มักมากหลงลาภลืมตัว
ไม่กลัวไม่อายหน้าไหน
หน้าด้านอวดโชว์ใครใคร
บรรลัยเพราะใจกล้าเลว.
ภิกษุรูปหนึ่ง ประพฤติตนเป็นผู้มีกิเลสหนามักมาก เก็บสะสมจีวร ผ้านุ่ง เครื่องใช้ต่างๆ เอาไว้มากมาย ไม่ยอมแบ่งปันให้แก่ผู้อื่น บวชแล้ว ไม่กระทำตนเป็นผู้มักน้อย ดังนั้นเหล่าภิกษุ จึงนำภิกษุนี้ ไปเข้าเฝ้า พระศาสดา พระองค์ได้ตรัสถามว่า
"ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอเป็นผู้สะสมจีวร สิ่งของเครื่องใช้เอาไว้มากจริงหรือ?"
"จริง พระเจ้าข้า"
"ก็แล้วเพราะเหตุไร เธอจึงต้องมีไว้มากเล่า"
ถูกพระศาสดาตรัสถามเพียงแค่นี้ ภิกษุนั้นก็โกรธจัด ลุกพรวดพราดขึ้นทันทีอย่างไม่พอใจ แล้วถอดผ้า ที่นุ่งอยู่ออก เป็นคนเปลือย ยืนต่อหน้า พระพักตร์ หมู่ภิกษุเห็นดังนั้นก็พากันส่งเสียง ตำหนิว่ากล่าว ภิกษุนั้น จึงได้หลบหนีจากไป กระทำตนเป็นผู้เวียนกลับ สึกสู่ความเป็นคนเลวแล้ว
ณ ธรรมสภา มีภิกษุได้กราบทูลพระศาสดาว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปนั้นไม่มีหิริ (ความละอายต่อการทำผิด) และโอตตัปปะ (ความเกรงกลัว ต่อการทำผิด) กล้ากระทำ การเปลือย ท่ามกลางพุทธบริษัท และเบื้องหน้าของพระองค์ คนทั้งหลาย ต่างก็รังเกียจ เขาจึงเสื่อมจากศาสนา เวียนกลับ สู่ความเป็นคนเลวแล้ว พระเจ้าข้า"
พระศาสดาทรงสดับอย่างนั้น ก็ตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นกิเลสหนา เสื่อมจากศาสนาคือ พระรัตนตรัย (แก้ว ๓ ดวง มีพระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์) มิใช่ในบัดนี้ เท่านั้น แม้กาลก่อนก็เป็นผู้มีกิเลสมาก เสื่อมจากอิตถีรัตนะ (นางแก้ว) มาแล้วเช่นกัน"
แล้วทรงแสดงชาดกนั้น
-------------
ในอดีตกาลนานโพ้น สัตว์ ๔ เท้าทั้งปวงต่างพากันยกให้ราชสีห์เป็นราชา ส่วนปลาทั้งปวงยกให้ปลาอานนท์ (ชื่อปลาที่มีขนาด ใหญ่โต มโหฬารมาก) เป็นราชา และพวกนกทั้งปวงก็ยกให้สุวรรณหงส์ (หงส์ทอง) เป็นราชาในหมู่นก
มีอยู่วันหนึ่ง ราชาหงส์ทองได้ประกาศให้นกทั้งปวงในป่าหิมพานต์ มาร่วมประชุมกันทั้งหมดโดยพร้อมหน้า เพื่อให้ธิดา ซึ่งเป็นลูกหงส์ทอง ที่สวยงามนัก ได้เลือกคู่ครองตามชอบใจ เพราะธิดาแสนสวย ขอกับราชา หงส์ทองเอาไว้
ในท่ามกลางที่ประชุมนั้น
ราชาหงส์ทองกล่าวกับธิดาของตนว่า
"นกทั้งหมดได้มารวมกันแล้ว เจ้าจงพิจารณาให้ดีเถิด เลือกหาคู่ครองตามใจที่เจ้าชอบ"
ธิดาแสนสวยกวาดตาดูหมู่นกทั้งหมดแล้ว ในที่สุดก็มาสะดุดใจที่นกยูง ซึ่งมีขนคอสวยงามดังสีแก้วมณี และ มีขนหางงดงามวิจิตรนัก
จึงตกลงใจกล่าวออกไปว่า
"นกยูงนี้ จงเป็นคู่ครองของดิฉันเถิด"
บรรดานกทั้งหลายได้ยินอย่างนั้น จึงพากันเข้าไปหานกยูง แล้วแสดงความยินดีว่า
"เพื่อนนกยูงเอ๋ย ท่ามกลางนกจำนวนมากมาย ธิดาของราชาหงส์ทองเลือกท่านเป็นคู่ครอง นางมีความพึงพอใจ ในตัวท่านยิ่งนัก"
นกยูงได้ยินอย่างนั้นก็หัวใจพองโต เกิดกิเลสอยากโอ้อวดตนขึ้นมาทันที ด้วยคิดว่า
"นกทั้งหมดในที่นี้ยังรู้จักเราน้อยไป วันนี้เราจะอวดความงามแห่งสรีระทั้งปวงของเราให้ดูเป็นขวัญตา"
คิดอย่างนั้นแล้ว ก็สิ้นความละอาย(หิริ) และความเกรงกลัว (โอตตัปปะ) ต่อการกระทำอันไม่สมควร กิเลสพาให้ลุ่มหลงดีใจ นกยูง จึงก้าวเท้า ไปยืนอยู่ท่ามกลางที่ประชุม แล้วเปิดเผยเรือนร่าง สยายปีก ออกเต็มที่ รำแพนแผ่ขนหางกระดกขึ้น เดินกรีดกราย โอ้อวดไปมา ส่งเสียงร้องก้องอย่างภาคภูมิใจตัวเองสุดๆ
ราชาหงส์ทองเห็นนกยูงแสดงกิเลสเช่นนั้น ก็บังเกิดความละอายขึ้นมาแทน จึงกล่าวกับนกยูงว่า
"เสียงของท่านก็ไพเราะดี รูปร่างของท่านก็แลดูงดงาม ขนคอของท่านก็ราวกับสีแก้วไพฑูรย์ (สีเหลืองแกมเขียว หรือ สีน้ำตาลเทา) ขนหางของท่าน ก็ยาวตั้งวา (๒ เมตร) แต่เราจะไม่ให้ ลูกสาวของเรา แก่ท่าน ผู้ซึ่งไร้ความละอาย และความเกรงกลัว ต่อการอวด ให้ดูสรีระ ด้วยการสยายปีก รำแพนหางอย่างนี้"
แล้วราชาหงส์ทองก็ได้ยกธิดาให้แก่หงส์ตัวอื่น ในท่ามกลางที่ประชุมนั้นนั่นเอง
เมื่อนกยูงไม่ได้ธิดาหงส์แสนสวยแล้ว ก็อับอายขายหน้านักหนา จึงบินหนีไปจากที่นั้นอย่างรวดเร็ว
-------------
พระศาสดาทรงแสดงชาดกจบแล้ว ทรงเฉลยว่า
"นกยูงในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุผู้มักมากในสิ่งของนั้นเอง ส่วนราชาหงส์ทองในครั้งนั้น ก็คือเราตถาคต ในบัดนี้"
(พระไตรปิฏกเล่ม ๒๗ ข้อ ๓๒ อรรถถาแปลเล่ม ๔๕ หน้า ๓๓๒)
-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๗ เมษายน ๒๕๔๗ -