ลองเลิกหาเสียงชวนเชื่อ ดูบ้าง...?!
- วิมุตตินันทะ -


คนคิดไว พูดไว อย่างคุณทักษิณ ตั้งใจ เปิดอกที่สโมสรตำรวจ เรื่อง "สิ่งค้างคาใจนายกฯ" มีข้อสำคัญ อันหนึ่งว่า "ถ้าเมื่อไหร่การเมืองมีต้นทุนสูง เมื่อนั้นแก้ปัญหาคอรัปชั่นยาก และเมื่อไหร่ประชาชน ยังรับเงิน ค่าซื้อเสียงจากผู้แทนฯ หรือจาก อบจ. อบต. เมื่อนั้นประชาชนจะลำบาก และต้นทุน ของการครองชีพจะสูงขึ้น ถ้าไม่แก้ตรงนี้ลำบาก มันอยู่ที่ว่าใครจะเลิกทำไม่ดีก่อนใคร...?!

อย่างเลือกตั้งเที่ยวนี้ ผมเตือนทุกคนว่าโดยส่วนตัวผมมีตังค์ ผมให้ได้ แต่ผมจะช่วยในระดับหนึ่ง ถ้าผมให้มาก สิ่งเหล่านี้จะติดตัวต่อไป แล้วในที่สุด ถ้าผมไม่อยู่ตรงนี้ แล้วคนที่ไม่มีตังค์มานั่งอยู่ แล้วการเมือง ต้องใช้สตางค์เพื่อไปเลือกตั้งมากๆ มันก็พัง ในที่สุดมันก็ต้องคอรัปชั่น..." (ไทยโพสต์ ๑๙-๙-๔๗)

ปัญหาคอรัปชั่นที่กำลังฮิตและฮอต หลังดร.สุเมธ ตันติเวชกุล แห่งมูลนิธิเมืองไทยใสสะอาด ออกมา เปิดประเด็น รัฐบาลก็โหนกระแสโดยเลื่อนวันประกาศสงครามคอรัปชั่นเร็วขึ้น ๓ วัน จากเดิม ๓ ตุลา มาเป็น ๓๐ กันยา

โดยเฉพาะเรื่องที่นายกฯ ทักษิณออกมาแฉโพยเอง เหมือนจะพูดโดนใจดี แต่เอาเข้าจริง จะทำได้ โดนใจ แค่ไหนบ่ฮู้ แล้วก็ไม่รู้ใครกันแน่เป็นต้นตอบ่อใหญ่ขาประจำตัวแสบแอบซื้อเสียง ถ้าไม่ใช่... พวกท่านทั้งหลาย ที่ใช้เงินเดินลอยหน้าเข้าสภา!

มันถูกเจ๋งเป้งอย่างท่านว่า ใครจะเลิกทำเลวก่อนใครนั่นนะสิ แหม... ต่อให้ยี้ขนาดไหน ยังดูดเข้ามา ค้ำบัลลังก์ โดยไม่ยักรังเกียจสักนิด ดูพิลึกเกินคาดบ้างไหม

อะไรๆ เหมือนจะรู้ดีรู้ชั่วหมดแล้ว ทำนองกินอยู่กับปาก อยากอยู่กับท้อง ประมาณนี้กระมัง เพียงแต่ จะดูว่า ทำเป็นพูดขึงขังเอาโก้ สุดท้ายกลายเป็นไฟไหม้ฟางรึเปล่าเอ่ย...

เอาเถอะ คงไม่ควรด่วนเพ่งโทษไปเสียหมด เหมือนจะบังอาจหมิ่นแคลนน้ำใจท่านผู้นำของเรา มากเกินไป ไหนๆ นายกฯก็อุตส่าห์คิดใหม่ พูดถูกจริงๆ ขนาดนี้แล้ว เราท่านจึงน่าจะให้กำลังใจ หนุนส่งช่วยนายกฯทักษิณให้ทำถูกตามที่คิดที่พูดให้เต็มๆ สักที เฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนซื้อเสียง เป็นเหตุให้ ต้องถอนทุนโดยคดโกงหรือฉ้อฉลคอรัปชั่นนโยบาย สุดท้ายไม่วายพาต้นทุนค่าครองชีพ แพงขึ้น มันก็เดือดร้อนคนรากหญ้านั่นเอง

อนึ่ง ประเด็นคำกล่าวหาอันไม่น่าจะมองข้ามไป คือนายกฯ พูดว่า "เมื่อไหร่ประชาชน ยังรับเงิน ค่าซื้อเสียง จากผู้แทนฯ หรือจาก อบจ. อบต. เมื่อนั้นประชาชนจะลำบาก (จากการคอรัปชั่น..ผู้เขียน) "

ข้อสรุปข้างต้นดังกล่าว ดูจะโทษประชาชนมากเกินไป เลยมักจะคิดต่อว่า ต้องให้การศึกษาพวกเขา สูงขึ้น หรือมีเศรษฐกิจดีขึ้น แล้วปัญหาขายเสียงจะลดลง ขี้มักชอบฝันกันพรรค์นี้

ตรรกะดังว่า มันถูกไม่ถึงครึ่ง อย่างเก่งแค่เสี้ยวเดียว ทำไมไม่ไปเพ่งคนซื้อเสียงบ้างว่า เป็นจอมโจร บัณฑิต สายพันธุ์ไหนบ้าง แต่ละท่านล้วนมีดีกรีทั้งนั้น แม้สูงถึงดอกเตอร์ก็มีเป็นเข่งๆ เต็มสภา แล้วจะเอายังไงอีกดี คิดบ้างไหมว่าการศึกษามันช่วยส่งเสริมเก่งก่อนดี หรือดีก่อนเก่งมากกว่า มันช่วยฉลาดแกมโกงเหมือนเสือติดปีกตั้งเท่าไหร่ คงไม่ผิดนักดอกที่จะบอกว่า พวกรู้มาก ชอบเอาเปรียบ คนทั้งหลาย หรือพวกยิ่งรวยยิ่งโกงเก่งเยอะเลย ทำนองนั้นเป็นต้น

นอกจากนี้ บทสรุปของนายกฯ ที่ชี้ให้เห็นผลพวงซื้อเสียง เป็นเหตุคอรัปชั่นและเพิ่มต้นทุนทางการเมือง ทั้งเพิ่มต้นทุนค่าครองชีพมโหฬารนั้น มันพังพินาศหมด ฟังแล้วเลยไม่รู้ว่าคนพูด เท่ากับสารภาพบาป รึเปล่า เพราะเงินที่ทุ่มแจกพรรคพวกไปเลือกตั้ง เชื่อเหลือเกินว่ามันก็ไปซื้อเสียงนั่นแหละ

ดังนั้น สิ่งที่ไทยรักไทยเคยทำไปได้ ด้วยคนชื่อทักษิณมีเงินถังเป็นพ่อบุญทุ่มอะไรเทือกนั้นก็ตาม ใช่ว่า ใครเห็นช้างขี้แล้วจะขี้ตามช้างได้ โดยนายกฯ บอกเป็นนัยว่า คนอื่นอย่ามาเอาอย่างเลย แปลอีกทีว่า ที่ท่านใช้เงิน เอื้ออาทร ส.ส.ไป ไม่อาจถือเป็นตัวอย่างมาตรฐานให้เอาเยี่ยงอย่างต่อไป ถอดรหัสแบบนี้ คงไม่ผิดนะครับ


หาเสียง วงจรอุบาทว์...
เมื่อบ้านเมืองค่อยๆ มาเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบค่อนใบ จนเชื่อกันว่าเต็มใบเท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ เราจำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง แล้วก็คิดว่าจะเลือกตั้งมันต้องหาเสียง เพื่อประชาชนจะได้ใช้สิทธิ์เลือกตามใจชอบเต็มที่

ในวิสัยทัศน์ของผู้มีปัญญารู้แจ้งโลกุตรธรรมและโลกียวิสัยด้วยผู้หนึ่ง อย่างพ่อท่านโพธิรักษ์ กลับเห็นว่า การเลือกตั้งที่ยังต้องหาเสียง ไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยแท้จริงแล้ว ไม่ต้องหาเสียงเลย ท่านฟันธงเด็ดขาดไปอย่างนั้น

มันจึงเป็นประชาธิปไตยแบบฉบับ การเมืองบุญนิยม อันแตกต่างคนละฟากฟ้ากับ ประชาธิปไตย ทุนนิยม

กรณีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.สดๆ ที่เพิ่งผ่านไป ภาพที่เห็นอย่างเคยๆ เก่าๆ คือ การหาเสียงโดยเฉพาะ แข่งกันขึ้นป้ายใหญ่ ป้ายยักษ์ จนกระทั่งติดป้ายเล็กเบอร์น้อยเต็มถนนซอกซอย เพียงทุ่มเททำป้าย หาเสียงเลอะเทอะเหล่านี้ มันผลาญไปไม่รู้กี่ล้านแล้ว ยิ่งนับค่าโฆษณาสื่อสาร ทั้งค่าจ้างแรง คนวิ่งวุ่นหาเสียง เปลืองโสหุ้ยเวลาสารพัด รวมๆ เงินทองที่โถมตำน้ำพริกละลายแม่น้ำในงานเลือกตั้ง แม้โดยถูกกฎหมายก็ตาม มันก็เพิ่มต้นทุนทางการเมืองโดยเปล่าประโยชน์ และปิดโอกาสของ ผู้เสียสละ ที่พร้อม ปรีชาสามารถ มากน้ำใจ แต่ไม่มีเงินหนาพอประชันขันสู้

เวทีเลือกตั้งที่ต้อนรับผู้สมัครเงินถังเท่านั้นมีสิทธิ์ คนจนๆ อย่าแหยม แบบนี้ก็เป็นประชาธิปไตย โดยคนส่วนน้อย ไม่ใช่เป็นของคนส่วนใหญ่และโดยคนส่วนมากที่ยากดีมีจนย่อมควรเท่าเทียมกัน

บทเรียนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. น่าจะบอกอะไรอีกหลายอย่าง เช่น เฉลิม อยู่บำรุง ดูจะออกป้าย นำหน้า ไม่แพ้ใคร ทั้งจำนวนและสีสัน แต่คะแนนได้ไม่ติดกลุ่ม ๑ ใน ๕ คงจะไม่คุ้มกับป้ายที่ทุ่มไปเป็นแน่ หลายคนคงเห็นใจพ่อที่มีประสบการณ์เลี้ยงลูกชายเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่ง ถึงจะอุ้มหลานมาอวดขึ้นป้าย คนเขาคงอยากบอกว่าคอยไปเลี้ยงหลานอยู่ก็ดีแล้ว ต่อให้มีป้ายหาเสียงเท่าไหร่ เสียงจึงไม่ยักมา หรือว่าคุณเฉลิมอยากสนุกใช้เงินเล่นๆ ก็เป็นได้ ใครๆชอบคิดมากแทนไปเองรึเปล่าเอ่ย...

เป็นไปได้ไหมที่นิทานเรื่องนี้ สอนให้เรารู้ว่าคะแนนเสียในอดีต มีผลต่อคะแนนเสียง ในปัจจุบัน ถึงอนาคต

กรณีศึกษาอีกราย อย่างปวีณา หงสกุล อุตส่าห์ทิ้งพรรคชาติพัฒนา หวังอวดภาพอิสรชน หมายเอาใจ ค่านิยมชาวกทม. ไปๆ มาๆ รู้กันทั่วว่าเบื้องหลังพรรคไหนหนุนเต็มๆ ฐานเสียงม้าตีนต้น จึงต้องหล่น ถอยตามขาลง ของรัฐบาลที่ไปเกาะแข้งขาไว้ขนาดไหนไม่รู้ด้วย

บทเรียนของหญิงเก่งเช่นปวีณา มีผลงานปวีณา ๒๔ ชั่วโมง เธอมีคะแนนเสียงจัดตั้งอยู่แล้ว ถ้าพึ่ง ตัวเองต่อไป ไม่มีใครหมั่นไส้ น่าจะได้คะแนนเห็นใจมากกว่าที่ออกผลมาเชื่อว่า อย่างนั้นไหม?

ในส่วนชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ แม้จะมีภาพคนสีเทา มีเงาเจ้าพ่ออ่างอยู่ข้างหลัง ด้วยบทนักสู้ลูกผู้ชาย ที่ตั้งใจ จริงจัง ถึงจะยังเลอะเทอะอบายมุขบางด้าน เขาก็ได้คะแนนจากพวกเดียวกัน หรือขาโจ๋ ที่ไม่ถือสา อาชีพของเขาตามวุฒิภาวะที่ยังอ่อนโลก ผลสำเร็จของคุณชูวิทย์ คงต้องยอมรับว่า เป็นการหาเสียง ได้เกินคาด แต่เสียงที่หาได้เชิงการตลาด ใช้ข้อเด่นของตัวเองเป็นจุดแข็งจุดขาย มันก็เป็นเสียง จากพวกมีคุณภาพวิสัยทัศน์ประมาณนั้น เท่านั้นเอง

สำหรับอภิรักษ์ โกษะโยธิน ซึ่งได้คะแนนล้นหลาม นอกจากผลงานของนักการตลาดมืออาชีพแล้ว ตัวแปรที่สำคัญ คือเป็นที่รู้กันว่า เพราะผลพวงพวกเสื่อมศรัทธาไทยรักไทย โทษฐานหลงตัว เหลิงอำนาจ ยิ่งท่านผู้นำพูด อวดดีแต่ละที ฉุดค่านิยมดิ่งเหวหายห่วง ถึงคนจะเบื่อประชาธิปัตย์ยังไง แต่เพื่อถ่วงดุล ไทยรักไทยบ้าง คนกรุงจึงแห่ดัน อภิรักษ์เป็นผู้ว่าฯ กทม.จนเหนือปวีณา ขาดลอย

อีกรายที่น่าจะกล่าวขวัญถึงด้วย คือ นิติภูมิ นวรัตน์ คะแนนติดอันดับที่ห้า ทั้งๆ ที่เปิดตัวช้า ยังหาเสียง เทียบไม่ติด กับพวกที่กล่าวมาข้างต้น แต่ผลที่ออก สะท้อนให้เห็นเสียงศรัทธาอันชัดเจน เพราะผลงาน ประจำคอลัมน์ น.ส.พ.ไทยรัฐและสื่อทีวี เป็นทั้งนักเขียนและนักพูด ผู้คนได้สัมผัสวิสัยทัศน์ เช่นนี้ เป็นต้น งานที่ทำไปกับสังคม จึงมีน้ำหนักสำคัญมากกว่าการหาเสียงก่อนเลือกตั้งช่วงสั้นๆ

อย่างดร.นิติภูมิ รู้สึกว่าจะได้คะแนนจากฐานเสียงของตนเอง มากกว่าตัวช่วยทางการตลาด หาเสียงอื่นๆ ในขณะที่ ดร. มานะมหาสุวีรชัย กลับไม่ได้เสียงติดอันดับเลย เพราะคนไม่ค่อยรู้จัก ผลงานไม่เป็นที่ประจักษ์เด่นชัด แม้มหาจำลอง จะอุตส่าห์หนุนเต็มตัว ยังไงก็ลุ้นไม่ขึ้น แถมส่งจม. หาเสียงด้วยเป็นแสนๆ ฉบับ ผลตอบรับไม่ดีดังคาด นี่ก็คงเป็นอีกตัวอย่าง ของการหาเสียง ที่เหมือน เหนื่อยเปล่าก็ว่าได้ ความจริงจึงน่าจะอยู่ที่ผลงาน หากทำดีแล้วยังไม่ได้ดี ท่านถือว่า ทำดียังไม่มากพอ

สรุปแล้วผลเลือกตั้งผู้ว่า กทม. แม้ว่าการตลาดหาเสียงจะมีส่วนในผลสำเร็จสำคัญของหลายคน เช่น อภิรักษ์ แต่ที่นับว่าล้มเหลวชัดๆ ก็มีเฉลิม เป็นต้น ดังนั้นตัวแปรของคะแนนเสียง นอกจากกระแส ค่านิยมขาลง กับรัฐบาลแล้ว หลักใหญ่กว่าเพื่อน น่าจะอยู่ที่ศรัทธาตัวบุคคล อันเกิดจากผลงาน ที่สังคมประจักษ์ชัด ความจริงดังว่านี้ควรจะเป็นสรณะ ให้พึ่งตัวเองได้มากกว่า เทคนิคการตลาด หาเสียงใดๆ และถึงแม้การหาเสียงเพื่อโฆษณาตัวเองเหมือนโฆษณาสินค้า จะสามารถจูงใจ ให้คนเชื่อ เป็นผลสำเร็จขนาดไหน มันก็ยังเป็นเสียงนิยมหลอกๆ หลวมๆ ใครมีทุนหนาฝีปากดี ก็อาจโฆษณา ชวนเชื่อให้คนหลงลมปากดังที่ผิดหวังอกหักอกพังมาแล้วไม่รู้เท่าไหร่ แม้คนกรุง ก็ใช่จะรู้ทัน นักการเมืองอาชีพ ชิมไป บ่นไป เป็นต้น

ข้อพิสูจน์ว่า การหาเสียง ไม่ใช่สิ่งจำเป็นกับการเลือกตั้ง อย่างเช่น ก่อนเลือกตั้งผู้ว่า กทม. มีโพลล์ สำรวจ ชาวกรุงอยากให้ ดร.ปุระชัยเปี่ยมสมบูรณ์ มาลงสมัคร มีเสียงหนุนล้นหลาม ถ้าสมัครจริง มีหวังได้ โดยไม่ต้องหาเสียงให้เมื่อยด้วย คนอื่นๆ คงถอยฉากชิดซ้ายเป็นแถวอย่างไรก็ตาม เจ้าของฉายา คนดีไม่มีเสื่อมต่อมาระยะหลัง ลดความขลังลงไปเยอะ คงจะด้วยทิฐิ มีอัตตามานะ สุดโต่งไปหน่อยรึเปล่า ถึงเข้ากับคนดีไม่ค่อยได้แม้คนเขาจะดีน้อยดีมากกว่าก็ตามจึงเป็นกรณีศึกษา เคร่งตำรานัก มักใจดำ ประมาณนั้น คนดีย่อมมีสิทธิ์เสื่อมเมื่อประมาทไม่ฉลาดเคร่งครัดที่ตน ผ่อนปรน คนอื่น

ดังนั้น การหาเสียงชวนเชื่อ ทั้งเพิ่มต้นทุนการเมืองให้แพงขึ้นเปล่าๆ มันจริงอย่างที่นายกฯ ทักษิณ ประจักษ์แจ้งว่า ลงทุนซื้อเสียงแล้วก็ต้องคอรัปชั่น (โดยเฉพาะ คอรัปชั่นนโยบาย)

จะแก้เกมซื้อเสียงให้เด็ดขาด มันต้องตัดไฟต้นลม คือล้มการหาเสียงไปเลย เช่น คนรู้ทันนักเลือกตั้ง อย่าไปเลือกพวกหาเสียงโฆษณาตัวเองเหมือนสินค้า ให้ดูความจริงของแต่ละคน ตามที่เขาทำไว้ ให้เราได้รู้เห็นเป็นตัวตัดสิน

ประชาธิปไตยขนานแท้ไม่ต้องหาเสียงชวนเชื่อตามพ่อท่านโพธิรักษ์แนะนำ นับเป็นนวัตกรรมใหม่ ทางการเมือง คงไม่มีใครกล้าคิดใหม่ ทำใหม่ แบบนี้ดอก พรรคเพื่อฟ้าดินนั่นแหละ คงจะนำร่อง การเมืองบุญนิยมทางเลือกใหม่ เสนอตัวลงเลือกตั้งโดยไม่หาเสียงชวนเชื่อใดๆ ไม่ต้องผลาญเงิน อีกต่างหาก อันนี้จะได้จุดประกายแก้ลำการเมืองน้ำเน่าเสียทีดีไหม...

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ -