- ส.ศิวรักษ์ - * บรรยายเมื่อวันที่
๙ ธันวาคม ๒๕๔๗ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนศรีอยุธยา
(ต่อจากฉบับที่ ๑๗๖)
ใช้วิทยาศาสตร์ แก้ปัญหาโลก
เราคุ้นเคยกับสิ่งวิเศษมหัศจรรย์ต่างๆ เหล่านี้ โดยแทบไม่คิดคำนึงถึงเลยว่า มันมีผลลบอะไรติดตามมาด้วยบ้าง เช่น เราตระหนัก กันไหมว่า ทรัพยากรทางธรรมชาติของโลก ปลาสนาการไปเกือบหมดสิ้นแล้ว ความงาม ตามธรรมชาติ ของป่าเขา ถูกบุกรุก จนกลายเป็นป่าคอนกรีตไปมากแล้ว สัตว์และพืช ตลอดจนแมลงต่างๆ ปลาสนาการไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว แม้การแพทย์ สมัยใหม่ จะช่วยเยียวยาอะไรๆ ได้ แม้จนต่ออายุ หรือ เนรมิตชีวิต ก็ได้ แต่แล้วผลกระทบจาก การแพทย์ ตะวันตกนั้น เราตระหนักกัน เพียงพอไหม และผลได้ ทางวิทยาศาสตร์นี้เอง ก็ได้ทำลายล้าง มนุษยชาติ และก่อให้เกิดยุคเข็ญ กับนานาสังคม อย่างมากมาย มหาศาล ยิ่งอาวุธนิวเคลียร์ ที่มีอยู่ในโลก ในบัดนี้ด้วยแล้ว เราอาจทำลาย ล้างโลกนี้ได้ ภายในพริบตาเลยทีเดียว และแม้พวกที่มี ความสะดวก สบาย นานัปการนั้น เขาเหล่านี้มีความสุข จริงล่ะหรือ ชีวิตอันฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ของพวกเขา สัมพันธ์กัน ในทางตรง หรือทางอ้อม กับความยากไร้ และการถูกเอารัด เอาเปรียบ ของมหาชน ส่วนใหญ่ หรือมิใช่ ใช่แต่เท่านั้น ความรู้ อันวิเศษ มหัศจรรย์ต่างๆ แม้จนการแพทย์ ล่าสุด และเทคโนโลยี อันทันสมัย ต่างๆ เหล่านี้ ล้วนมีขีดจำกัด อยู่กับคน จำนวนน้อย ที่มีทรัพย์ และมีอำนาจเท่านั้น นอกเหนือไปจากนี้ ก็ตรงที่ ความรู้ของ นักวิทยาศาสตร์นั้น เป็นเรื่อง จำเพาะ เจาะจง ที่คนนอกวงการ มักไม่เข้าใจ ผู้เชี่ยวชาญ จำนวนน้อย ในทางวิทยาศาสตร์ จึงเป็นดังคุรุ หรือ นักเทววิทยา ทางลัทธิศาสนา ในสมัยก่อน กล่าวคือ คนพวกนี้ ชี้ขาดได้ในด้าน การตัดสินใจ ในเรื่องโลกทัศน์ และนโยบาย ที่สำคัญๆ อันว่าด้วยชีวิต ตลอดจนสงคราม และ สันติภาพ แต่แล้วผู้เชี่ยวชาญ เหล่านี้ ก็มีความรู้ ในทางวิชาการ จำเพาะ แขนงของตน ซึ่งเป็นไป ในแต่ละแนวทาง อย่างเป็นเสี่ยงๆ ที่ปราศจาก องค์รวม ทั้งนักวิทยาศาสตร์ ยังปราศจาก การฝึกปรือ มาทางจริยธรรม ขั้นพื้นฐาน และบางครั้ง ยังไม่เข้าใจความซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ทางการเมือง อีกด้วย วิชาการต่างๆ จึงเป็นไป เพื่อวิชาการ หรือ ความก้าวหน้า ทางสาขาวิชา โดยหาได้ คำนึงถึง ความเป็นมนุษย์ เอาเลยไม่ ฉะนั้น การที่ชูมากเกอร์ นำเอา เศรษฐศาสตร์ แนวพุทธ มาชี้แจง แสดงให้เห็น ตามวิถีทาง ของวิทยาศาสตร์ว่า มนุษย์สำคัญกว่า ความเติบโต ของทุน หรือ โภคทรัพย์ จึงเป็นการศึกษา ทางเลือก ที่สำคัญยิ่งนัก
จำเดิมแต่งานเขียนของชูมาร์กเกอร์เริ่มแพร่หลายในโลกตะวันตก เมื่อ ๓๐ ปีมานี้ แม้เขาเองจะไม่ได้เป็น พุทธศาสนิกชน แต่ชาวพุทธ ได้มีส่วนช่วย ด้านการศึกษาทางเลือก ในโลกตะวันตก ค่อนข้างมาก แม้ฝรั่ง จะท้าทายการศึกษากระแสหลัก ของตะวันตก ด้วยถ้อยคำแรงๆ อย่างไอวัน อิลิช หรือหาทางออกให้ อย่างเปาโล แฟร และ เอ เอส นีล ตลอดจนเทววิทยา แห่งการปลดปล่อย ทางอเมริกาละติน แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังอยู่ในกระแส ของตะวันตก ซึ่งถ้าไม่ใช่บริบท ทางคริสต์ศาสนา (ที่ลดความตายตัวทางคำสอน มาเป็นไปในทางอิสรภาพมากขึ้น แต่ก็ยังติดยึดอยู่ที่ความเชื่อซึ่งท้าทายไม่ได้) ก็ยังคงเป็นไป โดยทางตรรกวิทยา และการพิสูจน์ ตามแนวทางของ วิทยาศาสตร์ตะวันตก จำเดิมแต่ อริสโตเติลเป็นต้นมา เช่น อิลิช ที่เห็นว่า การแพทย์อย่างตะวันตกเป็นเทพเจ้ากาลี ก็ตรงที่เขาโจมตีวิธีวิทยา ของตะวันตก โดยเขาแสวงหาอะไรอื่น ที่นอกเหนือไปจาก วิธีวิทยาของ วิทยาศาสตร์ ตะวันตกไม่ได้
น่ายินดีที่ผู้นำทางพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานของธิเบตนั้น ไม่เคยถูกตะวันตกครอบงำ ให้จำต้องเปลี่นโลกทัศน์ ไปตามวิธีวิทยา ของฝรั่ง ครั้นเมื่อถูกจีนบุกรุกเข้ายึดครองประเทศ จนผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูงหลายท่าน ต้องพากัน อพยพ โยกย้ายไปยังดินแดน ต่างๆ ของโลก ในรอบสามสิบปีสี่สิบปีมานี้ ท่านเหล่านี้ไม่เห็นความจำเป็น ที่จำต้อง อนุวัตร เนื้อหาสาระ ของพุทธศาสนา ที่พิสูจน์ไม่ได้ ในทางวิธีวิทยาของฝรั่ง ให้เป็นที่ยอมรับของฝรั่ง ร่วมสมัย พร้อมกันนั้นท่านเหล่านี้ ก็ไม่ดื้อดันว่า คำสอนของ ฝ่ายพุทธ หรือ พุทธประเพณี ของตนเท่านั้น ที่ถูกต้องถ่องแท้ อย่างแก้ไขอะไรไม่ได้
ในรอบ ๓๐ ปีมานี้ ผู้นำทางด้านการปฏิบัติธรรมของฝ่ายวัชรยาน ซึ่งมีความรู้ทางพระสูตร พระวินัย และตันตระ อย่างแตกฉาน ผนวกไปกับความรู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างแนบแน่น กับภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้มีส่วนช่วยทำให้ วิทยาศาสตร์ ของตะวันตก เชื่องลง ได้มาก (น่าเสียดายที่ผู้นำทางด้านวิปัสสนาธุระของเรา มักขาดความรู้ ทางด้าน คันถธุระเอาเลย ดังนักปริยัติ ก็มักไม่เป็น นักปฏิบัติเช่นกัน โดยที่ทั้งสองฝ่ายนี้ มีความรู้ในเรื่องภูมิธรรม ชาวบ้านน้อย หรือดูถูกว่าเป็นดิรัจฉานวิชาเสียอีกด้วย ยิ่งจะให้เข้าใจถึง โลกสันนิวาส ของนานาชาติ และเข้าใจถึง โครงสร้าง ทางสังคมอย่างสมัยใหม่อันอยุติธรรม และรุนแรง ด้วยแล้ว เกือบหาไม่ได้เอาเลย อาจเว้นเพียง พุทธทาสภิกขุ)
คนสำคัญทางด้านวัชรยาน ที่นำด้านการศึกษาทางเลือกในรอบ ๓๐ ปีนี้ คือโซเกียม ตรุงป้า
ซึ่งปลุกมโนธรรมสำนึก ของชาวตะวันตกว่า ความรู้ในเรื่องกฎธรรมชาติ เท่านั้น ไม่เพียงพอ
หากต้องเกิดความเข้าใจในทางปัญญา ซึ่งไปพ้น ตรรกวิทยา และการทดลองในทางวัตถุตามวิธีวิทยาศาสตร์อีกด้วย
กล่าวคือต้องใช้จิตสิกขา หรือ สมาธิภาวนา เพื่อแสวงหาสัจภาวะ นับว่าคำพูด และข้อเขียนของท่าน
มีอิทธิพลมาก
(อ่านต่อฉบับหน้า)
-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๗ เมษายน ๒๕๔๗ -