เรื่องสั้น - ธารธรรม -
อาหารหมา


ความกลัวบาป และมักเกรงใจคนนี่เอง ข้าพเจ้าจึงต้องเที่ยวหอบเอานิสัยซื่อๆ ไว้แลกกับความดี บ่อยครั้งยอมผิดใจตัวเอง เพื่อให้ถูกใจคนอื่น

สิ่งที่ได้มาก็คือความรู้สึกดีๆ ในหัวใจ แต่ก็หนีความจริงไปไม่พ้น ในชีวิตประจำวัน คำว่ามีเงินนับว่าน้อง มีทองนับว่าพี่ ถ้าไม่มี ทั้งเงินทั้งทองก็ขาดทั้งน้องทั้งพี่นั้น รู้สึกว่าคำนี้จะเป็นความจริงค่อนข้างสมบูรณ์ หลายครั้งที่ข้าพเจ้าขัดสนเงินทอง นอกจาก ไม่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากญาติพี่น้องแล้ว ยังได้รับคำหยาม เป็นของแถมซึ่งให้ชอกช้ำอยู่บ่อยไป แต่ก็มีคุณ ช่วยฉุดให้ข้าพเจ้า มีความมานะ ไม่นับความขี้เกียจเป็นมิตรแท้อีกต่อไป

เสร็จจากงานนาก็หันมางานไร่ ชีวิตไม่เคยว่างงาน ข้าพเจ้าทำไร่ด้วยวิญญาณที่มุ่งมั่นทางผลผลิต พืชไร่ที่ปลูกเป็นหลัก คือพืชเศรษฐกิจต้องลงทุนลงแรงงานมาก และรอรับผลในระยะยาว พืชที่ให้ผล ในระยะสั้นก็ปลูกบ้างแต่ก็จำนวนน้อย จึงทำให้ขาดรายได้ประจำวัน

ในเวลาเดียวกัน ลูกๆ ก็เริ่มเติบโตเข้าสู่วัยการศึกษาตามระบบต้องใช้จ่ายเงินทองเพิ่มทวี ต้องเข้มงวดการประหยัดกินประหยัดใช้ ทุกสัปดาห์ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของลูกๆ ค่าอาหารการกิน ค่าน้ำค่าไฟ และค่าอะไรๆ อีกเยอะแยะ

ขณะนี้เรียนระดับมหาวิทยาลัย ก็ดูว่าเริ่มเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาบ้าง แต่ปัญหาก็ไม่ได้หมดไป ยังหาเรื่อง ให้หนักอก หนักใจมาสู่ ครอบครัวเสมอๆ ฝ่ายแม่นั้นรักลูกทุกคนอยู่เหนือคำบรรยาย หนาวไม่ได้นอน ร้อนไม่ได้นั่ง กังวลว่าลำพังแรงพ่อคนเดียว หาเพียงพอไม่ มีงานจ้างอะไร ก็รีบไปทำ อย่างไม่เห็น แก่เหน็ดแก่เหนื่อย เกี่ยวข้าวดำนา หรือเก็บของเก่า แยกขยะ สารพัด ที่เป็นงานสุจริต แต่ลูกกลับสนุก คะนองเป็นว่าเล่น กินใช้เหมือนกับว่าพ่อแม่เป็นเศรษฐีมีเงิน

วันไหนอ่อนเพลียมากๆ แม่มักเปรยว่า อยากนอนหลับไปตลอดชีวิต จะได้ไม่ต้องตื่นขึ้นมา เห็นโลก อันโหดร้าย เช่นนี้อีก ข้าพเจ้าได้แต่ ถอนหายใจอย่างเข้าใจในความรู้สึกของคู่ชีวิต

"อดทนเถิดแม่จ๋า เรามีกรรม" ข้าพเจ้าปลอบ

"อื่มม์..." เธอพยักหน้ายอมรับ

"ถ้าพ่อด่วนเป็นอะไรไป แม่คงหนักน่าดู และคงรักษาไร่สวนเอาไว้ไม่ได้ ลูกๆ ต้องชวนขายกินหมด เป็นแน่แท้" ข้าพเจ้าเปรยด้วยเป็นห่วง

"พ่ออย่าพูดอย่างนั้นซิ ยังแข็งแรงอยู่ ไหนเลยจะตายง่าย ๆ"

"อื่อ ทุกวันนี้พ่อคิดหนัก ที่แข็งแรงก็เพราะใจยังสู้ แต่ร่างกายถูกเบียดเบียนด้วยโรคภัยต่างๆ ที่รักษาให้หาย ได้ยาก ดูซิ ทั้งเบาหวาน ความดัน อีกหน่อยโรคไต ก็เข้ามาแทรก ..."

"ช่างเถิดพ่อ อย่าไปพูดถึงเลย ไม่สบายใจเปล่าๆ" เธอตัดบทพร้อมถอนหายใจ

"ลูกเราเนี่ยวันเสาร์วันอาทิตย์ไม่ได้ไปเรียนหนังสือ ก็น่าจะเข้ามาช่วยพ่อในไร่บ้าง ดูสิงานในไร่เยอะแยะ ไปหมด ลูกไม่เคยเยี่ยมหน้า เข้ามาดูความเหนื่อยยากของพ่อแม่เลย บอกก็แล้ว ชักชวนก็แล้ว"

"ช่างมันเถิด เราพูดไปก็แค่นั้น สู้อดทนส่งเขาเรียนให้จบเสียก่อน จากนั้นเขาจะไปทางไหนก็ตามใจเขา แม่ก็เมื่อยเต็มทีแล้วเหมือนกัน"

"ไปแล้วไม่นำความเดือดร้อนมาให้ก็ดีไป กลัวว่ามันจะไม่พ้นคอเราง่ายๆ นะซิ" ข้าพเจ้าวิตก

บ่ายแก่ๆ วันนั้น เราสองผัวเมียนั่งหลบแดดพักเหนื่อยอยู่ใต้ร่มมะเดื่อริมไร่ แม่บ้านคลายผ้าคลุมหน้า ออกซับเหงื่อ ส่วนข้าพเจ้า เปิดกระติกน้ำตักดื่มแก้กระหาย สายลมเดือนมีนาเงียบกริบ ถอดเสื้อชุ่มเหงื่อ ออกสะบัด แล้วผึ่งแดดไว้สักครู่ ก็ขึ้นคราบขี้เกลือ อย่างนี้กระมังที่หมอบอกว่า เมื่อเสียเหงื่อมาก จะสูญเสีย เกลือแร่อันมีประโยชน์ต่อร่างกายไปด้วย

ในขณะที่เรานั่งพักและปรารภถึงเรื่องความทุกข์ยากลำบากอยู่นั้น ก็ได้ยินเสียงรถยนต์แล่นเข้ามา ละอองฝุ่นสีเทาพวยพุ่ง ฟุ้งไปตามแรงหมุนของล้อ ไม่ถึงสามนาทีรถเก๋งสีน้ำเงินใหม่เอี่ยมก็ชะลอเครื่อง ดูเหมือนหญิงที่นั่งมาในรถจะชี้มือมาทางข้าพเจ้า จากนั้นเก๋งคันงามก็ค่อยเคลื่อนเข้ามา จอดอยู่ตรงหน้า เราสองคน กระจกไฟฟ้าเลื่อนลง หญิงวัยสี่สิบ หน้าตาดีชะโงกหน้า ออกมาเหมือนจะถามหาใครสักคน แต่ไม่ถาม กลับเปิดประตูก้าวลงจากรถอย่างลังเล "เจ้าของไร่อยู่มั้ยคะ?..." หน้าเปื้อนรอยยิ้มเล็กน้อย

"อยู่ครับ..." ข้าพเจ้าค้อมตัวตอบอย่างนอบน้อม

"อยู่เรอะ...อยู่ทางไหนคะ?" เธอสอดสายตามองออกไปทางไร่กว้าง

"ผมเองครับ คุณนายมีอะไรให้ผมรับใช้หรือครับ? ..." ข้าพเจ้าย้ำ

เธอมีสีหน้าสลดลง มองข้าพเจ้าอย่างสมเพชตั้งแต่หัวจรดเท้า แล้วหันกลับมองไปทางเบาะหลัง ซึ่งมียายแก่ๆ วัยเจ็ดสิบเศษ เห็นจะได้ ผิวขาวร่างค่อนข้างอ้วนนั่งอยู่

"แม่ ลงมาคุยกะเขาหน่อย" เธอเกาะประตูรถ สายตาแสดงความผิดหวังอะไรบางอย่าง

"ลูกก็พูดไปซิ แม่เข้ายากออกยาก" เสียงคุณยายข้างในรถตอบ

"หื่มม์..." เธอแสดงท่าอิดออดเหมือนกับว่าคู่สนทนาที่ยืนอยู่ตรงหน้าไม่คู่ควรที่จะพูดคุยด้วย

"คุณเป็นเจ้าของไร่นี้จริงๆ รึ?" เธอย้ำเหมือนไม่แน่ใจ

"ใช่ครับ" ข้าพเจ้าตอบทั้งที่ไม่อยากตอบ เพราะกิริยาของหญิงคนนี้ ดูจะรังเกียจเหยียดหยาม ข้าพเจ้าอยู่ในที

"ถ้าเช่นนั้น คุณก็คงเป็นพ่อของนายวิชิตน่ะสิ?"

"ใช่ มีอะไรครับ ?" ชักจะสงสัยเสียแล้วว่า วิชิตลูกชายข้าพเจ้า จะต้องไปสร้างความเดือดร้อน อะไรสักอย่างเข้าแล้ว

"มีสิ ฉันจึงต้องแบกหน้าเข้ามาถึงนี่"

"มีอะไรหรือคะ ลูกชายของเราไปทำอะไรให้คุณนายเดือดร้อนรึ?" แม่บ้านร้อนใจ

"อื่มม์...ไม่รู้ว่าฉันจะเริ่มต้นเรื่องนี้อย่างไรดี ให้สมกับความมักง่ายใฝ่ต่ำของนังเด็กอัปรีย์สีกบาล ไม่เชื่อ คำพ่อคำแม่คนนี้ได้ อยากจะตีให้มันตายนัก" เธอขบกรามระบายอย่างเคียดแค้น

"มีอะไรก็ว่ามาเถิดครับคุณนาย"

"นี่คุณ ไม่รู้อะไรบ้างเลยรึ?"

"ผมไม่ทราบอะไรเลยจริงๆ ครับ"

"เอาล่ะ ฉันคิดว่าคุณแกล้งทำไม่รู้มากกว่า" เธอยังคิดว่าผมเสแสร้ง

"ให้ผมตายไปเถิดครับ ด้วยความสัตย์จริง" ข้าพเจ้าสบถ

"ฉันเคยบอกวิชิตหลายครั้ง ให้บอกคุณจัดการเรื่องนี้ แต่คุณก็เงียบไป คุณคงคิดว่าเป็นฝ่ายได้เปรียบจึงไม่แยแสอะไร"

"คุณนายยิ่งพูดผมยิ่งมึน มีอะไรก็ว่ามาตรงๆ เถิดครับ"

"อื่มม์ จะบอกอย่างไรดีคะคุณแม่" เธอหันไปกล่าวกับหญิงสูงอายุ

"มีอะไรก็บอกเขาไปตามตรงสิลูกเอ๋ย..." ว่าแล้วหญิงสูงอายุก็ค่อยๆ เขยื้อนลงมาจากรถ

"อือ แม่ช่วยพูดกับเขาหน่อยเถิด" เธอกล่าวแล้วหันไปยืนเอาหลังพิงรถ

"เออ พูดก็พูด คืออย่างนี้นะ ยายเป็นแม่ของนางต้อยคนนี้ และเป็นยายของนางติ๊กลูกสาวมัน ซึ่งเข้าไปเรียนหนังสือที่ในเมือง เกิดรักชอบได้เสียกับลูกของคุณเข้า นางต้อยแม่ของมันก็เลยร้อนใจ อยากให้พ่อแม่ ของฝ่ายชายไปสู่ขอตกแต่งเสีย แม่ของมัน และยาย ก็ได้ไม่ขายหน้าคน เรื่องมันก็มี อย่างนี้แหละลูกเอ๋ย" คุณยายกล่าว

ข้าพเจ้ากับภรรยาต้องนิ่งอึ้งไปชั่วขณะ

"ว่ายังไงล่ะ ฉันบากหน้ามาขอร้องนะ" เธอเงยหน้าขึ้นกล่าวเมื่อเห็นคุณยายกับข้าพเจ้าเงียบงัน

"ผมต้องขอแสดงความเสียใจกับคุณนาย ถ้าเรื่องนี้เป็นจริง"

"อะไรกัน คิดว่าฉันเอาเรื่องแบบนี้มาพูดเล่นอีกรึ?"

"ไม่ใช่ครับ ให้ผมได้ถามลูกเสียก่อน ตอนนี้ลูกเรายังอยู่ในวัยเรียนทั้งสองฝ่าย อยู่ๆ จะมาแต่งงานเอาผัว เอาเมียกลางคันเช่นนี้ ผมยัง ไม่เห็นสมควร ปล่อยให้เขาคบหาดูใจกันไป จนกว่าจะเรียนจบ จะไม่ดีกว่า หรือครับ?" ข้าพเจ้าออกความเห็น

"คุณน่ะพูดได้แหละ เพราะไม่ได้เป็นฝ่ายเสียหาย จะพูดอย่างไรก็ได้เพื่อจะไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้" เธอกล่าวตำหนิหาว่าข้าพเจ้าเห็นแก่ตัว

"เปล่าเลยครับ ผมไม่ได้มีความคิดอย่างที่คุณว่า แต่สังคมสมัยใหม่ใครเขาก็เป็นอย่างนี้กันมากมาย ก็ไม่เห็นว่าจะเป็น เรื่องเสียหาย อะไรมากมายนัก ทางที่ดีผมว่าเราคอยให้กำลังใจเขาไป จนกว่าเขา จะเรียนจบ แล้วจะแต่งหรืออะไรก็ว่าไป ใช่ว่าเมื่อมีรักก็จบเรียน จบอนาคตของลูกไว้เพียงเท่านี้ ผมว่าเป็นการลงโทษลูกที่โหดร้ายเกินไป สู้เราให้โอกาสเขาได้เรียนต่อไปตามความปรารถนาของเขา จะไม่ดีกว่ารึ เพราะสถาบันการศึกษาก็ไม่ได้ห้ามว่ามีรักแล้วไม่ให้เรียนนี่นะ" ข้าพเจ้าคลายจาก ความประหม่า และชี้แจงด้วยเหตุผล

"คุณได้เปรียบแล้วนี่ จะพูดอย่างไรก็ได้ แต่คุณลองเป็นฉันดูสิ ว่ามันจะเจ็บปวดแค่ไหน ลูกมันไม่รักดี ไม่รักหน้าพ่อแม่ เรียนไปก็แค่นั้น" เธอค่อนขอด และประณามลูกสาวไปด้วย

"คุณนายครับ ผมคิดว่าเราต่างก็เคยผิดกันมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นเราจึงควรให้อภัยลูก เหมือนกับ ที่เราให้อภัยตัวเราเองซิครับ"

เธอก้มหน้าอย่างใช้ความคิด พร้อมเสียงสะอื้นในลำคอ ข้าพเจ้าหันไปดูหน้าภรรยา ซึ่งสายตาบ่งบอกถึงความกังวล ข้าพเจ้ากล่าวต่อไปว่า

"ลูกชายของผมก็ยังไม่ประสาอะไร ผมยังมองไม่เห็นว่ามันจะพาลูกพาเมียไปตลอดรอดฝั่งได้อย่างไร นอกจากปล่อยให้เรียนจบ มีงานทำ แล้วจะแต่งกันอย่างไรเท่าไหร่ก็ได้ เมื่อมันมีความพร้อม หากรักกัน และมั่นคง ต่อกันแล้ว พ่อแม่ก็กีดกันไม่ได้ดอก"

"ให้โอกาสไปก็แค่นั้น ดีไม่ดีจะไม่ได้อะไรเลยสักบาท" เธอแย้ง

"อ้าว..." ภรรยาข้าพเจ้าอุทานขึ้น แต่เหมือนว่าจะคิดอะไรได้ จึงไม่เอ่ยอะไรต่อ ข้าพเจ้าพอเข้าใจว่า เธอจะพูดอะไร แต่ที่ไม่พูดก็เพราะว่า เราควรจะรักษามารยาท รักษาน้ำใจ นึกถึงอกเขาอกเราเอาไว้

"แล้วทางคุณนายจะให้ฝ่ายเราทำอย่างไรคะ" แม่บ้านถามสรุปปัญหา "จะให้ไปขอแต่ง หรือไปเอามาเลย"

"แต่งให้มันแล้วๆ ไปซะ" คุณนายยืนยัน

เราทุกคนเงียบอย่างใช้ความคิด ข้าพเจ้ารู้สึกอึดอัด เรื่องมันเกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว เขาเป็นฝ่ายเสียหาย ก็ย่อมจะร้อนใจ เป็นธรรมดา แต่ทางเราก็ไม่มีความพร้อม จะทำอย่างไรดี

"คุณนายจะให้แต่งงาน บอกแขกบอกคนเลยรึ?" หยั่งท่าทีเพื่อความชัดเจน

"เปล่า ไปเงียบๆ บอกแขกบอกคนก็อายเขา" เธอกล่าว

"ไปเงียบๆ หมายถึงว่าไปแต่ผู้ปกครองกับผู้เฒ่าผู้แก่บางคน แล้วก็เงินใช่ไหม?"

"ใช่แล้วค่ะ" เธอตอบ

"แล้วคุณนายจะเรียกค่าดองเท่าไหร่กันล่ะครับ?"

"ฉันขอห้าหมื่นเท่านั้นค่ะ" เธอตอบหนักแน่น

เราสองคนผัวเมียอึ้ง เงินห้าหมื่นจะไปหาที่ไหนมา หนี้สินก็มีอยู่รอบด้าน เงินมากมายอย่างนี้ ไปขอยืม ใครได้ มีทางเดียวก็คือจัดหา ผู้ใหญ่ไปสู่ขอเอาไว้ก่อน แต่มีปัญหาว่าฝ่ายหญิงจะยอมหรือ?

"คุณนายครับ อย่าว่าอย่างโน้นอย่างนี้เลยนะครับ ครอบครัวเราไม่เงินเลยจริงๆ ขอโอกาสให้เรา ได้จัดหาผู้ใหญ่ไปสู่ขอไว้ก่อน รอให้พวกเขาเรียนจบแล้วค่อยแต่งไม่ดีหรือครับ?" ข้าพเจ้าเสนอทางออก อย่างตรงไปตรงมา

"ไปขอไว้ก่อนคุณก็ไม่ไปแต่งอยู่ดี แล้วถ้าเกิดเขาเลิกคบหากันไป ฉันก็จะไม่ได้อะไรเลย มิเท่ากับเสียไป เปล่าๆ รึ?" เธอถอนหายใจแล้วเปรยความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจออกมาอีกครั้ง

"ฉันอุตส่าห์แบกหน้ามาหา ทั้งที่รู้ว่าคุณจะต้องพูดทำนองนี้ แต่ก็จำใจ ลูกมันทำตัวไม่ดีแล้ว เมื่อฉันรู้เข้า ก็รู้สึกไม่สบายใจ อีกอย่างฉันก็เห็นว่าเมื่อเด็กมันรักกัน ก็ควรตกแต่งให้มันจบสิ้นกันไป จริงๆ แล้วฉันเอง ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เงินทองก็พอมีใช้ เขาไม่เรียนต่อก็ใช่ว่าจะไม่มีเงินเลี้ยงลูก ฉันกับพ่อฝรั่ง เตรียมเงิน ไว้ให้เขาก้อนหนึ่ง เพื่อเป็นทุนให้เขาเมื่อแต่งงานแล้ว" คำว่าพ่อฝรั่ง คงจะหมายถึง ผัวของเธอที่นั่งอยู่ในรถ

"เงินพ่อฝรั่งเขาไม่อดไม่อยาก เงินห้าหมื่นเท่านี้ฉันใช้ไม่ถึงวันก็หมดแล้ว ไม่ใช่คุยหรอก"

"ผมเข้าใจครับว่าคุณนายมีเงิน แต่ผมซิไม่มีเอาเสียเลย ลูกได้เป็นฝั่งเป็นฝาผมก็ดีใจ แต่ผมก็รู้สึกละอาย ที่มีฐานะไม่สมหน้า สมตา กับผู้ดีอย่างท่าน" ข้าพเจ้ากล่าวจากใจจริง

"เมื่อเขายังไม่พร้อมก็ให้เขาดูใจกันไปก่อน ยายก็เห็นด้วยอยู่นะ เพราะบางคนเรียนกันไปอยู่กันไป มีการ มีงานทำหาเงินหาทอง ได้แล้วกลับมาแต่งงานกันแบบนี้ บ้านเรายายก็เห็นมีอยู่หลายคู่" คุณยายกล่าว แสดงข้อคิดเห็น "บางคนลงไปทำงานอยู่กรุงเทพฯ กรุงไทย ไปรักกันชอบกัน กินนอน อยู่ด้วยกัน ทำงานอยู่ด้วยกัน พอมีเงินมีทอง ก็เก็บเงินขึ้นมาแต่งตัวเอง เพื่อเอาหน้าไว้ให้พ่อแม่ อย่างนี้ก็มีเยอะไป"

"ไม่..มาให้มันเสร็จไปซะ ฉันขี้เกียจรักษามันอีกต่อไปแล้ว คนไม่รักดีแบนี้ เรียนต่อไปก็ไม่ได้อะไรหรอก เดี๋ยวมันก็วิ่งไปหาผู้ชายใหม่ ให้ขายหน้าอีก" เธอกล่าวเหมือนไม่มีความเชื่อมั่นในตัวของลูกสาว "ฉันเอง ก็ไม่มีเวลา เดือนหน้านี้ฝรั่งก็จะพาไปพักผ่อนที่เกาะสมุย เขาไปซื้อบ้านไว้ที่นั่น"

"อึ่มม์.." ข้าพเจ้าอึ้งอย่างใช้ความคิด เธอยืนกระต่ายขาเดียวเช่นนี้จะเอาอย่างไรดี

"สักสามหมื่น คุณหามาแต่งไม่ได้เชียวรึ? นี่ฉันเห็นใจคุณสุดๆ แล้วนะ ควรจะเห็นใจฉันบ้าง" กล่าวแล้ว เธอก็หันหน้าเข้า ไปมองฝรั่ง ที่นั่งอยู่ในรถ แล้วก็หันกลับมากล่าวต่อ "จะเอายังไงก็ว่ามา ฉันจะได้กลับ ดูเหมือนฝรั่งรำคาญเต็มทีแล้ว"

เธอกล่าวลดค่าดองลงเอง โดยที่ข้าพเจ้าไม่ได้ขอต่อรอง ทางคุณยายเมื่อเห็นว่า แสดงข้อคิดเห็นไป ก็ไม่มีความหมาย ในเมื่อฝ่ายลูกสาว ยืนยันให้แต่งท่าเดียว

"สักสองหมื่นเป็นไงคะ เพราะเราไม่มีเงินเลยจริงๆ" แม่บ้านข้าพเจ้าขอต่อรองค่าดอง

"โอ๊ย..ทำไมถึงประเมินลูกสาวฉันต่ำนัก สามหมื่นนี่มันก็น้อยเต็มทีแล้วนะคุณ วันนี้ฉันมาเพื่อขอร้อง ให้เกียรติคุณมากเท่าไหร่แล้ว คุณอย่าซ้ำเติมฉันให้มากกว่านี้เลย"

"เอาเถอะ ให้ผมได้ถามไถ่ปรึกษาหารือลูกเต้าเสียก่อน แล้วยังไงเราค่อยคุยกันอีกที ผมจะไปหาคุณนาย ที่บ้านเองนะครับ" ข้าพเจ้าสรุป

"ได้ค่ะ เร็วหน่อยก็แล้วกัน เดือนหน้าฉันจะพาฝรั่งไปพักผ่อนที่เกาะสมุย ลูกสาวคนโต ก็ไปรออยู่ที่นั่น ก่อนแล้ว เขาก็จะแต่งงาน เหมือนกัน แต่แต่งกับฝรั่ง" เธอทิ้งท้ายก่อนที่จะขึ้นรถกลับ

หลังจากสอบถามเรื่องราวจากลูกแล้ว เห็นว่าลูกเต้าทั้งสองรักกันจริง ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจ หาหยิบยืมเงิน ตามจำนวนที่ แม่ของฝ่ายสาว ต้องการแล้วนำไปขมาฝ่ายหญิงข้าพเจ้าไม่ได้นำใครไปนอกจากพ่อแม่ลูก แล้วก็ลุงอีกสองคน ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่ ของภรรยา ทางฝ่ายเขามีคุณยาย มีฝรั่ง ตัวคุณนายเอง และบุตรสาวว่า ที่สะใภ้ของข้าพเจ้า

เมื่อมอบหมายเงินทองให้กับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางคุณยาย ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง ก็เรียกหลานทั้งสอง คือหลานสาวและหลานเขยใหม่เข้ามากราบพ่อกราบแม่ พร้อมกับบอกกล่าวตักเตือน แนะนำในทางประพฤติดี เรียนต่อไปให้จบ มีการมีงานทำแล้วจะมาตกแต่งกันใหม่ก็ตามใจ

อยู่มาประมาณสามอาทิตย์ ลูกชายข้าพเจ้ากลับมาจากเรียนหนังสือก็มานอนที่บ้านทุกครั้ง ข้าพเจ้ารู้สึก สงสัยก็เลยถามว่า ทำไมไม่ไปนอนที่บ้านโน้น ทำอย่างนี้เขาไม่คอยรึ ก็ได้รับคำตอบว่า ขณะนี้คุณนาย ว่าที่แม่ยายของเขา ได้พาลูกสาว หนีไปแต่งงานกับฝรั่ง ที่เกาะสมุยแล้ว และยังส่งข่าวขึ้นมา ให้บอกพ่อกับแม่ว่า

"เงินค่าดองสามหมื่นที่ให้มานั้น ค่าอาหารหมาก็ยังไม่พอ"

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๗ เมษายน ๒๕๔๗ -