064 เวทีความคิด - เสฏฐชน -
เกิดเป็นคนควรนิยมบุญ


บรรยากาศของโลกทุกวันนี้ ควรที่ทุกคนน่าจะรู้ตัวเองแล้วว่า การที่ได้เกิดมาเป็นคนนั้น เป็นบุญ หนักหนาแล้ว ไม่เต็มคนนักก็ตาม หรืออาจจะมีร่างเป็นคน แต่ใจยังไม่เป็นคนทั้งหมด ก็ควรศึกษา ควรเรียนรู้ ควรทำความรู้จักความเป็นคนให้แจ้งชัด เพราะพฤติกรรมที่เปิดเผยเป็นข่าวออกมาตามสื่อ บางคน ส่อความโหดเหี้ยมอย่างไม่น่าเชื่อว่า "นี่คนหรือ?" หรือ "คนเขาทำอย่างนี้ได้ด้วยหรือ?"

สัตวโลกที่ได้เกิดมาเป็นคนแล้ว ควรดีใจ และควรนำมาระลึกนึกถึงความจริงส่วนหนึ่งว่า เราได้ต้นทุน มามากแล้ว มากกว่าสัตวโลกชนิดอื่นที่ไม่ได้เรียกว่าคน

ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า เราก็ยังคือสัตวโลกอยู่ ตราบเท่าที่ยังมีสัญชาตญาณของสัตวโลก คือ ยามหิวก็ดุร้าย ยามโกรธก็ดุร้าย ยามเสพเพศคู่ก็ดุร้าย ยามมัวเมาหลงใหลก็ดุร้าย หากไม่รู้จัก ปรับเปลี่ยน นิสัยใจคอดุร้ายตามสัญชาตญาณสัตวโลกธรรมดาเช่นนี้

ดังเหตุการณ์ที่เกิดในประเทศเพื่อนบ้าน ในงานแต่งงาน แขกผู้ชายที่มามีความเมาผสมอยู่ในอารมณ์ ถือวิสาสะไปจับก้นเจ้าสาว พ่อกับพี่ชายเจ้าสาวถือว่าเป็นการดูหมิ่นอย่างแรง เกิดโทสะ ลากแขก ออกไปซ้อม ทำร้าย สุดท้ายฆ่าแขก..เอาเนื้อแขกมากิน

ที่เมืองไทยทางภาคใต้ เด็กชายอายุเพียง ๑๕ ปี ไม่พอใจพ่อที่ตักเตือนให้อยู่กับบ้านบ้าง อย่าไป เที่ยวเตร่ มืดค่ำนัก ประเดี๋ยวโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้วจะเลี้ยงตัวเองได้อย่างไร แม้พ่อจะไม่มีอารมณ์โกรธ ในขณะที่เตือน ก็ยังทำให้เด็กชายโกรธมาก สุดท้ายฆ่าพ่อ.. เป็นต้น

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนจะต้องมาศึกษาความเป็นคนในตน และศึกษาความเป็นคนในคนอื่นไปพร้อมๆ กับเพื่อจะได้ปรับใจตน ปรับความรู้สึกของคนอื่นด้วย

คนเท่านั้นที่จะศึกษาถึงความจริงนี้ได้ถึงแก่นชีวิต เพราะมันสมอง ความเจริญเติบโตของยีน อวัยวะ ความวิจิตรพิสดารในกลไกต่างๆ ช่วยนำพาให้เราได้อาศัยเป็นเครื่องมือศึกษา คนจึงได้ชื่อว่า "สัตวโลกที่มีบุญ" ยิ่งกว่า
สัตวโลกชนิดอื่น ยกเว้นไว้แต่คนที่ไม่ยอมใช้อุปกรณ์ที่เป็นบุญนี้ มาใช้พัฒนาตนไปสู่จุดนี้เท่านั้น ซึ่งก็มีคนชนิดนี้มากมาย เพราะส่วนใหญ่มาจมหลงอยู่แต่ความเป็นคน และหลงว่ามีบุญแล้ว ที่ได้มา เป็นคน แต่ไม่ยอมสั่งสมบุญในขณะที่ได้ร่างคน เพื่อสร้างบุญให้มากๆๆขึ้นไปอีก มิหนำซ้ำ ยังหลงเอา ความเป็นคน ที่ได้มาแล้ว สร้างบาป มาทำลายสิ่งที่ตนได้ดีแล้วนั้นด้วยซ้ำ

นับเป็นเรื่องน่าสังเวชสำหรับผู้ที่รู้แจ้งแทงทะลุในความจริงข้อนี้ อันเป็นเหตุให้ผู้รู้แจ้งแทงทะลุ เหล่านั้น ต้องยอมเสียสละทำงานกับคนด้วยกัน เพื่อยกฐานะจิตวิญญาณให้คนสูงขึ้นๆ อันเป็นอาชีพ ที่เป็นบุญ ทั้งแก่คนคนนั้น และสร้างหนทางแห่งบุญให้คนอื่นๆ ด้วย

"ต้นทุนในความเป็นคน" เป็นทุนที่คนต้องน้อมใจคิดให้ออก หากไม่มัวแต่ไปคิดเรื่องทุนด้านวัตถุ โดยเฉพาะ "ทุนการเงิน" หรือ "ทุนสมบัติข้าวของ" หรือแม้แต่ "ทุนชื่อเสียงความเชื่อถือ" เพียงแค่เกิด มาเป็น "คนรวยเงิน-รวยสมบัติวัตถุ" อื่นใดๆ มิหนำซ้ำยังหลงผิดไปยึดเอาความรวยเงิน ความรวย สมบัติ วัตถุ ความรวยความเชื่อถือมาเป็นทุนให้คนอื่นเขาหนุนนำ ส่งเสริมให้ตนเอง รวยสิ่งเหล่านี้ ขึ้นไปอีก โดยไม่ได้คิดถึงความขาดแคลนของคนอื่นๆ เลย ทั้งๆ ที่คนขาดแคลนของ เหล่านี้ ก็คือ คนที่ยังต้องใช้ ต้องอาศัยปัจจัยเครื่องอาศัยเหมือนกัน

คนที่กักตุน หวงแหน เอาเปรียบ เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยเครื่องอาศัย ทั้งที่ "จำเป็นจริงๆ" และ "จำเป็น เทียมๆ" คือต้นเหตุของความเดือดร้อนทุกอย่าง เพราะความคิด นิสัยเช่นนี้แหละ คือคนที่เบียดเบียน คนอื่น คือคนที่ทำร้ายคนอื่นโดยปริยาย ถึงจะไม่มีอาการแสดงการทำร้ายด้วยรูปของอาวุธเห็นกันจะจะ หรือต้องใช้อาวุธมาเงื้อง่ากันซึ่งๆ หน้า แต่การทำร้ายนั้นๆ ถูกแฝงเร้นอยู่ในรูปของ "ปัญญาวุธ" หรือ "ปริญญาวุธ" ที่โลกนิยม

ดูได้จากค่านิยม การตีค่าของคนจากแผ่นกระดาษนานา จะเรียกว่าประกาศนียบัตร ปริญญาบัตร วุฒิบัตร สัญญาบัตร ฯลฯ หรืออะไรบัตรก็ตาม ดาษดื่น ก้าวล่วงจนถึงกาล "วิบัติ" ไปทั่วแผ่นดิน แต่คน ก็หารู้ตัวไม่ แม้คนถึงขั้นต้องขายสมบัติจนหมดเนื้อหมดตัวแล้วก็ตาม

"คุณสมบัติ" ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีนั้นจะหมายถึงสิ่งที่มีค่า มีประโยชน์ ก็ยังถูกขาย ถูกเปลี่ยนความหมาย กลายพันธุ์ไปเรียกสิ่งที่ "เป็นโทษ" ก็ยังไม่รู้ยังคงหลงว่าเป็นคุณอยู่นั่นแหละ เช่น ใครมีเงินเยอะ ก็เรียกว่ามีคุณสมบัติทางการเงินดี โดยไม่ได้คิดถึงที่มาของการมีเงินเยอะว่ามาจากเหตุอะไร?

มีเงินเยอะเพราะได้เปรียบเขามาแต่ต้น คือเงินของบรรพบุรุษ โดยที่ไม่ได้ร่วมทำมาเลย ไม่ได้ร่วม เหน็ดเหนื่อย ช่วยท่านเลย เกิดมาก็คาบช้อนเงินช้อนทอง เสวยเงินทองที่บรรพ-บุรุษสะสมไว้ กอบกอง เอาไว้ แต่ก็หลงว่าเราเป็นเจ้าของ เพราะเราคือทายาท เราคือลูกหลาน เราควรมีสิทธิ์ ควรมีสิทธิ์ยิ่งกว่า ลูกหลานคนอื่นๆ อีกหลายคน เมื่อคิดเช่นนี้ จึงทำให้เกิดศึกแย่งชิงสมบัติในตระกูลเดียวกัน จนเกิด การฆ่ากัน ความเป็นพี่น้องจากสายเลือดท้องแม่เดียวกันลบเลือนหายไปจนหมด

จะมีสักกี่คนในบรรดาพี่น้องท้องแม่เดียวกัน จะยอมไม่รับมรดกจากความเป็นทายาทของพ่อแม่ จะยอมยกให้พี่น้องคนอื่นๆ หากจำนวนพี่ๆ น้องๆ จากแม่เดียวกันสักครึ่งหนึ่ง ของครอบครัวนั้น คิดเช่นนี้ สังคมครอบครัว จะร่มเย็นสักแค่ไหน ยิ่งสังคมครอบครัวส่วนใหญ่ หรือสักครึ่งหนึ่ง ของ สังคม ประเทศนั้นๆ มีความเห็น มีการกระทำเช่นเดียวกันนี้ด้วย ผู้เขียนเชื่อแน่ว่าสังคม จะไม่ขาดแคลน ทรัพยากร ไม่ขาดแคลนปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีวิตเลย เพราะแต่ละคนๆ มีความคิดเฉลี่ย เผื่อคนอื่น มีความคิดแบ่งให้ ยกให้คนอื่นเป็นทุนอยู่แล้ว คนอื่นๆ จึงไม่ต้องไปแย่งชิงจากครอบครัว จากสังคมประเทศอื่นเป็นผลเชื่อมโยงต่อมา

แต่เพราะคนในแต่ละครอบครัวไม่คิดเช่นนี้ จึงทำให้เรื่องนี้ลุกลามแพร่ขยายออกไป สร้างปัญหา ระดับชาติ เกิดสงครามแย่งแผ่นดิน แย่งประเทศ แย่งประชาชนมาเป็นแรงงานสร้างสิ่งต่างๆ ในโลก แต่ก็ใช่ว่าผู้นำความคิด ผู้นำทำ ผู้นำสร้างเหล่านั้นจะยอมเสียสละส่วนของตนฟรีๆ ผู้นำเหล่านั้น ก็ยังคิดส่วนได้ ส่วนแบ่งมากกว่าคนอื่นๆ ที่อยู่ในฐานะลูกน้อง ในฐานะบริวารอีก ทำให้เกิดวงจร "ปลาใหญ่ กินปลาเล็ก-นายหัวกินหัวคิว" อยู่ดี

ซ้ำร้ายหัวคิวนั่นแหละจะได้เปอร์เซ็นต์สูงกว่าเขาอื่น นายหัวนั่นแหละจะได้ส่วนแบ่งมากกว่า ทั้งๆ ที่บางทีเพียงแค่ใช้"หัวคิด"หาใช่ผู้ออกเรี่ยวออกแรงออกเหงื่อแต่อย่างใดไม่

เห็นภาพที่กล่าวขวัญถึงเชิงนี้ได้จากทุกๆวงการ ตั้งแต่นักการเมืองเป็นต้นไป จนระดับนักธุรกิจ นักวิชาการ ไม่ยกเว้นแม้กรรมกร จนเกิดรูปสำเร็จเชิงปฏิบัติการเป็นที่ยอมรับในสังคม โดยปริยาย ในนามของ "อภิสิทธิ์" หรือ "สิทธิพิเศษ" ที่ดูเหมาะสม ที่สมควรแล้วตามสมมติ เพียงแค่คนนั้น เกิดมาเป็น ลูกเจ้าลูกนาย จะระดับไหน วรรณะไหนก็ตาม ในชนชั้นยังถูกบัญญัติให้ถูกต้อง ตามกฎหมาย ด้วยซ้ำ

หากใครที่เกิดมาในตระกูลร่ำรวยแล้วไม่เอาความร่ำรวยมาเพิ่มความร่ำรวย ก็จะถูกมอง ถูกหาว่า เป็นคนขี้เกียจ เป็นคนไม่เก่ง เหตุเช่นนี้จึงเป็นแรงผลักดันทำให้คนที่ร่ำรวยอยู่แล้ว "ไม่ยอมจน"

อย่ากล่าวไปถึง "ยอมจน" เลย แม้แค่ "ยอมลดลงบ้าง" ก็ยังยาก เริ่มตั้งแต่การกินการใช้ จะมีสักกี่คน ที่เกิดมารวย แต่การกินการใช้อย่างกับคนจน คือกินของไม่แพง ใช้ของไม่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย เพราะถ้า ทำเช่นนี้ ก็จะถูกหาว่าขี้เหนียว หรือไม่ก็ถูกหาว่า "เป็นคนบาป" ( ไม่รู้จักกิน ไม่รู้จักใช้)

จะมีคนรวยสักกี่คน ที่ยังคงขยันทำงาน ยอมลำบาก แม้ว่าถ้าไม่ทำงานก็ยังมีเงินใช้ แม้เขายังใช้เงินอยู่ ก็จะ "ใช้เงินเพื่อคนอื่น"

คนที่มีสมบัติมาก แต่ไม่ละโมบในสมบัติ ไม่หลงในความมาก ไม่ใช้ความมากเหล่านั้นไปสร้าง ความมาก ให้เพิ่มขึ้นแก่ตน แล้วหลงยึดความมากเหล่านั้นมาเป็นของของตน คนนั้นแหละคือคนที่ ไม่ก่อหนี้ ไม่สร้างหนี้ การเกิดมาของเขาเป็นการเกิดมาเพื่อล้างหนี้โดยแท้

เช่นเดียวกับคนที่แม้เกิดมามีสมบัติน้อย หรือไม่มีสมบัติเลย แต่เกิดมาแล้วก็ยังหลงความมีสมบัติ พยายามตะเกียกตะกายไขว่คว้าให้ได้มาซึ่งสมบัติต่างๆ จนมีสมบัติเพิ่มมากมาย จะด้วยวิธีไปกู้เขามา ไปสร้างหนี้มาก็ตาม คนนั้นแหละคือคนที่เป็นลูกหนี้เพิ่มขึ้นๆ ตามวันเวลา ตามอายุที่มากขึ้นๆ ทั้งสิ้น

หนี้วัตถุที่ว่ามากแล้ว ยังเทียบไม่ได้กับหนี้เวร หนี้บาป ที่จะผันกลับมาล้างความเป็นคนของตนๆ ตามสัดส่วนของการสร้างหนี้เหล่านั้น จนอาจเป็นตัวแปรทำให้คนๆนั้น ต้องกลายร่าง จากคนไปเป็น สัตว์เดรัจฉาน ทดแทน เช่น เป็นวัว เป็นควาย เป็นช้าง เป็นม้า เป็นหมา และสัตว์อื่นๆ ที่ต้องมาเป็น ทาสคนอีก ในวัฏสงสารอันไม่มีความสิ้นสุดนี้

สัตว์ชนิดที่กล่าวนามมาข้างต้น มาเป็น "ทาสคน" ก็ไม่กระไรนัก แต่ถ้า "คนเป็นทาสสัตว์" ล่ะ จะยิ่ง ตกต่ำ สักเพียงใด เช่นบางคนที่ยอมเลี้ยงดูสัตว์ รักหลงใหลสัตว์บางชนิดยิ่งกว่าคน และหลงผิด ไปอิสสาริษยาสัตว์ที่ต่ำกว่าคน ว่ามันตัวนั้นได้รับการเลี้ยงดู ได้รับการเอาใจใส่ ประคบประหงม ยิ่งกว่าเรา ที่เป็นคนเสียอีก ก็มีคนคิดเช่นนี้อยู่

เพราะรสนิยมความเป็น "นายทุน" ที่มิจฉาทิฐิเช่นนี้ ทำให้คนไปยกย่องการสร้าง เพิ่มความร่ำรวย ด้านวัตถุเงินทอง ข้าวของเชิง "วัตถุธรรม" มากกว่า ไม่คิดถึง "อาริยธรรม" สักนิดหนึ่งว่า เมื่อเราได้ ต้นทุน ความเป็นคนมาแล้วในชาตินี้ ก็ควรใช้ต้นทุนนี้แหละรักษาความเป็นคนไว้

ไม่เพียงแค่นั้นเท่านั้น ยังต้องใช้ความเป็นคนสร้างความเป็นอาริยะให้ยิ่งๆ ขึ้นด้วย เพราะความเป็นคน ที่ว่าดีแล้ว ก็ยังเป็นเพียงในชาตินี้เท่านั้น ชาติต่อๆ ไปใครเล่าจะ มั่นใจได้ว่าไม่แปรเปลี่ยนเป็นอื่น ตราบเท่าที่ คนนั้นยังไม่อยู่เหนือความเป็นคน

ความเป็น "คนดี" เป็นต้นทุนในการสร้างความเป็น "คนอาริยะ"
ความเป็น "คนสละ" เป็นต้นทุนในการสร้างความเป็น "คนสูง"
ความเป็นคน "ละ" เป็นต้นทุนในการสร้างความเป็น "คนหมดความเป็นคน"
คนที่มีวิญญาณอาริยะ จะเอาร่างกาย เอาแรงงานของตน มาแปรสภาพเป็น"ต้นทุน" เพราะตัวเองคือ "นายทุน" ที่แท้

ต่างจากคนที่มีวิญญาณ "นายทุน" ชอบที่จะ "เอาวัตถุ" และ "เอาคนอื่น" มาเป็นทุน จะด้วยการซื้อ ใช้อำนาจ ใช้ความฉลาดด้วยเล่ห์กระเท่ห์นานาสาระพัด อย่างลืมนึกถึงความเป็นหนี้อย่างสิ้นเชิง

แม้หนี้นั้นจะออกในรูปชีวิตบางคน ที่คนอื่นมองเห็นว่า "ทำไมถึงยอมเป็นทาสเขา" ถึงปานนั้นก็มี "ทำไมถึงทำอะไรโง่ๆ ได้อย่างนั้น" ก็มี

แต่ผู้ที่ถูกมอง ผู้ที่คนอื่นมองเห็นว่าเป็นเช่นนั้นๆ ก็ยังไม่รู้สึกตัว ยังไม่ฉงนนำมาขบคิด ยังคงคิดหลงตัว ว่าตนเองมีบุญด้วยซ้ำ

เฉกเช่นยุคที่คนนิยมระบบทาส คนที่เป็น "นายทาส" หลงตัวว่า "เหนือทาส" หลงตัวว่าเป็น "เจ้าของ ลูกทาส" แล้วก็นำความเป็นนาย ความเป็นเจ้าของเหล่านั้นแหละไปทำร้ายตัวเอง สร้างความเป็น "ทาสกิเลส" ให้แก่ตนเพิ่มขึ้นไปอีก

มาถึงยุคที่ยกเลิกระบบทาสที่เป็นตัวเป็นตนชัดๆ เช่นนี้มาแล้ว ก็ยังมิวายที่คนจะก่อร่าง สร้างความ เป็นทาส ในรูปแบบอื่นๆ และคนก็ไม่มีโอกาสรู้ว่าตนเองเป็นทาสอีกด้วย เพราะ "คนติดรส เสพใน ความมี ความเป็น" อย่างนั้นๆ ปิดกั้นความเป็นทาสโดยสิ้นเชิง

คนที่หลงผิดมากมายจึงชักชวน ส่งเสริมให้คนเดินไปในทิศทางที่เพิ่มความเป็น "ทาสทุนนิยม" ยิ่งขึ้น ความชอบรักสะดวก รักสบาย เป็นเหตุของความเป็น "นายทุนเศรษฐกิจทุนนิยม" ทุกชนิด

เศรษฐกิจทุนนิยมจึงตั้งอยู่บนฐานของการสร้างหนี้ เพิ่มหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บาป หนี้เวร หนี้ชีวิต หนี้ดอกเบี้ย จนปรากฏในรูปของยิ่งเพิ่มทุนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นหนี้ในทุกรูปแบบมากขึ้นเท่านั้น

ถ้าคนใดรู้สึกตัว หันกลับมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง หักลบหมดหนี้ ด้วยการเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่คิดว่า "ได้เปรียบมาก-คือได้กำไรมาก" มาเป็นความคิดใหม่ว่า "ยอมเสียเปรียบมาก-คือได้กำไรมาก" แทน คนนั้นแหละ คือคนที่กำลังเดินทางไปสู่ความเป็นผู้หมดหนี้ยิ่งๆ ขึ้น

ลองหัดทำ "ยอมให้คนอื่นได้เปรียบ-ยอมให้คนอื่นได้มากกว่า" ในทุกๆเรื่องดูบ้าง ตั้งแต่ในระหว่างพี่ๆ น้องๆ ญาติๆไปก่อน จนกระทั่งเขยิบวงกว้างออกไปเป็นเพื่อนบ้าน ชุมชน ประเทศ เชื่อแน่ว่า นี่แหละ คือการปูทิศทางการเดินไปสู่วิถีแห่ง "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่แท้จริง อันเป็นที่พึ่งของตนและเป็นที่พึ่ง ของสังคมด้วย

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ -