ชีวิตนี้มีปัญหา๑ -สมณะโพธิรักษ์ -
(ต่อจากฉบับที่ ๑๗๒)



การไม่ได้ฟังธรรมของผู้บรรลุจริง และยืนยันจากผู้บรรลุจริง จึงก่อความเสียหายเรื่อยมา

พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้มากมายว่า ให้คบสัตบุรุษ แล้วฟังธรรมจากท่าน ธรรมที่สัตบุรุษแสดง ย่อมเป็น สัทธรรม ผู้บรรลุจริงท่านเป็นสัตบุรุษจริง มีสัปปุริสธรรม ๗ ท่านจะมีการกะ การประมาณ มีมัตตัญญุตา ได้เองแหละว่า โอกาสไหนเวลาใด ควรแสดงควรอวด เพราะท่านมีกาลัญญุตา ท่านย่อมรู้ว่า จะแสดง แค่ไหน อวดแค่ใดจะพอดีสำหรับกลุ่มหมู่คณะนั้นคณะนี้ เพราะท่านมีปริสัญญุตา หรือกับบุคคลใด จะแสดงได้อวดได้ หรือไม่ แค่ไหน ท่านก็มีปุคคลปโรปรัญญุตา ท่านจะรู้เองจริงๆว่า การบอกการแสดงนั้น ควรอวดควรแสดงหรือไม่ควรอย่างไร แค่ไหน และท่านก็ ไม่ได้อยากอวดอยากแสดงเพราะกิเลสแน่นอน แต่ท่านมี ฉันทะที่อยากจะทำสิ่งดีประดามี ให้แก่โลกนั่นต่างหาก

ความหลงสุดโต่งไปข้าง "เห็นแต่แก่ประโยชน์ตน ไม่ทำประโยชน์ผู้อื่น" ก่อให้เกิดความผิดเพี้ยนมาตาม ความยาวนานของกาละ เหตุใหญ่เพราะคำแนะนำสั่งสอนตามๆกันมา ของอาจารย์ที่ ไม่บรรลุธรรมนั่นเอง เป็นอันมาก เพราะถึงอย่างไรก็ยังมีผู้"ไม่บรรลุธรรม" นั่นแหละตัวสำคัญที่สอนและอยากสอนแน่ๆ ซึ่งแน่ ยิ่งกว่าแน่อีกด้วยว่ายัง "มิจฉาทิฏฐิ"อยู่

ผู้จะเป็น "อาริยบุคคล" ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไปต้องมีภูมิถึงขั้น "ปรมัตถธรรม" และมี "วิชชา ๘" เริ่มต้นจาก วิชชาข้อ ๑ คือ วิปัสสนาญาณ หรือมีญาณ ๗ (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๒ ข้อ ๕๔๓) ที่หยั่งเข้าไป"รู้" (ชานาติ) "เห็น" (ปัสสติ) สภาวะแท้ ของ "ความละตัวตน" อันเป็นมรรคผล ดังนั้น"ตัวตน"ตัวที่ถูกละถูกลดนี้ จึงเป็น"ตัวตน" ที่ผู้ปฏิบัติต้องมี วิปัสสนาญาณ จับมั่นคั้นตาย จนรู้จักรู้แจ้งรู้จริงตัวมัน ซึ่งเป็น "ตัวการ" โดยเฉพาะ คือ ตัวกิเลสในจิต จึงจะจัดการ มันได้ แล้วต่อจากนั้นก็ต้องมีความสามารถทางจิต คือ วิชชาข้อ ๒ ที่ชื่อว่า "มโนมยิทธิ" (ฤทธิ์ที่เก่งทางจิต) จึงจะกำจัดกิเลสในจิต จนละจนลด"ตัวตนกิเลส" นั้นๆลงได้จริง ไปตามลำดับ สุดท้ายสามารถดับกิเลสนั้นๆ ได้สนิทสิ้น"ตัวตน"เกลี้ยง ไม่มีตัวตน (อนัตตา)

ที่น่าจะได้รู้เพิ่มขึ้นอีกประเด็นหนึ่งก็คือ "ตัวตน" ตัวที่วิปัสสนาญาณสามารถจับมั่นคั้นตายได้นี้ ท่านตั้งชื่อ เป็นภาษาใหม่ว่า "สักกายะ" มีนัยสำคัญที่ต่างจากคำว่า "อัตตา" เพราะ"ตัวตน"ที่เรียกว่า "สักกายะ"นี้ ผู้ปฏิบัติ "สามารถ" (สักก) รู้จักรู้แจ้งรู้จริงตัวตนนั้นจริงๆ ไม่ใช่แค่เพียงรู้ภาษาเฉยๆ หรือรู้แค่ว่า คือ"ตัวตน" ที่มีความเป็น"ตัวตน"กลางๆทั่วๆไป ซึ่งอยู่ที่ไหน ของใคร ก็ไม่สามารถชี้เฉพาะระบุเจาะจง ลงไปที่ "ตัวตน" นั้นอย่างสัมผัสสภาวะนั้นๆ ยืนยัน"ตัวความมี"กันจริง

แต่"ตัวตน"ที่เรียกว่า"สักกายะ"นี้คือ"ตัวตน"ที่ผู้ปฏิบัติรู้จักรู้แจ้งรู้จริงเป็นความจริงมีของจริงอยู่โทนโท่ มิใช่แค่"ตัวตน"ชนิดที่รู้แบบลึกลับ เจ้าตัวก็ยังคลุมๆ เครือๆ หรือเป็นเพียงสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม แต่เป็นสิ่งที่ "เป็นไปได้" (สักก) ไม่ใช่เพียงสิ่งที่อยู่ในอุดมคติเท่านั้นเพราะ"สักกายะ"คือ "ตัวที่เป็นอยู่ในขณะนี้" จับต้องอยู่หลัดๆ สภาวะของ "ตัวตน" นั้นๆสัมผัสของจริงเป็นสิ่งมีจริงอยู่โต้งๆ จับ"ตัวตน"นั้นๆ อยู่หมัด อยู่มือกันเลย เนื่องจากผู้ปฏิบัติ"สามารถ" (สมัตถะ,สักก) ยิ่ง "สำเร็จ,บรรลุผล" (ลัพภติ) จริง ฉะนี้แล "ตัวตน" ที่เรียกว่า "สักกายะ" จึงแตกต่างกับ "อัตตา" อย่างมีนัยสำคัญ

กล่าวคือ "ตัวตน"ที่เรียกกันว่า "อัตตา"นั้น เป็นคำเรียก"ตัวตน"กลางๆทั่วไป เป็นสามานยนาม (common noun) ส่วน"ตัวตน"ที่ใช้ศัพท์เรียกว่า "สักกายะ" นี้ เป็นวิสามานยนาม (proper noun) เพราะเป็น "ตัวตน" ที่ถูกระบุเฉพาะลงไปว่า เป็น"ตัวตน"ที่ผู้มีวิปัสสนาญาณสามารถสัมผัสตัวตนนั้นๆจริง มิใช่"ตัวตน" (อัตตา) ที่พูดที่เรียกกันกลางๆทั่วไปเท่านั้น ผู้พ้นอวิชชาใน "ตัวตน" เป็นไปได้ ฉะนี้แลเรียกว่า "พ้นสักกายทิฏฐิ" ดังนั้น เมื่อมีความรู้ความสามารถละลด "ตัวตน" ตัวนี้ลงได้ จึงเรียกว่า "ละสักกายทิฏฐิ" ขยายความอีกที ก็คือ ผู้ปฏิบัติมีญาณและมีวิธีปฏิบัติจนสามารถทำให้เกิด"วิราคะ"ถึงขั้น "พ้นสังโยชน์" ข้อ ๑ คือ พ้นสักกายทิฏฐิ ได้สำเร็จ จึงจะนับว่าเริ่มมีมรรคผลของพุทธ เป็นอาริยบุคคลขั้นต้น ถ้าขั้นสูงสุด ก็เรียกว่า "สักกายนิโรธ" คือ การดับตัวตนที่ชื่อว่า"สักกายะ" จนสิ้น"ตัวตน" ตัวสุดท้ายของสักกายะ ที่ชื่อว่า "อาสวะ" ได้ โดยดับ "สักกายสมุทัย" (ตัวเหตุที่ทำให้เกิดสักกายะ) กันทีเดียว มีสิ่งพิสูจน์เป็น"สิ่งจริงปรากฏ (ปาตุภาวะ) ตามความจริง (สัจจโต) "ตัวนั้นตัวนี้ ส่วนนั้นส่วนนี้ ชัดแจ้งเห็นจริง มิใช่เดาดุ่ม"ดับ"ตะพึดตะพือ หรือ"ดับ"อย่างไม่รู้ตัวเหตุตัวปัจจัยเป็นอันขาด

เท่าที่ได้อธิบายผ่านมานั้น คือ เนื้อหาสารสัจจะแห่งความเป็นพุทธ แต่ทุกวันนี้ได้ผิดไปจากสารสัจจะ อันเป็นเอกลักษณ์ของพุทธไปเกือบหมดสิ้นแล้วทั้งมรรค ทั้งผล นั่นก็เพราะความรู้ และ การปฏิบัติ มิได้เป็นทางไปสู่ความพ้นทุกขอาริยสัจ หรือไม่เข้าทางแห่งความเป็นไปเพื่อนิพพาน ตรงตามที่พระพุทธเจ้า ตรัสรู้และทรงสอนไว้ ประโยชน์ที่วิเศษของศาสนาพุทธจึงผิดไป

เมื่อสารสัจจะของความรู้ และ การปฏิบัตไม่สัมมาทิฏฐิ ชาวหินยานหรือเถรวาทจึงปฏิบัติออกนอกทาง
พุทธไปเรื่อยๆ มาถึงวันนี้ก็พลัดหลงไปยึดเอาการปฏิบัติแบบฤาษีดาบสเดิมๆเก่าๆ ที่หนีเข้าป่า นั่งสมาธิ จมอยู่ในภพเพราะไม่รู้จักรู้แจ้งรู้จริง"ความเป็นภพ"ที่อัตตา อาศัย การปฏิบัติแบบฤาษีดาบสนี้ ได้ผลสูงสุด ก็แค่ "อรูปฌาน" ในภวังค์ (หน่วยของภพ) เท่านั้น อย่างเช่น อาฬารดาบส-อุทกดาบส พึงได้พึงถึง (ลัพภนีย) เป็นต้น ซึ่งแม้จะสำเร็จสูงสุดก็ยังไม่สิ้นภพจบชาติ ยังเป็น"อรูปฌาน" ที่มีอัตตาเสวย "ภพ" อยู่โดยแท้

เพราะ"อรูปฌาน"ชนิดนี้ ไม่ว่าจะไปนั่งทำในป่าจนได้ฌาน หรือนั่งทำในกรุงในเมืองจนได้ฌานก็ตามที ล้วนเป็น "ฌาน" ที่ปฏิบัติด้วยวิธีทำจิตเข้าไปในภวังค์ ตามอุบายวิธีต่างๆที่อาจารย์แต่ละสำนักพาทำ ซึ่งมีมาแต่โบราณ ก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ตราบกระทั่งถึงทุกวันนี้ แถมทุกวันนี้อาจารย์ใหม่ๆ ก็สร้างอุบายวิธีแปลกๆใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจากโบราณอีกมากมายด้วย ทว่า..ก็ยังคงเป็นการปฏิบัติเพื่อเกิด "อรูปฌาน" ที่ยังไม่ได้ "ดับตัวตน" ทั้งนั้น แต่ยัง "สร้างตัวตน" ที่เป็น"อรูป" หรือ "สร้าง"ความไม่มีรูป (อรูป) จนสำเร็จเป็นตัวตน (ที่ไม่มีรูป) ด้วยความเก่งของจิต อันเป็นการสนอง "ภวตัณหา" อยู่นั่นเอง ยังมิใช่" วิภวตัณหา" ที่หมายความว่า "อยากไม่มีภพ-อยากได้ความไม่เป็นภพ แล้วก็ปฏิบัติ จนไม่มีความเป็น ภพนั้นๆ" เลย เพราะผู้ปฏิบัติไม่รู้จัก"ตัวตน" ของเหตุ (สักกายสมุทัย) ไม่ได้เรียนรู้ "สักกายะ" และไม่ได้ปฏิบัติ ละล้าง"ตัวตน"ที่เป็น"สักกายะ"ด้วยทฤษฎี"สัมมาอาริยมรรค องค์ ๘" จึงเห็นอยู่โทนโท่ว่า "ตัวตน" ไม่ได้ถูก กำจัดออกเลย ยังมี "ความเป็นตัวตนเกิดแล้วหรือเกิดอยู่ในภพ" (ชาตัตตะ) นั่นคือ "ตัวตน"ก็ยังเกิดอยู่ เมื่อมี"ความเกิด" (ชาติ) ของตัวตน (อัตตา) ก็ย่อมมีสถานที่อยู่ ของตัวตนที่เกิด นั่นแหละคือ "ภพที่เกิด" (ชาติกเขตต) "ภพ" จึงไม่ได้หมดไป

แต่.."วิภวตัณหา"นั้นหมายถึง ความต้องการ หรือความอยากได้"วิภว" หรืออยากได้"ความไม่มีภพ" (วิภวหรือวิภพ) นั่นก็หมายความว่า อยากได้"ความสิ้นภพจบชาติ" คือ "ความดับโลกีย์-ดับภพ-ดับชาติ" ซึ่งก็คือ อยากได้"นิพพาน" นั่นเอง

ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนชัดแจ้งในความเป็น "ตัณหา ๓" "กามตัณหาและภวตัณหา" นั้น เป็นตัณหาที่ ไม่มีวันที่จะสิ้นภพ จบชาติเป็นอันขาด ซึ่งต่างกันกับ "วิภวตัณหา" ไปคนละทาง เพราะ"วิภวตัณหา"นี้เป็น "ตัณหา" ที่อยากหมดภพจบชาติ เป็นตัณหาอุดมคติขั้น"โลกุตระ"ทีเดียว แต่ทำไมยังเรียกว่า"ตัณหา" ก็เพราะมันยังคือ "ความต้องการ,ความอยากได้" ซึ่งยืนยันอาการหรือภาวะ "ตัณหา" อยู่โต้งๆเหมือนกัน ทว่าเป็น "ความอยากได้,ความต้องการ" ที่มีสารสัจจะสำคัญลึกซึ้งคนละขั้ว คนละข้างกับ"กามตัณหา-ภวตัณหา" หรืออยากได้ไป "คนละโลก" ก็ถูกต้องที่สุด

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๓ ธันวาคม ๒๕๔๗-