มุทิตาสักการะในโอกาสที่พระราชมงคลวุฒาจารย์มีชนมายุครบ
๗ รอบนักษัตร ๑๐ มกราคม ๒๕๔๕ ใครคือชาวพุทธไทยร่วมสมัย (ตอนจบ)
พุทธศาสนิกไทยติดอยู่ในรูปแบบและพิธีกรรม โดยถูกลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม ครอบงำ รวมถึง การนับถือ แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์อย่างตะวันตกและเทคโนโลยีแบบใหม่ อย่างอันตรายยิ่ง โดยจะไม่ขอจาระไน ในแต่ละประเทศๆ ยิ่งไปกว่านี้ ขอบอกได้แต่ว่า มหาวิทยาลัยในทางพุทธศาสนา หรือสถาบันการศึกษาของประเทศที่ถือพุทธนั้น เป็นไป ในทางรูปแบบ ยิ่งกว่าจะเข้าถึงเนื้อหาสาระแห่งไตรสิกขาด้วยประการทั้งปวงเอาเลยก็ว่าได้ จากสภาพต่างๆ ดังที่ว่ามานี้ ถ้ามีคนไทยรุ่นใหม่ที่จะแสวงหาความเป็นพุทธ (คือความตื่นจาก การครอบงำ ของกิเลสมารต่างๆ) เขาคงหาได้ยากจากพระภิกษุสงฆ์ และครูอาจารย์ ในสถาบัน หลักต่างๆ แต่ถ้าเขาเป็นนักอ่านและนักแสวงหาความดี ความงามและความจริงที่ยิ่งไปกว่า ที่จะหาได้ ในทางโลกๆ เขาอาจพบทางได้บ้างจากงานนิพนธ์ของพุทธศาสนิกชั้นนำ ดังท่านอาจารย์พุทธทาส ได้นำทางให้คนรุ่นใหม่มาก่อนใครๆ แต่พ.ศ.๒๔๗๕ นั้นแล้ว เป็นที่น่าเสียดายว่า ห้องทดลอง ในทางธรรม ปฏิบัติอย่างใหม่ที่ย้อนไปถึงปุราณธรรมในสมัยพุทธกาล ณ สวนโมกขพลาราม ที่โยง คันถธุระให้มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิปัสสนาธุระ โดยมีวิจารณญาณเป็นหลัก และประยุกต์ไตรสิกขา มาที่แก่นธรรม ได้ปลาสนาการไปพร้อมกับการแตกกายทำลายขันธ์ของท่านอาจารย์แต่ปี พ.ศ.๒๕๓๖ นั้นแล้ว ที่เหลืออยู่มีแต่วัดธารน้ำไหล ซึ่งกลายเป็นวัดธารน้ำนิ่งไปแล้ว และต่อไป อาจกลายเป็น วัดธารน้ำแห้ง หรือธารน้ำเน่าก็ได้ แม้งานนิพนธ์ของท่านอาจารย์ ก็น่าจะมีการสังคายนา จัดหมวดหมู่ แยกแยะให้คนรุ่นใหม่ ที่จะแสวงหาธรรมปฏิบัติได้เรียนรู้ว่าควรอ่านเล่มใดก่อน แล้วขยับให้ยาก ยิ่งๆขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งนี้การอ่าน ต้องประกอบไปพร้อมๆ กับการศึกษาและการปฏิบัติ อย่างควบคู่ ไปด้วยเสมอ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (ปยุตฺโต) ที่สืบทอดทางด้านงานนิพนธ์ต่อจากท่านอาจารย์พุทธทาสนั้น ถ้าคนรุ่นใหม่ ต้องการรู้ธรรมะจากการอ่าน เพียงพุทธธรรมเล่มเดียว ก็จะช่วยให้เขาเข้าใจในเรื่องที่ว่า (๑) ชีวิตคืออะไร (ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖) (๒) ชีวิตเป็นอย่างไร (ไตรลักษณ์) (๓) ชีวิตเป็นไปอย่างไร (ปฏิจจ-สมุปบาทและกรรม) (๔) ชีวิต ควรจะเป็นอย่างไร หรือประโยชน์สูงสุดที่ควรจะได้จากชีวิตนี้ (พรรณนา จนถึงขั้นนิพพาน) ทั้งนี้หมายความว่า การอ่านในแต่ละบท ต้องมีการศึกษา และปฏิบัติประกอบด้วย เสมอไป นอกจากหนังสือหลักเล่มที่เอ่ยถึงแล้ว ท่านเจ้าคุณยังผลิตอุปกรณ์ให้เป็นเครื่องมือสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการแสวงหาความเป็นพุทธอีก ๒ เล่ม อย่างย่อมๆ อันใครๆ ไม่ควรขาดไปได้เลย คือ พจนานุกรม พุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม (Dictionary of Buddhism) และธรรมนูญชีวิต (A Constitution for Living) น่ายินดีที่สองเล่มนี้ มีภาษาอังกฤษกำกับไปด้วย โดยที่พุทธธรรม ก็คงจะมีฉบับภาษาอังกฤษออกมา อย่างสมบูรณ์ ภายในเวลาอันไม่ช้านี้ ทั้งๆ ที่มีภาษาอังกฤษ ฉบับย่อ ออกมาก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม นอกจากผลงานของพระอาจารย์เจ้าทั้งสองรูปนี้แล้ว ผลงานของท่านนัท ฮันห์ ก็มีแปลเป็นไทยออกมา แทบทุกเรื่องแล้วอีกด้วย ที่สำคัญคือ (๑) ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ (๒) ปัจจุบันเป็นเวลา อันประเสริฐสุด และ (๓) พิธีกรรมสำหรับพุทธศาสนิกร่วมสมัย ทั้งสามเล่มนี้ เป็นเค้าเงื่อน ให้ชาวพุทธไทย ร่วมสมัย อาจหาทางศึกษา และปฏิบัติ เพื่อผลิตผลงานของเราเอง ให้ควบคู่ไปกับ สามเล่มนี้ ให้เป็นไปอย่างไทยๆ ได้อีกด้วย ท่านนัท ฮันห์ใช้แนวทางของมหายานบวกกับแนวทางของเถรวาท มาประยุกต์ใช้กับสังคมสมัยใหม่ อย่างเหมาะสม แม้จะยังไม่ตีไปที่โครงสร้างทางสังคมอย่างจังๆก็ตาม พร้อมกันนั้นท่านก็สร้างคณะสงฆ์อย่างใหม่ขึ้นในตะวันตก ทั้งภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ อุบาสิกาสงฆ์ และอุบาสกสงฆ์ อย่างน่าสนใจยิ่งนัก ถ้าบ้านเราทำได้ไม่แพ้ท่าน จะเป็นการผลักดัน ให้พระพุทธ ศาสนา กลับมามีรากมีโคนขึ้นใหม่ เพื่อไปพ้นจากลำต้นใหญ่ของพุทธ-ศาสนาในรูปแบบอย่างเดิมๆ มา ที่ถูกกาฝาก และวัชพืช รุกรานจนอาจล้มลงได้ภายในเวลาอันไม่ช้านัก ทะไลลามะและพระ รวมถึงลามะที่เป็นฆราวาสของธิเบต ก็ช่วยเราได้มาก โดยผลงานของท่านนั้นๆ มีออกเป็น ภาษาต่างประเทศยิ่งขึ้นทุกทีแล้ว แต่ที่มีเป็นไทยยังน้อยนัก ควรที่ชาวพุทธรุ่นใหม่ จะรวม ตัวกัน เสนอผลงานทางด้านนิกายวัชรยานให้เป็นภาษาไทยอย่างเป็นลำดับขั้น ก็จะช่วยชาวเราได้มาก ที่ว่ามานี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวแห่งพระปริยัติธรรมในทางคันถธุระ โดยเราต้องมีการปฏิบัติธรรม ในทาง วิปัสสนาธุระ หรือสมาธิภาวนาอื่นๆ ที่เป็นสัมมาสมาธิอย่างควบคู่ไปด้วย จึงจะเกิดศีลสมาธิปัญญา อย่างสมสมัย ถ้าคนรุ่นใหม่ต้องการความตื่นจากการครอบงำของโลกาภิวัตน์และวัตถุนิยม เขาก็น่าจะหาทางเข้าถึง ความสว่าง (ปัญญา) อย่างสงบ (สมาธิ) และอย่างสะอาด (ศีล) ถ้าคนร่วมสมัยเข้าใจในเนื้อหาสาระของศีล สมาธิ ปัญญา ที่ว่านี้ เขาก็จะสมาทานพระรัตนตรัย เป็นที่พึ่ง อันสูงสุด ได้อย่างแท้จริง กล่าวคือ เขาย่อมรับเอาพระพุทธเจ้าว่าทรงเป็นต้นตอ ที่มาแห่ง มหาปัญญา และ มหากรุณา ถ้าเรารับเอาพระพุทธคุณเป็นสรณะอันสูงสุด ย่อมช่วยให้เรา ได้ดำรงสติมั่น ด้วยความไม่ประมาท ตามรอย พระพุทธบาท เพื่อจะได้ตื่นขึ้นจากความโลภ โกรธ หลง จากนี้ ก็จะได้สมาทานพระธรรม ว่าเป็นที่พึ่งอันสูงสุด เพราะพระธรรมคือมรรคาแห่งการดำรงชีวิต ที่ถ้าประพฤติ ปฏิบัติตามพุทธธรรม ย่อมช่วยทำให้เราทั้งหมดได้พ้นทุกข์ ประสบสุข และให้ได้ เข้าถึงความสว่าง ตามหนทาง แห่งความสงบ อย่างสะอาดอีกด้วย จากนี้ ก็จะได้สมาทานพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งอันสูงสุด ซึ่งจักช่วยให้เราประพฤติธรรม ด้วยความรัก อย่างปราศจาก ความเห็นแก่ตัว อุดหนุนจุนเจือกันและกันให้บังเกิดความบรรสานสอดคล้อง อย่างมี สติ และอย่างหลุดพ้น ในแต่ละชุมชน หวังว่าที่พรรณนามาทั้งหมดนี้ คงมีคุณประโยชน์บ้างสำหรับคนไทยร่วมสมัยที่ต้องการเป็นชาวพุทธ เพื่อประโยชน์สุข ของตนเองและของสรรพสัตว์ ทั้งในโลกนี้ โลกหน้า จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ อันเป็น องค์คุณแห่ง ปรมัตถสัจ ที่สำคัญยิ่ง อย่างพ้นไปจากถ้อยคำของคนธรรมดาสามัญ อย่างข้าพเจ้า จะเข้าใจได้ (ปรับปรุงจากปาฐกถาซึ่ง ส.ศิวรักษ์ แสดงเนื่องในพิธีเปิดหอสมุดพุทธทาส ณ วัดปทุมคงคา ราชวรวิหาร เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๔) - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๕ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ - |