- สุนัย เศรษฐบุญสร้าง -

กระบวนการวิเคราะห์และปฏิบัติตามแนวพระบรมราโชวาท เรื่อง คุณธรรม ๔ ประการ
ต่อจากฉบับที่ ๑๗๒

การจับประเด็นปัญหา
"ปัญหา" คือ สิ่งที่บีบคั้นให้เราเกิดภาวะความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ปัญหาอาจเกิดขึ้นได้จาก สาเหตุหลายระดับ ทั้งระดับของชีวิตปัจเจกบุคคล ครอบครัว ที่ทำงาน ชุมชน สังคม ประเทศชาติ ตลอดจน สภาพแวดล้อมของโลกโดยรวม

เราต้องเผชิญกับภาวะความบีบคั้นจากปัญหาต่างๆ และต้องคอยตามแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ถ้าสามารถแก้ปัญหา เหล่านั้นให้ลุล่วง ไปได้โดยปกติ เราก็จะไม่รู้สึกถึงภาวะ ความทุกข์ยาก เดือดร้อนอะไรจากปัญหาเหล่านั้น

ตัวอย่างเช่น เมื่อตื่นนอนขึ้นมาแต่เช้า เราก็เผชิญกับภาวะความบีบคั้นจากปัญหาการขับถ่าย ต้องเข้าห้องน้ำเพื่อปัสสาวะ อุจจาระ จากนั้นก็ถูกบีบคั้นให้ต้องเร่งอาบน้ำแต่งตัว กินอาหารเช้า และไปทำงาน หรือเรียนหนังสือ ถ้าเกิดระบบขับถ่ายผิดปรกติ (ปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ออก) น้ำประปา ไม่ไหล ไม่มีน้ำสะอาดสำหรับล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ ไม่มีอาหารเช้ารับประทาน หรือมีเหตุให้ไป ทำงานไม่ทัน ฯลฯ เราก็จะประสบกับสภาพปัญหาที่ทำให้เป็นทุกข์ ไม่สบายกายไม่สบายใจเป็นต้น

ถ้าวิเคราะห์พฤติกรรมของชีวิตตามตัวอย่างที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่เช้าจวบจนเย็น ตั้งแต่เกิด จวบจนตาย การกระทำ ทุกอย่างในชีวิตของเรา ล้วนแต่เป็นไปเพื่อการแก้ภาวะความบีบคั้นเป็นทุกข์ จากปัญหาต่างๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น การแก้ปัญหา โดยตรง หรือโดยอ้อมก็ตาม หากแก้ปัญหาเรื่องใด ไม่ได้ผล ภาวะความบีบคั้นเป็นทุกข์ที่ซ่อนตัว อยู่ในภาวะแฝง (potentiality) ก็จะปรากฏตัวให้เห็น เป็นภาวะจริง (actuality) เพื่อเล่นงานเราในทันที

ศาสตร์ความรู้แขนงต่างๆ ในอารยธรรมของมนุษย์ที่สะสมพัฒนามาช้านาน อันที่จริงแล้ว ก็เป็นไป เพื่อเป้าหมาย ในการช่วย ให้มนุษย์เข้าใจปัญหา และสามารถแก้ปัญหาจากในมิติใดมิติหนึ่ง ระดับใด ระดับหนึ่ง หรือในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งทั้งสิ้น อย่างน้อยก็เพื่อ ให้มนุษย์เข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง ในธรรมชาติกระจ่างชัดขึ้น จะได้กำหนดบทบาท ของตนเอง ที่จะดำรงอยู่ในเอกภพนี้ ได้อย่างเหมาะสม ถูกต้องต่อไป

มองในแง่นี้ ความรู้ชุดใดที่สามารถช่วยให้มนุษย์เข้าใจปัญหา และแก้ปัญหาได้อย่างครอบคลุม กว้างขวาง ตลอดจน สามารถทำให้ปัญหา หมดไปได้อย่างยั่งยืนถาวรมากเท่าใด ก็ย่อมเป็นชุดของ ความรู้ที่มีแก่นสารคุณค่า (essence) แห่งการเป็น "ความรู้" มากเท่านั้น

การศึกษาที่ช่วยให้มนุษย์เกิดปัญญาเข้าใจถึงกระบวนการวิเคราะห์และแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่าง เป็นระบบ จึงเป็นหัวใจสำคัญ ของการศึกษาที่มีคุณค่ายิ่งกว่าการท่องจำเนื้อหาความรู้ทั้งหลาย

๒.๑ สาเหตุที่ทำให้มองไม่เห็นปัญหา
มีคำพังเพยกล่าวว่า "นกที่บินอยู่บนท้องฟ้ามองไม่เห็นฟ้า และปลาที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำมองไม่เห็นน้ำ" ทั้งนี้เพราะ ความเคยชิน ที่จมอยู่กับสภาพนั้นๆ มักจะทำให้เห็นธรรมชาติของสภาพดังกล่าว เพียงแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง

นกที่บินอยู่บนฟ้า ก็จะมองไม่เห็นท้องฟ้าจากแง่มุมอื่นๆ เหมือนอย่างที่มนุษย์บนพื้นดินมองเห็น และเข้าใจ

ขณะเดียวกันปลาที่อยู่ในน้ำก็จะมองไม่เห็นธรรมชาติของน้ำจากในมิติอื่นเหมือนอย่างที่มนุษย์ บนบกมองเห็น และเข้าใจเช่นเดียวกัน

ชีวิตของคนเราแต่ละคนมักจะจมปลักอยู่กับสภาพความเคยชินเก่าๆ เหมือนนกบนฟ้าและปลา ในน้ำ ดังที่กล่าวมา จนมองไม่เห็น พฤติกรรมและปรากฏการณ์หลายต่อหลายอย่าง ที่เรากระทำอยู่ เป็นปรกติ นั้นๆ ว่า นั่นเป็นปัญหา

เช่น คนที่ติดเหล้าหรือติดบุหรี่ มักจะไม่รู้สึกว่าพฤติกรรมการติดเหล้าหรือบุหรี่ดังกล่าว เป็นปัญหา อะไรในชีวิต ต่อเมื่อมีเหตุ ที่ทำให้ไม่ได้ดื่มหรือไม่ได้สูบ จึงจะเริ่มรู้สึกถึงภาวะความบีบคั้นจากปัญหา การติดเหล้า หรือบุหรี่ดังกล่าว เป็นต้น

เมื่อมองไม่เห็นว่าสิ่งนั้นๆ เป็นประเด็นปัญหา ความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าวก็ย่อมไม่เกิดขึ้น

การจับประเด็นปัญหาให้ได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่งของการแก้ปัญหา

หากดูโดยผิวเผิน การจับประเด็นปัญหาที่สร้างภาวะความบีบคั้นเป็นทุกข์ให้กับชีวิตของเรา ตลอดจน ชุมชน/หน่วยงาน/องค์กร/ หรือสังคม ของเรานั้น ดูไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเย็นอะไร เพราะมักจะเป็น เรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ แต่อันที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้เนื่องจาก เราคอยหาสิ่งตอบสนอง ความต้องการ ต่างๆ มากลบเกลื่อนบดบัง ไม่ให้ภาวะแฝง ของปัญหาปรากฏตัวสู่ภาวะจริง ตลอดจน มีปัจจัยอื่นๆ อีกคือ

๒.๑.๑ มองไม่เห็นปัญหาเพราะความสับสนยุ่งเหยิงของตัวปัญหา
บ่อยครั้งที่ปัญหาหลายอย่าง ได้สร้างภาวะความบีบคั้นให้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน โดยแต่ละ ปัญหา ต่างก็เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ เป็นเหตุ เป็นปัจจัยแก่กัน จนกลายเป็นเงื่อนปม ที่คล้ายกลุ่มด้าย ซึ่งขมวดกัน ยุ่งเหยิง จับต้นชนปลายไม่ถูก เลยจับประเด็นได้ยาก ว่าอะไรเป็นปัญหาหลัก ที่จะต้องมุ่งแก้ไข ก่อนกันแน่

ตัวอย่างเช่น คนผู้หนึ่งติดสุรา มักจะเมากลับบ้านเป็นประจำ เงินทองไม่ค่อยพอใช้ มีปากเสียง ทะเลาะกับภรรยาอยู่เสมอ (เพราะการกลับบ้านดึกดื่น และสร้างหนี้สินให้แก่ครอบครัว จากพฤติกรรม กินเหล้าเมายา ดังกล่าว) เมื่อบ้านขาดความอบอุ่น ลูกก็ไปติด ยาเสพติด ทำให้ชายคนนี้เกิด ความกลุ้มใจ มากขึ้น การงานก็ตกต่ำ เพราะทำงาน อย่างไม่มีสมาธิและไม่มีความสุข (อันเนื่องมาจาก ปัญหา ที่รุมเร้าจิตใจ) สุดท้ายก็ถูกไล่ออกจากงาน หรือไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง ให้มีความก้าวหน้า เหมือนเพื่อน ร่วมงานคนอื่น ส่งผลให้กลุ้มใจมากยิ่งขึ้นอีก จากการที่ประสบ ความล้มเหลวทั้งชีวิตครอบครัวและชีวิตการทำงาน อยู่บ้านก็ไม่มีความสุข อยู่ที่ทำงานก็ไม่มีความสุข ยิ่งกลุ้มใจก็ยิ่งกินเหล้าหนักขึ้น เพื่อแก้กลุ้ม ยิ่งกินเหล้าหนัก ก็ยิ่งสร้างปัญหา ให้แก่ครอบครัว มากยิ่งขึ้น ฯลฯ

จะเห็นได้ว่าปัญหาต่างๆ เหล่านี้เกี่ยวพันกันยุ่งเหยิง คล้ายกับมีข้าศึกจู่โจมเข้ามาจากทุกทิศ ทุกทาง พร้อมกัน ทำให้เกิดความสับสน ไม่รู้จะต่อสู้อย่างไรดี สุดท้ายก็ถูกข้าศึกบดขยี้พ่ายแพ้หมดทั้งหน่วย แต่ถ้าตั้งสติได้ เลือกจุด ปิดล้อมที่เป็นจุดอ่อนของข้าศึก แล้วตัดสินใจ ทุ่มกำลังทั้งหมด ตีฝ่าออกไป ตรงจุดนั้น ก็จะสามารถพากองกำลัง ทั้งหมดให้รอดไปได้

ในกรณีตัวอย่างข้างต้นนี้ ถ้าบุคคลผู้นั้นจับประเด็นปัญหาได้ว่าอยู่ที่การติดสุรา เมื่อสามารถ เลิกสุราได้ รายจ่าย ที่ไม่จำเป็น ส่วนหนึ่ง ก็จะลดน้อยลง สุขภาพกายสุขภาพจิตเริ่มดีขึ้น ทำให้มีเวลา แรงงาน สติปัญญา ที่จะทุ่มเทให้กับ การทำงาน มากขึ้นกว่าเดิม รายได้จึงเริ่มเพิ่มมากขึ้นตาม ภรรยาที่เห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใหม่ของสามีในทางที่ดีขึ้น เลิกสำมะเลเทเมา กลับบ้าน ตรงเวลา การทะเลาะด่าว่าก็จะลดลง ครอบครัวจะเริ่มมีความอบอุ่นขึ้น และมีเวลาดูแลลูก ที่ติดยาเสพติด ให้เลิก จากการติดยา ได้มากขึ้น ในที่สุดปัญหาความทุกข์ที่กลุ้มรุมชีวิต ก็ค่อยๆ ได้รับการคลี่คลายแก้ไขทีละเปลาะๆ เหมือนเงื่อนปม ของกลุ่มด้าย ที่เมื่อคลายปมเงื่อนแรก ได้ถูกทางแล้ว เงื่อนปมอื่นๆ ก็จะค่อยๆ คลายออกได้ง่ายขึ้น ตามลำดับๆ เป็นต้น

๒.๑.๒ มองไม่เห็นปัญหาเพราะกลไกป้องกันตัวเองทางจิตบดบัง
ร่างกายคนเรามีกลไก ป้องกันตัวเองจากภัยคุกคามต่างๆ หลายกลไก เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ เช่น มีผิวหนัง สำหรับห่อหุ้มร่างกาย เพื่อป้องกันเชื้อโรค แต่ถ้าเกิดมีเชื้อโรค เล็ดลอดเข้าไปได้ ก็จะมีระบบ เม็ดเลือดขาว ช่วยทำลาย เชื้อโรคเหล่านั้น หรือหากมี ของแหลมคม มากระทบถูก ร่างกายทะลุชั้น ผิวหนัง ก็จะมีระบบประสาทอัตโนมัติเตือนภัยให้รู้สึกเจ็บปวด และสมองจะสั่งการ ให้ร่างกาย รีบหลบ จากสิ่งนั้นทันที เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายมากกว่านี้ เป็นต้น

จิตใจของมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าถูกคุกคามให้ตกอยู่ภายใต้ภาวะความบีบคั้นเป็นทุกข์และ เครียด ถึงระดับหนึ่ง ก็จะทนต่อไปไม่ได้ ธรรมชาติจึงออกแบบให้มีกลไก ป้องกันตัวเองทางจิต (Defence Mechanism) ต่างๆ ที่จะช่วยลดภาวะ ความบีบคั้นกดดัน จากความทุกข์ และความเครียดดังกล่าว กลไกป้องกันตัวเองทางจิตเหล่านี้ มีอยู่หลายกลไก เช่น

ก. การโทษสิ่งอื่น (Projection) กรณีของคนที่กระทำความผิดหรือตนเองมีข้อบกพร่องบางอย่าง แล้ว ทำให้จิตใจ เกิดภาวะ ความบีบคั้น กดดัน และความเครียดขึ้น กลไกป้องกันตัวเองทางจิตวิธีนี้ จะทำงานโดย การโยนความผิด หรือ ความบกพร่อง ดังกล่าว ไปให้แก่คนอื่น หรือสิ่งอื่น โดยที่จิตสำนึก (Concious) ของตนเองไม่รู้ตัว

เช่น ตนเองเป็นคนขี้เกียจ ไม่ค่อยรับผิดชอบในหน้าที่การงาน ขณะที่มีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง ทำงาน ดีกว่าเรา และเจ้านาย ก็มักจะยกย่องชมเชย โดยบางครั้งก็ยกเพื่อนร่วมงานคนนั้น มาเปรียบเทียบ กับเรา เมื่อเกิดภาวะ ความบีบคั้นกดดัน และ ความเครียด ขึ้นในจิตใจ จากการรู้สึกว่าตัวเอง ด้อยกว่าเพื่อนร่วมงานคนนั้น กลไกป้องกันตัวเอง เพื่อลดภาวะความบีบคั้น กดดัน ในจิตใจวิธีนี้ ก็จะทำงานโดยสร้างอุปาทาน หลอกตัวเองให้เชื่อว่าตนไม่ผิดและไม่บกพร่อง แต่โยนความบกพร่อง ดังกล่าว ไปให้กับเพื่อน ส่งผลให้มีพฤติกรรม ชอบนินทา ให้ใครต่อใครฟังว่า เพื่อนร่วมงานคนนั้น เป็นคนขี้เกียจ ไม่รับผิดชอบ ต่อหน้าที่ การงาน ปล่อยให้คนอื่น ทำงานหนัก แต่ตนเองคอยเสนอหน้า ประจบเจ้านายตลอดเวลา เจ้านายก็เป็นคนหูเบา ชอบการประจบ สอพลอ ก็เลยหลงเชื่อ ลูกน้อง คนนั้น เป็นต้น

ถ้าใช้กลไกป้องกันตนเองทางจิตเช่นนี้มากๆ บุคคลนั้นจะไม่พัฒนาปรับปรุงตัวเอง เพราะมอง ไม่เห็น ปัญหาที่ตน สร้างขึ้น เนื่องจากมองออกไป นอกตัว และโทษคนอื่นตลอดเวลา ส่งผลให้ปัญหานั้นๆ ไม่ได้รับการบำบัดแก้ไข อย่างถูกทาง

ข. การชดเชย (Compensation) กรณีของคนที่รู้สึกว่า ตนเองมีจุดด้อยกว่าคนอื่นๆ อันเป็น "ปมด้อย" (ซึ่งเป็น ความรู้สึก ที่ฝังอยู่ในจิตส่วนลึกโดยที่ระดับของจิตสำนึกอาจไม่รู้ตัวชัด) จนเกิดภาวะ ความบีบคั้นขึ้น กลไกป้องกัน ตัวเองทางจิต โดยวิธีนี้ จะทำงานด้วย การสร้างสิ่งที่เป็น "ปมเขื่อง" ขึ้นมาชดเชยความรู้สึกที่เป็นปมด้อย ของตัวตนดังกล่าว เช่น

เด็กบางคนที่ครอบครัวขาดความอบอุ่น ไม่ได้รับความรักจากพ่อแม่ของตนเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ ในชั้นเรียน จนส่งผลให้เกิด ภาวะความรู้สึกเป็น "ปมด้อย" ในจิตส่วนลึก เงื่อนปมแห่งความรู้สึกถึง ความเป็น อัตตาตัวตน ที่ไม่สมบูรณ์ดังกล่าว จะส่งผลให้เด็กคนนั้น มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน จากค่านิยม ปรกติของสังคม เพื่อสร้าง "ปมเขื่อง" ขึ้นมาชดเชย ภาวะความรู้สึก "ต่ำต้อย" ที่แฝงอยู่ในจิตใจ ทำให้ มีพฤติกรรมเกเรเสพยาเสพติด ชอบกลั่นแกล้งหรือขโมยของของเพื่อน ฯลฯ ทั้งนี้เพราะ การได้กระทำ สิ่งที่ผู้ใหญ่หรือสังคมห้าม ในแง่หนึ่งย่อมแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญ และความไม่เป็นลูกแหง่ ที่ต้องคอยฟัง คำสั่ง ของผู้ใหญ่ตลอดเวลา (โดยเฉพาะคำสั่งในเรื่องที่ผู้ใหญ่ห้ามไม่ให้เด็กทำ แต่ผู้ใหญ่สามารถทำได้ และก็ทำเป็น แบบอย่าง หรือการมีพฤติกรรมให้เด็กเห็น อาทิ การกินเหล้า สูบบุหรี่ เสพยาเสพติด เล่นการพนัน เป็นต้น ซึ่งทำให้เด็กเกิดค่านิยม ในมุมกลับว่า การทำในสิ่งที่ ผู้ใหญ่ ห้ามไม่ให้เด็กทำแต่ผู้ใหญ่ทำได้นั้นๆ ก็คือการแสดงถึงความมีวุฒิภาวะ แห่งการเป็นผู้ใหญ่ ของตน ที่เหนือเพื่อนคนอื่นๆ นั่นเอง) อันจะช่วยสร้างภาวะความรู้สึก "เขื่อง" ที่ช่วยชดเชย ความรู้สึก "ด้อย" ที่แฝงอยู่ลึกๆ ในจิตใจนั้น ถ้าไม่สามารถคลี่คลายเงื่อนปมแห่งความรู้สึกไม่สมบูรณ์ของ อัตตาตัวตน (จนเป็น "ปมด้อย" เกิดขึ้น) ในทิศที่ถูกทาง ลำพังการแก้ปัญหา ที่ปลายเหตุ ด้วยการ พยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเบี่ยงเบนนั้นๆ โดยใช้วิธีห้ามปราม หรือลงโทษอย่างเดียว จะประสบ ผลสำเร็จได้ยาก และเนื่องจากเงื่อนปมของภาวะที่เป็น "ปมด้อย" ดังกล่าว มักจะมีพัฒนาการเกิดขึ้น ในอดีต โดยที่ปัจจุบัน ได้ลืมเรื่องเหล่านั้น ไปจากจิตสำนึกเกือบหมดแล้ว (แต่ยังตกตะกอนแฝงอยู่ ในจิตส่วนลึก และมีอิทธิพล กำหนดพฤติกรรมของชีวิตอยู่) จึงเป็นเรื่องที่จะให้รู้ตัว และมองเห็น เงื่อนปม ของปัญหานั้นๆ ไม่ได้โดยง่าย

(อ่านต่อฉบับหน้า)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๓ ธันวาคม ๒๕๔๗ -