อาจารย์นราทิพย์ พุ่มทรัพย์
* ผ.อ.ศูนย์คุณธรรม

"ศูนย์คุณธรรม" เกิดขึ้นอย่างมีเป้าหมาย เพื่อสานสัมพันธ์ทุกศาสนา สร้างสรรบทบาทสู่สังคม ด้วยเจตจำนงแน่วแน่ ที่จะช่วยมนุษยชาติ พ้นจากความหลงผิด และความทุกข์

*** แนะนำศูนย์คุณธรรม
ศูนย์คุณธรรมหรือชื่อเต็มว่า "ศูนย์พัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม" เป็นหน่วยงานใหม่ ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อประสานงานทุกศาสนา ที่จะนำหลักธรรมต่างๆ ไปเผยแพร่ ให้คนเป็นคนดี รวมทั้งมีการ ร่วมมือกัน ทำสิ่งดีๆ ให้สังคมไทยโดยมีสมมุติฐานว่า ประเทศไทย มีคนทำเรื่อง การพัฒนาคุณธรรม มากมายหลายองค์กร หลายหน่วยงาน แต่ต่างคน ต่างทำ ไม่มีหน่วยงานไหน ทำหน้าที่ประสานงาน และรวบรวมข้อมูลว่า แต่ละองค์กร ที่อบรมคน ให้เป็นคนดีนั้น ถนัดเรื่องอะไร ศูนย์คุณธรรม ไม่ได้มีหน้าที่ตัดสิน ว่าใครถูกใครผิด หรือองค์กรไหน ดีกว่าองค์กรไหน แต่มีหน้าที่ไปรวบรวม องค์ความรู้ว่า มีกี่องค์กร ที่ทำงานด้าน ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ทั้งในภาครัฐ และเอกชน ใครถนัดการส่งเสริม คุณธรรมด้านไหน อย่างไร ฯลฯ แล้วเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ องค์ความรู้ เหล่านั้นให้สาธารณชนรู้ ตลอดจนสนับสนุน การทำงาน ขององค์กร ด้านคุณธรรมเหล่านี้ ให้มีมากขึ้น ใครทำดีอยู่แล้ว ก็เข้าไปสนับสนุน ให้เขาทำดี และ ช่วยสังคมยิ่งๆ ขึ้น เช่น เห็นว่า หน่วยงานนี้ พัฒนาเด็ก ได้ดีเยี่ยมเลย ก็ไปหารือว่า คุณจะทำเรื่อง พัฒนาเยาวชน เพิ่มขึ้นอีกได้ไหม ขาดแคลนอะไร ที่เราจะไปช่วยเพิ่มเติมได้บ้าง เพื่อให้เขาสามารถ ทำงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน เราก็ส่งนักวิจัย ไปถอดองค์ความรู้ออกมาว่า กระบวนการฝึกอบรม อย่างนี้ เป็นการพัฒนาให้เยาวชน เป็นคนดีขึ้นจริงหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร เพื่อนำความรู้เหล่านี้ ไปเผยแพร่ต่อ เพื่อองค์กรอื่นๆ จะได้มีวิธีพัฒนาเยาวชน ให้เป็นคนดี อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แบบนี้บ้าง เป็นต้น อันเป็น กระบวนการจัดการความรู้ ด้านคุณธรรมจริยธรรม อีกแบบหนึ่ง

*** ความในใจของท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ต่อการก่อตั้งศูนย์คุณธรรม
"ศูนย์คุณธรรมเป็นแท่งหนึ่งในสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งเป็นองค์การมหาชน ที่ตั้งขึ้นใหม่ เป็นความคิดริเริ่ม ของผมว่า เราอยากปฏิรูปการศึกษา ที่ไม่อยู่ในระบบ ถ้าปฏิรูปในระบบ ใช้เวลานาน และปฏิรูปยาก วัฒนธรรมที่แข็ง ไม่สามารถแก้ได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ นำออกมาแก้ข้างนอก เมื่อเข้าที่เข้าทางแล้ว ค่อยนำกลับเข้าไปในระบบ เพื่อที่จะได้เปลี่ยนระบบได้ จึงได้ตั้งองค์กรนี้ขึ้นมา

องค์กรนี้เมื่อตั้งขึ้นมาตอนแรกคิดว่า จะมีสักแท่งสองแท่ง แต่ตอนหลังมามีสิ่งที่เรียกว่า Missing Link คือ สิ่งที่มันหายไป ในสังคมไทย เลยนำมาใส่เพิ่ม ไม่ว่าเป็นเรื่อง ให้คนไทยรักการอ่าน หรือ การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ เพราะว่าเรามี ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งเรื่องของการสร้าง Museum ว่าทำอย่างไรให้ Museum มีชีวิตชีวา ไม่ใช่เป็นโรงงานเก็บของเก่า อะไรทำนองนี้ แล้วก็มีอีกหลายอย่าง รวมทั้งศูนย์คุณธรรมเป็นอีกเรื่องในนั้น เมื่อพลตรีจำลอง ศรีเมือง มาบอกผมว่า ต้องการจะตั้งศูนย์ฯ นี้ ผมขานรับทันที เพราะผมถือว่าเป็น Missing Link ที่สำคัญ ไม่ใช่ Missing Link ธรรมดา เป็น Missing Link ที่ใหญ่มาก ๆ ของสังคมไทยด้วย ต้องเข้าใจ กันก่อนว่า วันนี้เราเป็นสังคมที่มีเสรีภาพ เสรีภาพในที่นี้ คือ ทุกอย่าง รวมทั้งเสรีภาพ ทางศาสนา เพราะเรามีความเชื่อว่าทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีเพียงแต่ว่า จะต้องยึดหลักธรรม ขององค์ศาสดาของตนอย่างเคร่งครัด และเข้าใจอย่างถ่องแท้ เราต้องช่วยกัน นำสิ่งที่ดีๆ เหล่านี้ กลับคืนมาในสังคมไทย โดยผ่านศูนย์คุณธรรม ผมขอร้องท่าน ในทุกศาสนา ขอให้ใช้ศูนย์คุณธรรมโดยไม่ต้องเลือกศาสนา เพราะสังคมไทยเรา ไม่ปฏิเสธ เรื่องของเสรีภาพ ในเรื่องของศาสนา และการประกอบศาสนกิจใดๆ เพราะฉะนั้น ศูนย์คุณธรรม จะเป็นที่รวมทุกศาสนา และความเชื่อ แต่ Bottom line ก็อยู่ที่เดียวกัน คือ เราอยากเห็น เพื่อนร่วมชาติของเรา เป็นคนดี คิดดี ทำดี อยู่กับจริยธรรม คุณธรรม เพื่อสังคม ที่เข้มแข็งของเรา..."

(บางส่วนจากปาฐกถาพิเศษของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในพิธีเปิดศูนย์คุณธรรมฯ วันพุธที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๗ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล)

*** วันวารของนราทิพย์ พุ่มทรัพย์ ส่งผลให้เธอมีวันนี้
เนื่องจากคุณพ่อเป็นครูฝึกทหาร เราจึงถูกฝึกเรื่องวินัยตั้งแต่เด็ก ทำอะไรต้องตรงต่อเวลา ทุกอย่าง จะเดินตรงตาม ตารางเวลา ทั้งเมื่อสมัยเรียนจนจบ มาทำงานแล้วก็ตาม ๖ โมงเช้า ออกจากบ้าน เรียนเสร็จกลับบ้าน ไม่เคยไปไหนกับใคร ความที่เราฝึกระเบียบเอาไว้ในตัว มันเหมือนกับฝึก ความรับผิดชอบตั้งแต่เด็ก ทำให้เราทำอะไรต้องทำให้เสร็จ ไม่เสร็จไม่ได้ ถ้ารับงานใครมาแล้ว มันต้องสู้ทำและมุ่งมั่นที่จะทำให้มันได้

ตอนเป็นครู กทม.ที่โรงเรียนวัดประยูรวงศาวาส ความที่เป็นคนขยัน เป็นครูที่ไปถึงโรงเรียนก่อนใคร เป็นคนใฝ่รู้ใฝ่เรียน ใครใช้ให้ทำอะไร เราจะทำหมดทุกเรื่อง สอนแทนครูคนอื่น ก็ไม่มีปัญหา เขาก็ชอบ ต่อมาเมื่อทางโรงเรียน เสนอครูให้ไปเรียน เรื่องวัดผลและวิจัย ๖ เดือน ไม่มีใครสมัคร เราก็สมัคร เรียนอยู่๖ เดือน เสร็จกลับมา ก็เป็นทั้งครูวิจัย และครูวัดผล ของโรงเรียน ออกข้อสอบ เราก็ต้องทำ ปรากฏว่าท่านรองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. สมัยนั้น ท่านต้องการ คนไปทำงาน ที่สำนักการศึกษา เรื่องวัดผล ประเมินโรงเรียน ของ กทม. เราก็ได้ไปทำ นั่งทำงานจนมืดค่ำ ทำงานเต็มกำลัง โดยไม่เคยได้ OT

จากประสบการณ์ตรงนั้น ตลอดเวลาที่เราทำงาน รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้ทำงานยากๆ และมีโอกาส ได้อยู่กับผู้ใหญ่ มันได้ประโยชน์ตรงนี้ พอมีงาน ที่ใหญ่มากขึ้น เราก็ถูกเรียก ไปช่วยราชการ ครูบาอาจารย์ ผู้บริหารเขาก็คุ้นเคย เพราะรู้จักเรามาก่อนว่า เราเป็นคนแบบนี้ เป็นคนทำงาน เคยมีคนถามว่า เครียดไหม เพราะเป็นคน เอาแต่งาน ก็บอกเขาว่า เรามีความสุขกับการทำงาน

*** พานพบคนดี
อาจารย์อาภรณ์ พุกกะมาน ท่านเป็นรองผู้ว่าฝ่ายการศึกษา ในยุคที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่า กทม. สมัยแรก ได้ขอตัวเรา จากโรงเรียน มาช่วยราชการ และทำหน้าที่ เป็นเลขาของรองผู้ว่า ฝ่ายการศึกษาด้วย แต่งานหลักๆ ก็คือเรื่อง การฝึกอบรมคุณภาพชีวิต สร้างเสริมคุณธรรม จริย-ธรรม เราทำงานกันเป็นทีม โดยมีหัวหน้าทีมที่ดี คือ คุณสมพงษ์ ฟังเจริญจิตต์ เรียกว่าเป็นผู้จัดการใหญ่ ในกระบวนการจัดฝึกอบรม ตรงนี้ทำกันนาน ต่อเนื่องถึง ๑๐ กว่าปี เราอบรม ครูโรงเรียน กรุงเทพมหานคร ทั้งหมด รวมทั้ง พนักงานกวาดถนน จนหมดวาระ ของการเป็นผู้ว่าฯ เมื่อพลตรี จำลอง ท่านมาทำเรื่องการอบรม ที่โรงเรียนผู้นำ จังหวัดกาญจนบุรี เราก็ยังตาม ไปช่วยต่อ ตอนนั้น ยังรับราชการ เป็นศึกษานิเทศก์ ไปช่วยเฉพาะ วันเสาร์-อาทิตย์ ทำงานนี้มาตลอด เกือบ ๒๐ ปี ก็เหนื่อยนะ แต่เหนื่อยแบบมีความสุข

*** อนุศาสนีของพุทธมีปาฏิหาริย์จริง
เรามีความมุ่งมั่นอยากทำงานเพราะอยากจะได้ตังค์ ได้ประโยชน์อย่างอื่น คิดว่ามีผลประโยชน์จึงทำ แต่เมื่อได้มา ศึกษาธรรมะ แนวความคิด เริ่มเปลี่ยนไป หันมาทำงาน โดยมุ่งประโยชน์ที่งานจริงๆ รู้จักสันติอโศก เมื่อสมัยจัดงาน ศีลสมโภชน์ ๒๕๒๔ ที่สวนลุม มีพระจากหลายวัดมาปักกลด ขณะนั้นพลตรีจำลอง ศรีเมือง ยังดำรงตำแหน่ง เลขานายกรัฐมนตรี ออกโทรทัศน์ เชิญชวนไปเที่ยวงานวิสาขบูชา มีต้นไม้พูดได้ ไปแล้วก็ได้รับความรู้ มีความเข้าใจเรื่อง ศาสนามากขึ้น นี่เป็นจุดเริ่มต้น หลังจากนั้น ก็ติดตามไปที่ พุทธสถานสันติอโศก และไปต่อเนื่อง ทุกเสาร์-อาทิตย์

ที่นี่เปิดโอกาสให้ผู้หญิง เข้าไปแล้วรู้สึกปลอดภัย นอกจากฟังธรรมแล้วก็ได้ช่วยทำงานวิจัยเรื่องจรณะ ๑๕ การสอนศีล พุทธธรรม จริยธรรมในสังคมไทย ร่วมกับอาจารย์ อาภรณ์ พุกกะมาน ซึ่งก็ตรงกับนิสัยของเรา อยู่ที่ไหนขอให้มีงานเถอะ เราอยากทำ อยากเรียนรู้ ช่วยทำงานโน้นงานนี้ รู้สึกว่า ใช้ชีวิตได้คุ้มค่า แต่ในช่วงหลัง หลายปีมานี้ ห่างวัดไปมาก เพราะงานมากขึ้น ต้องเลือกเอาอย่างใด อย่างหนึ่ง มีเวลาว่างแค่เสาร์-อาทิตย์ ก็ติดงานโรงเรียนผู้นำ ปาเข้าไปเดือนหนึ่ง ประมาณ ๓ ครั้ง เหลืออาทิตย์เดียว อยู่กับพ่อแม่ ซึ่งตอนนี้ ท่านก็อายุมากแล้ว

สิ่งที่เราได้มาจากการศึกษาธรรมะมีเยอะมากเลย เช่น ถ้าเทียบกับสมัยก่อน เรามีความรู้สึกว่า ทุกอย่างเป็นสมบัติของเรา ครอบครัวเรามีที่ดิน มีคนมาเช่า ที่ดินทำนา เราก็จะต้องให้เขา เอาผลประโยชน์มาให้เรา แต่เมื่อมาศึกษาธรรมะ จึงเกิด ความเข้าใจว่าจริงๆ แล้วทุกอย่าง เป็นสมบัติของโลก เพียงแต่เรามีชื่อว่า เป็นเจ้าของเท่านั้น มันเป็นเพียงโอกาส ซึ่งเราไม่น่าไปติดยึด อะไรกับมัน ก็สอนตัวเองว่า ให้มีพอกินพอใช้ มีกินมีอยู่ก็พอแล้ว หลังจากนั้น จึงให้คนทำนาฟรี ตลอดมา ๒๐-๓๐ ปี จนเขาเลี้ยงลูกเต้า โตหมดแล้ว นอกจากให้เขาทำนาฟรี บางครั้งแถมให้เงิน เขาอีก เพื่อเขาจะได้อยู่รอด คนอื่นก็มาพูดว่า ถ้าไม่เก็บค่าเช่า ก็เท่ากับเราไม่ได้อะไรเลย จากที่ดินผืนนั้น แต่เรารู้สึกว่า มันไม่ใช่ ธรรมะทำให้เราเกิด ความชัดเจนว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไร มันมีเท่านี้ เพียงแต่เป็นโอกาสที่เราจะทำประโยชน์ หรือทำสิ่งดีๆ ให้แก่ผู้อื่นและตัวเอง เวลาเห็นคนอื่น ทำอะไรไม่ดี ก็หันมาทบทวนตัวเอง ว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง เรายังทำอะไรที่ยังไม่ดีอีกหรือไม่ ค่อยๆ ตามหาจุดบกพร่องในตัวเราทีละอย่าง และพยายามลดละ เริ่มจากลดละ ความเห็นแก่ตัวลง เสียสละให้ผู้อื่นมากขึ้น แต่ก่อนทำอะไรเราจะคิดถึงแต่ตัวเอง ถึงแม้จะไม่เอาเปรียบคนอื่นแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นคนที่เอาแต่ใจตัวเอง บางทีรู้ทั้งรู้ แต่ใจไปแล้ว ตอนมาทำงาน ฝึกอบรมคุณภาพชีวิต เป็นอีกช่วงชีวิตที่ดีที่สุด เราได้พบเพื่อนดี เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "มิตรดี สหายดี เป็นทั้งหมด ทั้งสิ้นของพรหมจรรย์" บางครั้ง เราทำอะไรผิด เขาก็จะคอยบอกคอยเตือน ด้วยความปรารถนาดี บอกด้วยการกระทำเป็นตัวอย่าง ทำให้ขณะที่เราพัฒนาคนอื่น เราก็ได้พัฒนาตัวเอง มากขึ้นด้วย แม้ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ค่อยๆ ทำไป ความมั่นใจตัวเองก็มีมากขึ้น

*** ตอลสตอยเคยกล่าวว่า "ถ้าคุณอยากกินไก่ คุณจงฆ่ามันด้วยมือคุณเอง"
สมัยก่อนเราผ่านโรงฆ่าสัตว์แถวคลองเตยบ่อย เห็นการฆ่าสัตว์เป็นระยะๆ ยิ่งในช่วงตรุษจีน เห็นไก่ถูกขังเบียดกันอยู่ในสุ่ม เพื่อเตรียมฆ่า บางครั้ง เห็นไก่น้ำตาไหล บางทีเคยเห็น มันดิ้นหนี กันใหญ่ เคยเห็นเขาฆ่าไก่ต่อหน้าต่อตา เกิดมาไม่เคย เห็นชัด ๆ อย่างนั้น ใจเราหายวาบ เขาทำกันขนาดนี้เลยหรือ และเราก็กินเนื้อมันด้วย ตอนนั้น เราคิดโยงใย ไม่ออกนะว่า เนื้อไก่ที่เราซื้อกิน กับตัวไก่ มันเกี่ยวข้องกันยังไง คือความรู้สึก เหมือนมันคนละตัว คนละส่วน แยกจากกัน โดยเด็ดขาด เพราะในชีวิตเกิดมา เราก็เห็นแต่ไก่ในตู้เย็น เห็นหมูที่ตลาด เรากินมันโดยธรรมชาติ แต่ไม่เคยนำมาเชื่อมต่อ ว่าหมูทั้งตัว กับหมูที่อยู่บนเขียง คือตัวเดียวกัน หลังจากนั้น พอเราเห็นเนื้อสัตว์ ก็รู้สึกว่า เอ๊ย! แล้วเราจะทำยังไง ถ้าเราไม่กิน เราจะทำยังไง ในที่สุดก็คิดวิธีแก้ปัญหาได้ วิธีดีที่สุด คือไม่กินมัน จะทำยังไง ก็เขี่ยออกซิ เราทำไป โดยไม่ถามใคร เอาละวะ อย่าไปกินมันเลย ก็ตั้งใจไม่กิน ตั้งแต่นั้นมา เป็นปีเลยนะ เรียกว่า กินแบบไม่รู้อะไรมาก

*** ทำดีมีปัญญา
พ่อกับแม่รู้นิสัยของเราอย่างหนึ่งว่า เวลาทำบุญซึ่งมักจะมีการอุทิศส่วนกุศล แต่เราจะบอกว่า ไม่จำเป็น ความรู้สึกเรา มันบอกว่า ก็ให้ไปแล้ว เราให้ชีวิตพวกมันแล้ว เราจึงไม่ต้อง แผ่ส่วนกุศล ให้เจ้ากรรมนายเวร ให้แล้วก็จบ และยังมีกรณีที่ บางวัดโฆษณาให้คนจับจองซื้อที่ดินบนสวรรค์ได้ เราก็คิดในมุมมองของเราว่า โดยหลักวิทยาศาสตร์ ถ้าสมมุติคนรวย ซื้อที่ดินบนสวรรค์ได้ ก็คงซื้อกันใหญ่ คนรวยก็ได้ขึ้นสวรรค์ ในขณะที่คนจนหมดสิทธิ์ซื้อ เพราะไม่มีเงิน ก็ตกนรกกันหมดซิ พ่อเราชอบทำบุญ สร้างพระ เรามีเหตุผล เถียงกับพ่อ เวลาทำบุญพ่อจะเรียกให้เราจบสตางค์ เราก็ไม่ทำ บอกว่าศาสนาพุทธ ไม่ใช่แบบนี้ ให้ก็คือให้ เราคิดว่าทำแล้วดี มีประโยชน์ก็ทำ พ่อก็เรียก แหย่เราว่า ลูกคอมมิวนิสต์ ตอนเจอพระ ที่สันติอโศก ก็รู้ว่าไม่ใช่แค่เราที่กินเจคนเดียว คนที่นี่กิน เหมือนเรา ก็รู้ว่าสิ่งที่เราทำมา มันถูกแล้ว มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์กับเรา อีกหลายคน แต่ก่อนรู้สึกว่า เราคิดของเราคนเดียว เพราะรอบๆ ตัวพี่น้องเพื่อนฝูง ไม่มีใครคิดเหมือนเรา

*** จัดสรรเวลาในชีวิตให้ครอบครัว
ตื่นตี ๔ ทุกวัน ทำภารกิจอื่นเสร็จก็เล่นโยคะ ต้องแบ่งเวลาให้ดี เตรียมอาหารให้คุณพ่อ ของคุณแม่ ก็เตรียมสำหรับให้ท่าน ใส่บาตรทุกวัน แม้เรากินอาหาร มังสวิรัติ แต่พ่อแม ่ยังกินเนื้อสัตว์ เราก็ทำให้ท่าน ไม่มีปัญหาอะไร เตรียมทุกอย่างให้พร้อม สมัยนี้ทุกอย่างง่าย สะดวก ๖ โมงเช้า เราก็พร้อมออกจากบ้านแล้ว ตอนเป็นศึกษานิเทศก์ กลับบ้าน ประมาณ ๕-๖ โมงเย็น ก็ดูแลเรื่อง อาหารให้คุณพ่อคุณแม่ แต่เดี๋ยวนี้กลับค่ำ เข้านอนประมาณ ๓ ทุ่ม อ่านหนังสือก่อนนอน จัดเวลาเรื่อง ดูแลพ่อแม่ เป็นกิจวัตร ทำมาตลอด มีความรู้สึกว่า พ่อแม่คงจะอยู่กับเราไม่นาน จะต้องแบ่งเวลาให้ ถ้าต้องไปโรงเรียนผู้นำ ที่เมืองกาญจน์ น้องจะเป็นคนดูแล พ่อแม่แทน แต่ถ้าเราอยู่ ก็จะรับภาระดูแลเอง เพราะคิดว่า พ่อแม่คือพระในบ้าน ถ้าเราไม่ดูแลพระของเรา ก็ไม่รู้จะไปดูแลใคร หากเราหมดภาระ จากพระในบ้านแล้ว ก็คงจะมีเวลารับภาระ ในส่วนอื่น ที่เราจะทำได้ให้มากขึ้น

*** ความอดทน คือการชดใช้กรรม
เราใช้ร่างกายเยอะมาก ผ่าตัด ๕ หน นับเฉพาะที่วางยาสลบนะ หนสุดท้ายหนักหน่อย ครั้งแรกประมาณ ป.๔ โยนสตางค์เล่น สตางค์ติดคอ ยังโชคดี ไม่ติดหลอดลม ครั้งที่ ๒ ผ่าระบบสายตา ซึ่งเกิดความผิดปกติปรับให้เป็นปกติ ครั้งที่ ๓ ผ่าตัดไทรอยด์ ตอนนั้นทำงานอยู่ กทม. งานคงเครียด ครั้งที่ ๔ เนื้องอกในมดลูก หมอก็ผ่าตัดออกหมด โชคดีไม่เป็นมะเร็ง ครั้งที่ ๕ เมื่อปี ๔๖ เป็นที่ปอด หมอคิดว่าเราสูบบุหรี่จัด เพราะดูแล้วปอดเหมือนของคนอายุสัก ๗๐ ที่สูบบุหรี่จัด ปอดดำไปส่วนหนึ่งจนหมอต้องตัดทิ้ง การผ่าตัด แต่ละครั้ง เราก็รู้สึกใกล้ชิด กับความตาย เข้าไปทุกครั้ง ยิ่งรอบสุดท้าย เจ็บมาก ไม่ไหวเลย รู้สึกทรมานมาก หมอบอกไม่แน่ใจว่า จะเป็นมะเร็งหรือเปล่า ต้องตัดชิ้นเนื้อ ไปตรวจ เราก็เตรียมใจ เตรียมพร้อม ยอมรับทุกอย่าง สุดท้ายหมอบอกโชคดีอีกที่ไม่ได้เป็นอะไร ก็คิดว่าเป็นบุญของเรา รู้สึกมันเป็นสิ่งดี เพราะความเจ็บป่วย ทำให้ได้ความคิดว่า ถ้าคนเราตั้งใจ ทำอะไรดีๆ บางครั้งอาจมีวิบากกรรมบ้าง เราก็ต้องยอมรับสภาพนั้น จริงๆ แล้ว คนเรามีเวลาไม่มาก ซึ่งไม่ใช่ว่า จะได้โอกาสมาง่ายๆ จงอย่าละเลยโอกาส ที่จะทำความดีนั้น อย่าผัดวัน ประกันพรุ่ง เพราะโอกาสเมื่อผ่านไปแล้ว อาจผ่านไปเลย

*** พบคำตอบให้แก่ชีวิต
เคยมีความตั้งใจจะลาออกจากราชการไปช่วยที่โรงเรียนผู้นำเต็มตัว พอบอกพ่อแม่ ดูท่านไม่ค่อย สบายใจ พ่ออยากให้ลูก รับราชการ ต่อมาท่าน พลตรีจำลอง ศรีเมือง ชวนมาทำงาน ที่ศูนย์คุณธรรม อย่างน้อยเพื่อให้พ่อรู้ว่า เราก็ยังทำงานอยู่ ศูนย์ฯ นี้จะอยู่กี่ปี หรือเราจะทำได้อีกนานเท่าไร ก็รู้สึกว่าเป็นโอกาส ที่เปิดให้เรา จบจากงานนี้ ก็คือเท่านั้น ถ้าถามว่า จะกลับไป ทำงานรับราชการที่ กทม. อีกไหม ก็คงไม่แล้ว มันพอแล้วกับชีวิต ในระบบราชการที่ผ่านมา

เมื่อเสร็จจากภาระทุกอย่าง เป้าหมายสุดท้ายที่เราจะทำคืองานบุญทั้งหมด เพราะชีวิตมันพอแล้ว ความพอของแต่ละคน มีแค่ไหนตอบยาก คนที่ยังไม่พร้อม คิดทำอะไร มันจะสับสนตัวเอง แต่ถึงวาระหนึ่ง เราจะรู้ว่าชีวิตเราจะเดินไปตรงไหน จะทำอะไร แล้วเราจะมีความสุข เมื่อสามารถ พัฒนาตัวเองถึงระดับหนึ่ง เราจะยืนยันได้ว่า ไม่ว่าเงินเท่าไหร่ เรารู้เลยว่า จะไม่โกงแน่นอน เราเคยถามตัวเองว่า แสนหนึ่งโกงไหม ล้านหนึ่งโกงไหม เราตอบตัวเองได้ว่า เท่าไหรก็ไม่โกง ข้อสำคัญคือ ชีวิตที่ได้จาก การปฏิบัติธรรม จะทำให้ความต้องการ ของเราลดลง และความมั่นใจ ที่จะไม่โกงก็จะมีมากขึ้นๆ สถาบันศาสนา จะเป็นตัวช่วยเรามากที่สุด ไม่ว่าเราจะยึดมั่น ในศาสนาอะไร ก็ตาม แต่เราต้องยึด ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง จึงจะมีพลัง ในการช่วยพัฒนาตัวเรา เราโชคดีที่เข้าใจ และเจอพ่อท่าน เพราะสมัยนั้น เรายังสับสนตัวเองมาก เพราะมันไม่มี รูปธรรม ไม่มีตัวอย่าง ให้ยึดเป็นแบบ พอมีตัวอย่างให้เห็น เราเข้าใจได้ทันทีว่า นี่คือตัวศาสนาพุทธ ที่เป็นพุทธแท้ๆ

วันนี้ถ้าถามว่าทำได้แค่ไหนแล้ว ก็ตอบว่ายังอีกยาวไกลในเรื่องการปฏิบัติธรรม เหมือนเพิ่งอยู่ชั้น อนุบาล ประถมยังไม่ค่อย จะรอด แต่ก็ไม่สับสนแล้ว เพราะชัดแล้วว่า ชีวิตเกิดมา เพื่อจะทำอะไร ทำอย่างไร แต่ถ้าคนเราไม่มีศาสนาเป็นตัวยึด เราเชื่อว่าชีวิตจะสับสน เพราะมันจะติดยึดในลาภ ยศ สรรเสริญ มันจะเข้ามาครอบงำเรา ซึ่งมันมีโอกาสเกิดขึ้น ตลอดเวลา แต่ว่าถ้ามีธรรมะจากการปฏิบัติ มันจะคอยคุ้มครอง และทำให้เราไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจ บงการของจิต ที่คิดไม่ดีนั้นๆ มันจะมีคำตอบ


 

ชื่อ นางสาว นราทิพย์ พุ่มทรัพย์ ศาสนาพุทธ
เกิด
๑๕ เมษายน ๒๔๙๗
ที่อยู่
๕๑ ตรอกศรีภูมิ ถนนอินทรพิทักษ์ แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพฯ ๑๐๖๐๐

การทำงาน
๒๕ พ.ย. ๒๕๔๗ ผู้อำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม
๑๕ ส.ค. ๒๕๔๗ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม
๕ ก.พ. ๒๕๔๗ ช่วยราชการสำนักงานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หัวหน้าคณะทำงาน เรื่องการดำเนินการ จัดตั้ง ศูนย์ส่งเสริม และพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม
๒๕๔๔-๒๕๔๗ ศึกษานิเทศก์ ๘ หัวหน้าฝ่ายวางแผนวิจัยและบริหารการศึกษา หน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักการศึกษา รักษาการ ในตำแหน่ง หัวหน้าหน่วย ศึกษานิเทศก์
๒๕๓๙-๒๕๔๔ ศึกษานิเทศก์ ๘ ฝ่ายวางแผนวิจัยและบริหารการศึกษา
๒๕๓๕-๒๕๓๙ ศึกษานิเทศก์ ๖ ฝ่ายบริหารในสถานศึกษา
๒๕๓๒-๒๕๓๕ ศึกษานิเทศก์ ๖ ฝ่ายพัฒนาการเรียนการสอนกลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัย

ประวัติการศึกษา
๒๕๓๗ การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
๒๕๒๑ การศึกษาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
๒๕๑๗ ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง วิทยาลัยครูธนบุรี

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๗ เมษายน ๒๕๔๗ -