ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา - สุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง -
กระบวนการวิเคราะห์และปฏิบัติตามแนวพระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม ๔ ประการ
ต่อจากฉบับที่ ๑๗๖
บทที่ ๓ การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา
การจับประเด็นปัญหา การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา และการกำหนดขอบเขตเป้าหมายในการแก้ปัญหา เป็นกระบวนการ ๓ ขั้นตอน ที่มีความเกี่ยวเนื่อง สัมพันธ์กัน อย่างแนบแน่น จนแยกออกจากกันได้ยาก
ทั้งนี้เมื่อสามารถจับประเด็นปัญหาหลักที่เป็นภาวะความบีบคั้นได้แล้ว เช่น บางคนมีภาวะความบีบคั้น เป็นทุกข์ในวัยเรียน จากปัญหาการเรียน ปัญหาการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ปัญหาเรื่องแฟน ปัญหาพ่อแม่ไม่รัก ปัญหาเข้ากับเพื่อนฝูงไม่ได้ ปัญหาพ่อแม่ ทะเลาะกัน ปัญหาความยากจน เมื่อโตขึ้น ก็อาจมีภาวะ ความบีบคั้น เป็นทุกข์ จากปัญหา การประกอบอาชีพ ปัญหาหนี้สิน ปัญหาครอบครัว ปัญหาการไม่ได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงาน ปัญหาความรู้สึก มีฐานะต่ำต้อยกว่าคนอื่น ปัญหาการไม่ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ตามที่ปรารถนา ตลอดจน เมื่อแก่ชรา ก็อาจมีภาวะความบีบคั้น จากปัญหาสุขภาพ ปัญหาลูกหลานทอดทิ้งไม่ให้ความสำคัญ ฯลฯ อันจะต้องวิเคราะห์ สาเหตุของ ปัญหา ต่างๆ ดังกล่าว เพื่อกำหนดขอบเขต เป้าหมายในการแก้ปัญหาต่อไป
๓.๑ ความต้องการของชีวิต
อับราฮัม เอส.มาสโลว์ นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียง ได้สังเกตพฤติกรรมของมนุษย์และสร้างเป็นทฤษฎีว่า
มนุษย์มีความต้องการ ตามลำดับขั้นอยู่ ๕ ระดับ โดยเมื่อสามารถ แสวงหาสิ่งตอบสนอง
ความต้องการ ในลำดับ ขั้นตอนหนึ่งๆ อย่างเพียงพอแล้ว มนุษย์ก็จะถูกบีบคั้นด้วยแรงผลักดันทางจิตวิทยา
ให้ต้องดิ้นรน แสวงหา สิ่งตอบสนอง ความต้องการ ในระดับขั้นที่สูงขึ้น ตามลำดับต่อไป
ได้แก่
๑. ความต้องการทางกายภาพ (Physiological Needs) มนุษย์ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ล้วนแต่มี ความต้องการ พื้นฐานประการแรก ในการแสวงหาปัจจัย เพื่อการดำรงชีวิต อาทิ ต้องการอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เป็นต้น หากขาด ปัจจัยพื้นฐานของชีวิตเหล่านี้ ประการใด ประการหนึ่ง ก็จะก่อให้เกิดปัญหา ภาวะความบีบคั้นเป็นทุกข์ขึ้น และต้องดิ้นรนแสวงหา สิ่งตอบสนอง ความต้องการดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาของชีวิต เช่น คนที่เรียนจบมาใหม่ๆ และครอบครัวมีฐานะยากจน ก็จะรีบหางานทำ ทันที แม้จะเป็นเพียง ลูกจ้างชั่วคราว ก็ขอทำก่อน เพื่อจะมีรายได้ซื้อหาปัจจัยพื้นฐาน ในการดำรงชีวิต เป็นต้น
๒. ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (Safety Needs) เมื่อได้สิ่งตอบสนองความต้องการ ทางกายภาพ เพียงพอแล้ว มนุษย์จะเริ่มแสวงหา ความมั่นคง ปลอดภัย เพื่อสร้างหลักประกันของชีวิต ที่จะมีสิ่ง ตอบสนอง ความต้องการ ทางกายภาพนั้น ตลอดไป คนที่เคยเป็นลูกจ้างชั่วคราว ก็จะเริ่มดิ้นรน หาทางบรรจุ เป็นลูกจ้างประจำ หรือเป็นข้าราชการเพื่อความมั่นคงของชีวิต คนที่เคยมีเงินออม ๑๐๐,๐๐๐ บาท ก็คิดที่จะหาทางรักษา เงินออมจำนวนนั้น เพื่อเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉินให้ยาวนานที่สุด ด้วยการ หาเงินออม มาให้ได้อีก ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หากมีความจำเป็นจะได้ใช้เงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ก้อนที่สองนั้น และเก็บเงินออม ๑๐๐,๐๐๐ บาท ก้อนแรกไว้นานๆ) เมื่อได้เงินออม ๒๐๐,๐๐๐ บาท เป็นหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตแล้ว วิธีการที่จะรักษา ความมั่นคง ดังกล่าว ให้ยาวนาน ก็คือการดิ้นรน หาเงินให้ได้อีก ๒๐๐,๐๐๐ บาท (เพื่อหากมีความจำเป็น จะได้ใช้เงินจากกอง ๒๐๐,๐๐๐ บาทก้อนที่สอง และเก็บเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ก้อนแรกไว้นานๆ) ขณะเดียวกัน เพื่อจะรักษาเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท ที่เป็นหลักประกัน ของชีวิตดังกล่าว ให้ยืนนานมั่นคง ก็ต้องพยายามหาเงินอีก ๔๐๐,๐๐๐ บาท มาเผื่อไว้ สำหรับใช้จ่ายยามจำเป็น (และเก็บเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท ก้อนแรก ไว้เป็นหลักประกัน ของชีวิตต่อไป) ฯลฯ ผลที่สุดด้วยตรรกะ ของวิธีคิด สร้างความมั่นคง ปลอดภัยแบบนี้ มนุษย์ก็จะถูกบีบคั้น ให้ต้องดิ้นรนแสวงหา ทรัพย์สินสมบัติ มากักตุนสะสม เพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ ไม่สิ้นสุด
๓. ความต้องการทางสังคม (Social Needs) เมื่อมีหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตแล้ว มนุษย์ก็จะเริ่ม แสวงหา สถานภาพทางสังคม เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ ยกย่อง ของคนอื่น คนที่ได้ตำแหน่ง เป็นข้าราชการประจำ อันมีความมั่นคงในชีวิต ระดับหนึ่งแล้ว ก็จะเริ่มวิ่งเต้น หาทางโยกย้าย ไปอยู่ในตำแหน่ง ที่มีศักดิ์ศรีมากขึ้น มีอำนาจมากขึ้น หรือคนที่ไต่เต้า จากพื้นฐาน ที่ไม่มีฐานะ ทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาอะไร จนสามารถ สร้างกิจการ ของตนเอง ให้มีความมั่งคั่ง ร่ำรวยแล้ว ก็จะหาทาง เรียนต่อ ในหลักสูตรพิเศษ ต่างๆ เพื่อให้มีใบ ปริญญา อวดคนอื่นกับเขาบ้าง (โดยอาจไม่คำนึงถึง การมีความรู้ มากนัก) ฯลฯ โดยหวังว่าสิ่งเหล่านี้ จะเป็น สัญลักษณ์ ที่นำไปสู่การสร้าง ความยอมรับ ยกย่องจากสังคมมากขึ้น
๔. ความต้องการความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self Esteem) เมื่อมีหลักประกันความมั่นคง ของชีวิต และมีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับ ของสังคม ตลอดจนได้ลาภ ยศ สรรเสริญโลกียสุขต่างๆ ครบหมดแล้ว ชีวิตที่เริ่มรู้สึกเคว้งคว้าง ว่างเปล่านั้น จะผลักดันให้มนุษย์ เริ่มแสวงหาสิ่งท้าทายใหม่ๆ ที่สร้างความภาคภูมิใจให้ตัวเอง เพื่อเติมความรู้สึก ว่างเปล่าของชีวิตให้เต็ม บางคนอาจหันมาทำงาน ริเริ่มสร้างสรรค์ โครงการที่เป็นประโยชน์ ต่อสังคมด้านต่างๆ ทั้งที่อาจมีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือรายได้ลดน้อยกว่าเดิม เศรษฐีบางคนก็เสี่ยงชีวิตไปปีนภูเขาหิมาลัยบ้าง นั่งบอลลูนรอบโลกเพื่อทำสถิติบ้าง ไปท่องอวกาศบ้าง ฯลฯ ทั้งที่เป็นกิจกรรม สิ้นเปลืองเงินทองจำนวนมาก เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต และต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากต่างๆ โดยไม่ก่อให้เกิดผลผลิต ตอบแทนใดๆ แต่ก็สร้าง ความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำสิ่งท้าทายนั้นๆ เป็นผลสำเร็จของชีวิต
๕. ความต้องการประจักษ์ถึงความจริงเกี่ยวกับตัวเอง (Self Actualization) เมื่อได้รับสิ่งตอบสนอง ความต้องการ ตามลำดับขั้น ครบทั้ง ๔ ประการข้างต้นแล้ว ชีวิตที่ดูจะสมหวังในทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เริ่มมีความรู้สึก เคว้งคว้าง ว่างเปล่าอีก และจะผลักดัน ให้มนุษย์หันกลับมาแสวงหาคำตอบพื้นฐานเกี่ยวกับความหมายของชีวิต หรือตำแหน่ง แห่งที่ของตนเองที่อุบัติมาในโลกนี้ และกำลังจะต้องลาจากโลก อันน่าอภิรมย์ สมหวังดังกล่าว ไปในอีกไม่ช้า ไม่นานนัก อย่างที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ หลายคนอาจเริ่ม หันกลับมาแสวงหา แก่นสารความหมายของชีวิต จากศาสนาที่ตนนับถือ คนแก่หลายคนจึงใช้ชีวิตบั้นปลาย กับการเข้าวัดเข้าวา ศึกษาปฏิบัติธรรม เนื่องจากได้ผ่าน ขั้นตอนของพัฒนาการในชีวิตตามลำดับขั้นครบหมดแล้ว
ภายใต้กรอบแนวคิดที่กล่าวมาข้างต้น ภาวะความบีบคั้นเป็นทุกข์ อันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับชีวิตนั้น มองโดย ภาพกว้างแล้ว ก็อาจมีสาเหตุ จากการติดอยู่ในขั้นตอนแห่งพัฒนาการขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของชีวิต ที่ยังไม่ได้รับ สิ่งตอบสนอง ความต้องการ ในลำดับขั้นตอนนั้นๆ สมตามที่ปรารถนา
แต่สำหรับคนที่สามารถพัฒนาผ่านขั้นตอนดังกล่าวมาได้โดยเร็ว ก็จะเป็นอิสระจากภาวะความบีบคั้น โดยไม่รู้สึกว่า เรื่องนั้นๆ เป็นปัญหาอะไรสำหรับตนเหมือนที่คนอื่นรู้สึก
ด้วยเหตุนี้คนบางคนถึงแม้จะไม่มีทรัพย์สินเงินทองอะไรมาก ไม่มีรถยนต์ ไม่มีเครื่องแต่งกายราคาแพง ไม่มีบ้าน ที่หรูหราสุขสบาย ไม่มีเกียรติยศชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของสังคม ฯลฯ แต่ก็มีความสุขกับชีวิตที่สมถะเรียบง่าย และพึงพอใจ กับการทำงานที่ตนรู้สึก ภาคภูมิใจ ตลอดจนเห็นแก่นสารคุณค่าของงานนั้นๆ ทั้งที่เป็นงาน ซึ่งไม่ได้รับค่าตอบแทนอะไรมาก
อาทิ บางคนมีความสุขกับชีวิตการเป็นครูชนบทชั้นผู้น้อย ที่ได้สอนเด็กยากจนด้อยโอกาส เพื่อให้เด็กเหล่านั้น มีความรู้เป็นที่พึ่ง ของชีวิต เติบโตขึ้นโดยไม่ต้องไปเป็นโจร หรือไปเป็นหญิงขายบริการ แม้อาชีพรับราชการครู จะมีเงินเดือนเพียงเล็กน้อย แค่พอกิน พอใช้อย่างประหยัดในครอบครัวก็ตาม แต่ก็มีความพึงพอใจกับชีวิตดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากคนผู้นั้น สามารถยกระดับ พัฒนาการ ของชีวิตมาจนถึงขั้นที่ ๔ ในขณะที่เศรษฐีบางคน มีเงินมากมาย มหาศาลนับร้อยล้าน ก็ยังเป็นทุกข์กังวลจนนอนไม่หลับ กับปัญหาภาวะ ความบีบคั้น ที่ผลักดันให้ต้องดิ้นรน ขยายกิจการเพื่อแสวงหาทรัพย์สินเงินทองเพิ่มมากขึ้นๆ ไม่รู้จบ เพราะยังติดอยู่แค่ พัฒนาการของชีวิตในขั้นที่ ๒ ตามที่กล่าวมา เป็นต้น
๓.๒ ภาวะความบีบคั้นจากความกลัว
ในพลสูตร อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงแรงผลักดันทางจิตวิทยาที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ตามลำดับขั้น
๕ ระดับ คล้ายคลึง กับทฤษฎีของมาสโลว์ แต่มีมิติในเชิงจิตวิทยาที่ลึกกว่า เพราะมองจากมิติของความกลัว
ในจิตส่วนลึก ที่ผลักดัน ให้มนุษย์เกิดพฤติกรรมความต้องการต่างๆ โดยทรงชี้ ให้เห็นว่า
มนุษย์ทั่วไปถูกบีบคั้นจากความกลัว ๕ ระดับ ได้แก่
๑. ภัยอันเนื่องด้วยการดำรงชีวิต (อาชีวิตภัย) เพราะมนุษย์มีธรรมชาติของความกลัวต่อภัยประการแรก คือ ภัยอันเนื่องด้วย การดำรงชีวิตกลัวต่อความอดอยากหิวโหย กลัวการเจ็บไข้ได้ป่วย กลัวการมีชีวิตที่ทุกข์ยาก ลำบาก โดยไม่มี สิ่งอำนวยความสะดวก สบาย ฯลฯ ส่งผลให้มนุษย์มีพฤติกรรม ที่จะดิ้นรน แสวงหา สิ่งตอบสนอง ความต้องการต่างๆ ทางกายภาพ (Physiological Needs) เช่น แสวงหา ทรัพย์สินเงินทอง มาสะสมไว้มากๆ เพื่อจะได้ มีหลักประกัน ในการซื้อหา สิ่งตอบสนองความต้องการ ทางกายภาพ ที่จะช่วยให้ชีวิต (ในมิติทางกายภาพ) สามารถดำรงอยู่รอดได้อย่างเป็นปรกติสุข เป็นต้น
๒. ภัยอันเนื่องด้วยการถูกโลกตำหนิ (อสิโลกภัย) มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและมีธรรมชาติ ของความกลัวต่อ ภาวะการแปลกแยก (Alienation) จากสังคม ส่งผลให้มนุษย์ มีพฤติกรรม ในการแสวงหาความต้องการทางสังคม (Social Needs) และมีแนวโน้ม ที่จะสร้างระบบวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีต่างๆ ขึ้นมา เพื่อยึดโยงผู้คน ในสังคม ไม่ให้มีความแปลกแยกจากกัน โดยมนุษย์มีแนวโน้มจะดิ้นรนแสวงหา ความยอมรับจากสังคมที่คนผู้นั้น เป็นสมาชิกอยู่ ภายใต้แบบชีวิต ของระบบวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีที่สังคม ดังกล่าวยึดถือ เพื่อช่วยให้ชีวิต (ในมิติทางสังคม) สามารถดำรงอยู่ได้อย่างเป็นปรกติสุข
๓. ภัยอันเนื่องด้วยความสะทกสะท้านในบริษัท (ปริสสารัชภัย) มนุษย์ปุถุชนทั่วไปที่ยังมีอุปาทานยึดมั่น ในอัตตา ตัวตน จะมีธรรมชาติ ของความกลัว ต่อการสูญเสีย อัตตลักษณ์ (Self Identity) ในภาวะความดำรงอยู่ แห่งตัวตน ของตน หรือสูญเสีย ตำแหน่งแห่งที่ ของตัวตนที่ชัดเจน ภายใต้บริบทของสภาพสังคม สิ่งแวดล้อมนั้นๆ ส่งผลให้มนุษย์ มีแนวโน้มของพฤติกรรม ในการแสวงหาภาวะ แห่งความเป็นตัวตน หรือแสวงหาความรู้สึก ภาคภูมิใจ ในตัวเอง (Self Esteem) จากในสถานะใด สถานะหนึ่ง โดยถ้าไม่สามารถ กำหนดจุดยืน ที่ชัดเจน ของตัวตน ในจุดใดจุดหนึ่ง บุคคลผู้นั้นก็จะมีความสับสนในชีวิต และรู้สึกสูญเสีย ความมั่นใจในตัวเอง ที่จะดำรงชีวิต (ในมิติทางด้านอารมณ์ความรู้สึก) อยู่ต่อไปในโลกนี้
-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๗ เมษายน ๒๕๔๗ -