ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ - สมณะโพธิรักษ์ -
(ต่อจากฉบับที่ ๑๗๖)
แวะออกไปอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกถ้วน (สัมมา) กันพอสมควรแล้ว ทีนี้มาอธิบายเรื่อง "ปฏิจจสมุปบาท" กันให้แจ่มกระจ่างชัดแจ้งดูบ้าง จะได้รู้จุดที่เราจะ "ดับภพจบชาติ" กันได้อย่างไร
เริ่มต้นตัวแรกของปฏิจจสมุปบาท คือ"อวิชชา" เพราะเหตุว่า คนมี "อวิชชา" (ความไม่รู้) จึงไม่รู้"ปฏิจจสมุปบาท" ทั้งสาย ซึ่งมี ๑๒ สภาพ เพราะคนยังมี ๑.อวิชชา จึงไม่รู้จัก ๒.สังขาร ๓.วิญญาณ ๔.นามรูป ๕.สฬายตนะ ๖.ผัสสะ ๗.เวทนา ๘.ตัณหา ๙.อุปาทาน ๑๐.ภพ ๑๑.ชาติ ๑๒.ชรา มรณะ แล้วก็มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข โทมนัส อุปายาส ไม่มีวันจบสิ้น เป็น"วัฏสงสาร"หมุนเวียนเปลี่ยนแปรตกนรกขึ้นสวรรค์ ไปตลอดกาลนาน "ดับภพจบชาติ" ไม่ได้
เพราะฉะนั้น จะดับภพจบชาติ ลงได้เด็ดขาดก็ต้องรู้จักรู้แจ้งรู้จริง"ภพ"และ"ชาติ" และเหตุที่ทำให้"เกิดภพเกิดชาติ"อยู่ ให้ได้ นั่นก็คือ ต้องรู้ด้วย"วิชชา" ซึ่งพระพุทธเจ้า ทรงสอนไว้แล้ว เป็น"สามัญผล" (ผลที่ทำให้เป็นสมณะ) ซึ่งได้แก่ "วิชชา ๘" (ที่บางทีอาตมาก็เรียกว่า"วิชชา ๙"นั่นเอง) มีในศาสนาพุทธเท่านั้น ไม่สามารถรู้ได้ด้วยศาสตร์หรือวิชาอื่นใด ในปฏิจจสมุปบาทมี "อวิชชา"เป็นเหตุ ภพ-ชาติจึงเกิดอยู่ไม่รู้จบสิ้น ดังนั้น จะต้องศึกษาและปฏิบัติละล้าง"อวิชชา"แล้วก็จะเกิด "วิชชา ๘" ไปตามลำดับ จึงจะมีหวังสิ้นภพจบชาติ
ดังนั้น การศึกษาของพระพุทธเจ้าจึงต้องแก้ที่ "อวิชชา" ทำอย่างไร "อวิชชา"หรือ"ความไม่รู้" จะเกิดเป็น"ความรู้"หรือเป็น "วิชชา" แล้วจึงจะทำให้สามารถรู้จัก รู้แจ้งรู้จริงสภาพต่างๆทั้งหมดนั้นได้
มีคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่หยั่งลึกลงไปรู้แจ้งความจริงแห่งความจริงที่สุดถึงความเป็น"ภพ" เป็น"ชาติ"ปานฉะนี้ พระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๖๑ (อวิชชาสูตร) และข้อ ๖๒ (ตัณหาสูตร) พระองค์ตรัสไว้ชัดเจนว่า "อวิชชา"มีอาหาร ถ้าผู้ใดไม่สามารถเรียนรู้"อาหารของอวิชชา" และความเป็น"อาหาร"ต่างๆอีก ที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกัน แล้วพยายาม ปฏิบัติลดเลิก"อาหาร" แก่สิ่งเหล่านั้นอย่างจริงจัง "ภพ-ชาติ"มันก็ไม่จบ ไม่สิ้นซากอย่างถาวรไปได้แน่นอน "อวิชชา"ก็ไม่หมด "วิชชา"ก็ไม่เกิด "วิมุติ" ก็ไม่มีขึ้นมาได้เด็ดขาด
อาหารของ"อวิชชา" คืออะไร?
อาหารของ"อวิชชา"คือ นิวรณ์ ๕ และ...
อาหารของ"นิวรณ์ ๕"คือ ทุจริต ๓ (กาย,วจี,มโน)
อาหารของ"ทุจริต ๓"คือ การไม่สำรวมอินทรีย์
อาหารของ"การไม่สำรวมอินทรีย์"คือ ความไม่มีสติสัมปชัญญะ
อาหารของ"ความไม่มีสติสัมปชัญญะ" คือ การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย
อาหารของ"การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย" คือ ความไม่ศรัทธา
อาหารของ"ความไม่ศรัทธา"คือ การไม่ฟังสัทธรรม
อาหารของ"การไม่ฟังสัทธรรม"คือ การไม่คบสัปบุรุษ
ดังนั้น...
การไม่คบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรม ให้บริบูรณ์
การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีศรัทธา ให้บริบูรณ์
ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจไม่แยบคาย ให้บริบูรณ์
การทำไว้ในใจไม่แยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีสติสัมปชัญญะ ให้บริบูรณ์
ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่สำรวมอินทรีย์ ให้บริบูรณ์
การไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังทุจริต ๓ ให้บริบูรณ์
ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังนิวรณ์ ๕ ให้บริบูรณ์
นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังอวิชชา ให้บริบูรณ์
อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้
แล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสต่อไปอีกว่า...
วิชชาและวิมุติมีอาหาร มิใช่ไม่มีอาหาร
อาหารของวิชชาและวิมุติ คือ โพชฌงค์ ๗
อาหารของโพชฌงค์ ๗ คือ สติปัฏฐาน ๔
อาหารของสติปัฏฐาน ๔ คือ สุจริต ๓
อาหารของสุจริต ๓ คือ การสำรวมอินทรีย์
อาหารของการสำรวมอินทรีย์ คือ สติสัมปชัญญะ
อาหารของสติสัมปชัญญะ คือ การทำไว้ในใจโดยแยบคาย
อาหารของการทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือ ศรัทธา
อาหารของศรัทธา คือ การฟังสัทธรรม
อาหารของการฟังสัทธรรม คือ การคบสัปบุรุษ
ดังนั้น...
การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรม ให้บริบูรณ์
การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์
และอื่นๆ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสิ่งต่อมาให้บริบูรณ์ตามลำดับไปจนกระทั่ง...
สุจริต ๓ (กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต) ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์
สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์
วิชชาและวิมุตินี้ มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้
นั่นหมายความว่า ถ้าเราไม่ให้อาหารแก่สิ่งที่ไม่ควร และให้อาหารในสิ่งที่ควร เราก็สามารถที่จะบรรลุ"วิชชาและวิมุติ"ถึงขั้นบริบูรณ์ได้แน่นอน
เพราะฉะนั้น เราก็ต้องเรียนรู้วิธีปฏิบัติเพื่อ"ลด"และ"เพิ่ม"ความเป็นอาหารต่างๆ ดังกล่าวมานั้น ให้เกิดจริงเป็นจริง
ต้องกำชับกันก่อนนะว่า "อวิชชา"นี้มิได้หมายถึง "ความไม่รู้" ที่ไม่รู้อะไรต่างๆทั่วไปทั้งหมด "อวิชชา" ของศาสนาพุทธ คือ ความไม่รู้ใน"อาริยสัจ ๔" และไม่รู้ใน"ส่วนที่เป็นอดีต-ส่วนที่เป็นอนาคต -ส่วนที่เป็นทั้งอดีตและส่วนที่เป็นอนาคต-ปฏิจจสมุปบาท" นี่อีก ๔ รวมแล้วก็เป็น "อวิชชา ๘"
"อาหารของอวิชชา" คือ "นิวรณ์ ๕" ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว ซึ่งเป็นจุดต้นของเรื่องอาหารตาม"อวิชชาสูตร"นี้ เราก็ต้องหาทางเรียนรู้ฝึกฝน จนกระทั่ง สามารถลดละ อาหาร ที่เป็น "นิวรณ์ ๕"ให้ได้
ทีนี้..มาดูกันอีกขั้วหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้น"อาหาร" ของ"วิชชาและวิมุติ"บ้าง ซึ่งเป็นขั้วที่ตรงกันข้ามของ"อวิชชา" ก็ได้แก่ โพชฌงค์ ๗ ส่วน"อาหารของโพชฌงค์ ๗" ได้แก่ "สติปัฏฐาน ๔"
และอาหารของ "สติปัฏฐาน ๔" ก็คือ "สุจริต ๓" ซึ่งหมายถึง (๑)กายสุจริต ได้แก่ งดเว้น..ปาณาติบาต-อทินนาทาน-กาเมสุมิจฉาจาร (๒)วจีสุจริต ได้แก่ งดเว้น..การพูดปด-การพูดหยาบ -การพูดส่อเสียด-การพูดเพ้อเจ้อ (๓)มโนสุจริต ได้แก่ ความไม่โลภหรือความไม่จ้องแต่จะเอา(อนภิชฌา) ความไม่พยาบาท และสัมมาทิฏฐิ
สุจริต ๓ (กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต) ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์
สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยัง โพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยัง วิชชาและวิมุติ ให้บริบูรณ์
วิชชาและวิมุตินี้ มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้
ส่วนทางด้าน"อวิชชา"นั้น "นิวรณ์ ๕"เป็นอาหารของ"อวิชชา" อาหารของ"นิวรณ์ ๕" คือ "ทุจริต ๓" ซึ่งหมายถึง ๑.กายทุจริต ได้แก่ ..ปาณาติบาต -อทินนาทาน -กาเมสุมิจฉาจาร ๒.วจีทุจริต ได้แก่ การพูดปด-การพูดหยาบ-การพูดส่อเสียด-การพูดเพ้อเจ้อ ๓.มโนทุจริต ได้แก่ ความโลภหรือความจ้องจะเอาๆ(อภิชฌา)-ความพยาบาท และ มิจฉาทิฏฐิ
ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังนิวรณ์ ๕ ให้บริบูรณ์
นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังอวิชชา ให้บริบูรณ์
อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้
ดังนั้น ถ้าผู้ใดศึกษาปฏิบัติตนจนสามารถสร้าง"อาหาร" ที่เข้าขั้น "โพชฌงค์ ๗" และ"สติปัฏฐาน ๔" สำเร็จ ผู้นั้นก็ ลด"นิวรณ์ ๕" ลงได้เป็นมรคผลกันล่ะ
อาหารของ"อวิชชา"คือ นิวรณ์ ๕ เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดสามารถปฏิบัติทำให้นิวรณ์ ๕ ลดละหมดสิ้นไปได้ ไม่ว่าจะปฏิบัติ"ไตรสิกขา" หรือปฏิบัติ"จรณะ ๑๕" หรือปฏิบัติ"มรรคอันมีองค์ ๘" ล้วนเป็นหลักปฏิบัติที่ลด"นิวรณ์ ๕"ได้ด้วยกันทั้งนั้น
-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๗ เมษายน ๒๕๔๗ -