ข้าพเจ้าคดอะไร - สมณะโพธิรักษ์ -


บางพวกผู้มีมิจฉาทิฏฐิ จะปฏิเสธการทาน ด้วยปัญญาเฉโก โดยอ้างว่า การทำทานเป็นรูปแบบของการติดยึด ของการโอ่อวด ของการแสดงเด่น ของการแสวงหาสรรเสริญ จึงละทิ้งแม้กรรมกิริยาของทาน เพียงเพื่อให้สมเหตุสมผลที่ตนต้องกล่าวด้วยปัญญาเฉโกของตนเท่านั้น เพื่อแสดงว่า ไม่มีการหลงตัวหลงตน หรือหลงสรรเสริญ จึงไม่ทำทาน

ส่วนพวกที่มีความเห็นว่า กรรมกิริยาการทาน มีประโยชน์บ้าง เขาก็จะทำบ้าง ตามสัดส่วนของความเห็นที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ของแต่ละคน

ผู้มีสัมมาทิฏฐิที่แท้ จะรู้ว่า แม้กรรมกิริยาที่แท้จริงของการทาน การให้ อย่างจริงใจจริงจังด้วยแล้ว จะพรั่งพร้อม กาย วาจา ใจ เป็นเอก เป็นเอโกธัมโม เป็นเอกภาพ โดยไม่มีซ้อนแฝง ไม่มีแปดเปื้อน เป็นตัวจริง ตัวตรง ลงตัว พรั่งพร้อม การกระทำเช่นนี้เป็นบุญของโลก เป็นกุศล เป็นสิ่งที่จะต้องมีอยู่ในโลก โดยชัดเจนในใจยิ่งว่า ทานเป็นความดี ทานเป็นประโยชน์ ทานเป็นความประเสริฐ

แม้จะเป็นการทานที่หวังของแลกเปลี่ยนตอบแทน ขอคืนมากกว่าที่ให้ โดยจะรู้ตัว หรือไม่รู้ตัวก็ตาม ซึ่งเท่ากับว่า มีความขี้โลภแฝงอยู่ แม้กระนี้ก็ยังนับเป็นกรรมกิริยา ที่เป็นความประพฤติที่ดี ทางรูปธรรมเป็นกุศลแน่ เป็นที่อนุโมทนาอยู่แล้ว เพราะกรรมดีส่วนหนึ่งได้เกิดแล้วจริง กิริยาดีได้เกิดปรากฏแล้วส่วนหนึ่ง จึงควรให้กรรมกิริยานี้ เกิดอยู่ในโลก แต่เป็นความดีแค่รูปธรรมภายนอก

การทานที่มีบุญสูงกว่านั้น ถูกธรรม ก็คือ ทานโดยไม่อธิษฐานเอาอะไรตอบแทน ให้โดยไม่มีจิตโลภอยากได้อะไร ให้คือ "ให้" ถ้าอธิษฐาน ก็คือ ตั้งจิตให้ว่างจากกิเลส ชัดๆก็คือ ทำจิตให้ว่างจากอาการอยากได้สิ่งตอบแทนการทานนี้

กรรมกิริยาของการทานสูงสุด คือ การบิณฑบาตของพระอาริยะที่ถูกธรรม พุทธประเพณีจึงกำหนดให้พระต้องทำหน้าที่บิณฑบาต เพื่อกระตุ้นให้เกิดการทาน ขึ้นในโลก เป็นวัฒนธรรมชั้นสูงสุด ของมนุษยชาติ ซึ่งผู้ที่จะทำอย่างถูกทาน ถูกธรรมแท้ ก็มีแต่ในคนที่เป็นอาริยะแท้ของศาสนาพุทธเท่านั้น มีผู้ให้ มีผู้รับ ด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อกัน ด้วยความศรัทธา ด้วยความมีปัญญา ด้วยความเห็นคุณค่า คุณประโยชน์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เกื้อกูล สนับสนุน สอดคล้อง เลี้ยงกันไว้โดยรูปแบบ โดยเหตุผลที่กระจะกระจ่าง โดยหลักการ โดยทฤษฎีของพระพุทธเจ้า

การใส่บาตรเป็นประจำ เรียกว่า นิจทาน เป็นยัญพิธีที่มีบุญ มีคุณค่าสูงเยี่ยมชนิดหนึ่ง สร้างสมนิสัยของการให้ ของการทำทาน กับผู้ควรได้รับของทานคือ ภิกษุ ที่ได้ชื่อว่า ผู้ควรได้รับของทานเพราะท่านเป็นผู้สมัครเข้ามาฝึกฝนเป็นคนลดกิเลส ท่านเป็นภิกษุเป็นสมณะ อย่างน้อยก็คือ ผู้เป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่พุทธศาสนิกชนว่า เป็นคนลดความโลภโกรธหลง จึงเป็นเนื้อนาบุญที่ดี ที่ต้องได้รับการอนุเคราะห์เลี้ยงดูไว้ เพราะท่านเป็นผู้ไม่มี ไม่สะสม ไม่โลภ เป็นตัวอย่างของผู้กล้าจน กล้าเสียสละสูงสุด

สมณะหรือภิกษุที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ฉันแล้วคว่ำบาตร แสดงลักษณะไม่สะสมแม้ข้าว ๑ เมล็ด แต่ทำการงานสร้างสรร เป็นผู้ขยัน สร้างมิตร เป็นผู้มี ชีวิตประเสริฐ เป็นคนดี

ผู้เข้าใจความจริง-คนจริงดังกล่าวนี้ ก็จะเลี้ยงคนดีนี้ไว้ เพราะคนดีต้องเลี้ยงไว้ จึงเท่ากับเป็นรูปแบบ เป็นกิริยา เป็นบทบาทอยู่ในโลก บทบาทเช่นนี้ เป็นบทบาทของคนประเสริฐ ของอาริยชน หรือของอารยชาติฝ่ายพุทธเท่านั้น ซึ่งไม่มี "ผู้ขอ" แม้จะเรียกว่า ภิกษุ มีแต่ "ผู้ให้" ด้วยความเคารพ แต่ถ้าทำ
ไม่ถูกทาน-ไม่ถูกธรรมแทก็จะเป็น "การขอทาน" และนั่นไม่ใช่พุทธธรรม เพราะเป็น "ทานที่มิจฉาทิฏฐิ"

อันที่จริง การทาน นี้ เป็นหลักของศาสนาทุกศาสนา การให้ เป็นอากัปกิริยาที่ประเสริฐของมนุษย์---
[มีต่อฉบับหน้า]

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๘ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๘ -