เราคิดอะไร เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘
…สังคมที่เจริญจริงเพราะค่าของคนสำคัญกว่าผลของงาน


ตัวอย่างของการรักษาโรคมากกว่ารักษาคน คือการเน้นผลงานสำคัญกว่าค่าของคน เช่นคนปวดฟัน หมอที่เน้นผลงานก็จะถอนทิ้งออกไปเลย หมอที่สำคัญในคุณค่าของชีวิตคน ก็จะช่วยรักษารากฟัน ประคับประคอง ให้เราพอมีฟันเคี้ยวอาหารต่อไปได้

หรือเมื่อมีคนป่วยเป็นโรคมะเร็ง หมอรักษาโรคก็จะเน้นการฆ่าเชื้อมะเร็ง จนคนป่วยแทบจะตาย ตามโรค มะเร็ง ไปด้วย แต่หมอที่เน้นการรักษาคนมากกว่าการรักษาโรค ก็จะให้ความสำคัญ กับการสร้าง ภูมิต้านทาน ของร่างกายให้ดีขึ้น ด้วยการมี อาหารดี อากาศดี ออกกำลังกายดี อารมณ์ดี ฯลฯ เมื่อกองกำลัง รักษาภายในของร่างกายแข็งแรงขึ้น ข้าศึกหรือเชื้อโรคที่บุกเข้ามาโจมตี ก็ต้องล่าถอยและหนีหายไปในที่สุด

การมีสาธารณสุขที่ดีในสังคมที่เจริญจริง จึงจะหาคนป่วยแทบจะไม่มี เพราะสุขภาพดีกันถ้วนหน้า ซึ่งเกิดจากการเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา สังคมที่เจริญจริง จะไม่มีคนขี้เหล้าขี้ยา จึงไม่มีอุบัติเหตุ ไม่มีผลงานในการป้องกันอุบัติภัย ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคร้ายทั้งหลาย ก็แทบจะตกงานไปตามๆ กัน

ในทำนองเดียวกับเศรษฐกิจทุนนิยม ที่เน้นการกินดีอยู่ดี แต่ในมุมมองที่มีการขานรับกันอย่างเกรียวกราว ของผู้ว่าฯ แบงค์ชาติ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ได้สะท้อนให้เห็นว่า สิ่งสำคัญกว่าการกินดีอยู่ดี คือความรู้สึก ที่ได้อยู่ในสังคมที่เป็นธรรม การพัฒนาไม่สามารถยั่งยืนได้เลย ถ้าคนขี้โกง คอรัปชั่น คนปั่นหุ้น ซึ่งเป็น อาชญากร เศรษฐกิจ ต่างพากันลอยนวล อยู่ในสังคมอย่างมีหน้ามีตา

ซึ่งปัญหานี้ ไม่มีวันแก้ได้ ถ้าเราเน้นแต่ผลงาน เน้นแต่ตัวเลขการเติบโตของจีดีพีเป็นหลัก ค่าของคน ก็ย่อมถูก ละเลยไป อะไรก็ได้ที่ทำให้ประเทศมีรายได้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งบ่อนกาสิโน การขยาย กิจการน้ำเมา การเป็นศูนย์กลางความฟุ้มเฟ้อฟุ่มเฟือยของโลก (เมืองแฟชั่น) สิ่งเหล่านี้คือ เส้นทาง การเจริญ เติบโตของอาชญากรทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น ส่วนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินคงมีแต่หนี้สินจนล้นพ้นตัว เพราะถูก ยั่วย้อมมอมเมาให้บริโภคจนลืมหูลืมตากันไม่ขึ้น

ความยุติธรรมทางสังคม ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าทางเศรษฐกิจ จากปาฐกถาของศาสดาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร องค์มนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกประเด็นเรื่องความแตกต่างระหว่าง “ความยุติธรรม ตามกฎหมาย” กับ ความยุติธรรมที่แท้จริง ซึ่งหลายครั้งมักจะเดินสวนทางกัน โดยอาจารย์ธานินทร์ เสนอให้ แก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มเติมคำว่า ยุติธรรมลงไป เพื่อให้ศาลสามารถที่จะพิจารณาคดี อย่างยุติธรรม นอกเหนือจากกฎหมายที่มีอยู่

อาจารย์ธานินทร์ได้อัญเชิญพระบรมราโชวาท ที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง “กฎหมายกับความยุติธรรม” มาเป็น เครื่องเตือนใจนักกฎหมายดังนี้ “กฎหมายทั้งปวงนั้นเราบัญญัติขึ้นเพื่อ ใช้เป็นปัจจัยสำหรับรักษา ความยุติธรรม กล่าวโดยสรุป คือใช้เป็นแบบแผนแห่งการประพฤติปฏิบัติของมหาชนสถานหนึ่ง กับใช้เป็น แม่บทในการพิจารณาในการตัดสินความประพฤติปฏิบัตินั้นๆ ให้เป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงธรรมอีกสถานหนึ่ง

โดยที่กฎหมายเป็นแค่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรที่จะถือว่ามีความสำคัญ ยิ่งไปกว่า ความยุติธรรม หากควรจะต้องถือว่าความยุติธรรม มาก่อนกฎหมายและอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณา พิพากษาอรรถคดีใดๆ โดยคำนึงถึงแต่ ความถูกผิดของกฎหมายนั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จำต้องคำนึงถึง ความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ (จากหมายเหตุประเทศไทย ของลมเปลี่ยนทิศ ในหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ๒๓ เม.ย. ๒๕๔๘)

ในประเด็นความถูกผิดตามกฎหมายและความยุติธรรมนี้ มีเรื่องแปลกแต่จริง ที่ได้เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ ชาวอโศก ที่ถือศีลจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลสู่คุกตาราง (สีเลนะ สู่คุกตาราง) ทั้งที่ ประจักษ์พยาน ฝ่ายโจทก์ ทั้งหมด ไม่ว่าเป็นตำรวจสันติบาล หรือพนักงานสอบสวนที่ได้ไปจับผิดตามพุทธสถานต่างๆ ของชาวอโศก ต่างยืนยัน ตรงกันว่าคณะสงฆ์ชาวอโศก ประพฤติปฏิบัติเคร่งครัดในธรรมวินัย ไม่มีการทำเดรัจฉานวิชา ไม่หลอกลวง มอมเมาชาวบ้าน และไม่ได้สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายใดๆ ในสังคม นอกจากนี้พยานจำเลย ทั้งที่เป็นครูดีเด่น พยาบาลดีเด่น และข้าราชการดีเด่นในกระทรวงต่างๆ ได้มาเป็นพยานยืนยันว่า คณะสงฆ์ ชาวอโศก ได้ช่วยสร้างคนให้มีศีลมีธรรม มีความขยัน ซื่อสัตย์ เสียสละ จนตนเองได้รับการยกย่อง ให้เป็นตัวอย่าง ที่ดีงามในสังคม

ทั้งๆ ที่ก็ได้ช่วยสร้างคนดีให้กับสังคม และตนเองก็พากันฝึกฝน สันโดษ มักน้อย เจริญรอยตามพระศาสดา แต่คำพิพากษาออกมา คณะสงฆ์ชาวอโศกต้องรับชะตากรรมเท่ากับ อาชญากรที่ แอบไปโกนหัว ห่มจีวร แต่งตัวเลียนแบบพระ เพื่อหาเงินทองหลอกลวงชาวบ้าน ทั้งๆ ที่คณะส่งชาวอโศก มีความเชื่อมั่นโดย สุจริตใจว่า เราบวชเป็นพระโดยถูกต้องตามธรรมวินัยทุกประการ แล้วไม่ผิดกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้เสรีภาพ ในการนับถือศาสนา หรือนิกายทางศาสนาแต่อย่างใด ผลของคำพิพากษานี้ ก่อให้เกิดผล มากมาย ในสังคมมาจนกระทั่งปัจจุบัน แม้เมื่อเร็วๆ นี้ท่านนายกฯ ทักษิณ ดำริจะจัดงานวันวิสาขะโลก เพียงแต่มีข่าวว่าคณะสงฆ์ชาวอโศกได้รับเชิญให้ไปร่วมงานด้วย ทั้งพระผู้ใหญ่พระผู้น้อย ต่างออกมา คัดค้าน เยาะเย้ยถากถางว่า จะเอาพระกับผีมาร่วมกันได้อย่างไร พวกนี้เป็นพระเถื่อน พวกนี้เป็นฆราวาส ไปแล้ว ซึ่งประชาชนที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นกับคณะสงฆ์ชาวอโศก ก็ย่อมพลอยเชื่อถือตามคำกล่าวหา และพากัน เกลียดชังไปอีกยาวนานแสนนาน

แต่เราก็เชื่อมั่นว่ากรรมนี้มีผล เมื่อคณะสงฆ์ชาวอโศกเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ธรรมะก็ย่อมคุ้มครอง ผู้ปฏิบัติธรรม อยู่แล้ว (ธัมโมหะเว รักขะติ ธัมมะจาริง) แม้จะไม่มีกฎหมายใดๆ มารับรองหรือคุ้มครองก็ตาม ซึ่งจะมีผล ทำให้คนรุ่นหลัง ที่จะมาเป็นคณะสงฆ์ต่อๆ ไป จะต้องเน้นที่การสร้างค่าของคน หรือสร้างตน ให้มีคุณธรรม จริงๆ ซึ่งจะเป็นสิ่งเดียวเท่านั้น ที่สามารถคุ้มครองตัวเองได้

และก็เป็นที่น่ายินดีว่า ในช่วงหลังๆ นี้ท่านนายกฯ ทักษิณ จะเน้นความสำคัญของศาสนา และคุณธรรม มากขึ้น อยากให้คนปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามากขึ้น ซึ่งถ้าคนมีธรรมะแล้ว ปัญหาทั้งหลาย ทั้งปวงในโลกนี้ ไม่ว่าปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ ฯลฯ ที่ต้องใช้ ความสมดุลการถ่วงดุลความยุติธรรม ความพอดี ซึ่งการแก้ปัญหาเหล่านี้ถ้าเข้าถึงคำว่าสัมมา มัญชิมา และ ”อรหันต์” (ความพอดีอันสูงสุด) แล้วย่อมทะลุทะลวงปัญหาทั้งหลายทั้งปวงได้หมด

ธรรมะของพระพุทธเจ้าจึงไม่ต่างอะไรกับ one stop service เป็นสิ่งหนึ่งเดียวที่แก้ปัญหาได้หมด เมื่อคน มีคุณธรรมขึ้นมา ก็จะพัฒนาระบบกฎเกณฑ์สังคมประเทศชาติให้ดีขึ้นตามไปด้วย แม้ระบบกฎเกณฑ์ ในบ้านเมืองนั้น อาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่คณะสงฆ์ชาวอโศกก็เชื่อมั่นว่าธรรมะของพระพุทธเจ้า จะช่วย ให้เรา อยู่กันได้ อย่างไม่มีปัญหาตราบเท่าวันตาย

- จริงจัง ตามพ่อ -

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๘ พฤษภาคม ๒๕๔๘ -