นโยบายพรรคการเมืองทุกพรรค มักจะเน้นเรื่องปากท้องเป็นหลัก
ฟรีได้ก็จะให้
ลดหนี้ได้ก็จะลด
และหาทางเพิ่มรายได้
ระบบการศึกษากำลังแสดงผลกับประชาชน ณ ยุค พ.ศ. นี้ว่ามีคุณภาพแค่ไหน
ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน สถานการณ์วิกฤติของบ้านเมือง คนของเรามีคุณภาพแค่ไหนก็รู้กัน
แต่ที่แน่ๆ เรื่องอบายมุข เรากลับเลื่อนระดับใกล้แชมป์โลกเข้าไปทุกที
ส่วนผลการศึกษา เรากำลังถูกประเทศอื่นแซงหน้า
รัฐบาลทุกยุคมุ่งเน้นเศรษฐกิจนำชีวิต
รัฐบาลโมหะ ก็จะใช้อบายมุขสร้างเศรษฐกิจ เป็นของแน่อยู่แล้ว ง่าย-เร็ว-สะดวก
ความคิดก็ไม่ต่างจากคนเดินดินที่เฝ้าแทงหวยทุกงวด
ทฤษฎีของฟรีไม่มีในโลก น่าจะนำมาสั่งสอน จะได้เลิกคิดทะยานอยากในสิ่งผิด ๆ

คำว่ารักประชาชน มิใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะแก้ไขวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ทุกเรื่อง เพราะพ่อแม่ที่รักลูกจนยอมตายแทนได้ ท่านก็เลี้ยงลูก
จนเสียคนมานักต่อนัก

คิดใหม่-ทำใหม่ จึงมิใช่ทุ่มพลังสร้างรายได้ "การอุดรูรั่ว" ยังเป็นเรื่องสำคัญ ทิ้งไม่ได้
คำว่า GDP ของประเทศยิ่งสูง คนไทยเรากลับจะยิ่งทุกข์ยาก
เมื่อเงินเป็นตัวตั้ง สตางค์เป็นตัวหลัก จึงมีแต่ทุกข์เท่านั้น คือปลายทางที่นั่งรออยู่
ค่า GDP เปลี่ยนเสียเป็นค่า GDH คือ Happiness คุณหมอประเวศ ผู้มีอายุอ่อนกว่าพ่อเรา ท่านสอนไว้
ความสุขของชีวิตจึงมิใช่ "เติมเต็ม" แต่หมายถึง "รู้จักพอ" ต่างหาก
รายได้จากหลายทิศ แต่ใช้จ่ายไม่เป็น ก็เหนื่อยเปล่า
หาไม่ทันใช้ ชีวิตย่อมประดุจสุนัขหอบแดด?
รัฐบาลหาน้ำมาเติมใส่ตุ่มเป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกัน รูรั่วมากมายก็ต้องสอนให้อุด
สร้างบ้านที่ไร้ฐาน เหมือนคนทำงานที่ขาดความรู้เรื่องประหยัด มัธยัสถ์!
ไม่ช้าก็เร็ว บ้านย่อมพังครืน น่าเวทนา
ชอบใจคติชีวิตพระผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง "หลงแต่รวย ก้าวหน้า ไม่มุ่งศึกษาการลดกิเลส กู้ประเทศไม่ได้!"
หยุดการใช้จ่าย เท่ากับการเพิ่มรายได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อย มิสบายมากกว่ากันหรือ?
"จำเป็นมั้ย ?"
"ไม่มีได้มั้ย ?"

สังคมต้องหมั่นถาม เป็นสิ่งเตือนสติที่น่าสนใจ
รัฐบาลเก่งแค่ไหน หากมีประชาชนที่ใช้จ่ายไม่เป็น ก็หมดท่า
สึนามิคลื่นใต้น้ำเคลื่อนที่มาแล้ว มีผู้ตะโกนเตือนภัย แต่ไม่กลัวกันต่างหาก
สังคมบริโภคให้ความสำคัญแก่วัตถุ ชีวิตจะต้องมีทุกอย่างให้เหมือนเขา ผู้ใหญ่จึงเริ่มลำบาก
เยาวชนหนุ่มสาวไร้รายได้ แต่พลังจับจ่ายมหาศาล จึงเดือดร้อนถึงพ่อแม่ ต้องหามาให้

ยิ่งหา ยิ่งเครียด ยิ่งทุกข์ ยิ่งมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง พ่อแม่อารมณ์เสียกันง่าย ลูกเริ่มคิดว่าพ่อแม่ไม่รัก เพราะไม่ยอมซื้อให้

พจนานุกรมคำว่า พ่อแม่ที่ดีของลูกจึงเปลี่ยนไป อยากให้ลูกรักต้องประเคนทุกอย่างที่มันอยากได้!

สังคมเมืองเป็นสังคมธุรกิจ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก นายทุนจับมือกันหากำไร ประชาชนจึงเป็นแค่ "ลูกจ้าง" จะค้าขายก็แพ้นายทุนใหญ่!

ความเข้าใจแก่นแท้ของชีวิต แม้ฟังดูเป็นปรัชญา แต่ทุกศาสนาได้บัญญัติสอนไว้
ไม่เรียนรู้บอกได้เลย ไม่รอด!
สังคมชนบท จะต้องหันมาปฏิบัติตามแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียงเศรษฐกิจพึ่งตน
ปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก
ปล่อยให้นายทุนใหญ่ปลูกเพื่อขาย ให้เขารวย เราจะปลูกเพื่อกิน เพื่อแลกเปลี่ยนกันเท่านั้น
วิถีชีวิตที่เดินตามทุนนิยม มีแต่ความเจ็บช้ำและยากจน แต่ก็ยังขาดผู้รู้พาทำจริง
รัฐบาลกำลังออกกฎหมายให้ประชาชนอดออม แต่ทำไมไม่สร้างกิจกรรมให้หลากหลาย
เงินพันล้านให้ลูกฤาจะมีค่าไปกว่าการสอนลูกให้รู้จักประหยัด!
น่าเสียดายที่ธนาคารวันนี้หันไปทำธุรกิจกับผู้ใหญ่ เด็กๆ ถูกละเลย
ฝึกเด็กออมทรัพย์วันละบาท ๒ บาท ตามโรงเรียนหายไป ธนาคารบอกเสียเวลา
เราจะกู้ชาติ เรากำลังละเลยมรรควิธี แล้วฝันจะเป็นจริงได้อย่างไร?
สังคมต้องตัดกิเลส เพื่อหยุดกระแสบริโภค มากน้อยแค่ไหนก็ต้องฝึกฝนกัน

คนเก่งย่อมทำได้มาก คนไม่เก่งย่อมทำได้น้อย อย่างนี้เรียกระดับอนุบาล อย่างนี้ระดับประถม ประหยัดอย่างนี้ เปรียบเป็นขั้น อุดมศึกษา

เอาทฤษฎีฝรั่งมาใช้มากมาย ลองเอาทฤษฎีทางศาสนามาใช้บ้างสัก ๑๐% ก็ยังดี

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๗ เมษายน ๒๕๔๗ -