กติกาเมือง - ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสงขลา -


จากยะลาสู่สงขลา

ฉบับนี้น่าจะเป็นฉบับสุดท้ายที่ผู้เขียนเขียนที่ศาลจังหวัดยะลา เนื่องด้วยในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๔๘ ที่จะถึงนี้ ผู้เขียนต้องย้ายไปรับราชการที่ศาลจังหวัดสงขลา ในตำแหน่งผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัดสงขลา

จังหวัดสงขลาเป็นภูมิลำเนาเดิมของผู้เขียน ซึ่งเดิมนั้นทางสำนักงานศาลยุติธรรม มีระเบียบ ห้ามมิให้ ผู้พิพากษา หัวหน้าศาล และผู้พิพากษา ไปรับราชการในศาล ที่เป็นภูมิลำเนาเดิม ของตนเองและของภรรยา หรือในจังหวัดที่เคยศึกษาเล่าเรียน หรือเคยรับราชการมาแล้ว เว้นแต่กรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล เนื่องด้วย ทางสำนักงาน ศาลยุติธรรมเห็นว่า บุคคลดังกล่าว อาจจะมีญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ผู้บังคับบัญชา หรือ ผู้ใต้บังคับบัญชา ครูบาอาจารย์ หรือผู้ที่รู้จักมักคุ้น เมื่อบุคคลดังกล่าว หรือบุคคล ที่มีความสัมพันธ์ กับบุคคล ดังกล่าวนั้นมีคดีความเกิดขึ้น จะทำให้หัวหน้าศาล หรือ ผู้พิพากษาท่านนั้นมีความลำบากใจ และเกิด ความอึดอัด ที่ไม่สามารถช่วยเหลือ บุคคล ดังกล่าวได้ เมื่อมาขอความช่วยเหลือ ทั้งจะไม่สะดวก ในการวางตัว และแม้ท่านผู้พิพากษา หรือท่านหัวหน้าศาลดังกล่าวนั้น จะประพฤติถูกต้อง ตามทำนอง คลองธรรม อย่างไร ก็ตาม ก็ยังอาจถูกคู่ความ หรือคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งตั้งข้อรังเกียจ หรือแสดงความเคลือบแคลง สงสัย ในพฤติการณ์ ที่ท่านผู้พิพากษาหัวหน้าศาล และผู้พิพากษา มีความรู้จัก หรือมีความคุ้นเคย กับคู่ความ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้

ต่อมามีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า กฎระเบียบดังกล่าวนี้มีมานานเกือบร้อยปีแล้ว น่าจะมี การเปลี่ยนแปลงได้ เพราะปัจจุบันนี้การคมนาคมก็ดี การสื่อสารก็ดี ล้วนสะดวกรวดเร็ว เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการติดต่อกัน ทางโทรศัพท์หรือโทรสารถือว่าง่ายมาก ทั้งปัจจุบันนี้ มีอินเตอร์เน็ต เข้ามาเกี่ยวข้องอีก การไปมาหาสู่ โดยการ คมนาคมทางรถยนต์ หรือเครื่องบิน ล้วนแต่มีความสะดวก เมื่อแต่ละบุคคลมีคดีความ ท่านผู้พิพากษา หรือ ผู้พิพากษา หัวหน้าศาล ท่านนั้น จะประพฤติตัวไม่เหมาะสม ไปเป็นพี่เลี้ยง หรือ ให้คำปรึกษา แก่คู่ความ ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง รับจะวิ่งเต้นช่วยเหลือในทางที่มิชอบ แม้จะไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นๆ ก็สามารถทำได้ โดยง่าย ในทางกลับกัน ถ้าท่านผู้พิพากษา หรือท่านผู้พิพากษาหัวหน้าศาลท่านนั้น วางตัว เป็นกลาง อย่างเคร่งครัด และอยู่ในระเบียบวินัย แม้ท่านจะอยู่ในภูมิลำเนาของตนเอง หรือภรรยา ท่านก็รังเกียจ ที่จะประพฤติตน ที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม สิ่งที่กลัวกันก็ไม่สามารถ จะเกิดขึ้นได้ ทั้งจะเป็นผลดีต่อตัวท่านเอง และองค์การของสำนักงานศาลยุติธรรมด้วย เพราะท่าน ไม่ต้อง เทียวขับรถไปมา ระหว่างภูมิลำเนาเดิม กับที่ทำงานเพื่อเยี่ยมเยียนดูแลครอบครัว บิดามารดา หรือปู่ย่าตายาย ที่แก่ชราแล้ว ทั้งท่านสามารถ รับรู้ข่าวสาร ในท้องถิ่นได้ดี จะเป็นประโยชน์ ในการประสานงานกับส่วนราชการอื่นๆ โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งสามารถจะช่วย ให้การแก้ปัญหา ในพื้นที่บางส่วนลุล่วงไปได้ ทั้งท่านเป็นบุคคลที่เข้าใจในประเพณี วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมค่านิยม ตลอดจนแนวคิดและภาษาในท้องที่นั้นๆ สามารถที่จะบริหารราชการ ให้สอดคล้อง กับค่านิยมของท้องถิ่นได้

ต่อมามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีผู้พิพากษาอาวุโสเกิดขึ้น คือผู้พิพากษาที่รับราชการ ครบอายุ ๖๐ ปีแล้ว สามารถรับราชการต่อไปได้อีก ๕ ปี โดยเรียกว่า ผู้พิพากษาอาวุโส และ เมื่อครบ ๕ ปีแล้ว ถ้าประสงค์ จะรับราชการต่อไปอีก ทางสำนักงานศาลยุติธรรม จัดตั้งคณะแพทย์ขึ้น ตรวจสอบสุขภาพอนามัยของท่านว่า สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไป ได้หรือไม่ ถ้าปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปได้ ท่านก็สามารถรับราชการได้จนอายุ ๗๐ ปี ผู้พิพากษา อาวุโส เป็นบุคคลที่มีอายุมากแล้ว การปฏิบัติราชการในสำนักงานศาลมีระเบียบ ประธาน ศาลฎีกา แนะนำให้ผู้พิพากษาอาวุโสทำงานในฐานะเป็นที่ปรึกษา หรือเป็นองค์คณะ ที่ร่วม พิจารณาคดี ไม่มีความประสงค์ ให้ผู้พิพากษาอาวุโสต้องทำงานหนัก และเป็นเจ้าของสำนวน ในคดี ที่ยุ่งยาก ซับซ้อน คณะกรรมการตุลาการได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เห็นควรให้ ผู้พิพากษา อาวุโส สามารถ กลับไป ยังภูมิลำเนาเดิม ของตนเองหรือคู่สมรสได้ เพราะขณะนั้นเพื่อนฝูงก็ดี ญาติพี่น้องก็ดี บุคคลในระดับเดียวกันก็ดี ได้ล้มหาย ตายจาก ไปบ้าง หรือไม่ก็ล้วน ชราภาพแล้ว ทั้งผู้พิพากษา อาวุโส ไม่มีบทบาทใดที่จะไปก้าวล่วงอำนาจ ของผู้พิพากษาท่านอื่นได้

ต่อมาคณะกรรมการตุลาการซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งจากผู้พิพากษาในแต่ละชั้นศาล ชั้นละ ๔ ท่านรวม ๑๒ ท่าน และมีประธานศาลฎีกาเป็นประธานโดยตำแหน่งอีก ๑ ท่าน รวม ๑๓ ท่าน วุฒิสภาเลือก บุคคล ภายนอก ที่มีความรู้ความสามารถอีก ๒ ท่าน รวมเป็น ๑๕ ท่าน มีหน้าที่ ให้ความดีความชอบ เลื่อน ลด ปลด ย้าย ผู้พิพากษา ได้มีการ ประชุมกันและเห็นว่า ปัจจุบันนี้ แต่ละจังหวัด ก็มีความเจริญก้าวหน้า ไม่ยิ่งหย่อน ไปกว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น อนุญาต ให้ผู้พิพากษา กลับภูมิลำเนาเดิม และภูมิลำเนาของคู่สมรส ตลอดจน ที่ศึกษาเล่าเรียนและที่ทำงานได้ จึงมีมติว่า เฉพาะ ในจังหวัด ที่ตั้งสำนักงานภาค ซึ่งมีทั้งหมด ๙ สำนักงาน อยู่ในส่วนภูมิภาค ๘ สำนักงาน คือ ๘ จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ ๆ เช่น จังหวัดสงขลา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น สามารถ กลับภูมิลำเนาของตนเองและภรรยาได้เช่นเดียวกับผู้มีภูมิลำเนา อยู่ในกรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล ดังเช่น ผู้พิพากษาอาวุโส ด้วยสาเหตุนี้เอง ผู้เขียน ซึ่งเคยมีภูมิลำเนาเดิม อยู่ที่จังหวัดสงขลา จึงสามารถ ย้ายกลับ ไปยังภูมิลำเนาเดิม ของตนเองได้

แต่กระนั้นก็ตามบุคคลที่รับราชการและมีภูมิลำเนาเดิมในจังหวัดสงขลา ในตำแหน่งผู้พิพากษา หัวหน้าศาล ในขณะนี้มีจำนวนมาก ต่างก็ประสงค์จะกลับภูมิลำเนาเดิม ของตนเอง ทั้งผู้พิพากษา หัวหน้าศาลท่านอื่นๆ ที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาเดิมที่จังหวัดสงขลา ก็สนใจที่จะไป รับราชการ ที่ศาลจังหวัดสงขลาหลายท่าน ผู้เขียนเพิ่ง รับราชการ ในตำแหน่งผู้พิพากษา หัวหน้าศาลเพียงปีแรก โดยมารับราชการอยู่ที่ จังหวัดยะลานั้น ลำดับอาวุโส ถือว่าน้อยมาก โอกาสที่จะกลับไปยังจังหวัดสงขลาแทบไม่สามารถเป็นไปได้ และขณะนั้น ก็ไม่ได้อยู่ในความคิด ของผู้เขียนเช่นเดียวกัน ต่อมาคณะกรรมการตุลาการเห็นว่าการพิจารณาของศาลตามรูปแบบใหม่ คือ การพิจารณา ต่อเนื่อง และ ครบองค์คณะนี้ ทำให้คดีในแต่ละศาลเสร็จรวดเร็วขึ้น มีคดีที่เสร็จแล้ว คู่ความไม่พอใจ ในผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้น และอุทธรณ์คำพิพากษาต่อ ไปยังศาลอุทธรณ์ ซึ่งมีทั้งหมด ๑๐ ศาล คือศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ถึงศาลอุทธรณ์ภาค ๙ และ ศาลอุทธรณ์กลางจำนวนมาก ผู้พิพากษา ที่รับราชการ อยู่ในศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลอุทธรณ์กลางนั้น มีปริมาณน้อย ทำให้คดีในระดับศาลอุทธรณ์ ค้างอยู่จำนวนมาก จึงได้มีโครงการ จะขยายอัตราเพิ่มคณะในศาลอุทธรณ์ภาคทั้ง ๙ ศาล และ ศาลอุทธรณ์กลาง เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องดึงผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น ในระดับผู้พิพากษา หัวหน้าศาล หรือ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ที่ผ่านการเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วจำนวนหนึ่ง ขึ้นไปยัง ศาลอุทธรณ์ทั้ง ๑๐ ศาล จึงได้มีมติว่า ผู้พิพากษาที่รับราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ให้ทุกท่านดำรงตำแหน่ง ได้เพียง ๔ ปีเท่านั้น จึงทำให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจำนวนมาก ที่อาวุโสมากกว่าผู้เขียน ต้องเลื่อนขึ้นไป ตามตำแหน่ง ใหม่ จึงทำให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลที่ประสงค์จะไปรับราชการ ที่ศาลจังหวัดสงขลา นั้นเหลือ น้อยลง แต่ถึงกระนั้น ก็ตาม ผู้เขียนก็ยังคิดว่า ตนเองยังไม่สามารถ ไปรับราชการ ที่ศาลจังหวัดสงขลาได้ เพราะศาล จังหวัดสงขลา เป็นศาล ที่ใหญ่มากในภาคใต้ มีปริมาณคดีจำนวนมาก มีผู้ใต้บังคับบัญชาจำนวนมาก หรือ อาจจะเรียกได้ว่า ศาลจังหวัดสงขลา เป็นศาลที่ใหญ่ที่สุด ในบรรดาศาลทั้งหมดใน ๑๔ จังหวัดภาคใต้ ก็เป็นได้ เพราะนอกจาก ศาลจังหวัดสงขลาแล้ว มีเพียงศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีเท่านั้น ที่เป็นที่ตั้งของ สำนักงานภาค หรือสำนักงานอธิบดี ผู้พิพากษาภาค ๘ แต่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น ก็มีการแยกพื้นที่ ไปสู่ศาลจังหวัดไชยยา ด้วยอีกส่วนหนึ่ง ส่วนศาลจังหวัดสงขลา นั้นขณะนี้ ได้มีการก่อสร้าง ศาลจังหวัดนาทวี มีท้องที่ ครอบคลุม อำเภอนาทวี เทพา สะบ้าย้อย สะเดาและจะนะ แต่การก่อสร้างศาล ยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้ศาลจังหวัดสงขลา มีอำนาจครอบคลุม ตลอดท้องที่ จังหวัดสงขลา ทั้งจังหวัด ที่จังหวัดสงขลา นั้นยังมี ศาลแขวงสงขลา ศาลแขวงสงขลา มีอำนาจหน้าที่ ในการพิจารณาพิพากษาคดีเล็กๆ น้อยๆ ถ้าเป็นคดีอาญา โทษจำคุกต้องไม่เกิน ๓ ปี และคดีแพ่ง ทุนทรัพย์ไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท จังหวัดสงขลานั้น ยังเป็นที่ตั้งของ ศาลเยาวชน และครอบครัว จังหวัดสงขลา มีหน้าที่พิจารณา พิพากษาคดี เกี่ยวกับเยาวชน และครอบครัว ทั้งยังเป็นที่ตั้ง ของศาลแรงงานภาค ๙ มีหน้าที่พิจารณาคดีแรงงานในภาค ๙ ทั้งหมด คือ ภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดสงขลา ตรัง พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส

ต่อมาสถานการณ์ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผู้เขียนรับราชการอยู่นี้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผู้พิพากษา ส่วนใหญ่ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ที่อื่นนั้น ไม่ประสงค์จะเดินทาง มารับราชการใ นเขต ๓ จังหวัด ชายแดนภาคใต้ การสรรหา ตัวบุคคลก็ยิ่งยุ่งยากขึ้นทุกวัน สำนักงานศาลยุติธรรม จำเป็นต้อง หามาตรการต่างๆ เข้ามาเสริม เพื่อให้ ผู้พิพากษา ที่อยู่ใน ๓ จังหวัด ชายแดนภาคใต้ มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ จึงกำหนด สิทธิพิเศษ ให้ผู้พิพากษา และผู้พิพากษา หัวหน้าศาล ที่รับราชการใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ถ้าผู้ใด รับราชการใน ๓ จังหวัด ชายแดนภาคใต้แล้ว ในการยื่นความจำนงจะขอประสงค์โยกย้ายในปีถัดไปนั้น สามารถที่จะเลือก ได้ก่อนผู้พิพากษาในชั้นเดียวกัน โดยเฉพาะ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลนั้น มีสิทธิจะเลือกได้ก่อน ผู้พิพากษา หัวหน้าศาล ที่ดำรงตำแหน่งก่อนตนเอง ๑ ปี ด้วยกฎระเบียบดังกล่าวนี้เอง ทำให้ผู้เขียน สามารถที่จะแสดง ความจำนง ไปรับราชการในศาลจังหวัดสงขลาได้ และต่อมา คณะกรรมการตุลาการ ได้พิจารณาวินิจฉัย ความรู้ ความสามารถ ตลอดจนความประพฤติ จริยธรรมต่างๆ ของผู้เขียนแล้ว เห็นว่าผู้เขียนมีความเหมาะสม และสมควรไปเป็นผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัดสงขลา และได้ลงมติอนุญาตให้ไปตามที่แสดงความจำนง

ผู้เขียนยังเห็นว่าแม้ไปอยู่ที่ศาลจังหวัดสงขลาแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ศาลจังหวัดสงขลา เกี่ยวเนื่อง ด้วยปัญหา ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นก็ยังเกี่ยวพันไปถึง เพราะในเขตของ ศาลจังหวัดนาทวีปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยอำเภอทั้ง ๕ ดังกล่าวมาแล้ว ข้างต้นนั้น ก็มีการขัดแย้ง ในเชิงประวัติศาสตร์ เพราะทั้ง ๕ อำเภอ ดังกล่าวนี้ ในบางช่วง ก็อยู่ในการปกครองของ รัฐปัตตานีเดิม บางช่วงแต่ละเมืองก็แยกเป็นอิสระ ไม่ว่า เมืองเทพา เมืองจะนะ ผู้ไม่ประสงค์ดี ที่จะประสงค์ จะแบ่งแยก ราชอาณาจักร ขณะนี้ก็กล่าวว่า เขตทั้ง ๕ อำเภอ ดังกล่าวนั้น เป็นเขตของ รัฐปัตตานี ประสงค์จะแยกตัวออกมาและก่อความไม่สงบอยู่เนืองๆ เช่นเดียวกัน

ฉบับต่อไปในการติดต่อกับผู้เขียนหรือการส่งหนังสือต่างๆ จากสมาคม มูลนิธิ หรือองค์กรอื่นๆ ก็ต้องส่งตรง ไปยังศาลจังหวัดสงขลา แทนศาลจังหวัดยะลา

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๗ เมษายน ๒๕๔๗ -