ตอน... ดอกเหงื่อ ตอนจบ


น้อยเดินตามหลั่นสินออกมาหน้าบ้านที่เปิดกว้างเหมือนร้านขายของ แม่และป้าของหลั่นสินนั่งอยู่ บนม้าเตี้ย ต่างก็ขะมักเขม้นรีดผ้าที่ได้พรมน้ำม้วนไว้ในกะละมัง แม่ของหลั่นสิน ซึ่งเป็นผู้หญิงจีน ที่ยังแต่งกายแบบจีนอยู่ ถามน้อยอย่างใจดีว่า

"หนูมาดูหลั่นสินทำงานหรือ ไม่เห็นมีเพื่อนคนไหนเคยมาหาเขาเลย หลั่นสินต้องทำงานช่วยทางบ้าน ทุกวัน นอกจากเวลาไปโรงเรียน เลยไม่ค่อยได้ไปเล่นกับเพื่อนฝูง ทำอย่างไรได้ล่ะหนู บ้านเรายากจน เตี่ยเขาก็ตาย ไปแล้ว ไม่ทำงานก็ไม่มีกิน ต้องทำมาหากินกันไปเอง จนกว่าเขาจะโต ทำงานได้ นี่หนู บอกแม่หรือเปล่า ว่าจะมาที่นี่ แล้วกินข้าว มาแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่กิน เดี๋ยวกินก๋วยเตี๋ยวกับหลั่นสิน ก็ได้นะ"

"ขอบคุณค่ะแต่เดี๋ยวหนูจะไปในกำปง (หมู่บ้าน) กับมามุค่ะ เตารีดนั้นหนักไหมคะ ทำไมต้องเอาไปวาง บนเตาถ่านแบบนั้นด้วยคะ?" น้อยถามญาติผู้ใหญ่ของหลั่นสิน ป้าของเขาพูดขึ้นว่า

"ลูกท่านสมุห์ฝั่งโน้นหรือ เห็นเดินผ่านไปโรงเรียนเช้าๆ ช่างพูดนี่ แต่ผอมไปหน่อย ไม่ค่อยกินอะไร หรือไง" และแม่ของเขาตอบคำถามเธอว่า "เข้าใจถามด้วยซี เตารีดนี่หนักสิหนู ถ้าไม่หนัก ก็รีดกางเกง ผู้ชาย ผ้าหนาๆ อย่างนี้ไม่เรียบ"

"ที่บ้านหนูเตารีดมีไก่อยู่ตรงที่ปิดเปิดฝาเตา เอาถ่านใส่ลงไป ไม่เหมือนกับของที่นี่ แต่ต้องเอามารีดบน ใบตอง เหมือนกัน บ้านหนูมีต้นกล้วยเยอะ วันหลังหนูจะเอาใบตองมาฝากนะคะ" น้อยพูดต่อ ใจอยาก ขอทดลอง เตารีดแบบแปลกนั้น ก็พอดีหลั่นสินกลับมาจากตากผ้าได้ยินเข้าจึงพูดขึ้นว่า

"เตารีดแบบที่เธอว่านั้นเล็กกว่านี้ แบบนี้มันตัน หนักกว่าเยอะ ไม่ต้องใส่ก้อนถ่านแต่เอาไปตั้งบนเตา พอมันร้อน ก็ทดลองรีดบนใบตองก่อน ดูว่ามันร้อนพอดีหรือร้อนเกินไป" แล้วหลั่นสินก็เดินเข้าไปที่ ที่ป้าของเขานั่งอยู่ ทันทีเหมือนทำกันเช่นนั้นมาทุกวัน เพื่อเปลี่ยนให้ป้า ออกไปรับประทานอาหาร เขาถามน้อยว่า "เธออยากลอง รีดดูไหมล่ะ ถ้าอยากลองก็เข้ามาซี?"

แทนคำตอบ น้อยเดินอย่างอายๆ และไม่แน่ใจเข้าไปตรงที่ที่หลั่นสินนั่งพลางยื่นห่อขนมขี้เสียดในมือ ให้เพื่อน คราวนี้หลั่นสินรับไว้พร้อมกับพึมพำขอบใจขณะลุกขึ้นเบี่ยงตัวให้น้อยเข้าไปนั่งแทนที่

น้อยเกร็งข้อมือผอมบางของเธอยกเตารีดนั้นขึ้น มันหนักอึ่ดทีเดียว หนักกว่าเตารีดหัวไก่ที่บ้านมาก พอวาง ลงบนใบตองก็มีเสียงดังฉี่แสดงว่าเตาร้อนมากพร้อมที่จะรีดได้แล้ว น้อยเกร็งข้อมืออีกครั้ง เพื่อยกเตารีดนั้น วางลงบนขากางเกงสีกากี ไถไปได้เพียงสองสามครั้งก็เหงื่อตก ต้องยกออกมา วางบนที่พัก หลั่นสิน หัวเราะพลางพูดว่า

"ให้ฉันดีกว่า ถึงเธอจะรีดเป็น แต่รีดแบบนี้ไม่เหมือนกันหรอกนะ เธอต้องออกแรงกดเตาให้เสมอผ้า ถึงจะแห้ง และเรียบเสมอกัน ไถเฉยๆ ไม่ได้ ฉันว่าเพราะแบบนี้แหละ ถึงได้มีร้านซักรีด อยู่แค่ร้านเดียว ก็พอแล้ว ในอำเภอแว้ง มันเป็นงานหนักและยากพอสมควร แน่ะมามุมาพอดี เธอจะไปในกำปง กันหรือ?" หลั่นสินพูด

"ใช่" มามุตอบแทนน้อย "ไปด้วยกันไหม หลั่นสิน?"

"ฉันต้องทำงานอีกเยอะ" หลั่นสินเด็กดีตอบ "เดี๋ยวต้องรีดเสื้อกางเกงในกะละมังนี้ ให้เสร็จก่อน ผ้าบน ราวแห้ง ไว้วันหลังนะมามุ น้อย ขอบใจมากสำหรับขนม วันหลังเธอมากินก๋วยเตี๋ยวที่นี่นะ"

"ตกลง หลั่นสิน" น้อยตอบ "ฉันรู้แล้วว่าทำไมเธอถึงได้ปั้นดินเหนียวสวยเรียบร้อยนัก เสื้อกางเกงตำรวจ นี่แหละ สอนให้เธอทำอะไรๆสวย พ่อฉันเคยบอกว่าถ้าได้ทำอะไรบ่อยๆ ก็จะติดเป็นนิสัย ต่อไปทำอะไร นิสัยนั้นก็จะตามมาด้วย"

หลั่นสินยิ้มให้เพื่อนทั้งสองคน น้อยและมามุเข้าใจดีว่าที่เขาไม่ได้เอ่ยปากชวนมามุให้มารับประทาน ก๋วยเตี๋ยวด้วย ก็เพราะเขาเป็นเด็กจีน คนจีนกับหมูนั้นใกล้กันมากเสียยิ่งกว่าคนไทยกับหมู ถึงที่แว้ง ไม่มีใคร เลี้ยงหมู และไม่มีใครขายหมูเด็กๆ ก็เข้าใจดีถึงความแตกต่างกันเรื่องนี้ และความแตกต่างนั้น ก็ไม่ได้กีดกั้น การเป็นมิตรดีของกันและกัน แม้แต่น้อย

น้อยกับมามุเดินลัดตลาดไปทางสะพานต้นมะพร้าวข้ามคลอง สะพานนี้พิเศษมาก ถ้าไม่ใช่เด็กแว้ง ที่เดิน และวิ่งข้ามกัน จนชินแล้วก็จะไม่กล้าข้ามเอาทีเดียวเพราะชาวบ้านเขาตัดต้นมะพร้าวมาสองต้น เอาหวายเหนียว ขนาดใหญ่หลายเส้น มามัดต่อกันเข้าแล้วพาดข้ามคลองที่ตลิ่งสูงชัน เขาทำราวไว้ ให้คน ที่กลัวตกคลองจับไต่ไปด้วย แต่สำหรับเด็กที่อำเภอแว้งอย่างมามุและน้อยแล้วอย่าว่าต้องจับราวไว้เลย วิ่งข้ามก็ยังได้ ตอนนี้ ของคลองแว้งด้านหนึ่ง มีหาดทราย อีกด้านหนึ่ง น้ำลึก นานๆ จะมีเรือที่บรรทุกของ จากตากใบ และสุไหงโกลกมาจอดเทียบเพื่อเอาสินค้าอย่างน้ำบูดูของเจ๊ะเห (เป็นชื่อตำบลในอำเภอตากใบ มีชื่อเสียงมากในเรื่องน้ำบูดู และภาษาที่พูดเสียงแปลกไปจากทุกถิ่นในภาคนั้น ไปคล้ายกับเสียง ที่พูดกันที่ บือเลาะห์ อำเภอแว้งและที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี) ที่มีชื่อเสียงมากมาขายที่แว้ง เด็กๆ ชอบมาควัก ดินเหนียวสีน้ำเงินตรงริมตลิ่งข้างเรือจอดไปปั้นในชั่วโมงการฝีมือที่โรงเรียน ดินเหนียวที่ว่านี้ สวยละเอียดดีจริง และมีมากพอที่เด็กๆ จะมาเอาไปกี่รุ่นต่อกี่รุ่นก็ไม่หมด

ถ้าวันไหนโชคดี มาแล้วมีเรือจอดอยู่ก็จะแวะเล่นซนกันสักพักใหญ่ก่อนที่จะไปทำอะไร ที่กะไว้ว่า จะทำต่อ

วันนี้น้อยและมามุเห็นเพื่อนมากมายหลายคนเล่นกันเกรียวอยู่ในคลอง สาดน้ำกันบ้าง ทำโป่ง ลอยตัวบ้าง ปีนเรือข้ามไปข้ามมาบ้าง จึงชวนกันลงไปเล่นน้ำอยู่พักใหญ่ จนสายมากแล้วจึงขึ้นจากน้ำ พากันเดินต่อ เข้าไปตาม กึบง (เป็นคำภาษามลายู หมายถึงสวนอย่างสวนยางสวนผลไม้ ส่วน สตาแม หรือที่ใช้ใน พระราชนิพนธ์เรื่อง อิเหนา ว่า สตาหมัน นั้น หมายถึงอุทยาน) ของเจ๊ะสะนิ คนรวยของ หมู่บ้าน ฤดูนี้ ยังไม่มีทั้งทุเรียน มังคุด เงาะและละไมต้นหวานเจี๊ยบ จึงไม่ต้องแวะไปขอ เจ้าของเขาชิม เดินเลาะ ตามรั้วลวดหนามกันวัวควายไปบ้านเป๊าะจิฮามิ (อาฮามิ) เลยดีกว่า ได้เวลาเขาจะเริ่ม ทำยางแล้วซี มัวไปเล่นน้ำอยู่ตั้งนาน

น้อยเป็นเด็กรุ่นราวคราวเดียวกับลูกสาวคนรองสุดท้องของครอบครัวนี้ชื่อแยนะ พี่ๆของเขา เป็นผู้ใหญ่ มีครอบครัวแล้วทั้งนั้น แยนะมีน้องสาวอีกคนหนึ่งชื่อลีเมาะห์ (แยนะ ปัจจุบันเป็นแม่ค้า ขายข้าวมัน และข้าวแกงแบบมลายู อยู่ทุกเช้า ในอำเภอแว้ง ยังคงความรู้สึก ดุจพี่น้องกับผู้เขียนอยู่เช่นเดิม เช่นเดียวกับ อะแบอะแว ส่วนน้องลีเมาะห์นั้น เสียชีวิตหลายปีแล้ว) เป็นเด็กผู้หญิง ที่ตอนเขาคลอด แม่ของน้อย ไปอยู่ด้วยตลอด วันนั้นทุกคนตื่นเต้นกันมาก เพราะเขาเกิดมามีปานเต็มตัว เว้นแต่ด้าน หน้าอก เป็นแนวร่องลงมา แม่ว่าเขาเรียกว่า ปานเสื้อ และเด็กที่มีปานอย่างนี้ จะเป็นเด็กพิเศษ ทั้งแยนะ และลีเมาะห์ เป็นลูกบุญธรรมของแม่อีกเช่นเคย เขาเรียกแม่ของน้อยว่า เมาะ (แม่) และ เรียกพ่อว่า เจ๊ะ (พ่อ) น้อยเอง ก็รู้สึกว่า เขาเป็นพี่น้องของเธอจริงๆ ทั้งเป๊าะจิ๊และเมาะจิ๊ เป็นเกลอของ พ่อและแม่ ที่จะต้องช่วยเหลือกัน ตลอดไปชั่วชีวิต ทิ้งกันไม่ได้

บ้านของครอบครัวเป๊าะจิมี เรือนใหญ่ของพ่อแม่ แล้วยังมีเรือนไม้หลังเล็กๆ ของลูกๆที่ออกเรือนแล้ว ทุกคนในบ้านเหล่านั้น ที่ไม่ได้ไปตัดยาง ร้องเรียกทักทายน้อย เหมือนน้องสาวมาหา น้อยจะแวะ ไปที่บ้านของอะแบมามะ (พี่ชายชื่อมามะ) ก่อนเพราะเขาเป็นโรคหืด และแม่ของน้อย ห่วงใยเขา มากที่สุด จากนั้นจึงไปบ้านของกะนิรอมะห์ (พี่สาวชื่อรอมะห์) แล้วจึงชวนมามุ เดินอ้อมหลีกลิง ที่ค่อนข้างดุ ไปใต้ถุนบ้านใหญ่

ทุกคนที่ไปตัดยางหาบและทูนน้ำนมยางเดินกลับกันมาเป็นแถว เป๊าะจิฮามิเดินหาบนำหน้าหลังง้อม เพราะความหนักของน้ำนมยาง ตามมาด้วยคนอื่นๆ เมาะจิ๊และพวกผู้หญิงมีถังน้ำนมยางทูนอยู่ บนศีรษะ เดินนาดแขน เพื่อถ่วงน้ำหนัก เหมือนกัน พวกเขาเห็นน้อยและมามุแล้ว แต่ยังทักไม่ได้ ก็เพราะน้ำนมยาง อีกเหมือนกัน แต่ละคนเหงื่อเต็มหน้า แต่เช็ดไม่ได้ ผู้ชายวางหาบลงเองได้ แต่ผู้หญิง ต้องช่วยกัน ประคองถัง น้ำนมยางลงมาให้ ปลดภาระลงแล้ว ทุกคนจะอุทาน ถึงพระผู้เป็นเจ้า ว่าพวกเขาหนัก เหนื่อย และเมื่อย เหลือเกิน จากนั้นก็เอาผ้าผืนยาว ที่มีประจำตัวมาเช็ดสายเหงื่อ ที่โทรมหน้าอยู่ ก่อนทรุดตัวลง นั่งบนแคร่ และทักทายเด็กทั้งสอง

"มาฆีปาฆีเว้ ฮารีนิง แมะเตาะมาฆี มาแกนาซิเดาะก๋อ (วันนี้มาแต่เช้าเชียว แม่ไม่มาด้วยหรือ กินข้าว มาแล้วหรือยัง?) "

ความสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจของคนแว้งขึ้นอยู่กับยางนี่แหละ เมื่อไรยางราคาดีทุกคนจะรู้สึกร่ำรวย จะมีเมาะโยงและหนังควน (เมาะโยงเป็นการแสดงแบบมลายูใกล้เคียงกับละครของไทย หนังควน เป็นศัพท์ภาษาถิ่นปักษ์ใต้เรียกหนังตะลุงหรือที่ภาษามลายู เรียกว่า ยังกูลิต) มาเล่นให้ดูกันบ้าง คนไทย ที่ไม่เคยอยู่แถบนี้ น้อยนักที่จะรู้ว่า กว่าจะได้น้ำนมยาง มาแต่ละวันไม่ใช่ของง่าย คนมักจะคิดว่า คนไทยมุสลิม เชื้อสายมลายู ไม่ทำงานหนักอะไรเลย มักจะเห็นพวกเขานอนเล่นกันเขลง ใต้ถุนบ้าน ตอนบ่าย นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิดถนัด

แท้จริงแล้ววันทำงานของพวกเขา เริ่มตั้งแต่เที่ยงคืนหรือตีหนึ่ง ต้องเดินกันเป็นระยะทางหลาย กิโลเมตร กว่าจะถึงสวนยางของแต่ละคน หรือที่แต่ละคนรับจ้างตัด พวกเขาต้องเสี่ยงกับสัตว์ร้าย อย่างงู หรือแม้แต่เสือ เพราะสมัยเมื่อน้อยเล็กๆ นั้นสัตว์ป่าที่แว้ง ยังชุมอยู่ทุกแห่งหน พวกเขาไม่มีอาวุธ อะไรติดตัว นอกจากผู้ชาย จะเหน็บพร้า ไว้ที่สะเอวบ้างเท่านั้นเอง ที่ทุกคนต้องมีก็คือ ตะเกียงตัดยาง ติดไว้ที่หน้าผาก สำหรับส่อง ดูร่องยาง เวลาตัด ตะเกียงนี้ติดไว้ที่หน้าผาก ก็สะดวกดี เพราะเขาจะได้ ไม่ต้องถือ และสามารถใช้ทั้งสองมือ ตัดยาง ทั้งสองด้าน ของลำต้นได้อย่างรวดเร็ว ก่อนตัดเขาต้อง ใช้มีดตัดยาง เซาะเนื้อไม้และน้ำนมยาง ที่แห้งติดในร่อง ออกก่อน น้ำนมยางจากร่องแผลที่กรีดใหม่ จะไหลมาบรรจบกันตรงกลาง เป็นรูปเหมือน ลูกศรตรงนั้นเขาจะเอา ซูดูกือเตาะห์ (ช้อนยาง) ทำด้วย สังกะสี ตอกเสียบไว้ให้น้ำยางไหลลงในพรก (พรก เป็นคำที่ใช้กันอยู่เป็นสามัญในภาคใต้ทั้งหมด จะเป็นคำไทยเดิมตัดมาจาก กะพรก อย่างที่สันนิษฐาน กันหรือไม่ ยังไม่เคยสืบค้น ทางภาคอีสาน ก็ไม่ได้เรียกว่า กะลา แต่เรียกว่า กะโป๋) ที่วางอย่างระมัดระวัง บนพื้นดิน หรือไม้ง่ามที่ยันไว้ กับลำต้นยาง

น้ำนมยางนี้จะไหลดีในช่วงกลางคืนเท่านั้น ตอนกลางวันมันจะไม่ไหลเลย ความร้อนจากแสงอาทิตย์ จะทำให้มันแห้ง ด้วยซ้ำไป ดังนั้น การตัดยางต้องทำให้เสร็จทุกต้นก่อนตะวันขึ้น พอเช้า กะว่า น้ำนมยาง หยุดไหลแล้ว ก็ถึงเวลาทำงานหนัก อีกตอนหนึ่งคือ ต้องเดินไปตามต้นยางแต่ละต้น เพื่อเก็บยาง คือเก็บ น้ำนมยางในพรก รวมทั้งลอกเอาน้ำยางที่แห้งค้างอยู่ในพรกนั้น มาเทใส่ถัง ทำอย่างนั้น จนหมดทั้งสวน แล้วก็ตั้งหน้าหาบและทูนถังกลับบ้าน เวลาเดินกลับ ก็ต้องระวัง เพราะรากยางในสวน จะเป็นตะปุ่มตะป่ำ ถ้าสะดุดเข้าเมื่อไร น้ำนมยางจะหกหมด อดทำยางแผ่น อดได้เงิน มาเลี้ยงครอบครัวเท่านั้นเอง

นั่งพักกันได้เดี๋ยวเดียวก็ต้องเริ่มทำงานกันต่อ รอไม่ได้เลย มามุกับน้อยเสนอตัวเข้าช่วยตอนนี้เอง

"หนูกรองน้ำนมยางเป็นนะ เมาะจิ๊เป๊าะจิให้หนูช่วยทำนะ" ทั้งคู่พูดภาษามลายูเพราะที่บ้านนั้น ไม่มีใคร พูดภาษาไทยได้ แยนะกับลีเมาะห์ เข้าใจภาษาไทย เพราะเคยไปโรงเรียนบ้างแต่ก็พูดไม่ถนัด

"โอ๋ อัลเลาะห์ เนาะตูลง บูวะปานาซูโงะห์กอ ฮอ มารีโกะนิง (โถ พระเจ้าช่วย จะช่วยทำ ทำเป็น จริงหรือ นั่นหนะ เอ้า มาทางด้านนี้แน่ะ) " พี่รอมะห์พูด ทุกคนหัวเราะกันเสียงดัง

น้อยกับมามุกะกันไว้แล้วว่ามาให้ทันเวลาที่พวกเขากรองน้ำนมยาง การกรองไม่ยากอะไร เขาจะกรอง ผ่านกระชอน ที่ทำด้วยไม้ไผ่สาน หรือที่มีเงินหน่อย ก็ใช้ตะแกรงตาถี่ที่สุด บางคนที่ไม่มี ที่กรอง อย่างที่บอก ก็ใช้ฟางรองเข้าที่ก้นถังรั่วๆ แต่แบบนี้ต้องกรองหลายครั้ง เพราะการคัดยางแผ่นที่แห้งแล้ว ว่าอยู่เกรดไหน ควรได้ราคากิโลละเท่าไร ผู้ซื้อแค่ยกขึ้นส่องดูกับแสงแดด ก็รู้ทันทีว่ายางแผ่นนั้น ยังมีเศษผงเผ้า ติดมามากน้อย เพียงไหน

น้ำนมยางที่กรองแล้วนี้ขาวสะอาดดูน่าดื่มเหมือนน้ำนมวัวไม่มีผิด แต่ถ้าดื่มเข้าก็คงต้องตาย เพราะมัน จะแข็งตัวในท้อง พอกรองเสร็จ มามุกับน้อย ก็ช่วยเขาตวงด้วยถ้วยพรก ใส่ตะกง (กระบะ) ที่วางเรียงไว้ เป็นแถว ให้เท่าๆ กันทุกตะกง ตวงน้ำใส่ลงไปด้วย จนเกือบเต็มตะกง ตะกงที่ว่านี้ทำด้วยปี๊บน้ำมันก๊าด หรือ น้ำมันมะพร้าวผ่าซีก ปี๊บใบหนึ่ง ก็จะได้ตะกงสองใบ

ทีนี้ก็ถึงตอนสำคัญอีกตอนหนึ่งที่ต้องระมัดระวังมาก นั่นคือตอนตวงน้ำส้มยางผสมลงไปในน้ำนมยาง ขาวจั๊วะ นั้นแล้วคนให้เข้ากันดี สมัยที่น้อยยังเด็ก ทุกบ้านจะหมัก น้ำส้มยางของตนเอง โดยใช้ทุกอย่าง ที่หมักแล้ว ทำให้น้ำหมักนั้นเปรี้ยว ส่วนมากจะใช้เปลือกผลไม้ และผักเป็นพื้น ต่อมาอีกหลายปี จึงมีน้ำส้มยาง สำเร็จรูป เข้ามาขาย น้ำส้มยางอย่างใหม่นี้ ทำให้ยางแข็งตัวเร็วมากก็จริง แต่ก็ต้อง เสียเงิน ซื้อมา และต้องเพิ่ม ความระมัดระวัง มากกว่าเดิม หลายหลายเท่าตัว พ่ออธิบายว่า มันเป็น น้ำกรด เขาจึงต้อง เอามาผสมกับน้ำให้เจือจางเสียก่อน มิฉะนั้น เกิดพลั้งพลาดหกถูกมือเข้า ก็จะเป็นแผลเหวอะหวะได้

มามุเป็นคนเอียงไหบรรจุน้ำส้มยางเทลงในถ้วยตวง น้อยเห็นในไหนั้นเต็มไปด้วยหัวจุกสับปะรด เปลือก ผลไม้ และ อะไรต่อมิอะไรเยอะแยะ พอมามุเทน้ำส้มยาง ลงในตะกง น้อยก็ใช้ไม้แบนๆ สำหรับคนๆ จนเข้ากันดีจริงๆ ก่อนที่จะขยับไปทำ แบบเดียวกัน ในตะกงที่สอง สาม สี่ เรื่อยไป ทำไปได้สักสิบตะกง ก็หมดแรง ทั้งสองคน ดอกเหงื่อผุดเต็มหน้าผาก และหยดลงในตะกงเหล่านั้นด้วย

"ลึเงาะห์เดาะห์ลา ตีเดาะ บุเดาะเตาะราเย็นบูวะ มารีเนาะตูลง (เมื่อยแล้วซี ใช่ไหม เด็กๆ ยังไม่เคยทำ มา ให้ช่วยดีกว่านะ) " อะแบยะโก๊ะ (พี่ชายชื่อยะโก๊ะ) ว่า และเป๊าะจิ๊เสริมต่อด้วยสิ่งที่ถูกใจน้อยที่สุดว่า "ฆีมาแกยอ
มูดอ ฆีอะแบอะแวนาเฮะบุวีเดาะ ตู๋ (ไปกินมะพร้าวอ่อนเสียไป๊ พี่ชายอะแวขึ้นมาให้แล้วไง นั่นแน่ะ) "

น้อยและมามุดื่มน้ำมะพร้าวที่สดและหวานชื่นใจหมดแล้ว พี่อะแวก็ผ่ามะพร้าวอ่อนของแต่ละคน ออกเป็นสองซีก ทำช้อนด้วยเปลือกมะพร้าวส่วนหัวให้ด้วย เด็กทั้งสอง ตักเนื้อมะพร้าวนุ่มๆ รับประทาน ไปพลาง มองดูคนอื่นๆ เขาทำงาน อย่างคล่องแคล่ว ว่องไวไปพลาง น้อยไม่เข้าใจว่า พวกเขาทำแบบนั้น ได้อย่างไร ในเมื่อเธอแค่กวนน้ำส้มยางไม่กี่ตะกง ก็เหนื่อยเสียแล้ว ส่วนพวกเขา ทำงานมา ตั้งแต่หัวดึก จนป่านนี้ยังไม่ได้หยุดเลย

ในที่สุดน้ำนมยางสีขาวผสมน้ำและน้ำส้มยางก็เสร็จเรียบร้อยหมด ยางส่วนที่ได้จากน้ำยาง ค้างในร่อง และในพรกก็เอาไปตากแดดไว้หมดแล้วด้วย ส่วนนี้เรียกว่า ขี้ยาง ขายได้เหมือนกันแต่ราคาถูกมาก

น้ำนมยางจะถูกทิ้งไว้อย่างนั้นจนบ่ายคล้อยมันก็จะจับตัวเป็นก้อนสี่เหลี่ยมสีขาวเหมือนวุ้น แต่หยุ่น นุ่มนิ่ม ลอยอยู่ในตะกง รอให้เจ้าของมาเทออกไปรีด ด้วยจักรรีดยาง ก่อนนำไปตากไว้บนราวไม้ไผ่ จนแห้ง จึงจะเอาไปขาย ได้เงินมาเลี้ยงชีพแต่ละคน แต่ละครอบครัว

แต่ตอนนี้ถึงเวลาที่เด็กทั้งสองจะต้องลาพวกเขากลับบ้านเสียทีเพราะเป็นเวลาที่แดดร้อนจัด และ ชาวสวนยาง ต้องหาอะไรรับประทานกันก่อนที่จะเอนกายพักผ่อนเอาแรงไว้สู้งานหนักในภาคเย็นต่อ

"วอยะแมะ กาตอลึป๊ะอะซา เมาะจิ๊เนาะฆีดีอูเมาะห์ ป๊ะบูเละห์ฆีดีอูเมาะห์นิเก๊าะสกาลี เด๊ะ ยาแงตะลูปอตูมามามุปง วอยะโต๊ะซารีฆีตูยูเฆาะ (บอกแม่ด้วยว่า พอละหมาด สี่โมงเย็นแล้ว น้าจะไปหา ที่บ้าน จะได้ไปบ้านงานแต่งงานด้วยกัน นะ อย่าลืมเสียล่ะ มามุด้วยบอกยายซารีอย่างนั้น ด้วยเหมือนกัน) " เมาะจิ๊กำชับ

คืนนั้น แม่เล่าเรื่องงานแต่งงานที่ไปมาให้ทุกคนฟัง น้อยเสียดายมากที่ไม่ได้ไปด้วย เธอชอบดู การจัดที่นั่ง ของเจ้าบ่าวเจ้าสาว ที่เขาใช้ทางมะพร้าวมาตัด และสานให้โค้งสวยงาม เจ้าบ่าวเจ้าสาว ก็แต่งตัว ตามประเพณีมุสลิมอย่างเต็มที่ เจ้าบ่าว จะต้องเหน็บกริชด้วย ขนมและอาหาร ก็มีเลี้ยง มากมายไม่อั้น น่าเสียดายจริงๆ ที่ไม่ได้ไปเพราะพ่อกับแม่เห็นว่าไกลไปหน่อย และค่ำแล้วด้วย ต้องอยู่ช่วยพ่อ เก็บข้าวของ ร้านค้าที่บ้าน ธรรมเนียมที่แว้ง เวลามีงานแต่งงาน ไม่มีการให้ของขวัญ แต่ช่วยเหลือเป็นเงิน กันคนละเล็ก ละน้อยได้

"แล้วแม่ช่วยเขาไปเท่าไร?" พ่อถาม

"ฉันช่วยไปห้าสิบบาท มากอยู่ค่ะพ่อ แต่ฝ่ายชายเป็นลูกบุญธรรมของเรา ก็ต้องช่วยมากหน่อย" แม่ตอบ "แต่อย่างอื่น ที่ฉันให้ซีพ่อ ทุกคนนึกไม่ถึง เข้ามาดูกันใหญ่ ต้องอธิบายกันว่า ทำไมถึงให้อย่างนั้น"

"แล้วแม่ให้อะไรล่ะ?" พ่อถาม พี่แมะและน้อยก็อยากทราบเหมือนกัน เพราะไม่เห็นแม่เตรียมอะไร ไว้ก่อนไปเลย สักอย่างเดียว

"รับรอง ทายไม่ถูกแน่ ฉันห่อมีดตัดยางจากในร้านเรานี่แหละไปให้เขาสองอัน หลังให้พรแล้วถึงเปิดให้ ฉันบอกเขาว่า มีดตัดยางสองอันนั้น หมายถึงงานที่เขาทั้งสอง จะต้องช่วยกันทำเพื่อสร้างครอบครัว ถ้าไม่เกียจคร้าน ไม่กลัวเหงื่อ อาบหน้าละก็ จับมันทุกวันที่ฝนไม่ตก เขาก็จะหาเงินได้ทุกวัน" แม่ตอบ สีหน้ายิ้มแย้ม

"นี่ นี่ แมะ น้อย แม่ของเราเขาคมเสมอ ทุกคนที่นี่ถึงได้รักเขาไง พ่อยังทำไม่ได้เหมือนแม่ ที่แม่ว่า ลูกก็ต้อง จำไว้ด้วย จำไว้ตลอดชีวิต ว่าเหงื่อกับงานนั้น เป็นของคู่กัน เอ้าไปนอนได้แล้ว" พ่อชมแม่ อย่างจริงใจ และ น้อยก็รู้สึกภาคภูมิใจ ในตัวแม่ยิ่งนัก

ก่อนหลับไปคืนนั้นน้อยถามพ่อข้ามห้องไปว่าทำไมคนที่บ้านเป๊าะจิ๊เมาะจิ๊ถึงทำงานอย่างไม่เหน็ด เหนื่อย แบบนั้นทั้งๆ ที่เขาควรจะเหนื่อยที่สุดแล้ว

"งานใดที่ทำประจำจนถนัด แรงจะอยู่ตัว เวลาทำจะไม่รู้สึกเหนื่อยนัก น้อยกับมามุไม่ได้ทำประจำ จึงยัง ไม่ถนัด แรงยังไม่อยู่ตัว" พ่อตอบก่อนที่น้อยจะผล็อยหลับไป

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๔ มกราคม ๒๕๔๘ -