บทความฉบับนี้ชื่อเรื่องแปลกกว่าเดิม จากตัวหนังสือมาเป็นสื่อด้วย "รูปภาพ"
ขานรับกับผู้บริหาร ประเทศ ที่เข้าใจคิดเอายุทธศาสตร์การบริหารเอย เอาเป้าหมายการบริหารเอย
มาสื่อด้วยรูปภาพ ทั้งหมด ทำให้เข้าใจง่ายและใช้เวลาในระบบฟาสต์ฟู้ด
(แดกด่วน)
เขาบอกว่า เพียง ๑ ภาพที่เห็น ก็สามารถอธิบายได้ดีกว่าการใช้ถ้อยคำเป็นพันเป็นหมื่นคำ
๔ ปีซ่อม ๔ ปีสร้าง เราต่างก็เห็นภาพรัฐบาลชุดนี้กำลังทำอะไร
เสียกรุง ๒ ครั้ง ก็ไม่ร้ายเท่านายทุนเป็นรัฐบาลเพียงครั้งเดียว....
มนุษย์มีวิสัยทัศน์ สมัยก่อนเราวาดเป็นหลอดไฟสว่าง แต่วันนี้ต้องเป็นจานดาวเทียม!
เจ้าชายสิทธัตถะเพียงภาพคนเกิด แก่ เจ็บ ตายเท่านั้น ก็ถึงกับละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างออกเนกขัมมะ
นี่แหละสื่อด้วยภาพ จึงเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ตลอดมา ผิดกับการสร้างภาพ ที่เป็นอะไรที่วุ่นวายไม่เลิก!
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๔ ธันวาฯ ได้ทรงสั่งสอนเตือนสติ
ประชาชนมากมายโดยเฉพาะ"การฟัง"
วันนี้ชื่อเรื่องบทความจึงขออนุญาตใช้ "รูปหู"
เป็นสัญลักษณ์
สุ.จิ.ปุ.ลิ. หัวใจแห่งการศึกษา พูดกันมานาน
แต่เมื่อละเลย วันนี้จึงต้องมาปวดหัวกับการ ปฏิรูปการศึกษา
ฝึกเป็น "นักพูด"
มีเต็มบ้านเต็มเมือง มีครูสอนมากมาย สอนกันจนรวยไม่เลิก
ฝึกเป็น "นักฟัง"
มีองค์กรไหนที่รับสอน?
"การฟังคนอื่น มิใช่เป็นการเรียนรู้ความคิดของเขาเท่านั้น
แต่เป็นการแสดงความเห็นว่า เราก็เคารพ ความรู้สึกของผู้อื่นด้วย"
"ทำความรู้จักเพื่อนใหม่อีกคนหนึ่ง เท่ากับเปิดโลกกว้างออกไปอีกส่วนหนึ่ง...."
เป็นของใคร ขออภัย ที่ไม่ทราบ แต่วาทะคมคายยิ่งนัก
พูดมากก็โง่มาก พูดน้อยก็โง่น้อย แต่ถ้าไม่พูดเลยถือว่าโง่ที่สุด!
การพูดมากประดุจน้ำในภาชนะที่พร่องอยู่เสมอ บางคนมีความสุขอยู่กับการพูด
แม้จะเป็นถ้อยคำ แห่งการเตือนสติก็ตาม
พูดน้อย โอกาสพลั้งพลาดในชีวิตก็ลดลง โอษฐภัยก็จะไม่มาเยี่ยมเยือน
เพราะเหตุนี้ คนอยากพูดจึงโง่กว่าคนอยากฟัง เป็นของธรรมดา!
"ปวารณา" เป็นพิธีกรรมของหมู่สงฆ์ที่อนุญาตให้ชี้ข้อบกพร่อง
จะตำหนิหรือว่ากล่าวสั่งสอน ก็จะไม่เถียง
หมู่สงฆ์กลุ่มนี้จึงมีแต่ความเจริญถ่ายเดียว
ทวารรับรู้โลกของสรรพชีวิต ก็คือ"อายตนะ"
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เพื่อความอยู่รอด เพื่อหลีกเลี่ยงภยันตรายเป็นเป้าหมายระดับแรก
แต่หากมาเป็นการพัฒนาสู่ความฉลาด"หู"
กลับเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด
คนหูหนวกจึงเรียนหนังสือไม่ลึกซึ้งเท่ากับคนตาบอดก็ด้วยเหตุนี้
ภัยเงียบที่กินลึกดุจมะเร็งร้าย ก็คือ เด็กรุ่นใหม่ฟังไม่เป็น ไม่มีสติในการฟัง
จึงฟุ้งซ่าน จึงฟุ่มเฟือย จึงหลงค่านิยมของโลก จึงไม่รู้จักแก่นแท้ของชีวิต
มีอารมณ์อันอ่อนไหวง่าย บังคับตัวเองยาก เหมือนคนเป็นโรคจิต!
โรงเรียนมัธยมหลายๆ โรงเรียน กำลังเจอกองทัพนักรบสมาธิสั้น ที่อยู่นิ่งไม่ได้
ชอบคุยกันตลอดเวลา ฟังใครนานๆ ไม่เป็น และติดเพื่อน
หากการศึกษาจะต้องเริ่มจากภาษาแม่ที่ตีให้แตก อ่านจับใจความได้
เรื่องของชีวิตที่พัฒนา ก็เห็นจะต้อง เริ่มที่ "การฟัง"
เมื่อ "ฟัง" สติก็เริ่มเกิด
ความฉลาดก็เริ่มมา สมาธิก็ลุ่มลึก
วันนี้สร้าง "ภาพ"
หลายๆ อย่างสื่อให้ประชาชนได้รับรู้
วันนี้ก็ควรสร้าง "พฤติกรรม"
ให้เป็นตัวอย่างแก่เยาวชนได้พัฒนาความคิด
ชาวมุสลิม ศาสดาท่านกำหนดวันละหมาดถึง ๕ ครั้ง เพื่อให้จิตใจจดจ่ออยู่กับตัวเอง
อันเป็นแนวทาง ไปสู่ความสะอาด สว่าง สงบ
สำหรับชาวพุทธในโรงเรียนนั้น ก็น่าจะลอง "นั่งสมาธิ"
วันละ ๒-๓ ครั้ง ช่วงละสั้นๆ ๕-๑๐ นาที ก็น่าจะพอ
เมื่อเข้าห้องเรียนช่วงเช้าและบ่าย ฝึกนั่งสมาธิ ก่อนกลับบ้าน พานั่งกันอีกสักรอบ
"การนั่งสมาธิ" สัมพันธ์กับ
"การฟัง" ค่อนข้างลึกซึ้ง
เพราะเป็นการฝึกฟังขั้นพื้นฐาน ที่ฝึกง่าย ไม่ต้องอาศัย อุปกรณ์อะไรมากมาย
ฝึกฟังเสียงความเงียบให้เป็น เพื่อชีวิตจะได้นิ่ง แน่น และสุขุมมากขึ้น
แม้เป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม มิใช่จะพ้นมลทิน หลายๆ คนก็ยังมีจิตวุ่น เพราะฟังน้อย
"คิมยองกี"
วีรบุรุษประเทศเกาหลี ท่านเข้าห้องอธิษฐานคุยกับพระเจ้าวันละ ๒ ชั่วโมง
ผู้ใหญ่ของเราไม่คิดจะเลียนแบบพฤติกรรมหรืออย่างไร?
- เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๗๔ มกราคม ๒๕๔๘ -