คิดคนละขั้ว - แรงรวม ชาวหินฟ้า -
ไฉนนามสกุล "มุ่งมาจน"
ข้าราชการระดับจังหวัด (บางคน) จึงถือว่าผิดกฎหมาย?


* นายตายแน่ เชียวเขตรวิทย์ ยื่นขอนามสกุล "มุ่งมาจน" ปรากฏว่านามสกุลนี้ "ผิดกฎหมาย"

ในท่ามกลางกระแสกรากเชี่ยวของทุนนิยมและบริโภคนิยมที่กำลังมาแรง ไม่ต่างอะไรกับภัยคลื่นสินามิ ก็ได้มีชุมชนทวนกระแสเล็กๆ มีวิถีชีวิตคล้ายๆ ชาวมอร์แกน เพียงแต่ไม่ได้ใช้ นามสกุล กล้าทะเล หรือรักทะเล แต่เขารักที่จะใช้ชีวิตจนๆ และกล้าจนตามอุดมการณ์ "ขยัน กล้าจน ทนเสียดสี หนีสะสม นิยมสร้างสรร สวรรค์ นิพพาน" คนในชุมชนนี้ จึงไม่ต่างอะไร กับกลุ่มไทยใหม่ ที่ได้เปลี่ยนชื่อ นามสกุล เพื่อให้เป็นชื่อไทยๆ และสอดคล้องกับอุดมการณ์เป้าหมายของชีวิตที่เป็นโลกุตระ

แต่เป็นเรื่องที่น่าตลก เมื่อข้าราชการผู้ใหญ่ระดับจังหวัด ไม่ยอมอนุมัตินามสกุลที่ค่อนข้างจะทวนกระแสกับทุนนิยม โดยมีเหตุผลที่ สำคัญๆ หลายประการ สุดท้าย จนต้องถึงขั้น ยื่นอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของจังหวัด ไปยังกระทรวงมหาดไทย เหตุผลที่คิดกันคนละขั้ว เป็นอย่างไร

๑๗๔ หมู่บ้านราชธานีอโศก หมู่ ๑๐
ตำบลบุ่งไหม อำเภอวารินชำราบ
จังหวัดอุบลราชธานี ๓๔๑๙๐
๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๗
เรื่อง อุทธรณ์คำสั่งขอจดทะเบียนตั้งชื่อสกุลใหม่
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
อ้างถึง ๑.หนังสือจังหวัดอุบลราชธานี ที่อบ ๐๐๑๗/๑๙๓๗๕ ลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๗
๒.หนังสือที่ว่าการอำเภอวารินชำราบ ที่ อบ ๐๒๑๗/๗๒๓๙ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๗
๓.กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐
๔.พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.๒๕๐๕
๕.ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการทะเบียนชื่อบุคคล พ.ศ.๒๕๐๖

ตามที่จังหวัดอุบลราชธานี โดย นายเนาวรัตน์ บุญหล้า ปลัดจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตรวจสอบและพิจารณาชื่อสกุลใหม่ ตามคำขอจดทะเบียนตั้งชื่อสกุลใหม่ของนายตายแน่ เชียวเขตรวิทย์ อยู่บ้านเลขที่ ๑๗๔ หมู่ที่ ๑๐ หมู่บ้านราชธานีอโศก ตำบลบุ่งไหม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ตามคำขอแบบ ช.๑ ขอตั้งชื่อสกุลใหม่จาก"เชียวเขตรวิทย์" เป็น "มุ่งมาจน"

จังหวัดอุบลราชธานีได้ตรวจสอบและพิจารณาแล้ว เห็นว่าชื่อสกุลที่นายตายแน่ เชียวเขตรวิทย์ ขอเปลี่ยนและจดทะเบียนใหม่เป็น "มุ่งมาจน" นั้น ไม่มีความเป็นสิริมงคลแก่วงศ์ตระกูล และมีความหมายหยาบคาย ส่อเสียดสังคม ซึ่งขัดกับพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.๒๕๐๕ และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนชื่อบุคคล พ.ศ.๒๕๐๖

กระผม นายตายแน่ เชียวเขตรวิทย์ ไม่เห็นพ้องด้วยกับการวินิจฉัยตรวจสอบและพิจารณาของจังหวัดอุบลราชธานี กระผมเห็นว่า ชื่อสกุล "มุ่งมาจน" เป็นคำไพเราะ เป็นที่ประทับใจยิ่งนัก เพราะเป็นคำที่ยืนยันความจริงจัง จริงใจของผู้ปฏิบัติโลกุตระ ในพระพุทธศาสนา แต่อาจจะทวนกระแสความรู้สึก(ปฏิโสตัง) คนที่ยังติดยึดในความเป็นโลกียะอยู่บ้าง ซึ่งปณิธานในการ "มุ่งมาจน" นี้ เป็นอุดมคติที่แท้ของเราผู้ปฏิบัติธรรมชาวอโศก เป็นเศรษฐศาสตร์บุญนิยม ที่วิธีคิดแตกต่างจาก เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม อย่างมีนัย สำคัญ และเกิดความเป็นไปได้ที่ได้พิสูจน์แล้วด้วย มิใช่แค่คำส่อเสียดสังคม ไม่ใช่คำประชด ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่เป็นความจริงใจแท้ๆ ที่เราเห็นเป็นความประเสริฐของคน และไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด จึงขอยื่นอุทธรณ์ คัดค้านคำสั่งของ จังหวัดอุบลราชธานี ต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดังประทานกราบเรียน ดังนี้

ข้อ ๑. คำว่า "มุ่งมาจน" ผู้นั้นจะต้อง "ใจพอ มีฉันทะ มีเจตนากระทำ มุ่งปฏิบัติให้เข้าถึงความจน" ตามแนวทางที่ องค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงเป็นตัวอย่าง ทิ้งราชสมบัติมาเป็นคนจน มาเป็นนักบวช มาเป็นบุคคลที่มีวรรณะ ๙ ได้แก่
๑.เป็นคนเลี้ยงง่าย ๒.เป็นคนบำรุงง่าย ๓.เป็นคนมักน้อย
๔.เป็นคนใจพอ สันโดษ ๕.เป็นคนขัดเกลาได้ ๖.เป็นคนมีศีลเคร่ง
๗.เป็นคนมีอาการที่น่าเลื่อมใส ๘.เป็นคนไม่สะสม ๙.เป็นคนยอดขยัน

ตามแนวทางปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดังกล่าวนี้ ชาวอโศกได้ปฏิบัติให้มาเป็นคน "มุ่งมาจน" เป็นคนจนที่มีวรรณะ ๙ มีโพชฌงค์ ๗ เป็นตัวขับเคลื่อนให้เข้าทาง อยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นประจำทุกวัน เป็นปกติธรรมดา กระทั่งเป็นคนจนอย่างสมบูรณ์ ตามที่ได้ ตั้งใจ "มุ่งมาจน" ด้วยคำขวัญที่ว่า ลดละ ขยัน กล้าจน ทนเสียดสี หนีสะสม นิยมสร้างสรร สวรรค์นิพพาน แล้วพากเพียรปฏิบัติให้บรรลุความเป็นจริง เมื่อเกิดคน "มุ่งมาจน" มีจำนวนมากขึ้น จึงเกิดเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน เป็นหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านราชธานีอโศก หมู่ที่ ๑๐ ตำบลบุ่งไหม อำเภอ วารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี และหมู่บ้านศีรษะอโศก หมู่ที่ ๑๕ ตำบลกระแชง อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นหมู่บ้านปลอดอบายมุขอย่างถาวร เป็นชุมชนเข้มแข็ง มองเห็นได้เด่นชัด ถึงคุณสมบัติ ๑๔ ประการ ดังนี้

๑.เป็นคนมีศีลในตัว ๒.เป็นคนพึ่งตนเองได้ ๓.เป็นคนมีงานทำที่เป็นสัมมาอาชีพ ๔.เป็นคนขยัน สร้างสรรค์ ๕.เป็นคนมีความเป็นอยู่ผาสุก ๖.เป็นคนไม่ฟุ้งเฟ้อ ๗.เป็นคนมีความประณีตประหยัด ๘.เป็นคนไม่มีอบายมุข ๙.เป็นคนมีความพร้อมเพรียง ๑๐.เป็นชุมชนมีความเป็นปึกแผ่น เป็นภราดรภาพ ๑๑.เป็นชุมชนแข็งแรงมั่นคง ๑๒.เป็นชุมชนสร้างทุนทางสังคม มีประโยชน์ต่อสังคม ๑๓.เป็นชุมชนอุดมสมบูรณ์ ไม่สะสม ๑๔.เป็นชุมชนที่มีน้ำใจและเสียสละอย่างสูง

ดังนั้น "มุ่งมาจน" จึงมาเป็นคนจนที่มีวรรณะ ๙ เป็นสิริมงคลแก่วงศ์ตระกูลอย่างยิ่ง เป็นเรื่องที่จะต้อง เอาจริง ปฏิบัติให้ถึงจริง ไม่ใช่ทำกันเล่นๆ แต่ละคน ทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิต เพื่อสืบสานการ"มุ่งมาจน" ให้ถึงแก่นแท้ของสัจธรรม ทุกคน "มุ่งมาจน" มาอยู่รวมกันเป็น "สาธารณโภคี" เป็นชุมชนเศรษฐกิจ พอเพียง โดยมุ่งมั่นพากเพียร ดำเนินชีวิตให้ได้ ตามรอยพระยุคลบาท ดังพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ของปวงชนชาวไทยว่า "มีคนบอกว่า คนจนกินข้าวกล้อง เรากินข้าวกล้องทุกวัน เรานี่แหละคนจน"

"มุ่งมาจน" ทางจังหวัดอุบลราชธานี เห็นว่ามีความหมายหยาบคาย ส่อเสียดสังคม ซึ่งเป็นการเข้าใจ ที่แตกต่างกัน คนละมโนทัศน์ ด้านหนึ่ง มองอย่างโลกียะ แต่เรามอง อย่างโลกุตระ จึงอาจจะทำให้ ผู้มองอย่างโลกียะ เห็นเป็นมุมลบ เห็นเป็นความต่าง จึงเป็นเหตุ ให้เข้าใจผิดว่า "เป็นการส่อเสียดสังคม หยาบคาย"

สังคมปัจจุบัน รัฐบาลดำเนินนโยบายให้ทุกคนในสังคมในประเทศชาติมีเศรษฐกิจดี ให้ทุกคน ทุกครอบครัว หลุดพ้นจาก "ความยากจน"

"มุ่งมาจน" เป็นลักษณะของใจที่พอแล้ว พอเพียงแล้ว เมื่อคนพอแล้ว ก็จะไม่มีความยากจนอีก "ความยากจน" ก็จะหมดไป จากแผ่นดินไทย จึงสอดคล้องพ้องกับ นโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งจะให้ ความยากจน หมดไปจากประเทศไทย

ข้อ ๒. จังหวัดอุบลราชธานีเห็นว่า "มุ่งมาจน" ขัดกับพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.๒๕๐๕ และระเบียบ กระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจดทะเบียน ชื่อบุคคล พ.ศ.๒๕๐๖

พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.๒๕๐๕ มาตรา ๘ (๔) มีใจความว่า "ชื่อสกุลต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย"

คำว่า "มุ่งมาจน" จังหวัดอุบลราชธานี มีความคิดเห็นเข้าใจว่า มีความหมาย "หยาบคายส่อเสียดสังคม" จึงเห็นว่าขัดกับกฎหมาย ดังกล่าว ซึ่งความจริงนั้น เป็นเพียงความคิด ความเข้าใจ ที่แตกต่างกัน คนละแนวคิด คนละมโนทัศน์เท่านั้น มิได้มีความหมาย หยาบคายแต่อย่างใด

อนึ่ง กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา ๔ บัญญัติว่า "ศักดิ์ศรีความเป็น มนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา ๒๘ บัญญัติว่า "บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้ เท่าที่ไม่ละเมิด สิทธิและเสรีภาพ ของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อ รัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อ ศีลธรรม อันดีของประชาชน"

กฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้ให้สิทธิและเสรีภาพแก่กระผมที่ขอใช้ชื่อสกุล "มุ่งมาจน" เพราะคำว่า "มุ่งมาจน" ไม่ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ ต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดต่อศีลธรรม อันดีของประชาชน ประกอบกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ กฎหมายได้วางหลักความเสมอภาค ไว้ให้ ความเป็นธรรมแก่บุคคล ไม่ว่าเพราะเหตุ แห่งความแตกต่างในเรื่อง สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง อันไม่ขัดต่อ บทบัญญัติแห่ง รัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ดังที่ได้เรียนมา กระผมขอยืนยันถึงความจริงใจ ขอความเห็นใจ ขอท่านได้โปรดอนุเคราะห์ พิจารณา ให้กระผมได้ใช้ชื่อสกุล "มุ่งมาจน" จักเป็นพระคุณอย่างสูง

ขอแสดงความนับถือ

(นายตายแน่ เชียวเขตรวิทย์)



บทสรุป ต้องขอขอบคุณทางเจ้าหน้าที่ของอำเภอวารินชำราบ ซึ่งบัดนี้ได้อนุมัติชื่อ นามสกุลใหม่ และได้ทำบัตรประชาชน ให้เรียบร้อยแล้ว และต้องเห็นใจอย่างยิ่ง กับทางเจ้าหน้าที่ จังหวัดอุบลฯ ด้วยเหตุผลที่สำคัญ ๒ ประการคือ

๑. มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าในโลกนี้ จะมีคนที่คิดอยากจะจนจริงๆ น่าจะคิดดัดจริต หรือ ตั้งนามสกุล ขึ้นมา เพื่อเสียดสีสังคม นั่นแหละมากกว่า แต่ถ้าได้มาเห็น หรือมาสัมผัสชีวิตจริงๆ ของคนกลุ่มนี้ ที่ฝึกฝนตนเอง มาไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี เพื่อให้มีชีวิตไปสู่ ความยากจน ตามรอยยุคลบาท ขององค์สมเด็จ พระบรมศาสดาแล้ว ก็จะไม่สงสัยกันอีกต่อไป

๒. ด้วยความเข้าใจธรรมดาสามัญพื้นทั่วๆ ไป ใครๆ ย่อมเข้าใจได้ว่าความยากจน เป็นอัปมงคล ของชีวิตจริงๆ และไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะสามารถเข้าใจได้ว่า ความยากจน เป็นสิ่งที่ดีวิเศษอย่างไร? ถ้าผู้นั้น ไม่ได้พิสูจน์ หรือปฏิบัติจนเข้าถึงสัจธรรมจริงๆ แล้วได้พบว่า

ยิ่งจนยิ่งเบาว่างสบาย (อิสรเสรีภาพ)
ยิ่งจนยิ่งอบอุ่นมากพี่มากน้อง (ภราดร-ภาพ)
ยิ่งจนยิ่งเรียบร้อยง่ายงาม ไม่ต้องยื้อแย่งแข่งขันเป็นศัตรูกับใครๆ เลย (สันติภาพ)
ยิ่งจนยิ่งมีความสามารถสร้างสรรการงานได้มากมาย ไม่ได้แค่ชี้นิ้วสั่งได้แต่อย่างเดียว (สมรรถภาพ)
และยิ่งจนยิ่งอุดมสมบูรณ์ เมื่อทุกคนไม่ได้เก็บไม่ได้กอบโกย กักตุนเอาไว้ให้ตัวเอง ส่วนกลางก็จะมีแต่ความอุดมสมบูรณ์ มากมาย (บูรณภาพ)

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๗ เมษายน ๒๕๔๗ -