ตอนที่ทางโรงเรียนเลื่อนน้อยให้ขึ้นไปเรียนชั้นป.๑ได้เลยโดยไม่ต้องเริ่มจากชั้นมูล หรือที่เรียก กันว่า ชั้นเตรียมก.ไก่นั้น งานชิ้นเดียวสำหรับวิชาการฝีมือของเธอ และเพื่อนๆ ผู้หญิงในชั้น ต้องทำส่ง คือ ผ้าเช็ดหน้า ไม่มีใครแปลกใจ หรือทายไม่ถูก ว่าจะต้องทำผ้าเช็ดหน้า ก็เพราะนักเรียนรุ่นพี่ ปีที่แล้ว ก็ทำผ้าเช็ดหน้า พี่ปีก่อนหน้านั้น และปีก่อนหน้าโน้น หรือปีก่อนหน้าไหนๆ ก็ล้วนต้องทำผ้าเช็ดหน้า กันทั้งนั้น การทำผ้าเช็ดหน้า จึงเป็นเหมือน ประเพณีของเด็กนักเรียนหญิงชั้นป. ๑ โรงเรียนประชาบาล อำเภอแว้ง หลังสงครามโลก ครั้งที่สอง น้อยเคยคิดว่ามันน่าเบื่อจะตาย สองปีที่แล้วเธอเห็นพี่แมะทำผ้าเช็ดหน้า มาปีนี้เธอก็ต้องทำ ผ้าเช็ดหน้าอีก ช่างน่าเบื่อ อย่างบอกไม่ถูก เป็นเด็กผู้ชาย ทำไม้กวาด ก้านมะพร้าว เสียยังจะดีกว่า แม่ไม่เห็นด้วยกับเธอเพราะการเหลาก้านมะพร้าวนั้นแม่เห็นน้อยทำเป็นมาตั้งนานแล้ว ส่วนการทำ ผ้าเช็ดหน้าสิ เป็นการฝีมือที่เหมาะสม กับเด็กผู้หญิง มากกว่าทำไม้กวาดเป็นไหนๆ พ่อยิ้ม มองหน้าแม่ พูดว่า "รู้ไหมว่าทำไมแม่เขาถึงอยากให้ลูกทำผ้าเช็ดหน้านัก?" "ก็แม่ว่าเหมาะกับเด็กผู้หญิงไม่ใช่หรือคะพ่อ?" น้อยตอบ สงสัยอยู่ครามครันว่าทำไมพ่อถึงยิ้ม "พ่อก็ว่าดีนะที่น้อยจะได้ทำอะไรแบบเด็กผู้หญิงบ้าง ไม่เอาแต่ว่ายน้ำในคลอง หรือคิดทำบ้าน บนต้นไม้ แม่เขาทำกับข้าวทำขนมได้เก่ง และทำได้สวยด้วย แต่เรื่องเย็บปักถักร้อยนี่ แม่เค้า -" พ่อแกล้งทิ้งท้าย ให้แม่ต่อ แม่หัวเราะเมื่อยอมพูดความจริงที่ทั้งพี่แมะและน้อยไม่เคย ทราบมาก่อน "แม่ไม่เคยทำของพวกนั้น ลูก ยายของลูก ป้าของลูก เขาเก่งกันทั้งนั้น พอโตหน่อย ผู้ใหญ่ก็ให้ หัดขึ้นจักร เขาเลยตัดเย็บเสื้อผ้า เก่งกันทุกคน หลายคน ใช้เวลาว่างที่บ้าน รับเย็บเสื้อกุดี (คำนี้ตรงกับ คำว่า เสื้อโหล ในภาษากลาง จะใช้กับการนับจำนวนอะไรก็ได้ เป็นต้นว่า ไม้กระดาน ๑ กุดีเท่ากับ ๒๐ น่าจะเป็นคำจาก ภาษามลายู เพราะไทยมุสลิม ทางภาคใต้ ก็ใช้เช่นเดียวกัน) แต่แม่ไม่มีโอกาส แบบพวกป้าๆ ของลูก" ถึงตอนนี้น้อยรู้สึกเหมือนเสียงแม่ฟังต่ำๆอย่างไรก็ไม่ทราบ แล้วพ่อก็พูดต่อขึ้นว่า "แม่ก็เลยไปเป็นศิษย์วัดแทน สนุกไปเลย" "จริงหรือคะแม่ แม่ไปเป็นศิษย์วัดจริงหรือคะ ได้ไงคะแม่ ทำไมพี่แมะกับน้อยถึงไม่เคยเห็นคะ?" "ก็ตอนนั้นลูกยังไม่เกิดเลย แม่ก็ยังเด็กมาก ทวดของลูก ตาของแม่น่ะเสียชีวิตลง แล้วพ่อของแม่ หรือตาของลูก ก็เสียชีวิตตามไป ในช่วงเวลาเดียวกัน ร้ายที่สุดก็คือ แม่ของแม่ หรือยายที่สงขลาน่ะ ล้มเจ็บเป็นอัมพาต มือตายตีนตาย เอ พ่อ เล่าเด็กๆ ดีหรือคะนี่?" แม่หันไปถามพ่อ เมื่อพ่อยืนยันว่าดี แม่จึงเล่าต่อ หลังจากแวะอธิบาย น้อยที่ทำท่าสงสัยก่อนว่า "อัมพาตคือโรคชนิดหนึ่ง ที่ใครเป็นก็จะเคลื่อนไหวร่างกายบางส่วนไม่ได้ ลูกยังไม่เคยเห็น คนเป็น อัมพาตหรอก ยายเขากำลังลงบันได จะไปหาตา ที่กำลังเจ็บหนัก เกิดเคลื่อนไหวมือเท้าไม่ได้ ขึ้นมาทันที เขาเรียกว่า มือตายตีนตาย" "แล้วแม่ก็เลยต้องช่วยยายใช่ไหมคะ" พี่แมะถาม "ตอนนั้นแม่อายุเท่าไหร่แล้วคะ?" น้อยถามต่อ ซึ่งแม่ ก็รู้ทันทีว่าน้อยกำลังคิดอะไรอยู่ จึงตอบลูกว่า "แม่อายุแค่แปดขวบ เท่ากับน้อยตอนนี้เลยแหละ" แม่ตอบ น้อยนึกแปลบในใจว่า ตนเอง ควรจะต้อง ช่วยแม่ ให้มากกว่านี้ เพราะตอนแม่อายุเท่าเธอ ยังต้องช่วยยาย จนไม่ได้หัดตัดเย็บเสื้อผ้า หรือ อ่านหนังสือ เหมือนคนอื่น แต่เธอและพี่แมะ ได้เรียนหนังสือกันอย่างเต็มที่ แถมบางทีเธอเอง ยังอยาก เลี่ยงงาน ไปเล่นด้วยซ้ำไป กำลังคิดอยู่เช่นนั้น แม่ก็พูดต่อว่า "แม่ต้องกระเดียดถาดเล็กๆใส่เส้นขนมจีนกับหมวด (เหมือด) เข้าสะเอวข้างหนึ่ง อีกมือหนึ่ง หิ้วหม้อ น้ำแกง ไปเที่ยวเดินขาย วันไหนขายหมดเร็ว แม่ก็มีเวลาเที่ยว เด็กสมัยแม่ ไม่มีที่เที่ยว ที่ไหนหรอก ที่น่าไปในสงขลาตอนนั้น ก็มีวัดกลาง (คือวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร เป็นวัดหลวงที่สำคัญของจังหวัด โดยเฉพาะด้านศิลปะ ) เท่านั้นแหละ เพราะเขากำลัง ทำโบสถ์ แม่เป็นเด็กก็ไปเที่ยวเก็บ แวว (เป็นศัพท์ ที่ผู้เขียนได้ยินคนสมัยก่อน ใช้เรียกกระจกสีสีต่างๆ ที่ใช้ประดับ ในงานศิลปะในวัด อาจเป็นได้ว่า ในสมัยนั้น ยังไม่มีการประดับ กระจกสีกันมากนัก การเก็บ"แวว" จึงเป็นเรื่องที่เด็กๆ ชอบกันมาก) กับเพื่อนๆ ที่เป็นเด็กวัด" อ้อ! แม่ก็ซนและชอบไปเที่ยวไหนๆเหมือนกัน น้อยคิดในใจ รู้สึกดีขึ้น จึงรีบถามแม่ต่อว่า "เพื่อนแม่เป็นเด็กผู้ชายเหมือนกัน ยายเขาไม่ว่าเอาหรือคะ เพื่อนแม่ชื่ออะไรบ้างคะ?" "ถ้าเป็นเด็กคนอื่น อย่างพวกป้าๆ ก็คงไม่ได้อย่างแน่นอน แต่แม่..คงเป็นข้อยกเว้นมั้ง.." แม่พูดยิ้มๆ พลางหันไปมองพ่อก่อนพูดต่อว่า "เพื่อนแม่คนหนึ่งต่อมาก็บวชที่วัดกลางนั่นแหละ ยังบวชอยู่ จนเดี๋ยวนี้ ชื่อท่านชู อีกคนหนึ่งชื่อหมา" เสียงพี่แมะหัวเราะกิ๊ก เมื่อแม่เอ่ยชื่อ เพื่อนคนนี้ "คนสมัยก่อน เขาชื่อกันอย่างนี้แหละลูก แล้วก็ยังอีกหลายคน เราทั้งหมดเป็นลูกศิษย์ ท่านพระครูอุทิศ เวลาท่าน ได้รับนิมนต์ ไปไหนไกลๆ พวกเราก็ได้ตามไปด้วย อาจจะเป็นเพราะ ท่านพระครูอุทิศ เป็นที่เคารพของ คนเมืองสงขลาก็ได้ ยายถึงยอมให้ไป อย่างนี้แหละลูก แม่จึงเป็นเด็กผู้หญิง ที่ไม่เคยจับเข็มเย็บผ้าเลย" "แล้วเวลาผ้าขาดใครช่วยปะให้แม่ล่ะคะ?" พี่แมะถาม ทั้งพ่อและแม่หัวเราะพร้อมกัน ก่อนที่พ่อ จะตอบแทนว่า "แม่เขาเอาด้ายมัด เป็นปุ่มๆ ลูก จริง แม่เขาเล่าพ่อเอง คงทำตามท่านชูมั้ง" "ก็เพราะแม่ทำงานแบบนั้นไม่เก่งน่ะซีลูก แม่ถึงอยากให้ลูกทำเป็น อย่าเหมือนแม่เมื่อเล็กๆ ลูกต้อง รู้จักระมัดระวัง รักษาข้าวของ ของตัวเอง เสื้อผ้าเรามีไม่มากนัก แต่เราต้องรู้จัก ซักให้สะอาด ไม่หมักหมม" แม่ถือโอกาส สอนลูกสาวทั้งสองคน "แม่คะ แล้วใครสอนแม่ทำกับข้าวทำขนมล่ะคะ ยายก็ลุกขึ้นทำไม่ได้ แต่แมะว่า ตอนนี้แม่ทำ กับข้าว ทำขนม เก่งมากที่สุดเลย" พี่แมะตั้งข้อสังเกต "แม่สอนตัวเองโดยการดูคนอื่นเขา ช่วยเขาทำ หรือถามเขาบ้าง แล้วก็มาหัดทำเอง ผู้ใหญ่สมัยก่อน เขาสอนเสมอว่า ไปงานใครต้องให้ได้ความรู้ติดกลับมา อย่างน้อย หนึ่งอย่างเสมอ อย่าไปเฉยๆ บางทีผู้ใหญ่ก็สอนว่า จงเป็นลูกมือ ช่วยคนอื่นเขา คนที่เขาทำกันเก่งๆ น่ะ ทำให้เขา งานได้เขา แต่วิชาได้เรา แม่ก็จำและทำตามที่ผู้ใหญ่สอน ทำนานเข้า ก็ชำนาญเอง" แม่พูด ก่อนที่พ่อจะเสริมว่า "แต่พ่อว่าเหตุที่แม่เขาทำอะไรเก่ง ..นอกจากเย็บผ้า.. อาจจะเพราะอย่างอื่นอีกด้วยก็เป็นได้ บรรพบุรุษ ของแม่ เขาเป็นช่างกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในเมืองสงขลานี่ ก็หลายคน ที่ขึ้นชื่อทางด้านอาหาร ไม่ใช่หรือแม่?" "อาจจะเป็นอย่างที่พ่อว่าก็ได้ นั่นแหละ บางทีน้อยอาจจะชอบด้านตัดเย็บเสื้อผ้า
เหมือนพวกป้า พรุ่งนี้ เราไปบ้าน น้าผินกัน ไปขอซื้อผ้าขาว กับไหมเขามา ทำผ้าเช็ดหน้า
ดีไหมลูก ของแมะทำ แม่ยังได้ใช้ อยู่เลย น้อยต้องลองมั่ง ไม่ลองก็ไม่รู้หรอกลูก"
แม่พูด พ่อนั้นนั่งยิ้ม คงกำลังนึกภาพ น้อยจับเข็ม แทนปีนต้นมะพร้าว "น้อยอยากได้สีเขียวนี่ค่ะ" เธอบอกแม่และน้าผินอย่างสุภาพ หลังจากที่นั่งพิจารณา ทุกสีแล้ว "อ้าว! จะเอาสีเขียวหรือ คราวนี้ไม่เอาสีแดงแล้วหรือน้อย?" น้าผินถามเป็นเชิงล้อ "น้อยว่าสีเขียวสวยที่สุดค่ะ ถ้าแม่ไม่ว่า น้อยขอสีเขียวค่ะ" น้อยยืนยัน "น้าก็ว่าสีเขียวสวยที่สุดอย่างน้อยว่าจริงๆ ด้วย" น้าผินคล้อยตาม ก่อนที่จะดึงเส้นไหม ออกจาก ไจผมเปีย ทีละเส้น จำนวนแปดเส้น แปลกจริงแฮะ! น้อยคิด ไหมนี่พอถักเป็นหางเปีย พันไปพันมา แล้วกลับดึงออกมาได้เลย ไม่ยุ่งนุงนังด้วยซี เขาทำยังไงนะ ผมเปียเล็กๆ นี่! อีกสองวันต่อมา น้อยกับมามุเดินกลับมาบ้านด้วยกัน หลังจากไปในกำปง (หมู่บ้าน) ต่างประคอง อะไรบางอย่าง ในมือตรงมาให้แม่และโต๊ะซารีดู อย่างตั้งใจจะอวด "ปั๊วะ ("ปั๊วะ" เป็นตัวอย่างคำยืม ระหว่างภาษาที่ดี คำนี้คนไทยมุสลิม ยืมไปจากคำภาษาไทย คือ "พวก" ระบบคำยืมนี้ ยังไม่มี การศึกษา ความเป็นมา) กีตอบูวะปานาเดาะ เตาะปาเยาะโตะ (พวกเรา ทำเป็นแล้ว ไม่ยากหรอก ยาย) " มามุ พูดกับโต๊ะซารี ส่วนน้อยก็วางของในมือลงให้แม่ พลางแกว่งเท้ากับพื้น นอกชานหน้าบ้าน อย่างภาคภูมิใจ แกมเขิน พ่อลุกจากโต๊ะ ที่กำลังทำบัญชีลูกหนี้อยู่ มาร่วมดูด้วย สิ่งที่เด็กทั้งสอง นำกลับมาบ้าน เป็นกระต่าย ลูกฟุตบอล นกและปลา สานด้วยยอดมะพร้าว สีอมเหลืองนิดๆ ตัดเส้นด้วยขอบสีเขียว ของใบ พ่อหยิบปลา ขึ้นมาดู ข้างในนั้นเป็นข้าวเหนียวนึ่งอัดแน่น ทำให้ ยอดมะพร้าวสาน เป็นรูปเหล่านั้น ตึงตัว และเป็นมันเพราะข้าวเหนียวนั้น เขากวนกึ่งสุกด้วยกะทิ น้ำตาลทราย และเกลือด้วยนิดหน่อย ก่อนที่จะกรอกเข้าไปในรูปสาน แล้วนำไปนึ่งให้สุก "ฮอ! จอแมเว้! ตูป๊ะ (ผู้เขียนตั้งใจแปลว่า ข้าวต้มลูกโยน เพื่อให้ท่านผู้อ่านพอนึกภาพของกิน ชนิดนี้ได้ แต่ในภาคใต้ ของไทย และในมาเลเซียนั้น เขาไม่ได้ห่อแบบของไทย ภาคกลาง โดยปรกติ จะห่อด้วยใบ (กะ) พ้อ ซึ่งเป็นปาล์มชนิดหนึ่ง ชนิดเดียวกับที่ปรากฏ ในโคลงโลกนิติว่า "ใบพ้อพันห่อหุ้ม กฤษณา" คนไทย ปักษ์ใต้ ไม่ได้เรียกว่า ข้าวต้ม ลูกโยน อย่างภาคกลาง แต่จะเรียกว่า "ต้ม" หรือบางแห่ง เรียกว่า "ปัด" หรือบางแห่งเรียกควบว่า "ต้มปัด" ผู้เขียนแน่ใจว่า มาจากคำภาษามลายู ที่ออกเสียงในจังหวัด ชายแดน ภาคใต้ว่า "ตูป๊ะ" และในภาษา มลายูกลางว่า "กตุมปัด (ketumpat) " การห่อต้ม ใช้คำกริยา เฉพาะว่า "แทงต้ม" แบบไทยและแบบมลายู เหมือนกัน แต่คนไทยประดิษฐ์แบบ ออกไปมากแบบกว่า ตามประสา เอกลักษณ์ไทย ที่รับของใครมาแล้ว จะประดิษฐ์ต่อเสมอ แบบไทยเราจึงมี ต้มเหมีย ต้มผู้ และต้มปัด ซึ่งห่อได้เป็นทรงยาว สวยงามมาก การห่อ ด้วยยอดมะพร้าว แทนใบ (กะ) พ้อนั้นถือได้ว่า เป็นงานฝีมือที่งดงามมาก และควรอนุรักษ์ไว้อย่างยิ่ง ใบ (กะ) พ้อนั้นทางมาเลเซีย เรียกว่า "ปาลัส (palas) " แต่คนไทยมุสลิม ออกเสียงว่า "ปาละห์" เป็นชื่อสถานที่ ในจังหวัดปัตตานี ที่เรียกกันทั้ง ปาละห์ และ กะพ้อ ) ดาฮงยอ ซาปอบูวะบูวี (แหม! น่ารักจริง! ข้าวต้มลูกโยนใบมะพร้าว ใครทำ ให้ล่ะ?) " โต๊ะซารีถาม "อามอบูวะสดีฆีลา (พวกหนูทำเองค่ะ, ครับ) " มามุและน้อย ตอบยายพร้อมกัน "ซูโงะห์? บูวะปานากอ? (จริงหรือ? ทำเป็นหรือ?) " โต๊ะซารียังไม่เชื่อว่าเด็กๆ จะทำได้ "ซูโงะห์ลา โต๊ะ กะนิรอมะห์บลายาบูวี (จริงครับ ยาย พี่รอมะห์สอนให้ทำ) " มามุยืนยัน "ป๊ะห์ เนาะบูวีซาปอแฆเตะหนิง? (แล้วไงล่ะ นี่จะให้ใครมั่งล่ะ?) " แม่ถามเด็กๆ และมามุ ตอบว่า "บูวีบลากอลา แมะ เจ๊ะ โต๊ะ ปง ปีเละห์ลา เนาะเหาะมานอ ตาปีตูลงลึเบะห์ซอเหาะจอแมสุ ("สุ" ก็เป็นคำยืมจากภาษาไทย ไปใช้กันเป็นสามัญ ในภาษามลายู ของคนไทย มุสลิมภาคใต้ จากคำไทยว่า "สุด") ตู กอบูวีกะนิแมะ เดะห์ (ให้ทุกคนเลยครับ แม่ พ่อ ยาย เลือกดูซีครับ จะเอาอันไหน แต่ช่วยเหลือ ไว้อันหนึ่ง อันที่น่ารักที่สุดน่ะครับ ให้พี่แมะ) " เก็บไว้ มามุตอบ ผู้ใหญ่ทุกคนยิ้ม ในความน่ารัก และ มีน้ำใจของเขา แล้วทุกคนก็ร่วมรับประทาน ข้าวต้มลูกโยน ห่อด้วยยอดมะพร้าวนั้น อย่างเอร็ดอร่อย แม่กับโต๊ะซารีนั้น ชอบหวานเหมือนกัน จึงให้น้อยไปเอาน้ำตาลทราย ใส่ถ้วยเล็กมาให้จิ้มกัน รวมทั้ง พี่แมะ ที่เพิ่งกลับมาด้วย เมื่อล้างมือกันเรียบร้อยแล้ว แม่จึงพูดขึ้นว่า "เอาละ ตูป๊ะก็กินกันแล้ว แม่ว่าน้อยขึ้นมาทำผ้าเช็ดหน้าได้แล้ว ให้แมะสอนให้" น้อยรู้สึกอยากอิดเอื้อนแต่เมื่อแม่สั่งก็ต้องทำตาม ผสมกับความอยากให้มามุได้เห็นไหมสีเขียว แสนสวย ที่แม่อุตส่าห์ไปขอปันน้าผินมา ทำให้เธอเดินไปหยิบ ของสองสิ่ง รวมทั้งเข็ม ออกมาจาก ในห้องนอน ทุกคนรุมจ้องดูวิธีทำผ้าเช็ดหน้าของเด็กชั้น ป.๑ กันอย่างใจจดใจจ่อ แรกทีเดียว พี่แมะ เอาไม้บรรทัด มาวัดริมผ้าลินินผืนน้อยนั้นเข้าไป ๑ นิ้ว เอาดินสอหมายไว้ จากนั้น จึงเอาเข็ม ค่อยๆเขี่ย เอาเส้นด้าย ในตัวผ้า ตรงชายออกมาอย่างเบามือ หนึ่งเส้น ค่อยๆดึงด้ายเส้นนั้นออกมา จากผืนผ้าอย่างเบามือ พอออกมาหมดทั้งเส้นแล้ว ก็เห็นเนื้อผ้า เป็นร่องยาว ตามที่ดึงด้ายออกมา จากนั้น พี่แมะก็เว้น เส้นด้ายในผ้า ไปหนึ่งเส้น แล้วลงมือดึงเส้นถัดไป "ทำไมไม่ดึงเส้นนั้นก่อนล่ะ ต้องเว้นด้วยหรือ?" น้อยถามพี่แมะ "ใช่ ต้องเว้นหนึ่งเส้น ไม่งั้นเอาไหมเข้าไปไม่ได้ ตัวเองคอยดูเหอะ อย่าเพิ่งถาม" พี่แมะตอบ ท่าทาง เอาการเอางาน มามุสะกิด ไม่ให้น้อยพูดอีก น้อยจึงนั่งเม้มปาก ตามพี่แมะ ต่อด้ายเส้นที่สอง ออกมาแล้ว คราวนี้พี่แมะเขี่ยเอาด้ายในผ้าที่เว้นไว้นั้น ออกมายาว สักหนึ่งนิ้วก่อน มันออกมาง่าย อย่างพี่เขาว่าจริงๆ ด้วย พี่แมะเอาไหมสีเขียว ออกมาเส้นหนึ่ง ผูกแบบเงื่อนตาย เข้ากับปลายด้าย ที่ดึงออกมา จากนั้นจึงถึงตอนยากที่สุด พี่แมะค่อยดึงอีกปลายหนึ่ง ของด้ายเส้นเดียวกัน ในเนื้อผ้า ดึงไป ดึงไป ทีละน้อย เส้นไหมสีเขียว ก็ค่อยๆ เคลื่อนเส้นเข้าไป แทนที่ด้ายเดิม ในผ้าทีละน้อยด้วย มันเข้าไปแทนแบบขึ้นลงๆ ราวกับถูกเย็บเข้าไปทีละปุดๆ อย่างประณีต และเป็นอย่างนั้น จนตลอด ทั้งเส้น น้อยนั่งจ้อง มองไม่วางตา กลัวว่าพี่แมะจะทำผ้าเช็ดหน้าของตนเสียก็กลัว ทุกครั้งที่พี่แมะ เม้มปาก น้อยก็เม้มตาม พอพี่แมะถอนหายใจ ก็ถอนด้วย ทุกคนก็ได้เห็นเส้นไหมไปปรากฏเป็นเส้นยาวแทรกอยู่ในเนื้อผ้าเช็ดหน้าผืนน้อย มันสวย เสียจนน้อย เอียงคอถอนหายใจตามพี่แมะ และยิ้มอย่างพอใจ แล้วคำบัญชา จากผู้เป็นพี่ และผู้ถนัดเรื่อง เย็บปัก ถักร้อย ก็มาสู่น้อยทันที เมื่อพี่แมะพูดว่า "นี่นะ น้อยต้องเอาไม้บรรทัดวัดจากเส้นไหมสีเขียวที่พี่ทำให้แล้ว ลงมาหนึ่งเซน เอาดินสอ หมายไว้ แล้วเอาเข็มดึงเส้นด้ายออกมาสองเส้น เว้นเส้นกลางไว้ ดึงไหมเข้าไป อีกเส้นหนึ่ง" มามุเอาข้อศอก กระทุ้งเพื่อน ให้เข้าไปทำตามที่พี่แมะสั่ง น้อยรู้สึกเหมือนปากแห้ง และมือสั่นนิดๆ เธอรู้สึกว่า มันช่าง เป็นงานที่ละเอียด และไม่สนุกเอาเสียเลย นอกจากตอนที่เห็นเส้นไหม มันเลื่อนเข้าไปแทนที่เส้นด้าย ในเนื้อผ้าเท่านั้น ขณะที่เธอค่อยๆเอาเข็มเลาะด้าย เส้นแรกออกมา ก็ได้ยินเสียง แม่ถามพี่แมะว่า "ต้องทำอย่างนี้ทั้งสี่ด้านใช่ไหม แมะ ก็เป็นอันว่าแต่ละด้าน จะมีเส้นไหมสองเส้น แล้วจากนั้น ต้องทำ อย่างไร อีกล่ะลูก?" น้อยกระตุกเอาด้ายเส้นที่หนึ่งขาดตรงกลางพอดี เมื่อได้ยินพี่แมะตอบแม่ว่า "พอสอดไหมทั้งแปดเส้นเสร็จแล้ว ก็พับริมผ้าเช็ดหน้าทั้งสี่ด้าน เนาไว้ แล้วก็เอาด้ายที่เลาะ ออกมา นั่นแหละค่ะ สอยให้ตลอด ก็เสร็จค่ะแม่" หา! อะไรนะ? แค่ดึงด้ายเส้นแรกเรายังทำขาด นี่จะให้ดึงให้สอดทั้งสี่ด้านเทียวหรือ น้อยคิด ในใจ คิดสูตรคูณ อย่างรวดเร็ว ดึงด้ายด้านละสี่เส้น สี่ด้าน สี่คูณเป็นสิบหกเส้น แล้วยังต้อง ดึงเส้นกลาง ผูกกับไหมเขียวอีก ด้านละสอง สองคูณสี่เป็นแปด รวมแล้วเป็นสิบหก บวกแปดเป็นยี่สิบสี่เส้น แล้วยัง จะต้องให้เราพับริม มาเนาแน็ว อะไรก็ไม่รู้ แค่นั้น ก็จะตายแล้ว ยังจะต้องสอยอะไรล่ะ แต่ในที่สุด น้อยก็พบว่า การดึงด้ายเส้นที่สองออกมานั้น เธอทำได้ดีและง่ายกว่าเส้นแรก ไม่ขาดด้วย เสียงพ่อ ให้กำลังใจ อยู่ข้างๆ ว่า "เดี๋ยวน้อยก็ดึงเส้นไหมเข้าไปแบบที่พี่แมะทำได้เหมือนกัน ลองทำซิลูก พ่อว่าน้อยทำได้" ขณะทำตามที่พ่อหนุนน้ำใจ น้อยนึกถึงตอนเธอหัดทำตะกร้อ ทำปลา และนกตูป๊ะ ด้วยยอดมะพร้าว เมื่อเช้านี้ ตอนแรก เธอก็ทำไม่ได้เหมือนกัน มามุก็ทำไม่ได้ พอทำอีกๆ ก็ค่อยๆ ได้ จนในที่สุด ก็สำเร็จ ทำผ้าเช็ดหน้านี่ ก็ต้องเป็นอย่างนั้น เหมือนกันแหละน่า เราต้องทำให้ได้ น้อยบอกตัวเอง แล้วไหม สีเขียวเส้นแรกของเธอ ก็ไปปรากฏขนาน กับของพี่แมะ น้อยคิดเข้าข้างตัวเองว่า ดูของเธอ เส้นไหม จะมันระยับกว่าของพี่แมะ เสียด้วยซ้ำไป! มามุตบมือให้เธอ พร้อมกับชมเพื่อนรักว่า "สวยจัง น้อย เธอเก่งจริงๆ" และพ่อพูดว่า "เห็นไหมลูกที่แม่เล่าให้ฟัง จากที่แม่ทำไม่เป็น ทำไปๆ จนในที่สุด ก็ชำนาญจนได้" น้อยยิ้มให้ทุกคน ที่รายล้อมเธออยู่ด้วยความรู้สึกรัก อบอุ่น และมีกำลังใจ หลังอ่านหนังสือคืนนั้น แม่ถามน้อยว่า "ไหนเล่าให้พ่อกับแม่ฟังอีกทีซิว่า วันนี้ไปที่บ้านกะนิรอมะห์น่ะ ลูกกับมามุ ไปขอให้เขาสอนให้สานตัวอะไรต่ออะไรให้ จนเป็นได้ยังไง ลูก?" "น้อยกับมามุไม่ได้เข้าไปกีดเขาเวลาทำงานหรอกค่ะ แม่ น้อยจำที่แม่สอนว่า 'งานได้เขา วิชาได้เรา ได้ พอดีคนที่คนข้าวเหนียวกับน้ำกะทิ เขาพูดว่า ลึเงาะห์ (เมื่อย) จัง มามุเลยบอกว่า เด็กก็ช่วยคนให้ได้ เขาเลยให้ลองทำ น้อยก็ช่วยคนนิดนึง แต่ไม้พายมันหนัก เขาเลยให้น้อยล้างถั่วดำ ที่แช่ไว้ไปใส่ ในกระทะ มามุคนไปสักพัก เขาก็บอกว่าได้แล้ว อะแบอะแว (พี่ชายอะแว) ก็มายกกระทะลง ทีนี้มามุ กับน้อย ก็ได้นั่งดูเขาสานใบมะพร้าว มันเหมือนเวลาที่น้อยสานเล่น เหมือนกันค่ะ แต่ก่อนเสร็จ เขาตักข้าวเหนียว ใส่ลงไปก่อน แล้วถึงค่อยสอดใบ ตอนสุดท้าย เมาะจิ๊ (น้า) เขาบอกว่า ข้าวเหนียว เยอะไป อยากลองทำก็ได้ ตอนแรกน้อยกับมามุ สานนกก่อน แล้วก็ตักข้าวเหนียว ใส่ลงไปจนเต็ม กะนิรอมะห์ บอกว่า อย่างนั้นไม่ได้ ต้องตักออกบ้าง เขาว่าข้าวเหนียวมันสุกแค่ครึ่งเดียว ถ้าตักใส่ จนเต็มอย่างนั้น พอเอาไปนึ่ง ข้าวเหนียวพองออกอีก นกของน้อยกับมามุ จะอกแตกค่ะ" พ่อกับแม่หัวเราะการเปรียบเทียบของกะนิรอมะห์ ที่สอนให้เด็กเล็กๆ เข้าใจได้โดยไม่ต้อง อธิบาย เหตุผล ความจริงให้มากความ เพราะเด็กๆ จะค่อยๆ เรียนด้วยการกระทำเอง ได้ดีกว่า พี่แมะพูดขึ้นว่า "เสียดายจัง พี่ไม่ได้ไปด้วย วันหลังบอกพี่มั่งนะ วันนี้น้อยก็ทำตูป๊ะเป็นแล้วซี" "น้องเพิ่งไปเห็นและลองทำเล็กๆ น้อยๆเท่านั้นเอง ลูก" แม่พูดกับพี่แมะ "แค่รู้ว่าเขาทำอย่างไร เท่านั้นเอง ต้องหัดทำอีกนาน ถึงจะเรียกได้ว่าทำได้ และทำเป็น และอีกนานหนักหนา กว่าจะชำนาญ จนสอนคนอื่นเขาได้ อย่างแมะที่สอนน้องวันนี้ ก็เรียกได้ว่า แมะทำเป็นแล้ว แต่ลูกต้องรู้ว่า ที่สอน น้องนั้น แมะทำตามที่ครูสอน ให้ทำมาก่อน ทำผ้าเช็ดหน้า อาจมีอีกหลายแบบ และถ้าแมะเก่ง และ ชำนาญแล้ว ก็อาจคิดแบบของตัวเองได้เหมือนกัน ตอนนี้เอาแค่เข้าใจก่อน ก็แล้วกันนะ" "เห็นมามุบอกว่าวันอาทิตย์หน้าในกำปงเขาจะกวนซูรอ พี่แมะจะไปไหมล่ะ?" น้อยถามพี่ "ไปก็ได้แต่ต้องมีข้อแม้" แม่พูด "อะไรคะแม่?" น้อยและพี่แมะถามพร้อมกัน "สำหรับแมะโตแล้ว ต้องทำงานบ้านให้เสร็จเรียบร้อยก่อน แม่ถึงจะให้ไป ส่วนน้อย ชอบไปไหน ต่อไหนนัก คราวนี้ต้องทำผ้าเช็ดหน้าให้เสร็จเสียก่อน จึงจะไปได้" แม่พูดเป็นคำขาด "ตกลงไหม?" "ตกลงค่ะ" เด็กทั้งสองตอบแม่อย่างสุภาพ และตั้งใจ "งั้นไปนอนได้แล้ว ทำท่าไม่ง่วงเลยทั้งสองคน ถ้ายังไม่ง่วงก็อ่านหนังสือต่อ" พ่อพูดและพี่แมะ ก็ตอบพ่อ ทันทีว่า "แมะอ่านที่พ่อกะให้จบแล้ว ง่วงเหมือนกันล่ะค่ะพ่อ ไปล้างเท้าเข้านอนกันเหอะน้อย" "น้อยขอถามอะไรอีกนิดหนึ่งได้ไหมคะแม่? นิดเดียวค่ะ" น้อยพูดกับแม่อย่างอ้อนวอน และ แม่อนุญาต เธอจึงถามว่า "พ่อกับแม่เล่าว่าเมื่อเล็กๆ แม่เอาด้ายมาพันๆ เป็นปม เวลาผ้าขาด แม่ไม่ได้ปะ แล้วตอน ที่พี่แมะ ทำผ้าถุงขาดวันนั้น ทำไมแม่ตีพี่แมะคะ?" พ่อหัวเราะดัง แม่ก็หัวเราะ พี่แมะคนเดียวหัวเราะไม่ออก แม่อธิบายน้อยว่า "เสื้อผ้าขาดเป็นของธรรมดา แม่ไม่ได้ตีแมะเพราะทำผ้าถุงขาดหรอก ขาดแล้วเราปะชุนได้ แต่พี่แมะ ถูกตี เพราะไม่กล้ารับความจริงต่างหากเล่า" แล้วแม่ก็หันไปถามพี่แมะว่า "แมะจำได้ไหมว่า เมื่อถูกแม่ ถามว่า ทำไมผ้าถึงขาด แมะตอบแม่ว่าอย่างไร?" พี่แมะก้มหน้าตอบแม่เบาๆ ว่า "แมะกลัวโดนตี เลยบอกแม่ว่า แมะไม่ได้ทำผ้าขาด แมะนั่งอยู่เฉยๆ ตาปูมันมาเกี่ยวเอง" ก่อนหลับไปคืนนั้น น้อยได้ยินพ่อพูดกับแม่ในห้องติดกันว่า "ฉันว่าคนเรานี่เกิดมาพาเอาความถนัดของแต่ละคนมาด้วยนะ ดูแม่สิ ดูแมะกับน้อยสิ จะว่าน้อย ไม่ชอบการฝีมือก็ไม่ได้ ทีไปสานใบมะพร้าวทำต้ม ก็ทำได้ดีมากเสียด้วย งานสานอย่างนั้น ทางโรงเรียน น่าจะให้หัดทำกันไว้ก็ดีหรอก มันก็การฝีมือเหมือนกัน ให้เด็กปั้นแต่ดินเหนียว ทำแต่ผ้าเช็ดหน้า ซ้ำอยู่ทุกปีดีดัก เด็กเบื่อแย่ โทษเด็กก็ไม่ได้ เหมือนกันแหละน่า แม่ว่าไหม" และเสียงแม่รับคำว่า "ค่ะ" เบาๆ ก่อนที่น้อยจะหลับไป หมายเหตุ เขียนเสร็จเวลาเที่ยง ๒๕ ม.ค. ๔๘ ที่บ้านซอยไสวสุวรรณ เป็นวันกองทัพบกไทย ก่อนหน้านี้ ได้ลงไปเขาหลัก พังงา ช่วงหนึ่ง แต่ไม่สามารถคอยกลุ่มใหญ่ ชาวอโศกลงไป ตามที่หวังไว้ได้ ด้วยเหตุ ของการสูญเสียญาติผู้ใหญ่ อายุ ๑๐๑ ปี และต้องลงไปจัดการปลงศพของท่าน ที่สงขลา หากไม่มี อะไรผิดพลาด กำลังได้รับการจัดพิมพ์ ออกเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค ในเร็ววันนี้ - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๕ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ - |