ตอน "กอแล"

นับตั้งแต่วันที่มามุถูกปลิงตัวเบ้อเร่อเข้าหู น้อยยิ่งเกลียดกลัวปลิงมากขึ้น ส่วนมามุบอกเธอว่า ไม่ได้กลัวมากนัก และตอนนั้น เขาก็ไม่ได้ร้องไห้ด้วย

จริงสินะ ทั้งๆ ที่ปลิงมันอัดแน่นอยู่ในหูมามุก็ไม่ได้ร้องไห้ เขาแค่หน้าซีดเท่านั้นเอง น้อยพยายามคิดว่า ทำไมเธอถึงกลัวมากเหลือเกิน เป็นเพื่อนมามุทั้งที น่าจะกล้าหาญเหมือนเขา แต่เธอกลับขี้ขลาด ในที่สุด น้อยก็หาเหตุผลมาอ้างจนได้

"ก็เธอไม่เห็นนี่นาว่ามันน่ากลัวแค่ไหน มันยืด-แล้วก็หด-อยู่ข้างในหูเธอ ฉันสิเห็น น่ากลัวจะตายไป เธอไม่กลัว จริงเหรอ แล้วถ้ามัน ไม่ออกมาล่ะ ถ้ามันเข้าไปในสมองเธอล่ะ" น้อยพูด มองเห็นภาพปลิงยืดแล้วหด ตอนที่ตาของมามุ และพ่อของเธอพยายาม เอาไม้ไผ่ เขี่ยมันออกมา "อื๊อ! น่าเกลียดเป็นบ้า ไม่น่ามีไอ้ปลิง อยู่ในโลกนี้เลย ทากก็เหมือนกัน ไม่น่ามีอยู่เล้ย ไม่เห็นมีประโยชน์ อะไรสักนิด มีแต่จะคอยดูดเลือดเรากิน กินอะไรไม่กิน กินเลือด"

แต่มามุไม่เห็นด้วย เขาขัดขึ้นว่า

"แต่ว่าทุกอย่างนี่อัลเลาะห์สร้างขึ้นมานะ อัลเลาะห์สร้างก็ต้องมีประโยชน์ซี ไม่มีไม่ได้หรอก"

"แต่ปลิงไม่มี ทากก็ไม่มี อ้อ แล้วก็งูอีกอย่าง ฉันว่าไม่มีประโยชน์" น้อยยังเชื่อมั่นอยู่อย่างนั้น

"มันกัดคน กินเลือดคน จะมีประโยชน์ได้ไง"

มามุนิ่ง อาจจะเพราะตนเพิ่งถูกปลิงดูดเลือดมาหรือเป็นเพราะยังคิดข้อแย้งไม่ออกก็เป็นได้

บ่ายวันหนึ่งแม่ใช้ให้น้อยไปซื้อยาเส้นกับใบจากมาใส่หน้าร้านสำหรับขายปลีก ขณะไต่สะพานต้นมะพร้าว ข้ามคลอง เธอมอง ลงไปยัง หัวโค้งคลองที่มีกอไผ่ขนาดใหญ่ขึ้นครึ้มอยู่ ตรงนั้นน้ำลึกกว่าที่อื่น ในใจคิดว่า ตอนเย็นเมื่อทำงานเสร็จแล้ว จะชวนมามุ ไปเล่นน้ำคลองที่ท่าหาดทรายบ้านน้ากิม ขณะกำลังคิดอยู่ อย่างสนุกสนาน น้อยก็ต้องชะงัก หยุดเดิน จ้องไป ที่ใต้กอไผ่นั้น

ชายคนหนึ่งนั่งแช่อยู่ในน้ำคลองตรงหัวโค้ง จะว่าเขามาอาบน้ำก็ไม่ใช่เพราะเขานั่งนิ่ง ไม่วักน้ำดำน้ำอะไรเลย มานั่งนิ่งเหมือนตุ๊กตา ทำไมนะ?

น้อยคิดจะไต่ตลิ่งสูงที่เขาตัดเป็นซอกคั่นบันไดสำหรับเดินลงคลองไปดูชายคนนั้น แต่แล้วก็เปลี่ยนใจ ซอกตรงนั้น มันเป็นโคลนลื่น เพราะฝนเพิ่งหยุดตก ขั้นบันได คงลบเหลี่ยมหมดแล้ว ขืนเดินลงไปก็อาจ ลื่นหกล้ม ทำให้พับยาเส้นกับมัดใบจาก เสียหาย อย่างที่เคยเกิดมาแล้วและโดนแม่ดุด้วย เธอจึงบอกตัวเองว่า เอาของไปให้แม่ก่อน แล้วค่อยไปชวนมามุมาดูด้วยกันดีกว่า

"แม่ไม่อยู่หรอก ไปบ้านเปาะจิ๊ฮามิในกำปงแน่ะ ตัวเองจะทำไม พ่อก็ไม่อยู่ ไปดูสวนยางที่ตอแล เราต้องเฝ้า หน้าร้าน ไปไหนไม่ได้นะ" พี่แมะออกคำสั่งอย่างรู้ทัน ขณะรับเอาพับยาสูบและมัดใบจากไปจากน้อง

"แล้วอีกนานไหมล่ะ กว่าพ่อจะกลับ? น้อยไปเดี๋ยวเดียวแหละน่า พอพ่อกลับมาแล้วน้อยค่อยมาช่วยกำยา ทันพอดีเลย" น้อยพูด พลางวิ่งลงจากนอกชานหน้าร้านอย่างรวดเร็ว ตรงไปบ้านมามุ เมื่อเธอไปถึงนั้น มามุกำลังง่วนกับ การเกลาปาง (ปาง ภาคกลาง เรียกว่า หนังสะติ๊ก ซึ่งไม่น่าจะเป็นคำไทยมาแต่เดิม คำ ปาง น่าจะเป็นคำไทยแท้ ไม่ได้ยืมมาจากภาษามลายู เหมือนบางคำ เพราะภาษามลายูเรียกว่า ตูเบ (tube) และศัพท์ ปาง ในความหมายนี้ก็มีใช้แต่ในภาคใต้ เพราะในภาคเหนือ เรียกเครื่องยิงชนิดนี้ว่า ก๋ง ส่วน ปาง หมายถึงสถานที่อันเป็นที่รวมกันทำอะไรสักอย่าง เช่น ที่รวมกันทำไม้ซุง เรียกว่า ป๋างไม้ หรือที่ๆเอาควาย ไปรวมกัน ก็เรียกว่า ป๋างควาย ในภาคกลาง ปางหมายถึง ช่วงเวลา และเป็นศัพท์ที่ใช้กันมาก ในทางวรรณศิลป์ ไม่ใช่คำสามัญนัก เช่น ปางเสด็จประเวศด้าว ชลาลัย หรือ นารายณ์สิบปาง เป็นต้น)อันใหม่ของเขาอยู่ใต้ถุน น้อยเล่าเรื่องที่เพิ่งเห็นมาให้เพื่อนฟังอย่างตื่นเต้น

"ฆีกึเละห์ลา ซาปอดิยอเตาะตาฮู ดูโดะสิยะดาแลซูงา ไอจูฆีกึเละห์ลาเตาะจาญอฆะ (ไปดูซี ใครก็ไม่รู้ นั่งนิ่ง อยู่ในคลองแน่ะ ไม่เชื่อไปดูกันเลย)" น้อยพูดเร็วปรื๋อ

"ซาปอดิยอ (ก็ใครล่ะ?)" มามุย้อนถามไม่ยอมละสายตาจากงานของเล่น

"กาตอเตาะตาฮู เตาะตาฮู ฆีกึเละห์ลา บางะซีกิ นาตอดิยอฆีดูลู (บอกว่าไม่รู้ไม่รู้ ไปดูซี เร็วหน่อย เดี๋ยวเขาก็ไป เสียก่อนหรอก)" น้อยเร่งเพื่อนจนมามุต้องลุกขึ้นอย่างไม่เต็มใจนัก แต่เกรงใจเพื่อน

เมื่อถึงตีนสะพาน เด็กทั้งสองค่อยโผล่หัวขึ้นแอบดู ชายคนนั้นยังคงนั่งนิ่งอยู่ในน้ำใต้กอไผ่เหมือนเดิม มามุอุทาน อย่างประหลาดใจ เปลี่ยนท่าทางเป็นกระตือรือร้นทันที

"เว้! ซาปอดิยอ? ดิยอดูโดะบูวะอะปอ(เอ๋อ! ใครกันน่ะ เขานั่งทำอะไรอยู่)?" มามุพูดพลางสะกิดแขนน้อย พยักเพยิดว่า "มารีโกะนิงคอ ๆ (แน่ใจว่าคำ คอ หรือบางครั้ง ก็ออกเสียงเป็น คอฮอ เป็นคำยืมจากภาษาไทย คือจากคำว่า ค่อย ลักษณะ การนำไปใช้ ในภาษามลายูยังคงเหมือนในภาษาไทยทุกประการ โดยใช้เป็นวิเศษณ์ ประกอบกริยา เช่น คอๆ มาแก (ค่อยๆ กิน)) ซีกิ๊ (มาทางนี้ ค่อยๆ หน่อย)"

ทั้งสองคนพากันเดินก้มหลังแหวกกิ่งไม้ชายคลองไปจนถึงกอไผ่ ระวังไม่เหยียบลงไปบนใบไม้แห้ง ที่หล่นอยู่ เกลื่อนกลาด เพราะจะเกิด เสียงดัง แต่ถึงจะพลาดไปเหยียบเข้าบ้าง ต้นไผ่ที่โอนเอน เพราะต้องลมช่วงบ่าย ก็ดังเอี๊ยดอ๊าด พอกลบเสียงนั้นได้อยู่หรอก

ในที่สุด เด็กทั้งสองก็โผล่หัวขึ้นตรงโคนไผ่ไม่ไกลจากจุดที่ผู้ชายคนนั้นนั่งแช่น้ำอยู่ แต่พอเห็นภาพเขา ถนัดเต็มตา ก็เกือบอุทาน ออกมา ด้วยความตกใจ ต้องรีบปิดปากตัวเองไว้แน่น น้อยนั้นถึงกับเบือนหน้าหนี

ชายคนนั้นยังคงนั่งนิ่งอยู่ในน้ำลึกถึงคอ หัวของเขาถูกโกนไปแถบหนึ่ง แล้วนั่นอะไรติดดำเป็นปื้น อยู่บนหัว ตรงที่โกนน่ะ? โอ๊ย! โอ๊ย! ตายแล้ว! นั่นมันปลิงตัวใหญ่ เกาะติดแน่นอยู่นี่นา มันกำลังดูดเลือด บนหัวเขา จนตัวเป่ง!

มามุและน้อยกระโดดออกจากกอไผ่ที่ซ่อนตัวอย่างไม่กลัวหนามไผ่จะขีดข่วน ทั้งสองไม่เคยเห็นอะไรน่ากลัว อย่างนั้นมาก่อนในชีวิต จึงวิ่งอ้าวกลับบ้าน แต่พอมองไปเห็นพี่แมะ ยังนั่งอยู่หน้าร้านคนเดียว น้อยก็เปลี่ยน ทิศทาง วิ่งนำหน้ามามุ เลี้ยวซ้ายไปตามทางเดิน ริมรั้วลงขวากของบ้านปะดอแมะเต๊ะ พอพ้นรั้วสวน ก็พากัน หยุดหอบ เสียหน่อยหนึ่ง ก่อนที่จะเดินลัด ลงท้องนาผ่านดงสาคู ที่ไม่ทึบนัก และกอบอน ริมคู ข้างโรงจักร รีดยางของแม่ จากนั้นก็เข้าเขตกลุ่มบ้านของเป๊าะจิ๊และเมาะจิ๊ฮามิ (อาฮามิ) แล้วจึงค่อยๆ รวบรวมจิตใจ เดินเข้าไปหาแม่อย่างสงบ

บนนอกชานบ้านหลังใหญ่อันเป็นเสมือนบ้านประธานของครอบครัวนี้ น้อยและมามุมองเห็นแม่ นั่งรวมกลุ่ม กันอยู่ กับเจ้าของบ้าน ด้วยสีหน้าวิตกกังวล เห็นท่าทางผู้ใหญ่แล้ว เธอกับมามุ ไม่กล้าเดินขึ้นบันไดบ้าน และแม่ ซึ่งมองเห็นเธอกับมามุแล้ว ก็ไม่เรียก ขึ้นไปด้วย จึงได้แต่ชะเง้อมองจากพื้นดิน

น้อยมองเห็นกะนิรอมะห์ (พี่รอมะห์) ลูกสาวของเป๊าะจิ๊และเมาะจิ๊นอนอยู่บนเสื่อเตยตรงกลางนอกชาน พี่รอมะห์ ไม่สบายมาก มาหลายวันแล้วและวันนี้มีไข้สูงมาก แม่จึงมาเยี่ยม และอยู่เป็นเพื่อนครอบครัว ที่เหมือน ญาติสนิทครอบครัวนี้ทั้งวัน

เมาะจิ๊กำลังลดไข้สูงของพี่รอมะห์ด้วยการเอากะพร้อทำด้วยกะลามะพร้าวที่เจาะเป็นรูเล็กๆ มีด้ามยาว สำหรับถือ เรียกว่า แยเวาะห์ ตักน้ำในเนียง (ภาชนะดินเผา บรรจุน้ำขนาดกลาง ระหว่างโอ่งและไห เดิมภาคกลาง ก็คงจะมีศัพท์นี้ใช้เพราะปรากฏคำว่า พะเนียง เป็นชื่อถนนในกรุงเทพมหานคร และปรากฏใช้ ในเรื่องสมุทโฆษคำฉันท์ และในเรื่อง ราชาธิราช) มาค่อยๆ รดลงบนศีรษะ ของพี่รอมะห์ให้น้ำเย็นผ่านรูเล็กๆนั้นจนผมของพี่เขาชุ่มโชก น้อยเห็นแม่มองดูพี่รอมะห์ อย่างเป็นห่วง แต่ไม่ได้พูดอะไร เธอกระซิบ ถามมามุเบาๆ ว่า

"เขาเอาน้ำรดน้ำพี่รอมะห์ทำไมล่ะ ก็พี่เขาไม่สบายไม่ใช่หรือ?"

"ก็เขาเป็นไข้ ตัวร้อนมาก ตัวร้อนมากไม่ดีรู้ไหม พอรดน้ำที่หัว ตัวก็จะเย็นลงไง"มามุกระซิบตอบ

"ไม่ได้ เวลาเป็นไข้ เขาต้องไม่ให้ถูกน้ำซี เขาต้องห่มผ้าให้หนาๆ โดนลมก็ไม่ได้" น้อยว่าตามที่ครอบครัวเธอ ที่เป็นคนไทยพุทธ ปฏิบัติกันมา

"ถ้าเป็นไข้หนาวก็ต้องทำอย่างนั้น แต่ถ้าตัวร้อนมากล่ะ ยิ่งห่มผ้าก็ยิ่งแย่ซี" มามุว่าตามที่ตนเคยเห็นมาบ้าง

"ก็ต้องกินยา แม่ว่าให้ยากระทุ้งไข้ออกมาเป็นเหงื่อ แล้วตัวก็จะเย็นลง ฉันเคยเป็นไข้บ่อย แม่ก็ทำแบบนี้แหละ แม่จะห่มผ้า ให้หนามากๆ พอเหงื่อออกมาแม่ก็ว่าไข้สร่างแล้ว แล้วฉันก็หาย" น้อยอธิบายเพื่อน ถึงการรักษา แบบเด็กไทยพุทธต่อ แต่มามุ ก็แย้งด้วยการรักษาแบบเด็กไทยมุสลิมว่า

"แต่ตอนฉันเป็นไข้สูง โต๊ะ (ย่า,ยาย) ก็เอาแยเวาะห์ตักน้ำรดหัวแบบนี้เหมือนกัน แล้วฉันก็หาย"

"อัยย์ตาวา(น้ำมนตร์)หรือเปล่า ถ้าเป็นอัยย์ตาวาก็หายซี ก็เขาว่ามนตร์ด้วยนี่" น้อยประนีประนอม

"ไม่รู้ซี โต๊ะว่ามนตร์ไม่เป็นนี่ แต่โต๊ะอาจให้คนอื่นว่าให้ก็ได้นะนั่น ปะดอแมะเต๊ะก็อยู่ข้างบนนั้น เขารู้มนตร์ ด้วยหละ" มามุผสมโรง

น้อยเห็นเขารดศีรษะพี่รอมะห์สักครู่ก็หยุด แม่ลุกขึ้นมาเอาหลังมือแตะแขนพี่รอมะห์ ท่าทางแม่โล่งใจ เมื่อพวกเขาพูดว่า "บอ (เป็นคำยืมจากภาษาไทย คือ พอ และใช้ในความหมายเหมือนกัน) เดาะห์ลา" ก่อนที่จะเอาผ้าเช็ดผม ให้พี่รอมะห์ และช่วยกัน หามเสื่อที่พี่รอมะห์ นอนอยู่กลับเข้าไปในห้อง

น้อยและมามุสังเกตว่าแม่คงจะยังอยู่ที่บ้านนั้นอีกนานจึงชวนกันเดินกลับบ้านทางสวนมะพร้าว อันเป็นทางเดินปกติ ของชาวบ้าน ไม่ได้ลัดทางท้องนา และป่าสาคู เหมือนตอนขาไป

"กีตอฆีตูลงเจ๊ะบูวะตึบากา( ตึบากา แปลว่า ยาสูบ เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาอังกฤษว่า tobacco) เด๊ะห์ (เราไปช่วยพ่อ ตัดพับยาสูบกันนะ)" น้อยบอกมามุ

"ตึบากาจ๊ะกูดอปูเต๊ะห์ก๋อ(ยาสูบตราม้าขาวหรือ)?" มามุถามต่อ

"ยอลา(ใช่เลย) ตอนนี้ที่ตลาดแว้งมีขายแล้ว แม่ว่าอย่างอื่นขายไม่ดี" น้อยบอก

"ต้องถามเจ๊ะเรื่องคนประหลาดในคลองด้วยนะ" มามุว่า

"ถามซี แต่ต้องทำงานที่แม่สั่งให้เสร็จเสียก่อน เธอช่วยด้วยนะ" น้อยตอบ มามุพยักหน้ารับ

พ่อกลับมาถึงก่อนแล้ว กำลังใช้พร้าคมตัดแบ่งพับยาสูบสำหรับขายปลีกเป็นเสี้ยวและเป็นก้อนเรียกว่า กลุ่ม เด็กทั้งสอง ตรงเข้าไป ช่วยพ่อทันที พี่แมะกำลัง ตั้งหม้อข้าว อยู่ในครัว ครอบครัวนี้ จะแบ่งหน้าที่กันทำ เช่นนี้เสมอ และถ้าคนไหนขาดไป คนอื่นก็ต้อง ช่วยทำหน้าที่นั้นแทนโดยไม่ต้องบอกกัน

แรกสุดพ่อเอาพับยาสูบตราม้าขาววางบนพื้นอย่างระมัดระวังให้แนวเชือกที่เขามัดไว้ตรงกลางพับพอดี ให้อยู่ตรงแนวร่อง ระหว่าง พื้นกระดาน พ่อใช้มือซ้าย กดทาบบนกระดาษ ที่มีภาพม้าขาว เป็นตราพับยาซีกหนึ่ง ใช้พร้าในมือขวาเฉือนช้าๆ ตามแนวเส้นเชือก ดังกล่าว จากตอนบนสุด ลงไปตลอดพับ ยาเส้นนั้น ก็ถูกแยกเป็นสองซีกเท่าๆ กันแล้ว พ่อไม่อนุญาต ให้ใครทำหน้าที่นี้ เพราะไม่มีใคร ทำได้ประณีตเท่าพ่อ

จากนั้นพ่อก็หยิบพับยาซีกหนึ่งที่ตัดแล้วมาวางขวางร่องอีก คราวนี้พ่อวางให้แนวเชือกด้านขวาง อยู่ตรงร่อง แล้วพ่อก็ลงมือเฉือน แบบเดียวกันอีก พอเสร็จมามุก็หยิบ มาวางซ้อนกันดู พูดว่า

"เจ๊ะครับ(พ่อครับ) มันเท่ากันเป๊ะเลยครับ พ่อเก่งจัง"

"ทำไม่ยากหรอก มามุ เขามัดไว้ตรงดีแล้ว เราแค่ระวังตัดให้ตรงตามเชือกที่เขามัดไว้เท่านั้นเอง อยากลองทำบ้าง ใช่ไหมล่ะ ไว้โตอีกหน่อยก็แล้วกัน ตอนนี้ไปช่วยกัน กำยาสูบดีกว่าไป๊ มือร้อนหน่อยนะ"

พ่อพูดพลางหยิบยาสูบอีกพับส่งให้เด็กทั้งสอง

ถึงคราวน้อยเป็นคนสอนมามุบ้างเพราะเธอช่วยแม่กำจนเก่งและรู้กลวิธีดีแล้ว ยาสูบตราม้าขาวนี้ เขาปลูก และส่งมาขาย จากจังหวัดเพชรบูรณ์ คนไทยมุสลิมชอบมาก เพราะเส้นเหนียว ละเอียด ไม่แห้งกรอบ เหมือนยาสูบตราอื่น พอแกะกระดาษ ที่เขาพันไว้และตัดเชือกออก ข้างในจะเป็นเส้นยาสูบ ที่เขาทำไว้เป็นชั้น เหมือนผืนผ้าพับ มามุเข้าช่วยน้อย คลี่ผืนยาสูบ ในกระด้งใบโต

"ทำไมต้องคลี่จนหมดด้วยล่ะ คลี่ไปพลางกำไปพลางไม่ได้หรือ?" มามุถาม

"ไม่ได้หรอก พอคลี่จนหมดแล้วเธอจะรู้เองแหละ" น้อยตอบอย่างอมภูมิ

พอช่วยกันคลี่หมดทั้งพับแล้ว มามุก็เข้าใจเหตุผล พูดว่า "ว้า ข้างในเขาใส่ที่เป็นเส้นขาดๆ ไว้ด้วยอย่างนี้นี่ เหมือนขี้โกงนะ เดี๋ยวเราเอาทิ้งใช่ไหม น้อย? "

"ไม่ทิ้งหรอก แม่ให้เอาใส่กระป๋องไว้ให้คนเขาสูบ แล้วถ้ามีที่เป็นเศษมากก็ทำอย่างนี้" น้อยสอนเพื่อนต่อ ฉีกเอาเส้นยาสูบ จากพับที่แน่น มาแยกออก แล้ววางแผ่ลง หยิบเอาเศษๆ วางลงตรงกลาง ลงมือม้วน จนเป็นก้อนโป่งสวย ก่อนวางลงในถาดเคลือบ มามุลงมือทำบ้าง พอได้เป็นกลุ่มเขาก็ถามน้อยว่า

"ทำไมกลุ่มของเธอใหญ่กว่าของฉันล่ะ ก็ฉันฉีกยาจากผืนเท่าๆ ของเธอแล้วนี่นา"

"อ๋อ เธอไปม้วนจนแน่น ก็ได้กำเล็กซี พอใครมาซื้อเขาเห็นขยุ้มเล็กเขาก็ไม่เอาซี ถึงยาสูบจะเท่ากันก็เถอะ เธอต้องทำ ให้กลุ่มหลวม หน่อย ได้จะดูเป็นขยุ้มใหญ่สวย นั่นไง ก้อนที่สอง ของเธอสวยแล้ว" น้อยแนะนำ ก่อนที่จะชมเพื่อน

ช่วยกันนั่งทำกำยาสูบอยู่นานกว่าจะเสร็จ เสียงพี่แมะทอดปลาดังฉี่อยู่ในครัว ส่วนพ่อไปดูต้นสาคู ที่ให้เขาตัด เป็นท่อน ใช้ควายลาก มาไว้ในบริเวณบ้าน สำหรับขูดเป็นอาหาร เป็ดและไก่ แม่ยังไม่กลับมาจากบ้านในกำปง

"เดี๋ยวเราช่วยกันแขวนใบจากเสร็จก็ไปถามเจ๊ะเรื่องนั้นกันเลยนะ" มามุพูด

"ฉันก็อยากรู้จะตาย แต่เราไปเที่ยวเสียตั้งนาน ต้องช่วยทำงานให้เสร็จก่อน" น้อยตอบ

การแขวนใบจากนี้ง่ายมาก พ่อได้ตอกราวสำหรับแขวนเป็นรูปกางเขนติดเข้ากับกระบะบรรจุของอย่างพริกแห้ง หัวหอม หัวกระเทียม ส้มแขก ใบจากที่น้อยซื้อมาจากตลาดนั้น เธอต้องเดินดู ชนิดที่มีสีขาว ความยาวเท่ากัน และแต่ละใบมีความกว้างมาก ไม่เช่นนั้น จะขายไม่ดี ใบจากนี้เขาผูกติดกันเป็นกระจุกๆ ละประมาณสิบใบ แล้วเขามัด กระจุกเหล่านั้น เข้าเป็นมัดใหญ่ๆ ที่น้อยกับมามุ ต้องช่วยกันแขวนบนราว ก็เพราะคนที่ซื้อปลีกเขาจะซื้อทีละหนึ่งหรือสองกระจุกก็ได้

เวลาแขวนก็ง่ายมาก ใช้นิ้วมือแยกใบจากแต่ละกระจุกออกเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน สอดแต่ละกระจุก เข้าไปตรงง่าม ระหว่างนิ้วชี้ และนิ้วหัวแม่มือ พอได้สิบกระจุก ก็ยกไปสอด แขวนไว้บนราว ทำอย่างนั้นจนหมด ก็เป็นอันเสร็จ และรู้ด้วยว่าใบจากที่แขวน มีกี่กระจุก เอาไว้บอกแม่เพื่อแม่จะได้บอกว่า ให้ขายกระจุกละเท่าไร แม่ทำอย่างนี้ทุกครั้ง ทั้งยาสูบและใบจาก แม่จึงจะรู้ล่วงหน้า เลยว่า จะได้กำไรจากการขายปลีกเท่าไร

ทำงานเสร็จก็พอดีแม่กลับมาถึงบ้าน สีหน้าแม่ยังกังวลอยู่มาก น้อยและมามุเดินตามแม่ไปหาพ่อในสวน แม่บอกพ่อว่า

"รอมะห์ไข้หนักมากนะพ่อ เขายอมไปตามหมอจรูญมาตรวจตามที่พ่อสั่งให้ไปบอกแล้ว หมอเขาให้ยาไว้ หลายเม็ดทีเดียวค่ะ เห็นหมอว่าเป็นไข้จับสั่น"

"ถ้างั้นยาที่หมอให้ก็เป็นยาควินิน ไข้จับสั่นมันร้ายแรงจริงๆ" พ่อพูดพลางกวาดหญ้าคา ที่ขุดรากมาวางสุม รวมกันไว้ "ปีนี้ดูจะร้ายแรง กว่าทุกปี ยาก็หายาก พวกหญ้าคาสดนี่ ถ้าชาวบ้าน เขาเอามาสุมไฟ ก็พอไล่ยุง ไปได้อยู่หรอก หวังว่ายาที่หมอจรูญให้ จะเอาอยู่นะแม่"

"ไอ้เราก็รักษาไข้กันคนละแบบกับเขา เห็นเขาเอาน้ำเย็นรดหัวคนไข้เข้าแล้วใจไม่ดี กลัวตะพ้านกิน แต่เขาว่า ทำให้ไข้ลดได้ ก็เห็นตัว รอมะห์ ตัวเย็นลงจริงๆ ด้วยนะพ่อ นี่เห็นว่าจะให้ มาเฮงตือฆี (พิธีกรรมในการรักษา คนป่วยหนัก มีลักษณะเหมือน การทรงเจ้า สันนิษฐานว่ามีร่องรอยของศาสนาพราหมณ์ มาตั้งแต่ ครั้งโบราณ ปนอยู่ ไม่ใช่ความเชื่อ ในศาสนาอิสลามอย่างแน่นอน แต่เป็นหลักฐาน ของความเชื่อ ที่เป็นพหุลักษณ์ ในดินแดน แถบนี้ของเอเชียอาคเณย์)ด้วย" แม่บอกพ่อ

"ก็ต้องยอมทำกันทุกทางที่ช่วยให้แน่ใจว่าคนไข้จะหาย แปลกอย่างไรก็ทำ" พ่อสรุปก่อนที่น้อยกับมามุได้ช่อง ตัดสินใจ ขออนุญาตพูดบ้าง

"พ่อคะ แม่คะ วันนี้น้อยกับมามุเห็นผู้ชายประหลาดคนหนึ่งนั่งอยู่ในคลองตรงที่น้ำลึกใต้กอไผ่ค่ะ น่าเกลียดจังค่ะ เขาโกนหัว แล้วก็- -"

"เขาเอาลีเต๊าะห์(ปลิง)มาดูดเลือดบนหัวที่เขาโกน เขาทำอะไรครับเจ๊ะห์(พ่อ)?" มามุถามบ้าง

"อ๋อ ลูกว่าน่าเกลียดเพราะไม่เคยเห็น นั่นก็เป็นวิธีรักษาโรคแบบหนึ่งเหมือนกัน แต่แปลกอยู่สักหน่อยนะ พ่อจะอธิบายให้ฟัง"

แล้วเย็นวันนั้นน้อยและมามุก็ได้ทราบว่า ในสมัยก่อนเขาเคยใช้ปลิงดูดเลือดเพื่อเอาพิษออกจากร่างกาย และ รักษาโรคด้วย แปลกจริงๆ และเด็กทั้งสอง ก็ตัดสินใจแล้วว่า จะไปดูเขา มาเฮงตือฮีในกำปงด้วย

(อ่านต่อฉบับหน้า)


หมายเหตุ เขียนเสร็จเวลาห้าทุ่มครึ่ง ๑๖ มีนาคม ๔๘ ที่บ้านซอยไสวสุวรรณ บางซื่อ กทม. หวังว่า ๒๕ ขุนพล ของรัฐบาล จะหาทางระงับเหตุการณ์ไม่สงบ ทางสามจังหวัด ภาคใต้ได้ ยังเห็นแต่ข่าวการฆ่ากัน ไม่เว้นแต่ละวัน จนไม่เป็นข่าวหน้าหนึ่งแล้ว เพราะคนชินและเบื่อ

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๗ เมษายน ๒๕๔๗ -