ข้าพเจ้าคดอะไร
- สมณะโพธิรักษ์ -


 

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติใดถ้าไม่มี"สัมมาทิฏฐิ" นำมาไปก่อน การปฏิบัตินั้นก็เป็นอันผิดทาง และมีแต่ จะเฉห่าง ออกจากความเป็นพุทธไปมากขึ้นๆๆๆ

พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๔-๒๕๘ พระพุทธเจ้าตรัสถึง"มิจฉาทิฏฐิ ๑๐" และ"สัมมาทิฏฐิ ๑๐" อีกทั้ง แจกแจง ให้เห็นถึงความเป็น"สัมมาทิฏฐิ"ที่เป็นสาสวะ-อนาสาวะด้วย

จะเห็นได้ว่า หากผู้ปฏิบัติมี "มิจฉาทิฏฐิ" ซึ่งมี ๑๐ ข้อ (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๕) อันได้แก่

๑. ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล (นัตถิ ทินนัง) นี้เป็นสำนวนที่แปลในพระไตรปิฎก จริงๆแล้วคำว่า "ทินนัง" (อันเขาได้ให้แล้ว) นี้ เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ของมนุษย์ เป็นเรื่องคุณค่าของคนเกี่ยวกับการทาน เกี่ยวกับกรรมที่ "ได้กระทำการให้" ซึ่งมันเป็นเครื่องชี้ ความเป็นผลความเป็นประโยชน์ ในความเป็นมนุษย์ อย่างสำคัญ สุดยอดสุดปลายถึงขั้นอรหันต์ทีเดียว เพราะการเกิดมา เป็นคนนั้น ถ้าไม่เป็น"ทินนัง" หมายความว่า ในความเป็นคนนั้น ถ้าไม่ได้เป็นคนที่ "ได้ให้" คนผู้นั้นก็คือ คน "เอา" นั่นเอง คนผู้ได้แต่"เอา" นี้แหละ ที่เป็น.. คนไม่มีคุณค่าอะไรในโลก คนหนักโลกหนักแผ่นดินแท้ๆ คนที่เป็นภาระผู้อื่น คนที่เป็นภาระ ของโลก ของสังคม คนถ่วงสังคมถ่วงโลก เพราะนับคุณค่าแล้วมีประโยชน์เท่ากับสัตว์บางชนิดก็ไม่ได้ คนชนิดนี้ จึงเท่ากับเป็นกากเดนของสังคมโดยแท้

เรื่องของ "ทาน" หรือเรื่องของคนต้องเป็นผู้ "ได้ให้" (ทินนัง)นี้ เป็นสารสัจจะของความเป็นคนโดยแท้ เพราะ "การทาน" หรือการเป็นคนที่"ได้ให้"นี้ ในภูมิธรรมของพุทธนั้นนับเป็นคุณค่าที่มีผลทั้งที่เป็น "ประโยชน์ตน" (อัตตัตถะ) ทั้งที่เป็น"ประโยชน์ท่าน" (ปรัตถะ) ทั้งที่เป็น"ประโยชน์ ๒ ฝ่าย" (อุภยัตถะ) ทั้งที่เป็น "ประโยชน์ยิ่ง ขั้นอาริยธรรม" (ปรมัตถะ) ทั้งที่เป็น "ประโยชน์สูงสุดขั้นนิพพาน" (อุตตมัตถะ) แต่ถ้าผู้ใดมีทิฏฐิ หรือความเข้าใจว่า ทานที่ให้แล้ว ไม่มี หรือไม่มีผล ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่เห็นคุณค่า ของทาน หรือเป็นคนที่ ไม่รู้เรื่องทาน คนผู้นั้นแลคือผู้ "มิจฉาทิฏฐิ" เริ่มตั้งแต่"ทิฏฐิ" อันเป็นข้อแรก ของทฤษฎีหลักที่สำคัญยิ่ง ของพุทธทีเดียว

เราลองมาพูดถึงเรื่องของ "ทาน" กันให้มากกว่านี้ดูสักหน่อย

การวิเคราะห์ให้ฟังตอนนี้ จะแยกเป็น ๒ ส่วน กล่าวคือ จะวิเคราะห์ในประเด็น ทานมี หรือไม่ นั้นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง จะวิเคราะห์ว่า ทานมีผล หรือไม่

ประเด็นแรก ทานมี หรือไม่..?

การทาน คือ กรรมกิริยาของ "การให้"

ผู้ที่เข้าใจว่า ทาน หรือ การให้ ไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระแก่นสาร ก็จะไม่ทำกรรมกิริยานี้ ไม่มีการให้ พวกนี้เป็นพวกที่มีชื่อว่า นัตถิกทิฏฐิ หรือพวกที่ปฏิเสธการให้ทาน ยังมีพวกรุนแรงกว่า ระดับนี้ คือ พวกที่ปฏิเสธแม้กรรมกิริยาของการให้ เป็นอกิริยาทิฏฐิ ซ้อนลงไปอีก ผู้มีมิจฉาทิฏฐิ ระดับนี้ จะเชื่อว่า ไม่ต้องเป็นอะไร ไม่ต้องมีอะไร อะไรๆก็ไม่มี เป็นพวก จิตว่างเฉโก หลงมาตั้งแต่...บาปไม่มี บุญก็ไม่มี จึงไม่ทำทาน แม้ทำก็ทำอย่างเสียไม่ได้บางครั้งบางคราวไปอย่างนั้นๆเอง ไม่เชื่อว่าเป็นความดี ไม่เห็นว่าจะมีค่าดีอะไร ไม่เห็นว่าจะเป็นบุญ แก่ตนแก่ท่านอะไร อาจจะเลยเถิดไปถึงขั้นเชื่อว่า ถ้าให้แก่ผู้อื่นจะทำให้ผู้อื่นเคยตัว ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียนิสัย เป็นคนเลว แต่ถ่ายเดียว ซ้ำเสียอีก

นอกจากจะไม่ทำกรรมกิริยาของการให้ หรือไม่มีอาการทำทานแล้ว พวกจิตว่างเฉโกนี้ ก็กลับจะมีกิริยาอาการกอบโกย กักตุน แย่งชิง สะสม และเป็นตัวอย่าง ของความฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย เป็นแบบอย่างที่เลว สร้างค่านิยมที่เลวให้กับสังคมเพิ่มมากขึ้นอีก พวกนี้จะไม่เข้าใจ เรื่องทาน เรื่องการให้ เรื่องการเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ เรื่องการเสียสละ จะไม่มีการทาน ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ นับเป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ ที่เป็นตัวการทำลายโลก อย่างจริงจังและเด็ดขาด เพราะแม้แต่อาการกอบโกยของเขา เขาก็ตีว่า ไม่มี คืออะไรๆก็ไม่มี

บางพวกผู้มีมิจฉาทิฏฐิ จะปฏิเสธการทาน ด้วยปัญญาเฉโก
[มีต่อฉบับหน้า]

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๗ เมษายน ๒๕๔๗ -