ชีวิตไร้สารพิษ - ล้อเกวียน -
กสิกรรมธรรมชาติแบบยั่งยืน (ปุ๋ยสะอาด)


ปัจจุบันเราจะปลูกพืชก่อน แล้วค่อยนำปุ๋ยไปใส่ในภายหลัง ซึ่งจะมีข้อเสียดังต่อไปนี้
๑. ปุ๋ยที่นำไปใส่นั้น จะถูกแดดเผา แห้ง เสื่อมสภาพไปประมาณ ๒๐%
๒. เวลาที่ฝนตก น้ำฝนจะชะล้างเนื้อปุ๋ยไหลไปกับน้ำฝนประมาณ ๕๐%
๓. ต้นพืชที่ปลูก รากได้งอกลงสู่ใต้ดิน ปุ๋ยที่ถูกนำไปใส่ถูกน้ำสลายซึมลงสู่ใต้ดินได้แค่เพียง ๑๕-๒๕% ส่วนใหญ่อยู่ที่ผิวดิน
๔. ต้องใช้แรงงานในการขนวัสดุมาทำ ต้องใช้เวลาทำ เมื่อเสร็จแล้วต้องใช้แรงงานขนไปใส่ให้พืชอีกครั้ง ซึ่งได้ผลน้อยกว่าที่ควร
๕. ต้องทำปุ๋ยและขนไปใส่ทุกๆ ปี จึงต้องเหน็ดเหนื่อยไปตลอด
๖. ระบบรากของพืชที่ได้รับปุ๋ยแบบใส่ภายหลัง จะไม่แข็งแรง เพราะรากจะไม่ลงลึก จึงเป็นลักษณะ ของพืชเลี้ยงที่จะต้องรอคอยอาหาร ปุ๋ย น้ำ จากคนเท่านั้น ไม่รู้จักที่จะหากินด้วยตัวเอง พึ่งตัวเองไม่ได้

ข้าพเจ้ามีวิธีที่น่าจะดีกว่า เหมาะสมกว่า ขอให้ลองพิจารณานำไปทดลองทำดู

วิธีนี้มาจาก หลักการ ที่ว่า พืชสร้างอาหารด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสงจากแสงอาทิตย์ เราเพียงหา วิธีการที่จะกันพืชที่เราไม่ต้องการ ไม่ให้ได้รับแสงอาทิตย์

วิธีที่ ๑ การปราบหญ้าคา
) ด้วยการปลูกไม้เลื้อย (เช่น ถั่วแดงเมล็ดเล็ก) ให้คลุมหญ้าคา เมื่อหญ้าคาไม่ได้รับแสงสว่างก็จะค่อยๆ ลดจำนวนลง

) ด้วยการปลูกต้นกล้วย ให้มีระยะห่างที่กะว่าเมื่อโตขึ้น ใบจะชนกันพอดีปิดแสงแดด หญ้าคา ก็จะค่อยๆ ลดจำนวนลง ขณะเดียวกันก็ปลูกไม้ยืนต้นอื่นๆ ไปพร้อมกับต้นกล้วย โดยให้ต้นกล้วยเป็นพี่เลี้ยง

) ในพื้นที่ที่เราต้องการใช้ประโยชน์ปลูกพืช แต่มีต้นหญ้าขึ้นคลุมอยู่ (รูปที่ ๑) ให้หาฟางข้าว หรือ หญ้าแห้ง หรือใบไม้แห้ง (กระสอบป่านเก่า ใบหญ้า ใบจากเก่ามุงหลังคาที่ใช้ไม่ได้แล้ว) คลุมบนหญ้า เพื่อไม่ให้ถูกแสงอาทิตย์ได้ (รูปที่ ๒)

จากนั้นให้นำเศษอาหาร ที่เหลือจากการทำอาหารมาเกลี่ยทับลงไปบนฟางหรือหญ้าแห้งนั้นอีกชั้นหนึ่ง (รูปที่ ๓) แล้วก็นำฟางหรือหญ้าแห้ง หรือใบไม้แห้งโรยปิดทับเศษอาหารอีกชั้นหนึ่ง (รูปที่ ๔)

ด้วยวิธีการนี้ ถ้าเรามีเศษอาหารน้อยก็ทำวันละน้อย อาจจะเพียงวันละ ๑ ตารางฟุต แล้วทำต่อออกไป เรื่อยๆ พื้นที่ก็จะขยายมากขึ้นทุกวัน

วิธีการนี้ เป็นการเตรียมอาหาร (ปุ๋ย) ไว้ให้พืชที่เราจะปลูก จะใช้เวลาประมาณ ๑-๒ เดือน ซึ่งมีข้อดี มากมายหลายประการ ดังต่อไปนี้ :-
๑. ช่วยคลุมหน้าดินไม่ให้ถูกแดดเผา
๒. ไม่ไหลหนีเวลาฝนตก เพราะหญ้า ใบไม้แห้ง หรือฟางจะช่วยสานเกาะติดกันไว้
๓. พืชที่นำมาปลูก จะได้รับธาตุอาหารได้มากกว่าวิธีนำปุ๋ยไปใส่ทีหลัง
๔. ใช้เวลาและแรงงานในการทำครั้งเดียว (ไม่ต้องเสียเวลาขน) แต่สามารถใช้ประโยชน์ได้นาน
๕. ระบบรากพืชและต้นพืชจะแข็งแรงมากกว่า

เมื่อทำการปลูกพืชลงในพื้นที่ (หลังจาก ๒เดือน) ควรจะรบกวนหน้าดินให้น้อยที่สุด โดยใช้เสียมขุด ให้น้อยที่สุด หรือถ้าเป็นเมล็ดให้ใช้ไม้เจาะรูนำแล้วใช้เมล็ดหยอดปิด (ลึกมาก-น้อย แล้วแต่ความสามารถ ในการงอกยาว-สั้น)

หลังจากที่ปลูกไประยะหนึ่ง เมื่อฝนตกแล้ว หลุมไหนไม่งอกหรือตาย เราก็ปลูกซ่อมใหม่ได้ ซึ่งอาจจะใช้ พันธุ์เดิมหรือพันธุ์ใหม่ก็ได้

หากต่อมามีหญ้า หรือวัชพืชขึ้นในภายหลัง ไม่ต้องตัดทิ้งเพียงนำฟางหรือใบไม้แห้งหรือ ฯลฯ มาโรยปิด ทับไว้ไม่ให้ถูกแสง หญ้าหรือวัชพืชก็จะตายไปเป็นปุ๋ยเอง

การปลูกพืช ควรปลูกพืช หลากหลายชนิด หลากหลายสายพันธุ์ หลากหลายระดับ (๕-๗ ระดับ) หลากหลายสี หลากหลายรส ลงในพื้นที่และควรจะปลูกแบบผสมผสานกัน

วิธีที่ ๒
วิธีนี้ มาจากที่ข้าพเจ้าได้สังเกตพบว่า ตามภูเขาหินล้วน (ทั้งบนบกหรือในทะเล) ไม่มีดินเลยแม้แต่น้อย แต่กลับมีต้นไม้หลากหลายชนิดเกิดขึ้นอยู่ได้โดยไม่มีใครไปใส่ปุ๋ยหรือรดน้ำให้เลย

จากข้อสังเกตดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงได้ทดลองปลูกพืชหลายๆ ชนิด หลายระดับ ลงในดินที่ไม่ดี เป็นดิน ถมใหม่ (ที่หน้าบ้านพักอุทยานภูกระดึง) ดินที่มากองเทเอาไว้ ผลออกมาดี เพราะไม่ได้ใส่ปุ๋ย แทบไม่ต้อง รดน้ำเลย (รดครั้งแรกที่ปลูกให้รากยึดดิน) อาศัยน้ำฝน พืชเหล่านั้นก็มีชีวิตอยู่ได้ และเจริญเติบโต งอกงามได้ดี สามารถปลูกพืชได้ถึง ๑๘ ชนิด

ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่า เพียงใช้พันธุ์พืชที่แข็งแรง หลากหลายสายพันธุ์ หลากหลายระดับ หลากหลายสี -หลายรส ปลูกลงในบริเวณเดียวกัน จึงเป็นการสร้างอาหารให้พืชแบบถาวร เพราะพืชหลากหลาย จะสร้างอาหาร มาแลกกันเอง โดยเราไม่ต้องใส่ให้

ประโยชน์ที่ตามมาคือ เราได้ตอบแทนแม่พระธรณี ตอบแทนแม่พระโพสพ แม่พระ-คงคา ช่วยให้มี การหมุนเวียนน้ำกลับมาเป็นพระพิรุณ และยังช่วยให้พระพายพัดถ่ายเทได้ดี

ข้อสังเกต
เกี่ยวกับการดูดน้ำใต้ดิน (น้ำบาดาล) มาใช้เพื่อรดพืช ผัก ผลไม้ที่อ่อนแอ รากสั้น น้ำที่ถูกนำมาใช้นี้ จะระเหยไปสู่อากาศและจะไม่หมุนเวียนกลับมาเป็นน้ำ ที่จะไหลลงสู่ใต้ดินอีก ส่วนพืชที่มีรากลึก และแข็งแรงเท่านั้น จึงจะช่วยหมุนเวียนน้ำให้กลับไปสู่ใต้ดินได้ (ข้อมูลจากคุณไพโรจน์ อรรคสีวร)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ -