างนี้ใครจะไม่ชอบหน้าร้อน? ใครจะไปชอบหน้าฝน? แต่ไม่มีใครยับยั้งฤดูกาลไว้ได้ ฤดูฝนเริ่มต้นแล้ว พ่อบ่นว่าปีนี้ฝนล่า แดดยังร้อนเปรี้ยงอยู่ทุกวัน จนน้อย คิดว่า ฤดูร้อนที่เธอรัก จะไม่มีวันหมด ใบยางเปลี่ยนสีของมัน จากที่เคยเขียวปี๋ มาเป็นสีเหลือง แล้วก็เป็น สีแดงสวย ก่อนที่จะกลายเป็นสีน้ำตาล ทำให้ป่าทั้งป่า สวยงามเหลือเกิน สวยเสียจน น้อย สามารถนั่งมอง จากหน้าบ้านได้คราวละนานๆ ทั้งๆที่พี่แมะว่า ไม่เห็นมีอะไรแปลกสักนิด น้อยไม่อยาก ให้ใบยางเหล่านั้น เริ่มเหี่ยวแล้วก็แห้ง จนในที่สุด ก็ร่วงหล่นลงเต็มป่า มันร่วงลงมา กองสูงท่วม ถึงเข่าเธอ เวลาเดินลุย ใบยางจะดังกรอบแกรบ น่ารำคาญ เมื่อใบยางร่วงเกือบหมด ความสวยงาม ก็หมดลงด้วย พี่แมะมักล้อน้อยเสมอ เมื่อเห็นน้องหยุดการนั่งมองป่ายาง โดยเฉพาะ เมื่อเกิดไฟป่า ไหม้สวนยาง เดี๋ยวก็เห็นเกลียวควันสีขาวปนเทา กรุ่นเป็นสาย ขึ้นตรงโน้น เดี๋ยวก็เห็น เปลวไฟน่ากลัว ตรงนี้ บางครั้งก็เห็นสายควัน เกิดอยู่ไกลลิบลิ่ว บางครั้งก็เกิด ไม่ไกลจากบ้านนัก ขนาดที่กลิ่นควัน และละอองขี้เถ้า ลอยมาฟุ้งเต็มไปหมด "ใครไปเผามันนะพ่อ อย่างนี้ต้นยางก็ตายหมดน่ะซีคะ เขาเผามันทำไมกัน?" น้อยถามพ่อวันหนึ่ง เมื่อชาวบ้านมาบอกว่า เกิดไฟไหม้สวนยาง ของครอบครัว ที่ตำบลตอแล "อย่าเพิ่งถาม ให้พ่อกลับมาก่อน" พ่อตอบก่อนที่จะรีบคว้าจักรยานถีบออกไปทางหมู่บ้าน จือมาแก๊ะ เพื่อเลี้ยวขวาไปสวนยาง แปลงใหญ่ที่สุด ของครอบครัว ที่เพิ่งซื้อมา และเย็นวันนั้น พ่อก็เล่าให้ฟังว่า "สวนของเราเสียหายไม่มากนักหรอกลูก ปีนี้อากาศมันร้อนมากเหลือเกิน ไฟป่ามักเกิดขึ้นเอง ถ้าต้นไม้ ที่แห้งเสียดสีกัน แต่บางทีก็มีคนที่ ประมาทเลินเล่อ เดินสูบยา (ใบจาก) แล้วก็ดีดก้นยาสูบลงไป บนพื้น ทางเดิน อย่างนี้ก็เกิดไฟไหม้สวนยาง ได้เหมือนกัน" "น้อยนึกว่ามีคนไปจุดไฟเผา" น้อยพูดรู้สึกดีใจที่พ่อบอกอย่างนั้น "อาจจะมีที่อื่น แต่ที่แว้งของเรานี่ไม่มี บ้านเราก็ไม่มีใครเกลียดจนมาทำอย่างนั้น ที่ไฟมันลาม ไปใหญ่ ก็เพราะใบยางแห้ง เป็นเชื้อที่ดีที่สุด" พ่อพูดต่อ "น้อยก็ไม่ชอบใบยางแห้งเล้ย" น้อยว่า นึกถึงเสียงกรอบเกรียบนั้น "ไม่มีอะไรที่ดีหรือเลวแต่ด้านเดียวหรอกลูก" พ่อพูดสั้นๆ ถึงสวนยางจะโกร๋น ชาวสวนยางก็ยังไปตัดยางทุกวัน พวกเขารู้ดีว่าแม้จะได้น้ำยางน้อยลง เขาก็ต้อง ตื่นตั้งแต่ยังดึก ไปตัดยางเพราะ ตัดยางได้ก็คือ ได้เงินใช้ ไม่มียาง คือไม่มีเงิน
"น้อย ฝนลงดอกแล้ว ไปเก็บผ้าที่ราวเร้ว" เสียงแม่ร้องสั่งมาจากในครัว ' กำลังนั่งนึกเพลินๆ เรื่องไม่ชอบหน้าฝน ฝนก็ลงมาเลยเชียวนะ' น้อยคิดพลางกระโดดลง จากชาน หน้าร้าน วิ่งตามร่องทางเดิน ข้างต้นมะนาว ไปยังราวตากผ้า ในสวนข้างบ้าน ใช้มือขวาดึงเสื้อผ้า บนราวไม้ไผ่ ลงมาทีละชิ้น อย่างรวดเร็ว พาดซ้อนลงบนแขนซ้าย อันบอบบาง ผอมแห้งของตน พอหมดก็วิ่งกลับขึ้นเรือน ทางบันไดหลัง เสื้อผ้าเพิ่งจะหม้าง๗ จึงยังพับเก็บไม่ได้ เพราะจะทำให้ มีกลิ่นเหม็น และอาจขึ้นขี้เหนา๘ เสียเวลา ต้องเอามาซัก กันใหม่อีก น้อยจึงต้องตากไว้บนราวลวด ริมฝาห้อง ที่นอกชานกลางก่อน "ตากผ้าเสร็จแล้วก็รีบเช็ดผมให้แห้งเสียซี จะได้ไม่เป็นหวัด ฝนลงดอกหยิมๆ อย่างนี้ยิ่งเป็น หวัดดีนัก" แม่พูดต่อพลางทำกับข้าวไปด้วยโดยมีพี่แมะ เป็นผู้ช่วย ดอกฝน๙ ปรอยเริ่มหนาเม็ดขึ้นเรื่อยๆ และตกอย่างไม่ลืมหูลืมตาเมื่อพ่อกลับจากตลาด มาถึงบ้าน มีผู้ชายมุสลิมคนหนึ่งวิ่งตามมาข้างหลัง เขาพูดทันที ที่ขึ้นมานั่งบนร้านส่วนของแม่ และเอาผ้าขาวม้า เช็ดหน้าตาที่เปียกโชก ก่อนที่จะเริ่มเขี่ยหมาก ในเชี่ยนของแม่ ขึ้นมาเคี้ยว "อัลเลาะห์ลา แมะเว้ จึเกาะห์ๆ ตูปานัสซูโงะห์ ป๊ะห์ นิง ตูฆงซูปออุแยเบาะห์ (พระเจ้าช่วยนะ คุณนายนะ ก็ที่ผ่านมาน่ะ ร้อนแสนร้อน แล้วนี่เทลงมา ราวกับฝน หน้าน้ำท่วม) " "ดีเหมือนกันแหละ ร้อนมาหลายวันแล้วจะได้คลายร้อนหน่อย" แม่ตอบเขาเป็นภาษามลายู "ซูซูกึเตาะห์ตุลา แมะเว้ ปานัสปงบูเละห์ซิกิ นิง มาฆีอุแยปูเลาะ ป๊ะห์ ฆอโดะจอเกาะห์ ปัวะห์กีตอ มอตองเตาะเละห์ ญาญอลา แมะ (แต่น้ำนมยาง น่ะซีครับ คุณนาย หน้าร้อนได้น้อยอยู่แล้ว นี่ ฝนมาอีก ก็ได้แต่นั่งจับเจ่า เท่านั้นแหละ พวกเรา น่าเวทนาจริง) " ชาวสวนยางคนนั้นบ่นอย่างน่าสงสาร คำพูดของเขาเป็นความจริง ถึงอำเภอแว้งจะอุดม สมบูรณ์ เหมือนในหนังสือแบบเรียนเร็วใหม่ ของน้อยที่เขียนว่า "เมืองไทยใหญ่อุดม ดินดีสมเป็นนาสวน" ก็ตาม คนแว้งสมัยโน้น ก็ยึดอาชีพหลักอยู่แค่ การทำสวนยาง ถ้าไม่ตัดยาง๑๐ ของตน ก็รับจ้างตัดยาง ของผู้อื่น เอามาขายให้พ่อค้าคนจีน ในตลาดที่ร่ำรวยกว่ามาก ซ้ำยังตั้งราคาซื้อได้ โดยชาวสวน ไม่มีโอกาส ต่อรองอะไรเลย ในหน้าร้อน เมื่อต้นยาง ทิ้งใบหมด น้ำนมยางที่ได้ จะน้อยลงเป็นธรรมดา และถ้าฝนตกเมื่อใด ก็เป็นอันว่าเช้าวันรุ่งขึ้น จะไปตัดยางไม่ได้ เพราะน้ำนมยาง จะไหลออกไปจากร่อง สองข้างต้นหมด
น้อยติดจั่นไปไหนไม่ได้ มามุก็มาหาไม่ได้เหมือนกัน น้ำเริ่มขังในท้องนาที่เหลือแต่ฟางข้าว ทับทบ อยู่บนดิน ถนนเริ่มเป็นโคลน เฉอะแฉะ ลมฝนอย่างนี้ ถึงจะมีร่ม หรือทางกล้วยก็เถอะ ขืนออกไปเดิน ก็ต้องเปียกปอน อย่างแน่นอน ดีที่สุดคือ หันกลับเข้าห้อง เปิดหีบหนังสือของพ่อ ค้นหาเรื่อง ที่คิดว่า สนุก ออกมาอ่านเล่น ดีกว่า แต่วันนี้น้อยเปิดเล่มไหนๆ ก็ดูไม่น่าสนใจไปเสียทั้งนั้น ในที่สุด เธอก็นึก ขึ้นมาได้ถึงหนังสือ กะรุ่งกะริ่งเล่มนั้น เล่มที่พ่อบอกว่า มีคนเอามาแจก และน้อยเองเคยเล่าบางตอน ให้มามุฟังว่า มีเรื่องแปลกๆ อยู่ข้างในนั้นมากมาย นานนับชั่วโมงที่น้อยหายเข้าไปในหนังสือประหลาดเล่มดังกล่าวของพ่อ เมื่อกลับออกมาอีกที เธอเดิน ออกไปนั่ง กับคนอื่นๆ ที่หน้าร้าน มองไปรอบท้องนา ฝนยังตกหนัก ไม่ขาดสาย ทุกคนเงยหน้าขึ้นมอง เมื่อจู่ๆ เธอถามพ่อขึ้นว่า "ฝนตกมากอย่างนี้ น้ำจะท่วมโลกไหมคะพ่อ?" "ไปอ่านหนังสือเล่มนั้นมาล่ะซี" พ่อทายดักคอ "ค่ะ ในนั้นเขาว่าพระเจ้าทำโทษที่คนชั่วร้ายมากเลยให้น้ำท่วมโลก ทั้งคนทั้งสัตว์ตายหมด
นอกจาก ที่อยู่ในเรือของคนที่ชื่อ โนอาห์ เขาว่าฝนตกมาก อยู่ตั้งหลายสิบวัน
คงตกอย่างวันนี้แหละ น้อยก็เลย อยากรู้ว่า น้ำจะท่วมโลกไหม" น้อยพูดพลางคิดว่า
เดี๋ยวพี่แมะก็ต้องว่า เธอคิดอะไรประหลาดอีก แต่ผิดคาดคราวนี้ พี่แมะกลับถามว่า
"ถ้าแมะรู้มาจากเพื่อนมุสลิมก็แสดงว่าในศาสนาอิสลามมีเรื่องน้ำท่วมโลก แล้วนี่น้อยไปอ่าน ของ คริสต์เขามา เขาก็ว่าน้ำท่วมโลก เหมือนกัน พ่อไม่รู้หรอกว่า น้ำเคยท่วมโลก จริงหรือไม่ แต่พ่อมี หนังสือเล่มหนึ่งนะ ชื่อเรื่อง ลัทธิของเพื่อน ผู้เขียนเป็นนักปราชญ์ของเมืองไทย๑๑ ท่านบอกว่า ทั้งศาสนาอิสลาม แลศาสนาคริสต์ มีต้นเค้ามาจากที่เดียวกัน เรื่องในคัมภีร์ของเขา จึงตรงกัน อย่างเรื่องน้ำท่วมโลก เพราะฝนตกหนักนี่แหละ" พ่ออธิบายให้ทุกคนฟัง "แล้วในศาสนาพุทธที่เรานับถือมีเรื่องน้ำท่วมบ้างไหมคะ?" แม่ถามบ้าง "มีเหมือนกัน" พ่อหันไปตอบแม่ "แต่ไม่ใช่ท่วมโลก เป็นการท่วมเพราะแม่พระธรณีบีบมวยผม" "ทำไมถึงบีบมวยผมแล้วน้ำท่วมล่ะคะ พ่อ? แล้วพอน้ำท่วมคนตายไหมคะ? มีเรือมาช่วย ไม่ให้คน ตายหมด เหมือนในศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ไหมคะ?" ดูพี่แมะสนใจ เรื่องนี้เหมือนกับน้อย "แมะนี่บทจะซักก็ตอบแทบไม่ทันเหมือนกันแฮะ" พ่อขำพี่แมะก่อนพูดว่า "แม่ ฝนตกอย่างวันนี้ ก็ดีนะ ไปไหนไม่ได้ เด็กๆ ก็เลยหันมาอ่านหนังสือ เอาละ เมื่อลูกถาม พ่อก็จะตอบ ว่าแต่ฟังเรื่องอย่างนี้แล้ว จะเข้าใจกันหรือเปล่าก็ไม่รู้ เอาเป็นว่า พ่อจะเล่าคร่าวๆ พอลูกโตขึ้น ก็ไปอ่านไปศึกษากันเองก็แล้วกัน คืออย่างนี้ ในศาสนาพุทธเชื่อกันว่า มีโลกอยู่สามโลก โลกมนุษย์เราอยู่ในนั้นด้วย ตอนแรก มนุษย์ ก็ดีมาก ต่อมากลายเป็นคนชั่วร้าย มากขึ้นทุกที ในที่สุด เกิดน้ำก็ท่วมโลก กวาดล้างทุกสิ่ง ที่ชั่วร้าย จนหมด แล้วโลกที่สะอาด ก็ถูกสร้างขึ้นใหม่" พ่อหยุดพูดไปหน่อยหนึ่ง เพราะรู้ทัน เมื่อเห็นน้อยขยับตัว "น้อยไม่ต้องซักพ่อนะ ว่าจริงหรือไม่ พ่อไม่ทราบ นอกจากศาสนาต่างๆ ที่ว่ากันมาแล้ว ในศาสนา พราหมณ์ เขาก็มีเรื่อง น้ำท่วมโลกเหมือนกัน" "แล้วใครมาช่วยมนุษย์ไว้คะ โนอาห์เหมือนกันหรือคะ?" พี่แมะถาม
"น้อยว่าพระนารายณ์นี่ก็ต้องเก่งมากเหมือนกัน ก็วันก่อนตอนที่มามุกับน้อยเล่น วายังกูลิด (หนังตะลุง) เรื่องรามา กับ ซีตา พ่อก็เล่าว่ารามานั้น เป็นพระนารายณ์ แบ่งร่างลงเกิดเหมือนกัน ใช่ไหมคะ? แล้วแม่พระธรณีละคะ ทำให้น้ำท่วมเพราะคนชั่ว เหมือนกันใช่ไหมคะ พ่อ น้อยว่า ต้องใช่แน่เลย พี่แมะว่าไหม?" "มีส่วนถูกนิดหน่อย" พ่อตอบ "ของเราในศาสนาพุทธทำเป็นเรื่องเปรียบเทียบ คนชั่วนั้นเรียกว่า มาร อยู่ในตัวเราทุกคนนี่แหละ เอาชนะยากมากที่สุด เสียด้วยซี ตอนนั้น พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว ยังถูก มารร้าย ยกกองทัพมาโจมตีเลย" "แล้วพระพุทธเจ้ารบชนะใช่ไหมคะ พ่อ? พระพุทธเจ้าก็เก่งเหมือนกัน คุณครูเคยบอกว่า พระพุทธเจ้า เป็นกษัตริย์นักรบ ก็ต้องรบเก่งซิคะ มารชั่ว ไม่มีทางสู้ได้หรอก" น้อยพูดเหมือนเอาใจช่วย ตอนดู ฟุตบอลหน้าอำเภอ "พระพุทธองค์ทรงเหนือสิ่งเหล่านั้นหมดแล้วลูก มารเหล่านั้นแพ้ภัยตนเอง ถูกน้ำท่วมหมดเลย อย่างนี้ แสดงชัดเจนว่า การชนะศัตรูตัวร้ายที่สุด คือชนะความชั่ว ในตัวของเราเอง นี่แหละ แล้วก็เป็นชัยชนะ ที่เลิศที่สุดด้วย เอาละวันนี้ เอาแค่นี้ก่อนนะ ฝนตกนานมากแล้ว พ่อจะไปรองน้ำฝน ไว้ใช้เสียหน่อย" พ่อสรุป น้อยพยักหน้ากับพี่แมะ แล้วขออนุญาตแม่ว่า "แม่คะ ตอนนี้ฝนไม่เป็นดอกฝนแล้ว น้อยกับพี่แมะไปเล่นน้ำฝน ที่นอกชานได้ไหมคะ?" "ได้ ไปซี ฝนแบบนี้ไม่ทำให้ลูกเป็นหวัดหรอก เอาแปรงลวดไปด้วย น้อยระวังอย่าไปลอดร่อง เข้าอีก แล้วอย่าเอาขันทองเหลือง ออกไปกลางฝน อย่างเด็ดขาด" แม่พูดพลาง ขยับมีดบาง ที่สอดไว้ ระหว่างร่องกระดาน พ่อไม่เชื่อเรื่องแบบที่แม่ทำอยู่เป็นประจำ แต่แม่ว่าทำไปก็ไม่เสียหายอะไร ยายของน้อยก็เคยทำมาก่อน เป็นการป้องกัน คนไทยทางภาคใต้ เชื่อว่าถ้ามีลมพายุ ก็ให้เอามีดสอดไว้ ในร่องกระดาน จะปลอดภัย ส่วนเรื่องที่แม่ห้ามแล้วห้ามอีก ไม่ให้เอาขันทองเหลือง ออกไปใช้เวลาฝนตกนั้น พ่อเห็นด้วย และ อธิบายลูกๆ ว่าที่ห้าม เพราะทองเหลืองและทองแดง จะเป็นสิ่งที่ล่อสายฟ้า ให้ผ่าลงมาได้ พ่อว่า บนฟ้ามีไฟฟ้า และคนก็เอาไฟฟ้าลงมาใช้ เป็นแสงสว่างได้ แต่ที่แว้ง ยังไม่มีใช้กัน นอกชานกลางที่เด็กทั้งสองเล่นน้ำฝนกันวันนั้นเป็นชานระหว่างตัวเรือนใหญ่และครัว ปูด้วยไม้หลุม พอซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง เพราะมันสามารถทนแดด ทนฝนได้นานปี ที่แม่เตือนน้อยเรื่องลอดร่องนั้น ก็เพราะเธอมักจะตกลงไปเสมอ ตกทีไหนเป็นต้องได้เจ็บทีนั้น ครั้งหนึ่งพ่อกับพี่จบ ถึงกับต้องใช้ชะแลง งัดให้เธอ ดึงขาขึ้นมาได้ ด้านหนึ่งของนอกชานนี้ มีประตูเปิดลงจากบ้าน ตรงกลางมีเนียง๑๒ น้ำอยู่สามใบ ใบแรก สำหรับใส่น้ำล้างเท้า ก่อนขึ้นบ้าน และก่อนเข้านอน อีกสองใบ บรรจุน้ำใช้ ไว้ล้างจานชาม อีกซีกหนึ่งของนอกชาน มีโอ่งน้ำขนาดใหญ่สองใบ เอาไว้ใส่น้ำฝน สำหรับดื่ม พ่อระมัดระวัง เรื่องน้ำดื่มมาก และจะต้องรองด้วยตัวพ่อเองทุกครั้ง เวลาฝนตกหนัก อย่างวันนี้ แรกทีเดียว ถ้าโอ่งไหนมีน้ำเหลือน้อย พ่อก็จะล้าง ให้สะอาดเสียก่อน จากนั้น พ่อก็จะใช้ผ้าขาวบาง พับสองชั้น ปิดปากโอ่ง มัดให้แน่นด้วยเชือก แล้วพ่อก็ให้พี่แมะและน้อย ช่วยหยิบรางน้ำ มาให้พ่อ วางพาด ปากโอ่ง น้ำฝนจากหลังคาจาก จะไหลลงในโอ่งจนเต็ม โอ่งดินนี้จะช่วยให้น้ำฝนเย็น แม้ในหน้าร้อน น้อยและพี่แมะช่วยกันใช้แปรงขัดพื้นนอกชาน ได้ฝนที่ตกหนักอย่างนี้ ช่วยเบาแรงได้มาก ไม่อย่างนั้น เด็กทั้งสองก็ต้องช่วยกันขนน้ำ จากคูหน้าบ้าน มาล้าง น้อยขัดไปพลาง ก็รู้สึกไปด้วยถึงความสะอาด ของนอกชาน พื้นจะไม่ลื่น เพราะตะไคร่อีกต่อไป
รับประทานข้าวเย็นเสร็จก็ออกมาหน้าบ้านอย่างที่เคยทำกันเป็นประจำในวันที่ฝนตกและยัง วันเกินไป ที่จะปิดหน้าถัง ไปอยู่ในห้องโถงกลาง แม่เขี่ยหมาก๑๓ รับประทาน เช่นเคย ส่วนพ่อก็หยิบหนังสือ ที่อ่านค้างอยู่ไปเปิดอ่านต่อที่โต๊ะทำงาน พี่แมะกับน้อย ไม่มีกิจวัตร และวันนี้ไม่มีการบ้านต้องทำด้วย จึงพากันไปนั่งห้อยเท้าเล่น ที่ริมหน้าร้าน น้อยเห็น น้ำในคูเล็กชิดหน้าบ้าน ไหลแรงเป็นเกลียวพุ่งไปกลางป่าต้นเหมล ก่อนที่จะลงไป ในคลอง แว้ง ถนนหน้าบ้าน ที่เคยมีป้ายปัก บอกชื่อว่า ถนนภูผาภักดี ตอนนี้ดูเฉอะแฉะ ทั้งที่เป็นร่องทางเดิน และทางจักรยาน ยกเว้นส่วนใหญ่ของถนน ที่มีหญ้าใบสั้นปกคลุม พ่อเคยอธิบายว่า รากหญ้าที่ แข็งแรง ช่วยยึดดินไว้ ไม่ให้น้ำฝนชะออกไปเสีย ถ้าไม่มีหญ้า ถนนจะเสียหมด ' ก็ฝนอีกแหละนะที่ช่วยไม่ให้หญ้าตาย ไม่งั้นพรุ่งนี้เดินไปโรงเรียนลำบากแน่' น้อยบอกตัวเอง บุญคุณ ของฝน เพิ่มขึ้นในใจของเธออีก น้ำในคูอีกด้านหนึ่งของถนนเต็มเปี่ยมล้นขอบคูเข้าสู่บิ้งนาจนเจิ่งไปหมด ตอนนี้ฟางข้าว ที่พวกน้อย เคยลงไปวิ่งเล่น ดูไม่เป็นสีทองสวยแล้ว น้ำฝน ทำให้มันอิ่มน้ำ จนหนักและทรุดตัว พับลงไปที่พื้นดิน เด็กๆ หมดสิทธิ์ลงไปที่นั่นอีกต่อไป เธอรู้สึกหดหู่เล็กน้อย จึงเท้าแขนลงบนเข่า เอาคางวางบนมือ ดูภาพข้างหน้า พูดกับพี่แมะเบาๆ ว่า "ถ้าฝนไม่ตกก็ดีหรอก" "ใช่แล้ว เอาละ ทีนี้มาฟังพ่ออธิบายบ้าง คงง่ายกว่าเรื่องน้ำท่วมโลกอยู่หรอกนะ แม่" พ่อหันไปพูด กับแม่ นิดหนึ่ง ก่อนพูดกับลูกต่อว่า "ทุกอย่างในโลกนี้ เปลี่ยนไป ตามฤดูกาล เขาเรียกว่าตามธรรมชาติ รวมทั้งต้นไม้ใบหญ้า แล้วมันก็เกี่ยวข้องกันหมดด้วย ต้นไม้บางชนิดที่ใบมากและหนา มันต้องทิ้งใบ เสียบ้าง ไม่อย่างนั้น เวลาฝนตกหนัก มันจะรับน้ำฝนไม่ไหว อย่างใบยาง มันจะพากันหล่นลงมา กองบนพื้นดินเต็มไปหมด น้อยไม่ชอบใบยางแห้ง และเสียงสวบสาบ เวลาเดิน ใช่ไหม?" น้อยพยักหน้า ยอมรับ "เมื่อฝนตกลงมาอย่างวันนี้ ใบยางเหล่านั้น จะชุ่มน้ำ แล้วมันก็จะเปื่อยยุ่ย กลายเป็นดินเป็นปุ๋ย ให้ลำต้นยาง ดูดขึ้นไปกิน เป็นอาหาร จะได้แตกใบอ่อน กลายเป็นใบเขียวแก่แข็งแรง พอหมดหน้าฝน ต้นยางก็จะสมบูรณ์ พอที่จะให้น้ำยางแก่คนที่ไปตัดยาง อีกต่อหนึ่ง เข้าใจแล้วหรือยัง ลูก?" "แล้วทำไมมันต้องทำอย่างนั้นให้คนด้วยล่ะคะ พ่อ คนไม่เห็นไปช่วยทำอะไรให้มันมั่งเลย มีแต่ มันทำให้คน" พี่แมะถาม "นั่นซี น้อยก็ว่าอย่างนั้น" น้อยเห็นด้วยกับพี่สาวอย่างเต็มที่ ถ้าพี่แมะไม่ถามเธอก็จะถามพ่อ เหมือนกัน "ยางมันไม่ได้มาบอกคนสักหน่อยว่า ให้ไปกรีด เอายางของมัน ออกมาใช้ น้อยว่าคนเอาเปรียบต้นไม้ อย่างนี้ก็ต้องฝนซีคะพ่อ ที่ช่วยต้นไม้ ให้มันมีชีวิตต่อไปได้ ฝนมีประโยชน์จังเลย ไม่มีฝนก็แย่" "ลูกพูดถูกแล้ว จงจำคำว่าธรรมชาติไว้นะ แล้วก็อย่าทำลายธรรมชาติเป็นอันขาด เขามีพระคุณ ต่อคน มาก แต่คนมักเอาเปรียบธรรมชาติเสมอ อย่างที่ลูกว่า" พ่อพูด "น้อยเข้าใจแล้วค่ะ ฟางข้าวนี่ก็เหมือนใบยางใช่ไหมคะพ่อ มันล้มทับกันบนดินโคลน ให้น้อย กับเพื่อน ได้ไปวิ่งเล่น ล้มก็ไม่เจ็บ พอฝนตกลงมา มันก็เปื่อยกลายเป็นปุ๋ย ปนกับโคลนให้ข้าวได้งอกงาม แล้วเรา ก็ได้กินข้าวนั้น ว้า คนได้อยู่เรื่อยเลย ได้ยาง ได้ข้าว น้อยก็ได้ทำปี่ ได้วิ่งเล่น แล้วน้อยก็ยัง-" "ว่าฝน ไม่ชอบฝน เกลียดฤดูฝน ใช่ไหม?" พ่อถาม "ไม่แล้วค่ะพ่อ น้อยจะไม่ว่าฝน น้อยจะชอบฤดูฝนแล้วค่ะ น้อยสัญญา" น้อยพูดพลาง มองดู ท้องนา ปริ่มน้ำหน้าบ้าน ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป "ดีแล้ว ต่อไปนี้ ทุกครั้งที่เปิดโอ่งน้ำดื่ม จงคิดถึงบุญคุณของดอกฝนทุกดอก เม็ดฝนทุกเม็ด" พ่อกำชับ
๒. คำนี้ทราบว่าทางภาคอีสานก็ยังใช้อยู่เหมือนกัน เพียงแต่ทางอีสานจะหมายถึงเวลาเช้า แต่ทาง ภาคใต้ แปลว่าเวลาสาย ๓. เครื่องมือสำหรับเก็บทีละรวง ทำด้วยเหล็กบาง ขนาดกว้างประมาณ ๑ นิ้ว ยาวประมาณ ๓ นิ้ว ด้านหนึ่งคม อีกด้านฝังไว้ในแผ่นไม้ มีไม้เนื้อแข็ง หรือไม้ไผ่ ขวางไว้สำหรับกันหลุด คนภาคอื่นจะขำ เมื่อทราบว่าชาวนาปักษ์ใต้ เก็บข้าวทีละรวง แทนที่จะใช้เคียวเกี่ยวต้นข้าว แต่ความจริง การเก็บข้าว ด้วยแกะ ทำได้เร็วมาก ทั้งได้ทราบมาด้วยว่า เป็นการเก็บเกี่ยวที่เสียเม็ดข้าวน้อยมาก เพราะเหตุที่ ทางภาคใต้ ใช้แกะนี่เอง จึงใช้คำว่า "เก็บข้าว" ไม่ใช้ "เกี่ยวข้าว" เหมือนในภาคอื่น การเก็บจะเก็บ ทีละรวง แล้วกำไว้ในมือ เมื่อได้เต็มกำมือแล้วก็ใช้ต้นข้าวมัดไว้ เรียกว่ากำหรือเรียง การว่าจ้าง ก็ใช้วิธีนับ ตามจำนวนกำนี่เอง อาจจะเป็นเพราะ ทางภาคใต้ มีฝนตกชุก พืชพันธุ์และหญ้า อุดม สมบูรณ์ สำหรับปศุสัตว์ จึงไม่มีการเกี่ยวฟาง มาเก็บไว้เป็นลอม ข้าวที่เก็บด้วยแกะนี้ ไม่ต้องฟาด เหมือนทางภาคอื่น จะเก็บขึ้นยุ้งไว้เป็นกำ รอการนวด ซ้อม หรือสีเป็นข้าวสาร ๔. บิ้ง เป็นลักษณะนามของผืนนา เคยพบในเรื่องสุบินคำกาพย์ สำนวนใต้ใช้ว่า "ก่บิ้งนา" ก่บิ้งนา ไม่แน่ใจว่า คำเดิมจะมีพยางค์กะ นำหน้าอยู่หรือไม่ เพราะลักษณะนามนี้ ยังมีใช้กันในส่วนอื่น ของประเทศด้วย เช่น แถบราชบุรี นครไทย ชาติตระการ แต่ก็ออกเสียงกันว่า บิงเท่านั้น ๕.อำ แปลว่าชื้น ไม่แน่ใจว่าเป็นคำใต้หรือคำไทยโบราณ ในเรื่องสุบินคำกาพย์ใช้ว่า ช่อำ คำที่ มีเสียง พยางค์ชะอยู่ข้างหน้านั้น มีใช้อยู่หลายคำ ในภาคใต้ และตะวันออก เช่น ชะอวด ชะอำ ชะมวง ชะคราม เป็นต้น ส่วนอำ ที่แปลว่าชื้นนี้ อาจมีรากมาจาก คำโบราณอย่าง "ชรอุ่ม ชรอ่ำ" ก็เป็นได้ เพราะความหมาย ใกล้กันมาก ๖.คำนี้หมายถึงเมฆที่มองเห็นเป็นปุยสีขาวเป็นริ้วเหมือนเกล็ดปลา เป็นคำที่เพราะและให้ ภาพลักษณ์ ดีมากคำหนึ่ง กับอีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ลักษณะผมเด็กชาย ที่คนตัด ตัดไม่เป็น จึงเป็นขั้นกะได ๗.น่าจะตรงกับคำว่า หมาด ในภาษากลาง ๘.คำนาม ขี้เหนา ภาคอื่นไม่มีใช้ อาจเป็นเพราะภาคใต้มีภูมิอากาศที่ชื้นมาก
เสื้อผ้าที่ตาก ไม่แห้ง จะขี้นราเป็นจุดดำๆ สันนิษฐานว่า อาจมาจากขี้หนาว
ก็ได้ แต่คำว่า หนาว แทบไม่ใช้กันเลยในภาคนั้น ใช้แต่เย็นเป็นพื้น กริยาที่ใช้กับ ๙.คำดอกฝน และกริยาฝนลงดอก ไม่เคยพบในภาคอื่น ส่วนเม็ดฝน และกริยาฝนลงเม็ด นั้นมีใช้ และตรงกับในภาคอื่น ความหมายละเอียดของคำ บ่งถึงขนาดของฝน ที่เล็กกว่าเม็ดฝน ๑๐.เป็นคำที่คนทางปักษ์ใต้ใช้ในความหมายของกรีดยาง ซึ่งคนภาคกลางใช้ในความหมาย เดียวกัน ๑๑.คือพระยาอนุมานราชธน ๑๒.ภาชนะใส่น้ำหรือของเหลว ขนาดระหว่างไหกับโอ่ง น่าจะมาจากคำไทยเก่าว่า พะเนียง ที่ปรากฏ เป็นชื่อถนนอยู่ในกรุงเทพมหานครละแวกนางเลิ้ง อีกคำหนึ่ง ที่น่าจะเกี่ยวข้องกันคือ ไฟพะเนียง ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการอัดดินประสิวลงในภาชนะชนิดนี้เพื่อทำดอกไม้ไฟ ในวรรณคดีเก่าของไทย เรื่อง สมุทรโฆษคำฉันท์ ก็ปรากฏคำนี้ในตอนที่บรรยายถึง การละเล่น ที่เรียกว่า หัวล้านชนกัน "กูชนโพล่พะเนียง ก็แตกโผงผาง" คำนี้มีใช้ในเรื่อง ราชาธิราชด้วย ตอน "มะสะลุม"สมิงนครอินทร์) แสดงความสามารถเชิงดาบ ด้วยการเอาโซ่ใส่ในพะเนียง แล้วฟันได้ขาด ๑๓.เป็นคำกริยารวมใช้กับการเตรียมเครื่องปรุงต่างๆ ในการรับประทานหมาก - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ - |