เวทีความคิด - เสฏฐชน
- เนื่องมาแต่กระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๔๗ ที่ได้ตรัสถึงเหตุการณ์สังคม บ้านเมือง ด้วยความห่วงใย พร้อมๆ กับการทรงชี้แนะวิธีแก้ไขในที เผื่อคณะรัฐมนตรีผู้บริหารจะนำไปใช้ ถือว่าเป็นข่าวดี เสมือนของขวัญในเทศกาลปีใหม่ ที่ปวงชนชาวไทย ได้รับ เพราะประเทศชาติจะยั่งยืนถาวรได้ ต้องอาศัยประชากรที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะด้านศีลธรรม นอกจาก ความสามารถในการประกอบอาชีพแล้ว ลำพังอาชีพเลี้ยงตัว อิ่มท้อง อร่อยปาก เป็นเพียงการดำรง ชีวิต ชั่วขณะ ถ้าคนไม่มีอาชีพ คนพอจะอยู่กันได้ แต่ถ้าคนไม่มีศีลธรรมโลกจะพินาศ ยืนยันสัจวาจา นี้ได้จาก เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก การฆ่ากันด้วยอาวุธ ความคิด เลศเล่ห์ฉกชิง แย่งยื้อ เอาเปรียบ การสร้างประดิษฐ์สิ่งที่เป็นพิษ เป็นของ เสพติดต่างๆ ทำให้คนโลกเสื่อมสมรรถภาพ ต่อให้คนผู้นั้นมีความรู้สูงส่ง มีชาติตระกูลใหญ่ มีเงินทอง หลากล้น แต่เมื่อติดสิ่งเสพติด หรือ มีนิสัยอาฆาตรุนแรง ตัณหาอยากได้อะไรๆ ด้วยความ มักง่าย ก็ไม่มีใคร ที่มีฤทธิ์จะหยุดยั้งเขาได้ ความเดือดร้อนจะแผ่ขยายอาณาเขตออกไปทั่วโลก แม้พฤติกรรมจะเกิดจาก บุคคลที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่ง ก็มิวายที่ความทุกข์เดือดร้อนจะส่งไปถึงกัน เพราะมี ผลกระทบกระเทือน ตามกระแส ทิศทางเดินของเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญของคน ที่ต้องอาศัยเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับบทบาท มนุษย์ แม้เหตุการณ์นั้นจะล่วงผ่านกาลนานสักเท่าใด อิทธิพลกำหนด กำกับคนก็ยังคงอยู่ เทียบเคียง ได้จาก สมัยพระศาสดายังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันคนก็ยังคงทำผิดศีลเช่นเดิม มิหนำซ้ำวิธีการรุนแรงกว่าเดิม เพราะมีเครื่องมือ ประกอบการวิจิตรพิสดารยิ่งขึ้น การฆ่ายุคโบราณอาจใช้เพียงขวาน มีด ดาบ หอก ปืน มาถึงปี ๒๕๔๘ คำว่าอาวุธมิได้หมายเฉพาะ ศัสตรา ของมีคม แต่อาจมาในรูปของกลิ่น ไร้กลิ่น อาศัยรูปอากาศธาตุได้ด้วยซ้ำ มลพิษ มลภาวะ ในรูปของสารเคมี สารแปรรูปที่วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีคิดได้ นอกเหนือจากระเบิดปรมาณู นิวเคลียร์ ฯลฯ และต้องมีอะไร ต่อมิอะไรอีกตามวิวัฒนาการคิดค้นอันวิปลาส ที่คนปุถุชนให้ค่าตรงกันข้ามว่า นี่แหละอัจฉริยะ ดังเช่นข่าว ในรอบปีออกมาว่าโคไมนี่ ฮิตเลอร์ สตาลิน ฯลฯ เคยได้รับตำแหน่ง บุคคลแห่งปีมาแล้ว การยกย่องคนสองฐานะขึ้นเท่าเทียมกัน ไม่ว่าแง่ดีหรือแง่เสีย ทำให้โลกสับสนไม่น้อย แต่คนก็ยังหลง ค่านิยมเช่นนี้เรื่อยมา เป็นสมุฏฐานหนึ่งที่ทำให้ศีลธรรมเจริญล่าช้า ความเสื่อมโทรมด้านจิตใจ ไม่ว่าจะเป็น เยาวชน ผู้ใหญ่ก็ตกอยู่ในเหตุผลเดียวกัน สังเกตได้จากยามที่ใครได้ขึ้นหน้าหนังสือพิมพ์ ดูประหนึ่งจะถูกจัดไว้ในประเภทคนดังไว้ก่อน โดยปราศจาก การแยกแยะ พินิจพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า "ดัง" นั้นอย่างไร? จึงทำให้คนอยากดัง ที่นิสัยไม่ดี มีโอกาสแจ้งเกิด และกลายเป็นตัวอย่างไปโดยปริยาย "ดารา" เป็นแบบฉบับที่วัยรุ่นหลงคิดว่าล้วนคือสิ่งดี จึงทำให้เด็กอยากเป็นอย่างนั้นๆบ้าง นอกจาก เรื่องเงินได้ ซึ่งเอาไปแลกเปลี่ยน ซื้อหาความเอร็ดอร่อย ความสุขทางอายตนะต่างๆ แล้ว ความสนใจ จากคนด้วยกัน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็ก เยาวชนต้องการ สัญชาตญาณความหลงตัว ทำให้คน ว้าเหว่ หากจะถูกเมินมอง ทอดทิ้ง การเรียกร้องไขว่คว้าสิ่งนี้ เป็นกำลังผลักดันให้เยาวชนเผิน ในการ เลือกกระทำ บางทีทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่า สิ่งนั้นไม่ดี แต่เมื่อเราเข้าไปร่วมด้วย เราจะมีเพื่อน มีคนสนใจ ความหลงผิดเช่นนี้อาจมีส่วนทำให้เยาวชน เด็ก ก่อพฤติกรรมไม่ดีต่างๆ ได้ด้วย เมื่อมีความผิดพลาดบกพร่องเกิดขึ้น ผู้ใหญ่ก็มักจะกล่าวโทษผู้น้อย ผู้น้อยก็จะกล่าวโทษผู้ใหญ่ ในทำนองว่า "สอนแล้วไม่จำ" และ "ทำไมผู้ใหญ่ไม่สอน" เพราะต่างก็ไม่ยอมรับว่า "ตนเองทำผิด" เหมือนกัน ไม่ยกเว้น แม้กรณีที่พระเจ้าอยู่หัวทรงปริวิตก ยกเรื่องไม่ดีใดๆ ขึ้นมาให้รัฐบาลรับไป พิจารณาแก้ไข "คนดื่มเหล้า สูบบุหรี่" เพราะคนนั้นเองดื่ม-สูบ หรือเพราะมีโรงงานผลิตเหล้า ผลิตบุหรี่เป็นต้นทาง หรือ จะโทษผู้ปลูกพืชที่หมักเป็นเหล้า อบเป็นบุหรี่ หรือจะตำหนิคนที่ขายเหล้า ขายบุหรี่ หากไม่ปลูก ไม่มีโรงงานหมัก โรงงานมวน คนขายมีอาชีพอื่นจะทำไหม? หรือผู้ปกครอง ผู้ใหญ่คนนั้น จะหยุด ให้เงินไปซื้อ ซื้อมาดื่ม มาสูบไหม? โลกนี้หาคนทำผิดได้ยาก เพราะคนส่วนใหญ่มักจะทนไม่ได้ต่อการถูกกล่าวว่า "ตนผิด" ดังนิทานเซ็น บทหนึ่ง มีพระ ๓ รูปยืนมองธงที่สะบัดพลิ้วอยู่บนเขา รูปหนึ่งบอกว่าธงปลิวเพราะลมพัด อีกรูปหนึ่ง บอกว่า ธงมันปลิวเพราะภูเขาก็โดนลมเหมือนกัน ทำไมไม่ปลิวเหมือนธง จนเกิดถกเถียงกัน ทำให้พระ รูปที่ ๓ อดขัดขึ้นมาไม่ได้ว่า "ใจท่านนั่นแหละปลิว" เยาวชน ผู้ใหญ่ที่ติดของเสพติด อาจบอกกับคนที่ตำหนิเขาได้เหมือนกันว่าเพราะ "เขาเหงา เขาเครียด" เขาจึงต้องหันมาเสพสิ่งเสพติด โรงงานผลิตสิ่งเสพติด คนผลิตสิ่งเสพติด อาจบอกว่าเพราะทำให้ "รายได้ดี" ต้องหารายได้ให้เพียงพอ ในการนำมาใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ สร้างฐานะ ไม่ยกเว้นแม้แต่ผู้สอนให้ละเว้นสิ่งเสพติด อาจบอกว่าเพราะ "ขัดศรัทธาไม่ได้" เมื่อเป็นเช่นนี้ใครเล่าจะมีฤทธิ์เดชสามารถหาญกล้าทำให้สิ่งเสพติดหมดไป คนที่เขาบอกว่าแข็งแรง เข้มแข็ง เพราะเป็นบุรุษเพศ ใน ๑๐๐ คน จะมีสักกี่คนที่ไม่ดื่ม (เหล้า) ไม่สูบ (บุหรี่) จะกล่าวไปไยถึงเด็กที่อ่อนแอทั้งร่างกาย และความนึกคิด เขายังเอาชนะผู้ใหญ่ไม่ได้เลย แล้วเขา จะเอาชนะ สิ่งเสพติดได้อย่างไร? แม้แต่การผลิตคิดค้นวัสดุ วัตถุดิบ เครื่องมือในการผลิต การจำหน่าย ตลาด การโฆษณา ก็ล้วนมาจาก ผู้ใหญ่กว่าทั้งสิ้น ในบ้านพ่อสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า พี่ชายสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า น้องชายสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า น้าชายสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ฯลฯ เป็นตัวอย่างที่เด็กผู้น้อยกว่าอยากทำตาม เพราะเขาก็อยากใหญ่ในอนาคตเหมือนกัน ผู้หญิงสูบบุหรี่ ดื่มเหล้านั้นมีน้อย เพราะมีทางออกในรูปอื่นๆ แต่ก็มีน้ำหนักที่คนจะนำมาโจษท้วง ด้วยความเด่นดังเกินไป แต่คนจะเอาอย่างได้น้อยกว่า เนื่องจาก "ผลตำหนิ" น้อยกว่า "ผลหลงผิด" ที่เกิดจาก ค่านิยมระหว่างเพศที่ต่างกัน การที่คนเรามอง "ไม่เห็นโทษ" ในเรื่องนี้ ด้วยเหตุผลหนึ่งที่มักได้ยินคนดื่มเหล้า สูบบุหรี่ "แก้ตัว" เสมอคือ "ส่วนอื่นเขาดี" มีอีกเยอะ เช่น มีน้ำใจ ใจกว้างขวาง ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากพวกขี้เหล้า ขี้ยาเหมือนกัน แม้ผู้ชายบางคนมีบุญมาบ้างแล้ว คือไม่ดื่ม ไม่สูบ เพราะดื่มทีไรผื่นขึ้นทุกที สูบทีไรเมาปวดหัวทุกที คนที่ยังดื่ม ยังสูบอยู่ก็มองว่าเพราะมีเงื่อนไขจำกัด หาใช่ความดีแต่อย่างใดไม่ด้วยซ้ำ ยิ่งคนที่ ไม่เคยดื่ม ไม่เคยสูบมาก่อน แต่ต้องมาดื่มมาสูบเพราะต้องการทำตัวให้เข้ากับสังคมได้ คนนั้นดูจะเป็น ผู้น่าสงสารที่สุด เพราะมีของดีในตัวเองแล้ว แต่กลับไม่ให้ค่า ไปหลงค่าจอมปลอม ที่เกิดจาก คนขี้เหล้าขี้ยา อุปโลกน์ สมมติ ตั้งค่าให้ แล้วอุตส่าห์หัด แม้ยากเย็นแสนเข็ญเพียงใดก็ตาม มิหนำซ้ำ อาจจะเข้าใจผิด หลงว่าตัวเอง ใจกว้างที่แม้ไม่ดื่ม ไม่สูบ แต่ก็อยู่กับคนดื่ม คนสูบ หรือซื้อให้เขาดื่ม เขาสูบได้ โดยไม่ได้ใช้สติปัญญา ให้รอบถ้วนว่าแม้การอยู่ในแวดวงของคนสูบ ก็ยังทำให้ผู้นั้น ได้รับมลพิษ ทำให้เกิดโรคได้ เช่นเดียวกับ คนสูบเหมือนกัน บางคนจะเป็นมากกว่า เพราะคนสูบ ยังมีการสูดเข้า พ่นออก แต่คนไม่สูบ กลับต้องสูด มลพิษ ของฝ่ายที่สูบเต็มประตู กรณีนี้วงการแพทย์ ก็ยืนยันจากข้อมูลคนไข้ ที่มารับการรักษาโรคถุงลม โป่งพอง โรคภูมิแพ้ โรคปอด ฯลฯ มาแล้ว ผู้ป่วยไม่ได้สูบ แต่คนรอบข้างผู้ป่วยสูบ ดังเช่นกรณีนักเขียนหญิง คนหนึ่ง ที่เดินทางไปต่างประเทศ ในเวลา เพียง ๗ วันที่เธออยู่ท่ามกลางคนสูบบุหรี่ ทำให้เธอต้องทรมาน ด้วยโรคถุงลมโป่งพอง และโรคปอดหลายปี จนเธอต้องสัญญากับตัวเองใหม่ว่า ต่อไปเธอจะไม่เกรงใจ ที่จะประท้วงทัดทาน คนสูบบุหรี่ทุกคน เพราะได้รับบทเรียนอันแสบเผ็ดมาแล้ว เพื่อช่วยเหลือให้คนอื่นๆ ไม่ต้องรับเคราะห์ เช่นเดียวกับเธออีก คนที่ดื่มเหล้าจนเป็นแอลกอฮอลิซึม ภาพที่ปรากฏเด่นชัดไม่ต่างจากศพเดินได้ เพราะใบหน้า แดงบวมฉุ ขรุขระ ตาแดงก่ำดังขังอยู่ในน้ำเลือด แม้ขณะยามจะตาย ธาตุแตกจนเลือดทะลักออก อย่างน่ากลัว แม้พี่น้องกันเอง ต้องหลุดปากว่า หากไม่ใช่ญาติจะไม่ดูดำดูดีเลย เพราะทุเรศ สุดจะหาใดปาน บันทึกจากแฟ้มแจ้งความของตำรวจกรณีอุบัติเหตุรถชนกัน รถตกเหว รถถลาข้างทาง ล้วนมาจาก ความเมา เป็นเหตุ แม้คดีข่มขืนชำเรา ผู้ก่อกรรมก็ล้วนมาแต่ความเมาสุราทั้งสิ้น เมื่อเมาแล้วขาดสติ ย่อมทำการ หยาบช้า ใดๆก็ได้ ไม่ละเว้นแม้แต่พ่อแม่ บุพการี พระสงฆ์องค์เจ้า หรือแม้แต่ อัตวินิบาตกรรม ความเมาใช่แต่เฉพาะเหล้าที่อยู่ในลักษณะของน้ำ แม้ในรูปของอม ของเคี้ยวก็มีมากมาย เป็นความเห็นแก่ตัว ของผู้ผลิตสินค้าบริโภคชนิดนี้ เพราะมีตลาดกลาดเกลื่อนที่เป็นแหล่งกระจาย สินค้าออกไป ยิ่งถ้ากลุ่มเป้าหมาย เป็นเยาวชนแล้วล่ะก้อ ง่ายดายกว่าฐานะอื่นๆเป็นไหนๆ เมื่อเยาวชนติดของเสพติดเหล่านี้แล้ว การทำผิดศีลข้อที่ ๒ จะตามมา ขโมยตั้งแต่ของเล็กของใหญ่ ไต่ระดับไปเรื่อยๆ เพราะต้องหาเงินไปซื้อมาเสพ ถ้าไม่ได้ ศีลข้อที่ ๑ พลอยล่วงไปด้วย ฆ่าเจ้าทรัพย์ ที่ตนเข้าขโมยปิดปาก อาจข่มขืนคนในบ้านอีกก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ กว่าจะสารภาพ ก็ต้องผ่าน การลงโทษ จากเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นระดับไปศีลข้อ ๔ ก็ไม่เหลือหลอเช่นกัน หากเราไม่นำมาพิจารณาถึงเรื่องสืบเนื่อง โยงใยสัมพันธ์ดังกล่าว การจะให้เห็นโทษก็คงยาก แม้คน รอบข้าง ก็ไม่คิดที่จะช่วยกันรณรงค์แก้ไข เพราะมักจะปลอบใจตัวเอง ผนวกกับความเกรงใจ คนติดของเหล่านี้ว่า "นานไปก็คงเลิกเอง" แม้ในความเป็นจริงน้อยนักที่คนจะคิดเลิกเอง บางคน อาจจะคิดได้ ถึงกระนั้น ก็ตามเถอะ กว่าจะเลิกก็ใช่ง่าย ไม่ใช่เรื่องปากพูดเหมือนกับพระรูปหนึ่ง เทศน์ไว้ว่า "เลิกบุหรี่จะยากอะไร เพียงอ้าปากบุหรี่ก็หล่นแล้ว" นั้นจริงหรือ? หากปิดโรงผลิตของมึนเมาเหล่านี้ถาวรไม่ได้ ในโอกาสพิเศษ วันพิเศษ ก็น่าจะปิดแหล่งผลิตเหล่านี้ได้ ด้วยวิธีทางรัฐประกาศหยุดโรงงานเป็นคราวๆ ไป หยิบเอาวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ทางการ เคยปิดโรงงาน ฆ่าสัตว์ ในวันพระ เป็นต้น เราก็เคยทำกันมาแล้ว สิ่งดีๆ เช่นนี้น่าจะหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นกันใหม่ ก็ไม่เสียหายอะไร รังแต่จะทำให้ ความสุขสันติเกิดขึ้นในสังคมง่ายขึ้น ระหว่างการสูญเสียรายได้เป็นตัวเงิน กับการสูญเสียคุณภาพประชากร อย่างไหนมีน้ำหนักกว่ากัน? ผู้ใหญ่ ที่มีวุฒิภาวะสูงกว่าน่าจะตอบได้ ใช่แต่คนจะดีขึ้น สภาพแวดล้อมของบ้านเมืองก็จะดีขึ้น เพราะถนนหนทางสะอาด ปราศจากก้นบุหรี่ ขวดเหล้าแตกๆ กระป๋องเครื่องดื่มมึนเมา อากาศจะสดใสตามฤดูกาลจริงๆ กำลังกาย กำลังใจ ที่ถูก สิ่งเหล่านี้กัดกร่อนจะกลับคืนมา บรรยากาศของความดีงามจะเขยิบสูงขึ้น ภายหลังฟ้าลงโทษแหล่งอบายมุขไปบ้างแล้ว เราต้องพบกับ ความสูญเสีย มากมายจาก "สึนามิ" ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ แต่คลื่นลูกนี้นานทีปีหน ต่างจาก คลื่นน้ำเมา ของมึนเมาที่ซัดพาชีวิตคนไทยให้ตกต่ำประจำวันสำคัญยิ่งกว่า หากผู้บริโภคไม่รู้จัก คัดเลือก หยุดเอง ก็คงจะหาคนมาช่วยเหลือยาก ฉะนั้นในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปิดเผยน้ำพระทัยออกมาสู่มวลชนชาวไทยครานี้ ควรที่ เหล่าข้าราชผู้จงรักภักดีจะพึงน้อมนำมาเป็นกำลังใจทำให้ได้ดังพระประสงค์ เป็นของขวัญ ปีใหม่ให้แก่ตัวเอง และไม่ให้พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านเสียเปล่า ทั้งจะได้ชื่อว่าเป็น พสกนิกรที่ดี พุทธศาสนิกชนที่ดี ควบคู่กันไปด้วย - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๖ เดือน มีนาคม ๒๕๔๘ - |