* บรรยายเมื่อวันที่
๙ ธันวาคม ๒๕๔๗ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนศรีอยุธยา ในโลกตะวันตกถือกันว่านิวตันเป็นบิดาของวิทยาศาสตร์ ดังที่ถือกันว่ากาลิเลโอหรือโคโปนิกัส เป็นบิดา ของดาราศาสตร์และเดคาสต์เป็นบิดาของปรัชญาสมัยใหม่นั้นแล เพราะฝรั่งชอบมีบิดา ยิ่งกว่ามี มารดา ไทยเราก็เลย พลอยเอาอย่างไปด้วย จนยกให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเป็นพระบิดา ของวิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์ อย่างควบคู่กันไปเอาเลย แสดงว่าวิชาทั้งสองนี้เป็นเจ้า ที่จริง นิวตันเองนั้นมีความเป็นเลิศทั้งทางวิชาฟิสิกส์ และวิชาเล่นแร่แปรธาตุ กล่าวคือไสยศาสตร์ กับวิทยาศาสตร์ หาได้แยก จากกันอย่างเด็ดขาดไม่ หากนักวิทยาศาสตร์สมัยหลัง พากันปิดบัง ความจริงข้อนี้ เพราะละอาย ในเรื่อง การเล่นแร่แปรธาตุ หรือไสยเวทวิทยาปัจจุบัน แม้ไอแซค แบร์โร่ว์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของไอแซค นิวตัน ก็ลาออกจาก ตำแหน่งศาสตราจารย์ ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อลูกศิษย์จะได้สืบสถานภาพทางวิชาการด้านนี้แทน จะว่าเป็นเพราะ ความกรุณาหรือเห็นว่า ศิษย์มีอัจฉริยภาพยิ่งกว่าตนก็ได้ แต่แท้ที่จริงแล้ว แบร์โรว์ต้องการอุทิศชีวิต ทั้งหมดให้กับ วิชาเทววิทยาต่างหาก เพราะเขาถือว่าวิชานั้นสำคัญยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์ ซึ่งขีดแวดวงไว้จำเพาะ ในโลกนี้ หากเทววิทยาว่าด้วยโลกหน้า หรือว่าด้วยองค์พระผู้สร้าง และระบบจักรวาลทั้งหมด ซึ่งอยู่ใน อาณัติ ของพระองค์ นับว่าสำคัญยิ่งกว่าโลกนี้เป็นไหนๆ นักวิทยาศาสตร์กระแสหลักในตะวันตกยกย่องยุคสมัยของนิวตัน ว่าแต่นั้นเป็นต้นมาวิทยาศาสตร์ ได้เป็นวิชาการ ที่ลงตัวอย่างเป็นระบบ และเป็นองค์ความรู้อันอิสระ อย่างไม่จำต้องอ้างอิง หรือขึ้น อยู่กับ ความเชื่อใดๆ โดยสามารถ พิสูจน์ได้ด้วยตรรก พร้อมกับเอาเข้าห้องทดลอง แล้วตรวจสอบ ได้อย่างปราศจากความสงสัย ซึ่งถือได้ว่านี่คือ ต้นกำเนิด ของแนวความคิดอย่างสมัยใหม่ เอาเลยทีเดียว ใช่แต่เท่านั้น จำเดิมแต่สมัยของนิวตันเป็นต้นมา ได้เกิดสถาบันทางวิทยาศาสตร์ขึ้น เพื่อสนับสนุน วิชาการดังกล่าว เช่น ราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน หรือ Royal Society ซึ่งยังมีอิทธิพล ในทาง วิทยาศาสตร์ เป็นอย่างยิ่งอยู่จนทุกวันนี้ Comfort รวมถึงบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์ แห่งกรุงปารีส Paris Academie des Sciences สถาบันดังกล่าว เป็นตัวแทน ของสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต อย่างน้อยก็จำเดิมแต่เมืองอเลกซานเดรีย ได้ปลาสนาการ ไปในทางวิชาการ กล่าวคือสถาบันที่ว่านี้ เน้นในทางความรู้อันบริสุทธิ์อุดหนุนการวิจัยค้นคว้าหาสัจจะ เพื่อให้สมาชิก ของสถาบัน ศึกษา ว่าด้วยธรรมชาติ ในแง่มุมต่างๆ ที่ตนสนใจ โดยไม่จำเป็นต้องสอนเอาเลยด้วยซ้ำ สถาบันเช่นนี้ จึงผิดไปจากมหาวิทยาลัย ซึ่งจำต้องสอนอย่างควบคู่ไปกับการค้นคว้าวิจัย ทั้งมหาวิทยาลัย และ สถาบันทางวิชาการอุดหนุนให้นักศึกษาหรือเยาวชนได้สนใจศึกษาหาความรู้ ด้วยการตั้งปัญหาต่างๆ ขึ้น และพยายามค้นหาคำตอบ หรือแสวงหาให้ได้ความจริงที่ยังไม่ปรากฏมาก่อน แหล่งแห่งความรู้ ที่ว่านี้แล ที่ช่วยให้คนอย่างนิวตันแสวงหาความเป็นเลิศได้ยิ่งๆ ขึ้น จนนับว่าเข้าได้ถึงความเป็นเอก ด้วยการใช้ศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ในตนอย่างเต็มที่ แล้วค้นหาวิธีวิทยาอย่างใหม่ๆ จนค้นคว้าได้อะไรๆ ที่แปลกและพิสดารออกไป จนเกิดระบบอย่างใหม่ขึ้นในโลก ถือได้ว่านี่เป็นต้นตอแห่งความทันสมัย ซึ่งสืบทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน ด้วยเหตฉะนี้ ใครๆ จึงยกย่องว่านิวตันเป็นเอกบุรุษในทางวิทยาศาสตร์ ในยุคสมัยที่มีนักวิทยาศาสตร์ระดับที่ยิ่งใหญ่อย่างมากมายเอาเลยทีเดียว โดยที่ไม่เคยมีเช่นนี้มาก่อน ทั้งนี้ก็เพราะไม่มีสถาบันขัดขวางความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ ดังที่กาลิเลโอ เคยเผชิญมากับ ศาสนจักรคาทอลิกแห่งกรุงโรม ผลก็คือการค้นหาความรู้ใหม่ๆ ดังกล่าวนี้ได้รับการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ในยุโรป ไม่ว่าจะที่ประเทศวิลันดา หรือเยอรมัน ทั้งยังมีวารสารที่ตีพิมพ์บทความทางวิชาการนั้นๆ ให้แพร่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง สำหรับนักวิชาการในประชาชาติต่างๆ ซึ่งให้ภาษาละติน เป็นสื่อกลาง จนอาจเรียกนักวิชาการสมัยใหม่เหล่านี้ ว่าล้วนอยู่ในโลกแห่งการเรียนรู้ The Republic of letters เอาเลยทีเดียว พลเมืองของโลกอันพวกเขาสมมติบัญญัติขึ้น ถือว่าพวกเขาเป็นบุรุษสากล บุรุษในที่นี้ ต่อมาได้รวมถึง สตรีด้วย ซึ่งอุทิศตนให้กับวิชาความรู้ ยิ่งกว่าเพื่อเพิ่มสถานะให้กับความยิ่งใหญ่ของตน แล้วนำเอาผล ของการแสวงหาความรู้ที่ได้มาใหม่ๆ นี้ตีพิมพ์ ด้วยความหวังว่าจะแสวงหาสัจจะได้นั้นแล เป็นประการ สำคัญ ก็ถ้าวิทยาศาสตร์มีจุดจบเพียงเท่านี้ โดยไม่มีความเห็นแก่ตัวเข้ามาพัวพัน นั่นย่อมจะมีผลได้ เป็นประการสำคัญ ในอันที่จะนำมาแก้ปัญหาให้โลกได้ แต่ตามความเป็นจริงนั้น นักวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่สมัยนิวตัน หรือก่อนนั้น ล้วนมีอัตตาสูง มีอติมานะมาก การแสวงหาความรู้จึงควบคู่ไปกับ ความอิจฉาริษยา แก่งแย่งแข่งดีกันตลอดมา เช่นพวกดัชทางวิลันดา ถือว่าคริสเตียน ฮายเกนส์คิด ได้ถึงทฤษฎีเรื่องการเคลื่อนย้ายตัวของสสารและการเผชิญหน้ากัน ทั้งทาง motion and collision ได้อย่างชัดเจน และอย่างสอดคล้องกันก่อนนิวตันเป็นไหนๆ ยังพวกเยอรมันก็ถือว่า ไลป์นิซต์ มีความเป็นเลิศยิ่ง หากพวกอังกฤษปกปิดความเป็นเลิศที่ว่านี้ไว้ หรือมองข้ามไปเอาเลย กล่าวง่ายๆ ได้ว่า วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งการแก่งแย่งแข่งดี โจมตีกันและกัน ยึดมั่นในอติมานะและทิฐิ หรือทฤษฎีของตน ทั้งยังหลงไปในทางของตัณหาและอุปาทาน อย่างน่า เศร้าสลดใจอีกด้วย ไม่ว่าจะในสมัยของนิวตัน หรือในยุคปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ไม่ใช่แต่เป็นการแสวงหาสัจจะ หากเน้นว่าใครเข้าถึงสัจจะก่อนใคร ยิ่งแตกแขนงวิชา ออกไปเป็นเสี่ยงๆ สัจจะก็เลยไม่เป็นองค์รวมอีกต่อไป ใช่แต่เท่านั้น สัจจะนั้นๆ ยังถูกนำมารับใช้รัฐ จนเกิดระเบิดปรมาณู แม้จะสังหารผู้คนเป็นแสนๆ ก็สุดแท้ และรับใช้บรรษัทข้ามชาติ เช่น บรรษัทยา บรรษัทค้าอาวุธ และบริษัทผลิตสินค้าการเกษตรต่างๆ รวมทั้งการค้าสัตว์ และใช้ผลผลิตจาก วิทยาศาสตร์ เป็นสื่อ ก่อให้เกิดโทษแก่สัตว์ รวมถึงมนุษย์ซึ่งเป็นผู้บริโภค ทั้งยังเกิดการจดทะเบียน ลิขสิทธิ์ ผลผลิตต่างๆที่เกิดขึ้น เพราะการใช้วิทยาศาสตร์ เข้าไปแทรกแซงกับธรรมชาติ อย่างขาด จรรยาบรรณอีกด้วย ใช่แต่เท่านั้น เมื่อวิทยาศาสตร์อ้างความเป็นสัพพัญญูทางด้านการแสวงหาสัจจะ ด้วยวิธีวิทยา อันแยบคายของตน วิชาการอื่นๆ ก็เลยต้องสยบยอมตามวิธีวิทยาของวิทยาศาสตร์ทั้งหมด รวมถึงวิชา สังคมศาสตร์ และมนุษย-ศาสตร์ แม้จนวิชาปรัชญาสมัยใหม่ ความข้อนี้ ท่านภิกขุปยุตโตได้ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสำเหนียก จึงใคร่ของเชิญถ้อยคำของพระคุณท่าน มาอ่านสู่กันฟัง ดังนี้ "ศาสตร์และวิทยาหลายอย่างอยากจะเป็นวิทยาศาสตร์ หรือพยายามแสดงตนว่าเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ทัศนคติแบบชำนาญพิเศษเฉพาะทาง แบ่งซอย และมองด้านเดียวนี้ ขัดขาตัวเอง ทำให้ไม่อาจ เป็นวิทยาศาสตร์ได้สำเร็จ รวมทั้งวิทยาศาสตร์ด้วย ที่ไม่อาจบรรลุความเป็นวิทยาศาสตร์ ที่แท้จริง หรือสมบูรณ์ เพราะเหตุปัจจัยไม่ครบถ้วนทั่วถึง ทำให้องค์ของความจริงไม่สมบูรณ์ ก็เลยเป็นความจริง ที่ไม่สมบูรณ์ เมื่อเป็นความจริงที่ไม่สมบูรณ์ ก็คือไม่เป็นความจริงที่แท้จริง และเมื่อมองเหตุปัจจัย ไม่ครบถ้วน แล้วด่วนสรุปลงเสีย ก็คือเห็นไม่ตรงตามที่มันเป็นจริง ระบบของความเป็นเหตุเป็นผล ก็ไม่สมบูรณ์ ก็ไม่สามารถเข้าถึงความจริง"(จากพุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ หน้า ๔๑) ข้าพเจ้าเอง ยอมรับว่าแม้วิทยาศาสตร์กระแสหลักจากตะวันตกจะมีข้อจำกัด แต่ก็ได้นำคุณประโยชน์
มาให้โลกได้มากในรอบศตวรรษเศษมานี้ โดยที่เราได้รับข้อมูลข่าวสารมากมายเกี่ยวกับโลกเรานี้
ทั้งเรายังรับรู้ในเรื่องจักรวาลอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งอีกด้วย ผลก็คือเรามีอำนาจมากมาย
เหนือธรรมชาติ เชื้อโรคต่างๆ ถูกกำจัดไปได้จนแทบจะหมดสิ้น อย่างน้อยก็ในโลกตะวันตก
เราบิน รอบโลกได้อย่างง่ายดาย (ในหมู่ผู้คนที่มีทรัพย์และอำนาจเพียงพอ) เราติดต่อกันได้ง่ายดาย
แม้เรา จะอยู่ห่างไกลกันเพียงใด (ในหมู่คนจำนวนน้อย) แม้จนเราสามารถส่งคนไปดวงจันทร์ก็ยังได้ - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๖ เดือน มีนาคม ๒๕๔๘ - |