เวทีความคิด - เสฏฐชน -
หัวใจสีขาว


คอลัมน์หนึ่งจากหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอังคารที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ หน้า ๓ ขึ้นหัวเรื่องว่า "ริบบิ้นสีขาว สัญลักษณ์แห่งการยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก" มีเนื้อหาสำคัญว่า

"ปี พ.ศ.๒๕๓๔ ในประเทศแคนาดาได้มีกลุ่มอาสาสมัครจำนวนหนึ่งล้านคน ที่มองเห็นถึงความสำคัญ ของปัญหาความรุนแรงต่อสตรี และต้องการยุติปัญหาดังกล่าว ได้เรียกร้องให้ผู้ชายทั่วโลก ร่วมรับ ผิดชอบ ต่อปัญหาความรุนแรงต่อสตรี แสดงตนว่าจะไม่เป็นผู้กระทำรุนแรงต่อสตรี โดยการติด สัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาวที่ปกเสื้อ เป็นเวลา ๑ สัปดาห์ โดยเริ่มจากวันที่ ๒๕ พ.ย. เป็นวันขจัด ความรุนแรง ต่อสตรีสากล และต่อมาองค์การสหประชาชาติ ได้รับริบบิ้นสีขาวมาเป็นสัญลักษณ์สากล เพื่อร่วมกัน รณรงค์ทั่วโลก ริบบิ้นสีขาว (White Ribbon) จึงถือเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้ชายติด เพื่อแสดง ถึงการร่วมกัน ต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรี โดยจะไม่ทำร้าย หรือนิ่งเฉยต่อการใช้ความรุนแรง ต่อสตรี ในทุกรูปแบบ เป็นการรณรงค์เพื่อให้ผู้ชายทุกคน ได้ปรับเปลี่ยนเจตคติ มีส่วนร่วม ในการยุติปัญหา ความรุนแรงต่อสตรี ถือเป็นปัญหาที่สำคัญ สมควรได้รับการแก้ไข เพราะมิได้มี ผลกระทบ ต่อผู้หญิง ฝ่ายเดียว แต่มีผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน ครอบครัว ชุมชน สังคม จึงจำเป็น ที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือ แก้ไข อย่างจริงจัง

ที่ประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๒ เห็นชอบกำหนดให้เดือน พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" ....ฯลฯ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้นมา โดยมีสำนักงานกิจการสตรี และสถาบันครอบครัว สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคม และ ความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานประสานงานการจัดกิจกรรมรณรงค์ตลอดเดือน พฤศจิกายน

ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ซึ่งถือเป็นปัญหาที่อยู่ในความเงียบ เพราะผู้ที่ตกอยู่ในสภาพปัญหา มีจำนวนไม่มากนัก ที่จะออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือ หรือขอความเป็นธรรม เด็กและสตรี ที่ถูกกระทำรุนแรง ส่วนใหญ่ จะต้องจำทนรับสภาพ หลายรายถูกกระทำซ้ำๆ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๗ ถือเป็นกฎหมายที่คุ้มครองป้องกัน และอำนวยประโยชน์ ต่อการดูแลกลุ่มเป้าหมาย

ดังนั้นกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ และทุกภาคส่วน รวมทั้งสื่อมวลชน จะต้องร่วมมือกัน ปรับเปลี่ยนค่านิยมของสังคม ที่เป็นอุปสรรคต่อการยุติความรุนแรงในครอบครัว และกระตุ้น ให้ประชาชนมีส่วนรวมในกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว อย่างยั่งยืน ตลอดไป เพื่อเป็นการสร้าง ความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว ตามนโยบายการเสริมสร้าง สังคม เข้มแข็ง ของรัฐบาล กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ จึงขอเชิญทุกภาคส่วน ร่วมจัด กิจกรรมเนื่อง ในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรง ต่อเด็กและสตรี....ฯลฯ"

ถือว่าเป็นข่าวดีซึ่งนานๆ ครั้งจะปรากฏให้เห็น ให้เกิดความชื่นอกชื่นใจบ้าง ตรงกันข้ามกับข่าว หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ฉบับวันเดียวกัน ขึ้นหัวหน้าแรกว่า "หึงครูสาว ฆ่าโหด รัวใส่ ๕ นัด ดับคาห้องเรียน ท่ามกลางเด็ก นร.อนุบาล ฯลฯ"

"นายดิษฐ์ จิตมาก ผัวขี้หึง ใช้ปืน.๓๘ จ่อยิงกกหูนางเพ็ญ ธูปหอม เมียน้อย"

และมีเรื่องทำนองนี้อีกสารพัดรูปแบบให้อ่านทุกวัน ไม่เฉพาะแต่จากหนังสือพิมพ์ แม้จาก สถานีวิทยุ โทรทัศน์ก็ไม่น้อย

จนกระทั่งทำให้ผู้ขวัญอ่อน จิตใจอ่อนโยนทั้งหลาย เอ่ยปากว่าไม่อยากฟัง ไม่อยากอ่านข่าวเลย สดๆ ร้อนๆ จากวุฒิสภา อันเป็นสถาบันระดับสูงของประเทศ ก็มิวายที่จะเกิดอุบัติการณ์รุนแรงเช่นนี้ขึ้น

จะกล่าวไปไยถึงสถาบันเล็กๆ ไร้ชื่อเสียงเรียงนาม ที่ถูกซ่อนอยู่ภายใต้ครอบครัวสังคม เราจะได้ข้อมูล ร้ายๆ เหล่านี้จากแฟ้มอาชญากรรม แฟ้มแจ้งคดีของสถานีตำรวจทุกแห่งในประเทศ

และถ้ารวมถึงจำนวนที่ไม่มีใครไปรับรู้ ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครใส่ใจ เอาใจใส่อีกเล่า จะมีจำนวนเท่าใด?

มิหนำซ้ำข่าวร้ายๆ ระดับโลกอันเมืองที่ได้ชื่อว่าประเทศมหาอำนาจ ก่อสงครามอีกเล่า? จะถูกจัดอยู่ ในประเภทก่อความรุนแรงด้วยไหม?

เพราะผลจากสงครามต่างแดน แต่ไม่ต่างพฤติกรรมที่จัดว่ารุนแรง ก็มีผลทำให้สตรีเด็กๆ ต้องเสียชีวิต บ้านแตก เกิดความลำบากยากแค้น รวมไปถึงประเทศที่ยกไปรุกรานเขาด้วย ลูกเสียพ่อ แม่เป็นม่าย ฯลฯ ขณะยังทำสงคราม หรือหลังสงครามยุติ กลับคืนสู่มาตุภูมิแล้ว

แม้ในประเทศไทยเองแท้ๆ เหตุการณ์ ๓ จังหวัดภาคใต้ ที่เด็กต้องหยุดเรียน ไม่อาจตอบได้ว่า นานเท่าไหร่ เพราะสถานศึกษาถูกเผา จะจัดเข้าในการกระทำรุนแรงจากผู้ชายไหม?

หากใครอ่านคำถามจากบทความนี้ โปรดอย่าคิดด้วยอคติว่า ผู้เขียนลำเอียง หาว่า... ตำหนิติเตียน ผู้ชาย เป็นเพียงแต่หยิบยกตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นแล้วมาให้ช่วยกันคิด เพราะสังคมเราอยู่กันด้วยคน สองเพศ ที่ต้องช่วยกันรับผิดชอบต่อความเดือดร้อน หรือความสุขของกันและกัน และก็ใช่ว่าผู้หญิง จะไม่มี พฤติกรรมรุนแรงเชิงเดียวกัน แต่เป็นจำนวนส่วนน้อย แม้ในทางประวัติศาสตร์ จะยกตัวอย่าง จักรพรรดินี ที่โหดเหี้ยมที่สุดในโลก ก็มีเพียงองค์เดียว ตรงกันข้ามกับจักรพรรดิหลายพระองค์ จากหลายประเทศในโลก ที่มีคำถามว่าจักรพรรดิจากประเทศต่างๆ เหล่านั้น ควรเรียกว่า "มหาราช หรือ ทรราช"

แม้คำสอนที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน "สุตตันตปิฎก" ก็ตรัสปรารภถึงเรื่องนี้ ว่าแคว้นใด เมืองใดจะเจริญ หรือตกต่ำ มีเรื่องการทำร้ายเด็ก สตรีบรรจุไว้ด้วย เป็นการยืนยันว่าเรื่องนี้สำคัญไม่น้อย ที่อาศัยเป็น ดรรชนี ชี้ถึงความเป็นอารยชน หรืออนารยชน นับว่าพระพุทธองค์ทรงทันสมัย (วิสัยคน) จริงๆ

เรื่องราวที่อ่านจากพระสุตตันตปิฎกเชิงนี้ ย่อมบ่งบอกความจริงอย่างหนึ่งว่าทรงไม่เห็นด้วย กับการใช้ ความรุนแรง แม้ความนัยของศีลข้อที่ ๑ ก็รับรองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงพยายามสั่งสอน ให้คน ไม่แตะต้องอาวุธ ไม่ใช้อาวุธวัตถุ ไม่ใช่อาวุธปาก ไม่ใช้ศาสตราวุธ เพราะเหตุของความรุนแรงเหล่านี้ มาจาก ความรุนแรงทางอารมณ์ทั้งสิ้น

คือเมื่อจิตโกรธแรง ก็จะจับอาวุธทำร้ายตนเอง และทำร้ายคนอื่นแรง รวมถึงการพ่นคำพูดแรง เป็นด่าทอ ทะเลาะวิวาทะ เริ่มตั้งแต่แม่ตีลูกเพราะโกรธลูก ผัวเตะเมียเพราะโกรธเมีย พี่ฆ่าน้อง เพราะโกรธน้อง ฯลฯ หรือเพราะโลภอยากได้ของคนอื่น ทั้งที่เขาไม่ยอมให้ หรืออยากได้มากกว่า ที่เขาให้ ล้วนทำให้ก่อกรรมรุนแรงได้เช่นเดียวกัน

วงการแพทย์ที่ชื่อว่ามีหน้าที่โดยตรงในการรักษาพยาบาล ช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรค ด้วยการ ผ่าตัดบ้าง แต่ศัลยแพทย์กลับใช้ความรู้ในการผ่าตัดมาก่อฆาตกรรมสาวคนรัก ก็เป็นข่าวมาเรื่อย ซึ่งคดี ยังคาราคาซังอยู่ก็มี

ข่าวเยาวชนวัยรุ่นก่อกรรมชำเรา เพิ่มคดีฆาตกรรมแม้บุพการีก็ฉกาจฉกรรจ์ขึ้น จนแม้วงการศาสนา ก็หนักใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผิดหวังรัก เรื่องชู้สาวเปลี่ยนคู่นอน คู่รักเปลี่ยนใจ ฯลฯ ไปจนกระทั่ง ประท้วงคู่รัก จนต้องฆ่าตัวเองตายตามกัน

ความรุนแรงที่ผู้หญิง เด็กได้รับ เนื่องมาแต่ความต้องการเฉพาะตัวที่ผู้กระทำการร้ายนั้นๆ หรือ เพื่อผลประโยชน์อื่นๆ ที่ขยายกว้างออกไปอีกก็ตาม เป็นตัวการใหญ่ที่ผลักดันให้ผู้ชาย ก่อกรรม ทำเวรเหล่านี้ ถึงจะอยู่ในรูปของผู้พิทักษ์สันติ...ฯ ดังเช่นเรื่อง "คนบาปพรหมพิราม" (เปลี่ยนชื่อใหม่ เพื่อไม่ให้กระเทือนถึง คนในท้องถิ่นเดียวกันว่า คืนบาปพรหมพิราม) ที่ผู้หญิงคนหนึ่ง ถูกกระทำชำเรา จากผู้ชายถึง ๑๒-๑๔ คน อันเป็นผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ชรา จนวัยรุ่นในตระกูล เชื่อมโยงเป็นญาติกัน ด้วยซ้ำ ย่อมมีน้ำหนักเพียงพอในการเกิดขึ้นของกลุ่มริบบิ้นสีขาวดังกล่าว

เพราะผู้ที่มีกำลังแล้วไม่ใช้กำลังไปทำร้ายคนผู้ไม่มีกำลัง ผู้มีอำนาจแล้วไม่ใช้อำนาจ ไปข่มเหง ผู้ไร้อำนาจ เป็นภาพลักษณ์ของความเป็นสุภาพบุรุษที่หาได้ยากขึ้นทุกวัน

มิฉะนั้นแล้วไฉนเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายๆอย่างนี้ขึ้นบนรถประจำทาง กลางวันแสกๆ ท่ามกลางฝูงชน น้อยนักที่ผู้หญิงคนนั้นจะปลอดจากภัยนั้น รังแต่จะได้รับความสะบักสะบอมเป็นส่วนใหญ่ กว่าจะมี สักคนหนึ่งที่รอดตัวมา มีโอกาสเปิดเผยเรื่องราวร้องเตือนเพื่อนเพศเดียวกันให้ระมัดระวัง เพราะยังมี รายการดีๆ มีศีลธรรมของผู้จัดทางโทรทัศน์ให้เวลา นำมาสัมภาษณ์อย่างเปิดเผย

แล้วจะไม่ให้กล่าวว่าเป็นความน่ายินดีหรือ? เมื่อได้อ่านข่าวดังยกหัวเรื่องมาเขียนตั้งแต่เริ่มต้น พร้อมกับ ภาวนาด้วยว่า อย่าให้เป็นเพียงข่าวระยะสั้นๆ เฉพาะเดือนพฤศจิกายนเท่านั้น เพราะเรื่องดีๆ อย่างนี้ ควรช่วยกันก่อ ช่วยกันทำ ช่วยกันส่งเสริม ร่วมมือร่วมใจให้จรรโลงอยู่ในโลก

พุทธศาสนาเน้นในเรื่องการละเว้นความรุนแรงทุกรูปแบบไว้ชัดเจน จึงบัญญัติศีลข้อห้าม สำหรับ ผู้ต้องการ ฝึกหัดตนเพื่อระงับความรู้สึกรุนแรง จนห้ามการแสดงกิริยากรรมรุนแรงไว้ ตั้งแต่การฆ่า การทำร้าย ด้วยหอกปาก ทำร้ายกาย ทำร้ายใจเพราะรู้ซึ้งถึงโทษภัยเรื่องนี้ชัดเจน ไม่ยกเว้นแม้บรรพชิต หากกระทำการฆ่า ก็จะถูกลงโทษระดับ "อนันตริยกรรม" ทีเดียว

ฉะนั้นศาสนาพุทธจึงมีพระคุณต่อมนุษยชาติอย่างยิ่ง เพราะได้แจกแจง แยกแยะ สั่งสอนให้ละเว้น ไม่ให้กระทำอย่างนี้ใช่แต่เฉพาะกับต่างเพศ แม้กับสัตว์ต่างๆ ก็ช่วยเหลือเช่นกัน เช่น บอกสอน กล่าวเตือน ไม่ให้คนฆ่าสัตว์ ไม่ให้คนกักขังสัตว์ รวมถึงพืช ถึงดินที่ไม่ถือว่ามีชีวิตด้วย (ศีลของภิกษุ)

อิทธิพลของการสอน การอบรมบ่มนิสัยที่พุทธศาสนาเน้นบอกไว้ บันทึกไว้ กำชับไว้ให้ทุกคน ที่หวังความเจริญ ทางจริยธรรมศีลธรรมนำมาสำนึกสำเหนียก เป็นคุณูปการณ์อย่างยิ่งต่อมนุษยชาติ เป็นเหตุของการสร้าง สันติภาพในโลก วันสำคัญเช่นวันวิสาขบูชา จึงได้รับการสถาปนา จากองค์การ สหประชาชาติ ให้เป็นวันสันติภาพแห่งโลก จึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

ในความเป็นพุทธศาสนิกชน จึงควรเป็นหัวหอกนำร่องทำก่อน ด้วยการพยายามฝึกฝน ระงับพฤติกรรม รุนแรง เริ่มได้ตั้งแต่เด็ก เช่น เวลาโกรธ ไม่พอใจ ก็ไม่กระทืบเท้าต่อรองผู้ใหญ่ ไม่ยกมือยกไม้ตีพี่เลี้ยง ไม่ร้องไห้ด่าทอเรียกร้องให้ได้ดังใจ เมื่อต้องการอยากได้อะไร หนุ่มสาวก็เช่นเดียวกัน กรณียกพวก ต่อยกัน ยิงกันที่นักเรียนอาชีวะต่างๆ ก่อขึ้น หรือเฒ่าวัยดึกหึงหวงภรรยาสาวก่อฆาตกรรม หรือวัยรุ่น ฟันพ่อ ฆ่าแม่ คงจะน้อยลง

ความรุนแรงนั้นมาจากเหตุหลายประการ ไม่จำเพาะแต่สันดานนิสัย บางคนบอกว่ามาจากสิ่งแวดล้อม มาจากการซึมซับเฉพาะคน มาจากการบีบคั้นด้วยเหตุปัจจัยหนุนนำ มาจากความด้อยสติปัญญา มาจากกิเลสของสัตวโลก ซึ่งคงจะเป็นคำตอบสุดท้าย ตราบที่คนยอมรับว่าปุถุชน เป็นเชื้อชาติดั้งเดิม ของคน จนกว่าจะได้รับการพัฒนาเป็นอาริยบุคคลที่พระพุทธศาสนาจัดลำดับเอาไว้

เมื่อยอมรับร่วมกันดังที่กล่าวมานี้ จะเป็นการง่ายขึ้น ที่คนทุกเพศต้องยอม น้อมตัวเองอบรมบ่มนิสัย ให้พ้นจากความรุนแรง แม้จะรู้สึกว่ายังมีอารมณ์แรงอยู่ แต่ก็จะพยายามไม่ให้ปะทุออกมาเป็น กายกรรม วจีกรรมทำให้คนอื่น ต้องได้รับผลรุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บ ตาย ก็ดีมากๆ แล้ว

ถ้ายกระดับ "ริบบิ้นสีขาว" สูงขึ้นเป็น "หัวใจสีขาว" ได้ไซร้ โลกก็จะเป็นสีขาวไปในฉับพลัน

ดังนั้นคนเราจึงไม่ควร "ตาขาว" ในการช่วยกันส่งเสริม สนับสนุนเรื่องนี้

อย่ามอบให้เป็นหน้าที่ขององค์กรศาสนาหน่วยเดียว ควรปลูก เพาะ เพิ่ม "สำนึกดี" อย่างนี้ให้แก่ ทุกองค์กร และทุกคนด้วย

โลกก็จะพ้นจากความมืด สังคมก็จะพ้นจากความเดือดร้อนทุกข์ยาก ชีวิตก็จะพ้นจากความโศกเศร้า เพราะคนอันเป็นตัวก่อการร้าย ก่อการดี พยายามเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ให้รุนแรงทุกกรณี

หากเป็นไปได้อย่างที่หยิบยกมาขอร้องกันนี้ โดยไม่ต้องใช้ภาษารุนแรง ก็เข้าใจ มีน้ำใจตอบสนอง กันและกัน ความหวังที่จะให้สิ่งดีๆเกิดขึ้นอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องไปสร้างความหวังแรงๆ ด้วย เพราะ ความหวังดี แรงๆ ก็เป็นความไม่ดีประการหนึ่ง ถ้าจะจัดว่าเป็นลักษณะแรงมุมหนึ่งของคนช่างคิดได้

เราจึงละเว้นการกล่าวยกย่องผู้มีความคิดดีๆ ที่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาทำ มาเผยแผ่ เรียกร้องให้คน ช่วยกันทำ ให้มากๆ ไม่ได้ เพื่อความผาสุกจะได้แผ่กว้างออกไปยิ่งขึ้นในโลก

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๔ มกราคม ๒๕๔๘ -