กติกาเมือง - ประคอง เตกฉัตร - ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลจังหวัดยะลา วิกฤติชาติ
๒๕๔๐ การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้น มีการกล่าวหาว่าเพราะรัฐบาลพลเอกชวลิต ปรับระบบอัตรา แลกเปลี่ยนช้าไป รัฐบาลคุณบรรหาร หยุดยั้ง เศรษฐกิจฟองสบู่ไม่สำเร็จ รัฐบาลคุณชวน โดยเฉพาะ คุณธารินทร์เปิดเสรีทางการเงินเร็วไป รัฐบาล พลเอกชาติชาย และรัฐบาลคุณอานันท์ ส่งเสริมการลงทุน เอกชนมากไป ฯลฯ คำกล่าวหาเหล่านี้ มีส่วนถูก แต่ไม่ได้ถูกทั้งหมด เพราะในการดำเนินนโยบาย และมาตรการ ทางเศรษฐกิจ ทุกยุคสมัย ทุกรัฐบาล ในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมาก่อนนั้น มีความผิดพลาด และมีส่วนทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำของอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศและภายในประเทศ บริษัทยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ ต่างเคลื่อนย้ายฐานการผลิตเข้าสู่ประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งรวมทั้ง ประเทศไทย เพราะแรงงานถูกและมีประสิทธิภาพ ประกอบสาธารณูปโภคของไทยในขณะนั้น มีแนวโน้ม ดีที่สุดในภูมิภาคเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ที่เงียบมาหลายปีเริ่มฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในปี ๒๕๒๙ และ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี ๒๕๓๐-๒๕๓๑ ต่างชาติได้เข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น การมุ่งสู่การเป็นเสือตัวที่ ๕ แห่งเอเชีย ปี ๒๕๒๘ เงินดอลล่าร์ของสหรัฐเมื่อเทียบกับเงินตระกูลต่างๆ ของโลกราคาลดลง เงินบาทที่ผูกไว้กับ ตะกร้าเงินหลายตระกูล แต่ส่วนใหญ่เป็นดอลล่าร์ของสหรัฐต้องลดลงตามด้วย แต่เงินเยนของญี่ปุ่น เงินดอลล่าร์ของไต้หวัน เงินวอนของเกาหลี มีค่าที่แข็งขึ้น ต่างชาติจึงตัดสินใจมาลงทุนกับประเทศไทย มากขึ้น รัฐบาลมั่นใจว่าเราจะเป็นเสือตัวที่ ๕ แห่งเอเชียต่อจากไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ตอนปลายของรัฐบาลของพลเอกเปรมและรัฐบาลพลเอกชาติชายได้เปิดระดมทุนกันอย่างเต็มที่ โดยหวัง ปูทางไปสู่การเป็นเสือตัวที่ ๕ โดยเน้นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และพัฒนาสาธารณูปโภค ที่เป็นเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรมเหล็ก รถยนต์ ปิโตรเคมี ปูนซีเมนต์ โรงกลั่นน้ำมัน และชิ้นส่วนอะไหล่ รถยนต์ รวมทั้งอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เริ่มเฟื่องฟู มีการขยายสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ ดาวเทียม ทางด่วน โครงการโฮปเวลล์ ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง เป็นต้น โดยส่งเสริมให้เอกชนมาลงทุน ทั้งให้เอกชน ระดมทุนจากต่างประเทศ การลงทุนรวมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๓๐ รายได้ประชาชาติก็เพิ่มขึ้น บางปีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๔๐ ทั้งที่เงินออมในประเทศมีไม่ถึง จึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการหลงทาง เปิดตลาดรับเงินนอก ด้านตลาดเงินกู้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้ รัฐบาลคุณชวนตั้งเงื่อนไขให้ธนาคารต่างชาติที่นำเงินกู้เข้ามาจำนวนมาก มีสิทธิขอเป็นสาขาธนาคารได้ ซึ่งการจูงใจดังกล่าวนี้มีความหมายมาก ทำให้ธนาคารต่างชาติชอบมาก เพราะสามารถทำกำไรได้สูงขึ้น ธนาคารต่างชาติร่วมปล่อยเงินกู้เป็นการใหญ่ทุกภูมิภาค มีการพยายามชักชวนให้นักธุรกิจ และ ผู้ประกอบการ ในเมืองไทย ทั่วทุกจังหวัดใช้บริการ เมื่อผู้ให้กู้อยากให้กู้ ผู้กู้ก็กู้ได้ง่ายและดอกเบี้ยถูก กู้แล้วสามารถปล่อยกู้ต่อก็ทำกำไรได้แล้ว ทั้งไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน สิ้นปี ๒๕๓๙ มียอดกู้ถึง ๓๑,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ในปีนั้นธนาคารต่างชาติ ที่ปล่อยกู้มาก จนสามารถตั้งสาขาได้มีถึง ๑๔ ราย เงินต่างชาติทะลักเข้ามามาก ไม่ว่าภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม เมื่อเงินเข้ามามาก โอกาสเคลื่อนย้ายก็มีสูงขึ้น และเมื่อเงินเข้ามากยิ่งสร้างฟองสบู่มากขึ้น โดยเฉพาะ เข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ และเข้าไปในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพราะอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน ในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ยิ่งทำให้สถาบันการเงินปล่อยกู้เพิ่มขึ้น เมื่อเงินเข้าไปในตลาดหุ้น ราคาหุ้นก็สูงขึ้น การเปิดตลาดการเงินที่นำเงินนอกประเทศเข้ามาตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ และในช่วงปี ๒๕๓๔-๒๕๓๖ ในเรื่องของเงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และเงินกู้ โดยยังไม่ได้จัดระบบตลาดเงิน ตลาดทุน เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ รัฐบาลที่ปกครองประเทศอยู่ได้ไม่ต่อเนื่องในการบริหาร ปี ๒๕๓๑-๒๕๓๘ เปลี่ยนรัฐบาลถึง ๕ รัฐบาล คือ รัฐบาลชาติชาย รัฐบาลอานันท์ รัฐบาลสุจินดา รัฐบาลชวน และรัฐบาลบรรหาร การแข่งขัน ในประเทศ ไม่เสรีจริง เงินที่เข้าไปสู่ธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษมีมาก ทำให้เกิดการกระจุกตัว ของการลงทุน กฎหมายที่เกี่ยวกับการแข่งขัน การผูกขาดยังไม่เป็นสากล ทำให้เกิดการสร้าง กำลัง การผลิต ที่ใหญ่เกินกว่าระบบเศรษฐกิจ จะสามารถรับได้ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเลี่ยม อุตสาหกรรม โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมเหล็ก กิจการโทรคมนาคม ระบบตลาดไม่ทำงาน เพราะเรามีนโยบาย อัตราแลกเปลี่ยน ที่เรียกว่าเกือบคงที่ วิธีการที่ธนาคารไม่ให้คนกู้เงินไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ คือ การขึ้นดอกเบี้ย เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนตายตัว คนยิ่งไปกู้เงินนอกมากขึ้น เงินยิ่งทะลักเข้ามา อัตราการ แลกเปลี่ยนเราไม่ยืดหยุ่น เมื่อเงินเข้ามามากเกินระบบเศรษฐกิจของเราจะรับเอาไว้ได้ ผู้มีเงินดอลล่าร์ ไม่อยากเข้ามาให้กู้ยืมในประเทศไทย เพราะเมื่อค่าเงินบาทสูง เอาเงินดอลล่าร์เข้ามาแลกก็จะได้น้อย ทั้งในเวลาเดียวกัน เมื่อเงินบาทสูงขึ้น ผู้กู้เงินดอลล่าร์ก็ไม่กล้ากู้ เพราะกลัวว่าเงินบาทจะตก เวลาใช้หนี้ เป็นเงินบาท ยอดหนี้จะมาก ตลาดทุนไม่มีระบบตรวจสอบที่ชัดเจน ผู้ลงทุนรายย่อยมากกว่าผู้ลงทุน ที่เป็นสถาบัน ฉะนั้นผู้ลงทุนส่วนใหญ่จึงเป็นนายทุนต่างชาติ เกิดการสร้างราคาหุ้น หรือปั่นหุ้น สูงกว่า ความเป็นจริง ชาวต่างชาติที่ให้กู้เงินจำนวนมาก เริ่มมีความไม่แน่ใจในระบบเศรษฐกิจของไทย เพราะการส่งออก เริ่มชะลอ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็ขยายตัวสูงมาก ๖-๗%ของรายได้ประชาชาติ อสังหาริมทรัพย์ ที่สร้างขึ้นมามาก ไม่สามารถขายได้ ภาคการเงินไม่มีสภาพคล่อง หุ้นเริ่มตกลงเรื่อยๆ สรุปว่าเราไม่พร้อมในการรับเงินมากขนาดนั้น เราจัดบ้านรับเงินไม่ทัน แต่เราก็ไม่ปิดกั้นเงิน อัตรา แลกเปลี่ยน คงที่ ทำให้การนำเงินเข้ามามีกำไรมหาศาล ทุกคนคิดว่าเงินนอก สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยได้ จึงมุ่งไขว่คว้า ธุรกรรมการซื้อขายเพื่อทำกำไร ปี ๒๕๓๘ เงินดอลล่าร์แข็งขึ้น เงินบาทแข็งขึ้นด้วย ทำให้สินค้าส่งออกราคาสูงขึ้นมากจึงส่งออกไม่ได้ นักวิเคราะห์เงินตราทั่วโลกและสถาบันต่างๆ เช่น มู้ดดี้ สแตนดาร์ตแอนด์พัวร์ เริ่มออกความเห็นว่า เงินบาทของเรา จะตกต่ำและเศรษฐกิจของเราจะเริ่มมีปัญหา สู้สงครามเงินตรา เมื่อทนไม่ไหว รัฐจึงต้องประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแบบลอยตัว ทำให้หนี้ภาคเอกชน สูงขึ้นเกือบเท่าตัว เพราะค่าเงินลดลงจึงไม่มีเงินชำระหนี้ที่กู้ยืมมา เงินต่างชาติที่ไหลเข้ามา เมื่อไม่สามารถ ทำกำไรได้ ก็เริ่มไหลออกจำนวนมาก โครงการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ขาดเงินทุน โครงการ ชะงัก ต้องหยุดโครงการเพราะไม่สามารถกู้เงินเพิ่มเติมได้ สถาบันการเงินที่กู้นอกมาก็ไม่มีเงินชำระ ลูกหนี้ที่กู้เงินจากสถาบันการเงินไป ก็ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จึงไม่มีเงินชำระหนี้ที่กู้ยืมไป วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๐ รัฐปิดกิจการบรรษัทเงินทุน ๑๖ ราย ประชาชนจึงแห่ไปถอนเงิน ในบรรษัท เงินทุนอื่นๆ วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๐ รัฐได้ควบคุมกิจการบรรษัทเงินทุนอีก ๔๒ ราย ธันวาคม ๒๕๔๐ บรส.ได้อนุญาตให้ดำเนินการต่อไปได้อีกเพียง ๒ บริษัทเท่านั้น นอกนั้นถูกปิด รัฐได้ กำหนดให้ธนาคารสำรองหนี้สูญตามคุณภาพของลูกหนี้ ทำให้แต่ละธนาคารต้องมีการเพิ่มทุน ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๑ รัฐต้องเข้าฟื้นฟูธนาคารรัฐ ๔ แห่ง โดยการยุบรวม โดยให้ธนาคารมหานคร รวมกับ ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ และไปรวมกับธนาคารกรุงไทย ธนาคารสหธนาคาร รวมกับบริษัท กรุงไทยธนกิจ ตั้งไทยธนาคารขึ้น ธนาคารแหลมทองรวมกับธนาคารรัตนสิน ธนาคารเอเชีย และธนาคาร ไทยทนุ ต่างถูกต่างชาติซื้อหุ้นปี ๒๕๔๒ ต่อมารัฐบาลพยายามขายธนาคารรัตนสิน ธนาคารศรีนคร ธนาคารนครหลวงไทยให้ต่างชาติ ยุค ไอ เอ็ม เอฟ วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๐ มีการแสดงความจำนง ไอเอ็มเอฟที่คุมเข้มด้านการเงิน การคลัง เพื่อให้มี การใช้จ่ายน้อยที่สุด เพื่อจะได้มีความจำเป็นในการใช้เงินตราต่างประเทศต่ำ เอาที่เหลือไปชำระหนี้ รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจต้องทำงบปี ๒๕๔๑ เกินดุลไม่เกินร้อยละ ๑ ของรายได้ประชาชาติ การควบคุม สถาบันการเงินอย่างเข้มงวดและต้องปิดสถาบันการเงินดังที่กล่าวมาแล้ว เราทำเจตจำนง โดยไม่มี ทางเลือก ไอเอ็มเอฟต้องการลดรายจ่ายอย่างดุเดือด ในขณะที่ดอกเบี้ยก็แพง เงินหายาก ไม่ว่าภาครัฐ หรือเอกชนได้รับความเดือดร้อน เดือนสิงหาคม ๒๕๔๑ ดอกเบี้ยยังสูงมาก เงินบาทตกต่ำต่อไปเรื่อยๆ ธุรกิจเอกชนทยอยปิดกิจการ รายใหญ่เป็นหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก ความคิดเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจึงติดตามมา การคุมเข้ม การเงิน การคลังเริ่มไม่ได้ผล เจตจำนงฉบับที่ ๓ ลงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ปัญหานอกประเทศรุนแรง ปัญหาประเทศอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ กระทบย้อนกลับมาสู่ประเทศไทย เพราะเป็นประเทศคู่ค้า เป็นวิกฤติสูงสุดในทุกๆ ด้าน การทุ่มทุนต่างๆ เข้าไปฟื้นฟู สถาบันการเงิน เป็นการผิดพลาด อีกประการหนึ่งเป็นเหตุให้การแสดงเจตจำนงฉบับที่ ๔ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๑ เริ่มยอมรับในเรื่องของการคลายทางด้านนโยบายและมาตรการมากขึ้น รวมทั้งฉบับที่ ๕ เมื่อเดือน สิงหาคม ๒๕๔๑ ด้วยมาตรการ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๑ กำหนดให้สถาบันการเงินที่เพิ่มทุน ไม่ได้เปิดทาง ให้รัฐเข้าถือหุ้น แต่เงื่อนไขมากเกินไป ทำให้ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ไม่อยากเข้าร่วมโครงการ การแก้ไขกฎหมาย ๑๑ ฉบับเพื่อเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ในประเทศมากขึ้น เป็นเหตุให้ความเชื่อมั่นในกฎหมายมีน้อยลงๆ การแก้ปัญหาต่างๆเริ่มไม่ได้รับความร่วมมือ การปรับโครงสร้างนี้เพื่อลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพื่อลดหนี้ เริ่มนำเข้ามาใช้ หนังสือเจตจำนงฉบับที่ ๖ และฉบับที่ ๗ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๑ และ ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๒ เริ่มผ่อนคลายตามคำเรียกร้อง มากขึ้น ซึ่งขณะนั้นเราได้สูญเสียเอกราชทางเศรษฐกิจไปหมดสิ้นแล้ว ระวัง ขณะนี้เรากำลังจะเดิน ซ้ำรอยเดิม ที่เจ็บปวด รัฐบาลและประชาชนต้องรู้เท่าทันต่างชาติ ต้องไม่เดินตามเส้นที่ถูกขีดไว้ ต้องอยู่ อย่างไทย ในสภาพเศรษฐกิจแบบพอเพียง มั่นคงในการผลิตทางเกษตรกรรม เศรษฐกิจชุมชน รักษ์สิ่งแวดล้อม แบ่งปันภูมิปัญญาไทย กระจายโอกาส กระจายทุน กระจายความเป็นเจ้าของ ปัจจัยการผลิตกันเอง เพื่อความวิวัฒนาสถาวรของชาติตลอดไป ไม่ต้องเผยอจะเป็นเสืออีก ต้องเป็นไทย อยู่อย่างไทย กินอย่างไทย ดำรงความเป็นไทย - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๔ มกราคม ๒๕๔๘ - |