กติกาเมือง - ประคอง
เตกฉัตร - ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดยะลา ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสตูลรวมทั้งหมด ๔ จังหวัด ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนา อิสลาม กฎหมายอนุญาตให้นำกฎหมายว่าด้วยครอบครัว และมรดกตามหลักกฎหมายอิสลาม มาใช้บังคับ ในกรณีที่คู่ความทั้งสองฝ่าย เป็นมุสลิม ปัจจุบันนี้ศาลในจังหวัดทั้งสี่ มีดะโต๊ะยุติธรรม ประจำศาล แต่เฉพาะที่จังหวัดยะลานั้น นอกจากมีศาลจังหวัดยะลาแล้ว ยังมีศาลจังหวัดเบตง ซึ่งมีอำนาจตลอดท้องที่ อำเภอเบตง อำเภอเบตง เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดยะลา จึงอยู่ในบังคับ ของกฎหมายว่าต้องมีดะโต๊ะยุติธรรมด้วย ในคดีที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดก ที่คู่ความเป็นมุสลิม ทั้งสองฝ่าย แต่เนื่องด้วยสถิติคดีประเภทดังกล่าวนี้ ที่ศาลจังหวัดเบตง มีน้อยมาก ที่ศาลจังหวัดเบตง จึงไม่มีดะโต๊ะยุติธรรมประจำศาลจังหวัดเบตง เมื่อมีคดีประเภทดังกล่าว ทางศาลจังหวัดเบตง จะมีหนังสือถึง ศาลจังหวัดยะลา ให้ส่งดะโต๊ะยุติธรรม ไปร่วมพิจารณาคดี ประเภทดังกล่าวนี้ ที่ศาลจังหวัดเบตง ปัจจุบันนี้ ไม่ว่าศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานภาค ศาลล้มละลายกลาง ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้า ระหว่างประเทศกลาง ต่างใช้วิธีการให้ผู้พิพากษา ที่อยู่ที่ศาลดังกล่าวนั้น เดินทางไป นั่งพิจารณาคดี ยังศาลต่างๆ ที่อยู่ในท้องที่เขตอำนาจของตน โดยไม่ต้องให้คู่ความ เดินทางไป ฟ้องร้องคดี หรือพิจารณาคดีที่ศาลดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ในส่วนกลาง หรือในจังหวัดใหญ่ๆ ของประเทศไทย สำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรมโดยสอบคัดเลือกจากคนที่นับถือศาสนา อิสลาม และมีความรู้ทางกฎหมายอิสลาม ในเรื่องครอบครัวและมรดก มีการตรวจสอบเรื่องประวัติ ความประพฤติ โดยเฉพาะบุคคลดังกล่าว ต้องมีความเลื่อมใสในศาสนาอิสลาม ประพฤติตน อยู่ในหลักการของอิสลาม และไม่เป็นบุคคลเคยกระทำความผิดกฎหมาย หรือต้องโทษจำคุกมาก่อน หรือประพฤติตน ผิดทำนองคลองธรรมมาก่อน ทั้งมีครอบครัวและอาชีพตลอดจนที่อยู่ เป็นหลักแหล่ง แน่นอน เดิมเรียกว่าตำแหน่งกอดี การพิจารณาของดะโต๊ะยุติธรรม ที่ร่วมพิจารณากับผู้พิพากษานั้น เป็นเรื่องการพิจารณา ว่าด้วยหลักมรดก ของผู้ตาย สิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกองมรดก กฎเกณฑ์เกี่ยวกับ กฎหมายมรดกอิสลาม การเป็นทายาทของเจ้ามรดก การถูกกำจัดสิทธิ จากกองมรดก ส่วนแบ่งทายาท แต่ละคน และการถูกกันสิทธิ จากกองมรดก การแบ่งมรดกให้แก่ผู้สาบสูญ และทารกในครรภ์มารดา การทำพินัยกรรม องค์ประกอบของการทำพินัยกรรม ผลและการสิ้นสุดของพินัยกรรม พินัยกรรม ที่มีลักษณะพิเศษ พินัยกรรมการตั้งผู้ปกครอง การสมรส การเป็นทายาท เป็นต้น ศาสนาอิสลามเป็นประมวลคำสอนและบทบัญญัติที่เกี่ยวกับหลักความเชื่อหลักจริยธรรมและหลักปฏิบัติ กฎหมายอิสลามเกิดขึ้นพร้อมกับการกำเนิดศาสนาอิสลามในปีที่ ๑๓ และได้มีการพัฒนาเรื่อยมา จนกระทั่ง ครบสมบูรณ์ในช่วงก่อนเวลาที่ท่าน ศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลลัลลอฮ ฮุอะลัย-ฮิวะสัลลัม) จะเสียชีวิตไม่นาน อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้เกี่ยวกับอิสลาม ตลอดจนการปฏิบัติตามคำสั่งสอน ของอิสลามนั้น เป็นไปในลักษณะรวมๆ ไม่แบ่งแยกแขนง หรือสาขาอย่างชัดเจน ลักษณะเช่นนี้ ยังคง ดำเนินไปเรื่อยๆ จนถึงประมาณ กลางศตวรรษที่ ๒ ของอิจญ์เราะหรือในราวปี ค.ศ.๗๖๗ จึงเริ่มมี การแยกวิชากฎหมายอิสลาม ออกจากวิชาอื่นๆอย่างชัดเจน ประเทศไทยมีการใช้กฎหมายอิสลามสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลามนับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมา หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมทย์ ได้เขียนเกี่ยวกับข้อยกเว้น ในการใช้กฎหมายอิสลาม ในจังหวัด ชายแดน ภาคใต้ว่า "ข้อยกเว้นนี้ ตกทอดมาจากประวัติศาสตร์เดิม ที่มีศาลกรมท่าซ้าย พิจารณาคดี ชนชาติจีน และมีศาลกรมท่าขวาพิจารณาคดีชนชาติแขก ศาลทั้งสองตัดสินคดี ตามกฎหมาย และประเพณี ของชนชาตินั้นๆ แต่สำหรับ ชนชาติแขก ศาลทั้งสองตัดสินคดีตามกฎหมาย และประเพณีของ ชนชาตินั้นๆ แต่สำหรับชนชาติจีน ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายหรือประเพณีผัวเมียมรดก เป็นการแน่นอน ศาลกรมท่าซ้ายจึงใช้กฎหมายไทยบังคับ แต่ชนชาติแขก นับถือศาสนาอิสลาม มีกฎหมายและประเพณี แน่นอน ในเรื่องผัวเมีย มรดก ศาลกรมท่าขวาจึงใช้กฎหมายอิสลามบังคับ" สำหรับการบังคับใช้กฎหมายอิสลามลักษณะครอบครัวและมรดกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของประเทศไทยนั้น จะปรากฏเป็นหลักฐานครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ในกฎหมายข้อบังคับ สำหรับ ปกครองบริเวณ ๗ หัวเมือง ร.ศ. ๑๒๐ ซึ่งมีทั้งหมด ๓๒ ข้อ ข้อที่ ๓๒ มีใจความว่า "ให้ใช้พระราชกำหนด กฎหมายทั้งปวงในความอาญาและความแพ่ง แต่ความแพ่ง ซึ่งเกี่ยวด้วยศาสนาอิสลาม เรื่องผัวเมียก็ดี และเรื่องมรดกก็ดี ซึ่งคนนับถือ ศาสนาอิสลาม เป็นทั้งโจทก์จำเลย หรือเป็นจำเลย ให้ใช้กฎหมายอิสลาม ในการพิจารณาพิพากษา และให้โต๊ะการี ซึ่งเป็นผู้รู้และเป็นที่นับถือ ในศาสนาอิสลาม เป็นผู้พิพากษา ตามกฎหมายอิสลามนั้น" สำหรับ การใช้ฎหมายอิสลาม ลักษณะครอบครัวและมรดกในปัจจุบัน ก็เป็นตาม พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลาม ในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ.๒๔๘๙ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นปกครองประเทศและเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย ได้เรียกบุคคล ในราชอาณาจักรไทยทั้งหมดว่าคนไทย และนำวัฒนธรรม ตะวันตกเข้ามาใช้ จึงก่อให้เกิด ความขัดแย้ง ระหว่างรัฐกับชนพื้นเมือง ตลอดมา ได้มีการยกเลิกตำแหน่งกอดี (ดะโต๊ะยุติธรรม) ที่มีอยู่ ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูล ส่วนกฎหมายอิสลาม ที่ว่าด้วยครอบครัว (การสมรส การหย่า) และมรดก ซึ่งใช้มาก่อนนั้น ก็ยกเลิกทั้งหมด ได้เปลี่ยนมาใช้กฎหมายไทยเหมือนกันทั้งประเทศ กลุ่มบุคคลมุสลิมชั้นแนวหน้า พยายามร้องเรียนต่อรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ผ่านนักการเมือง จำนวนมาก บรรยากาศทางการเมือง ขัดแย้ง เริ่มรุนแรงขึ้น เป็นเหตุให้นายหะยีหลงหรือนายหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ บิดานายเด่น โต๊ะมีนา ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวมลายู ยื่นคำขอ ๗ ข้อต่อรัฐบาล พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๐ โดยมีข้อความ ข้อที่ ๗ ให้ศาลรับพิจารณา ตามกฎหมายอิสลาม แยกจากศาลจังหวัด มีโต๊ะการี (กอดีหรือดะโต๊ะยุติธรรม) ตามสมควร และมีเสถียรภาพ ในการพิจารณาชี้ขาด กฎหมายอิสลามปัจจุบันที่ใช้ในประเทศไทยนั้นเป็นการแปลหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัว และ มรดก ซึ่งแปลเสร็จสิ้นและตีพิมพ์ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ หลักกฎหมายนี้ เรียบเรียงขึ้นในลักษณะ เหมือนกฎหมายทั่วไป คือมีการแยก เป็นบรรพ ลักษณะและมาตรา หลักกฎหมายนี้น่าจะเรียกว่า ประมวลกฎหมายอิสลาม ว่าด้วยครอบครัวและมรดก แม้ว่าหลักกฎหมายอิสลามนี้ มิใช่พระราชบัญญัติ แต่ในทางปฏิบัติ มีฐานะเหมือน พระราชบัญญัติ ทั้งนี้เพราะผู้ที่ดะโต๊ะยุติธรรมทุกคน จะต้องรับรอง ว่าจะใช้หลักกฎหมายอิสลาม ฉบับแปลดังกล่าว เป็นหลักวินิจฉัย ข้อพิพาทในคดีอันเกี่ยวกับ ครอบครัว และมรดก โดยจะไม่ใช้คัมภีร์อื่นใดเป็นอันขาด ดังนั้น หลักกฎหมายอิสลาม จึงมีฐานะเหมือน กฎหมายทั่วไป ที่มีฐานะเป็น พระราชบัญญัตินั้นเอง นับว่าประเทศไทย เป็นประเทศแรกๆ ในโลก ที่ตรากฎหมายลักษณะครอบครัว และมรดกอิสลามขึ้นมาใช้ หลักกฎหมายอิสลามถือได้ว่าเป็นเอกสารทางกฎหมายอิสลามที่มีคุณค่าอย่างมหาศาล ในทาง ประวัติศาสตร์ ทั้งสำหรับประเทศไทย และโลกมุสลิม นอกจากเหตุผล ที่กล่าวมาแล้ว ก็เพราะการเขียน กฎหมายอิสลาม ในแนวเดียวกันกับ การเขียนตัวบทกฎหมายทั่วไป เพื่อให้เกิดความแน่นอน ในการพิจารณา และตัดสินคดี ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มากกว่า ๖๐ ปีที่แล้ว กฎหมายมรดกอิสลามได้ถูกกำหนดขึ้นโดยอัลกุรอาน และความคิดเห็นของบรรดาปราชญ์กฎหมาย อิสลาม เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อบรรลุเป้าหมาย หลายประการในเวลาเดียวกัน ที่สำคัญ ที่สุดก็คือ เป็นการแบ่งทรัพย์มรดก ให้กระจายแก่ทายาทหลายๆ คน ไม่ปล่อยให้ตกอยู่แก่บุคคล เพียงคนเดียว หรือกลุ่มเดียว ซึ่งการแบ่งมรดกดังกล่าวนั้น อยู่บนหลักการของ การช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งกันและกัน เห็นได้ชัดจากทายาท ผู้มีสิทธิรับมรดก ซึ่งต้องมีความสัมพันธ์อย่างใดอย่างนึ่งกับเจ้ามรดก กล่าวคืออาจมีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นคู่สมรส หรือฐานะเป็นญาติ มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต หรือในฐานะเป็นผู้ให้อิสระแก่ทาส เป็นระบบบังคับ กล่าวคือเจ้ามรดก ไม่สามารถจะกำหนดการเผื่อตาย และยกทรัพย์สินของตน ให้แก่บุคคลตามปรารถนาได้ ทั้งนี้เพราะกฎหมายอิสลาม ได้วางหลักเกณฑ์ ในเรื่องมรดก อย่างละเอียดเป็นที่เรียบร้อย และได้กำหนดว่า ทายาทว่า ผู้ใดบ้างจะมีสิทธิรับมรดก มากน้อยเพียงใด การวางกฎเกณฑ์ละเอียดถี่ถ้วนเช่นนี้ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ ระบบสังคม นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง ทั้งการกระจายทรัพย์มรดก ให้แก่ผู้ที่มีความใกล้ชิด มากที่สุดกับเจ้ามรดก ทั้งนี้เพราะการรับมรดกนั้น เป็นการแทนที่เจ้ามรดก ในการเป็นผู้ถือสิทธิในทรัพย์สิน มุสลิมทุกคนไม่ว่าจะอยู่ใน ๔ จังหวัดตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นหรือไม่ก็ตาม ล้วนต่างมีความมุ่งหมาย ที่จะแบ่งทรัพย์มรดก ของตนเอง ตามที่พระผู้เป็นเจ้าได้บัญญัติไว้ ตามที่ประเทศไทย อนุญาตให้ใช้ กฎหมายอิสลาม เฉพาะ ๔ จังหวัดนั้น ผู้เขียนเห็นว่า น่าจะถึงเวลาแล้ว ที่เราจะเปิดโอกาสให้มุสลิม ทั้งประเทศ มีโอกาสใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าอยู่ในจังหวัดใด และไม่ต้อง เกรงว่า ทางรัฐบาล จะเสียงบประมาณ จำนวนมาก หรือจะเป็นภาระแก่รัฐบาล ขณะนี้จังหวัดที่มี คณะกรรมการ อิสลามในประเทศไทยนั้น ยังมีไม่ครบทุกจังหวัด จังหวัดใดที่มีคณะกรรมการ อิสลาม ประจำจังหวัด แสดงได้ชัดเจนว่า ในจังหวัดนั้น มีมุสลิมมากพอสมควร คู่ความที่พิพาทกันด้วยเรื่อง ครอบครัวและมรดก น่าจะได้มีโอกาสได้ใช้กฎหมายของ พระผู้เป็นเจ้า ตามที่ตนเองศรัทธา เหมือนเช่น ในอดีต ที่ไม่เฉพาะสามจังหวัดภาคใต้และจังหวัดสตูลเท่านั้น แม้ในกรุงเทพมหานครเอง และจังหวัด ใกล้เคียง ผู้เขียนขอเสนอแนะว่า ไม่จำเป็นต้องมีดะโต๊ะยุติธรรม ประจำศาลทุกศาล แต่เห็นควร ให้ดะโต๊ะยุติธรรม ประจำสำนักงานผู้พิพากษาภาคทั้ง ๙ ภาคที่มีอยู่ในประเทศไทย เพียงภาคละ ๒ ท่านหรือ ๓ ท่าน ก็นับว่ามากเพียงพอแล้ว เมื่อศาลใดที่อยู่ในภาคนั้นๆ มีคู่ความที่นับถือศาสนาอิสลาม พิพาทกันด้วยข้อกฎหมายอิสลาม ในเรื่องครอบครัวและมรดก ก็จะมีหนังสือ แจ้งไปยังสำนักงานภาค ให้ส่งดะโต๊ะยุติธรรม ประจำสำนักงานภาคนั้นๆ ให้เดินทางไปพิจารณาพิพากษาคดี เช่นที่จังหวัดยะลา ส่งดะโต๊ะยุติธรรมไปนั่งพิจารณาคดี ที่ศาลจังหวัดเบตง หรือเหมือนกับที่ศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานภาค ศาลล้มละลายกลาง ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลาง เดินทางไปนั่งพิจารณายังศาลอื่นๆ ที่อยู่ในเขตอำนาจของตน การที่ดะโต๊ะยุติธรรม เดินทางไปร่วมกับ ผู้พิพากษาประจำ จะทำให้คู่ความ ที่เป็นมุสลิม มีการยอมรับหลักการทางกฎหมาย ที่ดะโต๊ะยุติธรรม ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ทางกฎหมายอิสลาม ได้วินิจฉัยลงไป ซึ่งจะไม่เป็นการแตกแยก กับพี่น้องมุสลิมใน ๔ จังหวัดภาคใต้ ซึ่งรวมทั้งสตูล เข้าไปด้วย ถ้าเป็นไปได้เท่ากับ เป็นการแสดง ให้โลกเห็นได้ว่า ประชาชนคนไทยทุกคน ที่นับถือศาสนาอิสลาม ในประเทศไทย อยู่ภายใต้บทบัญญัติ กฎหมายเดียวกัน โดยเฉพาะกับบทกฎหมาย แห่งพระผู้เป็นเจ้า ที่ทุกคน เคารพศรัทธา - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๖ เดือน มีนาคม ๒๕๔๘ - |