เวทีความคิด - เสฏฐชน -
สึนามิที่มาเตือน


ธรรมชาติส่งท้ายปีเก่าพุทธศักราช ๒๕๔๗ (ค.ศ.๒๐๐๔) ต้อนรับปีใหม่ ๒๕๔๘ (ค.ศ.๒๐๐๕) เช้าตรู่ วันพุธที่ ๒๖ ธันวาคม เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ ๐๗.๕๙ น. ตามเวลาท้องถิ่น "สึนามิ" คลื่นยักษ์ ส่งผล พังพินาศแถบเอเชียหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นศรีลังกา อินเดีย ไทย อินโดนีเซีย โดยเฉพาะ ๖ จังหวัด ภาคใต้ของประเทศไทย ฝั่งทะเลอันดามัน คือ ภูเก็ต ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล ได้รับผลกระทบ เสียหายอย่างไม่เคยมีมาก่อน

"สึนามิ" ครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์รุนแรงอันดับ ๕ ของโลก ทั้งรุนแรงที่สุดในรอบ ๔๐ ปีที่ผ่านมา ผู้คน ในประเทศต่างๆ เสียชีวิต รวมแล้วถึง ๒ แสนคน บางข่าวว่าจริงๆ น่าจะถึง ๓ แสน เพราะอาจจะมี การปกปิดตัวเลข แค่ประเทศอินโดนีเซีย ก็มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ คน สูญหายประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน

ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปร่วมงาน "ซับขวัญ" เหยื่อ "สึนามิ" ทางภาคใต้ กับขบวนจาก "สถาบัน บุญนิยม -ศูนย์คุณธรรม" ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ม.ค. - ๒๐ ม.ค.๔๘ ไปเห็นสภาพที่เป็นอยู่ ได้ฟัง ได้คุย สัมผัสจากผู้คน ตั้งแต่ผู้เฒ่า วัยรุ่น หนุ่มสาว กลางคน จนแบเบาะ ณ ศูนย์ผู้ประสบภัย "บางม่วง" ที่มีจำนวนคนมากที่สุด (๔ พันคน) มีหน่วยงาน องค์กร กลุ่มต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือมารวมกัน ๙๐ กว่าเต็นท์

"บางม่วง" เป็นแหล่งที่พำนักของคนที่ประสบภัยครั้งนี้จำนวนคนมากที่สุด เขาอยู่กันหลายแบบ มีทั้ง บ้านไม้อัด บ้านสังกะสี เต็นท์ปิกนิก เต็นท์ขายของ เพิง ฯลฯ ตามแต่โอกาสที่จะได้ รอจนกว่า ทางรัฐ จะฟื้นฟูสภาพบ้านเดิมเขา ที่ถูกคลื่นยักษ์ทลาย แล้วจึงจะทยอยกันกลับไปอยู่เหมือนเดิม หรือ จะคิดเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ ออกจากพื้นที่เดิมไปหาอยู่หากินต่างจังหวัด ก็สุดแล้วแต่พิจารณา

ขณะที่เขายังต้องพักที่นี่ชั่วคราว กิจที่ต้องทำคือ เช้าขึ้นก็ออกจากที่พักไปสถานที่ทำงานราชการ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ นั้น เพื่อทำหลักฐานทางราชการ ไม่ก็ไปรอเขาค้นหาหลักฐานให้เพื่อเข้าคิวรอยื่น บันทึกใหม่ เกี่ยวกับทะเบียนบ้าน เอกสารทางราชการ เพื่อขอรับเงินทดแทนบ้าง สิทธิในการเข้าอยู่ที่เก่า หรือสิทธิ ในการได้รับที่อยู่ใหม่บ้าง

ช่วงเช้าระหว่างเดินบิณฑบาตในชุมชนผู้ประสบภัยบางม่วง จึงพบการชุมนุมของผู้คน ในที่ทำการ ราชการเป็นส่วนใหญ่ เพราะเขาอยากจะทราบว่าจะได้รับ "ทุนคืน" เมื่อใด? จำเพาะของแจกที่ให้กิน (อาหาร) ให้ใช้ (เสื้อผ้า, รองเท้า) ไม่ช่วยให้เขาคลายใจเท่าใดนัก ที่ที่เขาจะทำกิน ที่ที่เขาจะอยู่ถาวร ที่ที่เขาได้กรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของมาแล้ว และจะอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะอยู่อย่างมีชีวิต หรือเผาศพก็ตาม เป็นเหตุสำคัญ ที่ทำให้ไม่อาจสงบกาย สงบใจ พอใจ หรืออุ่นใจ สบายใจว่า "พอแล้ว" สำหรับ ความช่วยเหลือต่างๆ ที่หลั่งไหลมาทุกสารทิศ

สังเกตจากของใส่บาตรก็ไม่มีอะไรอื่นนอกจาก บะหมี่ นมกล่อง น้ำขวด รวมถึงจำพวกเนื้อสัตว์ (ปลากระป๋อง) ซึ่งได้รับแจกมานั่นแหละ

อาจมีอาหารสดบ้างจากเต็นท์ที่ไปแจกรายวัน เช่นเหล่าอาสากลุ่มอนุตตรธรรม บริษัทซีพี น้ำดื่ม หลากยี่ห้อ จากทุกภาค ตั้งแต่ ๗ โมงเช้าจรดเย็น

เรื่องอาหารการกินก็น่าพูดถึง จากวันเป็นอาทิตย์ จากอาทิตย์เป็นเดือน และตอบล่วงหน้าไม่ได้ ว่าจะเป็นปีหรือเปล่า ชาวบ้านก็เริ่มรู้สึกว่า "เบื่อ" เพราะอยากจะกินอาหารประเภทที่เคยกิน ประจำวัน รสชาติเดิมๆ ที่คุ้นเคย ความรู้สึก "อร่อยนิยม" จากสินค้าบรรจุซอง ยี่ห้อดังๆ ดังกล่าว คงจะกินทุกวัน ระยะยาวไม่ได้

และอาหารสดที่มาทำแจก ก็คงถอนกลับเมื่อวันเวลาผ่านไป ผู้มาลงแรงช่วยเหลือ ก็ต้องกลับบ้าน ตัวเอง เหมือนกัน

เพียงแค่ทีม "บุญนิยม" ไป "ซับขวัญ" ลากลับตามกำหนด เหล่าผู้ประสบภัยในค่ายบางม่วง ก็น้ำตาไหล พร่ำรำพัน แสดงความอาลัยอาวรณ์กันไม่น้อยแล้ว

ฉะนั้นหากหน่วยงานอื่นๆ อีก ๙๐ ทีมต้องกลับบ้าง ผู้คนเหล่านี้จะมีสภาพ "จิตใจ" อย่างไร? ความพลัดพราก จากสิ่งอันเป็นที่รัก ความสูญเสียข้าวของ สมบัติอันเป็นที่ยึดถือ ความอาลัยต่างๆ อันเป็นพื้นเดิมของจิตใจ ความรู้สึกเคยชินอันเป็นของเดิม จะกดดันให้เขาเป็นอยู่อย่างไร? เป็นความห่วงใย ที่ผู้ห่วงใยเองก็คงช่วยไม่ได้ การช่วยเหลือเรื่องเครื่องอุปโภคบริโภคนั้น พอเป็นไปได้ เช่น เขาไม่มีข้าวให้ข้าว เขาไม่มีบ้านให้บ้าน เขาไม่มีเงินให้เงิน เขาไม่มีงานให้งาน ฯลฯ แม้เรื่องเหล่านี้ ก็ใช่จะหวังได้สมบูรณ์นัก หากจะตั้งเป็นหลักประกันถาวรระยะยาว

เพราะสภาพบ้าน สาธารณูปโภคที่ได้รับอยู่ในขณะนี้ รอจนกว่าจะปรับพื้นที่นิเวศน์ใหม่ จากที่เกิดเหตุเดิม เป็นคำตอบได้ดีว่า ระหว่างที่อยู่ "ชั่วคราว" กับที่อยู่เดิม ซึ่งเขาอยู่สืบทอดกันมา ตั้งแต่ "บรรพบุรุษชั่วลูกชั่วหลาน" เขาจะหวนไห้ โหยหาที่ไหนมากกว่ากัน

แม้จะมีอยู่บ้างที่ยังถูก "ความกลัว ความหวาดระแวง ความวิตก" ครอบงำให้กึ่งกล้า กึ่งเกรงว่า จะซ้ำรอยเดิมหรือไม่ จากข่าวพยากรณ์ทาง "โหร" และ "โหน" ผนวกเรื่องที่เกิดขึ้นนี้มา "หากิน" ต่อ ทำให้ละล้าละลัง ในการตัดสินใจ ว่าจะไปทำอาชีพเดิม ที่เดิม หรือจะเปลี่ยนอาชีพใหม่ ที่ใหม่

ในเมื่อไม่มีหลักประกันอะไรอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประกันภัย ประกันชีวิต ประกันสมบัติข้าวของ ประกันสังคมสงเคราะห์ แทบทุกคนบอกว่า เขาต้องเริ่มต้นที่ "ศูนย์" จากความ "สูญเสีย" ครั้งนี้ ตั้งแต่ระดับ "นายทุนนายหัว" จนกระทั่ง "ลูกจ้าง" งานอิสระตามอารมณ์ แล้วแต่อากาศ ทะเลอำนวยให้

ความ "เสียใจ เสียดาย" เป็น "ความรู้สึกร่วม" ซึ่งกันและกัน จะวัดกันที่ความเสียหายมาก (เจ้าของ รีสอร์ท โรงแรมใหญ่) ความเสียหายน้อย ลูกเรือ ลูกจ้างหาปลารายวัน หรือเจ้าของกิจการ ขนาดกลาง (ร้านค้าของตัวเองที่เป็นตึกแถว) ทุกรูปแบบ เพียงจากวัตถุข้าวของ และกิจการคง "ไม่ถึง" เพราะเรื่อง รายได้ หนี้สิน เรื่องการทำงาน ค่านิยม ความยึดติด ฯลฯ จนกระทั่งเรื่อง "อารมณ์" คนนั้น ลึกซึ้งยิ่งนัก

คะเนจากการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เคยมีความเสียหาย ไม่เคยมีความรุนแรงอย่างนี้มาก่อน ก็หาใช่ เสียเลยทีเดียว

เพราะวัยของผู้เขียน ปี ๔๙ อายุ ๖๐ แล้ว ได้พบเห็นเรื่องทำนองนี้มาครั้งนี้ เป็นครั้งที่ ๓ ก็รู้สึกว่า ร้ายแรงพอกัน

เริ่มตั้งแต่พายุที่กระหน่ำ "แหลมตะลุมพุก" ที่นครศรีธรรมราช ครั้งที่ยังเรียนหนังสืออยู่ น้ำป่าจาก เขาสูงที่ "กระทูน" ชุมพร สุราษฎร์ธานี เป็นการแสดงผลงานของธรรมชาติที่ขยายอาณาเขต เพิ่มความยิ่งใหญ่ เติบโตมากขึ้นๆ ตามวันเวลาที่ผ่านไปสอดคล้องกับงานของคนที่ผูกติดไว้ กับคำว่า "เจริญรุ่งเรือง" ก้าวหน้า

เปรียบเทียบกับการเริ่มต้นทำงานด้วยมือเนื้อๆ ไม่ว่าจะเป็นการขุด รื้อ ตัด ฯลฯ จนกระทั่งเพิ่มขึ้นเป็น สิ่งประดิษฐ์ เป็นศาสตรา อาวุธ เครื่องมือ อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นการทำมาหากินบนพื้นดิน หรือ ท้องสมุทร

ก่อนนี้จับปลาด้วยมือ ต่อมาจับปลาด้วยเบ็ด แห อวน จนกระทั่งด้วยไฟฟ้า ระเบิด

ก่อนนี้สร้างบ้านด้วยมือ ต่อมาสร้างบ้านด้วยไม้ ด้วยตึก ด้วยวัตถุแปรรูปจากวัสดุผสมด้วยความรู้ คิดค้น ทางวิทยาศาสตร์ ของกิน ของใช้อื่นๆ ก็ตาม ล้วนมาจากการคิดค้นของคนทั้งสิ้น ซึ่งการคิดค้นวัตถุ อุปกรณ์ เครื่องใช้งานต่างๆ เพื่อได้อยู่ ได้กิน ได้เล่น ได้เสพ สนองความต้องการ เพิ่มความสะดวก หนุนความสบาย เติมความสุขให้แก่คน ได้รับการยกย่องเชิดชู เป็นวิวัฒนาการ ของมนุษย์ทั้งสิ้น ดูได้จากสมัยก่อน เคยตัดไม้ด้วยขวาน เพิ่มประสิทธิภาพเป็นเลื่อยไฟฟ้า ด้วยรถแทรกเตอร์ ขยายฤทธิ์แรงออกไปเป็นอะไรอีกมากมาย

ในด้านสร้างสรร เสริมส่งสิ่งที่ดีงามก็มีให้เห็น เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย โรคร้ายแรง ต้องเสี่ยงต่อชีวิต ความเจริญทางสาธารณสุขทำให้กินยาปั๊บหายปุ๊บ ผ่าออกทันทีได้เลย หรือความเจ็บปวดมากมาย ทุเลาความเจ็บ หรือไม่เจ็บเลยก็มี แต่ความรู้สึกของคนที่เป็นพื้นฐานสามัญ ไม่แตกต่างกันก็คือ ยามประสบภัยพิบัติ จะรู้สึกว่าโหดร้าย โดยเฉพาะเมื่อ "ตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำ" ไม่ว่า "ผู้กระทำ" จะมาจากไหน เหตุใดก็ตาม

"สึนามิ" เป็นผู้กระทำที่โหดเหี้ยม ในความรู้สึกของ "คนผู้ถูกกระทำ"

คาดคะเนไม่ได้ว่ายามที่ "คนเป็นผู้กระทำ" ต่อสภาพแวดล้อม ธรรมชาติบ้างด้วยการขุด ตอก ตัด ทลาย ทะลวง ระเบิด ฯลฯ ทั้งบนฟ้า ใต้ดิน ก้นน้ำ รวมถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เกิดมาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ มีความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดาด้วยกัน ไปพร้อมๆ กัน สิ่งเหล่านั้นจะ "มีความรู้สึกว่า โหดเหี้ยม รุนแรง" เท่ากับยามที่คนเป็นผู้ถูกกระทำหรือเปล่า?

แต่กระนั้นก็ตาม ผู้มีปัญญาญาณเห็นได้เหมือนกันว่า ความสูญเสียที่ในรูปที่ไปสู่ความว่างเปล่า เหลือแต่ผืนน้ำ แผ่นดินโล่งเตียน ภายหลังการเก็บกวาดจัดระเบียบเรียบร้อยแล้วนั้น "ความรู้สึก ของคนผู้สูญเสีย" แม้คนที่ไปช่วยเหลือทดแทนมอบสิ่งของให้ผู้สูญเสียใช้ อยู่ กินไปก่อนนั้นด้วยก็ตาม จะโล่ง ว่างเปล่า ดังกับพื้นที่ที่ปรากฏล่ะหรือ?

ทะเลสงบแล้ว ลมแผ่วเบาแล้ว คลื่นหายแล้ว แต่ใจของคนล่ะ? สงบจากความหวาดกลัว ความผวา ความวิตกกังวลหรือยัง?

น้ำตาบางคนยังคงไหลอยู่เพราะความเจ็บใจ ความเสียดายของเก่าที่เคยมี เคยได้ แม้"น้ำใจ" คนจำนวนมาก จะหลั่งไหลมาช่วยเหลือกันอยู่

น้ำเลือดจากแผลที่บาดเจ็บอาจแห้งแล้วจากการเยียวยา แต่ "น้ำใสใจจริง" แท้ ๆ ในส่วนลึกที่ยัง พะวงหาผู้ตายจาก และเรื่องประกอบอาชีพต่อไป ใครจะวางใจได้

น้ำเหงื่ออาจน้อยลงจากงานที่เคยทำเพราะมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ยังต้องอาศัยของกิน ของใช้ จากการ แจกจ่ายให้ ในขณะที่เรื่องนี้ยังคุกรุ่นอยู่ ไม่ต้องไปลง "เล" (ทะเล) ลงร้านเหมือนในขณะก่อน "สึนามิ" จะมาเยือน

แต่เมื่อสถานการณ์ค่อยคลี่คลาย ความเสียใจค่อยทุเลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกินการอยู่ การค้นหา ผู้อันเป็นที่รักที่ตายไป ศพที่ยังไม่รู้อยู่ไหน ตายหรือไม่อย่างไร...ฯลฯ แจ้งชัดแล้ว จะเริ่มต้นชีวิตตรงไหน อย่างไรดี?

เท่าที่ได้คุยกับเขาเหล่านั้น มีน้อยคนมากที่คิดจะเปลี่ยนอาชีพจากทำประมงมาค้าขาย น้อยคนมาก ที่เคยค้าขายอยู่แล้ว ตามแถบนักท่องเที่ยวไปมาสะดวก น้อยคนมากที่เป็นลูกจ้างรายวัน ตามความอิสระ จะคิดใหม่ทำใหม่ แม้จะวิตกล่วงหน้าอยู่ลึกๆ ว่าจะไปทำงานที่ไหน ทำงานอะไร

ส่วนใหญ่จะเสียดายของที่เคยมี วิตกกับความเหนื่อยยากที่เคยผ่าน กลัวความลำบากที่เคยลงก่อน ฯลฯ ไม่ต้องกล่าวถึงว่าไกลสูงไปจากระดับรากหญ้าเหล่านี้ ชั้นเจ้าของรีสอร์ท โรงแรม อื่นๆ ที่ลงทุน เป็นร้อยล้าน พันล้าน แสนล้านจะขนาดไหน?

แต่ก็มีผู้ที่น่าชื่นชมน่ายินดีที่เพื่อนร่วมทุกข์เดียวกันนี้จะเอาอย่าง เพื่อการก้าวไปข้างหน้าต่อไป ให้เร็วที่สุด ซึ่งดีกว่าจะมาล่าช้า หากจะแข่งกับเวลาและตัวเอง รวมไปถึงแข่งกับเศรษฐกิจ ในกระเป๋า ในครอบครัวตัวเองด้วย เช่น เจ้าของโรงแรมรีสอร์ทใหญ่ครอบครัวหนึ่งที่เขาหลัก เป็นคนท้องที่ ทำธุรกิจนี้ มาหลายปี อาศัยเงินออมเงินเก็บ จากการทำมาหากินร้านเภสัช และสวน พอมีเงิน มาทำที่พัก ห้องอาหารใหญ่บ้านเกิด ท้องถิ่นตัวเอง ไม่ปล่อยเวลาให้เสียไป ความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ แม้ญาติจากตระกูลเดียวกัน ทำธุรกิจชนิดเดียวกันที่อยู่ใกล้เคียง จะเสียชีวิตไปบ้างก็ตาม เขารีบลุกขึ้น เปิดร้านเภสัชอาชีพเดิม ก่อนที่จะสร้างฐานะเพิ่มระดับเป็นเจ้าของโรงแรมรีสอร์ทขนาดใหญ่ เป็นร้อยล้าน พันล้านทันที เพื่อจะนำรายได้มาฟื้นฟูกิจการโรงแรมรีสอร์ทใหม่ หากไม่คิดจะกู้ ธนาคาร มาเพิ่ม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง จนเขาสรุปให้แก่ตัวเองแล้วว่า "ไม่จนทาง" เพราะเขา "ไม่จนใจ" แม้จะจนลงไปกว่าเดิม ก็เพียงแต่การหันกลับไปที่เดิมอย่างคน "ยอมจน" ก่อนเท่านั้น

ย่อมแตกต่างจากคนที่เจอกับเหตุการณ์เดียวกัน แต่แต่ละวัน มัวแต่วิ่งเต้นรอเงินชดเชย เสียสติ หมดแรงใจ นั่งๆ นอนๆ คร่ำครวญความเสียดาย บ่นด่า โกรธตอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้ สุขภาพกาย สุขภาพจิต ยิ่งเสียจนกระทั่งแพทย์ นักจิตวิทยา ที่ลงพื้นที่บ้านพำนักชั่วคราว ของผู้ลี้ภัย คลื่นยักษ์นี้ ต้องขอความช่วยเหลือร่วมมือ ขอข้อมูลจากผู้ทำงานศาสนา ช่วยกลั่นกรอง ส่งตัวผู้บาดเจ็บ ทางจิตใจไปให้เขาบำบัดต่อด้วย

สถิติฆ่าตัวตายจากหนังสือพิมพ์ฉบับวันจันทร์ ๒๔ ม.ค.ส่งสัญญาณว่าเด็กอายุ ๘ ขวบ วัยรุ่น วัยใหญ่ ตั้งแต่อายุ ๒๐ ถึง ๔๐ ฆ่าตัวตายมากขึ้นทุกวัน ทั้งๆ ที่เขาเหล่านั้นไม่ได้ประสบกับอุบัติภัย เฉกเช่น เหยื่อสึนามิ แต่อย่างใด

ใครจะกล้ายืนยันว่าเหยื่อสึนามิบางคนจะไม่กระทำการอัตตวินิบาตตัวเองอย่างนั้น โรคซึมเศร้า (สงสารตัวเอง) โรคจิตฟุ้งซ่านหลอกหลอน (วิปลาส) จะไม่มีในบุคคลเหล่านี้ เช่นที่พระพุทธพจน์ กล่าวไว้ว่า "คนผู้ไม่มีโรคกาย (เพราะเชื้อโรค) เราอาจพบเห็น มีได้ แต่คนผู้ไม่มีเชื้อโรคใจ (โรคใจ) อันเกิดมาแต่กิเลส รัก โกรธ โลภ หลง" แทบจะหาไม่ได้เลย

ทั้งๆ ที่ชาวพุทธทุกคน คงเคยได้ยินคำศักดิ์สิทธิ์ ๓ คำนี้มาแล้วว่า "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" โลกนี้ไ ม่เที่ยง โลกนี้มีแต่ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป โลกนี้ไม่มีตัวตนที่เป็นเรา เป็นของของเราที่แท้จริง สรรพสิ่งมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา แต่หาได้น้อยคนที่ "คิดได้" เพราะ "คิดถึง" สัจธรรมเชิงนี้ รีบยกแรงกาย ยกแรงใจขึ้นมาต่อสู้กับความเสียดาย ความเสียใจ เดินหน้าต่อไป ด้วยการ "ยอมรับความจริง" ที่เกิดขึ้น ใช้ปัญญาฉวยสถานการณ์วิกฤตมาเป็นโอกาสสร้างฐานใจให้สูง ให้มั่นคง ไม่หวั่นไหว จากสิ่งรอบด้าน ไม่ว่าจะกระหน่ำมาด้วยรูปแบบใด เพื่อพยุงตัวเอง ช่วยประคอง เดินหน้าไปพร้อมๆ กัน โดยผู้ที่เคยสะดวกสบาย ก็เสียสละความสะดวกสบาย ให้ผู้ลำบากบ้าง คนมีเงินทองมากล้น ก็ทานแจกจ่ายออกไปบ้าง คนมีสติปัญญาดี ก็แบ่งปันออกไปบ้าง ไม่มุ่งแต่จะลงหุ้น หวังเงินปันส่วน หวังดอกเบี้ยเพิ่มพูนเท่านั้น

ของแจกเพื่อแจก ให้เงินเพื่อให้ เมตตาเพื่อกำลังใจ ความไม่ลดเลี้ยว คดโกง ถือโอกาส บนความลำบาก ของคนอื่น เพิ่ม ขยาย แสวงหาความสบายให้ตัวเอง

ผู้ออกปฏิบัติการ "ซับน้ำตา ซับขวัญ" เหยื่อสึนามิครั้งนี้ ก็จะเป็นหนทางหนึ่งในการพัฒนาตน พัฒนาสังคม พัฒนาคุณธรรมไปพร้อมๆ กัน ตรงกันข้ามกับที่กล่าวมา หากผู้ปฏิบัติการในเรื่องนี้ เป็นคนฉวยโอกาส ฉกถ่ายเทให้แก่ตน เฉพาะพวกของตน ผลที่ได้รับก็จะหนักหน่วงพอๆ กัน

การทำใจ "ยอมรับความจริง" ยอม "รับความจน" (เงินทอง) แล้วทุ่มเทใจสร้างงาน ก่อสิ่งใหม่ขึ้น ทดแทน ซ่อมแซมของเก่าที่ยังนำกลับมาใช้ได้อย่างไม่ฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย กลับจะประหยัดน้อย ประโยชน์มาก กว่าเก่า ด้วยความไม่ประมาท นั่นแหละคือทางรอด คือคำเตือนจากสึนามิให้ผล (ดี) แก่เขาแล้ว

ตัวเปล่าน่ะเบาดี ใจว่างน่ะสติปัญญาปลอดโปร่งดี เริ่มต้นใหม่น่ะเชี่ยวชาญดี ความผวาทำซ้ำซากน่ะ ประสิทธิภาพดี ใจแข็งแกร่งดุจขุนเขา ไม่พ่ายแพ้ต่อแรงลมเลย

เราคิดอย่างนี้ จึงอดเสนอแนะไม่ได้ว่าท่านทั้งหลายพึงรีบรุดหน้าต่อไป ภายหลังที่ได้ทำความสงบนิ่ง ให้แก่ตัวเอง มั่นคงดีแล้ว ขออนุญาตถือโอกาสนี้มอบความคิดที่ดีๆ ผ่านหนังสือพิมพ์เราคิดอะไร มาถึงท่าน ผู้ประสบภัยสึนามิว่า

จง "ปลุก" ตนให้พ้นโลภ-โกรธ-หลง
จง "ปลอบ" ตนให้คงความดีที่สร้างสรร
จง "ปลด" ตนให้พ้นทุกข์ความผูกพัน
จง "แบ่งปัน"
"ปลง" ยากแค้นเพิ่มแรงใจ

คลื่นสมุทร "สึนามิ" พิษพิโรธ
ก่อเกิดโทษทำทรัพย์หาย ละลายขวัญ
คลื่นชีวิต คลื่นอารมณ์โถมทุกวัน
ควรป้องกัน เพียรเรียนรู้ทุกครู่ยาม

หากพ้นคลื่นภายนอกไม่ท้อถอย
ภัยมากน้อย ไม่อาจรุกก่อทุกข์ขันธ์
วิตก เศร้า กังวล หมองได้ป้องกัน
จบ ครบครันความก้าวล่วงทุกข์ถ่วงใด


ความแข็งแรงทางกาย เกิดจากการกล้าใช้แรงงาน
ความแข็งแรงทางใจ เกิดจากการกล้าใช้แรงใจ
ความแข็งแรงทางปัญญา เกิดจากการกล้าทดสอบ
ความแข็งแรงทางศรัทธา เกิดจากการกล้าเดินตรง

แม้ว่าความแข็งแรงนั้น บางคนอาจต้องอาศัย "ความแข็งใจ" นำก่อนก็ตาม

ประโยคที่พระพุทธองค์ตรัสว่า "คนย่อมพ้นทุกข์ด้วยความเพียร" ยังเป็นอมตะวาจาอยู่ หากใครไม่มี จิตลบหลู่ เอาไปกระทำตาม

ผู้รักธรรมก็จะเป็นอยู่อย่างผาสุก และเจริญรุ่งเรือง
ส่วนผู้ชังธรรมก็จะเดินทางไปสู่ความเสื่อม และความตกต่ำ

ผู้รักษา "อนุสติ" (๑๐ ประการ) เอาไว้ได้ คือผู้ได้รับความคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยแท้

ที่พึ่งอื่นใดไม่เท่ากับการพึ่งตนเองที่ได้รับการฝึกฝนไว้อย่างดีแล้ว นี่คือที่พึ่งอันประเสริฐในวาระที่ "สึนามิ" ได้มาเตือน

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๕ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ -