077 กติกาเมือง
- สันติรัฐ -

ปัจจุบันเป็นผลของอดีต เป็นเหตุของอนาคต

พลันศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยกลางตามคำวินิจฉัยที่ ๒๐/๒๕๔๔ วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๔ เรื่อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ กรณีพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ

"......ศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมาก มีมติ ๘ ต่อ ๗ ว่าผู้ถูกร้องไม่มีความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ๘ คน คือ นายกระมล ทองธรรมชาติ นายจุมพล ณ สงขลา พลโท จุล อดิเรก นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ นายผัน จันทรปาน นายศักดิ์ เตชาชาญ นายสุจินดา ยงสุนทร และนายอนันต์ เกตุวงศ์ วินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องไม่มีความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ ส่วน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย ๗ คน คือ นายประเสริฐ นาสกุล นายมงคล สระฏัน นายสุจิต บุญบงการ นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ นายอมร รักษาสัตย์ นายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ และนายอุระ หวังอ้อมกลาง วินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องมีความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๔

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยชี้ขาดโดยเสียงข้างมากว่าพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้อง ไม่มีความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕ ให้ยกคำร้อง"

เรื่องนี้จึงเป็นอันถึงที่สุด ผู้ถูกร้องก็พ้นพงหนามสมใจที่ตนเองแถลงปิดคดีด้วยวาจา "....กรณีนี้ผมจึงเห็นว่าเป็นการผิดพลาดอย่างสุจริต ย่อมไม่ใช่เป็นการจงใจ เพราะไม่ใช่ผิดพลาดเพราะจะจงใจไปทุจริตครับ....."

นับแต่บัดนั้นมาจนบัดนี้ ประเทศไทยก็มีนายกรัฐมนตรีชื่อพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ใช้อำนาจบริหารในระบอบประชาธิปไตย ตลอดมาจนถึงคณะรัฐมนตรีคณะที่ ๑๐

แต่ปีนี้ฝนอำลาฤดูกาลก่อนกำหนด พอฝนทิ้งท้าย น้ำหลากล้นก็เริ่มเหือดหาย รัฐบาล "คิดใหม่ทำใหม่" ก็ใกล้สิ้นสุดวาระเอื้ออาทรอาณาประชาราษฎร์ และประกาศก้องจะกลับมาเอื้ออาทรคนจนคนรวยต่อไปอีก ๔ ปี จนกว่าจะไม่มีคนจน ไม่คาดคิด น้ำเพิ่งจะเริ่มลด ตอก็เริ่มผุด

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พยานจำเลยในคดี หมายเลขดำที่ ๒๖๕๘/๒๕๔๕ พนักงานอัยการ (สำนักงานอัยการ พิเศษฝ่ายคดีอาญา ๑๐) เป็นโจทก์ ฟ้องนาวาตรีประสงค์ สุ่นศิริ กับพวกรวม ๕ คน จำเลย ฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้การในการพิจารณาคดีที่ศาลอาญา เมื่อ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๗ ขอคัดตัดตอนมาบางส่วนที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและนายกรัฐมนตรี

".....ข้าฯรู้จักนายบัณฑิต ศิริพันธ์ ทนายจำเลยทั้งห้าในคดีนี้ตั้งแต่ พ.ศ..๒๕๑๐ เนื่องจากในปี ๒๕๑๐ ถึง ๒๕๑๖ ข้าฯเป็นทนายความอยู่ที่สำนักงาน เสนีย์ ปราโมช ที่เดียวกันกับทนายจำเลยทั้งห้า หลังจากนั้นข้าฯจึงรับราชการเป็นผู้พิพากษาตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ เป็นต้นมา

"ข้าฯรู้จักนายจุมพล โจทก์ร่วมที่ ๗ ตั้งแต่ปี ๒๕๑๑ เพราะข้าฯและโจทก์ร่วมที่ ๗ สอบเนติบัณฑิตได้ในสมัยที่ ๒๐ พร้อมกัน ข้าฯมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับโจทก์ร่วมที่ ๗ และเรียกโจทก์ร่วมที่ ๗ ว่าพี่จุ๋ม......ก่อนตัดสินคดีซุกหุ้นประมาณ ๑ เดือน โจทก์ร่วมที่ ๗ ไปหาข้าฯที่ศาลฎีกา ห้องทำงานชั้น ๔ ซึ่งขณะนั้นนายกำพล ภู่สุดแสวง เป็นหัวหน้าคณะ โจทก์ร่วมที่ ๗ ได้คุยเรื่องส่วนตัว และถามความเห็นว่าถ้าโจทก์ร่วมที่ ๗ จะมีคำวินิจฉัยว่าคดีซุกหุ้นไม่เข้ามาตรา ๒๙๕ รัฐธรรมนูญ ข้าฯมีความเห็นว่าอย่างไร ขณะนั้นข้าฯยังไม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับมาตรา ๒๙๕ รัฐธรรมนูญ ......หลังจากนั้นข้าฯถามโจทก์ร่วมที่ ๗ ว่าตกลงพี่จุ๋มจะอุ้มพันตำรวจโททักษิณใช่หรือไม่ พยานเบิกความขยายความว่า คำว่าอุ้มหมายถึงทำให้คดีของพันตำรวจโททักษิณชนะคดีโดยไม่คำนึงถึงเนื้อหาของคดี โจทก์ร่วมที่ ๗ ตอบว่าก็ประชาชนเลือกให้เป็นนายกฯ ทั้งหมดประมาณ ๑๑ ล้านเสียง จะเอาเสียงของคนเพียงไม่กี่คนไปถอดถอนพันตำรวจโททักษิณออกจากการเป็นนายกฯนั้นไม่ถูกต้อง ข้าฯทักท้วงต่อไปว่าเป็นผู้พิพากษา ถ้าหากใครทำผิดกฎหมายก็ต้องลงโทษ ไม่ว่าประชาชนจะให้คะแนนเสียงมากน้อยเท่าใด.....

"....ครั้งหนึ่ง ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในคดีซุกหุ้น ซึ่งเป็นช่วงหลังจากโจทก์ร่วมที่ ๗ ไปหาข้าฯ แล้วข้าฯและนายบัณฑิต ศิริพันธ์ ทนายจำเลยท้งห้าไปทานอาหารที่ร้านสกายไฮ .....และข้าฯได้เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการที่โจทก์ร่วมที่ ๗ มาพบข้าฯ ให้ทนายจำเลยทั้งห้า พยานเบิกความว่าข้าฯไม่คิดว่าจะมีการฟ้องร้องเป็นคดีนี้เกิดขึ้น ซึ่งหากข้าฯคิดว่าจะมีการฟ้องร้องเป็นคดีนี้ ข้าฯจะไม่เล่าเรื่องที่นายจุมพล โจทก์ร่วมที่ ๗ มาพบข้าฯให้บุคคลอื่นฟัง"
(ไทยโพสต์ ๑๕.๑๐.๔๗)

และคำสัมภาษณ์ของนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ในกรณีเดียวกัน ขอคัดตัดตอนบางส่วนมาประกอบเพื่อแสดงให้เห็นเหตุที่ต้องเป็นพยานในคดีนี้

"...ผมได้รับหมายเรียกจากศาลให้ไปเป็นพยาน....ผมก็จำเป็นต้องไป ถ้าบิดพลิ้วไม่ไปก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๐ ผู้ใดขัดขืนหมายหรือคำสั่งของศาลให้มาให้ถ้อยคำ ให้เบิกความ หรือให้ส่งทรัพย์หรือเอกสารใดในการพิจารณาคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๑๑ () บัญญัติว่า ศาลเห็นว่าพยานได้รับหมายเรียกโดยชอบแล้วจงใจไม่ไปยังศาลนั้น หรือได้รับคำสั่งศาลให้รอคอยอยู่แล้ว จงใจหลบเสีย ศาลจะเลื่อนการนั่งพิจารณาไปและออกหมายจับและเอาตัวพยานกักจขังไว้จนกว่าพยานจะได้เบิกความตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้... เป็นผู้พิพากษาจงใจผิดกฎหมายสมควรกระทำหรือ การมาเป็นพยานศาลเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่พึงกระทำ ผมจึงจำเป็นต้องไป ผมไม่ใช่เด็กๆ เป็นนักกฎหมายเป็นผู้พิพากษาหนีหมายศาล ต่อไปจะไปสอนใครเขาได้

"....การที่คนคนหนึ่งไปเบิกความเป็นพยานในศาลตามหน้าที่พลเมืองที่พึงต้องกระทำและให้การตามความเป็นจริง จะถูกฟ้องข้อหาอะไร ฟ้องศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ไหน จะใช้กฎหมายของประเทศไหนมาฟ้อง หากเป็นเช่นนี้ต่อไปก็ไม่มีใครกล้ามาเบิกความเป็นพยานในศาล เพราะกลัวจะถูกฟ้อง ผมทำงานกับท่านอาจารย์เสนีย์ฯ มา ๖ ปี เป็นผู้พิพากษาอีก ๓๑ ปี ยังไม่เคยพบเคยเห็น...." (มติชน ๑๙.๑๐.๔๗)

นายบัณฑิต ศิริพันธ์ ทนายความจำเลยในคดีเดียวกันนี้ ให้สัมภาษณ์เมื่อ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๗

"....ต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้มันเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี ๒๕๔๕ ไม่รู้เรื่องอะไรกันเลย คนในพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ติดตาม ไม่ได้เคยรู้เรื่องอะไรเลย ที่ผมเป็นทนายให้คุณประสงค์ ผมก็ไม่รู้จักคุณประสงค์ ไม่รู้จักคุณแหน (นางผาณิต พูนศิริวงศ์ เจ้าของหนังสือพิมพ์แนวหน้า) ก็ได้ยินชื่อเสียง เขาก็รู้จักชื่อเสียงผม แต่โดยส่วนตัวไม่คุ้นเคยกัน ทีนี้ทนายในออฟฟิศของผมคนหนึ่ง คุณสุริยะ ที่เป็นทนายในคดีด้วย เขามีภริยาเป็นเลขาฯของคุณแหน ทำงานกับคุณแหนมา ๑๕ ปี เมื่อคุณแหนโดนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฟ้อง คุณแหนก็บอกภริยาคุณสุริยะให้ช่วยทำคดี คุณสุริยะก็มาขอร้องให้ผมเข้าไปร่วม เพราะเรื่องนี้มันใหญ่ เขาทำไม่ไหวหรอก ผมเองก็ไม่อยากทำ เขามาขอตั้ง ๓ ครั้ง ผมก็เกรงใจก็ต้องทำให้โดยหน้าที่

"ความจริงเป็นอย่างไรก็ต้องไปพูดความจริงต่อศาล ถ้าผมไม่เอาความจริงไปพูดต่อศาลนั่นแหละผมทรยศต่อวิชาชีพ ......การว่าความในชั้นศาลของคดีนี้ก็ว่ากันมาตลอดอย่างต่อเนื่อง เคยลงมาครั้งหนึ่งแล้วตอนที่คุณนพดล เฮงเจริญ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ มาให้การเป็นพยานโจทก์ เมื่อวันที่ ๓๑ ม.ค.๒๕๔๖ น.ส.พ.แนวหน้าได้ลงคำถามของผมและคำตอบของคุณนพดลใน น.ส.พ.แนวหน้า ฉบับวันที่ ๓ ก.พ. ๔๖ หน้า ๕ มีหมดเลยที่คุณทักษิณ คุณเยาวภาไปพบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีหมด แต่ตอนนั้นยังไม่เอ่ยชื่อเท่านั้นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านนั้นชื่ออะไร แต่คราวนี้มาเอ่ยชื่อ เพราะผมต้องไปให้การศาล ท่านถามว่าชื่ออะไร ผมก็ต้องบอก เราไม่บอกมันก็ไม่ได้....

"เรื่องนี้ประเด็นไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่พยายามจะโยงให้ผมไปเกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่เกี่ยวกันเลย....ถ้าจะอ้างว่าผมเป็นทนายให้พรรคประชาธิปัตย์ ผมก็ไม่เถียง ผมก็เป็นทนายให้คุณบรรหาร ศิลปอาชา ผมก็เป็นทนายให้พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รวมทั้ง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ผมเป็นให้หมด ไปถามคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ หรือ อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ก็ได้ ผมเป็นทนายอาชีพ ใครมาจ้างผมก็ทำ ไม่เคยเลือกปฏิบัติอะไร หรืออย่างว่าทำไปแล้วมันไปกระทบกระเทือนผลประโยชน์ ใครเสียชื่อเสียง เขาไม่พอใจ มันช่วยไม่ได้....." (ไทยโพสต์ ๑๖.๑๐.๔๗)

เหตุที่ยกเอากรณีนี้มาถ่ายทอด มิได้มุ่งหมายเปิดประเด็นให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เพราะหากจะเกิดความเสียหายก็น่าจะเป็นไปจนถึงที่สุดแล้ว ด้วยข้อเท็จจริงเรื่องนี้ปรากฏในสื่อมวลชนอยู่ทั่วไปแล้ว แต่มุ่งหมายเพียงแต่จะตั้งข้อสังเกตว่าทองแท้ย่อมคงทนต่อการพิสูจน์ กรรมใดใครก่อไม่ว่ากุศลหรืออกุศล ย่อมเป็นไปตามกฎแห่งกรรมไม่เป็นอื่นไปได้เลย

ท่านประเสริฐ นาสกุล อดีตประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นตุลาการเสียงข้างน้อย เขียนคำวินิจส่วนหนึ่งไว้ว่า

"ทั้งๆ ที่การทำธุรกิจในระบบนายทุนของต่างประเทศเป็นการกระทำมุ่งแสวงหากำไร เป็นความโลภและเป็นความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ ไม่คำนึงถึงศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ....

"....การกระทำของผู้ถูกร้องดังกล่าวข้างต้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องเป็นผลของอดีต ยังคงคิดและทำเหมือนเดิมเหมือนนักธุรกิจคนอื่นๆ ในระบบทุนนิยมในประเทศไทย แต่ยังคงเข้าใจผิดคิดว่าแนวความคิดที่จะบริหารประเทศของผู้ถูกร้องเป็นการคิดใหม่ทำใหม่ ไม่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของชาติ ซึ่งแก้ไม่ได้ด้วยเงินอย่างเดียว ผู้ถูกร้องโฆษณาให้ประชาชนทราบเพียงว่าผู้ถูกร้องประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ มีเงินทองมากมาย....แต่ผู้ถูกร้องมิได้แสดงหรือเปิดเผยว่าความสำเร็จในการประกอบธุรกิจในอดีตของผู้ถูกร้องภายในระยะเวลาอันสั้นนั้น กระทำได้อย่างไร และจะแก้ปัญหาการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของครอบครัวกับประโยชน์ส่วนรวมหรือของชาติอย่างไร ปัญหาของบ้านเมืองบางอย่าง อาจแก้ได้โดยไม่ต้องใช้เงินทองเลย เพียงแต่ผู้นำของประเทศต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี โดยการคิด การพูดและการทำตรงกัน"

และยังได้แสดงวิสัยทัศน์ย้ำยืนยันไว้อีก

"หากผู้ที่อาสาเข้ามาแก้ไขยังจะใช้วิธีการเดิมๆ อีก ย่อมจะแก้ไขไม่ได้ เพราะปัจจุบันเป็นผลของอดีต และจะเป็นเหตุของอนาคต ต้องคิดให้ดี พูดให้ดี และทำให้ดี ในอนาคตจึงจะมีความหวังได้ มิฉะนั้นผู้สนันสนุนผู้ถูกร้องจะต้องผิดหวังในที่สุด" (บังอบายเบิกฟ้า : ธรรมเกียรติ กันอริ ไทยโพสต์ ๒๔.๑๐.๔๗) .

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ -