สืบเนื่องจากรายการ "ท่านนายกฯทักษิณพบประชาชน" ในทุกๆ วันเสาร์ มีประเด็นที่เป็นนัยของ ความลึกซึ้ง อย่างสำคัญ เมื่อท่านนายกฯ ได้เล่าประสบการณ์ถึงการได้รับประโยชน์จาก การแลกเปลี่ยน ข้อคิดกับผู้คน โดยเฉพาะ สุดยอดของผู้นำอย่าง นายลีกวนยู ท่านนายกฯได้เล่าว่า ได้ถามนายลีกวนยูว่า "ท่านได้อ่านหนังสือบ้างหรือไม่?" นายลีกวนยูตอบมาว่า "อ่านหนังสืออย่างเดียวไม่พอ ต้องออกไปรับฟังคนอื่นด้วย" ดูเหมือนว่าท่านนายกฯ จะชื่นชมกับคำตอบที่ได้รับกลับมา จึงได้นำมาเล่าออกรายการวิทยุ และคง จะทำให้ ผู้ที่มีความเป็นห่วงเป็นใยต่อบ้านเมือง ที่พากันวิตกกังวลว่า ท่านนายกฯจะไม่ค่อยฟังใคร ได้ลดความกังวลใจ ได้บ้าง และถ้าใครได้มีโอกาสฟังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็น่าจะชวนให้เกิดปีติ ถึงขนลุกได้ เพราะพระองค์ทรงเล่าถึงความเป็นนักฟังอย่างยิ่งของพระองค์ด้วยเช่นกัน แม้ท่านนายกฯ จะมาพูดยังไง ท่านก็ทรงติดตามฟังมาตลอด หรือคนอื่นๆ ถึงแม้จะพูดไม่เข้าเรื่อง แต่พระองค์ก็ ทรงสามารถ เก็บเอามา เป็นประโยชน์ได้ตลอดเวลา จึงได้ทรงพระเมตตายกเอาเรื่องการฟังผู้อื่น มาพระราชทานต่อ คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวาย พระพรชัยมงคล เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๗ ใจความว่า "...ฟังไปฟังมา วันนี้ได้รับความรู้ ท่านบอกว่าท่านไม่อ่านหนังสือมากนัก หนังสือดี ต้องอ่านหนังสือ เพื่อให้มี ความรู้ ท่านบอกว่าที่จะดีต้องไปพบคน คุยกับคน ถึงได้ความรู้จริง เราฟัง เวลานายกฯ มาก็ฟัง นายกฯ ได้ความรู้เยอะ วันนี้ได้ความรู้ว่าท่านฟังคนที่มา ได้ความรู้ในการปฏิบัติงาน ฉะนั้นเวลานายกฯ มาก็ดีใจ ท่านพูดมาก เล่าเรื่องโน้น เรื่องนี้เราก็ได้ความรู้ ที่เห็นด้วยถ้าเราฟังคนที่มีความรู้ เราก็ได้ความรู้ ไม่ใช่ความรู้ ที่จะมาสอน คนโน้น คนนี้ได้ แต่ได้ความรู้ที่จะปฏิบัติได้ เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ก็ดี เราก็สามารถที่จะ ปฏิบัติงาน ถ้าฟังจาก คนที่เก่งก็ฟัง ท่านก็พูดอะไรต่างๆ ไปเรื่อยก็ไม่ต้องอ่านหนังสือ ถ้าฟังคนที่มีความรู้แล้วมาย่อย ท่านก็บอกว่าฟัง คนที่มีความรู้ทำให้สามารถปฏิบัติงาน ทำอะไร ต่ออะไรได้ ซึ่งก็เป็นความจริง ถ้าเราฟังแต่ต้องฟังจริงๆ แต่ต้องมาพิจารณาซึ่งเป็นข้อสำคัญ ถ้าฟัง คนโน้นคนนี้คนไหน ที่มาจากอเมริกาใต้ เข้ามาพูดใหญ่ว่าต้องปฏิบัติอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่เห็นด้วย กับท่าน เราก็ต้องมาคิดว่า ทำไมไม่เห็นด้วยกับท่าน บางทีคนที่มีชื่อมาพูดเราฟังไม่เข้าเรื่อง ไม่มีประโยชน์ แต่ประโยชน์มีว่าท่านเก่งที่ทำให้คนเชื่อ ถ้าเราฟังแล้ว เชื่อตามไปหมดไม่ดี เพราะไม่ได้พิจารณา ต้องพิจารณาว่าที่พูดนั้นถูกต้องหรือไม่ ถ้าพูดถูกต้องปฏิบัติได้เราก็ดี ปฏิบัติได้ ส่วนรวมก็ได้ประโยชน์ เพราะเราเอาสิ่งที่ท่านพูดไปปฏิบัติต่อ เดี๋ยวนี้ก็ฟังข่าวนายกฯ คุย คุ้ย คุย กับประชาชน เขาบอกว่าคุย ๑ ชั่วโมงเราก็ได้ยินนายกฯมาแล้ว เราต้องฟัง ฟังไปฟังมา หลับ หลับไปมาเลยต้องมาคอยบ่ายโมงถึงบ่ายสองโมงได้อีกชั่วโมง" (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๐-๑๖ ธ.ค. ๒๕๔๗) บทสรุป: ในหลวงของเราสมเป็นดัง "พ่อของแผ่นดิน" พระองค์ทรงทำตัวเป็นแบบอย่างให้เห็นตาม มากกว่า จะคอยสั่งสอนให้ทำตาม เพราะตัวอย่างที่ดีสูงค่ายิ่งกว่าคำสอนที่มีมากมาย เพียงแต่ว่า พวกเรา จะมีสำนึก ในการนำเอาแบบอย่างหรือตัวอย่างมาประพฤติปฏิบัติตามกันได้มากน้อยแค่ไหน? เพราะเป็นการสอน โดยไม่สอน คนที่มีจิตสำนึกสูงเท่านั้น จึงจะสามารถสัมผัสความสุขุมลุ่มลึก ในคำสอน ที่เป็นแบบผู้ดีๆ นี้ได้ ในหลักธรรมของพุทธศาสนา "สัมมาทิฐิ" จึงเป็นลายแทง ที่จะทำให้เราเดินไปอย่างถูกทาง ไม่หลงป่า หรือ ออกทะเล พระพุทธองค์ทรงกำหนดองค์ประกอบที่จะทำให้เกิดสัมมาทิฐิมี ๒ ประการคือ ๑.ปรโตโฆสะ การน้อมรับฟังผู้อื่น ๒.โยนิโสมนสิการ เมื่อฟังแล้วให้นำมาพิจารณาใคร่ครวญอย่างยิ่ง เพื่อนำส่วนที่ดีไปปฏิบัติต่อไป การเป็นคนฉลาดสามารถฟังคนอื่นได้ (เปิดโลกให้กว้างขึ้น) และฉลาดในการคัดเลือกเก็บเอาประโยชน์ ได้เสมอจากผู้อื่น (มีบูรณาการอยู่ตลอดเวลา) ก็จะทำให้เราสามารถมองอะไรได้เป็นองค์รวม ไม่ว่าจะเป็น พวกซ้าย พวกขวา พวกขาประจำ หรือขาจร ล้วนแล้วแต่มีมุมดี ที่ต้องคิดคำนึงให้ครบถ้วน บริบูรณ์ ซึ่งท่าน นายกฯ ทักษิณเคยแนะนำให้อ่านหนังสือ ที่เน้นเรื่ององค์รวม ใครสามารถมองภาพ เป็นองค์รวมได้ คนนั้น ย่อมประสบความสำเร็จได้ก่อนคนอื่น ซึ่งประเด็นนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะเรา ดำเนินรอยตามจริยาวัตร ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย ทั้งชาตินั่นเอง - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๕ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ - |