พระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม ๔ ประการ ที่สอดคล้องกับหลักฆราวาสธรรม ๔ ประการนี้ คือเครื่องมือ สำคัญ ที่จะใช้ขัดเกลา ความต้องการ ส่วนเกินจำเป็น ของผู้คนให้ลดน้อยลง อันจะเป็นรากฐานสำคัญ ของระบบเศรษฐกิจ แบบพอเพียง และเศรษฐศาสตร์การเมืองบุญนิยม ในสังคมมนุษย์

- สุนัย เศรษฐบุญสร้าง -


กระบวนการวิเคราะห์และปฏิบัติตามแนวพระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม ๔ ประการ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จ พระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๕ ความว่า

"... คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ มีอยู่สี่ประการ
ประการแรก คือ การรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติ
ปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ และเป็นธรรม ประการที่สอง คือ การรู้จัก
ข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจความดีนั้น
ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วง
ความสัจสุจริต ไม่ว่าด้วยเหตุประการใด ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวาง
ความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อ
ประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคน
พยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้
ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุง
พัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์ ..."

พระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม ๔ ประการนี้ สอดคล้องกับหลักพุทธธรรมในเรื่อง ฆราวาสธรรม ๔ คือ
๑. สัจจะ มีความจริงใจต่อตนเองที่จะรักษาสัจจะที่ให้ไว้กับตน
๒. ทมะ การรู้จักข่มใจตนเองที่จะปฏิบัติตามสัจจะที่กำหนด
๓. ขันติ มีความอดทนอดกลั้นที่จะปฏิบัติตามสัจจะนั้นให้สำเร็จลุล่วง
๔. จาคะ การสละความชั่วความทุจริตตามสัจจะนั้นๆ

มีหน่วยราชการหลายหน่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการ ข้าราชการ พลเรือน (กพ.) ได้นำพระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม ๔ ประการนี้ ไปเผยแพร่เพื่อเป็น แนวทางให้ประชาชนทั่วไป และข้าราชการยึดถือ เป็นหลักปฏิบัติ แต่เนื่องจากขาดกระบวนการฝึกฝน อบรม เพื่อให้เข้าใจหลักการวิเคราะห์ และการประพฤติปฏิบัติ ตามแนวพระบรมราโชวาท เรื่อง คุณธรรม ๔ ประการดังกล่าว อย่างเป็นกระบวนธรรมที่ครบวงจร จึงไม่ประสบผลสำเร็จ ในการ เปลี่ยนแปลง พฤติกรรมของสังคมไทยมากนัก

อันที่จริงคุณธรรม ๔ ประการนี้ ไม่ใช่หลักการประพฤติปฏิบัติจริยธรรม ๔ เรื่องที่แยกเป็นอิสระจากกัน แต่เป็นชุดของกระบวนธรรมชุดหนึ่งที่ประกอบด้วยขั้นตอนของพัฒนาการ ๔ ขั้นตอน ซึ่งมีพลัง ที่จะนำ ไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งในระดับชีวิตปัจเจก-บุคคลและสังคมส่วนรวม

คล้ายคลึงกับกระบวนการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) ที่ประกอบด้วยขั้นตอน สำคัญต่างๆ เช่น การสังเกตปรากฏการณ์ การตั้งสมมติฐานเพื่ออธิบายสาเหตุของปรากฏการณ์นั้นๆ การพิสูจน์สมมติฐาน ตามที่ตั้งไว้ การสรุปผลการพิสูจน์เพื่อสร้างเป็นทฤษฎีทั่วไป เป็นต้น

กระบวนการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์นี้ ดูผิวเผินก็เหมือนไม่มีเนื้อหาอะไรมาก อธิบายแค่ ๕ นาที ก็รู้เรื่องหมดแล้ว แต่การจะปลูกฝังให้เข้าใจถึงแก่นสารแห่งกระบวนการดังกล่าว จนสามารถ นำไปใช้ให้เกิดผล ในทางปฏิบัติได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อสามารถใช้ได้อย่างถูกต้องแล้ว เครื่องมือ ทางปัญญานี้ ก็แสดงศักยภาพอันไพศาล ที่นำมนุษย์ไปสู่การค้นพบ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้ง ศาสตร์ (Sciences) แขนงต่างๆ ที่กลายเป็นพลัง ในการพลิกโฉม ของโลกให้พัฒนาเปลี่ยนแปลง จากในอดีต อย่างสิ้นเชิง

พระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม ๔ ประการที่ดูเหมือนไม่มีเนื้อหาอะไรมากนั้น อันที่จริงได้แฝงไว้ด้วย คุณค่า ความสำคัญ ที่ยิ่งใหญ่ ดุจเดียวกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพราะคุณธรรม ๔ ประการนี้ เป็นกระบวนธรรมชุดหนึ่ง ที่มีพลังในการแก้ปัญหา ของมนุษย์ คล้ายคลึงกับกระบวนการ ทางวิทยาศาสตร์ อันจะได้กล่าวถึงต่อไป


บันได ๗ ขั้นสู่ความสำเร็จ
พระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม ๔ ประการ ที่สอดคล้องกับหลักฆราวาสธรรม ๔ นั้น เริ่มต้นข้อแรก ด้วยการรักษา ความสัจ ตลอดจน มีความจริงใจต่อตนเอง ที่จะปฏิบัติตามสัจจะที่ตั้งใจรักษานั้นๆ

แต่ในขณะที่มีคุณธรรมและสิ่งดีงามมากมายในโลกนี้ที่เราควรปฏิบัติ ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ ที่เราจะ สามารถปฏิบัติ ทุกเรื่องได้หมด ในเวลาเดียวกัน ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมี กระบวนการวิเคราะห์ว่า ภายใต้ เงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ และสภาพปัญหา ในชีวิตที่แต่ละคน เผชิญอยู่ เราควรจะเลือกปฏิบัติ สิ่งไหนก่อน สิ่งไหนหลัง

เมื่อกำหนดสิ่งที่ตั้งใจจะประพฤติปฏิบัติได้แล้ว ก็ให้ถือเป็นสัจจะที่พึงจักต้องปฏิบัติ ด้วยความ ตั้งใจจริง เพื่ออาศัยสัจจะนั้น นำไปสู่เป้าหมาย ในการแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ในชีวิตให้สำเร็จ ลุล่วง ให้จงได้

หากสามารถประพฤติปฏิบัติได้เช่นนี้ กระบวนการวิเคราะห์และปฏิบัติตามคุณธรรม ๔ ประการ ก็จะมี คุณค่า ความหมายต่อชีวิต และมีพลังในการพัฒนาเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมให้ดีขึ้นได้ อย่างเป็นรูปธรรม

ถ้าขยายความแนวทางปฏิบัติคุณธรรม๔ ประการให้ครอบคลุมชัดเจนขึ้น จะสามารถแยก กระบวนการ วิเคราะห์ และปฏิบัติได้ เป็น ๗ ขั้นตอน คือ
๑. การจับประเด็นปัญหา
๒. การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา
๓. การกำหนดขอบเขตเป้าหมายในการแก้ปัญหา
๔. การกำหนดสิ่งที่ตั้งใจจะปฏิบัติ
๕. การดำรงความมุ่งหมาย
๖. การอดทนอดกลั้น
๗. การปลดปล่อยชีวิตสู่อิสรภาพ


องค์รวมของการปฏิบัติคุณธรรม ๔ ประการ
กระบวนการทั้ง ๗ ขั้นตอนนี้ อาจสามารถสรุปย่นย่อให้เห็นเป็นแผนภูมิได้ (ดูแผนภูมิกระบวนการ ปฏิบัติ ตามแนวคุณธรรม ๔ ประการ) กล่าวคือ

ในขั้นแรกจะต้องมีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อกำหนดประเด็นของสัจจะที่ตั้งใจจะรักษาได้ อย่างเหมาะสมก่อน ขั้นตอนนี้สามารถใช้หลักอริยสัจ ๔ ช่วยในกระบวนการวิเคราะห์ ตั้งแต่การจับ ประเด็นปัญหาที่ก่อให้เกิดภาวะความบีบคั้นต่างๆ (ทุกข์) การค้นหาสาเหตุของ ปัญหา (สมุทัย) การกำหนด ขอบเขตเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะไปให้ถึง เพื่อขจัดสาเหตุของปัญหานั้นๆ (นิโรธ) การออกแบบ แนวทางปฏิบัติ ที่เป็นเสมือนการกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธี เพื่อให้บรรลุ ตามเป้าหมาย (มรรค) แล้วก็ตั้งเป็นสัจจะ ที่จะปฏิบัติ ในเบื้องแรก ตามกรอบแนวทางปฏิบัติ ที่วางไว้ ดังกล่าว จากนั้นก็ลงมือปฏิบัติ

เมื่อเริ่มปฏิบัติตามสัจจะที่ตั้งใจ อันเป็นสิ่งที่ฝืนความเคยชินของพฤติกรรมปรกติที่ผ่านมา บางครั้ง ก็จะหลงลืม การปฏิบัติบ้าง เผอเรอบ้าง ไม่อยากทำบ้าง ฉะนั้นต้องมีสติที่จะข่มใจ ให้ดำรง ความมุ่งหมาย ในการปฏิบัติ ตามสัจจะนั้น อย่างต่อเนื่อง

เหมือนลิงซึ่งมีธรรมชาติซุกซนไม่อยู่นิ่ง การจะฝึกฝนให้ทำตามคำสั่งของเราได้ ในขั้นแรก ต้องใช้เชือก ผูกลิงไว้ ถึงลิงจะวิ่งไป วิ่งมาอย่างไร เชือกก็จะได้ควบคุมกำกับไม่ให้วิ่งเลยออกไปจากกรอบรัศมี ของเชือก เส้นนั้นฉันใด การมีสติข่มใจ ให้ดำรงความมุ่งหมาย ที่จะปฏิบัติตามสัจจะอย่างต่อเนื่อง ก็มีลักษณะ ฉันนั้น เหมือนกัน

นอกเหนือจากนี้ ก็ต้องอาศัยความเพียรพยายามที่จะปฏิบัติตามสัจจะดังกล่าวอย่างอดทนอดกลั้นด้วย เพราะถึงจะมีสติ ข่มใจ ไม่ให้เผอเรอ และคอยควบคุมกำกับให้ปฏิบัติตามกรอบแห่งสัจจะที่ตั้งใจนั้นๆ แต่ในบางครั้ง เราก็อาจเกิด ความรู้สึกท้อถอย ที่จะต่อสู้กับตัวเองต่อไป รู้สึกฝืนใจปฏิบัติต่อได้ยาก และอยากกลับไปมีพฤติกรรม ตามความเคยชิน ดังเดิม ทั้งที่รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดีก็ตาม ในภาวะเช่นนี้ จะต้องใช้ความพากเพียรและความอดทนอดกลั้นเข้าสู้ เหมือนต้องอาศัยหลัก ที่มีความมั่นคง แข็งแรง จึงจะสามารถยึดเชือกที่ผูกลิง ซึ่งกำลังดิ้นรนอย่างรุนแรงนั้นไม่ให้ล้มไปได้

หากสามารถกำหนดประเด็นของสัจจะที่ตั้งใจจะปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม มีสติคอยข่มใจ ให้ดำรง ความมุ่งหมาย ในการปฏิบัติ ตามสัจจะนั้นอย่างต่อเนื่อง และมีความเพียรพยายาม ที่จะปฏิบัติ ตามสัจจะ ดังกล่าวด้วยความอดทนอดกลั้น ในที่สุดเราก็จะสามารถปฏิบัติ ตามสิ่งที่ตั้งใจนั้น ได้อย่างเป็นปรกตินิสัย โดยไม่รู้สึกเป็นเรื่องที่ต้องฝืนข่มอะไร อีกต่อไป เหมือนคนที่ฝึกวิ่ง ออกกำลังกาย ทุกวัน แรกๆ ก็อาจจะเหนื่อยและรู้สึกฝืน แต่เมื่อวิ่งจนเป็นปรกติ ก็จะรู้สึกว่าการวิ่งดังกล่าว ไม่ใช่เรื่อง ยากลำบากอะไร

เมื่อพฤติกรรมความชั่วความไม่ดีที่ก่อให้เกิดปัญหาและภาวะความบีบคั้นเป็นทุกข์ให้แก่ชีวิตของเรา ในประเด็น เรื่องนั้นๆ ได้รับการกำจัดไปแล้ว จิตใจของเราก็จะได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ จากการถูกครอบงำด้วยความชั่ว ความไม่ดีดังกล่าว และจะมีธรรมชาติใหม่ที่ไม่อยากกลับไปประพฤติ ในสิ่งที่ไม่ดี เช่นนั้นอีก เหมือนคนที่วิ่งออกกำลังกายทุกวัน จนเป็นปรกติวิสัย วันไหนที่ไม่ได้ออก กำลังกาย ก็จะกลับรู้สึกเป็น ความผิดปรกติ ไม่สดชื่นแจ่มใส เหมือนวันก่อนๆ เป็นต้น

หลังจากสามารถปฏิบัติตามสัจจะที่ตั้งใจนั้นให้สำเร็จลุล่วงตามขั้นตอนต่างๆดังที่กล่าวมาแล้ว ในขั้นสุดท้าย จะต้องทบทวนสรุปและประเมินผลการปฏิบัติอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ที่ชัดเจนขึ้น ตลอดจนเกิด ความมั่นใจ ในกระบวนธรรม ที่ช่วยพัฒนาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราให้ดีขึ้นดังกล่าว จากนั้น ก็อาศัยกระบวนการวิเคราะห์ และปฏิบัติ ตามขั้นตอนของคุณธรรม ๔ ประการ แก้ปัญหา ในรอบของการประพฤติปฏิบัติรอบใหม่ หมุนไปสู่ความเจริญยิ่งๆ ขึ้นของชีวิต และสังคมสืบไป


แผนภูมิกระบวนการปฏิบัติคุณธรรม ๔ ประการ

มีปัญญากำหนดประเด็นของสัจจะที่ตั้งใจจะรักษาได้อย่างเหมาะสมถูกต้อง

มีสติที่จะข่มใจ ให้ดำรงความมุ่งหมายในการปฏิบัติตามสัจจะนั้นอย่างต่อเนื่อง

มีความเพียรที่จะปฏิบัติตามสัจจะดังกล่าวด้วยความอดทนอดกลั้น

การปฏิบัติตามสัจจะ

- การมีปัญญาสามารถจับประเด็นปัญหาและกำหนด "สัจจะ" ที่จะปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหานั้นๆ

การปลดปล่อยจิตให้เป็นอิสระจากความชั่วความทุจริตตามนัยแห่งสัจจะที่รักษานั้นๆ

- การมีปัญญาที่จะปฏิบัติตาม สัจจะที่ตั้งไว้จนเริ่มเห็นผลสำเร็จ ของความเปลี่ยนแปลง ในชีวิต และจิตใจ

การสรุปประเมินผล

- การมีปัญญาและความคิดรวบยอด ตระหนักรู้ถึงผลสำเร็จของการปฏิบัติตามสัจจะจนสามารถละวางความชั่วความทุจริตในประเด็นนั้นๆ อย่างสมบูรณ์


(อ่านต่อฉบับหน้า)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ -