- ฟอด เทพสุรินทร์ -


แต่ละบาทคือหยาดเหงื่อ ก่อนจะใช้ควรใคร่ครวญ

บ้านไม้ทรงไทยยกพื้นสูงมีระเบียงด้านหน้า ปลูกกลางเนื้อที่สองไร่ ลำไยต้นใหญ่พร้อมไม้ผล อีกหลายชนิด รายรอบชิดรั้วหลังบ้าน แนวรั้วริมทางหน้าบ้านเขียวชอุ่มไปด้วยต้นข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ตำลึง และมะระขี้นก ซึ่งชาวบ้านในละแวกนั้นเทียวมาขอเอาไปทำกับข้าวใส่ต้มแกงอยู่ทุกวัน

ลุงบัวลาเจ้าของบ้าน อายุ ๘๐ กว่าปี แต่เรี่ยวแรง หูตายังดีไม่แพ้คนวัย ๖๐ ปี แทบทุกวัน ลุงบัวลา จะนั่งจักสาน อยู่ที่แคร่ไม้ใต้ต้นมะขามหวานข้างบ้าน พร้อมวิทยุเครื่องเก่า แต่เสียงยังพอฟัง ข่าวสาร บ้านเมืองได้ดี ก้าน หมาพันธุ์พื้นบ้านลายดำสลับขาวนอนหมอบอยู่ไม่ห่าง

อบต. สมาน ขี่จักรยานผ่านมาเห็นลุงบัวลาก็เลยแวะรับฟังปัญหาเรื่องไร่นาพืชสวนของชาวบ้านนำเสนอจังหวัด ต่อไป ตามแนวทางของนักการเมืองระดับท้องถิ่น

เจ้าก้านวิ่งออกมาแยกเขี้ยวเห่ากันท่า "ไอ้ก้านมึงหยุดนะ ไป อยู่หลังบ้านโน้น ไป" ลุงบัวลาตะโกนไล่ เจ้าก้าน วิ่งเหยาะๆ หลบเข้าใต้ถุนบ้าน เหมือนกับรู้ภาษา หมาของชาวบ้านก็จะรู้ภาษาคนในถิ่นเดียวกัน เช่น ตอนห้ามให้หยุดกัด จะตะโกนว่าเซะๆ หมาก็จะหยุดชะงักถอยออกมา หรือตอนจะเรียกหา ก็จะร้องว่าอ้ะๆ ไม่ว่ามันนอนหลบอยู่ตรงไหนก็จะวิ่งออกมาหาเจ้าของทันที ถ้าบอกให้มันต่อสู้ ก็จะร้องว่า อุจุบ อุๆ มันจะหูผึ่งหน้าตั้งเตรียมพร้อมขย้ำศัตรู หรือมองหานกหนูปูปีก ที่เจ้าของสั่ง ให้ตามล่า หมามีความคิดและรับรู้ได้หลายอย่าง ต้องการอยากกินอยากอยู่หลายอย่างไม่ต่างไปจากคน แต่ก็ยังมีคน เอามันไปฆ่า กินเนื้อมันได้ลงคอ

อบต. สมานนั่งลงบนขอนไม้ที่ลุงบัวลาตัดมาตั้งไว้นั่งเล่นรอบๆ ต้นมะขาม "อบต. สมานมาแนวใดนอ" ลุงบัวลา ทักขึ้นก่อน "บ่มีหยังดอก ผมก็ขี่จักรยานไปรอบๆหมู่บ้านเล่นยามว่างงานเท่านั้น ลุงสานอะไร หรือครับ"

"วันนี้จะสานเข่งส่งร้านในตลาด เขาสั่งมาว่าอยากได้สักสิบใบ ลุงส่งให้ใบละ ๒๐ บาท แต่ทางร้าน เขาขายได้ใบละ ๔๐ บาทเลยนะ เมื่อวานก็ส่งหวดนึ่งข้าวไป ๒๐ ใบ"

"ลุงสานพวกของใช้ในครัวเรือนเป็นได้หมดทุกอย่างใช่ไหมครับ"

ลุงบัวลาพยักหน้า "ก็สานได้ทั้งนั้นหละ คนรุ่นราวคราวเดียวกับลุงสานกันเป็นหมดทุกคนแหละ เพราะเก่าก่อนนั้น เงินมันหายาก ทุกครัวเรือนต้องดิ้นรนหาอยู่หากินแบบไม่ต้องใช้เงิน เสื้อผ้าที่นอน หมอนมุ้ง ต้องช่วยกันถักทอเอาเอง อาหารไม่ต้องซื้อ ส่วนมากก็จะไปหาดักจับเอาตามป่า ห้วยหนอง คลองบึง มาแบ่งกันกิน งานจักสาน ทำไร่ไถนาและการล่าสัตว์ ชาวบ้านต่างก็จะเรียนรู้เอาเอง เพราะเป็น ความจำเป็นของทุกครอบครัว

"สมัยเมื่อ ๖๐ ปีก่อน ชาวบ้านส่วนใหญ่จะซื้อขายสิ่งของกันด้วยเงินสตางค์แดงที่มีรูอยู่ตรงกลาง เสื้อผ้า เนื้อดีซื้อมาจากในเมืองตัวหนึ่งไม่เกิน ๑๒ สตางค์ วัวควายตัวใหญ่ๆซื้อขายกันแค่ตัวละ ๑๐ บาท เท่านั้นเอง"

"สังคมสมัยนั้นไม่ค่อยมีการซื้อขายกัน แต่ชาวบ้านสมัยนี้จะซื้อขายกันเป็นหลัก สังคมจะแตกต่างกัน อย่างไรครับ"

"สมัยก่อนพ่อแม่ลูกๆ ทำการงานร่วมกัน มีอุดมการณ์เดียวกัน คือทำนาทำสวน เลี้ยงสัตว์ ก็เพื่อตัวเอง และ คนในครอบครัว จะได้มีอาหารการกินอิ่มท้องอยู่ได้ตลอดปี พ่อแม่มีโอกาสใกล้ชิดบอกสอนลูก ให้ระวังบาป ระวังตกนรก จะคอยย้ำเตือนลูกๆ เมื่อไปทำสิ่งไม่ดีไม่งาม ชาวบ้านจึงมีความสำนึกที่ดี ไม่ค่อยมีเรื่อง โกรธแค้นรุนแรงฆ่าฟันกันเหมือนสมัยนี้

"อย่างงานประจำปีช่วงวันเพ็ญ เดือนสาม จะมีผู้คนทั่วทุกสารทิศมากราบพระธาตุเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง จัดงานถึง ๗ วัน ๗ คืน และในงานนั้นจะมีพวกหัวหมอมาหลอกเอาเงินชาวบ้าน โดยการเอาผ้ามากั้น แล้วบอกว่า หนึ่งสตางค์เข้าดูคนรู หนึ่งสตางค์จ้างเข้ามาดูคนกินลูกฝรั่ง หนึ่งสตางค์จ้างเข้ามาดูเมียงู

"แท้จริงคนรู ก็แค่ทาตัวด้วยดินหม้อแล้วลงไปนอนขดอยู่ในรูลึกหนึ่งเมตร คนกินลูกฝรั่งก็นั่งกิน หน้าตาเฉย ซึ่งชาวบ้านจะคิดว่าคนกินคนที่เป็นลูกของคนฝรั่ง ส่วนเมียงูก็ผู้หญิงเข้าไปนั่งอยู่ใกล้งูใหญ่ เท่านั้นเอง ชาวบ้านที่เสียค่าเข้าไปชมพออกมาก็พากันนิ่งเฉย เพราะอายที่ถูกหลอก คนใหม่ก็ทยอย เข้าไป ดูต่อ พวกที่มาหลอกชาวบ้านเขาก็เปิดวิกเก็บเงินอยู่ถึง ๗ วัน ๗ คืน ไม่มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น คงเพราะสมัยนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ ไม่อยากมีเรื่อง ให้อภัยต่อคนอื่นอยู่เป็นนิสัย เมื่อพลาดโดนหลอก ก็แล้วกันไป สังคมจึงมีแต่ความร่มเย็น แต่ถ้าเป็นสมัยนี้ละก็ จะมีคำว่ามึงหลอกกูมึงเจ็บ หรือมึงต้องตาย ลูกเดียว สังคมทุกวันนี้ผู้คนอารมณ์ร้อนแรงและโหดร้าย ลุงฟังข่าวเขาฆ่ากันในทุกวัน รู้สึกหดหู่ใจ เหลือเกิน"

"ลุงได้ผ่านโลกมามาก ลุงคิดอย่างไรที่จะทำสังคมน้อยๆ ภายในหมู่บ้านของเราเกิดความร่มเย็น อบอุ่น เหมือนสังคมสมัยเก่า"

"มันก็ยากเอาการอยู่นะ เพราะเยาวชนสมัยก่อน จะคิดถึงเรื่องความอยู่รอดเป็นหลัก จึงขยัน และประหยัด เป็นนิสัย

"แต่เยาวชนส่วนใหญ่สมัยนี้ มักจะไม่คิดถึงวันข้างหน้า ได้เงินมาร้อยสองร้อยก็จะใช้หมดไปในวันเดียว ใช้เงินเกินฐานะ หากว่าเยาวชนไม่คิดถึงคุณค่าของเงินที่พ่อแม่อุตส่าห์ปากกัดตีนถีบหามา ทำนา ทำสวน หามรุ่งหามค่ำ ลำบากก็ยอมทนทุกข์ เพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัว สังคมก็จะมีแต่จะทรุด

"แต่หากสังคมมีแนวทางให้เยาวชนคนรุ่นใหม่สำนึกถึงคุณค่าของเงินที่พ่อแม่ได้เอาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ทนด้วยความลำบากแลกเอามาได้ เยาวชนก็จะได้คิดและประหยัด อดออมช่วยพ่อแม่ สังคมก็จะดีงาม เจริญเองนั่นแหละ"

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๓ ธันวาคม ๒๕๔๗ -