กติกาเมือง - ประคอง เตกฉัตร -
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดยะลา


ความสงบสันติในภาคใต้

สถานการณ์โลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์หลังยุคสงครามเย็นระหว่างโลกเสรี หรือทุนนิยมกับ คอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ ความขัดแย้งในเรื่องความแตกต่าง ในสถานภาพ ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา และดุลยภาพ ทางด้านเมืองทั้งภายนอกและภายในประเทศ มีผลต่อความคิดและความหวังของกลุ่มคนทั้งในและนอกประเทศ สถานการณ์ทั่วไปได้เปลี่ยนแปลง ไปสู่สภาพของการเผชิญหน้ากัน ของอภิมหาอำนาจของโลก ที่ควบคุมกระแสโลกาภิวัตน์ กับกลุ่ม ต่อต้าน ซึ่งใช้ความเชื่อศรัทธา ความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และความไม่เท่าเทียมกัน ในสังคม ซึ่งมีชนชาติมุสลิมหรือประเทศแถวตะวันออกกลาง หรืออาหรับ เป็นผู้นำ เป็นเงื่อนไข ทำสงครามกัน ในรูปสงคราม ก่อการร้าย เพราะไม่สามารถทำสงคราม ในรูปแบบได้ เพราะด้อยกว่า ทางด้าน ประสิทธิภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยี อันมีผลกระทบ ต่อความมั่นคง ในหลาย ภูมิภาค และรวมถึงพื้นที่สามจังหวัด ชายแดนภาคใต้เข้าไปด้วย

สภาพเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ประกอบด้วยจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส พื้นที่รวม ๖.๗๙ ล้านไร่ หรือ ๑๐,๙๓๖ ตาราง กิโลเมตร ประชากรประมาณ ๑.๗๘ ล้านคน พื้นที่ ดังกล่าวเป็นพื้นที่พิเศษตามประกาศของรัฐบาล คือมีลักษณะพิเศษ ในด้านการดำรงชีพ ทางด้าน เชื้อชาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี สังคม วัฒนธรรม ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นชาวไทย ที่นับถือศาสนาอิสลาม ใช้ภาษามลายูท้องถิ่น ในการดำรงชีวิต เป็นสังคมมุสลิมที่ใช้วัฒนธรรมอิสลาม มีวิถีชีวิตเฉพาะ ที่แตกต่างไปจากประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่ ของประเทศ ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพ ซึ่งจากความแตกต่างทำให้เป็นเงื่อนไขที่กลุ่มขบวนการก่อการร้ายนำมาอ้าง เพื่อปลุกกระแส เกิดการต่อต้านอำนาจรัฐ และก่อความไม่สงบ ในรูปแบบต่างๆ มาโดยตลอด ตั้งแต่ประเทศไทย เริ่มเปลี่ยนแปลง การปกครองเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นต้นมา โดยผนวกเอา ประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ เข้ามาเป็นมูลเหตุ

สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัจจัยภายในที่เป็นจุดอ่อน และเงื่อนไข จากความแตกต่าง ทางด้าน เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม เกื้อกูลให้กลุ่ม กระบวนการต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ แสวงหาประโยชน์ จากการแอบอ้าง ความเชื่อ ทางศาสนา เข้าไปปลูกฝังอุดมการณ์ให้กับประชาชนเพื่อสืบทอดในรุ่นต่อๆไป ประกอบกับสภาพ พื้นที่พรมแดน ระหว่างไทย และ สหพันธรัฐ มาเลเซีย ง่ายต่อการหลบหนีหลังจากก่อเหตุร้าย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการก่อความไม่สงบ มีลักษณะกระจาย ในหลายพื้นที่ โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อจะตอบโต้ ก่อกวน สร้างความสับสนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะส่งผลด้านจิตวิทยา และความเชื่อมั่นของประชาชน ต่อรัฐบาล

สำหรับปัจจัยภายนอกที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากกระแสในตะวันออกกลาง ต่อต้าน ชาติตะวันตก โดยเฉพาะ ประเทศสหรัฐอเมริกา และพันธมิตร อาจทำให้กลุ่มก่อการร้าย เข้ามาแสวงประโยชน์จากสถานการณ์ในภาคใต้ได้ ประกอบกับมีเงื่อนไข การที่ไทยส่งทหาร ไปร่วม ฟื้นฟู ประเทศอิรัค เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกิดขึ้น อย่างต่อเนื่อง มีเหตุผลมาจาก กลุ่มขบวนการต่างๆ กลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น กลุ่มอิทธิพลการเมือง และการไม่สามารถแก้ปัญหาอาชญากรรม ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก อาจเป็นการบ่อนทำลาย อำนาจรัฐ สำหรับการดำเนินการของเจ้าที่ต้องพบอุปสรรคคือ การไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงยากต่อการแก้ไข และทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น และนับวันจะซับซ้อนมากขึ้น เพราะบุคคล จากต่างประเทศ เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าด้านงบประมาณ ข่าวสาร อาวุธ หรือการให้ การศึกษา การปลูกฝังและที่หลบซ่อน

จากสภาพการณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในปัจจุบันยังมีลักษณะต่างหน่วยต่างทำการควบคุม บังคับบัญชา และติดต่อสื่อสาร ขาดประสิทธิภาพ การทำงานเป็นไปในลักษณะตั้งรับ ไม่มีการ ปฏิบัติงาน ในเชิงรุก ทำให้ข้าราชการเสียขวัญ ประชาชนไม่มั่นใจ ฉะนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงาน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ในพื้นที่ สามจังหวัด ชายแดนภาคใต้ จึงต้องเร่ง ทำลายโครงสร้าง ของกลุ่มขบวนการต่างๆ ให้รัฐสามารถ พัฒนา และสร้างสันติสุข ในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป และเป็นที่ประจักษ์ แก่ประชาชนว่า รัฐบาล สามารถ ให้ความคุ้มครองเขาได้

เราต้องมีเจตนารมณ์ให้ทุกคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการดำรงชีวิตที่สามารถอยู่ร่วม กันได้ อย่างมีความสุข บนเอกลักษณ์ เฉพาะของศาสนา และวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของ ความหลากหลาย ทางวัฒนธรรม ปฏิบัติการรักษาความเรียบร้อยในพื้นที่ ด้วยการสนับสนุน ของประชาสังคม ภายใต้มาตรการป้องกันตนเอง การเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่เอนเอียงต่อกลุ่มใด หรือฝ่ายใดโดยสันติวิธี ให้ทุกคนยึดมั่น ต่อความสงบสุข ของประชาชน เป็นศูนย์กลางของการปฏิบัติ ทั้งปวง ด้วยการให้ความสำคัญและให้เกียรติในการเท่าเทียมกัน ของทุกกลุ่ม ชุมชน ทุกศาสนา ประชาชนในพื้นที่มีโอกาส และบทบาทในการมีส่วนร่วม ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนา ทำงานร่วมกับ ทุกฝ่าย ในสังคม เพื่อปกป้องวิถีชีวิต ของคนในสังคม จากผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลง และ แรงกดดัน ทั้งภายใน และภายนอกประเทศ

เพื่อยุติสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้โดยเร็ว ควรปรับปรุง สภาพแวดล้อม และสร้างบรรยากาศ ให้เกิด ความมั่นคง ให้อยู่ในระดับที่เกื้อกูลต่อการพัฒนา เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม บูรณาการการปฏิบัติงานของทุกองค์กร ในการป้องกัน และต่อต้าน การก่อความไม่สงบ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยความเข้าใจและเข้าถึงประชาชน ปฏิบัติงาน ในเชิงรุก เสริมสร้างสันติสุข ให้เกิดความยั่งยืน หลีกเลี่ยงการปฏิบัติการใดๆ ที่ก่อให้เกิดสถานการณ์ ยืดเยื้อและรุนแรงยิ่งขึ้น ในการดำเนินการ ดังกล่าว จะต้องกลับมา เป็นฝ่ายรุกทางการเมือง เอาชนะแนวความคิดโดยเฉพาะพยายามลดระดับ แนวความคิด ของกลุ่มหัวรุนแรงให้เป็นสายกลาง เอาชนะ กลุ่มอิทธิพล ทุกฝ่าย สิ่งแรกที่ควรกระทำ ได้แก่ กลุ่มข้าราชการที่ประพฤติมิชอบ กลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น และกลุ่มอิทธิพลนักการเมือง จะต้องถูกกำจัด ในลำดับถัดมา รวมถึงการปฏิบัติ ทั้งสิ้นที่ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ มีความสำนึก ร่วมในการเป็นคนไทย มีส่วนร่วมในการเป็น เจ้าของประเทศ และได้รับผลประโยชน์ เท่าเทียมกัน การรุกทางด้านสังคมจิตวิทยา ซึ่งได้แก่การปฏิบัติ ทั้งสิ้นที่ส่งผล ประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า ที่มี ความแตกต่าง และหลากหลาย สามารถแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น ซึ่งกันและกัน และร่วมกัน พัฒนาประเทศ

ต้องขจัดเงื่อนไขและสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดความรู้สึกแตกแยกของประชาชนในพื้นที่ ที่เกิดความรู้สึก ไม่เท่าเทียมกัน สาเหตุจาก ความหลากหลาย ทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ความรู้สึกถูกเอาเปรียบ และ ความแตกต่างของสถานะทางสังคม ป้องกันและปราบปราม การทุจริตประพฤติมิชอบ ในวงราชการ อย่างเฉียบขาด ทำลายการกดขี่ขูดรีดผู้มีอิทธิพลและธุรกิจผิดกฎหมายให้หมด สร้างสิ่งที่ปลอดภัย ในชีวิต และทรัพย์สิน ของประชาชน อิสระเสรีในการอุทิศศาสนา ความเชื่อ และการดำรงชีวิต ประจำวัน

ดำเนินการเพื่อให้เกิดการประสานประโยชน์และอยู่ร่วมกัน ระหว่างกลุ่มชนในสังคมที่มีความแตกต่าง ในด้านเชื้อชาติ ศาสนาและความเชื่อ สร้างที่ว่างให้กับวัฒนธรรม และสังคมอิสลาม ให้เป็นส่วนหนึ่ง ของสังคมไทยโดยส่วนรวม เพื่อให้ประชาชน และสังคมไทย มีการยอมรับ ความแตกต่าง ทางสังคม ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปฏิบัติต่อกลุ่มแนวร่วมที่หลงผิด หรือผู้กระทำผิด อย่างเพื่อน ร่วมชาติ โดยใช้ กระบวนการ ทางกฎหมายมาเป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหา และทำความเข้าใจ สร้างความร่วมมือในประชาคมโลก และในภูมิภาค ถึงสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค เท่าเทียมกัน ของประชาชน ทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนาในสังคม โดยเน้นไปที่ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือ ในตะวันออกกลาง โดยใช้หน่วยงานทางศาสนามุสลิมและองค์กรต่างๆของรัฐ ที่ผู้นำองค์กรเป็น มุสลิม ตระเวนพบปะผู้นำชาติต่างๆ หรือเชิญชวนชาติต่างๆ เข้ามาดูพื้นที่จริง เพื่อทำความเข้าใจ ที่ถูกต้อง รวมถึงดำเนินการด้านการข่าว การปฏิบัติการจิตวิทยา ประชาสัมพันธ์เชิงรุก ควบคู่กับ การปฏิบัติการ ในด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ได้ รวมถึงการสร้าง ความเข้าใจ และแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น ซึ่งกันและกัน กับกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำศาสนา สื่อสารมวลชน และองค์การภาคเอกชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือ ในการเข้ามีส่วนร่วม ในการกำหนด ปัญหา วางแผน และดำเนินการ ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ -